วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๘๑ จิตโหดเหี้ยม กรรม หรือสื่อกระตุ้น?

ถาม :  ทำไมผมถึงมีความคิดอยากฆ่าคนอยู่บ่อยๆ ครับ เช่น เอามีดไปแทงให้ตาย หรือซื้อปืนไปยิงให้ตาย มีแต่ความคิดรุนแรงอยู่ในหัว หายไปสักพักก็กลับมาอีก เป็นคนที่มีความจำดีมาก ทำให้ลืมเรื่องอาฆาตพยาบาทได้ยากมากๆ ถ้าคู่กรณียังไม่โดนล้างแค้นหรือได้รับเคราะห์กรรม ไม่มีทางเลยที่ผมจะลืม ทำยังไงดีครับ ฟังธรรมไปสักพักความคิดเดิมๆ ก็จะกลับมาอีก ผมไปทำกรรมอะไรไว้จึงเป็นแบบนี้ ตอนเด็กๆ โดนรังแกบ่อย คิดอยู่ว่าถ้าเจอจะชกให้หน้าคว่ำเลย แล้วกระทืบลงไปที่หน้าซ้ำๆ ทั้งที่มั่นใจว่าผมเป็นคนที่ไม่เคยหาเรื่องใครก่อน แต่ทำไมต้องเจอพวกงี่เง่าอยู่ตลอดเวลา ผมไปทำกรรมอะไรมาครับ ทุกวันนี้พยายามอยู่อย่างสันโดษ ลดการติดต่อกับผู้คน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเวรกรรมเพิ่ม และหลีกเลี่ยงการเจอวิบากด้วย 


รับฟังทางยูทูป
http://youtu.be/jVgvSMqlVvo

ดังตฤณ: 
วิบากหลีกเลี่ยงไม่ได้นะ  คือเราแค่อยู่ในสถานที่ที่จะทำให้มันทุเลาลงได้ มันเป็นไปได้หรือไม่ก็ทำใจให้ไม่เป็นเครื่องรับวิบากคือ ภายนอกจะทุกข์ทางกายอะไรแค่ไหน แต่ทางใจมันมีความนุ่มนวลอยู่ มีความสุขอยู่ของมันอยู่ปกติ มีความสุขอยู่เหนือกรรมวิบากที่จะให้ทุกข์ อันนี้เป็นไปได้ แต่ว่าที่จะไม่เจอเลยมันเป็นไปไม่ได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ต่อให้มุดน้ำดำดินหรือบินขึ้นไปบนฟ้า
ไม่มีใคร ไม่มีสัตว์ไหน
ที่สามารถบินหนีกรรมตัวเองได้
มุดน้ำดำดินหนีกรรมตัวเองได้
ปลาก็ได้อัตภาพมาจากกรรม นกก็ได้อัตภาพมาจากกรรม ยังไงก็หนีไม่พ้น นกได้อัตภาพมาจากกรรม ได้ปีกมาจากกรรม ยังบินหนีกรรมตัวเองไม่พ้น ยังไงก็ไม่มีทางที่จะหลุดออกจากปีกของตัวเอง ปีกนั่นแหละเป็นกรงขังแบบหนึ่งของนก และเกล็ดแบบปลา ครีบแบบปลาก็เป็นกรงขังแบบหนึ่งของมัน เป็นรูปแบบการแสดงตัวของกรรมวิบากทั้งสิ้น ไม่มีอัตภาพไหนเลยที่แสดงออกถึงความเป็นอิสระ มีแต่นิพพานเท่านั้นที่เป็นอิสระจากกรรมวิบากอย่างแท้จริง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เอาล่ะมาถึงตัวคำถามนะครับ ผมอยากจะให้ความสำคัญกับคำถามข้อนี้ เพราะว่าช่วงหลังๆ ได้ยินบ่อย แม้แต่บางคนที่ปฏิบัติธรรม เจริญสติ แล้วก็อยู่กับกายใจตัวเองเป็น บางคนก็เรียกว่าถือศีลแปดเป็นประจำ แต่ก็ยังบ่นว่า เออ มันแปลกใจจริงๆ ทำไมเดี๋ยวนี้เดินไปไหนมาไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจอคนชั่วๆ รู้เลยว่าชั่วแน่ๆ มันอยากฆ่า อยากจะเอาอะไรมาทำทารุณกรรมให้ได้รับความสาสม

