วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ ช่วงสวดมนต์ร่วมกัน

ดังตฤณ : เอามือประกบกัน ในท่าพนมไหว้ ไม่ใช่สักแต่ได้เอามือมาแนบชิดกันเฉยๆ

 

ให้ทำความรู้สึกว่า ที่มือแนบมือแล้วเกิดความรู้สึกแบบนี้ จริงๆ แล้ว เป็นหนึ่งในมือพนม (ตอนนี้ ประมาณ 800 คน) มีความรู้สึกแบบเดียวกันอยู่ มีความรู้สึกว่า มีมือประกบกันอยู่แบบนี้อีก 800 คนร่วมกัน

 

แล้วถ้าหากว่า เราทำความรู้สึกว่านี่เป็นหนึ่งใน 800 มือที่ประกบกัน เราจะได้ส่วนของพลัง เป็นเครือข่ายของพลัง ที่ประสานกัน โดยไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องพยายามใดๆ ทั้งสิ้น จะมีความรู้สึกขึ้นมา

 

หลายๆ คนบอกว่า สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิด้วยกันตอนไลฟ์ จะแตกต่างจากตอนนี้สวดมนต์ หรือนั่งสมาธิอยู่คนเดียว

 

ทีนี้ ถ้าเราเอาชัดๆ เลย จากสัมผัสแบบนี้ แค่เราตั้งจิต ให้ระลึกถึงว่าฝ่ามือนี้ประกบกัน เป็นหนึ่งใน 850 คน (จำนวนผู้ชม ณ ขณะนั้น) เป็นเครือข่ายของการพนมมือร่วมกัน คล้ายๆ กับเราจับมือประสานกัน อยู่แปดร้อยกว่าคน

 

ความรู้สึกแบบนี้ เป็นความรู้สึกที่ ถ้าเพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รู้สึกแบบนี้เป็นครั้งแรก ก็เหมือนอุปาทาน แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วคุณมีสมาธิจิต มีความเข้าใจเรื่องของเครือข่ายพลัง ความสว่าง ก็จะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เห็นเป็นเรื่องปกตินะรับ

 

อันนี้ ก็เหมือนกับเราประสานให้พลังมาอยู่ด้วย ทำให้คุณเกิดความรู้สึกดี เกิดความรู้สึกว่า เรากำลังจะถวายฝ่ามือ ที่ประกบกันเป็นรูปดอกบัว เป็นพุทธบูชา

 

พอมีความรู้สึกว่า เราเอาฝ่ามือ เอาใจ ไปอยู่ที่การถวายของบูชา เครื่องบูชานี้พร้อมๆ กัน ก็จะรู้สึกถึงใจที่ไปในทาง ทิศเดียวกัน .. คือมีความอ่อนน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ถ้าหากว่าใจของเรา นึกถึงพระพุทธเจ้า โดยอาศัยพระพุทธรูปเป็นสื่อ ใจที่เล็งอยู่ว่า เรากำลังทำมือเป็นรูปเครื่องบูชาต่อพระพุทธรูปอยู่ จะเกิดความรู้สึกถึงใจที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น

 

ลักษณะใจที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้น หน้าตาเป็นอย่างไร?

 

มีความเปิด มีความสว่าง

 

ความสว่างนี้ บางคนแค่รู้สึกว่า สบายใจ โล่งใจ นั่นแหละ คือความสว่างแล้ว นั่นคือความเป็นกุศลธรรมแล้ว ไม่จำเป็นต้องสว่างแบบนีออน ไม่จำเป็นต้องสว่างแบบสปอตไลท์

 

เอาแค่สว่าง ในแบบที่เรารู้สึกว่า ออร่า ออก มีความรู้สึกผ่องๆ ขึ้นมา

มีความรู้สึกว่า ใจเปลี่ยนจากหยาบๆ เป็นประณีต ขึ้นมา

ใจเปลี่ยนจากสภาพที่ พร้อมคิดอะไรไม่ดี พร้อมคิดส่งเดช พร้อมคิดสุ่ม

เป็นคิดที่จะอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงหน้า นะครับ

 

ถ้าใครไม่มีพระพุทธรูปอยู่ที่บ้าน เอาแค่ใจที่มีความนึกถึงพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปก็ได้ ตามถนัด ถือว่าใจอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว และถ้าหากว่า มือเราพนมอยู่ด้วยการระลึกนะครับว่า .. เหมือนดอกบัวบูชา ที่ร่วมกันถวายต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตอนนี้ ประมาณเกือบๆ พันคน นะ

 

ถ้าหากว่าเราสวดมนต์ ด้วยอาการของใจที่ตั้งจิต ถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา สวด อิติปิโสฯ ระลึกแค่ว่า เราจะสวด

 

