วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๒.๒๕ ใส่บาตรเณรก่อนเพราะพระแซงคิว บาป?

ถาม : เวลาใส่บาตร บางทีเห็นพระที่มาทีหลังตัดหน้าแซงเณรที่ยืนเข้าแถวอยู่ก่อนแล้ว พระท่านทำถูกหรือไม่?

รับฟังทางยูทูบ : https://www.youtube.com/watch?v=My81K9Pu_g8

ดังตฤณ:  

สำหรับวินัยเข้าใจว่าไม่น่าจะมีนะ ที่บอกว่าพระมีอำนาจบาตรใหญ่กว่าเณร ชนิดที่เณรมาเข้าคิวก่อนแล้วก็จะตัดหน้าได้ คงไม่มีแน่ๆนะ เอาตามคอมมอนเซนส์เลย คือไม่จำเป็นต้องไปดูล่ะว่าข้อถูกต้องตามบัญญัติมีอย่างไร เอาความรู้สึกทางใจเป็นตัวตั้งได้เลย

พระพุทธเจ้าเวลาที่ท่านบัญญัติวินัยเล็กๆน้อยๆอาบัติเบาทั้งหลาย ท่านจะไม่ได้อาศัยความรู้สึกของพระเป็นตัวตั้ง แต่อาศัยความรู้สึกของโยมเป็นตัวหลัก คือมีคำเรียกกันว่าถ้าหากว่าพระทำตัวไม่สมสมณสารูป หรือว่าเป็นโลกวัชชะคือเป็นที่ติเตียนของชาวโลก แล้วอย่าว่าแต่ท่านจะไม่สนับสนุนท่านจะบัญญัติวินัยห้ามทันที ข้ออะไรเล็กๆน้อยๆบางทีไม่ได้เป็นความผิด ไม่ได้เป็นบาป ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงด้วยซ้ำ


ยกตัวอย่างเช่นการพรากของเขียว จริงๆแล้วท่านรู้อยู่ว่าวิญญาณในพืชไม่ใช่วิญญาณชนิดเวียนว่ายตายเกิด ฆ่าไปก็ไม่บาป ไม่ได้บาปเหมือนกับการฆ่ามนุษย์หรือฆ่าสิ่งมีชีวิตที่วิญญาณมันมีจิตเกิดดับ แล้วพอหลังจากจุติจิตเกิดแล้วมีปฏิสนธิตามมาด้วยกรรมด้วยวิบากที่เคยทำไว้ก่อนทันที แต่พืชไม่มีกรรมอะไรแบบนั้น ไม่มีการเกิดใหม่แบบนั้น เพราะฉะนั้นการที่จะไปพรากของเขียวหรือว่าไปทำให้พืชล้มหายตายจาก มันไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรม แต่ชาวบ้านในยุคนั้นในท้องถิ่นนั้น เขาเชื่อก้นว่า ฆ่าพืชมันเท่ากับฆ่าสัตว์ฆ่าสิ่งมีชีวิต ท่านก็ไปบัญญัติวินัยไว้เลยว่าภิกษุห้ามพรากของเขียว พูดง่ายๆว่าห้ามทำให้ต้นไม้ได้ล้มหายตายจาก

การที่เราสามารถจะอาศัยหลักการที่พระพุทธเจ้าคำนึงถึงความรู้สึกของญาติโยมเป็นตัวตั้ง อันนี้ก็น่าจะบอกได้เลย ฟันธงได้เลยว่า คงไม่มีการบัญญัติวินัยสนับสนุนนะว่าถ้าพระมาทีหลังให้ได้ก่อน เหมือนกับมีศักดิ์มีสิทธิ์อำนาจบาตรใหญ่อะไรนะครับ ตัวพระวินัยนอกจากเราจะอาศัยเป็นเครื่องแสดงว่าภิกษุไม่สมควรทำอะไรแล้ว เรายังสามารถใช้ดูใจตัวเองได้ด้วยว่า สิ่งไหนที่ความรู้สึกแบบคนธรรมดาทั่วไปจะใช้เป็นตัววัดได้ว่าพฤติกรรมใดไม่เหมาะสมกับความเป็นภิกษุ ถ้าเป็นสมัยก่อนชาวบ้านชอบฟ้องพระพุทธเจ้าเห็นอะไรนิดๆหน่อยๆ อย่างเช่นเห็นพระทั้งๆที่อยู่ในอาวาสอยู่ในวัด แต่ว่าเปลือยร่างอาบน้ำกัน ก็มีการเอาไปฟ้องแล้ว แล้วก็มีการบัญญัติวินัยด้วยนะครับว่า ถ้าอยู่ในวัดหมายถึงไม่ได้อยู่ในเขตกำบัง ก็จำเป็นจะต้องมีผ้าไม่ใช่เปลือยกายล่อนจ้อนให้คนเห็นได้ นี่คือคำตอบอยู่ในตัวเองนะครับว่าเราทำบาปหรือเปล่า

ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะเตือนสติพระโดยทางใดทางหนึ่งไม่ว่าจะทางตรงทางอ้อมให้ท่านประพฤติสำรวม ประพฤติอยู่ในความเป็นผู้มีคุณวิเศษสูงเหนือกว่าฆราวาสได้ควรทำ ถ้าหากว่าไม่บอกไม่กล่าวหรือว่าไม่เตือนสติท่านเลย บางทีท่านก็คือคนธรรมดาคนหนึ่งที่เหมือนอย่างเราๆนี่นะ วันหนึ่งก็นุ่งเหลืองห่มเหลืองแล้วก็เข้าพิธีบวชบอกว่าเป็นพระ แต่ว่ายังไม่ได้มีพฤติกรรมหรือว่าลักษณะภายนอกที่ดูน่าเลื่อมใสน่ากราบไหว้

ที่ผู้ถามทำไปก็ถือว่าถูกแล้ว นอกจากจะทำให้ท่านเกิดสติละอายไม่มีพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความมีอำนาจบาตรใหญ่ เป็นที่ขัดหูขัดตาชาวบ้านแล้ว เราก็ยังถือว่าเกื้อกูลกับเณรด้วย ให้เณรเห็นเป็นตัวอย่างว่าสิ่งที่สมควรเกิดขึ้นมันเป็นแบบนี้ เพราะว่าถ้าหากเราไปส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแซงคิวอย่างถูกต้อง ใครมาหลังแต่ว่าเป็นพระใหญ่กว่าได้ไปก่อน เณรก็จะจำไว้แบบนั้นเช่นกันแล้วก็เอาไปทำ

คนที่เป็นเด็กคนที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่มาสั่งสอนกันแล้วจะเกิดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมาได้ แต่มันเห็นพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างของโลกรอบตัว ผู้ใหญ่รอบตัวว่าเขาเป็นกันอย่างไรโดยหลัก ถ้าหากว่าโลกนี้เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่วางอำนาจวางก้าม แล้วก็ได้ดิบได้ดีมีหน้ามีตา แล้วก็ได้รับการรับรอง แถมได้รับการรับรองจากพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาด้วยว่านี่คือสิ่งถูกต้อง เด็กในวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ที่จะพยายามวางก้ามในวันหน้าแน่นอน แต่ถ้าหากว่าผู้ใหญ่รอบตัวของเด็กเต็มไปด้วยความเกรงอกเกรงใจมีมารยาทก็มีแนวโน้มว่าเด็กจะมีความเกรงอกเกรงใจแล้วก็มีมารยาทตามนะครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น