อย่างหนึ่งที่ตอบได้ทันทีเลยก็คือ ตรงนี้ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีจิตใจโหดเหี้ยมอยู่ในส่วนลึกเสมอไป คนยุคเรามีโอกาสที่จะได้ดูได้ฟังอะไรที่โหดเหี้ยมบ่อยๆ เรานึกไม่ถึงหรอก บางทีนึกว่าเป็นเรื่องเล่นๆ แต่เรื่องเล่นๆ มันเป็นการปรุงแต่งของจิตจริงๆ ก็ทำให้เกิดอาการทางใจได้จริงๆ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังในทางดีก่อน จะได้ฟังเข้าใจง่าย

ถ้าเราเข้าไปในกลุ่มคนที่เขาสวดมนต์กันเป็นประจำ ต่อให้เราไม่ชอบสวดมนต์ แต่ใจก็จะนุ่มนวลลง เพราะเสียงสวดมนต์เข้าไปอยู่ในหัว เข้าไปอยู่ในความทรงจำ บางทีก็เหมือนกับมีเสียงสวดมนต์ขึ้นมาในหัว ขึ้นมาได้เฉยๆ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้สวดหรอก แค่ฟังเขาเฉยๆ อยู่ใกล้ที่ที่สวดมนต์ เขามีการสวดมนต์กันเป็นประจำ นี่เรียกว่าเป็น กุศลสัญญาไปปรุงแต่งให้จิตเกิดความเป็นกุศล

กุศลสัญญา หมายถึง ความจำได้หมายรู้และเป็นความจำได้หมายรู้ในทางที่ดี ในทางที่สว่าง ในทางที่เป็นมงคล ผลของการได้มีกุศลสัญญาไว้ก่อนก็คือ ได้มีใจที่เกิดความรู้สึกที่ดี เกิดการมองในด้านดี เกิดความสว่างพอที่จะนึกอะไรดีๆ ขึ้นมา นี่คือตัวอย่างด้านดี

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่ถ้าหากว่าเราอยู่ในยุคที่ เสียงที่เป็นกุศลไม่ค่อยมี มีแต่เสียงอกุศล หรือไม่ เข้ามาในเฟซบุ๊ก (Facebook) ในทวิตเตอร์ (Twitter) นี่นะ ต่อให้เป็นพวกใฝ่ธรรม ชอบธรรมะ จะต้องมีลิงก์ มีคอนเน็กชั่นกับคนที่ยังเกลือกกลั้วกับโลกๆ อยู่

แม้แต่คนธรรมะจ๋าๆ นี่แหละ เวลาจะแสดงความรุนแรงขึ้นมา ก็ตัวดีเลย บางทีมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ก็ยังไม่ใช่ผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสอะไร ถ้าหากว่าเกิดเรื่องกระทบกระแทกจิตใจ ก็เกิดความโกรธแล้วระบายออกด้วยคำพูดที่รุนแรง

ในเฟซบุ๊ก ในทวิตเตอร์
เป็นตัวเปิดโอกาสอย่างดีเลย
ให้ระบายเต็มที่ คิดอย่างไรพูดอย่างนั้น
และมีคนรับฟังด้วย มีแฟนๆ ติดตามอยู่ด้วย

