ถาม : เป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน
แต่กลับถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเขาเอาเปรียบ
และบางคนพอเราให้เกียรติเขา เขากลับข่มเรา ทั้งๆที่ความจริงเราไม่ได้เกรงกลัว
แต่เป็นเพราะอภัยเมตตาไม่ถือสาหาความใครต่างหาก
จะทำอย่างไรให้เราดูไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาคนอื่น?
ดังตฤณ:
ความเข้มแข็งกับความอ่อนแอนี่
มันแตกต่างกันที่ความรู้สึกทางใจนะ ถ้าหากว่าใจเราเป็นทุกข์อยู่
มีความรู้สึกระส่ำระสายอยู่ กระแสความอ่อนแอนี่มันจะส่งออกมา
แล้วถึงแม้ว่าภายนอกจะยังดูแข็งๆ แต่ถ้าหากว่าภายในมีความรู้สึกสว่าง
มีความรู้สึกนิ่ง มีความรู้สึกตั้งมั่นอยู่ อันนั้นจะส่งกระแสของความเข้มแข็งออกมา
อันนี้พูดถึงหลักการก่อน อย่าเพิ่งพูดว่าผมตอบคำถามนี้แล้วหรือยัง
ตรงตัวแล้วหรือเปล่านะครับ
โดยหลักการก็คือมนุษย์นี่จะสามารถรับรู้ได้ว่าภายในของอีกฝ่ายหนึ่งที่กำลังอยู่ต่อหน้านี่
มีความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มีความอึดอัดหรือมีความสบาย ลองสังเกตตัวเองดูนะ
อันนี้เป็นประสบการณ์ทางใจที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันเลย
บางทีเราไปหาใครที่เขาเป็นผู้นำ เราก็รู้สึกว่าเขาน่าเกรงใจ เขามีความเข้มแข็ง
เขามีลักษณะของคนที่เราจะไปรังแกไม่ได้
หรือเอาง่ายๆอย่างถ้าหากว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยเล็กๆน้อยๆ แล้วก็ไปหาหมอ
ถ้าเป็นหมอใจดี ถ้าเป็นหมอที่มีความกระตือรือร้นในการรักษาคนไข้อยู่ทั้งวันทั้งคืน
มีความแข็งแรงออกมาจากความเมตตาปราณีที่อยากจะช่วยคน เราจะรู้สึกเลยว่า
แค่เข้าไปในห้องตรวจก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าอาการเราดีขึ้นมานิดหนึ่งแล้ว
นั่นเป็นเพราะว่าเราได้รับกระแสความรู้สึกดีๆมาจากหมอ
ได้รับความรู้สึกเข้มแข็งของคนที่ไม่ยอมแพ้กับโรคภัยไข้เจ็บ
มันทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บของตัวเองโดยไม่รู้ตัว
นี่เป็นการถ่ายทอดกระแสที่เห็นได้ชัดในตัวอย่างชีวิตประจำวันทั่วไปนะครับ
แต่ที่ผมยกตัวอย่างอย่างคนที่เป็นผู้นำ
หรือคนที่เป็นหมอใจดีนี่ ก็จะเป็นกรณีความเข้มแข็งที่ค่อนข้างจะหาได้ยาก
แต่ถ้าหากว่าเรามาพูดถึงคนทั่วๆไปที่พูดง่ายๆแหละว่าก็มีกิเลสแล้วก็มีความรู้สึกกลับไปกลับมา
ระหว่างอยากให้อภัยกับอยากเอาคืนนะครับ ถือว่ามีความรู้สึกเหมือนกับว่าเราต้องชั่งใจแหละว่า
จะอภัยดี ไม่อภัยดี จะพูดอย่างไรถึงจะให้ฟังดี แล้วก็เขาไม่ระคายใจด้วย
และในขณะเดียวกันเราก็ไม่ถูกเข้าใจผิดด้วย
มันจะยังมีความแกว่งไปแกว่งมาได้อยู่นะครับ อันนี้มองเป็นเรื่องของจิตไปก่อนนะ
ทีนี้มาเข้าคำถามนะครับว่า
