ดังตฤณ : ความฝันมีอยู่หลายแบบ มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการกลอกลูกตาในช่วงก่อนตื่น กับวิธีอธิบายทางธรรม ผมขอเลือกอธิบายทางธรรมแล้วกัน
กายใจของเรา ในมุมมองของนักเจริญสติ ที่เข้าใจแบบที่พระพุทธเจ้าสอนท่านสอนให้พิจารณาว่า
กายนี้ คือ การประชุมกันของธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
ร่างกายที่ยกขึ้นมานั่งได้ ก็เพราะยกขึ้นตั้งด้วยกระดูกสันหลัง
กระดูกสันหลังนี้เป็น ‘ธาตุดิน’ เป็นสิ่งที่จับต้องได้ เข้มแข็ง
ส่วน ‘ธาตุน้ำ’ เช่น น้ำลาย น้ำเลือด ที่อยู่ข้างใน ‘ธาตุลม’ คือ ลมหายใจ และลมพัดขึ้นลงในร่างกาย ‘ธาตุไฟ’ คือ ไออุ่น .. รวมเรียกว่า รูปขันธ์
‘ขันธ์’ ไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน หมายถึง
กองๆ หนึ่ง เป็นสภาพธรรม ที่เป็นการประชุมกันของธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
ธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เป็นตัวเป็นตน ที่เป็นเส้นธรรมกรรม
ปรุงแต่งกรรมขึ้นมาได้ และเสวยวิบากของกรรมได้ ไม่ได้มีแค่ ‘รูป’
ถ้ามีแค่ ‘รูป’
เฉยๆ ก็จะเหมือนก้อนหิน ที่ตั้งอยู่ แล้วไม่รู้สึกรู้สาอะไร
ทำกรรมไม่ได้ เสวยผลกรรมไม่ได้ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์
ไม่เกิดความสุข ไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่มี อายตนะ ไปรับผัสสะ
รับสัมผัสทั้งหลาย
แต่ร่างกายของเรานี่ เรียกว่าเป็นการประชุมกันของ ดิน น้ำ ไฟ ลม มี
หู ตา จมูก ปาก เป็นช่องรับ การกระทบกระทั่งจากโลกภายนอกได้
อย่างตาเห็นรูป ตาเห็นผู้คน แล้วเกิดความรู้สึกว่า ชอบหรือไม่ชอบไอ้หมอนี่
รักหรือไม่รักยายนั่น ที่ตาเห็นนั้น ตาไม่ใช่ผู้รู้สึก แต่สมองเป็นผู้รู้สึก
ตัว ‘ความรู้สึก’ ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ตัวนี้ เรียกว่า ‘เวทนา’
หรือ สภาพธรรมอีกกองหนึ่ง เป็นต่างหากจากร่างกาย
ตัวสุข ตัวทุกข์ ตัวรู้สึกอึดอัด หรือสบาย ยิ่งมีความสุขหรือสภาพความทุกข์ที่เข้มข้นมากขึ้นเท่าไหร่
ความจดจำจะยิ่งชัดเจน แจ่มแจ้งมากขึ้นเท่านั้นตรงนี้ ทุกคนมีประสบการณ์ตรง
ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบัดนี้ ไม่ต้องไปหาหลักฐานที่ไหน
เรื่องที่ทำให้เป็นทุกข์มากๆ ทุกข์เหลือเกิน ทุกข์ที่สุดในชีวิต หากลองนึกดู
เราทุกคนมีกันอยู่ทั้งนั้น โมเมนต์ที่เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์หนักๆ จิตจะไม่ไปไหน
มันจับยึดอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นแหละ
อาจจะเป็นภาพ เสียง หรืออาจเป็นความคิดอะไรบางอย่าง ที่ปรากฏขึ้นมากระทบใจ
แล้วเกิดความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ความทุกข์ก้อนมหึมา
ความทุกข์ที่ทำให้ดูเหมือนโลกทั้งใบมืดไปหมดได้
ภาพเสียงที่เกิดจากความทุกข์ตรงนั้น จะเป็นความจดจำที่เหนียวแน่น
และฝังหยั่งรากลึกลงไปในชีวิตของเรา ชนิดที่ลบไม่ออก
แต่อีกข้างหนึ่ง
.. ความสุข สุขใหญ่หลวง สุขแบบที่ราวกับลอยขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น อย่างนั้นก็ให้ความทรงจำที่แน่นเหนียวอีกเช่นกัน
แต่ไปอีกข้างหนึ่ง
ส่วนประเภทที่ให้ความรู้สึกธรรมดาๆ เฉยๆ เช่น
คุณอาจเคยมีประสบการณ์ว่า ลืมไปว่าตัวเองแปรงฟันหรือยัง ทั้งๆ ที่นั่นเป็นเรื่องเข้าปากเข้าคอเลย
แต่คุณกลับถามตัวเอง สงสัยว่าเมื่อกี้เราทำหรือยัง?