หรือไม่ก็ตั้งใจพักผ่อน ไปดูหนัง จะเช่าวิดีโอมาหรือไปดูที่โรงหนังก็ตาม ตอนนี้ลองถามดูเถอะ พอเทคโนโลยีเกี่ยวกับเอฟเฟ็กต์ (effect) เกี่ยวกับเรื่องของซาวน์แทร็ก (soundtrack) อะไรต่างๆ ที่มันวิลิศมาหรา ดูน่าตื่นตาตื่นใจ น่าตื่นเต้น มันพัฒนาขึ้นมามากๆ แล้ว คนอยากจะเอาไปใช้ทำอะไร ทำหนังประเภทไหน หนังประเภทโครมคราม หนังประเภทที่มีความสมจริง ในทางโหดเหี้ยม ไม่รู้จะเอาไปปรุงแต่งเป็นสวรรค์วิมานที่สงบเรียบร้อยและจะโชว์ศักยภาพของเอฟเฟ็กต์ได้อย่างไร มันก็ต้องออกไปในแนวตูมตามนั่นแหละ ของเหล่านี้แม้กระทั่งเวลาพักผ่อน เราก็รับภาพและเสียงที่ไม่เป็นมงคลเข้ามา มันมีความดุเดือด มีความดุดัน แล้วที่สำคัญ อันนี้เป็นเรื่องเล่นๆ นะ เรื่องเกมเรื่องหนังอะไรนี่ เราคิดว่าเป็น "เรื่องเล่นๆ"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่ที่เป็น "เรื่องจริงๆ" และจิตใจของมนุษย์ถูกปรุงแต่งให้เห็นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ยอมไม่ได้ อย่างเรื่องการเมือง อย่างเรื่องการปกครอง มีความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังมากว่ายอมตาย ยอมตายได้ แต่ไม่ยอมให้คนที่เราไม่ชอบได้มาครองเมือง อะไรแบบนี้เนี่ยนะ คือผมไม่ได้พูดเรื่องฝ่ายไหนนะ อันนี้ขอออกตัวไว้ก่อนว่าผมเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างใครทั้งสิ้น แต่จะบอกว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ข้างไหน คุณจะรับเชื้อความรุนแรงเข้ามาในจิตใจ

ยิ่งไปฟังเขาพูดมา ไม่ว่าจะฝ่ายไหนสีไหนก็ตาม
จะใช้วิธีเดียวกันคือ
ป้อนความรุนแรงเข้ามาในจิตใจของเรา
ให้เราเห็นการกำจัดคนชั่วออกจากแผ่นดิน
เป็นเรื่องชอบธรรม เป็นเรื่องถูกต้อง
!

คือจะชั่วไม่ชั่วแค่ไหนอะไรก็แล้วแต่ ถ้าอยู่คนละข้างในทางการเมืองจำเป็นต้องทำให้มีความรู้สึกว่าชั่วไว้ก่อน ยอมไม่ได้ไว้ก่อน อภัยไม่ได้ไว้ก่อน นี่คือธรรมชาติของการเมือง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

พอเราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ไม่ว่าจะพักผ่อนก็เจอความรุนแรง ไม่ว่าจะเจอเรื่องจริงจัง อย่างเรื่องการบ้านการเมือง ก็พบแต่ความรุนแรงเข้าไปอีก นี่ไม่นับที่อยู่ในบ้านแล้วต้องทะเลาะกัน หรือว่าไปที่ที่ทำงาน แล้วมีการขู่มีการอาฆาต มีการบอกว่าเดี๋ยวจะโดนไล่ออก เดี๋ยวจะประท้วง เดี๋ยวจะอะไรโน่นนี่นั่น เยอะไปหมด
จิตใจของเราก็สะสมอกุศลสัญญาเข้ามาไว้มากๆ ก็เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความคิด เกิดภาพความรุนแรงขึ้นในใจได้ไม่เลิก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณเจ้าของคำถามนี้ บอกว่าตอนเด็กๆ โดนรังแกบ่อย นี่เป็นพื้นฐานอยู่แล้วที่ไปสั่งสมอกุศลสัญญาไว้ แล้วก็มีความเก็บกด มีความอาฆาต มีความยึดมั่นถือมั่นในความพยาบาทค่อนข้างแรง พอมาเจอกับโลกแบบนี้ในตอนโต ไม่ว่าจะพักผ่อน ไม่ว่าจะไปดูข่าวเอาจริงเอาจัง เจอแต่ความรุนแรงไปหมด ก็เป็นธรรมดาครับที่จิตของเราจะถูกปรุงแต่งให้มีความอยากฆ่าฟันมากขึ้นทุกที

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถามว่าไปทำกรรมอะไรมา ?

