วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๙๙ วิธีต่อสู้กับกิเลสย้อมจิต


ถาม -- เวลากิเลสย้อมจิต รู้สึกถึงแรงบีบคั้นของกิเลส พยายามดูความหนักเบาของกิเลสหรือความเป็นอนัตตาของจิตแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องยอมทำตามกิเลส หรือถ้าไม่ยอมทำตามกิเลสก็พลิกเป็นโทสะขึ้นมาแทน รบกวนขอคำแนะนำด้วย?

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/aKteNEZQaK8

ดังตฤณ : 
พอเกิดกิเลสขึ้นมานี่นะ เรารู้สึกถึงความบีบคั้นของกิเลส ตรงนั้นเป็นสติ แต่ถ้าหากว่ามีความรับรู้ว่ากิเลสเกิดขึ้นจะหนักจะเบาแค่ไหนก็ตาม แล้วยังพุ่งตามแรงผลักดันของกิเลสนี่เรียกว่าตัวสติที่เกิดขึ้นนี่ สักแต่เกิดขึ้นเพื่อรับรู้ว่ากิเลสมันมีน้ำหนักแค่ไหน มันมีดีกรีแค่ไหน แต่สติยังไม่มีกำลังมากพอที่จะทำให้เกิดการหยุดยั้ง ไม่เกิดตัวที่จะไปเอาชนะกิเลส ถ้าหากว่าเรามองเป็นสติเราต้องมองเป็นสติ ๒ แบบ

สติชั้นที่ ๑ แบบที่หนึ่งนะ คือ สติแบบห้ามใจ อย่างถ้าหากว่า เราสมาทานศีลไว้ คือถือปฏิบัติ คิดตั้งใจว่าจะรักษาศีล เรียกว่าสมาทานศีล แล้วพอมีเรื่องยั่วยุ อย่างเช่น เรื่องยั่วยุให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ฆ่ายุง บี้มด หรือว่าแมลงอะไรต่างๆแล้วเรานึกขึ้นได้ ว่าตั้งใจไว้ว่าจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แล้วความตั้งใจนั้นก็จะมาเตือนให้เกิดการยับยั้งชั่งใจไม่ลงมือทำ ทั้งๆที่โดนยั่วยุให้ทำ และก็มีสิทธิ์ที่จะทำได้ด้วย และอยู่ในอำนาจที่จะทำได้ด้วย นี่เรียกว่าสติมันเกิดขึ้นทันการณ์ สติมีกำลังมากกว่าความอยากจะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สตินั้นก็ทำให้เกิดบุญกุศล แทนที่จะเกิดบาปขึ้นมา มันเปลี่ยนเป็นบุญกุศลแทนขึ้นมา

จำไว้เลยว่า หากถ้าตั้งใจจะทำบาปแล้วเกิดสติ สามารถระงับยับยั้งการทำบาปนั้นได้ มันจะพลิกกลายเป็นบุญ กลายเป็นกุศลขึ้นมาทันที อย่างที่ในคัมภีร์ว่าไว้นะว่า ถ้าหากว่ารู้เท่าทันอาการของอกุศล สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแทนที่คือมหากุศล ถ้าหากว่าเรามองพิจารณาอย่างนี้นะว่า สติในชั้นที่จะห้ามใจมีส่วนสำคัญไม่ใช่ไม่มีส่วนสำคัญ เราก็จะเห็นค่าของการรักษาศีล ถ้าหากว่าใครรักษาศีลมาดี ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้มีสติที่มีกำลังแก่กล้า เกินกิเลสที่มันจะมาทำให้จิตใจของเรามันเป๋ไป มันมีความอยากพุ่งทะยานไปตามแรงกิเลสได้มากขึ้นเรื่อยๆ พูดได้ง่ายๆคือยิ่งใช้ชีวิตมากอยู่บนเส้นทางของผู้ที่รักษาศีล ก็จะมีสติ จะยิ่งมีกำลังที่จะในการหักห้ามกิเลสมากขึ้นเท่านั้น

ทีนี้ถ้ามาถามว่า เอาล่ะ เราเจริญสติ เจริญสตินี่ที่จะรับรู้ตามจริงว่าเกิดภาวะอะไรขึ้นในขอบเขตของกายใจ อย่างนี้แบบนี้นะมันเป็นสติแบบที่ ๒ คือ สติรู้เท่าทันว่าภาวะอะไรเกิดขึ้น ส่วนจะยับยั้งชั่งใจได้หรือเปล่า มันขึ้นกับองค์ประกอบอีกหลายๆอย่างนะว่าเราฝึกมาแบบไหน บางสำนักก็อาจจะให้รู้เฉยๆ