คือไม่ต้องถึงขนาด ตั้งอกตั้งใจว่าผิดไม่ได้แม้แต่คำเดียว

เอาแค่ว่า เราจะตั้งใจเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ

หรือใครอยู่ในที่ๆ ไม่สะดวก ก็จะตั้งใจฟังผมสวด

แล้วก็ถือว่าผมช่วยสวดแทนให้นะ

แล้วก็มีใจระลึกตามไปว่า

เราสดุดี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่

ด้วยความรู้สึกที่น้อมถวาย เอากาย เอาใจนี้ เป็นเครื่องบูชา

 

เราจะมาลองดูกันนะครับว่า หลังจากสวดเสร็จแล้ว ฝ่ามือของเรา มีอะไรอยู่ในนั้น

 

** ตั้งนะโม สามจบ สวดบท อิติปิโสฯ ร่วมกัน **

 

ดูนะ สิ่งที่เรารู้สึกถึงความเป็นแก้วเสียงก็ดี

หรือความเป็นฝ่ามือที่ประกบกันเป็นรูปเคารพ

ถวายเป็นเครื่องบูชา ถวายเป็นพุทธบูชา

 

นี่เป็นแค่หนึ่งในพัน (คน) ที่กำลังมีความรู้สึกเดียวกันแบบนี้อยู่

 

ถ้าหากว่าเราเอามาอังหน้าผาก แล้วรู้สึกถึงพระพุทธรูป

หรือว่ามีความระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพลังที่เราบูชาพระองค์

 

พอหงายฝ่ามือออกมาแล้ว จะมีความรู้สึกถึงพลังสว่าง

ที่แตกต่างไปจากไออุ่นเฉยๆ

 

ก่อนที่จะตัดไป (หมายถึง รายการช่วงเกริ่นนำ) เราแค่ถูมือ เอาความอุ่น กระตุ้นธาตุไฟขึ้นมา แล้วก็ทำให้สมองส่วนหน้าผ่อนคลาย

 

ความผ่อนคลาย ความสบาย รีแลกซ์เฉยๆ เป็นแค่ความสบายใจของคนธรรมดา

 

แต่เมื่อเรายกจิตยกใจ ด้วยการน้อมทำความเคารพ

ถวายแก้วเสียง ถวายฝ่ามือเป็นพุทธบูชา

การปรุงแต่งของจิต จะมีความแตกต่างไป มีความสว่างขึ้น

 

บางคนสว่างโร่เลย ณ ขณะนี้ แล้วความสว่างแบบนั้น ที่เราประกบไว้ในฝ่ามือ พอคลี่ออกมา กางออกมา ไปอังกับหน้าผาก ความรับรู้ถึงความสว่าง ก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดานะครับ

 

ถ้าใครรู้สึกไม่ชัด ก็ไม่ได้มาบีบคั้นให้ต้องรู้สึกตรงตามกันทั้งหมดนะ เพราะความเคยชินกับความสว่าง หรือกุศลธรรมของแต่ละคนไม่เท่ากันนะ

 

แต่ถ้าหากว่า เราเข้าใจหลักการตรงนี้ว่า

ผ่อนคลาย ก็ส่วนหนึ่ง ความสว่างยกจิตยกใจให้สูงขึ้น ก็ส่วนหนึ่ง

เป็นคนละเรื่องกัน คนละแบบกัน มีความแตกต่างกัน เหตุปัจจัยแตกต่างกัน

 

เดี๋ยวพอเราทำสมาธิด้วยกันแล้ว จะมีข้อสรุปอะไรบางอย่าง ที่ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจตลอดสายนะ ว่าสมาธิที่เรียกว่า อุปจารสมาธิ นี่ ไม่ใช่แค่ความผ่อนคลาย

 

เราต้องการเอาอุปจารสมาธิ

ที่ได้จากการเจริญอานาปานสติ มาใช้งาน

 

จะมีความผ่อนพักด้วย

มีความสว่างด้วย

มีความนิ่งเงียบจากความคิดด้วย

และในขณะเดียวกัน ก็สามารถมีเจตน์จำนง

ที่จะเอาสมาธิ ที่นิ่งเงียบ สว่าง นั้น

มาดูกายดูใจ ในแบบที่เรียกกันว่า

เจริญสติ เจริญวิปัสสนากัน

 

ทีนี้ ถ้าไม่ทำความเข้าใจกันไว้ก่อน เดี๋ยวพอถึงเวลาจะได้เป็นสมาธิกันจริง ก็ต้องมาอธิบายซ้ำกันนะครับ

 

___________________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ – สวดมนต์ร่วมกัน

วันที่ 12 มิถุนายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป

ก่อนสวดมนต์ :

https://www.youtube.com/watch?v=XwFCru3Akyg

 

บรรยายหลังสวดมนต์ : https://www.youtube.com/watch?v=0kcGsiPYgVQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น