แบ่งเป็นง่ายๆ เลย ให้เห็นภาพง่ายๆ สองภาพคือ
ภาพของโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนกัน กับ
โลกที่มีการเบียดเบียนกัน

ถ้าถามถึงเรื่องกรรมที่ทำให้มาอยู่ในโลกที่มีการเบียดเบียนกัน ก็แน่นอน
เราคงต้องเคยเบียดเบียนใครมาแน่ๆ ไม่ใช่ว่าเราอยู่ในโลกที่ไม่มีการเบียดเบียนแล้วจะถูกกรรมจัดสรรให้มาอยู่ในโลกที่มีการเบียดเบียนได้ มันไม่สอดคล้องกัน  ไม่เป็นเหตุเป็นผลกัน เอาล่ะ เราเคยไปเบียดเบียนคนอื่นเขาไว้ แล้วชาตินี้ตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ถูกรังแก โดนโยนมาอยู่ในจุดที่จะโดนรังแกได้ โดนโยนมาในจุดที่จะทำให้มีความยึดมั่นถือมั่นในความเจ็บใจ ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องการมีเรื่องกับผู้คนได้มาก

แล้วแถมมาโตขึ้นในยุคไอทีที่ทั้งการพักผ่อนและทั้งข่าวสารจริงจังเต็มไปด้วยการกระทำรุนแรงต่อกัน  ก็เลยโน้มเอียงที่จะผิดศีลข้อหนึ่งได้ง่ายๆ เราสามารถที่จะคาดเดาได้เลยว่า ถ้าหากมีเรื่องรุนแรงจริงๆ ที่ทำให้เราเจ็บใจจนห้ามใจไม่อยู่ หรือบันดาลโทสะชั่ววูบขึ้นมากลางถนน มีการปาดหน้ากัน มีการหันหน้ามาด่ากัน ด้วยเหตุที่ว่าฉันมาก่อนแกมาทีหลัง แกได้ไปก่อน อะไรแบบนี้ มันพร้อมที่จะมีเรื่องมีราว

ตอนนี้อากาศร้อนด้วย จิตก็ถูกปรุงแต่งด้วยอกุศลประการต่างๆ ไม่เลิก

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถามว่า เราจะเอาตัวรอดจากภาวะอกุศลแบบนี้ที่มีอยู่แวดล้อมตัวเราได้อย่างไร?

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า มีทางเดียวคือ
ต้องทำจิตให้มีความเมตตา
ทำใจของเราให้เป็นทะเลของความเมตตา


ผมใช้คำว่าทะเลเลย !
เพราะว่าถ้าเอาแค่น้ำบ่อหรือเอาแค่น้ำแก้ว มันน้อยเกินไป เอาไม่อยู่ เพื่อที่จะดับไฟที่เหมือนกับไฟไหม้ป่ารอบๆ ตัวเรา น้ำต้องมีปริมาณมากเกินกว่าไฟ ซึ่งเราก็คิดเป็นทะเลเลยก็แล้วกัน ถ้าน้ำทะเล ไฟป่าที่ไหนก็ดับได้

วิธีทำให้จิตของเราเป็นน้ำทะเลของความเมตตา
ก็คือ ต้องแผ่เมตตาให้เป็น

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
อาศัยความโกรธ อาศัยความพยาบาทนั่นแหละ
เป็นตัวฝึก เป็นเครื่องฝึก
อย่าไปอาศัยอะไรที่มันเป็นความสุข
อะไรที่เป็นความสงบ เฉยๆ บางทีมันใช้การไม่ได้ถนัดถนี่ z

หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง !

