วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ ช่วงบรรยายธรรมหลังนั่งสมาธิ

ดังตฤณ : ที่ผ่านไป ก็เป็นการฟังเสียงสติร่วมกัน 

 

อยากให้ดูว่า ตอนนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ความคิดนิ่งเงียบไป จิตใจมีความสงบอยู่แค่ไหนนะ

 

เดี๋ยวเราหลับตา แล้วก็ดูกันต่อนะครับ

 

พิจารณาว่า จิตแบบนี้ ที่มีความรู้สึกว่าตั้งมั่นอยู่ได้เอง คงที่อยู่ได้เอง 

มีความรู้สึกว่า ความคิดไม่เข้ามาในหัว มีความรู้สึกว่า ใจของเราทั้งดวง มีความสว่าง มีความพร้อม ที่จะรับรู้แบบสบายๆ เป็นไปเองอย่างนี้นะ

 

คือจะมีปีติ มีความชุ่มฉ่ำ มากหรือน้อยก็ตาม ไม่สำคัญเท่าตรงที่ เรามีความพร้อมรู้ตามจริง 

 

การพร้อมรู้ตามจริงของจิต ไม่ใช่โอกาสที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ 

 

และหากว่าเกิดขึ้นแล้ว เราก็ควรจะทำใจไว้ เหมือนกับน้ำขึ้นให้รีบตัก ดูไปที่ใจของตัวเองตอนนี้ก่อนเลย ที่มีความตั้งมั่น ที่มีความสงัดเงียบจากความคิด หน้าตาเป็นอย่างไร มีความค้างอยู่ของมันเอง มีความรู้อยู่ของมันเอง 

 

ถ้าหากว่าเราเห็นว่า ความรู้อยู่เอง ความตั้งอยู่เองของมัน เป็นเพียงจิตดวงหนึ่งที่แตกต่างไป อย่างเมื่อครู่นี้ ก่อนนั่งสมาธินี่ มีความฟุ้งซ่าน มีอาการคิดๆนึกๆ อยู่ ตอนนี้แตกต่างไปแล้ว กลายเป็นนิ่ง กลายเป็นเงียบจากความคิด สงัดจากความคิด 

 

พระพุทธเจ้า ให้ดูในอานาปานสติสูตร จิตที่มีความตั้งมั่น จิตที่มีปีติอยู่ จะเงียบเสียงความคิด จะไม่มีอาการที่ปรุงแต่ง คิดโน่นคิดนี่ กระโดดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ หรือพูดง่ายๆว่า จิตตสังขารระงับลง 

 

และการระงับลงของจิตแบบนี้ ก็แค่เป็นธรรมชาติ เป็นภาวะหนึ่ง 

 

อย่างตอนนี้ ก็เป็นแค่จิตดวงหนึ่ง ในพันดวง ที่มีความโน้มเอียงจะนิ่งเงียบสว่างเย็น เหมือนๆ กัน 

 

แล้วต่างกันตรงไหน ถ้าเราดูแค่ว่า ใจที่กำลังนิ่งที่กำลังรู้อยู่นี่ เป็นแค่จิตดวงหนึ่ง ทั้งในแง่ของการเทียบกับตัวเอง .. เมื่อกี้ คิดๆนึกๆ ตอนนี้กลายเป็นนิ่งเงียบ 

 

แล้วก็ในแง่ของ การเปรียบเทียบว่า จิตที่นิ่งเงียบจากความคิดนี้ เป็นเพียงหนึ่ง ในพันดวง ที่กำลังร่วมกันทำสมาธิ 

 

เราก็จะเห็นว่า นี่เป็นแค่ธรรมชาติหนึ่ง เป็นจิตดวงหนึ่ง ที่จะต้องแตกดับไป เดี๋ยวก็กลับมาฟุ้งซ่านใหม่ เดี๋ยวก็กลับมาคิดๆนึกๆ ใหม่

 