การที่เราเป็นคนอ่อนน้อมให้เกียรติคน แล้วถูกมองว่าอ่อนแอ ยอมให้คนอื่นเอาเปรียบ
ตรงนี้ บางทีนะครับ ความอ่อนน้อมหรือให้เกียรติคนนี่
มันอาจทำให้คนบางคนที่เป็นพาลนี่มองว่าเราหงอ
มองว่าเราดูเหมือนกับปกป้องตัวเองไม่ได้ เราเป็นคนอ่อนแอนะครับ
ให้สังเกตลักษณะของใจในขณะที่เราอ่อนน้อมและให้เกียรติคน
เราอ่อนมากเกินไปหรือเปล่า หรือว่าเรายังมีความสดใส มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่
ถ้าหากว่าเรายังมีความสดใส มีความเข้มแข็ง ยังมีความเป็นตัวของตัวเองนะ
ความอ่อนน้อมนั้นจะถูกมองว่าเป็นการให้เกียรติ
แต่ถ้าหากว่าเราอ่อนน้อมแล้วใจข้างในของเราเหมือนกับยอมเขาได้ทุกอย่างนี่
กระแสความรู้สึกมันจะพลิกกลับไปเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเขาจะรู้สึกว่าเราตัวงอเกินไป
เราหงอเกินไปหน่อย แล้วก็ดูน่ารังแกซะด้วย
อันนี้เป็นธรรมชาติที่ค่อนข้างจะเป็นที่สังเกตได้ล่ะ
คือมันไม่มีถูกไม่มีผิดนะ แต่เป็นที่สังเกตได้ ถ้าหากว่าใครมาทำหงอๆนี่ ธรรมชาติของคนที่ยังไม่ได้พัฒนาขึ้นเต็มที่นี่นะ
จะรู้สึกว่าคนๆนี้น่ารังแก คนๆนี้น่ากลั่นแกล้ง คนๆนี่ไม่น่าเห็นใจซะด้วยซ้ำนะครับ
คือมนุษย์เรานี่นะ กิเลสนี่มันเป็นอย่างนี้แหละ คือเห็นใครที่อ่อนกว่าด้อยกว่านี่
จะอยากเหยียบย่ำ เห็นเป็นบันได เพราะคนส่วนใหญ่นี่อยากมีจะมีอัตตา
อยากจะมีความยิ่งใหญ่ อยากจะมีความเป็นนาย
เพราะฉะนั้นสรุปก็คือว่า
เราต้องสังเกตตัวของเราเองด้วยว่า การอภัย การเมตตาไม่ถือสาหาความนี่
เป็นไปด้วยอาการที่เรายังมีความรู้สึกชัดเจนอยู่ข้างในหรือเปล่า
เรายังมีสติอยู่ชัดเจนหรือเปล่านะครับ ยืนอยู่รู้ว่ายืนอยู่ไหม
พูดอยู่กับเขารู้สึกถึงอาการพูดไหม หรือแม้กระทั่งการกล่าวว่าไม่เป็นไร
ดิฉันไม่ถือ ด้วยอาการแบบนี้นี่ เป็นอาการของคนที่ยังมีความเป็นตัวของตัวเอง
มีความตรง ยังยืดตัวได้ตรง ยืดอกได้ตรง หน้าตั้ง คอตั้ง หลังตรงอยู่หรือเปล่า
ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการให้อภัย ถ้าหากว่ามีความสง่างามในการอ่อนน้อมนะครับ
เขาจะรู้สึกว่าเขากำลังได้รับเกียรติจากเราอยู่
แต่ถ้าอ่อนน้อมของเราหมายถึงการอ่อนไปทั้งตัวเลย ระทดระทวย
หรือว่างอไปทั้งตัวนะครับ
อันนั้นเขาจะรู้สึกว่าเรามาก้มศีรษะให้เขาด้วยอาการที่อยากจะมารับใช้เขา หรือว่าอยากจะมายอมให้เป็นบันไดให้เขาเหยียบขึ้นไปมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวตนของเขา
อันนี้ขอให้สังเกตด้วยก็แล้วกัน
การที่เราจะไม่เป็นคนอ่อนแอในสายตาของคนอื่นได้
จำไว้เลยว่าความรู้สึกของเราจะต้องยังเป็นตัวของตัวเองเต็มร้อย
แล้วก็ไม่งอแบบหงอนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น