วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

คนที่บ้านไม่เชื่อเรื่องเวรกรรม

ดังตฤณ : เรื่องความเชื่อนั้น ไม่สามารถบังคับใครได้ เนื่องจากไม่มีข้อพิสูจน์

ธรรมชาตินั้น ไม่เต็มใจให้เรารู้ความจริง และไม่ทำให้มันง่ายนักกับข้อสรุป ว่าใครถูกใครผิด

 

เราเกิดมา ทำให้ขอบเขตการรับรู้ทางหูและทางตาเล็กแคบนิดเดียว ต่อให้เราเชื่อเรื่องบาปกรรม เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ แต่พอถูกถามว่า เคยเห็นเหรอ? พิสูจน์ยังไง? เราก็ได้แต่ตอบว่า ไม่เคยเห็นหรอก แต่เชื่อ  แค่นี้ก็เถียงกันไม่จบแล้ว

 

เรื่องของความเชื่อ จำไว้เลย ว่าเป็นสิ่งที่ยัดเยียดให้แก่กันและกันไม่ได้ อย่าพยายามเอาด้านที่เขาไม่มีทางยอมรับ ด้วยการพูด การใช้เหตุผล มาเป็นตัวตั้งในการสนทนาหรือสื่อสารกัน

 

หากอยากชักชวนเขามาในทางของเรา มาในทางความเป็นพุทธ  ให้เอาสิ่งที่คุยกันรู้เรื่อง เอาสิ่งที่คุยกันได้ หรือตกลงกันได้ ด้วยข้อพิสูจน์ที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกสะดวกใจ

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขาเกิดความทุกข์ แล้วเราไปแนะนำว่า  เคยรู้หลักการมา ดูความไม่เที่ยงของความทุกข์ ดูอาการของใจว่า แต่ละลมหายใจมันต่างไปเรื่อยๆ มันไม่เท่ากัน แค่เห็นว่ามันไม่เที่ยง อาการยึดมั่นถือมั่น ว่าทุกข์นั้นเป็นตัวเป็นตนของเรา ก็จะค่อยๆ เบาลง

 

แบบนี้ จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกคล้อยตามได้ง่าย โดยไม่ต้องอาศัยอภิญญา ไม่ต้องอาศัยความสามารถพิเศษเหนือมนุษย์ที่ไหน เป็นมนุษย์ธรรมดา ที่คุยกันรู้เรื่องในแบบของพุทธจริงๆ  จะค่อยๆ ทำให้เขารู้สึกดีกับความเป็นพุทธ

 

จากนั้น ความรู้สึกดีนี้ จะพัฒนาขึ้นเป็น สติรู้ หรือความมีจิตแบบพุทธ มีปัญญาแบบพุทธจริงๆ 

 

ถึงตรงนั้น เขาจะค่อยๆ ดูเข้ามาในใจว่า จิตของเรามีกุศลบ้าง มีอกุศลบ้าง บางทีสว่างบ้าง บางทีมืดบ้าง มีภพภูมิภายในที่สามารถสัมผัสได้อยู่เรื่อยๆ 

 

แล้วเขาจะไปสังเกตเอาเอง เมื่อเราพูดถึงความจริงเรื่องบาปกรรม จะมีลิงค์ที่เขาเริ่มประจักษ์กับใจตัวเอง ว่าบางที(ใจ)ก็มืด บางที(ใจ)ก็สว่าง ด้วยการกระทำที่ต่างกันไป 

 

เขาจะเริ่มเชื่อว่า ต้นเหตุของความทุกข์ คือ ความมืด เส้นทางของความมืด นำมาซึ่งความทุกข์  ตรงนี้จึงจะเริ่มเจรจากันได้

 

พยายามหันแง่ที่สามารถคุยกันได้มาคุยกัน อย่าพยายามเอาเรื่องความเชื่อ ที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้แก่กันได้ มาเป็นตัวตั้ง เพราะจะเหมือนพายเรือในอ่างใบเดิม ไม่ไปไหน เสียแรงเปล่า เหนื่อยเปล่าทั้งคู่ และต่างฝ่ายต่างเกิดอกุศลจิต

 

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ เมื่อถึงที่สุดจะมีความลึกลับ และเป็นสิ่งที่รู้เห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ที่สุดของธรรมะเป็น ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน มีแต่ตนเป็นที่พึ่ง อัตตาหิ อัตโน นาโถ

 

คือ แต่ละคนนั้น หากไม่สมัครใจเป็นที่พึ่งทางธรรมของตัวเอง จะไม่มีทางขวนขวาย จะไม่มีความสามารถในการค้นคว้าเข้าลึกไปในการพิสูจน์ให้เห็นจริง

 

แต่ถ้าเราอยู่กับใคร ใกล้ชิดกับใครแล้วค่อยๆ ทำให้เขาเกิดความเข้าใจ ธรรมะ ในส่วนที่สามารถเอามาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นั่นจะเป็นการให้ บันไดที่ถูกต้องแก่เขา หรือเป็นการ ทอดสะพานธรรมที่มาถึงเขาได้จริง

 

โดยเฉพาะลูก สมัยนี้ ถ้าคุณไปอยู่กลางวงที่เด็กๆ คุยกัน ลืมไปได้เลยว่าจะชวนมาเรื่องบาปกรรมบุญต่างๆ เขาเห็นธรรมะ เห็นคนอย่างเราคุยกันอย่างนี้ เขาเห็นว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ  เสียเวลาเล่นเกมส์ไปเปล่าๆ เสียเวลาฟุ้งซ่านเปล่าๆ มาทำจิตใจให้สบายเป็นเรื่องเสียเวลา

________________

คำถามเต็ม : ลูกและคนในบ้าน ไม่เชื่อเรื่อง บาปกรรมเวรกรรม จะทำอย่างไร?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญวิปัสสนาอุทิศให้สัตว์เลี้ยงได้ไหม?

.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀

19 มกราคม พ.ศ. 2562

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=zoBQ0ISnVYE

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น