อาการของใจที่ต่างไปเรื่อยๆ แล้วเราเห็นว่า นี่เป็นแค่จิตดวงหนึ่ง จะทำให้เรารู้สึกว่า จิตนี้ไม่ใช่เรา จิตนี้ไม่ใช่ตัวใคร เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย

 

อย่างเช่นเมื่อเป็นสมาธิ เมื่อมีความนิ่ง เมื่อมีความเงียบจากเสียงคิดในหัว ก็เพราะว่าเราทำสมาธิ เมื่อเลิกทำสมาธิ ก็กลับมาฟุ้งใหม่ กลับมายุ่งใหม่

 

จิตที่เลิกฟุ้งซ่านไปแล้ว หายไปแล้ว ตอนนี้กลายมาเป็นจิตที่นิ่งเงียบ

จิตที่นิ่งเงียบนี้ ก็จะไม่มีความเสียดาย จิตฟุ้งซ่านที่มันหายไป 

แต่เดี๋ยวพอจิตนิ่งเงียบนี้ เสื่อมลง กลายเป็นคิดๆ นึกๆ กลายเป็นฟุ้งซ่าน

เราก็จะได้ไม่ต้องเสียดายมัน เพราะเห็นเป็นแค่จิตดวงหนึ่ง 

 

ไม่ใช่รางวัล ไม่ใช่เป้าหมาย ไม่ใช่เส้นชัย

 

เรายังมาไม่ถึงเส้นชัยนะ

การทำสมาธิสำเร็จนี่ เป็นเพียงแค่การยกตัวเองขึ้นสู่ทาง ที่พร้อมจะไปสู่เส้นชัย

 

เส้นชัยจริงๆ ก็คือการมีปัญญาแบบพุทธ พร้อมที่จะทิ้งอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น ว่า จิตนี้เป็นเรา จิตนี้เป็นตัวเรา

ที่แท้เป็นแค่จิตดวงหนึ่ง 

 

จากจิตฟุ้งซ่าน กลายเป็นจิตที่เป็นสมาธิ

และจิตที่เป็นสมาธิ ก็เป็นเพียงหนึ่ง ในจิตนับพันดวง ที่กำลังร่วมกันนั่งสมาธิ เข้าสมาธิอยู่ 

 

ไม่ได้มีความเป็นบุคคลที่จิตนี้ จิตนี้ว่างๆ อยู่ รู้อยู่ แล้วก็ปราศจากมโนภาพหน้าตาบุคคลตัวตนของใคร มีแค่ความรู้สึกว่า ใจเปิดๆ ใจสว่างๆ ใจนิ่ง

มีความรู้สึกอยู่แค่นั้นนะว่า จิตหน้าตาเป็นแบบนี้

 

เวลาพระพุทธเจ้า ท่านให้ดูในอานาปานสติสูตร  ท่านให้ดูอย่างนี้แหละว่า 

จิตที่ตั้งมั่น เป็นจิตชนิดหนึ่ง ไม่ได้มีค่า ไม่มีความหมายอะไร มากกว่าจิตอื่นๆ ที่ย่อยยับอัปปางไปแล้ว ล่วงลับดับหายไปแล้ว

 

จิตที่เป็นสมาธินี้ ในที่สุดก็ต้องล่วงลับดับหายไปเช่นกัน 

 

นี่เป็นส่วนของความเข้าใจ ที่มีความหมายยิ่งกว่าการเข้าสมาธิ

 

จำไว้นะ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความสำคัญกว่าสมาธิ เพราะความเข้าใจที่ถูกต้อง จะทำให้สมาธิเจริญต่อไป ในแบบที่เป็นปัญญา

 

มีอยู่จุดหนึ่ง ในอานาปานสติสูตร ในหมวดจิต ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า .. เราจะเป็นผู้รู้จิต ..

