วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ถ้าเราด่าพ่อแม่แรงๆเพื่อเตือนสติ ไม่อยากให้ท่านตกต่ำ เป็นสิ่งที่ผมควรทำถูกไหมครับ?

 ดังตฤณ : แยกเป็นสองประเด็นนะครับ

ประเด็นแรก : ประเด็นที่พ่อแม่รู้สึกเอาเองว่าเราพูดไม่ดี ว่าเราพูดแรง ว่าเราทำให้เจ็บ อันนี้เป็นประเด็นของพ่อแม่นะ

ประเด็นที่สอง : ส่วนประเด็นของเราก็คือ รู้สึกว่าไม่ได้ทำเกินหน้าที่ลูก แต่ทำหน้าที่ลูกที่ยื้อพ่อแม่ไว้ไม่ให้ตกต่ำ หลงทำผิดไป อันนี้เป็นอีกประเด็นนึงนะครับ

ฝั่งพ่อแม่ อันนี้ต้องว่ากันตามตรงว่าสามารถคิดไปเองได้ คือเรายังไม่ทันพูดอะไรที่เป็นการทำร้ายจิตใจ แต่ท่านตีความหรือว่าแปลท่าทีอากัปกิริยาภาษากาย หรือว่าคำพูดอะไรที่มันเหมือนกับจะกระทบเหน็บแนมตีวัวกระทบคราดอะไรแบบนี้ แล้วท่านก็เก็บไปฝังใจเจ็บใจ อันนี้เป็นส่วนของพ่อแม่เองเป็นกรรม เรียกว่าเป็นมโนกรรมของพ่อแม่เอง ไม่เกี่ยวกับลูกนะครับ

ในฝ่ายของลูก ตรงที่บอกว่าเราตั้งใจดี ความตั้งใจดีเนี่ยนะเป็นหน้าที่ ที่ทุกคนต้องทำในฐานะลูก ถ้าเห็นพ่อแม่หลงทาง หรือว่ากำลังจะร่วงหล่นลงเหวแล้ว อ้าว เชิญตามสบาย อย่างนี้ไม่ใช่ลูกที่ดีแน่นอน ไม่ใช่ลูกที่กตัญญูแน่นอน

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยเช่นว่า พ่อแม่ใช้ให้ไปซื้อเหล้า หรือว่าชอบที่จะเสพยาทำอันตรายให้กับตัวเองอะไรแบบนั้น แล้วก็พูดเตือนดีๆก็แล้ว หว่านล้อมอะไรก็แล้ว จนกระทั่งพูดแรงเพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกว่าอันนี้มันไม่ถูกแล้วอะไรต่างๆเนี่ยนะครับ อันนี้คือมันก็ยังอยู่ในขอบเขตของเจตนาดี โดยเจตนาดีเนี่ยมันไม่ใช่กรรมหนักในฝ่ายห้ามมรรคห้ามผลแน่นอน มันเป็นตรงกันข้าม มันเป็นฝ่ายดี มันเป็นฝ่ายฉุดให้จิตของเรายกระดับขึ้นสูง ไม่ใช่กดให้ลงต่ำ

อันนี้มาพูดแยกเป็นประเด็นๆแยกย่อยนะครับ คือ

เจตนาดีแล้วมีวิธีพูดให้รู้สึก กับ เจตนาดีแล้วบอกว่าไม่มีทางเลือกต้องพูดอะไรแรงๆอย่างเดียว อันนี้มันก็จะเป็นเหมือนกับข้อกรรม กรรมเนี่ยแตกกิ่งก้านสาขาลงรายละเอียดของเจตนาดีเนี่ยด้วยวิธีที่ต่างกัน

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ หาทาง บางทีไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดอย่างเดียว มันมีวิธีอื่น ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีคิดต่างไปในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็รู้จักพ่อแม่ตัวเองดีพอที่จะรอจังหวะ รอเวลา หรือว่าบางทีบอกตัวเองว่า มันไม่ได้ มันรอไม่ได้ เดี๋ยวมันจะสายเกินไป ต้องรีบพูดเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าไม่ห้ามเนี่ยมันไม่ทันแล้ว อันนี้ก็เป็นอีกกรณีนึงนะครับ

แต่ส่วนใหญ่ พูดส่วนใหญ่นะ คือมันไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดแรงๆในทันทีทันใด มันจะมีเรื่องที่สามารถรอได้ แล้วเรารอหรือเปล่า ตรงนี้วัดตรงนี้ก่อน ถ้าเรื่องรอได้ แล้วเราใช้ความใจเย็นหาจังหวะหาวิธีที่เหมาะสม อย่างนี้ถือเป็นกรรมดีที่สมบูรณ์ คือช่วยพ่อแม่ด้วยแล้วก็ช่วยด้วยวิธีที่มันเซฟ (save) กับตัวเองด้วย

ที่บอกว่า มันไม่ได้มันรอไม่ได้นะต้องพูดแรงเดี๋ยวนั้น นี่!ตรงนี้ตอนที่พูดแรงใช้คำแบบไหน ใช้คำแบบเหมือนกับเพื่อนด่าเพื่อน หรือว่าผู้ใหญ่จัดการเด็ก หรือว่าเจ้านายบังคับข้าทาส มันมีแยกย่อยออกไปอีกนะครับ

แต่สรุปได้ง่ายๆว่า อันนี้พูดซ้ำนะก็คือว่า ถ้าเจตนาดี ยังไงมันก็ดี ยังไงมันก็ทำให้จิตของเราอยู่สูง อยู่ในฐานะของลูกกตัญญู

แต่วิธีที่จะจัดการด้วยเจตนาดีนั้นเนี่ยมันลงรายละเอียดเข้าไปอีก แล้ววิธีที่เซฟ (save) ที่สุดคือรอจังหวะใช้คำพูดหรือใช้อุบายวิธีที่มันเหมาะสมที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ ที่มันฉลาดที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้ในเรื่องนั้นๆนะครับ

ถ้าหากว่าจำเป็นต้องพูดแรงแบบฉับพลันทันด่วนนะครับ ดูท่าทีของตัวเองว่า พูดแบบลูกพูดแรงกับพ่อแม่ หรือว่าในฐานะเจ้านายบังคับข้าทาส หรือว่าในฐานะเพื่อนเล่นงานเพื่อน ดูกรรมของตัวเอง ณ จุดเกิดเหตุก็แล้วกันว่าเราอยู่ในสภาพจิตใจแบบไหนนะครับ

คือคิดน่ะถูกแล้วล่ะว่ายังไงก็ต้องช่วยพ่อแม่ไว้ก่อน แต่ว่าช่วยด้วยวิธีไหนเนี่ย มันเป็นรายละเอียดอีกชั้นนึงนะครับ

------------------------------------------------

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เคยทุบตีพ่อแม่ ห้ามมรรคผลหรือไม่?

คำถาม : ถ้าเราด่าพ่อแม่แรงๆในความรู้สึกของพ่อแม่เองนะครับ เพื่อที่เตือนสติ แต่เราไม่ถือเอากรรมตรงนั้นมาทำให้ทุกข์ใจเลย เพราะเราคิดว่า เราได้ทำหน้าที่ลูกไม่อยากให้พ่อแม่ตกไปอยู่จุดที่แย่ เป็นสิ่งที่ผมควรทำ อันนี้ผมคิดถูกไหมครับ?

ระยะเวลาคลิป    ๖.๔๑  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=WZLTU8cwQZI&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น