วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชาตินี้ไม่มีบุญ หรือชาตินี้ไม่มีใจ?

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านทุกคืนวันเสาร์ สามทุ่มนะครับ

 

คืนนี้เป็นหัวข้อที่น่าจะแทงใจหลายคน เพราะชอบบ่นกัน เวลาปฏิบัติธรรมก็ตาม หรือว่าเอาแค่จะถือศีลให้ครบได้ทุกข้อนี่ ก็มีอุปสรรคขัดขวาง หรือมีแรงผลักบางอย่าง ให้เกิดความรู้สึกท้อถอย ก็เกิดคำถามขึ้นมา ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ชาตินี้สงสัยมีบุญพอหรือเปล่า อย่าว่าแต่ธรรมะขั้นสูง เอาแค่ธรรมะขั้นที่ว่าจะรักษาศีลให้ได้ ก็เหมือนกับเหลือบ่ากว่าแรงแล้ว

 

เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะสำรวจตรวจดู จะเอาคำตอบกันว่า ชาตินี้มีบุญแค่ไหน คืนนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันลงรายละเอียดนะ เพื่อที่จะให้เกิดความชัดเจน หัวข้อเราชัดกว่านี้นิดหนึ่ง คือว่า ชาตินี้มีสิทธิ์บรรลุธรรมไหม

 

หลายคนพอแค่ตั้งคำถามนี้กับตัวเอง หรือใครจะชวนคุยเรื่องทำนองนี้นะ ก็จะมีความรู้สึกเหมือนกับตอบทันที ... โอ๊ย บุญไม่พอหรอก กิเลสยังเยอะ ไม่สามารถที่จะไปคาดหวัง หรือว่าเอาอะไรที่สูงเกินกว่าสวรรค์ได้ สวรรค์นี่ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะไปถึงหรือเปล่า รู้สึกจิตใจมืดๆ มัวๆ ชอบกล

 

ทีนี้ถ้าเราไปตั้งค่าไว้ บอกว่ามรรคผลเป็นของสูง หรือว่า มรรคผลนี่ ไม่มีสิทธิ์ ไม่ได้เป็นเหมือนกับโอกาสที่คนในยุคเรา หรือว่าตัวเราที่ยังกิเลสหนา ปัญญาหยาบ จะมีสิทธิ์มีบุญได้กับใครเขาอะไรแบบนี้

 

พอตั้งสเปคไว้อย่างนี้ปุ๊บ จิตจะล็อกตัวเอง ปิดกั้นตัวเองไว้ในกำแพงที่สูงลิ่ว หนาเตอะ ว่าไม่มีทางที่จะเข้าถึงเป้าหมายของพุทธศาสนาได้ ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดๆ เลยนะ พระองค์นี่อุตส่าห์เพียรพยายามมา ไม่รู้กี่อสงไขยแสนมหากัป ก็เพื่อที่จะให้ทุกคนได้มีสิทธิ์ เพื่อให้คนที่เป็นเวไนยสัตว์ ที่เหมือนกับไม่ได้หูหนวกตาบอด ไม่ได้มีใจบอดใบ้ สามารถที่จะฟังธรรมะง่ายๆ อย่างที่พระองค์กำลังหาทางมา แล้วก็เอามาประทาน

 

คือถ้าหากมองจุดประสงค์ของพระศาสดานะ ท่านตรัสรู้ธรรมแล้ว ท่านรอดพระองค์เองแล้ว ท่านสบายแล้ว ไม่ต้องมาเหนื่อย ท่านก็สบายแล้ว ได้ไปนิพพานแน่ๆ ไม่เหลืออะไรให้ต้องทำอีก

โดยกิจของพระอรหันต์นี่ ถือว่าเป็นผู้จบกิจ ความหมายก็คือว่า ไม่ต้องทำอะไรในทางที่ จะต้องมาให้ใจนี่พ้นทุกข์อีก เพราะพ้นไปแล้ว เหมือนกับตาลยอดด้วน

