วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๓.๔๔ ลูกวัยรุ่น ก้าวร้าว สอนอย่างไรดี?


ถาม : มีลูกกำลังเข้าสู่ช่วงของวัยรุ่น บางครั้งอารมณ์เขาแปรปรวนง่าย อารมณ์ร้อน จะมีวิธีอย่างไรที่จะสอนเขา?

รับฟังทางยูทูบ :  http://youtu.be/ttccVgv-aFs

ดังตฤณ: 
ปัจจุบันมีปัญหานี้เกิดขึ้นกันมากที่สุดเลย เป็นหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับมากที่สุดจากคุณพ่อแม่ นั่นก็คือลูกดื้อ ลูกอารมณ์ร้อน และมีลักษณะก้าวร้าว ลักษณะที่คุมยาก สอนยาก อบรมยาก เวลาเราไปตักเตือนหรือว่ากล่าวเข้าก็มีอาการกระด้างกระเดื่อง เหมือนไม่แคร์ด้วยว่าเราจะมีปฏิกิริยาต่อไปเป็นอย่างไรเราจะดุด่าแค่ไหน หรือว่าเราจะถึงขนาดพูดอะไรที่รุนแรง อย่างเช่น หลายคนเผลอตัดพ่อตัดแม่เลย เดี๋ยวจะไล่ออกจากบ้านเลย ลูกก็ไม่สนใจ ไม่แคร์ แล้วก็บางทีแสดงท่าว่าพร้อมจะออกไปอยู่แล้วด้วยซ้ำ อันนี้เกิดขึ้นเกือบๆ จะเป็นเรื่องปกติแล้ว

ก็ขอให้เป็นสิ่งที่พิจารณาไว้ก่อนว่าไม่ใช่เคสของเราคนเดียว คุณไม่ได้โดดเดี่ยว คุณไม่ได้มีปัญหาอยู่คนเดียว คุณไม่ได้มีความกลัดกลุ้มในลักษณะนี้อยู่แค่ตามลำพัง เมื่อเราทำใจว่าเราไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่ใช่พ่อแม่ที่ผิด ไม่ใช่พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกไม่ดี มันเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในโลกปัจจุบันนี้ อย่างน้อยสบายใจได้แล้ว คราวนี้จะได้เกิดการพิจารณาหรือว่าสืบสาวกันต่อไปว่า ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงมีลักษณะก้าวร้าว ทำไมเด็กส่วนใหญ่ถึงมีจิตใจที่กระด้างกระเดื่องต่อผู้ใหญ่ ไม่อยากฟังว่าผู้ใหญ่สอนอะไร ไม่อยากเชื่อว่าใครจะมานำชีวิตตัวเองได้ เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น

อันดับแรกเลย สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวเขามากที่สุดตั้งแต่เริ่มขึ้นมาก็คือทีวีหรือไม่ก็เกม ส่วนใหญ่พ่อแม่จะให้ดูทีวีหรือว่าให้เล่นเกมได้ โดยคาดไม่ถึงว่าจะมีผลจะมีอิทธิพลกระทบจิตใจของลูกอย่างไร ได้มีการวิจัยกันออกมาว่าเด็กที่เล่นเกมจะมีแนวโน้มค่อนข้าง คือมีแนวโน้มดีแหละ แต่ว่าแนวโน้มที่เสียก็มาก อย่างเช่น ถ้าหากเล่นชนะจะมีความก้าวร้าวได้สูงกว่าคนที่เล่นแพ้ นี่เป็นตัวอย่างเลย เขามีวิธีวิจัยของเขา อย่างเช่นว่า ถ้าเล่นชนะมากๆ แล้วเปิดโอกาสให้พูดกับคู่แข่งได้ตามปรารถนาได้ตามใจ ส่งเสียงอัดใส่หูคู่แข่งขันได้ จะมีลักษณะของเสียงเป็นอย่างไร ก็ค่อนข้างชัดเจน ผลจากการวิจัยก็คือว่าเสียงจะแข็ง เสียงจะมีความก้าวร้าว และก็มีลักษณะที่คุกคาม ลักษณะที่ข่มขู่หรือว่าเกทับคู่ต่อสู้อย่างชัดเจน หรืออย่างที่เขาเคยวิจัยกันมา เกมอะไรที่ทำให้เด็กมีความก้าวร้าวได้มากที่สุด คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันว่าเป็นเกมยิงๆ เกมที่รุกเข้าหาศัตรูคู่ต่อสู้แล้วก็มีการทำให้บาดเจ็บล้มตาย จริงๆ แล้วอันนั้นก็อาจจะทำให้เกิดภาพหลอนได้เหมือนกัน อยากจะเข้าสู่สมรภูมิได้จริงเหมือนกัน แต่ยังไม่ใช่ที่สุดของเกมที่จะทำให้เกิดความก้าวร้าวในจิตใจของเด็ก

