ถาม : ช่วงนี้มักสนใจคำสอนที่เกี่ยวกับความตาย
สังขาร อนิจจัง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทำให้เกิดอาการปลงและไม่กลัวตายขึ้นมา
ซึ่งผิดไปจากเมื่อก่อนมากที่ยอมรับเรื่องความตายไม่ค่อยได้ แต่ก็ยังกลัวผี
กลัวความมืดอยู่ ซึ่งความคิดที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ระหว่างความไม่กลัวตายแต่กลัวผี
เรียกว่าปลงได้จริงๆหรือเปล่า หรือว่าแค่อุปาทานไปเอง? แล้วควรจะทำจิตอย่างไรให้หายจากโรคกลัวผี? เคยพยายามแล้วก็ดีขึ้นบ้าง
แต่ไม่หายกลัวผีได้สนิทใจจริงๆสักที
ดังตฤณ:
ก็อย่างนี้นะ
ความกลัวตายกับความกลัวผีนี่ มันคนละส่วนกันนะ ผมขอเวลาสักครู่นะครับ
ผมจะคีย์บอกไปในสเตตัสใหม่นะครับ ว่าผมจะตอบคำถามในสเตตัสเก่านะครับ
ฟังทางนี้นะครับ ไม่แน่ใจว่าจะได้ยินเสียงนี้กันทั่วถึงแล้วรึยัง
คำถามที่ว่ากลัวตายกับกลัวผี
มันมาด้วยกันได้หรือเปล่า ตั้งโจทย์อย่างนี้ก็แล้วกัน
คือผู้ถามไปเข้าใจว่าความกลัวตายกับความกลัวผีนี่เป็นความกลัวชนิดเดียวกัน
ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่นะ ขอให้เปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน
บางทีเราอาจจะไม่นึกกลัวตายขึ้นมา ถ้าหากความตายมันไม่มาอยู่ตรงหน้าจริงๆ
คือบางคนจะรู้สึกว่าแค่คิดถึงก็ขนหัวลุกแล้ว
แค่นึกว่าบุคคลอันเป็นที่รักจะต้องจากเราไป ก็ทนไม่ได้แล้ว
แบบนี้เรียกว่าอุปาทานไปล่วงหน้า ยังไม่ได้มีของจริงมาให้สัมผัส
ไม่ได้มีของจริงมาให้กระทบกระเทือนใจ
ของจริงหมายความว่าอย่างไร
หมายความว่า สมมุติเรานั่งไปในรถที่เบรกแตก คนขับบอกว่า อุ๊ย เบรกแตก
นี่อย่างงี้เรียกว่าความตายอาจจะเข้ามาเคาะประตูเรียกอยู่ใกล้ๆนี่ แล้ว
เรารู้สึกขึ้นมาเป็นจริงเป็นจังว่า
มีสิทธิตายได้แน่ๆถ้าหากว่าคนขับบังคับพวงมาลัยไม่ดีนิดเดียว คว่ำคอหักตายได้เลย
อะไรแบบนั้น นี่เรียกว่าความตายมาประชิดตัวของจริงนะครับ
ถ้าหากว่าเราจะรู้ตัวว่าความกลัวตายมันไม่มีอยู่ในจิตใจจริงๆก็ไปรู้เอาตอนนั้น
ไม่ใช่มารู้เอาด้วยการปลง หรือว่าไปอ่านคำสอน
หรือว่าฟังพระเทศน์เกี่ยวกับมรณานุสติ
แล้วก็จะเป็นมาตรวัดได้ว่าเรากลัวหรือไม่กลัวนะครับ ส่วนเรื่องกลัวผีนี่
มันเป็นอะไรที่มาประชิดตัวได้ง่ายๆ เช่นคนเข้าไปอยู่ในที่ที่มืด
หรือเข้าไปอยู่ในบรรยากาศที่เราเคยปรุงแต่งอุปาทานไป คุ้นเคยไป
ว่านี่เป็นสิ่งที่จะไปเรียกผีมาได้ นึกว่าความมืดเรียกผีมาได้