 

ทีนี้ที่พระองค์อุตส่าห์เหนื่อย ก็เพื่อที่จะให้คนที่ยังมีสิทธิ์พึงมีพึงได้ ปฏิบัติตาม ได้บรรลุธรรมสิ้นทุกข์ตามพระองค์ อาศัยว่า มีอวัยวะครบ 32 มีสติปัญญาพอ ที่จะฟังแล้วเข้าใจว่า พระองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ตรัสเกี่ยวกับการที่มีนิพพานอยู่จริง มีธรรมชาติที่ชื่อว่านิพพาน  สามารถบรรลุได้เพียงด้วยการเจริญสติ ที่เรียกว่า เจริญสติปัฏฐาน 4 นะครับ

 

ถ้าใครทำตามที่พระองค์ตรัสไว้ ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า มีสิทธิ์ที่จะบรรลุธรรมได้ภายใน 7 เดือน หรือ 7 ปี นะ แต่ถ้าอย่างเร็วหน่อย คนที่มีอินทรีย์แก่กล้า 7 วันก็ได้ ที่พระองค์ตรัสกันไว้อย่างนี้

 

แต่รุ่นหลังๆ ชอบมาพูดกันว่า คนสมัยนี้ กิเลสหนาปัญญาทราม ไม่มีสิทธิ์ที่จะบรรลุมรรคผล มีแค่ทวิเหตุ มีไม่ครบตติเหตุ อะไรแบบนี้ คือพูดกันไปแบบที่พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสเลย มีแต่ท่านตรัสให้กำลังใจ นี่มาย่ำยีหรือว่าบั่นทอนกำลังใจเสียเองนะ ชาวพุทธนะ พุทธบริษัท ฝีมือพุทธบริษัท ที่มาบั่นทอนกำลังใจกันเอง

 

ก็คือพอเข้าถึง คือศึกษามาถึงจุดหนึ่ง ที่จะพอรู้บ้างเกี่ยวกับศาสนานี่ ก็จะมาจบ มาติดเพดานตรงที่ว่า ชาตินี้ไม่ต้องไปหวังบรรลุมรรคผล ไม่มีสิทธิ์ เพราะคนยุคเราบุญน้อยเกินไป

 

ยุคเราบุญน้อยได้อย่างไร การเวียนว่ายตายเกิดนี่ จะเวียนว่ายตายเกิดมาเป็นสายนะ คนที่มาจากยุคพุทธกาล เราจะรู้ได้อย่างไร เขาเคยเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักต์หรือเปล่า หรือเคยทำบุญทำกุศลอย่างใหญ่ บูชาพระพุทธเจ้ามากี่ยุคกี่สมัย มาสรุปกันง่ายๆ เลยว่ายุคนี้ คนมีบุญไม่มาเกิด เอาแค่นั้นเอง แล้วก็บอกว่าไม่ต้องไปหวังมรรคผล

 

ก็เลยเป็นที่มาว่า พอศึกษาพุทธศาสนา พอเกือบจะเข้าถึงเป้าหมายที่แท้จริงของพุทธศาสนาแล้ว มาเจอเบรค มาเจอแรงผลักให้ออกไป ก็เลยท้อถอย แล้วก็พิจารณาตามจริงด้วย บางคนนี่ ก็โอเคไม่เชื่อเสียงเล่าเสียงลือ ว่ายุคนี้ไม่มีสิทธิ์บรรลุนะ แต่ก็มาเจอจิตของตัวเองเบรคเข้าอีกว่า  พยายามมาตั้งนาน ทำไมไม่เห็นผลเสียที ไม่เห็นเลยว่า กายใจเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนัตตา แบบที่เขาเล่าลือกัน ที่ในหมู่ของผู้ที่ลือกันว่าได้มรรคได้ผลอะไรแบบนี้ คือซื่อสัตย์กับตัวเอง รู้ว่าใจตัวเองยังไม่ปล่อยกิเลส ยังไม่ได้อะไรเลย

