วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๑๓๒ เครียด ฟุ้งซ่าน เจริญสติไม่ได้จริง


ถาม : เป็นคนคิดมากจนเครียดค่ะ ทั้งย้ำคิดอดีต กังวลอนาคต คิดฟุ้งซ่านเพ้อเจ้อ เห็นว่าจิตมันเกาะไปกับความคิด จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็เกิดตามขึ้น (หมายความว่าอย่างไร เกิดตาม... เข้าใจว่าหมายถึงว่า เกิดตามสิ่งที่คิดนะ) บางครั้งก็ข่มให้อยู่กับลมหายใจ ไม่อยากคิด ไม่อยากเครียด ใช้เหตุผลว่ามันไม่เที่ยง เกิดได้ก็ดับได้ แต่ใจก็ยังไม่ซึ้งจริงๆ ควรจะทำอย่างไรถึงจะถูกทาง?

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/oWdAFUfoz7I

ดังตฤณ: 
เอาอย่างนี้นะ ถ้าเราพิจารณาว่าที่ผ่านมามันใช้ไม่ได้ผล แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองที่มันผิดพลาดอยู่ ให้คิดอย่างนี้ ตั้งไว้ในใจอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นเวลาที่คิดมาก หรือว่าอยากหยุดคิด ก็ต้องเลิกล้มวิธีแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเคยทดลองอะไรมาก็แล้วแต่นะ เราตั้งมุมมองใหม่เลย

คือ ประการแรกนะ ความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นนี่ อย่างหนึ่งนะ มันมีมูลฐาน มันมีรากฐานมาจากความอยาก อยากนานาประการ อยากจะย้อนกลับไปในอดีต อยากจะหมุนเวลาทวนได้ ทวนเข็มนาฬิกาได้ เพื่อที่จะไปแก้ไขอะไรๆที่มันน่าเสียดาย ที่ไม่ควรทำก็กลับไปไม่ทำซะ หรือที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำก็กลับไปทำ อย่างนี้เรียกว่าเป็นการย้อนคิดถึงอดีตแบบเปล่าประโยชน์ ความฟุ้งซ่านเกิดจากความอยากกลับไปในอดีต แล้วกลับไปไม่ได้ ส่วนความกังวลไปในอนาคต คือ เรามีความฟุ้งซ่าน คิดมากว่าวันนี้เป็นอย่างนี้ แล้วพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร หรือวันนี้ดีๆอยู่แล้ว กลัวว่าอะไรดีๆมันจะหายไปในวันหน้า มันก็เป็นไปได้หลายแบบนะ แต่สรุปแล้วก็คือ อยากให้อนาคตมันดี

นี่ตัวความอยากนี่นะ เราตั้งมุมมองไว้เลยว่า ตัวความอยากนี่แหละ ตัณหานี่แหละคืออุปาทาน ความทะยานอยากแบบไม่มีที่สิ้นสุด ความทะยานอยากในแบบที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ แล้วก็ยิ่งอยากเข้าไปใหญ่ ตัวความอยากนั่นแหละต้นเหตุแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สมุทัย หรือว่ามูลฐาน รากฐาน หรือว่าต้นเหตุของความทุกข์ มันก็คือตัวนี้เอง ตัณหานะ ตัวตัณหานี่หมายถึงว่า มีความทะยานอยาก สังเกตอาการของใจ มันไม่อยู่นิ่ง มันมีความกระสับกระส่าย มันมีอาการพุ่งทะยานออกไปข้างหน้า หรือพุ่งทะยานย้อนกลับไปข้างหลังนะ หวังไปในสิ่งที่มันไม่สามารถจะหวังได้ ตัวนี้มันก็เลยกระสับกระส่าย กระวนกระวายไม่หยุดไม่เลิกนะครับ

ถ้าเรามองเห็นว่า ตัวความอยากนี่เองเป็นต้นเหตุของความฟุ้งซ่าน เราก็มาเปรียบเทียบกับวิธีการที่เราเคยใช้มานะ เริ่มจากการที่เราเหมือนกับข่มให้ใจมันอยู่กับลมหายใจ ทั้งๆที่จิตของเรามันไม่ได้สมยอม มันไม่ได้อยากที่จะอยู่กับลมหายใจ เราก็ไปข่มมัน ไปกดความคิดไว้ ทั้งๆที่ความคิดมันไม่ได้อยากให้กด นี่ตัวความอยากของเรานี่นะ อยากให้สงบบ้าง อยากให้อยู่กับลมหายใจบ้าง มันอยากสวนทางกันกับธรรมชาติของใจที่มันฟุ้งไปแล้ว มันสวนทางกับความเป็นจริงที่ไม่สามารถสงบระงับลงได้ ตัวความอยากได้ในสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้นั่นเอง เท่ากับไปเพิ่มความทุกข์ เท่ากับไปเพิ่มกระแสความฟุ้งซ่านให้มันยิ่งกระเจิดกระเจิงยิ่งๆขึ้น