หรือว่าเห็นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เยอะๆแล้วเคยนึกกลัว เคยถูกหลอกมา เคยถูกคนอื่นไซโคมาว่าแถวนี้ผีเฮี้ยนอะไรแบบนั้น
พอไปกระทบกระทั่งกับผัสสะแบบที่เราเคยอุปาทานไปว่าน่าจะมีผี
อย่างนี้ก็เกิดความกลัวขึ้นมาได้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น สรุปว่า
เรื่องความกลัวหรือไม่กลัวนี่ ไม่ใช่ว่าเราไปนึกเอาเอง นึกอยู่ในใจ
ในสถานการณ์ที่ดูอบอุ่นปลอดภัย แล้วจะวัดกันได้ว่าเราหายกลัวอะไรแล้วหรือยัง
ให้ดูตอนที่มีสถานการณ์วัดใจ หรือว่ามีผัสสะมากระทบจังๆว่าเรากำลังกลัวอะไรได้บ้าง
ความกลัวขอให้ทราบว่ามีมูลมาจากมูลเดียวกัน
คือโทสะ โทสะนี่นะเป็นมูลให้เกิดความกลัว เป็นปฐมเหตุให้เกิดความกลัว
หมายความว่าถ้าเราไม่ชอบใจอะไร
เรามีความขัดเคืองอะไรมากๆแล้วจิตสามารถกระโดดเข้าไปยึดสิ่งนั้นได้แน่นๆ
ตัวนี้แหละที่ก่อให้เกิดความกลัวขึ้นมา ตัวนี้แหละที่ก่อให้เกิดความมืด ความทึบ
อาการหดตัวของจิตขึ้นมา ถ้าอาการหดตัวของจิตเกิดขึ้นมา
แล้วเราสามารถเห็นว่าอย่างนี้เรียกว่าเป็นอาการหดตัวของจิต เป็นความมืดของจิต
และเห็นว่าอาการมืดหรืออาการหดตัวของจิตนี่ มันแสดงความไม่เที่ยงได้
อย่างตอนแรก
สมมุติมีความมืดเข้ามากระทบ แล้วความมืดนั้นทำให้นึกถึงผี
รู้สึกว่าเป็นประตูเรียกผีมาหาเราได้ เหมือนกับจะมีอะไรมาทำร้ายเราได้
อย่างนี้ก็เรียกว่า เราเจอผัสสะกระทบให้จิตหด
หรือผัสสะกระทบให้จิตมีความมืดคลุ้มขึ้นมา เกิดความกลัวขึ้นมา
ถ้าหากเรายังนึกถึงผีที่ไม่มีตัวตน
ผีที่ยังไม่ปรากฏตัวมากๆอย่างนั้นเรียกว่าจิตส่งออกนอก
แต่ถ้าหากเราเห็นว่าอาการของใจ มีความมืด มีความหด มีความรู้สึกทึบ
มีความรู้สึกแน่น อย่างนี้แป๊บๆไม่เกินสองสามอึดใจ หายใจได้สองสามครั้ง
เราจะรู้สึกขึ้นมาว่า อาการหดตัวของจิตนี่มันคลายออก ดูได้อย่างไรว่ามันคลายออก
คืออาการที่จินตนาการไป หรืออาการกลัวสุดขีด รู้สึกจะทนไม่ได้มันลดลง
นี่แหละพออาการกลัวสุดขีดมันลดลงนี่นะ เราจะรู้สึกจิตใจมันปลอดโปร่ง จิตใจมันสบายขึ้น
นี่เรียกว่า เห็นอาการไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิตแล้ว
ถ้าเห็นไปเรื่อยๆนะครับ
มันอาจจะยังกลัวอยู่ แต่กลัวน้อยลง แล้วก็รู้สึกว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุด
ก็คืออาการปรุงแต่งไปเองของจิตนั่นแหละ เราจะรู้สึกขึ้นมาชัดๆเลยว่า
ทั้งหลายทั้งปวง ส่วนใหญ่แล้วมันเกิดขึ้นที่ความคิด ที่จินตนาการ
ที่อุปาทานไปเองทั้งสิ้น ไม่ได้มีอะไรที่เข้ามากระทบเราอยู่จริงๆหรอก
