ถาม : แต่ก่อนเป็นคนไม่ค่อยเชื่อเรื่องบาปกรรม
และเมื่อสองสามปีที่แล้วเคยต้องฆ่าหนู โดยใช้กาวดักหนู เนื่องจากหน้าที่
คือมีหน้าที่ต้องกำจัดบรรดาตัวก่อเชื้อโรคในโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุดนี่นะ
กาวซึ่งดักได้ทีละสองสามตัวจึงไวกว่า และยาที่กินแล้วนี่ หนูจะไปแห้งตาย
โดยไม่ส่งกลิ่น ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ผมน่าจะฆ่าหนูซัก ๒๐ ตัวได้
ที่นี้พอได้บวช
ก็เกิดความกลัวบาป หลังสึกมาก็ใช้กรงดัก แล้วก็ไปปล่อยทีละตัว
แต่กลายเป็นว่าทุกวันนี้ผมจะมีกระแสความคิดมาเรื่อยๆ เป็นภาพหนูที่ติดอยู่บนกาว
มีแววตาตาน่าสงสาร และก็จำได้ว่าเอาไปทิ้งขยะทั้งเป็นๆด้วยความรังเกียจปนสงสาร
ทั้งที่แต่ก่อนไม่เคยมีกระแสความคิดนี้ ทุกวันนี้ จะพยายามปล่อยนก ปล่อยปลา
แล้วก็ไถ่ชีวิตโค แผ่ส่วนบุญ แต่ก็ยังมีกระแสความคิดเดิมมาอยู่เรื่อยๆ
ก็จะใช้วิธีคิดถึงบุญที่ทำ เหมือนแผ่ส่วนบุญไปให้
คำถามคือ
แนวทางที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ถือว่าเป็นการสร้างบุญในฝ่ายตรงข้ามกับบาปนี่นะ
สามารถที่จะคานกับบาปอันนั้นได้หรือเปล่า? มีคนแนะนำว่า
นั่งสมาธิเสร็จให้แผ่เมตตาให้ ก็จะได้ผลหักล้างได้เร็วกว่า แต่ส่วนตัว
รู้สึกว่ามันเป็นบุญคนละประเภทกัน และถ้ากรรมฆ่าหนูแสดงผลนี่
จะแสดงให้ผมรับกรรมในลักษณะใด?
ดังตฤณ:
อันนี้ก็ถือว่าเป็นกรณีตัวอย่างก็ได้
เพราะว่าโดยหน้าที่ก็เหมือนกับเราจะต้องทำ
มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆเราจะไปอยากฆ่าหนูด้วยความเกลียดชัง แต่มันมีภาพติดตามา
ประเด็นในคำถามนี้ก็คือว่า
คือมันเกิดภาพติดตาของหนูที่น่าสงสาร คือมันรู้ตัวว่าเราจะเอามันไปฆ่าให้ตาย
หรือว่าเอามันไปทิ้งขยะที่มันติดกาว นี่มันไม่มีทางรอดแล้ว
มันก็เลยมองด้วยสายตาที่อาจจะขอความเมตตา
หรือว่าความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะตาย ที่กำลังจะถูกฆ่านี่
มันมีสัญชาตญาณแบบหนึ่ง อยากเอาตัวรอดแบบได้รับความเมตตาปราณี
ซึ่ง ณ เวลาที่เรายังไม่คิดอะไรมาก
ก็อาจจะทำลงไปโดยที่ไม่รู้สึกอะไรเท่าไหร่ แต่เมื่อเราบวช หรือมาศึกษาธรรมมานะครับ
แล้วเกิดความเป็นกุศลขึ้นมา คือการจะเชื่อเรื่องบุญ เรื่องกุศลได้
ก่อนอื่นส่วนใหญ่จะต้องมีลักษณะของบุญ ลักษณะของความสว่างอย่างใหญ่อยู่พอสมควร
ที่จะทำให้จิตส่วนลึกนี่ เกิดความรู้สึกของความมีจริงของกรรม ทั้งในฝ่ายบุญ
