วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตา - 03 ช่วงทำสมาธิด้วยเสียงสติ และแผ่เมตตา

ดังตฤณ : ยังไม่ต้องลืมตานะ ..

 

ฟังที่ผมพูด แล้วก็ดูไปด้วยว่า 

ภาวะ ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ ขณะนี้ 

มีความนิ่งเงียบ สงัดสงบจากความคิดอย่างไร

ใจของเรา มีความนิ่ง มีความตรงอย่างไร 

 

เอาแค่รู้ตามจริง ไม่ใช่ไปพยายามทำให้เกิดขึ้น

เพราะว่า เสียงสติ ช่วยเราอยู่แล้ว 

 

สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือ รับรู้ตามจริง 

ว่าใจมีความสงบสงัดจากความคิด 

มีความนิ่ง มีความตรงอย่างไรอยู่

เอาแค่นั้น เอาตามนั้น 

 

คราวนี้ ขอให้ทุกคนพนมมือขึ้น 

ลักษณะของมือที่ประกบกัน เป็นไปในแบบที่

เราตั้งใจ จะถวายดอกบัวเป็นพุทธบูชา 

เอาความรู้สึกเป็นสุข เอาความรู้สึกที่มีความสงบสงัด

มีความนิ่งจากความคิดนี้  

มารวมอยู่ตรงศูนย์กลาง ที่ความรู้สึกว่ามือประกบกัน

 

เห็นไหม มือนี้ ฝ่ามือนี้

จะมีความรู้สึกอุ่น จะมีความรู้สึกสบาย

เพราะว่าจิตที่มีความนิ่ง มีความสงบ มีความสงัดจากอาการคิด

จะปรุงแต่งให้สภาพทางกาย มีความยืดหยุ่น

มีความสบาย มีความรู้สึกว่า

เออ..ที่สงบอยู่นี่ ไม่ได้อยากที่จะกระโดดไปไหน

ไม่อยากจะลุกไปไหน ไม่อยากจะคิดเรื่องอื่น 

อยากจะอยู่กับความรู้สึกที่ นิ่ง สงบ สงัดจากความคิดอย่างนี้แหละ 

 

และเมื่อเอาใจที่มีความสงบสงัดจากความคิด  

มาใส่ไว้กับ ฝ่ามือที่ประกบกัน 

ในท่าที่ ละม้ายคล้ายกับดอกบัวบูชา

เราจะรู้สึกว่าฝ่ามือของเรา เป็นดอกบัวศักดิ์สิทธิ์ 

ที่พร้อมถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

 

น้อมใจนึกนิดเดียวนะว่า

ตอนนี้ มีความรู้สึกอันเป็นสุข

จากการประกบฝ่ามือพนมแบบเดียวกันประมาณพัน(คน)เศษ 

 

มือพนมที่เป็นรูปดอกบัวนี้ เป็นแค่ หนึ่ง ในจำนวนพัน 

บัวบูชานี้ แทนจิตที่มีความสงบนิ่ง 

มีความสงัดจากความคิด มีปีติ มีสุขที่เอ่อขึ้นมา 

 

จะเป็นปีติ สุข แบบอ่อนๆ เพราะเกิดจากความสงบสงัดก็ตาม

หรือว่าจะมีความสุข มีปีติที่ชัดเจน จากใจที่ใหญ่ขึ้นก็ตาม 

ขอให้มองว่า อาการทางใจ ที่ปรากฏเป็นดอกบัวบูชานี้

เป็นแค่ หนึ่ง ในพัน (คน)

 

จากนั้น ดูสภาพทางใจนะครับ

ที่มีความนิ่ง มีความสงบ มีความสงัด

แล้วก็รู้อยู่ ในท่านั่งอันเป็นปัจจุบัน 

 

คุณจะเห็นว่า มีความโปร่งใส มีความสบาย มีความสว่าง

โปร่งใสแค่ไหนเอาแค่นั้น

ไม่ต้องพยายามทำให้โปร่งใสยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ 

 

