วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๒.๑๔ วิธีทำบุญให้ให้เกิดปีติ

ถาม : ก่อนไปทำบุญ ขณะทำบุญ และหลังทำบุญ ควรจะคิดอย่างไรให้เกิดปีติ พอทำบุญไปเรื่อยๆจนเหมือนเคยชิน ไม่เกิดปีติชื่นใจเหมือนก่อน

รับฟังทางยูทูป : http://youtu.be/Qb0wiqhQnu0

ดังตฤณ: 
คำตอบง่ายๆ ก็คือว่า วิธีที่เราจะคิด วิธีที่เราจะไปทำบุญ อย่าไปทำตามความเคยชิน

จริงๆแล้วถ้าเราไปทำอย่างสม่ำเสมอ ดีนะ เพราะว่าเป็นการสร้างความแข็งแรง สร้างความตั้งมั่นให้กับการทำทาน การไปวัด การไปทำบุญกับพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ

แต่เราไม่ต้องกะเกณฑ์ตัวเองว่าจะต้องไปเมื่อนั่นเมื่อนี่แน่ๆก็ได้ ทำเมื่อมีความรู้สึกขึ้นมาว่า อยากทำบุญ ตัวอยากทำบุญนี่แหละที่ทำให้เกิดปีติ ตัวอยากที่จะให้ ตัวอยากที่สงเคราะห์ ถ้าตัดคำว่าอยากทำบุญทิ้งไป อยากได้บุญทิ้งไป เหลือแต่ความรู้สึกอยากอนุเคราะห์ อยากให้พระสงฆ์องค์เจ้ามีของใช้ มีปัจจัยสี่ เพื่อที่จะสืบทอดพระศาสนา เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อทำกิจของสงฆ์ให้ลุล่วงตามที่ตกลงกับพระพุทธเจ้าไว้ว่าเราบวชเข้ามาเพื่อที่จะทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง

ถ้าหากว่าใจเรารู้สึกอยากให้ อยากถวาย อยากทำ อยากอนุเคราะห์พระสงฆ์ ด้วยความรู้สึกออกมาจากแก่นของใจแล้วจริงๆ จะเกิดปีติเสมอ ปีติที่อยากทำแล้วได้ทำ เป็นสิ่งที่เรียกว่าใจมีทานจิต มีลักษณะของทานจิตครบวงจร อยากให้แล้วก็ได้ให้ สมใจอยาก เหมือนกับคนที่คาดหวังว่าจะได้รับอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วได้รับตามความคาดหมาย ก็เกิดความสมใจ เกิดความดีใจ อันนี้เป็นในทางกลับขั้วกัน คือเราเกิดความอยากให้นำขึ้นมาก่อนแล้วก็ได้ให้สมใจ นั่นแหละจะเกิดปีติ จะเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นมา

อีกทางหนึ่งคือ พยายามทำบุญให้หลากหลาย บางคนทำรูปแบบเดิมซ้ำๆ กัน มีข้อดีเหมือนกันคือ ทำให้บุญประเภทนั้นๆ หรือทานประเภทนั้นๆ มีความตั้งมั่น มีความสม่ำเสมอ มีความแน่นอน เวลาที่กรรมเผล็ดผลก็จะเผล็ดผลแน่นอน มีสิ่งอื่นที่เข้ามากีดขวางหรือเข้ามาขัดขวางผลของบุญได้ยาก

แต่ใจของเรา ณ ขณะปัจจุบันที่ได้ทำบุญ จะเกิดความรู้สึกเฉยๆ จะเกิดความรู้สึกชินๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของจิต ทำอะไรบ่อยๆ ทำอะไรทุกวัน ทำอะไรซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้เกิดความรู้สึกยินดีตั้งแต่ต้นว่าอยากให้ ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกเฉยๆ เป็นธรรมดาขึ้นมา

แต่ถ้าหากเราสลับขาหลอกกิเลสมัน สลับลักษณะของการทำบุญให้ครบวงจร เช่น แทนที่จะไปวัดอย่างเดียว ลองไปสถานสงเคราะห์คนอนาถาดูบ้าง ลองไปที่สถานสงเคราะห์เด็กอนาถาไม่มีพ่อไม่มีแม่ เด็กกำพร้า แล้วก็คนชราที่ลูกเต้าไม่เลี้ยงดูไม่เหลียวแล เราไปเหลียวแลแทน เราไปทำให้เด็กดีใจ ไปทำให้คนแก่มีกำลังใจ