เรื่องที่เป็น Auto
Pilot เราทำโดยอัตโนมัติ เราทำไปโดยไม่จำเป็นต้องคิด หรือไม่เกิดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์กับมันมากเท่าไหร่
จะเหมือนแบนเรียบเสมอกัน
ความสุขความทุกข์ หรือความรู้สึกเฉยๆ แบบอ่อนๆ จะทำให้ความจำ ‘ไม่’ เกิดขึ้น
นี่แค่ยกตัวอย่างสิ่งที่ทำในชีวิตประจำวัน ขณะลืมตาตื่นอยู่นะครับ
ในฝันก็เช่นกัน ฝันของคนส่วนใหญ่ จะเป็น นิมิต หรือ คลื่นลมเหมือนตอนที่คุณฟุ้งซ่านเป็นปกติอยู่
ลองนึกดูเวลาที่ใจเหม่อ ใจลอย มีอะไรที่วนๆ อยู่ในหัว บางที
คุณยังไม่รู้ด้วยว่า กำลังคิดถึงเกี่ยวกับเรื่องอะไร รู้แต่ว่ามันลอยๆ มีภาพความทรงจำเก่าๆ
ขึ้นมารกๆ อยู่ในหัว แล้วไม่จำ
ที่ไม่จำ ก็เพราะว่า เรื่องนั้นๆ ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึก เป็นสุข
หรือ เป็นทุกข์ ที่เข้มข้น ภาพจำจึงไม่เกิด
ความฟุ้งซ่านในขณะหลับก็เช่นกัน ที่บอกว่าเป็นความฝัน เป็นภาพนิมิต
อะไรที่ผ่านมาผ่านไปแบบเร็วๆ ถ้าหากไม่ได้แจ่มชัดเป็นตัวเป็นตน จับต้องไม่ได้ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็ลืมหมด เราพร้อมจะลืม
ไม่ต่างจากความฟุ้งซ่านในเวลาปกติ
ในทางวิทยาศาสตร์ มีการยืนยันว่า ในช่วงที่เราหลับฝัน พื้นที่สมองส่วนที่ยังทำงานอยู่
จะเป็นพื้นที่การทำงานแบบเห็นภาพ หรือได้ยินเสียง แบบที่สร้างขึ้นมา ‘มิใช่’ โหมดเดียวกันกับที่สมองรับรู้ได้ด้วย
หู ตา
พอโหมดการทำงานของสมองพลิกเปลี่ยนแบบรุนแรง จากโหมดที่เข้าไปรับภาพเสียงลอยๆ
ผ่านๆ .. พอลืมตา ตื่นขึ้นมาเห็นภาพจริงๆ ก็เลยเหมือนอยู่ห่างกัน ห่างกันราวกับเป็นคนละชาติกัน
ยกเว้นแต่ว่า ความฝันนั้น จะให้ความรู้สึกแจ่มแจ้งชัดเจน
ยิ่งกว่าเห็นด้วยหูตาปกติ อย่างนี้ ลืมตาขึ้นมา จะยังแจ่มชัดอยู่ในความรู้สึกได้
ถ้าเราเจริญสติในแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ให้พิจารณาแยกกายใจ ออกเป็น
รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็จะเริ่มเข้าใจ ยิ่งเวทนาเข้มข้นขึ้นเท่าไหร่ สัญญายิ่งมีความเข้มข้นตามไปมากขึ้นเท่านั้น
ถ้าศึกษามา โดยการเห็น กายใจ เป็นขันธ์ 5 จะเข้าใจแจ่มแจ้ง ยิ่งเวทนาเข้มข้น สัญญาหรือความทรงจำ ความจำได้หมายรู้
ก็ยิ่งมีความแจ่มชัด มีความคมชัด มากขึ้นตามไปด้วย
อย่างที่เขามีเทคนิคว่า ถ้าจะจดจำตัวเลข
หรืออะไรที่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการจดจำ ก็ให้สร้างภาพขึ้นมาให้ใหญ่โต
ให้แทงใจไปเลย สมมุติว่า
จะจำคนชื่อ น้อยหน่า ก็ให้นึกถึงใบหน้าของคนนั้น เป็นลูกน้อยหน่าลูกโตๆ ก็จะเกิดความรู้สึกจดจำขึ้นมา
นี่เป็นตัวอย่าง ว่าถ้าเราขยายเวทนา ให้ใหญ่โตได้ สัญญาก็จะใหญ่โตตาม
แล้วมีความเข้มข้นตาม
เขามีการทดลองในระบบทางวิทยาศาสตร์จริงๆ โดยหลักการแล้ว ในช่วงที่คนฝัน
นัยน์ตาจะกลอกเร็ว คนที่บอกว่าตัวเองไม่ฝัน แต่วัดแล้วปรากฏว่า กลอกตากันทุกคน!
(ถ้าไม่ฝันจริงๆ ดวงตาจะกลอกช้าๆ หรือนิ่งๆ)
ในการทดลองใช้คนเป็นร้อย ปรากฎว่า ร้อยทั้งร้อย มีช่วงที่กลอกตาเร็ว
แสดงว่าทุกคนฝัน แต่ฝันในแบบที่อาจจะไม่เป็นภาพจริงๆ ก็ได้ อาจจะฝันแบบที่มั่วมาก
เหมือนเวลาเราฟุ้งซ่านจัดๆ ในเวลาระหว่างวัน และเรามักบอกว่า
เราไม่ได้ฟุ้งซ่าน เราไม่ได้คิดอะไรเลย ทั้งๆ ที่เรากำลังฟุ้งอยู่ ฟุ้งเละเทะเลย
แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ฟุ้ง เพราะเราลืม เราจำไม่ได้ ว่าเราคิดเรื่องอะไรไป
หรือจงใจคิดอะไรหรือเปล่า พอคนเราไม่ได้จงใจ จึงนึกว่าไม่ได้ทำ!
_________________
คำถามเต็ม : เวลานอนแล้วฝัน รู้ว่าฝัน แต่จำไม่ค่อยได้ เพราะสาเหตุอะไรคะ?
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ผิดศีลในฝันบาปไหม?
วันที่ 5 มกราคม 2562
ถอดคำ : นกไดโนสคูล
ตรวจทาน : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=gquyBluSXxk
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น