 

ไม่นับพวกที่หลงตามๆ กันนะ ประเภทที่สามารถบอกได้ ตั้งแต่เข้าหาครูบาอาจารย์วันแรกนี่ ชี้ได้เลยว่าเธอบรรลุแล้ว อย่างนี้ไม่นับนะ นับเฉพาะคนที่ได้พยายามที่จะเพียรปฏิบัติ แล้วก็เหมือนกับใจเชื่อแล้วว่า หนทางนี้เป็นหนทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ เพราะมีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก แล้วก็มีหลักฐานที่ปฏิบัติไปแล้วกิเลสลดน้อยถอยลง แต่รู้สึกว่ายังห่าง เหมือนกับคนที่ไม่รู้หรอก ว่ายอดเขาอยู่ตรงไหน รู้แต่ว่าพอปีนเขามา รู้สึกว่าภูเขามันยิ่งใหญ่เหลือเกิน กว้างยาว สุดลูกหูลูกตา แล้วก็ไม่รู้ว่าเงยหน้าขึ้นไป มันทะลุเมฆ ไม่รู้ว่ายอดอยู่ตรงไหน ก็เลยมีความรู้สึกว่า สงสัยเราจะไปไม่ถึงหรอก นี่ มันเกิดความรู้สึกแบบประมาณนี้ขึ้นมา

 

ทีนี้ รวบรัดตัดความคือจริงๆ แล้วนี่ ถ้าเราไปตั้งคำถามว่า ชาตินี้ ไม่มีบุญพอหรือเปล่า แต่แทนที่จะไปถามแบบนั้นนี่ เราถามว่า ชาตินี้ มีแก่ใจแค่ไหน ที่จะเดินบนเส้นทางที่พระพุทธเจ้าอุตส่าห์ปูไว้ให้ ปูทางไว้ให้

 

คำว่า มีแก่ใจ ดูง่ายๆ ว่าเราคิดเข้ามาในกายใจแค่ไหน คิดถึงกายใจตัวเองแค่ไหน หรือว่าคิดแต่ธรรมะที่ฟังจากคนอื่น แล้วก็ดูว่าใครบอกว่าตัวเองบรรลุบ้างอะไรอย่างนี้

คือถ้ามองอย่างนั้น ก็มองไม่เห็นภาพยอดเขาวันยังค่ำนั่นแหละ รู้แต่ว่า มีคนโน้นคนนี้ถึง แต่ไม่สนใจว่าเขาถึงมาได้อย่างไร หรือว่าบางทีสนใจ แล้วก็พยายามทำตาม แต่ทำได้นิดๆ หน่อยๆ เหยาะๆ แหยะๆ แล้วก็เกิดความท้อถอยขึ้นมา เพราะจิตคอยวกกลับไปหากิเลส แล้วไม่เกิดความรู้สึกขึ้นมาเลยว่า ตัวเองจะเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นอนัตตาได้ นี่ เกิดแรงห้ามขึ้นมาด้วยใจตัวเองอย่างนี้

 

ผมให้สำรวจง่ายๆ เลยว่าคุณมีบุญพอหรือเปล่าก็คือ มีใจที่จะนึกถึงเข้ามาในกายใจตัวเองมากน้อยแค่ไหน

 

คุณจะทำมาแบบไหน สำนักใดก็ตาม จะเชื่อเกี่ยวกับวิธีการแบบไหน ว่าทำให้บรรลุมรรคผลได้ ไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ว่า คุณคิดอยู่เรื่อยๆ ไหมว่าอะไรๆ ในขอบเขตกายใจนี้ ไม่เที่ยง

 

ถ้าหากว่าคุณคิดอยู่เรื่อยๆ โดยไม่มีใครมาบังคับ ไม่มีใครมาชักชวน หรือ ชักจูง แต่ใจอยากคิดขึ้นมาเองว่า กายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง นี่ คุณมีสิทธิ์แล้ว เรียกว่า ถ้ามีแก่ใจ ถ้ามีใจ ก็คือมีบุญพอแล้ว ที่จะมีสิทธิ์บรรลุธรรมกับท่าน