 

คือพูดง่ายๆ ว่าพอมีความนิ่ง มีความเงียบแล้ว

จิตก็ปรากฏ เหลือแต่จิตนะ

ถ้าความคิดหายไป จะเหลือแต่จิต 

เหลือแต่การรับรู้ ไม่มีอาการคิดๆ นึกๆ ฟุ้งซ่านไป

 

แล้วถ้าเราทำให้จิต มีความร่าเริง พูดง่ายๆว่า มีความพร้อมยิ้ม มีความรู้สึกสบาย มีความรู้สึกว่า มีกำลังวังชานี่ อันนี้ก็จะทำให้จิต อยู่ในสมาธิมากพอที่จะเกิดความคงค้างอยู่เอง หรือที่เรียกว่า มีความตั้งมั่นของจิต

 

ตรงที่มีความตั้งมั่นของจิตนี่ พร้อมที่จะพิจารณาธรรม พิจารณาสิ่งที่เป็นภาวะของมันเอง ว่า ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ใคร 

เป็นแค่จิตดวงหนึ่ง ในจิตอีกหลายๆดวงนะ ที่ล่วงลับดับไปแล้ว หรือว่าเป็นหนึ่ง ในจิตที่นิ่งๆ ร่วมกับจิตอีกเป็นพันๆดวง

 

ก็จะเกิดความรู้สึกว่า นี่ไม่ใช่จิตของเรา นี่เป็นแค่ธรรมชาติรับรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นหนึ่งเดียวในจักรวาล ที่สามารถรู้สิ่งอื่นได้ รู้วัตถุอื่นได้ แล้วก็รู้ตัวเองได้ด้วย 

 

พอเราเห็นอย่างนี้ ได้ความรู้อย่างนี้นี่แหละ เรียกว่าเป็น การเห็นแบบพุทธ

 

เราเอาสมาธิที่เกิดขึ้น มาใช้ประโยชน์ในทางพุทธแล้ว ในทางที่จะทำให้เกิดสติเจริญขึ้น วิปัสสนาเจริญขึ้นแล้ว

 

จิตที่มีความตั้งมั่น ไร้มโนภาพ

คือการมีความตั้งมั่น แบบพร้อมที่จะเห็นว่า

ตัวเอง เป็นจิตดวงหนึ่ง ในจิตอีกหลายๆดวง 

ทั้งเมื่อเทียบกับจิตของตัวเอง ที่ผ่านไปแล้วในอดีต

แล้วก็เทียบกับจิตอื่นๆ ที่กำลังตั้งอยู่ในโลกนี้นะ

 

ในโลกนี้ เต็มไปด้วยจิตที่ฟุ้งซ่าน

เต็มไปด้วยจิต ที่มีความวุ่นวายยุ่งเหยิง 

หายากนะ เป็นโอกาสที่ยาก

ที่จะได้เจอกับจิตที่มีความนิ่ง ที่มีความเงียบสงัดจากความคิด 

 

แต่ว่าเราได้มานั่งสมาธิร่วมกัน แล้วก็เกิดประสบการณ์ร่วมกันว่า

จิต หลายๆ ดวง พอมีความนิ่งเงียบเหมือนๆ กัน

แล้วมีความระลึก มีสติ มองว่าจิตนี้ เป็นแค่หนึ่ง ในอีกนับพันๆดวง

ไม่ได้มีราคามากไปกว่ากัน หรือว่าด้อยไปกว่ากัน 

เป็นแค่ธรรมชาติเดียวกัน 

 

ในตรงนี้แหละที่ เราจะเริ่มเกิดพุทธิปัญญา

 

ช่วยทำโพลหน่อยนะ ขอถามแค่ว่าจิตคุณ ณ ขณะนี้ มีอยู่ 4 ข้อให้เลือกนะครับ

ฟุ้งซ่าน /นิ่งๆ เฉื่อยๆ / นิ่งเงียบรู้ชัด เป็นสมาธิ /นิ่งเงียบรู้ชัด และ มีความชุ่มเย็น 

จะชุ่มเย็นแบบน้อยๆส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือว่าชุ่มเย็นทั้งตัวก็ตาม ถือว่าเข้าข่ายตัวเลือกข้อที่ 4 นะครับ 

 

อันนี้จะเป็น ความเข้าใจร่วมกันในอีกระดับหนึ่งเลยนะ ที่เดี๋ยวเราจะมาดูกันนะว่าผลออกมาเป็นอย่างไร