ท่านตรัสว่า เมื่อเกิดความโกรธ เมื่อเกิดความพยาบาท
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเรารู้ตัว
ว่ามีอาการผูกใจเจ็บอยู่กับใคร
ให้ใช้เขานั้นแหละเป็นเครื่องฝึกเจริญเมตตา !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

วิธีก็คือ เมื่อเกิดความพยาบาทขึ้น เมื่อเกิดความโกรธ เมื่อเกิดความเกลียดขึ้น

"ยอมรับตามจริง" ไป
ว่าเกิดความโกรธ เกิดความเกลียด
แล้วพิจารณาตามจริงว่า
ความรู้สึกในขณะนี้มันอึดอัด คัดแน่น
มันรู้สึกจุกอก รู้สึกมืด รู้สึกตัน รู้สึกทึบ
ความรู้สึกมันจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่
มองดูตามจริง ยอมรับตามจริง
เพื่อให้เกิดความสามารถที่จะเห็นว่า

สิ่งนี้เป็นโทษ สิ่งนี้มันเหมือนโรค
สิ่งนี้เป็นความอึดอัด ไม่ต่างจากตอนที่เราป่วยไข้ !

เวลาเราป่วยไข้เรากระสับกระส่าย เราอึดอัด แต่รู้ว่านั่นเป็นเชื้อโรค ก็พยายามเอาชนะด้วยยาใช่ไหม แต่พอมีความอึดอัด มีความคัดแน่น ด้วยความโกรธด้วยความพยาบาท เรากลับเห็นว่านั่นไม่ใช่โรค กลับเห็นว่านั่นคือสิ่งที่ต้องเอาคืนด้วยวิธีแก้แค้น จะถอนความพยาบาทได้ ต้องแก้แค้นให้ได้ถึงจะสาสม ถึงจะหายแค้น

ความเชื่อที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณกิเลส มันพาเราไปสู่ที่ต่ำ !

พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า จิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ พร้อมที่จะไหลลงต่ำ ก็เพราะอย่างนี้แหละ เราต้องพิจารณาตามหลักของพระพุทธศาสนาที่บอกไว้ว่า ความโกรธความพยาบาทนี่ถ้าปล่อยให้ครอบงำจิตใจแล้ว พยากรณ์ได้เลยว่ามีที่ต่ำเป็นที่หมาย มีที่ลาดลงต่ำเป็นที่หมาย ไม่ใช่ที่สูงแน่นอน เมื่อพิจารณาอย่างนี้ ทั้งปัจจุบันก็รู้สึกอึดอัด ทั้งอนาคตก็มีแต่นรกเป็นที่ไป มีความเป็นสัตว์เดรัจฉานเป็นที่ไป หรือมีความเป็นเปรตเป็นที่ไป อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าความโกรธเป็นโทษ พยาบาทเป็นโทษ หลังจากยอมรับตามจริงไปแล้ว อาจจะต้องฟังหลายๆ ครั้งหน่อย ลองย้อนกลับไปฟังนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ขั้นแรก เรายอมรับตามจริงก่อนว่า เกิดความโกรธขึ้นมา เกิดความเกลียดขึ้นมา แล้วเห็นลักษณะของความโกรธของความเกลียดนั้นว่าเป็นทุกข์อย่างไร มีความอึดอัดอย่างไร จากนั้นก็เห็นโทษของมันด้วยว่า นอกจากจะมีความอึดอัดในปัจจุบัน แล้วยังมีทุคติเป็นที่ไปรออยู่ข้างหน้า จากนั้นจะได้เกิดความรู้สึกมีแก่ใจที่จะเห็นว่านี่คือโทษ ไม่ใช่เป็นคุณ ไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะปล่อยให้ครอบงำจิตใจหรือว่าร่างกายของเราอยู่ต่อไป ไม่ต่างกับเป็นโรคทางใจ เราก็จะเห็นขึ้นมาทันที