 

เพราะอะไร เพราะว่าถ้าคุณตั้งเข็มไว้ว่า จะคิดว่าอะไรๆ ในกายใจนี้ไม่เที่ยง เวลาเกิดอะไรขึ้น อย่างเช่น มีความรู้สึกว่าตอนนี้ฟุ้งๆ ลอยๆ จับอะไรไม่ค่อยติด แล้วก็จำได้แม่นยำขึ้นใจว่า แม้แต่ความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยง เสร็จแล้วคุณก็สำรวจตรวจดู .. จริงนะ ถ้าเราปล่อยใจไป เลื่อนลอยไปเรื่อยๆ แล้วใจเหม่อๆ ไป ในที่สุด ใจกลับมารู้สึกได้ว่า ที่เหม่ออยู่นี่ เหม่ออยู่ในตัวนี้ ในร่างกายนี้ แล้วเหม่ออยู่ที่ลมหายใจไหน

ลมหายใจที่กำลังเหม่ออยู่ พอเรารู้สึกถึงลมหายใจ ที่กำลังเป็นลมหายใจแห่งความเหม่อนี่ ความเหม่อ จะถูกรู้ถูกดู มีสติขึ้นมาว่ากำลังเหม่ออยู่ อาการเหม่อก็จะลดน้อยหรือเบาบางลง แล้วก็กลับมาเหม่อใหม่ เราก็แค่คิดๆ ว่าความเหม่อไม่เที่ยง ความฟุ้งซ่านไม่เที่ยง พอคิดบ่อยๆ มันเข้ามาเอง เข้ามาอยู่กับกายนี้ใจนี้ เพราะความเหม่อ หรือ ความฟุ้งซ่าน ไม่พ้นขอบเขตของหัว ของตัว นี้หรอก คุณจะสำรวจกี่ครั้งมันก็อยู่ในหัวนี้แหละ

 

ถ้าสำรวจบ่อย มันก็เข้ามาในหัวบ่อยขึ้น แล้วพอเห็นบ่อย ว่าความฟุ้งซ่านไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่า ที่แสดงความไม่เที่ยงอยู่ จะแสดงอยู่ในหัวนี่เอง

 

เห็นไหม คือแค่คิดบ่อยๆ ถึงความไม่เที่ยง คุณจะเจริญสติมาตามแนวทางสำนักไหนก็ตาม ในที่สุดแล้ว คุณก็จะเป็นคนที่มีสิทธิ์บรรลุธรรมได้ เพราะอะไร เพราะว่าจิตที่บรรลุธรรมนี่ คือจิตที่สะสมความเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง

 

ส่วนที่ว่า จะมีสิทธิ์มาก มีสิทธิ์น้อย อันนี้ก็ต้องยอมรับว่า ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมความเป็นไปได้มาแค่ไหนนะ ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ นอกจากจะลงมือทำไปมากๆ แล้วก็รู้ได้เองนะครับ ว่าในอดีตเราอาจเคยเฉียดๆ มาแล้วก็ได้ แต่ชาตินี้ฟุ้งซ่านจัด ไปหลงเรื่องของรูปรสกลิ่นเสียง กามคุณทั้งห้า เลยมีจิตใจอ่อนแอ ก็เหมือนกับว่าน่าจะทำไม่ได้ แต่ถ้าลองทำดู ของเก่า ถึงเวลาเผล็ดผลขึ้นมา ก็รวมจิต ผนึกจิตของเราให้ตั้งมั่นได้เหมือนกัน

 

นอกจากนั้น บางคนบอก โอเคคืออะไรๆ เหมือนจะดีหมด แต่ขี้เกียจ คือไม่ได้เหม่อไม่ได้ฟุ้งซ่าน แต่ ขี้เกียจปฏิบัติ คือรู้แนวทางหมดแล้ว แล้วก็เคยปฏิบัติมาแล้ว แต่ไม่มีแก่ใจ เกิดความรู้สึกขี้เกียจ

