วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๓.๖๖ สอนลูกให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม


ถาม : กรรมที่พ่อแม่ทำไว้ไม่ดี ถ้าเราต้องเป็นคนเลี้ยงลูกของพ่อแม่คู่นี้ให้เป็นคนดี และเชื่อฟังเรา การเลี้ยงดูที่ให้ความรักและความห่วงใย สอนให้เขาเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ทำให้เขาเห็น และเขาเองก็รับรู้ได้ แต่เหมือนเขายังดื้ออยู่ ถ้าเรารักเขาเหมือนลูกแท้ๆ บุญกุศลของเราที่ทำมาจะช่วยให้เขาเป็นคนดี เชื่อในวิบากกรรมได้ไหมคะ? มีคนบอกว่า ให้เราอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เทวดาประจำตัวเขา เพื่อเปิดทางให้เรารักษากายและใจเขา มันจะได้ผลจริงไหม?

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/KKZOJr6ckbA

ดังตฤณ: 
เรื่องของการที่จะทำให้เด็กมีความเชื่อเรื่องวิบากกรรมนี่ มันต้องค่อยๆหยอดเข้าไป และหยอดเข้าไปให้ถูกจังหวะนะ มันมาจากการที่เราใช้วิธีพูดกับเขา หรือว่ากระทำกับเขา มากกว่าที่จะไปอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้อะไรก็แล้วแต่ที่เรามองไม่เห็น เอาเรื่องที่เรามองเห็นกันก่อนดีกว่า คือไม่ใช่ไปขัดศรัทธาว่า อย่าไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร หรือเทวดาประจำตัวเขานะ คือทำไปเถอะ ถ้าหากว่าทำแล้วมีความรู้สึกว่า จิตของเรานี่เชื่อมกับเขาในทางที่สว่าง ในทางที่ดี ในทางที่เป็นบุญกุศลได้มากขึ้น เอาเลย

แต่คำถามที่ถามว่า จะทำอย่างไรให้เขาเป็นคนดี เชื่อในเรื่องของวิบากกรรมนี่นะ มันอยู่ที่เขาเห็นว่าเรามีศรัทธาในกรรมวิบากเพียงใด และทำให้เขาเห็นว่าเรามีเหตุผลในความศรัทธานั้นอย่างไร คือบางทีศรัทธาอย่างเดียวนี่มันไปก่อความรู้สึกต่อต้านให้กับคนบางคน หรือหลายๆคน โดยเฉพาะคนยุคนี้นี่นะที่คลุกคลีตีโมงอยู่กับเรื่องบันเทิง เรื่องที่มันฉาบฉวย เรื่องที่มันจับต้องได้ชั่วคราว และเห็นเป็นจริงเป็นจังมากที่สุดในชีวิตนี่ เขาจะไม่สามารถที่จะรับรู้อะไรที่เป็นนามธรรม หรือศรัทธาที่มีความสว่าง ความอบอุ่น ความสูงส่งได้ มันจะยากนะ ถ้าหากว่าเราทำๆไป สักแต่ทำโดยไม่บอกเหตุ ไม่บอกผล ไม่อธิบาย ไม่ชี้แจงนี่นะ มันจะเกิดความรู้สึกต่อต้านขึ้นมาในใจว่า ทำอะไรโง่ๆ ทำอะไรงมงาย ทำอะไรเป็นคนโบราณนะ ก้าวไม่ทันยุคสมัย นี่คนยุคใหม่ เด็กรุ่นใหม่เขาจะคิดกันอย่างนี้ เกิดความรู้สึกต่อต้านกันแบบนี้