เกมที่จะทำให้เกิดความก้าวร้าวในใจของเด็กได้มากที่สุดอันดับหนึ่งเลย ส่วนใหญ่นึกกันไม่ถึง คือเกมขับรถ ยิ่งมีลักษณะของการพุ่งไปข้างหน้ามากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีลักษณะของความรวดเร็วรุนแรง และเดี๋ยวนี้มีการทำลายคู่ต่อสู้หรือว่าทำลายคู่แข่งได้ด้วย มันจะไปทำให้เกิดอารมณ์วู่วาม อารมณ์อยากจะพุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว ใจมันมีอาการแบบพุ่งไปทำลาย พุ่งไปให้ถึงเป้าหมาย ลักษณะของใจที่มีแต่พุ่ง พุ่ง พุ่ง ไปให้ถึงเป้าหมายโดยไม่สนใจสิ่งกีดขวาง พอเจอสิ่งกีดขวางแล้วก็จะทำลาย ก็จะชนให้มันแตกพังไปนี่เป็นลักษณะของการก่อตัวของความก้าวร้าวรุนแรงมากที่สุด นี่ผมยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นว่า บางสิ่งบางอย่างที่เรานึกไม่ถึงกัน เวลาเขาทำวิจัยกันออกมา มันแสดงความชัดเจนแต่ผลวิจัยต่างๆ เหล่านั้น มักจะเป็นข่าวแค่เล็กๆ มันสู้อำนาจของความสนุกความบันเทิง ในเรื่องของการอยากเข้าไปเล่นเกมไม่ได้ บริษัทเกมปัจจุบันเม็ดเงินก็เรียกว่าไม่รู้กี่หมื่นล้านเหรียญต่อปี โอกาสที่เขาจะหยุดหรือว่ามีอะไรไปเบรกได้คงยาก

นอกจากนั้นเรื่องของทีวี เรื่องของละคร ก็มีส่วนปรุงแต่งจิตใจให้เด็กเข้าไปอยู่ในโลกความคิดฝัน คิดๆ ฝันๆ ตามใจตัวเองได้มากกว่ายุคไหนๆ เพราะว่ายุคนี้ละครกับหนังทำได้ดุเดือดแล้วก็มีความถึงอกถึงใจมาก อะไรที่มันฝังเข้าไปในใจคน ภาพความรุนแรงทั้งทางเรื่องของ ราคะ โทสะ โมหะ ทั้งหลายมันจะถอนได้ยาก หรืออย่างเช่นข่าว แต่ก่อนเวลาเราเรียนคงจำได้นะว่า มักมีการแนะนำให้เด็กๆ ควรดูข่าว ควรสนใจความเคลื่อนไหวของการบ้านการเมือง แต่ปัจจุบันผมว่ามันน่าจะเป็นตรงข้ามนะ ถ้าหากว่าเด็กสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากๆ มันมีอารมณ์ที่จะเห็นผิดเป็นชอบ หรือว่ามีอารมณ์ดื้อด้านได้ อย่างเวลาที่มีการถ่ายทอดสดประชุมสภา หรือว่ามีการถ่ายทอดข่าวที่มีคนถกเถียงกัน แล้วก็ไม่ฟังเหตุฟังผลกัน จะคอแข็งแล้วก็เสียงแข็ง ตั้งตาตั้งตาเอาชนะกันอย่างเดียว ลักษณะที่เป็นภาพเสียง ที่อัดเข้าใส่จิตใจของเด็ก เรานึกไม่ถึงหรอกว่ามีผลอย่างไร