แม้แต่สมมุติว่าเราเจริญสติไปเรื่อยๆแล้วสามารถเห็นความไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิต
แล้วก็เห็นความไม่เที่ยงของอาการหดแคบของจิตไปนานๆเข้าจนเกิดความเคยชิน จนเกิดความชำนาญ
ชำนาญที่จะมีสติ ชำนาญที่จะเห็น ณ ขณะจุดเกิดเหตุ เวลาที่มันเกิดขึ้นทุกครั้ง
เราเห็นทุกครั้งนี่ ผลในระยะยาวก็คือว่า
ต่อให้เกิดสถานการณ์จวนเจียนเข้ามาพิสูจน์ใจจริงๆว่าเรายังกลัวตายอยู่หรือเปล่า
เห็นอาการที่จิตมันกลัวตายเวลาใกล้จะประสบอุบัติภัยหรือมีสถานการณ์ล่อแหลมเข้ามานี่
จิตมันจะเกิดอัตโนมัติเข้ามาเห็นอาการหดแคบของตัวเอง เห็นความมืดของตัวเอง
แล้วรู้สึกว่า เออ มันมีอยู่แค่นี้เอง ไม่ได้มีอะไรเลย
ที่สุดแล้ว
ต่อให้จะต้องตายไปจริงๆนี่ถ้าหากจิตไม่หดแคบมันจะมีสติ มันจะมีความสว่าง
มันจะมีความปลอดโปร่ง แล้วความปลอดโปร่ง ความมีสตินั่นแหละ
ตัวนี้แหละที่จะทำให้ไม่กลัว ตัวความรู้สึกว่า เออ ไม่เห็นจะมีอะไร
นอกจากอาการของใจทั้งชีวิตของเรานี่
มีแต่อาการของใจอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏอยู่ตลอดเวลา
แล้วก็คลี่คลายกลายเป็นอื่นอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ
เมื่อรู้สึกว่าแม้กระทั่ง เกิดเหตุจวนเจียนมาพิสูจน์ใจ เราก็ไม่กลัวตายนี่
ในที่สุดมันจะรู้สึกแบบที่ชัดเจนยิ่งๆขึ้นไป เกิดความแจ่มแจ้งขึ้นไปว่า
อาการของใจไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา
สักแต่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มันปรากฏปรุงแต่งด้วยอะไรอย่างหนึ่งมากระทบ ถ้าหากว่าเราไม่คิดต่อ
ถ้าหากว่าเราไม่ปักใจคิดมากลงไปในอาการนั้นๆ
ในที่สุดอาการนั้นๆจะแสดงความคลี่คลายกลายเป็นอื่นให้ดูเสมอ
นี่ตรงนี้มันจะเป็นปัญญา มันจะเป็นพุทธิปัญญา เกิดความสว่างแจ่มแจ้งขึ้นมา
โดยที่ไม่มีความคิดต่อ ไปในทางที่ปรุงแต่งแบบอื่นๆ ตรงนี้แหละที่จะเกิดสมาธิ
จำไว้เลยว่า
เมื่อเกิดการเห็นภาวะความไม่เที่ยงของใจ แล้วไม่มีความคิดปรุงแต่งต่อ
ไม่มีอาการคิดซ้ำ ไม่มีอาการย้อนกลับมาว่า เอ๊ะ! มันจะมีอะไรหรือเปล่า
มีแต่ความนิ่งเงียบ มีแต่ความรู้สึกปลอดโปร่งอยู่ นั่นน่ะตรงนั้นน่ะ
สมาธิที่ท่านเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิจะปรากฏต่อเนื่องมาในเวลาไม่นานนะครับ
ก็ฝึกไปจนกระทั่งมีความตั้งมั่น อย่างนี้แหละที่มันจะหายกลัวผีได้จริงๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น