ดังตฤณ : คือมันมีสองอย่างนะครับ
ศีล ทำจิตมีความตรง แล้วก็พร้อมที่จะรู้อะไรตามจริงนะครับ นี่คือธรรมชาติของศีล
แต่ถามว่ามีศีลกับไม่มีศีล ถ้าไม่มีศีลเห็นความไม่เที่ยงได้หรือเปล่า?
มันก็ยังได้อยู่ถ้าคุณเห็นอย่างถูกต้อง
มีวิธีรู้ มีมุมมองที่ใช่นะครับ
ตรงข้ามนะครับ ต่อให้มีศีลถ้ามองผิด หรือเข้าใจผิด ไม่ตั้งไว้เป็นสัมมาทิฏฐิ อย่างนี้มันก็เห็นความไม่เที่ยงไม่ได้เหมือนกัน
อนิจจังหรือความไม่เที่ยงเนี่ยถูกรู้ได้ด้วยสติของคนที่สามารถเห็นอะไรตามจริง แล้วก็ตั้งมุมมองไว้ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ ไม่ใช่มาสังเกตแค่ครั้งหรือสองครั้ง แต่ต้องสังเกตจนกระทั่งจิตมีความเป็นปกติ ที่จะรับรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่องอย่างน้อยสองถึงสามลมหายใจขึ้นไป
ไม่ใช่พอรู้ลมหายใจเดียวแล้วใจกระโดดไปถึงสิ่งอื่นคิดสิ่งอื่น หรือมาเกิดความสงสัยว่า นี่เราจะดูไปทำไม แบบนี้เนี่ยนะไม่มีทางที่จะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจได้
แต่ถ้าหากว่าใจเบาๆใจสบายๆ พูดง่ายๆว่าจิตว่าง ว่างจากความอยากโน่นอยากนี่ ว่างจากความคิดสงสัยโน่นสงสัยนี่ เป็นความว่างที่เป็นไปเองเกิดขึ้นเองด้วยความรู้สึกว่าใจเบาใจสว่าง ใจมีความสุขอยู่กับความว่างตรงนี้ ไม่ใช่ติดความว่างนะ แต่มีความพอใจที่จะอยู่กับความว่างตรงนี้
แล้วอาศัยความว่างของจิตแบบนี้ ไปสังเกตลมหายใจด้วยความรู้สึกใจเย็น ไม่ใช่ว่ารีบเร่งให้เห็น หรือจะอยากดูความไม่เที่ยงเดี๋ยวนี้ แต่แค่มีท่านั่งอยู่อย่างนี้ แล้วในท่านั่งนี้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วเราก็โอเค (คุณดังตฤณสาธิตการหายใจเข้า-ออกประกอบ) เนี่ยเราเห็นทีนึงแล้ว (หายใจเข้า) อ่ะเนี่ยเห็นอีกทีนึงแล้ว (หายใจออก) นี่เห็นอีกทีนึง (หายใจเข้า) เห็นโดยที่ไม่คาดหวังอะไรเลยนะครับ สังเกตอยู่อย่างเดียวว่า มันเข้าหรือมันออก แล้วครั้งนี้เนี่ยมันหายใจทั่วท้องมั้ย ถ้าหายใจทั่วท้องมันจะเป็นลมหายใจยาวที่ให้ความสุข แต่ถ้าหายใจสั้น หายใจห้วนๆ มันจะรู้สึกเฉยๆ หรือไม่ก็มีความอึดอัดทางกายอยู่หน่อยๆ
ด้วยการเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยการตั้งมุมมองแบบนี้ในที่สุดเนี่ย จะมีปกติของจิตเป็นสมาธิที่จะรู้ว่า ลมหายใจแต่ละครั้งเนี่ย บางทีมันเท่าเดิมไปซักร้อยหนพันหน แต่ในที่สุดมันต้องแสดงความไม่เท่าเดิมในครั้งที่ ๑๐๐๑ หรือ ๑๐๑ ให้ดูว่ามันสั้นลงได้ หรือว่ามันไม่ได้มีไม่ได้นำความสุขเข้ามาเท่าเดิม เนี่ยอย่างนี้มันถึงจะเป็นมุมมองที่ใช่
แต่ถ้าเรามีศีลแล้ว ใจของเราพร้อมที่จะเห็นอะไรตามจริงแล้ว แต่ไม่ตั้งมุมมองแบบนี้ ไปมีความอยาก อยากจะ..”อ่ะเนี่ยเมื่อไหร่จะเห็นความไม่เที่ยง เนี่ยเห็นลมหายใจแล้วทำไมไม่เห็นความไม่เที่ยงสักที” เนี่ยไปเร่งตัวเองอยู่อย่างนี้นะครับ นี่ก็ไม่เห็นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆว่า เราจะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
หรือว่าภาวะทางกายทางใจใดๆขึ้นมา ต้องประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกมีศีลนะครับ
ส่วนที่สองจะต้องตั้งมุมมองที่ใช่เอาไว้ มันถึงจะเห็นนะครับ
---------------------------------------
๒๓
มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ‘จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?
คำถาม : ถ้ารักษาศีลไม่ครบจะรู้ความไม่เที่ยงในกายใจนี้ไหมคะ? และช่วยบอกลักษณะของการหายใจเพื่อเห็นความไม่เที่ยงด้วยค่ะ
ระยะเวลาคลิป ๔.๐๙
นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=UwYlsKcd-po&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=9
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
** IG **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น