ซึ่งรู้เฉยๆนี่นะ สำหรับมือใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยเคร่งครัดในการรักษาศีล หรือไม่เคยฝึกห้ามใจมาก่อน ถ้าไปหากรู้เฉยๆอย่างเดียวมันก็จะรู้เฉยๆจริงๆ คือไม่เกิดอะไรขึ้น ตัวปัญญาจะมันเกิดขึ้นนิดหน่อยว่าตัวโทสะ ลักษณะของโทสะมันหน้าตาเป็นแบบนี้ แต่จะให้เห็นความไม่เที่ยงของโทสะ เห็นความไม่เที่ยงของความร้อนขึ้นมาทันทีทันใด มันไม่ใช่นะ มันต้องฝึกกันเป็นปีๆหรืออย่างน้อยก็ต้องหลายเดือน หรือถ้าหากว่าคนมีเมตตาอยู่เป็นทุนมากหน่อยก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายวัน ถึงจะเข้าใจได้ว่า อ้อ โทสะเกิดขึ้น ความหงุดหงิดเกิดขึ้น สติเกิดทัน เราก็จะสามารถเห็นโทสะนั้นแสดงความไม่เที่ยงออกมาได้

แต่ไม่ใช่ว่ารู้เท่านั้นแล้วจะมีผลในการยับยั้งชั่งใจทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เรามีโทสะขึ้นมาแรงๆหรือเป็นคนเจ้าโทสะอยู่เป็นทุน กำลังของโทสะนี่ ที่มันพุ่งออกไปมากๆมันขับดันให้ปากขยับงับๆหรือขยับมือไม้ให้ร่ายรำกระบวนยุทธ์ เตรียมพร้อมที่จะต่อกร หรือว่าเข้าสู่สมรภูมิ มันเป็นเรื่องของอำนาจความเคยชิน ใครสั่งสมความเคยชินที่จะตอบสนองต่อโทสะไว้อย่างไร โดยมากก็จะหลงที่จะหลุดเข้าไปสู่ห้วงของความมอดไหม้ตามไฟโทสะแบบนั้น ด้วยพฤติกรรมแบบเดิมๆที่สั่งสมความเคยชินมา ตัวสติที่เพิ่งมาฝึก ที่เพิ่งมารู้เพิ่งมาเห็นตัวอาการของโทสะ มันยังช่วยอะไรไม่ได้

ทางที่ดีที่สุดคือเราต้องสำรวจตัวเองไว้ว่า เราอยู่ในขั้นไหน ถ้าหากว่าโทสะมันแรงขนาดที่จะทำผิดศีลได้ เช่น เรื่องของโทสะจะเกี่ยวข้องโดยมากกับเรื่องของโทสะจะเกี่ยวกับการผิดศีลข้อ ๑ และ ศีลข้อ ๔ ศีลข้อ ๑ คือฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำร้ายร่างกายกันด้วยกำลังกาย ส่วนศีลข้อ ๔ ก็คือทำร้ายกันด้วยคำพูด ทำร้ายกันด้วยการด่าทอ คำพูด เสียดแทงด้วยคำหยาบ หรือว่าการใส่ไคล้ด้วยการนินทาว่าร้าย

ถ้าหากว่าเราสำรวจพบว่ายังมีพฤติกรรมทางกายและทางวาจาในแบบที่จะละเมิดศีล หรือว่าหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดศีลได้ต้องตั้งใจไว้ล่วงหน้าเลย คือไม่ใช่ดูอย่างเดียว แต่ต้องดูด้วย เห็นทันด้วย และก็ห้ามใจตัวเองด้วย การห้ามใจนั่นแหละคือพฤติกรรมของผู้รักษาศีลเมื่อเราฝึกที่จะรู้เท่าทันและห้ามใจได้แล้วมีกำลังมากพอแล้วจะรู้ 

รู้ได้อย่างไร? รู้ได้ด้วยการที่เห็นชัดเลยว่า พอเกิดโทสะขึ้นมามันมีอาการที่เหมือนไม่อยากจะด่าไม่อยากจะทำร้ายใครขึ้นมาเอง พูดง่ายๆคือจิตใจเริ่มมีเป็นเมตตา เริ่มมีปกติเป็นเมตตาขึ้นมา ตรงที่มีปกติเป็นเมตตาขึ้นมานั่นแหละ ถึงจะสมควรเจริญสติ แบบรู้อย่างเดียว แค่รู้ไป รู้ว่า มันเกิดขึ้น เพื่อที่จะเห็นว่ามันดับไปตอนไหน ถ้าหากว่าไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นตอนไหนไม่มีทางเห็นเลยว่ามันดับไปเมื่อไร และถ้าหากว่าไม่รู้ไม่เห็นว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร ดับเมื่อไร ไม่รู้ว่าตั้งอยู่เมื่อไรหายไปเมื่อไร ปัญญาแบบพุทธไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ไอ้ที่จะรู้สึกว่าความโกรธสักแต่เป็นภาวะ สักแต่เป็นความร้อนไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา ไม่มีทางเลยที่จะเกิดขึ้น

