ถาม : ไม่ได้ใส่บาตรนานพอสมควรตั้งแต่ปีใหม่
วันมาฆบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญก็ไม่ได้เวียนเทียนหรือไปวัด
และการฟังธรรมที่ต้องใช้ความพยายาม ส่วนมากก็ไม่ได้ไป
เป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ที่คิดว่าเจริญสติอย่างเดียวดีกว่า?
รับฟังทางยูทูบ : https://www.youtube.com/watch?v=Ef4_8Yf6Wp8
ดังตฤณ:
บุญในพุทธศาสนามีสามระดับ บุญระดับแรกคือการทำทาน น้ำใจเสียสละ น้ำใจคิดอนุเคราะห์ น้ำใจคิดจะให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งที่เรามีอยู่หรือความสามารถที่เราจะเกื้อกูลเขาได้ นี่เรียกว่าเป็นบุญระดับต้น คือท่านใช้คำว่าเป็นบุญเบื้องล่าง เป็นบุญขั้นต่ำ ส่วนบุญที่ยกขึ้นมาอีกระดับหนึ่งได้แก่ การถือศีล คือการระวังรักษาใจไม่ให้สกปรก ไม่ให้แปดเปื้อนด้วยเจตนาอันเป็นบาปอกุศล คืองดเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นอย่างเด็ดขาด คิดได้แต่ห้ามพูด ห้ามทำ เช่น มีคนมาด่าเราแล้วเราอยากจะตบ หรือเราเห็นผู้หญิงคนหนึ่งแล้วอยากฉุด โดยไม่สนใจว่าเป็นลูกหรือภรรยาของใคร อย่างนี้คิดได้ ยังไม่ผิดศีล แต่ถ้าเริ่มลงมือ แค่ตั้งความคิดว่าจะเอาจริงขึ้นมา เริ่มด่างพร้อยแล้ว และถ้าทำสำเร็จ แปลว่าศีลขาดทะลุแล้ว
ถ้าสามารถระงับใจได้ ถึงคิดก็ไม่ทำ
ไม่พูด เรียกว่าเป็นคนมีความสามารถในการรักษาศีล ซึ่งโดยธรรมชาติของสัตว์โลก
ไม่มีทางที่จะรักษาศีลโดยบังเอิญ เพราะว่าเกิดมาก็โดนกิเลสฉุด
โดนกิเลสลากกันมาไม่รู้กี่กัปกี่กัลป์ ตามใจกิเลสก่อน ต่อเมื่อเจอพระหรือสมณะที่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องของกรรมวิบาก
เรื่องการทำจิตให้พัฒนา การปูเส้นทางไปสวรรค์และนิพพาน มาแนะนำว่าควรสมาทานศีล
หรือตั้งใจงดเว้นขาดที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์
ไม่ผิดประเวณี ไม่โกหก และไม่กินเหล้าเมาสุรา นี่เรียกว่าเป็นการตั้งใจทำบุญที่ใหญ่กว่าการเสียสละ
(การทำทาน)
ไม่ว่าจะเสียสละอะไรไปเท่าไร
ถ้าจัดชั้นวรรณะกัน การตั้งใจรักษาศีลจะได้บุญมากกว่า ถ้าไม่มีสิ่งยั่วยุ
และไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน แล้วบอกว่าฉันตั้งใจรักษาศีล ไม่ใช่แบบนั้น
คือต้องมีความตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อมีเรื่องยั่วยุ (สำหรับคนตั้งใจรักษาศีล
จะมีเรื่องยั่วยุกันตลอดชีวิตให้ผิดศีล) แล้วประสบความสำเร็จในการรักษาศีลได้
ทำตามความตั้งใจได้ คืองดเว้นขาด ไม่ยุ่งเรื่องเกี่ยวกับการผิดศีล
นี่เรียกว่าเป็นผู้บำเพ็ญบุญที่เหนือกว่าการให้ทาน พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ศีลได้ชื่อว่าเป็นมหาทาน’
ยิ่งใหญ่กว่าทานธรรมดา เพราะทำให้สัตว์โลก
เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุขของเรารอดพ้นจากภัยอันตรายอันเกิดจากน้ำมือของเรา ดังนั้น