แล้วมากที่สุดเลยก็คือ วิธีที่เราพูดกันเอง ระหว่างพ่อแม่ของเด็กที่คุยกันในบ้าน หรือว่าที่คุยกับเพื่อนบ้าน มันมีผลกับเด็กทั้งนั้นเลย เวลาที่เรานินทาใคร เวลาที่เราว่าร้ายใคร หรือว่าเวลาที่เราพูดถึงใครในทางไม่ดี ในทางเสียหาย มันทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีใครดี ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า ที่เราสอนไปสอนให้เขาดี แต่ไม่มีใครเคยทำตัวอย่างให้เขาเห็นว่าความดีมันเป็นอย่างไร สัมผัสจับต้องได้อย่างไร อันนี้ไม่ได้พูดถึงคุณผู้ถามนะครับ ผมพูดถึงในกรณีทั่วๆ ไปที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำ อันนี้คือสาเหตุ คือปมว่าเหตุใดเด็กสมัยนี้ถึงได้เกิดความก้าวร้าวกันทั่วโลกและถึงขั้นที่เริ่มมีปัญหา อย่างในอเมริกามีปัญหาว่าจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เด็กคว้าปืนของพ่อไปกราดยิงเพื่อนๆ และครูที่โรงเรียนได้ เขาทำกันเป็นประจำทุกปี แล้วอเมริกาก็ซื้อง่ายขายคล่องเลย อาวุธปืน ผมอยากให้มองอย่างนี้ก่อนว่า ปัจจุบันโลกเป็นอย่างนี้ เราต้องยอมรับให้ได้ว่าความจริงก็คือเด็กจะมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวกระด้างกระเดื่อง ดื้อด้าน ไม่ยอมฟังคำสอนของใครเพราะเห็นว่าไม่มีใครดีจริง

สิ่งแรกที่เราจะต้องทำก็คือทำให้เขาเห็นว่ายังมีคนที่ดีจริงๆอยู่ ดีในลักษณะที่เขาจะว่าไม่ได้ ว่าสอนเขาแต่ทำไมเราถึงไม่ทำ ทำไมเราสอนให้เขาอย่าดื้อกับเรา แต่ทำไมเราดื้อกับคนอื่น หรือว่าเถียงกันเองในลักษณะไม่ฟังกัน นี่คือสิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญที่สุดว่าเราทำอย่างไร ถึงจะให้เขาเชื่อว่ายังมีคนที่นำจิตนำใจเขาได้ นำความเชื่อเขาได้

เริ่มต้นจากการตกลงกันก่อนเลยว่า เราจะไม่พูดอะไรที่มันเป็นเรื่องร้ายให้เข้าหูลูก ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่เถียงกันแรงเกินไป ไม่นินทาว่าร้ายใครให้ลูกได้ยิน

จากนั้นก็เริ่มที่จะทำความเข้าใจตัวเองว่า
เวลาที่เราจะพูดกับลูก เรามีอารมณ์อะไรขึ้นมานำหน้า?
ตัวนี้สำคัญมาก!

