วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๒๓ ต้องจดจ่อกับงานที่ไม่ชอบ ทำอย่างไรไม่ให้ฟุ้งซ่าน?

ถาม :  เวลาที่จำเป็นต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น การทำงาน เป็นต้น มีวิธีวางใจเช่นไร ให้ใจไม่เกิดความฟุ้งซ่านได้บ้าง?

รับฟังทางยูทูป : 
http://youtu.be/a59rkOpxScs


ดังตฤณ:  มันเป็นไปไม่ได้นะครับ !
เหมือนคุณบอกว่าจะทำอย่างไร 
ถ้าจะเอาไม้ไปเขี่ยๆกองฝุ่นกองขยะ
แล้วจะไม่ให้มีอะไรมันฟุ้งขึ้นมา 
จะไม่ให้กลิ่นมันโชยออกมา 
เป็นไปไม่ได้ !

การที่เราไม่ชอบใจอะไร 
สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นนี่ ตัวความไม่ชอบนั้น 
เวลาไปกระทบกันกับสิ่งที่เป็นตัวต้นเหตุนะครับ 
มันจะมีอาการฟุ้งซ่านขึ้นมา 
มีอาการขัดเคืองขึ้นมาเป็นธรรมดา 

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ความแตกต่างของคนที่เจริญสติ 
กับคนที่ไม่ได้เจริญสติก็คือ 
คนเจริญสติจะมีความรู้สึกว่า
 
นี่ตาของเราไปประจวบเข้ากับภาพที่ไม่น่าพึงพอใจ 
หูของเราไปประจวบกับเสียงที่มันน่าขัดเคือง
 

แม้กระทั่งงานที่เรารู้สึกเบื่ออยู่นี้ 
ตาไปเห็นหน้างานมันค้างอยู่อย่างนี้เมื่อวาน 
วันนี้มาต่อ ตาไปเห็นปุ๊บ 
มันเกิดไปดึงความรู้สึกเบื่อหน่าย
ไปดึงเอาความรู้สึกเหนื่อยอ่อนของเมื่อวาน
มาสวมตัวตน ณ ปัจจุบัน วินาทีนี้ทันที 
นี่เขาเรียกว่า สัญญาเก่า
 
มันกลับมาทันทีที่ตากระทบกับรูป


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

หรือได้ยินเสียงเจ้านายสั่ง สั่งโน่นสั่งนี่มา
เราไม่ชอบเจ้านายคนนี้อยู่แล้ว 
เราไม่ชอบเสียง วิธีที่เขาสั่งอยู่แล้ว 
เราไม่ชอบงานที่เขาสั่งให้เราทำในแต่ละวัน 
พอได้ยินเสียงปุ๊บ 
เสียงเดิมๆมันคุ้น มันจำได้ว่าแบบนี้ไม่ชอบ 
ทันทีนั้น จิตจะเกิดความขัดเคือง
ทันทีนั้นจิตจะเกิดโทสะ 
เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมาทันที
 !

สิ่งที่นักเจริญสติจะรู้ก็คือ โทสะ เกิดขึ้นแล้ว
หลังจากมีภาพและเสียงเข้ามากระทบ 

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

หรือแม้กระทั่งมีใจคิดถึงเรื่องงาน 
ถึงเรื่องที่เรารู้สึกเกิดความเบื่อหน่าย 
คิดขึ้นมาปุ๊บ อ่อนแรง อ่อนเปลี้ย 
ไม่อยากจะทำ ไม่อยากจะใช้ชีวิตแบบนี้อีกแล้ว 
อยากหางานใหม่ อยากโน่นนี่นั่นนะครับ

ตัวที่เป็นสตินี่ 
คือตัวที่เราเห็นว่ากระทบปุ๊บ แล้วเกิดความฟุ้งขึ้นมาปั๊บ

เกิดความรู้สึกร้อนๆ
เกิดความรู้สึกอึดอัด 
เกิดความรู้สึกปั่นป่วนนี่แหละ 
ตัวที่เห็นว่ามีความปั่นป่วนเกิดขึ้นทันทีที่ถูกกระทบ ตัวนี้แหละสติ ! 

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่สติที่จะเป็นสัมมาสติจริงๆนี้ 
ไม่ใช่สติสักแต่ว่ารู้ว่ามันเกิดขึ้น 
แต่เป็นสติที่มีความเข้าใจ 
ประกอบอยู่ด้วยความเข้าใจ
 
ว่าที่มันเกิดความขัดเคือง เกิดความเบื่อหน่ายขึ้นนี้ 
มันมาจากการกระทบชั่วคราว 
เมื่อการกระทบหายไป 
ความฟุ้งซ่านแบบนี้มันก็จะพลอยเสื่อมสลายหายสูญไปด้วย 

นี่คือข้อแตกต่าง 
ระหว่างคนธรรมดา กับ คนที่เจริญสติ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

คนที่เจริญสติจะรู้เห็นอยู่อย่างนี้ 
พอเห็นว่าความขัดเคือง อยู่แป๊บหนึ่ง แล้วมันหายไป
มันก็จะรู้สึกว่า จิตสบายมาแทนที่ 
มีความปลอดโปร่ง เข้ามาแทนที่ 
ไม่ใช่ว่าจะต้องฟุ้งซ่านอยู่ตลอดไป 

ที่ยังฟุ้งซ่านอยู่ไม่เลิก ก็เพราะว่าไม่มีสติดู 
มีแต่อาการเบื่อแล้วก็อยากผลักไสออก 
ที่ท่านเรียกว่า วิภวตัณหา
ไม่อยากมี ไม่อยากเอา เกลียด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ตัวความเกลียด พอเกิดขึ้นแล้ว
ไปถูกความเกลียดร้อยรัดไว้ ผูกมัดไว้ 
มันก็จมจ่อมอยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหน 
มันก็ไม่สามารถที่จะเห็นได้ว่า 
ความรู้สึกไม่ชอบใจ 
ความรู้สึกเกลียด 
ความรู้สึกเบื่อหน่าย 
มันแสดงความไม่เที่ยงได้ !

คนธรรมดานี้ จะจมจ่อมอยู่อย่างนั้น 
มันจะเหมือนจะไม่สามารถป่ายปีนขึ้นมา
จากหนองน้ำแห่งความเบื่อได้ 
นี่คือความแตกต่าง
 !

จำไว้นะ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะวางใจ
ไม่ให้เกิดความฟุ้งซ่านในสิ่งที่เราไม่ชอบ 
มันต้องฟุ้งซ่านเสมอ !
แต่ข้อแตกต่างของนักเจริญสติกับคนไม่เจริญสติก็คือ 
คนที่เจริญสติจะรู้ความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่านนั้นนะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น