คุณจะขี้เกียจขนาดไหน ถ้ายังแวบคิดอยู่เรื่อยๆ ว่า นี่ไม่ใช่ของเรา ในที่สุดคุณก็ยังมีสิทธิ์เห็นว่ามันไม่ใช่ของเราจริงๆ

 

ยกตัวอย่างเช่น พอเราหายใจเข้าออก แค่แวบคิดขึ้นมาว่า ลมหายใจไม่ใช่ของเรา ลมหายใจไม่ใช่ตัวเรา แบบที่พระพุทธเจ้าตรัสให้พิจารณาบ่อยๆ ในที่สุด ทำไปวันสองวัน เหมือนกับแกล้งหลอกตัวเอง ว่าไม่ใช่ของเราๆ ยังมีความรู้สึกอยู่ชัดๆ ยึดอยู่ชัดๆ ว่าเราเป็นผู้หายใจ เราเป็นคนหายใจ แล้วลมหายใจ เข้ามาเป็นสมบัติในกายเรา

 

แต่พอท่องแบบไม่เลิก คือยังมีความมุ่งมั่น ยังมีการเดินหน้า ที่จะพิจารณาว่าอะไรๆ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ในที่สุด สิ่งที่เราเห็นบ่อยๆ อย่างเช่นลมหายใจ เห็นวันละแค่ ห้าครั้ง สิบครั้งอะไรแบบนี้ แล้วก็พิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา เข้ามาในตัวเราแป๊บหนึ่ง แล้วก็หายออกไป

รวมทั้งพิจารณาสิ่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์กระทบ โดนใครด่ามาก็ตาม คำด่าไม่ใช่ของเรา พอกระทบใจ ใจโกรธ ก็ยอมรับว่าโกรธ แต่ในความยอมรับนั้น พิจารณาว่าความโกรธไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็ตอนที่ความโกรธหายไป หรือว่าเจือจาง เบาบางลง เราก็พิจารณาว่า ความโกรธไม่ใช่ของเราจริงๆ ด้วย ไม่เหมือนเดิม มันต่างไปจากเดิม ไม่ใช่ตัวเดิม ถ้าเป็นตัวเราของเรา ต้องเป็นตัวเดิม คงที่

 

นี่หลักพิจารณาง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าให้ดู ให้สำรวจเข้ามา

 

แล้วพอเรามีความเคยชินแบบขึ้นใจ ที่จะท่องอยู่บ่อยๆ ว่า ไม่ใช่ของเรา อะไรๆ ไม่ใช่ของเราหมด จะมีความรู้สึก ครึ่งตัว ครึ่งหลับครึ่งตื่น ก็ไม่ใช่ของเรา มีความรู้สึกเต็มตัว มีความชัดเจนว่าเรากำลังเห็นอะไรอยู่ๆ ในท่าไหน ก็มองว่าไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา

 

พิจารณาอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุด ต้องมีสักวันหนึ่ง ที่มีเหตุปัจจัยประจวบเหมาะ ที่จะเกิดความรู้สึกเต็มเนื้อเต็มตัวขึ้นมา รู้สึกเหมือนเรานั่งอยู่ นั่งอยู่ด้วยความเป็นเครื่องแสดงว่า ท่านั่งนี้ไม่ใช่ตัวเรา ท่านั่งนี้ไม่ใช่ของเรา ตรงนั้นก็เกิดประสบการณ์ เห็นกายใจโดยความเป็นรูปเป็นนามขึ้นมาได้ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมาก ไม่ต้องขยันอะไรมาก แค่ท่องไว้ให้ขึ้นใจเท่านั้นเอง ว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา

 

