วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๒๘ วิธีรักษาศีลข้อ 4 ในที่ทำงาน

ถาม : การไม่พูดเท็จ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ถ้าจะนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เข้ากับสังคมการทำงานทุกวันนี้ด้วย มีข้อแนะนำอย่างไรบ้าง?

รับฟังทางยูทูป
http://youtu.be/dyuqlCc7GFo

ดังตฤณตอบ : 


คือผมก็เห็นใจนะ ว่า หลายๆคนบอกว่า ศีลข้อที่รักษาไม่ได้ ก็คือเรื่องการพูดเท็จ เพราะบางทีโดนเจ้านายบังคับให้พูด บางทีโดยอาชีพของตัวเอง โดยวิธีการทำงานของตัวเอง ขืนไม่พูดเท็จ ขืนไม่พูดบิดเบือนความจริง ก็คงจะตกงานกันพอดี หรือว่าไม่ได้งานกันพอดี ไม่ได้ขายกันพอดี อะไรประมาณนั้น ก็แล้วแต่อาชีพ ก็แล้วแต่ว่า หน้าที่การปฏิบัติงานของเรา มันจะต้องเน้นในเรื่องสร้างภาพแค่ไหน หรือสร้างความเข้าใจในทางที่ก่อให้เกิดความนิยมในตัวสินค้า หรือว่าภาพลักษณ์ของตัวเองอะไรแบบนั้นนะ นี่มันสังคม คือพัฒนามาถึงจุดที่ว่า ไม่โกหกไม่ได้ แบบนี้นี่ ก็คงจะไม่รู้ไปว่าใครนะ มันเป็นสิ่งที่เป็นมรดก มรดกมืดที่ตกทอดกันมา จากรุ่นสู่รุ่นนะครับ

ก็เอาเป็นว่าถ้าจะต้องโกหก เรารู้ตัวก็แล้วกันว่า การที่บิดเบือนความจริงครั้งนี้ แต่ละครั้งนี่ ดูใจตัวเองว่ามีความสะใจไหม มันมีความชอบใจ มันมีความอยากจะให้คนอื่นเขาเข้าใจผิดแบบนั้นไหม ถ้าหากว่ามันมีเต็มๆ นั่นก็คือบาปเต็มๆ แต่ถ้าหากว่ามันมีความรู้สึกยั้งๆ มันมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่ มันไม่อยากทำเลย ไม่อยากพูดแบบนี้ แต่มันต้องพูด มันต้องแสดงละคร ถ้าคิดว่าเรากำลังแสดงละครด้วยความฝืนใจอยู่อย่างนั้นมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่ บาปมันก็ไม่เต็มกรรมเท่าไหร่ มันก็ได้ ยังไงการโกหกก็ต้องเป็นการโกหกอยู่วันยังค่ำ จะมาอ้างว่าจำเป็นแค่ไหนก็ตามนะครับ จิตมันก็รู้อยู่ มันตั้งต้นด้วยการรับรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องจริง แล้วเราก็พูดออกไปในทางที่มันจะเป็นประโยชน์กับตัวเองและบริษัท หรือว่ากับพรรคพวกเรา

เราดูใจตัวเองว่า เออ มันไม่ได้มีความสะใจ ไม่ได้มีความยินดี แค่นี้ถือว่าใช้ได้แล้ว พอใช้ได้แล้วนะ อย่างน้อยที่สุดเวลาที่ผลของกรรมจะให้ผลกับเรานี่ มันก็ไม่เต็มที่เท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะโดนใส่ไคล้ เพราะผลของการโกหก นี่ก็คือการโดนใส่ไคล้ การถูกเข้าใจผิด หรือว่าไปเกิดในตระกูลที่ไม่ตรงไปตรงมาอะไรแบบนั้น มันก็จะไม่ถึงขั้นที่ว่า วันๆโดนหลอกทั้งปีทั้งชาติ นานๆโดนหลอกที ห้าสิบห้าสิบ โดนหลอกบ้าง ได้รับความจริงบ้างอะไรแบบนั้น เหมือนกับที่เรากำลังประสบอยู่กันทุกเมื่อเชื่อวันนั่นแหละ ประมาณนั้น มันไม่ได้โดนเต็มๆ

แต่ถ้าหากว่า โกหกเป็นไฟ โกหกแบบตาไม่กระพริบนะ โกหกแบบที่รู้สึกภูมิใจว่า นี่ ฉันเก่งที่หลอกคนอื่นได้ แบบนี้ก็ไปเต็มๆเหมือนกัน เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ตรัสเปรียบไว้นะ คนที่ทำบาป โดยที่ไม่รู้ว่านั่นคือบาป ไม่มีอาการยั้งเลย ก็เปรียบเหมือนกับเด็กที่เห็นถ่านไฟแดงๆแล้วไม่รู้ว่านั่นมันร้อน ก็เลยคว้ามาจับเต็มกำเลย ผลก็คือมือไม้ก็พังพินาศกันไป แตกต่างจากคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว รู้ว่านั่นคือถ่านแดงๆ นี่มีความร้อนนะ ถ้าหากถูกบังคับให้จับ ก็จับแบบหย่งๆ จับแบบหลวมๆ มันก็มีพื้นที่ความเสียหายของมือไม้น้อยลง นี่ก็เป็นการเปรียบเทียบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับ คือ ถ้าจำเป็นต้องทำบาป ดูใจตัวเองก็แล้วกัน ว่า มันมีอาการยั้งไหม มันมีความรู้สึกผิดไหม มันมีความสำนึกได้ไหม

สิ่งเหล่านี้นี่ มันจะเป็นตัวบอกนะ มันจะเป็นเครื่องชี้วัดว่าเรายังมีมนุษยธรรมอยู่ คือมีธรรมะของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราทำผิดศีลได้ โดยไม่เกิดความรู้สึกละอายเลย เห็นเป็นของสนุก เห็นเป็นของโก้เก๋ เห็นเป็นของที่ทำแล้วมันเท่ห์ดี ที่แสดงละครได้แนบเนียน หรือว่าเป็นอะไรที่คนอื่นเขาจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน แบบนี้เรียกว่าเต็มกรรมเลย มโนธรรมหรือว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในแบบที่จะได้เป็นมนุษย์อีกมันก็หายไป มันก็เลือนไปนะครับ ดูกันที่ใจก็แล้วกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น