เห็นไหม ถ้าไม่ตั้งมุมมองไว้อย่างนี้ ถ้าไม่สำรวจตรวจตราไว้อย่างนี้ ถ้าไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่ผ่านมานี่ เราก็จะไม่รู้ตัว แล้วก็ฝืนทำไปเรื่อยๆโดยที่ไม่เกิดผลลัพธ์อะไรที่มันดีทั้งสิ้นแหละ แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจแล้วว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความอยากเป็นต้นเหตุของความกระวนกระวายฟุ้งซ่านไม่เลิก หยุดไม่ได้นะ เราก็ตัดต้นเหตุของความอยากเสีย อย่างเช่นในกรณีนี้ ตัดความอยากที่จะฟุ้งซ่าน หายฟุ้งซ่าน ตัดความอยากที่จะบังคับใจให้มันอยู่กับลม แต่สังเกตตามจริง รู้เอาตามจริง ยอมรับเอาตามจริงว่า เราสามารถเห็นอะไรได้บ้าง

อย่างเช่น ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนะ ที่มันเข้าที่มันออกอยู่ธรรมดาๆนี่ มันไม่ต้องไปพยายามฝืน ไม่ต้องไปพยายามเค้นมาก มันก็สามารถรู้ได้ นี่ลองดูสิ หายใจเข้ารู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกรู้ว่าหายใจออก ไม่ได้ตั้งใจว่าจะให้เกิดความสงบ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใจมันไปเกาะกับลมหายใจแน่นๆ แต่แค่รับรู้ธรรมดาๆ ขอแค่ครั้งเดียว ตกลงกับตัวเองไว้ว่า เอาแค่ครั้งเดียวพอ ลมหายใจนี้แหละที่มันอยู่กับปัจจุบัน ที่กำลังระลึกได้อยู่อย่างนี้แหละ พอเห็นว่า เออ ถ้าไม่บังคับ ถ้าไม่ได้ฝืนใจ ถ้าไม่ได้นำหน้ามาด้วยความต้องการที่จะสงบ ไม่ได้นำหน้ามาด้วยความอยากเลิกฟุ้งซ่าน มันก็สามารถรู้ลมหายใจที่มันกำลังปรากฏอยู่วินาทีนี้ได้แบบสบายๆนั่นแหละ ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องไปพยายามอะไรเลย

ความฟุ้งซ่านก็เหมือนกัน มันฟุ้งอยู่ในหัวก็ให้มันฟุ้งไป ไม่ต้องไปอยากให้มันสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่มันไม่สามารถจะสงบได้ อย่างในขณะนี้กำลังฟังอยู่นี่ เรารู้ใช่ไหมว่าอาการฟุ้งซ่านมันลดลง เพราะว่าใจมันมีที่เกาะ มันกำลังฟังสิ่งที่ตัวเองสนใจอยู่ ทีนี้พอฟังๆไปเดี๋ยวมันเกิดความฟุ้งซ่าน อยากฟุ้งซ่านขึ้นมาอีก ความอยากนั้นมันเป็นความเคยชิน มันถือปฏิบัติมานานเป็นสิบๆปี มันต้องเกิดขึ้นแน่ๆ คนเราสั่งสมความเคยชินอะไรไว้เป็นสิบๆปีนี่ คอยดูเถอะมันมาแน่ๆ ภายในนาทีเดียวนี่มันอยากฟุ้งซ่านไปเป็นอาจจะสองรอบสามรอบ ถ้าหากเราไปอยากที่จะเลิกฟุ้งซ่าน เท่ากับไปเพิ่มความอยากแบบเดิมนะ อยากฟุ้งซ่านแบบเดิม มันกลายเป็นอยากที่จะสงบ มีสองความอยากขึ้นมา มันยิ่งกระวนกระวายหนักเข้าไปใหญ่ กระสับกระส่ายหนักเข้าไปอีก เพราะเห็นๆอยู่ว่าใจมันอยากฟุ้งซ่าน แต่ในขณะเดียวกันนะตัวเราอยากสงบ มันสวนทางกัน

