วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๔.๗๔ ดื้อรั้น ไม่เชื่อฟัง จะแก้อย่างไร?

ถาม :  เป็นคนดื้อมาก แม้สมองเข้าใจธรรมะครูบาอาจารย์ แต่จิตก็ยังไม่เชื่อฟัง จะทำอย่างไรดี?

รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/xSbu6n2adjU


ดังตฤณ: 
ปัจจุบันนี้ คุณก็อยู่บนเส้นทางของคนที่พัฒนาตัวเอง
แล้วก็พร้อมที่จะดื้อน้อยลงแล้ว
เพราะว่าคำถามนี้บอกอยู่ในตัวของมันเองหลายประการ
คือ คุณมีใจที่อยากจะดื้อน้อยลง
รู้ว่าคำสอนของครูบาอาจารย์ดี
รู้ว่าใจของตัวเองดื้อแพ่งแข็งขืนไม่ยอม
ขอให้ทราบว่าคำถามที่ตั้งใจถามนี้
ก็เพราะว่าอยากที่จะพัฒนาตัวเอง
อยากที่จะหัวอ่อนว่าง่าย
หมายถึง ว่าง่ายในทางธรรม
ว่าง่ายในทางที่จะสว่างขึ้น
และหัวอ่อนให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หัวอ่อนให้กับครูบาอาจารย์ที่เราเคารพรัก
มันเป็นเส้นทางของคนที่กำลังจะดื้อน้อยลงอยู่แล้ว
ไม่ต้องเป็นห่วง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ที่ผมบอกว่าเป็นเส้นทางของคนที่กำลังจะดื้อน้อยลง
เพราะว่าการที่คนๆหนึ่ง
ที่มีความดื้อมากๆ มีความรั้นมากๆ
ไม่มีทางเลยที่จะใช้อุบายใดอุบายหนึ่ง
หรือว่าใช้คำ ใช้โวหาร
ใช้อะไรที่มันเป็นของแหลมทิ่มโป๊ะเดียวแตก
อาการดื้อรั้น
มันไม่ใช่สิ่งที่จะอ่อนลงได้จากเหตุปัจจัยภายนอก
แต่ว่าจะต้องอ่อนกำลังลง ละลายลง
ด้วยความมีปัญญาจากภายในเท่านั้น
และปัจจุบันนี้ ปัญญาที่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
ก็คือมีความต้องการที่จะดื้อน้อยลง
ไม่ใช่สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นเองได้ลอยๆ
ไม่ใช่สิ่งที่มันเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ
แต่ต้องมีเหตุปัจจัยผลักดัน
ให้เห็นทุกข์เห็นโทษจากความดื้อรั้น

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

หลายครั้งที่ผ่านมา
เราอาจจะเห็นโทษของอาการดื้อรั้น
ของอาการไม่ฟังครูบาอาจารย์
หรือว่าไม่ยอมก้มหัวให้ใครๆ มาบ้างแล้ว
และก็ความทุกข์มันได้สอนเราว่า
ดื้อไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย
แต่ตัวใจที่มันถูกปรุงแต่งด้วยนิสัย
หรือความเคยชินที่จะรั้น
ที่จะตั้งกำแพงขวางความเจริญ
ให้กับตัวเองมันยังอยู่

เหมือนกับคนที่รู้แล้วแหละว่าตัวเองถูกขังคุก
เหมือนกับคนๆหนึ่งที่เริ่มตาสว่าง
เห็นแล้วแหละว่าตัวเองอยู่ในที่มืด
แต่ว่าความมืดมันยังไม่หายไป
เพราะว่าแสงสว่างมันยังเข้ามาไม่พอ
 หรือว่าเราเห็นอยู่แล้วแหละว่า
กำแพงมันกั้นเราจากโลกภายนอก
ที่มันสว่างกว่านี้ ที่มันดีกว่านี้
ที่มันมีความเจริญมากกว่านี้
แต่เรายังไม่มีกำลังมากพอที่จะปีนออกไป

อย่างไรก็ตาม
เราคิดไว้แล้วว่าเดี๋ยวจะปีนออกไป
หรือจะต้องทำลายกำแพงให้ได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

วิธีที่จะทำลายกำแพงความดื้อ
ง่ายๆที่สุดเลย
พอเรามีความต้องการที่อ่อนลงแล้ว
ทุกครั้งที่เกิดความดื้อ
เราเห็นให้ชัดเลยว่า
มันจะมีกำแพงอัตตา กำแพงทิฐิมานะ
ความรู้สึกไม่อยากก้มให้ใคร
ไม่อยากอ่อนให้ใครปรากฏขึ้นในใจ

มันจะเหมือนกับมีอาการตั้งท่า
มีอาการแบบที่งูมันชูคอขึ้นฟ่อๆ
คือชูขึ้นไว้ก่อนโดยอัตโนมัติด้วยนิสัย
ด้วยความเคยชินที่สั่งสมมาว่า
อะไรเข้ามาใกล้จะต้องระแวงภัยไว้ก่อน
หรือว่าจะต้องป้องกันตัวไว้ก่อน