เพราะคลื่นของความปรารถนา อาจจะเป็นคลื่นความปรารถนาดี แต่คลื่นความปรารถนาดีนั้นรุนแรงจนกระทั่งมีลักษณะเดียวกันกับคลื่นโทสะ เวลาที่เด็กรับอะไรเป็นคลื่นแหลมๆ ออกมาจากตัวเรา ก่อนอื่นเขาจะยกการ์ดขึ้นมาปิดป้องไว้ก่อน ไม่ว่าเราจะมีความปรารถนาดีที่มันจริงขนาดไหนก็ตามนะ เราต้องดูด้วยว่าความปรารถนาดีนั้นมาในรูปของคลื่นความเมตตาที่นุ่มนวล หรือว่าคลื่นของความอยากเอาให้ได้อย่างใจที่มันมีความแหลม ที่มันมีอาการเสียดแทง

จากนั้นการเลือกคำพูด เราต้องทำความเข้าใจ คิดถึงตอนที่เราเป็นเด็ก เราจะไม่ชอบฟังอะไรนานๆ เราจะชอบฟังอะไรแค่สั้นๆ แล้วจำได้ แต่พวกผู้ใหญ่มักจะไม่ใช่อย่างนั้น
เวลาอบรม สั่งสอนหรือว่าตักเตือนลูก จะพูดชักแม่น้ำทั้งห้า จนกระทั่งฟังเหมือนเป็นการพล่าม นี่คือมุมมองของเด็กนะ เขาจะไม่มองว่าเราสอนเขาดีแค่ไหน ให้เหตุผลดีแค่ไหน แต่เขาจะมองว่าเราพล่ามแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง แบบนั้นนะครับ

ถ้าหากว่าเราฝึกนิสัยที่จะอบรมลูก ที่จะตักเตือนลูกได้ด้วยแค่คำสั้นๆ เอาแค่ที่ได้ใจความว่าอย่าทำอย่างนั้นเพราะอะไร อย่าทำอย่างนี้เพราะอะไร มันจะเป็นเวลาที่สั้นเกินกว่าลูกจะมีปฏิกิริยาโต้ตอบออกมาเป็นกำแพงขวาง หรือว่าทำหูทวนลม

แค่สั้นๆ บางทีเขาอาจจะเหมือนกับไม่มีท่าทีสนใจ แต่เขาจะรับฟังนะ แล้วจำ !

ถ้าเราพูดแบบนั้นบ่อยๆ ในลักษณะของการอมรมหรือการตักเตือนที่สั้นได้ใจความ มีความหมาย กระตุ้นให้เกิดการคิดได้ กระตุ้นให้เกิดการรู้สึกว่าตาสว่าง กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกยอมรับได้แบบนี้ ในที่สุดลูกคุณจะค่อยๆเปลี่ยนไป จะค่อยๆ หันมาฟัง หันมาเต็มใจที่จะคุยด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าถึงเวลาที่เขาจนแต้ม ถึงเวลาที่เขาหาทางออกของตัวเองไม่เจอ ไม่รู้จะหันไปพึ่งใคร ในที่สุดเขาอาจจะนึกถึงเรา แล้วก็หันมาถาม หันมาซักไซ้ หันมาระบายความในใจ เพื่อให้เกิดลักษณะของการปรับทุกข์ขึ้นมา ตรงนั้นแหละเราต้องรีบฉวยโอกาสนะครับ

สรุปสั้นๆ ก็คือ ‘สำรวจใจตัวเองว่ามีความนุ่มนวลพอไหม แล้วก็ฝึกที่จะเลือกคำให้สั้นที่สุดกระชับที่สุด’ จนกระทั่งลูกมีแก่ใจ เกิดความมีแก่ใจที่จะรับฟัง ลูกจะคิดถึงเราในเวลาที่เขาคิดไม่ได้ เขาอยากจะได้คำพูดของเราไปทำให้เขาคิดได้ขึ้นมา เรื่องของเด็กเป็นเรื่องที่ยากที่สุดครับ แต่ว่าถ้าเราใจเย็นนิดหนึ่ง บางคนผมเข้าใจนะว่าใจเย็นมานานแล้ว ใจเย็นมาหลายปีแล้ว แต่ก็ไม่เห็นอะไรดีขึ้นสักที ก็อยากจะแนะนำครับว่าลองพูดสั้นๆดู


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น