ถ้าหากว่าเราจะทำอะไรสักอย่างนะ เราต้องชี้ให้เขาเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับใจตัวเอง พูดเป็นคำๆให้เด็กเข้าใจ ให้เด็กรับรู้ อย่างเช่น ถ้าบอกเขาในเรื่องเกี่ยวกับการให้ทาน การเสียสละ ก็ชี้ให้เขาเห็นนะ บอกบรรยายพรรณนาสรรพคุณว่าการให้ทานนี่ ทำให้เราเกิดความรู้สึกดีอย่างไร ‘เออ ใจเราเป็นสุขนะลูก ใจเรานี่มันมีความรู้สึกเหมือนกับปลดเปลื้องอะไรบางอย่างที่มันเหนียวๆออกไป เหนอะหนะออกไปนะ’

หรือพอรักษาศีล พอห้ามใจอะไรได้นะ ถ้าอย่างทำให้เขาเห็นว่า เราโมโหชาวบ้าน แทนที่จะด่านะ เขาเห็นเรากำลังมีอาการเก็บอัดแล้ว มีอาการเหมือนอยากจะด่าแล้ว แต่ไม่ด่า เลือกพูดคำที่ดี เลือกพูดคำที่เสนาะหู เลือกพูดคำที่ไม่ระคายนะ แล้วก็มาชี้แจง มาบอกเหตุผลเขาว่า ‘นี่เขาทำแบบนี้นี่มันน่าโมโหมากนะลูกนะ แต่ว่าเราก็เหมือนกับไม่อยากที่จะเสียสภาพดีๆของจิตใจไป คือพอเสียสภาพดีๆของจิตใจไปแล้วมันเครียด มันหัวคิ้วขมวดตลอดวัน แต่ถ้ามันเลือกคำดีๆไปได้ ชนะใจตัวเอง ชนะความโกรธของตัวเองไปได้นี่ มันเครียดอยู่ไม่นานแล้วก็ยิ้มออก แล้วก็มีความสุข แล้วก็สามารถที่จะสบายใจกับตัวเองว่า เมื่อกี้ไม่ได้มีเรื่องกับเขามา’

นี่ค่อยๆบอก ค่อยๆสอน คือลักษณะการสอนนี่นะ ต้องสอนในขณะที่เราทำให้เขาเห็นแล้ว หรือไม่ก็สอนในขณะที่เขากำลังทำผิดอะไรสักอย่าง หรือแสดงถึงความไม่เชื่อในทางบุญในทางกุศลอะไรนี่ เวลาสอน อย่าสอนสักแต่ว่า ‘จงทำ’ หรืออย่าใช้คำสั้นๆแค่ว่า ‘อย่าทำ’ แต่ว่าให้อธิบาย มีคำอธิบายตามหลังมาด้วย ว่าที่ว่า ‘จงทำ’ นี่ จงทำแล้วเกิดผลดีอย่างไรทางใจ ‘อย่าทำ’ แล้วเกิดผลดีอย่างไรกับสุขภาพจิต หรือว่ากับหน้ากับตา หรือเส้นทางชีวิตในแต่ละวันนี่ ที่จะไปดึงดูดแสงสว่างเข้ามา ไปดึงดูดความสุขเข้ามาในบ้านนี่ ต่างๆนานานี่นะ พยายามหัดเป็นคนที่บรรยายสรรพคุณเก่งๆเข้าไว้ เด็กจะฟัง แล้วก็ค่อยๆเชื่อ

ถึงแม้ว่าเขาจะหัวดื้อขนาดไหนนะ แต่ถ้าหากว่าความสว่าง ความเย็น แล้วก็ความมีเหตุผลมันปะทะจิตปะทะใจเขาทุกวันนี่ เขาทนอยู่ไม่ได้หรอก แรงต่อต้านนั้นมันจะต้องอ่อนตัวลงนะ ถ้าไม่ใช้เวลาแรมเดือน ก็ใช้เวลาแรมปี แต่ผลมันคุ้มค่าเพราะเขาจะได้ดีหลายๆชาติเลย ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียวนะ ต้นของเมล็ดพันธุ์ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กนิดเดียวนี่มันขยายออกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่รู้ว่ามันจะมีขอบเขตขนาดไหน แต่เรารู้ว่ามันจะได้ผลดีกับเขาแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น