ตัวนี้ที่บอกได้ว่า ถ้ามีแก่ใจท่องอยู่อย่างนี้ ท่องจนขึ้นใจ ก็มีสิทธิ์ นี่แหละมีบุญพอ

 

แต่ถ้าไม่มีแก่ใจ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาวัด ว่าบุญพอหรือไม่พอ เพราะร่างกายมนุษย์อยู่ให้เราพิจารณาหลายสิบปี แล้วเรามัวเอาเวลาหลายสิบปีนั้น ไปทำอะไรอยู่ ไปมัวแต่เถียงกันว่ามีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ ถ้าใครบอกว่ามีสิทธิ์ .. เอ้า นี่ไปดูเสีย มีคนบอกไว้ว่ายุคนี้ไม่มีทางถึง .. มัวแต่เถียงกันอยู่อย่างนี้ เอาเวลาเป็นสิบๆ ปีหลายสิบปี ไปพิจารณาอยู่แค่นี้เอง

 

หรืออย่างถ้าจะเอาแบบที่คุณน่าจะนึกตามได้ ก็คือว่า คุณจะทำมาน้อยแค่ไหนก็ตาม คิดว่าตัวเองทำมาน้อยแค่ไหนก็ตาม ถ้าหายใจแบบมีสติก่อนนอนครั้งเดียว ทุกคืน ขอครั้งเดียวที่หายใจอย่างมีสติ หายใจอย่างมีสติคืออะไร คือพิจารณาว่า หายใจเข้า หายใจออกนี่ ที่เข้าที่ออกนี่ เป็นธาตุลม แล้วเข้ามาเป็นส่วนประกอบหนึ่งของธาตุทั้งหมดนี้ ที่มีความแข็งเรียกว่าธาตุดิน มีไออุ่นเรียกว่าธาตุไฟ มีน้ำเลือดน้ำลายน้ำเหลือง เรียกว่าธาตุน้ำ มันเข้ามาเป็นส่วนประกอบแป๊บหนึ่งแล้วก็คืนไป ไม่มีธาตุไหนสักธาตุหนึ่ง ที่ทรงอยู่ในภาวะความเป็นอย่างนี้ถาวร

 

ธาตุไฟนี่ก็แสดงความอุ่นบ้าง ตัวอุ่นบ้างเย็นบ้างให้เห็น หรือ ธาตุดิน บางทีก็มีความเกร็งให้เห็น บางทีก็มีความผ่อนคลายให้เห็น อะไรแบบนี้ แล้วถ้าดูแค่ลมหายใจเดียวก่อนนอนหลับลงไป มีสติพิจารณาว่า ที่ร่างอันประกอบด้วยดินน้ำไฟลม ทอดวางอยู่อย่างนี้ แล้วมีลมผ่านเข้ามา เข้าแล้วก็ออก ออกไปจากสภาพความเป็นกาย คืนกลับสู่อากาศว่างไปอย่างนี้ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูอยู่ ขอลมหายใจเดียวทุกคืน

 

จะเกิดอะไรขึ้น จะเกิดการสะสมครับ ทุกคืนของคุณหมายความว่า หนึ่งปีมี 365 วัน สิบปีมี 3,650 วัน ถ้าคุณมีเวลาเหลือในชีวิตอยู่ 20 ปี แปลว่าคุณมีโอกาสเห็นลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนเกือบหมื่นครั้ง

 

แล้วตรงนั้น จริงๆ ไม่สำคัญเท่าตรงที่ว่า คุณสะสมสิ่งที่เรียกว่า อนิจจสัญญา หรือว่า อนัตตสัญญา มา ทีละนิดละหน่อย แบบเด็กหยอดกระปุก ทีละสลึง ทีละห้าสิบสตางค์ ทีละบาท แล้วจะไปรวมตอนทุบกระปุกตอนไหน ตอนที่กำลังจะจากโลกนี้ไป ถ้าคุณได้ตาย มีสิทธิ์ตายในท่านอน แล้วจิตท้ายๆ นี่ได้เห็นจริงๆ ว่าลมหายใจของเรา เกือบจะหมดแล้ว จะรู้สึกนะ