ทั้งในฝ่ายบาป ทั้งที่เป็นกรรมดำ และกรรมขาว
อย่างเช่นการบวชนี่
ถือว่าเป็นกรรมขาวอย่างใหญ่ ถือว่าเป็นการที่เราได้ครองกาสาวพัสตร์
ซึ่งเป็นเครื่องแบบที่มีเกียรติสูงสุดเลย เป็นธงชัยของพระอรหันต์ เป็นผ้าที่ห่อพัน
ในสมัยพุทธกาล ท่านเรียกว่าเป็นผ้าที่ห่อพันกันอุจาด
เรียกว่าให้จิตนี่เกิดความรู้สึกว่าเราไม่มีอะไรติดตัวเลย
มีแค่ผ้าที่ห่อพันกันอุจาดเท่านั้น
การที่เราได้ไปบวชมา แล้ว
เหมือนกับเกิดความเชื่อเรื่องบาปเรื่องกรรมแล้ว
แสดงให้เห็นว่าการบวชครั้งนั้นเป็นบุญ เป็นกุศลอย่างใหญ่ แล้วฐานของจิตที่เป็นบุญ
เป็นกุศลอย่างใหญ่ มันจะมีความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวงกับบาปกรรมที่เคยทำมา
แล้วมันก็เลยขับเน้นให้เกิดความรู้สึกว่านี่ฝ่ายบุญเป็นอย่างนี้
นั่นฝ่ายบาปเป็นอีกอย่างหนึ่ง พอมีความเหมือนกับระลึกได้ขึ้นมา เคยมีบาป
เคยมีกรรมอันมืดนะ ก็จะกลับมาหลอกหลอนได้พอสมควรด้วยอาการอย่างนี้แหละ
ทุกคนนั้นเวลาทำบาปไปเรื่อย
นี่มักจะไม่รู้สึกรู้สา อย่างคนทำบาปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นเห็นเป็นเรื่องปกติ
แต่พอกลับใจเปลี่ยนมา พลิกกลับลำนะ กลายเป็นคนอีกแบบหนึ่ง จากมืดเป็นสว่าง
ไอ้ความมืดที่เคยทำมานั้นมันก่อความรู้สึกเสียใจ ก่อความรู้สึกผิดอย่างใหญ่หลวง
แล้วก็เหมือนกับไม่สามารถจะลืมได้ทั้งๆที่ก็คิดว่าได้ทำบางสิ่งบางอย่างเป็นการชดใช้ไปแล้ว
การที่คุณมีความเห็นว่ามันเป็นบุญคนละประเภทกันนี่
เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วบุญไม่สามารถที่จะไปลบล้างบาปได้
แต่ว่าสามารถที่จะเจือจางผลของบาปได้
กล่าวคือ พระพุทธเจ้า
ท่านเคยตรัสเปรียบเทียบ ถ้าเปรียบบาปเป็นก้อนเกลือก้อนเล็ก
แล้ววันหนึ่งนะเราเอาเกลือไปใส่กะละมังน้ำ เทน้ำลงไป
จนกระทั่งรสของเกลือนั้นเจือจางลง
ถามว่าเกลือหายไปไหม มันไม่ได้หายไป แต่ถูกเจือจางลง จนกระทั่งรสเค็มแทบไม่เหลือ
หรือว่าเหลือก็น้อยมาก ถ้ากะละมังมันน้อยไปก็ใส่เข้าไปตุ่มหนึ่ง หรือว่าแทงค์หนึ่ง
ก้อนเกลือนั้นนี่ ยังไงๆก็ต้องจมหายไปนะ
คือเหมือนกับว่ารสชาติของความเค็มมันไม่เหลือเลย
อันนี้ท่านก็เปรียบเทียบว่า ถึงบาปจะทำมาขนาดไหน
ถ้าหากว่า
ปริมาณบุญที่เราเพิ่มเติมเข้าไปในชีวิตมันมากจนกระทั่งผลของบุญนั้นน่ะมันเกิน
มันให้ความรู้สึกเกิน มันเป็นสุขมากเกินความทุกข์ ความทุกข์นั้นมันก็ลดน้อยลง
จนกระทั่งแทบไม่เหลือ