มีวิธีเดียวที่เราจะเห็นโทสะสักแต่เป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้ก็คือ มีสติเห็นความไม่เที่ยงของมัน เห็นความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา และเมื่อเห็นว่ามันไม่เที่ยงเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนบ่อยๆเข้า ในที่สุดเราจะรู้สึกว่าโกรธเมื่อไรเดี๋ยวมันหายไปให้ดูเมื่อนั้น อาการทางปากกับอาการทางกายมันจะสงบระงับ มันจะไม่มีแรงดันออกมาทางปากไม่มีแรงดันออกมาทางกาย เราจะรู้สึกได้เลยและพอเปรียบเทียบได้มันก็จะเห็นมองย้อนไปเห็นว่า ที่ผ่านๆมาที่เราอดไม่ได้ที่จะด่า ที่เราอดไม่ได้ที่จะทำร้ายใครด้วยร่างกาย ก็เพราะว่ามีแรงดันซึ่งยังไม่มีสติมาเอาชนะได้ แรงดันนั้นคือแรงดันของกิเลส

นี่มันจะเห็นไปเป็นชั้นๆเห็นเลยว่ากิเลสเราหนาแค่ไหน กิเลสเราแรงแค่ไหน แล้วมันลดระดับลงแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าเราเห็นไปเรื่อยๆนะว่า ยิ่งทำ ยิ่งทำถูกวิธี เริ่มจากห้ามใจให้เป็นเสียก่อน แล้วก็ไปรู้ให้ถูก มีสติให้ทัน กิเลสมันจะลดระดับลงอย่างเห็นได้ชัด แรงดันของกิเลสมันจะทำอะไรเราไม่ได้ มันจะบงการให้เราขยับปากตามแรงดันของโทสะไม่ได้ มันจะบงการให้เราร่ายรำมือรำไม้ไปด้วยแรงดันของโทสะก็ไม่ได้อีกเช่นกัน ใจเราจะมีความชอบใจ เกิดฉันทะ มีความพึงพอใจ ที่จะเจริญสติทั้งในที่จะแบบห้ามกิเลสและก็ในแบบรู้กิเลส รู้เท่าทันกิเลสมากขึ้นเรื่อยๆตามวันเวลาที่ผ่านไป

ส่วนคำถามที่ว่าถ้าไม่ยอมทำตามกิเลส มันจะก็จะพลิกขึ้นมาเป็นโทสะขึ้นมาแทนเต็มๆนั้น จริงๆแล้วนี่มันเป็นเรื่องปกติที่เราคาดหมายได้นะ คือพอมีกิเลส นึกออกไหม จะมันมีแรงดันใช่ไหม หากเราไปขวางมันทั้งๆที่เรายังไม่มีกำลังมากพอก็จะมันก็เกิดความขัดแย้งและมันก็เกิดความอึดอัด และความขัดแย้งทางใจกับความอึดอัดทางกายมันเป็นเชื้อฟืนเพลิงอย่างดีให้โทสะลุกโพลงขึ้นมา ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมถึงเกิดโทสะขึ้นมา

ต่อเมื่อเรามีความเป็นคนมีจิตใจเยือกเย็น พร้อมที่จะแผ่เมตตาเป็นปกติอยู่แล้วนี่ เราจะเห็นเลยว่าความขัดแย้งหรือว่าความอึดอัดทางกายทางใจ มันลดลงแบบฮวบฮาบหรือบางทีไม่มีความขัดแย้งเลย มีแต่ความรู้สึกว่า เออดี ไม่ต้องโกรธ เออดี ไม่ต้องเกลียด เออดี ไม่ต้องมาทำร้ายใครด้วยกายหรือว่าวาจา กายของเรามีความสงบระงับ วาจาของเรามีความสงบระงับ มีความเย็น มีความสะอาด มีความใส เราอยู่กับอะไรที่มันดี อยู่กับโลกที่มีความสว่าง

มองย้อนกลับไปมันจะเห็นเลยว่าเดิมอยู่ในโลกที่มันเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เต็มไปด้วยฟ้าผ่า เต็มไปด้วยไฟไหม้ป่า และบางทีนะเต็มไปด้วยไฟไหม้ฟาง เริ่มจากไฟไหม้ฟางขึ้นมาและเดี๋ยวมันก็หายไป หรือไม่ไฟไหม้ฟางขึ้นมามันกลายเป็นลามทุ่ง ลามเข้าไปถึงป่า ไหม้ทั้งป่า แบบนั้นนี่มันไม่มีความสุข อยู่กับกลิ่นควันไฟอยู่ตลอดเวลา คนที่มีโทสะมันเหมือนกับคนที่อยู่กับกลิ่นควันไฟตลอดเวลานั่นแหละ มันมีแต่ความรู้สึกว่าตัวเราพร้อมที่จะรุ่มร้อน พร้อมที่จะก่อพฤติกรรมอะไรที่มันให้ความรู้สึกเหม็น
เหมือนควันไฟ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น