คือหลังจากที่พิจารณาเห็นโทษ รู้สึกว่ามันมีโทษจริงๆ
แล้ว ใจจะมีแก่ใจที่จะปล่อยมันทิ้ง
ไม่ต่างกับคนที่รู้ตัวว่าป่วย เป็นโรค
จะไม่หวงโรค จะไม่หวงเชื้อโรค
อยากจะให้มันหาย อยากจะเอายามาแก้

แต่ทีนี้โรคทางใจไม่มียาวิเศษจากภายนอกมาแก้ได้ ต้องอาศัยกำลังใจของตัวเองเท่านั้นที่จะเอาชนะ และวิธีง่ายๆ เลยก็คือ พิจารณาให้เห็นโทษนั่นแหละ เห็นเข้าไปในความรู้สึกในปัจจุบัน พอใจมันเห็นตัวเองกำลังดิ้นเร่า  กระสับกระส่ายอยู่ เออ มันจะมาทุกข์ทำบ้าอะไร พอเกิดปิ๊งขึ้นมาแค่นี้นะ มันมีแก่ใจที่จะวางแล้ว พอมีแก่ใจที่จะวางได้ คุณจะรู้สึกถึงความสุข ความนุ่มหัวอก แทนที่ความทึบ กลายเป็นความโล่ง กลายเป็นความโปร่งขึ้นมาแทน ราวกลับหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่เราก็จะเห็นด้วยการยอมรับตามจริงอีกนั่นแหละว่า เมื่อปล่อยวาง เมื่อสามารถที่จะปล่อยความเกลียด ความโกรธหรือความพยาบาททิ้งได้ เดี๋ยวมันก็ย้อนกลับมาอีก วกกลับมาอีก กลับมาหาเราอีก กลับมาบ่อยๆ ได้ด้วย วันหนึ่งนี่ปล่อยได้สิบครั้ง มันย้อนกลับมายี่สิบครั้ง

ทุกครั้งก็ทำใจไว้ล่วงหน้าว่า
นี่ไม่ใช่ความล้มเหลวที่มันย้อนกลับมาอีก
แต่เป็น อนัตตา เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
แต่เราสามารถฝึกหัดได้
ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตวิญญาณของตัวเองได้


เราจะไม่ปล่อยให้ความโกรธความเกลียดมาครอบงำ จนถึงขั้นที่วันหนึ่งเราหลุด เราลงมือฆ่าคนจริงๆ

เราจะใช้ความโกรธความเกลียด
เป็นตัวทำให้จิตวิญญาณของเราสูงส่งขึ้นเกินมนุษย์ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เกินมนุษย์อย่างไร?
เกินด้วยการที่ว่า เมื่อเกิดความโกรธ เมื่อเกิดความเกลียด
ทุกครั้งมันจะมีความสามารถที่จะเจริญสติ
เห็นทุกข์เห็นโทษของความโกรธ
เห็นทุกข์เห็นโทษของความเกลียด
กระทั่งโล่งหัวอกมีความสุขให้ได้ทุกครั้ง


พอโล่งหัวอกได้ทุกครั้ง คุณจะมีความรู้สึกว่าใจ จากเดิมที่หวั่นไหวมาก มีความปั่นป่วนมาก ค่อยๆ มีความมั่นคงขึ้นมา มั่นคงอยู่ในอะไร มั่นคงอยู่ในความปลอดโปร่ง เหมือนกับความปลอดโปร่ง เหมือนอากาศโปร่งที่มีความนิ่ง เหมือนลมสงบ ไม่มีอะไรพัด ไม่มีอะไรไหวติง มีแต่ความสดชื่น มีแต่ความสบาย และเมื่อเกิดความตั้งมั่น คุณจะรู้สึกว่า ใจมันเป็นสมาธิขึ้นอย่างน่าแปลกเลย

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ตรงนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านให้อาศัยความตั้งมั่นของความโล่งความสุข ความโล่งหัวอกเป็นตัวตั้งต้นของ การแผ่เมตตา