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังจำภาพติดตาของสัตว์ที่อ้อนวอนขอชีวิตได้อยู่ไม่รู้ลืมก็ลองไถ่ชีวิตสัตว์
เราฆ่าหนูไป ๒๐ ตัวนี่ ลองช่วยสัตว์ทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ ปล่อยนก ปล่อยปลา
จนกระทั่งเหมือนกับเป็นงานอดิเรก ทำเป็นร้อยเป็นพันตัว
เห็นภาพของสัตว์ที่ดีใจได้ชีวิตต่อ ในที่สุดมันจะแทนที่ได้
คืออันนี้พูดเฉพาะในเรื่องของความจำนะ
ความจำมันก่อให้เกิดความรู้สึกผิด หรือว่าปรุงแต่งให้จิตเกิดความเศร้าหมอง
ไอ้ความจำดีใหม่ๆ ดูดีใหม่ๆ ที่สัตว์มัน อย่างเวลาปล่อยปลานี่
คุณจะรู้สึกได้เลยนะ ปลามันลงน้ำนี่ด้วยความดีใจเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเวลาไปซื้อปลาจากตลาดที่กำลังจะถูกฆ่า
ไม่ใช่ปลาที่ถูกจับมาไว้เพื่อขายคนอยากปล่อยปลานะ แต่เป็นปลาที่กำลังจะถูกฆ่าจริงๆ
มันเหมือนมีสัญชาติญาณทราบได้ ว่ามีชีวิตมันรอดแล้ว ได้ชีวิตต่อแล้ว
การที่เราได้เห็นความดีใจของสัตว์บ่อยๆมันจะกลายเป็นความทรงจำชนิดใหม่
ที่มาทำจิตให้เกิดกำลังในด้านดีมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่ของคุณเคยทำเกี่ยวกับหนูมานี่นะ
แล้วไปปล่อยนก ปล่อยปลา หรือว่าไปปล่อยโค กระบือให้มากๆ
ช่วงที่ทำแรกๆอาจจะยังไม่รู้สึก นี่ที่คุณก็เล่าให้ฟังมานี่ปล่อยนกปล่อยปลา
หรือว่าไถ่โค มันก็จะเรียกว่ามาถูกทาง แต่ว่ายังเดินมาไม่ลึกพอ
บางคนนี่นะที่เขาปล่อยนก
ปล่อยปลากันนี่เพื่อที่จะแก้เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ
เพื่อที่จะแก้เกี่ยวกับรู้สึกเลยว่าเป็นวิบากที่เคยไปทำปาณาติบาตมานี่นะ เขาทำกัน
๕ ปี ๑๐ ปี ทำกันแทบทุกวัน หรือแทบทุกอาทิตย์ ปล่อยสัตว์มานี่
เขานับเลยนะปล่อยมาได้เท่าไหร่ เขานับกันได้เป็นหมื่นตัว
คือทั้งสัตว์เล็กและสัตว์ใหญ่ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่าการปล่อยสัตว์
การได้ไถ่ชีวิตสัตว์เป็นเรื่องปกติของชีวิตเขา พอถึงความรู้สึกตรงนั้นนี่
สุขภาพมันค่อยดีขึ้นนะ ตามที่เสียดแทงอย่างรุนแรง
อาการที่หมอรักษาไม่หายอะไรต่างๆมันทุเลาลงได้จริง
นี่ก็เหมือนกันแก้ความรู้สึกผิด
หรือแก้ความเสียใจมันต้องแก้ด้วยความดีใจ เพียงแต่ต้องทำให้มากๆ ทำให้เป็นประจำนะ
จะได้เปรียบเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ คล้ายๆกับน้ำที่เกินกว่ารสเกลือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น