คือชีวิตนี่บอกเราได้ว่า นี่ลมหายใจท้ายๆ จะไม่เหมือนลมหายใจ ที่จะได้หายใจอีกหลายๆ ครั้ง นับครั้งไม่ถ้วน ลมหายใจท้ายๆ ร่างกายจะมีสภาพผิดแปลกไป แล้วตัวลมหายใจเองจะไม่เหมือนเดิม

 

ถ้าใครที่สะสมมาเกือบหมื่นครั้ง ในชีวิตที่เหลือ สมมติแค่ 20 ปีนะ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ จิตจะไม่วอกแวกไปไหน แล้วจะไม่สนใจเรื่องชาตินี้ชาติหน้า แต่จะสนใจแค่ชีวิตนี้ ชาตินี้กำลังจะหมดไป ให้เห็นว่า กายไม่ใช่ของเรา ลมหายใจไม่ใช่ของเราจริงๆ

 

พอจิตของคนใกล้ตาย จะมีความหนักแน่นกว่าปกติ คือไม่ใช่หนักแน่นแบบคนทำสมาธิ แต่หนักแน่นแบบจิตที่กำลังจะถึงจุดจบ ถ้ามีสิทธิ์รวมลงด้วยอาการปักใจเช่นนั้นว่า ลมหายใจไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้กำลังจะแสดงความไม่ใช่ของเราอย่างชัดเจน คือกำลังจะดับไป นี่ภาวะนั้นแหละ ที่มีสิทธิ์ที่จะได้เข้าถึงธรรม

 

ธรรมะคืออะไร คือของจริง อันเป็นสภาพจริงของร่างกายนี้ แล้วก็จิตใจนี้ ตอนมันดับไปด้วยปัญญา เห็นว่าไม่ใช่ของเรา มันรวมลงเป็นฌานได้ แล้วรวมลงเป็นฌานได้นั่นแหละ ก็คือบรรลุมรรคผล

 

การบรรลุมรรคผลก็คือ จะเห็นทะลุกายนี้ใจนี้ ซึ่งเหมือนกำแพงบังนิพพานไว้ พอทะลุกำแพงนี้ หรือว่าเครื่องบดบังนี้ไปได้ ก็เห็นนิพพาน ซึ่งนั่นแหละ ตรงนั้นแหละที่เรียกว่า บรรลุมรรคผลนะครับ

 

สรุปก็คือว่า ชาตินี้ ถ้ามีร่างกายครบ ไม่ต้องครบถ้วนก็ได้ ต่อให้มือด้วนแขนด้วน แต่มีสติปัญญาพอ ที่จะพิจารณากายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง แค่คิดๆ เอาว่า มันไม่เที่ยง แค่คิดๆ เอาว่ามันไม่ใช่ตัวตน คิดไปเรื่อยๆ คิดโดยยืนพื้นอยู่บนของจริงด้วยนะ ไม่ใช่คิดเอาในหน้ากระดาษหรือในจินตนาการ

 

คือพอเกิดอะไรขึ้นในกายนี้ใจนี้ มีปฏิกิริยาทางใจแบบไหนขึ้นมา คิดว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา คิดไปเรื่อยๆ เถอะ ในที่สุด คุณรู้เองว่าการมีบุญพอ หรือว่าการมีสิทธิ์ที่จะได้บรรลุธรรมนี่ ก็คือการได้ใช้สิทธิ์ในการเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่ใช่ตัวเดิมของกายใจนี้เอง

จะคิดหรือว่าจะเจริญสติ จะขยัน หรือจะขี้เกียจอะไร ถ้าไม่เลิก ในที่สุดแล้ว คุณก็มีสิทธิ์กันทุกคนนั่นแหละ!

___________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ชาตินี้ไม่มีบุญ หรือชาตินี้ไม่มีใจ?

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : เอ้ 

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=U9oEfOTGJ4U

 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น