คุณจะรู้สึกว่า ถ้าหัวอกโล่ง
มันมีความว่าง ค่อยๆ แผ่ ค่อยๆ ขยายออกไป
อาการแบบนั้นแหละ คือ อาการของเมตตา

คือเรามีความรู้สึกเป็นสุข คล้ายๆ ว่าใจปลอดโปร่ง มันก็กว้างขวางขึ้น ค่อยๆ ขยายขอบเขตออกไป โดยธรรมชาติเราจะอยากให้ตัวเองมีความสุขไม่พอนะ อยากให้คนอื่นที่อยู่รอบข้างพลอยมีความสุขไปด้วย

ลองสังเกตดูเถิด ตอนที่คุณไปทำบุญมา หรือว่ากำลังมีความสดชื่นมากๆ มีความเบิกบานมากๆ มันอยากจะแจกเงินให้ขอทาน อยากจะทำบุญ อยากจะพูดอะไรดีๆ ให้คนอื่นเขาพลอยมีความรู้สึกเป็นสุข


นั่นแหละ จิตใจที่กำลังแผ่เมตตาอยู่
คือตัวเองมีสุข
แล้วอยากให้คนอื่นเขาพลอยมีสุขตามไปด้วย


แต่แทนที่เราจะต้องรอเหตุการณ์ภายนอกดีๆ เราสร้างเหตุการณ์ดีๆ ขึ้นมาจากเหตุการณ์ร้ายๆ เสียเลย มีเรื่องกระทบให้โกรธปุ๊ป มีใครให้เกลียดปั๊บ สามารถที่จะมองเข้ามาเห็นความอึดอัด เห็นความทุกข์ เห็นความเร่าร้อนกระสับการะส่ายทางใจ แล้วเห็นว่านั่นเป็นทุกข์ ว่านั่นเป็นโทษ ไม่ต่างจากโรคภัยไข้เจ็บ มีแก่ใจทุกครั้งที่จะทิ้งที่จะถอดออกไปจากใจ

พอมีแก่ใจที่จะถอดออกไปทุกครั้ง มันก็รู้สึกว่าใจเบาๆๆๆๆ ลงไป แล้วก็ค่อยๆ ขยายขอบเขตความเบานั้นความโล่งนั้น กลายเป็นจิตอีกแบบหนึ่งที่มีความตั้งมั่นอยู่ในกุศล จิตอีกแบบหนึ่งที่มีความตั้งมั่นอยู่ในความสุข คนมีเมตตาเป็นคนที่มีความสุข ชีวิตไม่มีความกระสับกระส่าย ชีวิตไม่กลัวตาย ใจที่มีเมตตาอยู่ ใจที่เป็นกุศลสว่างอยู่ มันบอกตัวเองได้ตลอดเวลาออกมาจากส่วนลึกเลยว่า ตายเมื่อไรสบายเมื่อนั้น

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ส่วนใจที่มีแต่ความผูกพยาบาท ใจที่มีแต่ความอาฆาตมาดร้าย นึกอยากฆ่านึกอยากฟัน มันจะกลัวตาย อยากให้คนอื่นตายนะ แต่ตัวน่ะกลัวตาย ที่คุยว่าฉันไม่กลัวตาย มันยังไม่เคยอยู่ใกล้ความตายจริงๆ อยู่ที่ปลอดภัย อยู่ในที่ที่เซฟ (safe) รู้สึกว่าจะไม่ตายเดี๋ยวนี้ เลยกล้าประกาศว่าไม่กลัว แต่ลองดูเถิดถ้าเราเป็นพวกที่มีความพยาบาทมากๆ มีความคั่งแค้นอัดแน่นในอกมากๆ นี่นะ พอจวนแบบเข้าด้ายเข้าเข็มหรือเห็นอุบัติเหตุอยู่ตรงหน้า จะรู้สึกเลย กลัวมาก กลัวแบบขนหัวลุกเลย กลัวแบบจับจิตจับใจ อยากดิ้นหนีทุรนทุราย เพราะว่า จิตมีสัญชาตญาณบอกตัวเองอยู่ !