การรักษาศีลจึงได้บุญยิ่งกว่าการให้ทานทั้งปวง หมายถึง ทานที่ให้ด้วยทรัพยทาน
หรือให้ด้วยอภัยทาน
หากจะเอาบุญขั้นสูงสุดเลย
ก็เรียกว่าเป็นบุญที่จะทำให้ประกันว่า ไม่ต้องไปอบายภูมิแน่ๆ
คือต่อให้ทำทานรักษาศีลแค่ไหน บางครั้งเกิดชาติใหม่ แล้วลืมหมดว่าเคยทำอะไรมาบ้าง
เผลอหลงไปทำบาป ก็ตกนรกได้ ไปสู่อบายภูมิได้
ท่านจึงเรียกว่าบุญอันเกิดจากทานและศีล ยังถือว่าเป็นแค่บุญขั้นต้นและขั้นกลาง
บุญขั้นสูงจริงๆจะทำให้หลุดจากอบายได้อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นมา
จะไม่ไปอบายภูมิอีกเลย
แล้วสิ่งที่ทำให้เป็นอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาจนถึงพระอรหันต์
ก็คือบุญอันเกิดจากการเจริญสตินั่นเอง เจริญสติโดยมีความเข้าใจนำหน้าว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง
ดูๆไปจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ไม่เห็นมีอะไรเป็นของเรา ไม่ใช่ตัวเราสักอย่าง
ไม่มีอวัยวะสักชิ้นเดียวในร่างกายนี้ที่เป็นตัวตนของเรา
จะบังคับบัญชาว่าให้มีอายุเท่าไร มีลักษณะอย่างไร จงหนุ่ม จงสาว จงหล่อ
จงสวยอยู่ตลอด ไม่สามารถที่จะระงับความเปลี่ยนแปลงได้เลย
เมื่อดูไปเรื่อยๆจนกระทั่งเห็นแจ้ง จะเกิดการบรรลุมรรคผลขึ้นตามลำดับ
จึงกล่าวได้ว่า ‘การเจริญสติเป็นบุญขั้นสูงสุด’ นี่ไม่ใช่ตามมติของพุทธศาสนา
ไม่ใช่ตามมติของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก แต่ตามธรรมชาติ
ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติได้
และเจริญสติตามวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้จนสามารถเห็นได้ว่า กายใจนี้ไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตัวตน เพียงเห็นเท่านี้ก็เรียกว่า ได้ทำบุญยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว เมื่อตายไป
อย่างต่ำก็ได้ถึงสวรรค์แน่นอน และคนที่เจริญสติเป็น ส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกว่า
จิตคับแคบไม่ดี ให้ทานดีกว่า เปิดกว้างดีกว่า จิตสกปรกไม่ดี รักษาศีลดีกว่า
ทำให้สะอาดดีกว่า บุญในขั้นต่ำและขั้นกลางก็จะเจริญตามมาด้วย
สรุปคือ ‘การเจริญสติดีที่สุด’
ดีกว่าการทำทานและรักษาศีล แต่ถ้าไม่รู้จักการเสียสละ การมีน้ำใจ การให้ทานบ้าง
หรือมีจิตสกปรกอยู่ตลอดเวลา มีความบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน เห็นผิดบ้างเห็นถูกบ้าง
พูดง่ายๆว่า ถ้าไม่ทำทาน ไม่รักษาศีลไว้ก่อน จะเจริญสติไม่ถูก
เจริญสติไปก็เหมือนกับแกล้งๆ เหมือนเป็นเรื่องตลก
และไม่รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่
สรุปคือ ทาน ศีล และภาวนาเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน
สรุปคือ ทาน ศีล และภาวนาเป็นตัวเสริมซึ่งกันและกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น