อันนี้ก็เหมือนกัน ความดื้อนี่นะ
คนเราพอมันเคยแผลงฤทธิ์
เคยมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องไปฟังใคร
จะเอาอะไรต้องเอาอย่างใจให้ได้
แล้วก็ได้อย่างใจมาโดยตลอดแบบนี้
มันกลายเป็นความรู้สึกที่เหมือนกับ
ตัวเรามีความเป็นใหญ่

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เพื่อที่ตัวจะเล็กลง
จำเป็นที่ชีวิตจะต้องเคยกดดันเรามา
ผ่านความทุกข์
ผ่านความเดือดเนื้อร้อนใจอะไรก็แล้วแต่
แล้วมาเจอธรรมะ
รู้สึกว่าธรรมะเป็นของที่ดีกว่าตัวเดิมของเรา
ธรรมะเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าชีวิตของเรา
ธรรมะเป็นอะไรที่สว่างกว่าห้องมืดที่เราเคยอยู่มา

ตัวนี้แหละ
ที่มันจะทำให้ทุกครั้งที่เรารู้สึกตัวว่าดื้อขึ้นมา
เห็นเลยว่าอันนี้เป็นของเก่าที่มันไม่ดี
และสติที่มันเกิดขึ้น ณ เวลานั้น
มันจะทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า
ถ้าอ่อนลงมันจะดีขึ้น
ถ้าหากว่าเราค้อมศีรษะลงศิโรราบ
จิตวิญญาณเราจะเชิดสูงขึ้น
เหมือนกับความรู้สึกตอนที่เรากราบพระปฏิมา
ตอนที่เรามีความรู้สึกว่าเป็นสุขที่สุด
ก็คือตอนที่เรากราบด้วยอาการอ่อนน้อมจริงๆ

ถ้านึกไม่ออกว่า
อาการกราบพระปฏิมามีความสุขอย่างไร
ก็ขอให้ลองซ้อมดูด้วยความตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า
ตื่นเช้ามาให้ไปที่หน้าหิ้งพระ
แล้วก็กราบลงด้วยอาการอ่อนโยนที่สุด
ด้วยอาการนอบน้อมที่สุด
แล้วจำไว้ว่าตอนที่ศีรษะของเรา
หน้าผากของเราลงไปแนบจรดพื้น
ความรู้สึกในอัตตามานะตรงนั้นมันหายไป
กลับกลายเป็นความรู้สึกเบ่งบานที่มีความสุข
ที่เราได้กำจัดอัตตาออกไปแทนที่ขึ้นมา

เหมือนกับพอตัวตนมันเหลือศูนย์ มันเล็กลง
ใจมันก็เกิดความยิ่งใหญ่
จากความอ่อนน้อม จากความเยือกเย็น
ที่ได้ก้มศีรษะลงศิโรราบให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อาการเดียวกันนั้น
ถ้าเรารู้สึกว่ามันดี มันมีความสุข
มันเยี่ยม มันวิเศษกว่าความดื้อ
มันวิเศษกว่าความรั้นที่ผ่านมา
ก็ให้จดจำไว้ว่า
ถ้าเมื่อไรเราดื้อรั้นกับธรรมะ
เมื่อไรรู้ทั้งรู้ด้วยความคิดว่า
อันนี้ฟังแล้วจะดีขึ้น
รับแล้วจะมีแต่ความเจริญ
มีความสุข มีความรุ่งเรือง
แล้วมันยังมีอาการแข็งขืนอยู่
ก็ให้นึกถึงตอนที่เรากราบพระปฏิมา

ถ้ากราบทุกเช้าได้จะยิ่งดี
เพราะว่ามันมีเครื่องเตือนความจำ
ตื่นเช้ามาพอกราบแล้ว มันได้ตัวอย่างของจิต
ที่อ่อนน้อมที่สุดในชีวิตแล้วสำหรับวันนั้น
พอระหว่างวันที่เหลือ
ถ้าหากว่าเราจะต้องมีอันไปดื้อดึง
หรือว่าอย่างตอนนั่งรถไปทำงานตอนเช้า
อาจจะฟังธรรมะไปด้วย
แล้วเกิดจิตที่มันมีความดื้อแพ่งขึ้นมาอีก
เราก็นึกถึงตัวอย่างตอนเช้าที่เราได้กราบพระปฏิมา
จนอัตตามานะมันเหลือศูนย์ไว้แล้วเป็นตัวอย่าง
ตรงนี้ก็จะค่อยๆพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ


ขึ้นต้นขึ้นมา
เรามีความปรารถนาที่จะเลิกดื้อแพ่งอย่างไร้สาระ
จะสวนทางกับของเก่าของเราแล้ว

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

อันที่สองคือเรารู้จักสังเกต
อาการดื้อๆ อาการแข็งๆ ของจิต ณ เวลาที่เกิดขึ้น
มันเหมือนกำแพง มันเหมือนความมืด
มันเหมือนอะไรที่กั้นเราไว้
จากความสุข ความเจริญ ความสว่าง
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

และอันที่สามคือ
เราสร้างตัวอย่างขึ้นมาชัดๆ เลยในแต่ละวัน
ตอนเช้าช่วงเรายังไม่ตั้งท่าดื้อกับใครนั่นแหละ
เอาตัวอย่างเป็นความอ่อนน้อม
เป็นความอ่อนโยนที่สุดในชีวิตไว้เป็นทุน
แล้วก็ใช้ทุนนั้นต่อยอดไปในระหว่างวัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น