เอาความโปร่งใสนั้น เป็นตัวตั้ง 

ในขณะที่ปิดตาอยู่นี้ ทอดสายตาออกไปตรงๆ 

เหมือนกับมองขอบฟ้า

คุณจะรู้สึก ถึงพื้นที่ว่างรอบตัว 

และพื้นที่ว่างรอบตัวนี้ มีความสว่างตามอาการของใจ

มีความสุขตามอาการของใจ ที่สงบสงัดอย่างนี้ 

 

นึกนิดเดียวว่า 

ความสว่าง ความโปร่งใส 

ความสามารถ ที่จะสัมผัสพื้นที่ว่างรอบตัวได้แบบนี้ 

นี่เป็นความรู้สึกเดียวกัน กับที่มีอีกประมาณพัน (คน) เศษ 

 

จิตพันกว่าดวง 

ปรากฏโดยความเป็น 

ของนิ่ง ของใส ของสว่าง

เช่นเดียวกับจิต ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ ในท่านั่งนี้ 

 

ความรู้สึกแบบนี้ ที่มีความสุข ที่มีปีติ 

เป็น หนึ่ง ในพัน .. ไม่ใช่แค่ หนึ่ง เดียวในโลก 

เป็นความสุขที่แชร์กัน

 

เหมือนกับ มหาสมุทรแห่งความสุข

เหมือนกับ มหาสมุทรแห่งปีติ 

ที่แผ่ออกไปไม่มีประมาณ 

มีปริมาณที่เป็นอนันต์ มีปริมาณที่ท่วมฟ้าท่วมดิน 

 

อย่างนี้แหละที่เรียกว่า เป็นการแชร์ความสุขร่วมกัน

เป็นการเข้าไปแหวกว่ายในมหาสมุทร แห่งปีติสุข อันเป็นทิพย์ร่วมกัน 

ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

ไม่มีแค่จิตดวงใดดวง หนึ่ง ที่มีอภิสิทธิ์เฉพาะ 

แต่ที่เกิดมหาสมุทรแห่งความสุข ท่วมฟ้าท่วมดินนี้ได้

ก็เพราะเราแชร์กัน 

 

ถ้าหากว่าไม่มีหน้าตาตัวตน ไม่มีตัวใคร อยู่ในมหาสมุทรแห่งความสุขนั้น 

นั่นเรียกว่า เป็นการเข้าถึงความรู้สึกว่า เมตตาที่มีให้กันนี้เป็นอนัตตา 

มีแต่ความรู้สึกว่า ปีติก็ตาม สุขก็ตาม ที่ปรากฏอยู่นี้

เป็นเพียงเวทนา 

เป็นเพียงสุข ที่ไม่มีใครครอบครองไว้ก่อน 

ไม่มีแม้แต่ใคร ที่กำลังครอบครองอยู่

และจะไม่มีใคร ที่เอาเก็บไว้กับตัวได้ 

 

เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ที่เรามานั่งภาวนาร่วมกัน 

 

ปีตินี้ สุขนี้ ความเย็นแบบนี้ 

ขอให้แผ่ออกไปทั่วจักรวาล 

ทั่วอนันตโลกธาตุ

 

จะเป็นมนุษย์แบบเดียวกับเราก็ตาม 

หรือว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น ภพภูมิอื่นก็ตาม 

ถ้าเราสามารถสัมผัส ถึงความสุขแบบมนุษย์ได้

ว่ามีอยู่ประมาณพัน (คน) เศษ 

เราก็สามารถสัมผัสถึงความสุขอันเป็นทิพย์

ที่มีอยู่ในภพภูมิอื่นได้ ที่เขากำลังอนุโมทนากับพวกเราอยู่ 

มีความเสมอกัน ไม่แตกต่างกัน

มีความสุขอันเกิดจากเมตตา ที่แผ่ถึงกัน

 

ตรงนี้แหละ คือการแผ่เมตตาแบบไม่มีประมาณ

ไม่มีหน้าตาใคร ไม่ใช่ของใคร  

_____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แผ่เมตตา

ช่วงทำสมาธิร่วมกันด้วยเสียงสติ และแผ่เมตตา

วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=M9T6XwAZN5M

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น