วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๑๓๑ พูดสวนกลับเวลาโมโห แก้อย่างไร

ถ้าเป็นคนมีโทสะจริต พอมีใครพูดอะไรมาจะตอบกลับเร็วคล้ายลูกบอล เจอเด้งมาก็เด้งกลับทันที พอตามดู แต่ดูไม่ทัน หลุดออกไปก่อนทุกทีค่อยมารู้สึกตัว?

รับฟังทางยูทูบ 
youtu.be/6K6ENZ49d1w


อันนี้ก็ต้องจำเป็นนะครับที่เราจะต้องมาทำสมถะกัน คำว่า "ทำสมถะ" ไม่ใช่นั่งสมาธิ หลับตาอย่างเดียว แต่อยู่ว่างๆก่อนที่จะเกิดความโมโห ที่จะเกิดโทสะ เราควรที่จะหาอะไรยึดเหนี่ยวจิตใจไว้เพื่อที่จะให้มันมีความตั้งมั่นมากขึ้น ไม่ให้มันมีความอ่อนไหว หรือว่ามีอาการดีดตัวรวดเร็วเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถที่จะดูอะไรได้ หรือว่าห้ามใจอะไรได้

แล้วก็สมถะที่พระพุทธเจ้าที่ท่านตรัสแนะไว้ เป็นมาตรฐานสากลเลย ก็คือ ดูลมหายใจนี่แหละ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งหลับตา แล้วก็กำหนดลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบเสมอไป จำไว้นะครับว่า อยู่ในระหว่างวันเนี่ย การที่เราแค่เราสร้างความคุ้นเคยไว้ อยู่ว่างๆ ว่าเราจะดู ว่าเรากำลังหายใจเข้าอยู่หรือกำลังหายใจออกอยู่นะ แล้วก็ดูว่า หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่เนี่ยนะ มันมีลมหายใจที่ไม่เท่ากันอย่างไร เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น เดี๋ยวก็อึดอัด เป็นลมหายใจที่อึดอัดบ้าง เป็นลมหายใจที่มีความสบายบ้าง สังเกตอยู่แค่นี้ล่ะนะ ใจมันจะรู้สึกว่า มีเครื่องผูก มีเครื่องอยู่มีเคยชินอีกแบบหนึ่งที่จะตั้งอยู่กับอะไรที่ไม่เป็นโทษ ที่มันถูกใจ อยู่กับหลัก ให้อยู่กับสิ่งที่มันเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความไม่เที่ยง ไม่ยึดมั่นถือมั่นนะ

การที่เราเห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ ขอให้ทราบเลยว่า นั่นเป็นเครื่องหมาย นั่นเป็นนิมิตหมาย ของการไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะว่า จิตนี่เห็นอะไรไม่เที่ยงบ่อยๆนะครับ การแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงบ่อยๆ มันจะคลาย มันจะกลายมาเป็นผู้ดูโดยไม่ต้องพยายามอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องสั่งตัวเองเลยว่า ต้องถอยออกมา ไม่ต้องมากำกับว่า จงเป็นผู้ดู ผู้รู้ มันจะมีความสามารถของมันเองในการเป็นผู้รู้ ผู้ดูบ่อยๆ นะครับ

ทีนี้ถ้าจิตของเราสร้างความเคยชินอย่างนั้นขึ้นมาได้ เมื่อไหร่ที่มีเสียง หรือ มีภาพใบหน้าคน มากระทบหู กระทบตา เป็นความรู้สึกอยากจะสวน อยากจะโต้ตอบอะไรแรงๆออกไป กลับไป คุณจะรู้สึกขึ้นไปทันทีนะว่า เหมือนกับเราแยกออกมาเป็นผู้รู้สึกถึงความโกรธ รู้สึกถึงอาการอยากสวน บางทีมันสวนกลับไป แต่มันมีจึ๊กนึงอยู่ภายในนะครับว่าอยากสวน ว่านี่เราแสดง ตอนแรกเราจะรู้สึกว่า ตัวเราเป็นผู้แสดงความโกรธออกไป

พอเห็นหลายๆครั้งเข้า ว่าเรามีความโกรธ มีความรู้สึก มีอาการที่อยากจะสวน มีอาการที่เหมือนกับคล้ายๆ ไฟร้อนพวยพุ่ง พุ่งออกไปจากตัวเรา ไปกระแทกคนอื่นเค้า เห็นบ่อยๆจะรู้สึกว่า ตัวเรามันเบาบางลง แต่ว่าอาการพลุ่งพล่าน หรืออาการร้อนแรงที่จะสวนออกไปเป็นปฏิกิริยาที่จะตอบสนองกับสิ่งกระทบที่ไม่น่าจะชอบใจนัก มันดูสักแต่เป็นของมันอย่างนั้น สักแต่เป็นการสวนออกไป สักแต่มีอะไรแรงๆนะ สักแต่มีอะไรพุ่งออกไป สักแต่มีความร้อนพุ่งออกมา แล้วไม่รู้สึกว่า นี่คือตัวเราที่กำลังร้อน นี่คือตัวเราที่กำลังสวนออกไป มันจะมีแต่ตัวหนึ่งที่สักแต่รู้ แล้วก็มีอีกคนหนึ่งที่สวนออกไป