สองความอยากที่มันขัดแย้งกันสุดขั้วนี่นะ พอมันมาอยู่ด้วยกันมันกลายเป็นความอยากคูณสองเข้าไป พอเราเลิกอยากที่จะสงบ สังเกตอาการของใจนะ มันจะระงับลงไปเอง เลิกอยากที่จะสงบ แล้วหันไปยอมรับตามจริงว่าเรากำลังฟุ้งซ่านแรงแค่ไหน วัดจากลมหายใจนี้แหละ กำลังหายใจเข้ากำลังหายใจออกอยู่ บอกตัวเองถูกไหมว่ามันกำลังฟุ้งแรง หรือว่าฟุ้งเบา เปรียบเทียบง่ายๆ ลมหายใจนี้กับอีกลมหายใจนึงที่ผ่านมานี่ ลมหายใจไหนฟุ้งหนักกว่ากัน พอเรายอมรับตามจริงได้ว่า มันมีฟุ้งมากบ้าง มีฟุ้งน้อยบ้าง โดยไม่มีความคาดหวังเลยแม้แต่นิดเดียวว่า จะให้มันสงบระงับลงไป ตัวนั้นแหละคือต้นเหตุของความระงับ ต้นเหตุของความสงบ เพราะอะไร เพราะว่าเราตัดความอยากออกไป ทั้งความอยากที่จะฟุ้งซ่าน มันก็กลายเป็นสิ่งถูกดู ถูกรู้ ทั้งความอยากที่จะสงบมันก็ไม่ได้ที่เกิด พอความอยากไม่ได้ที่ตั้ง ไม่ได้ที่เกิด มันก็กลายเป็นจิตธรรมดาๆที่รู้อยู่ เห็นอยู่ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น อะไรกำลังต่างไปในแต่ละลมหายใจ

นี่หวังว่าฟังไปด้วยก็คงฝึกตามไปด้วยนะ ลองดูตามไปด้วย แล้วจำไว้ว่านี่แหละคือวิธีการที่จะทำให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปจริงๆ เวลาพระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐาน ๔ ในหมวดที่ว่าธรรมานุปัสสนานะ ข้อที่ว่าด้วยการกำจัดนิวรณ์ หรือว่าเครื่องถ่วงความเจริญของสตินี่นะ ข้อที่ว่าด้วยความฟุ้งซ่าน ท่านก็ให้ดูก่อนเลยว่าตอนนี้กำลังฟุ้งอยู่ ตอนนี้ฟุ้งมันต่างไปแล้ว ความฟุ้งมันหายไปแล้ว ถ้ารู้ได้ สามารถเห็นได้ ก็เรียกว่า เป็นการเอาความฟุ้งซ่านมาดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น

คำว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นนี่กินความรวมไปถึงว่า ไม่ต้องไปสนับสนุนมัน แล้วก็ไม่ต้องไปต่อต้านมัน แต่รู้มันตามจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับลงเป็นธรรมดา อาการดับลงของมันนี่ไม่ใช่ดับวูบไปเฉยๆ แต่มันแปรปรวนไปเรื่อยๆ เมื่อใจไม่เป็นที่ตั้งของความอยากเลยนะ ในที่สุดแล้วเราจะมีแต่อาการรู้ๆๆ ยอมรับตามจริงไปเรื่อยๆนะว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิต แล้วจิตนั่นแหละมันจะสงบระงับลงไปเอง

อาการที่จิตสงบลงไปนะมันจะมีความรู้สึกอยู่ตรงกลาง มันจะมีความรู้สึกว่าไม่มีอาการกระเพื่อม มีความรู้สึกสงบเย็น มีความรู้สึกเป็นสุข มีความรู้สึกว่า เอออย่างนี้นี่ไม่ต้องฝืน แต่ถ้าใครอยากจะมีความสุขปุ๊บ นั่นแหละตัวนี้แหละฝืนแล้วนะ กำลังฟุ้งซ่านอยู่ดีๆ กำลังเป็นทุกข์อยู่ดีๆ อยากจะมีความสุข อยากจะมีความสงบระงับ นี่แหละตัวนี้แหละ ความอยากนี้แหละที่จะทำให้ไม่สงบลงสักที

แล้วพอคนเรานะอยากๆๆอยู่ทุกวัน อยากโน่น อยากนี่ อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากได้อะไรแบบโลกๆ อยากได้อะไรร้อนๆ ไม่พอนะ ยังอยากได้ความสงบ ยังอยากได้มรรคได้ผลกันอีก มันมีแต่ความอยาก มันมีแต่การไหลตามกระแสของกิเลส แล้วเมื่อไหร่ที่เราจะเห็นความอยาก เมื่อไหร่เราจะจัดการกับต้นเหตุของความอยากได้ เรามาเริ่มต้นกันกับเรื่องของการสังเกตลมหายใจตามจริงนี่แหละ สังเกตลม ไม่ใช่บังคับลม เห็นความอยาก ไม่ใช่ตามความอยากไป ไม่ใช่แล่นตามอาการทะยานของจิตไปนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น