การที่เราได้ทำบุญหลากหลาย การที่เราได้ทำบุญแบบครบวงจร ไม่ใช่ให้เฉพาะพระ ให้คนธรรมดาด้วย แล้วก็ให้สัตว์ด้วย ให้เศษอาหารกับหมาแมวข้างทาง แค่นี้มีผลมากนะ เพราะว่าเราทานเสร็จบางทีก็จะเกิดความรู้สึกเสียดายของในจาน บางทีมันน่าจะให้หมาแมว แล้วเกิดความรู้สึกว่า น่าจะนำไปให้หมาแมวสักตัวหนึ่งที่อยู่ระหว่างทางแบบไม่เจาะจง แค่คิดอย่างนี้มันรู้สึกดีแล้ว พอได้ให้จริงๆ มันรู้สึกอิ่มใจ รู้สึกปลื้ม มันเริ่มต้นขึ้นมาจากความอยากให้ ไม่จำกัดว่าจะต้องถวายพระเท่านั้น แม้แต่ให้ของสัตว์ก็ได้ความรู้สึกที่ดีมากแล้ว

พระพุทธเจ้าก็ยืนยันนะว่า บุญแม้กระทั่งด้วยการให้สัตว์เดรัจฉาน ถือเป็นบุญใหญ่ ถือเป็นทวีคูณ ให้เศษกระดูกนั้นเราได้คืนมาเป็นไก่ทั้งตัว นี่คิดแบบเทียบง่ายๆ เป็นอัตราส่วนที่ให้เห็นภาพ นอกจากนั้นเราอาจจะไปปล่อยนกปล่อยปลา ปล่อยสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่า ลองทำบุญให้ครบวงจรดู แล้วเวียนกลับมาทำบุญกับพระอีกที เราจะเกิดความรู้สึกชัดเจนขึ้นมาว่า ทำบุญกับพระเป็นบุญระดับสูงนะ คนที่ได้รับ ผู้ที่ได้รับมีจิตวิญญาณที่สูงส่งกว่าเด็กอนาถาหรือว่าคนชรา หรือว่าคนธรรมดาทั่วไป เพราะว่าพระมีศีล รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ มีการปฏิบัติธรรม เจริญสติ ซึ่งเป็นบุญขั้นสูงสุดในพุทธศาสนา

ปกติเวลาเราไปทำบุญกับพระโดยตรง ก็จะรู้สึกว่าได้ทำบุญใหญ่ ได้มีความอิ่มใจ แต่ไม่มีตัวเปรียบเทียบให้เกิดความชัดเจน ต่อเมื่อเราทำบุญครบวงจร ทำทั้งกับสัตว์ ทำทั้งกับเด็กอนาถา ทำทั้งกับคนชรา ทำทั้งกับเพื่อน ทั้งกับคนรอบๆ ตัวที่มีฐานะใกล้เคียงกัน เราจะรู้สึกเลยว่าเวลาให้ผู้รับแต่ละระดับจะมีความแตกต่างกัน คือความอิ่มใจในการให้เท่ากัน แต่ว่าความรู้สึกถึงกระแสของผู้รับที่มีความสูงส่ง ที่มีความรู้สึกว่าสะท้อนกลับมาเป็นบุญใหญ่ สะท้อนกลับมาเป็นความสว่างอย่างใหญ่ มันจะค่อยๆ เลื่อนระดับขึ้นมา

เริ่มจากสัตว์ก็จะเริ่มรู้สึกว่าสะท้อนกลับมาแบบหนึ่ง เราทำบุญกับสิ่งมีชีวิตระดับบุญแบบนี้ แล้วก็ขยับขึ้นมาเป็นเด็กอนาถา ขยับขึ้นมาเป็นคนชรา และขยับขึ้นมาเรื่อย จนเป็นพระ และเป็นพระก็มีหลายระดับอีก พระนวกะเพิ่งบวชเข้าไป หรือพระที่ท่านบวชเข้ามาตามประเพณีตามธรรมเนียม แล้วก็ขึ้นมาถึงพระที่ท่านเข้าใจจริงๆ ว่าการบวชคืออะไร การปฏิบัติธรรม การทำกิจในพระพุทธศาสนาคืออะไร เราก็จะได้ความรู้สึกหลากหลายแตกต่างกันไป และทำให้เราเลิกที่จะเกี่ยงงอนว่าจะต้องทำบุญกับพระดี จะต้องทำบุญกับพระอริยเจ้าเท่านั้น เราจะมีความรู้สึกว่าการทำบุญครบวงจรนั่นแหละดีที่สุด เพราะได้ความอิ่มใจเรื่อยๆ เป็นความอิ่มใจที่มีการหมุนเวียน ไม่ใช่ความอิ่มใจที่ซ้ำไปซ้ำมา แล้วก็เกิดความรู้สึกชาชิน จนกระทั่งสงสัยว่า แบบนี้ได้บุญหรือเปล่า ทำไมได้บุญใหญ่ได้บุญเยอะแล้วถึงเกิดความรู้สึกเฉยๆ ที่เฉยก็เพราะว่ามันทำซ้ำๆ จนชิน ไม่ใช่ว่าทำแล้วไม่ได้บุญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น