นี่พอถึงขั้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะรู้สึกว่ามันยังเผลอสวนออกไปอยู่นั่นแหละ แต่สวนไปแล้ว เกิดความขี้เกียจขึ้นมากลางคันนะครับ ยังไปไม่ถึงที่หมายดี มันอยากจะถอนตัวกลางคันอยู่ที่กลางทางเนี่ย ยังไปไม่ถึงนะ อยากจะถอยกลับซะงั้น มันคืออาการของใจที่มีความเป็นผู้รู้ มีสติกำกับอยู่ มันจะหน้าตาเป็นอย่างนี้นะ คือ มันยังโกรธเหมือนเดิม แต่มันโกรธแค่ ๕๐% มันจะถอยกลับมาขี้เกียจแล้ว ไม่อยากไปเอาเรื่องแล้ว ไม่อยากที่จะต่อความยาวสาวความยืดแล้ว บางทีปากพูดไป แต่ว่าใจไม่เอาด้วยนะ

ตัวนี้อย่าไปคาดหวัง ห้ามเลยเด็ดขาดว่า อย่าไปคาดหวังว่าฝึกสติแล้ว เจริญสติแล้วจะไม่โกรธเลย คนส่วนใหญ่เข้าใจกันผิดๆว่า การที่เราจะวัดผลว่า สติเจริญไปแค่ไหน ดีไปแค่ไหน เข้าขั้นใดนะครับคือ ต้องไม่โกรธเลย บางคนนี่หน้าเขียว หน้าเหลืองเลย ไปปฏิบัติธรรมมา ดูแช่มชื่น ผู้คนให้คำสรรเสริญว่าดูผ่องแผ้ว ดูมีสง่าราศีนะ ก็เกิดตัวภาพของนักปฏิบัติ ภาพของผู้ที่สูงส่ง แล้วก็มีความรู้สึกว่า ภาพแบบนั้น มัวหมองไม่ได้จะตกต่ำลงไม่ได้ จะโกรธไม่ได้ จะแสดงความฮึดฮัดไม่ได้นะ มีสีหน้าสีตาแบบเดิมๆไม่ได้ จริงๆแล้วนั่นคือ การไปหลอกตัวเอง ตั้งต้นหลอกตัวเองไว้ว่า มันจะไม่เกิดกิเลสอะไรหลอกตัวเองขึ้นมาอีก ตราบใดยังไม่ใช่พระอรหันต์ ตราบนั้นกิเลสมันยังเกิดได้นะ ปล่อยให้มันเกิด แต่ว่าเกิดอย่างรู้ และเกิดอย่างดู เกิดอย่างเห็นนะครับ อย่าไปคาดคั้นกับตัวเองเป็นอันขาดว่า จะไม่ให้เกิดกิเลสอะไรขึ้น

แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ตรัสนะครับว่า ถ้าจะดูเรื่องของจิต ถ้าจะดูเรื่องของใจ ท่านไม่ได้ให้ดูไปที่สภาวะของใจตรงๆ แต่ท่านให้ดูที่อาการที่เกิดขึ้นที่ประกอบของใจ ณ ขณะจิตหนึ่งๆ จิตมีราคะ ก็รู้ว่า ราคะมีอยู่ในจิต มีโทสะ ก็รู้ว่า โทสะมีอยู่ในจิต รู้อย่างนั้นแล้ว รู้ว่า โทสะหายไป รู้ว่า ราคะหายไป พอหายไป สิ่งที่เหลือ ก็คือ จิตที่ไม่มีราคะ จิตที่ไม่มีโทสะ จะได้เกิดข้อเปรียบเทียบกันได้ว่า จิตมีความแตกต่าง มีความแปรปรวนไปนะครับ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่เหมือนกันอย่างไร มันต่างกันอย่างไรนะครับ ให้ดูโดยความเป็นอย่างนั้น

ใช้ประโยชน์จากกิเลส อย่าไปห้ามกิเลสไม่ให้เกิด
นะ เพราะพอห้ามแล้ว มันก็กดไว้เฉยๆ มันไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย หน้าเขียวหน้าเหลืองกันเปล่าๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น