ถ้าตายทั้งใจกำลังมืดๆ อยู่ มันไม่ไปดีหรอก
ถ้าไม่นรกก็เดรัจฉาน
ถ้าไม่เดรัจฉานอย่างดีก็เป็นเปรต
อย่างใดอย่างหนึ่ง !

ทางพุทธเราจำแนกเอาไว้ โทษทัณฑ์ที่รุนแรงที่สุดก็คือนรก ไม่มีความสุขเลย มีแต่ความแผดเผา ที่ดีกว่านรกขึ้นมาก็คือความเป็นเดรัจฉาน มีแต่ความเน่าเหม็น และที่ดีกว่านั้นขึ้นมาก็คือเป็นเปรต ลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวสุขบ้างเดี๋ยวทุกข์บ้าง เปรตบางตัวก็หอมสะอาดนะ มีวิมานของตัวเองด้วย แต่ว่าต้องเสวยทุกข์เสวยโทษอย่างรุนแรง ด้วยกรรมบางอย่าง ด้วยบาปบางอย่าง

เราสามารถจะพลัดไปอยู่ในสามระดับนี้
นรก เดรัจฉาน หรือว่าเปรต
ก็ด้วยอะไรแบบนี้แหละ อะไรมืดๆ ไม่ใช่อะไรที่ไกลตัวเลย
โกรธเมื่อไร เกลียดเมื่อไร
นั่นแหละ ประตูของนรก
นั่นแหละ ประตูของเดรัจฉาน
นั่นแหละ ประตูของเปรต

ทันทีที่เกิดความมืด เกิดความอึดอัด เกิดความคัดแน่นจากความแค้น จากความอาฆาต หรือว่าจากความอยากจะไปฆ่าฟันคนอื่น บอกตัวเองได้เลย นี่ประตูนรกเปิดอ้าแล้ว

ถ้าไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ ก็มีกำลังใจแค่เห็นก็แล้วกันว่ามันเหมือนโรค และเป็นต้นเหตุของโรคจริงๆ เขาวิเคราะห์กัน เขาวิจัยกันมาไม่รู้กี่สิบปีบอกว่า คนที่โกรธ คนที่มักโกรธ คนที่โกรธง่ายหายยากเป็นที่มาของโรคสารพัดเลย โรคทางจิต โรคทางกาย โรคหัวใจ โรคเครียด โรคเส้นโลหิตในสมองแตก อะไรเนี่ย ส่วนใหญ่พวกขี้โกรธนี่แหละ

พวกมักโกรธ โกรธแล้วลืมไม่ได้ มันเป็นโรคจริงๆ
เป็นเหตุของโรคที่ร้ายแรงที่สุดจริงๆ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เอาล่ะวันนี้ก็พูดเรื่องความโกรธเต็มๆ เลย อย่างที่เกริ่นแล้วว่า อยากให้เวลานิดหนึ่ง เพราะช่วงนี้มีคนถาม มันเป็นปัญหาคาใจที่น่ากลัวของโลกวันนี้จริงๆ และไม่ใช่คุณคนเดียว คุณไม่ได้โดดเดี่ยวนะที่เหมือนกับมีภาพความรุนแรงในหัว อยากฆ่าคน อยากระบายความคั่งแค้นออกมาด้วยการกระทำที่รุนแรง นับวันมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ที่เราเห็นข่าวน่าเศร้าทั้งหลายที่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ ข่าวหน้าหนึ่ง ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ มันก็คือการกระตุ้นอะไรทำนองนี้นี่แหละ บางคนก็ไม่ได้มีจิตใจที่โหดร้ายเลย จิตใจดีด้วยซ้ำ แต่ว่าก็เจอความบีบคั้น


ราตรีสวัสดิ์ครับ ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น