 

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ต้องการเหนืออื่นใดเลยก็คือ ความนิ่ง เงียบสงัด จากความคิดนะครับ แล้วก็มีความพร้อมที่จะรู้

 

คุณสังเกตไหม เวลาที่จิตนิ่งเงียบ แล้วก็ไม่มีความคิด

เวลารู้สึกถึงความเป็นกาย รู้สึกถึงลมหายใจนี่

จะเหมือน ห่างๆ เหมือนเป็นญาติห่างๆกัน

ไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ไม่ใช่ตัวเดียวกัน

 

อันนั้นสำคัญมาก เป็นจุดเริ่มต้น

ของการที่เราจะสามารถระลึกรู้ได้ว่า

กายนี้แต่เป็นเพียงสิ่งถูกรู้ กายนี้ไม่ใช่จิต 

 

อันนี้สำคัญมาก เมื่อเรามีความสามารถที่จะรู้ได้อย่างนี้

ว่ากายเป็นคนละอันกันกับจิ  

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเป็นผลลัพธ์ก็คือ

เราจะเห็นว่ากายนี้ แสดงความไม่เที่ยงได้อย่างง่ายดาย

 

คือไม่สนใจว่า จะเอาอะไรให้มาอยู่ยั้งค้ำฟ้านะ

ถ้ากายปรากฏ โดยความเป็นของไม่เที่ยง

จิตก็แค่รับรู้ตามจริงว่าเป็น ของไม่เที่ยง ไม่ใช่ของเรา

ไม่รู้สึกว่า ต้องหวงไว้เป็นสมบัติของเรา ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว 

การสามารถเห็นว่าไม่ใช่เรา

หรือว่าเป็นต่างหากจากจิตได้

สำคัญ ก็เพราะอย่างนี้นะครับ 

 

ถ้าหากว่าเราทำสมาธิ แล้วเกิดความรู้สึกว่า 

ระหว่างวัน นึกถึงความสุข นึกถึงความชุ่มเย็น ที่เกิดขึ้นในสมาธิขึ้นมาเอง นึกถึงแล้วก็อยากทำสมาธิ อันนี้ ก็แสดงให้เห็นนะครับ ว่าสมาธิของเรามาถึงจุดที่ จะเกิดฉันทะ หรือเกิดความพึงพอใจที่จะได้ทำสมาธิอีก

 

ซึ่งนี่จะเป็นเส้นทาง ที่ทำให้คุณย้อนกลับมาทำสมาธิบ่อยขึ้น 

 

แล้วถ้าคุณทำสมาธิแบบพุทธได้

แปลว่าเส้นทางชีวิตของคุณที่เหลือ

ก็จะค่อยๆ มีสติเจริญขึ้น มีวิปัสสนาเจริญขึ้น

จนกระทั่งสามารถ ละเหตุ ละปัจจัยให้เกิดทุกข์

ละเหตุละปัจจัย ทำทางในสังสารวัฏให้สั้นลง ทำทางทุกข์ให้หดสั้นเข้า 

 

เป้าของวันนี้ที่แท้จริง คือกลุ่มที่จิต มีความเบา มีความไม่ฟุ้งซ่าน มีความเป็นสมาธิ มีความสามารถตั้งอยู่ได้เอง 

อันนั้นแหละ คือภาวะพร้อมรู้สภาวะทางกายทางใจ

 

ส่วนกลุ่มที่ นิ่งเงียบรู้ชัด แล้วชุ่มเย็นด้วย คือกลุ่มที่ถึงอุปจารสมาธิ

 

แต่อันนี้เป็นแค่ผลโพลแบบหยาบๆ ไม่ใช่เครื่องรับประกัน ไม่ใช่เครื่องยืนยันนะ ถ้าอยู่เป็นกลุ่มทดลองกลุ่มเล็กนี่ ผมติดตามได้แบบเป็นคนๆ แล้วก็จะรู้ว่า ถึงจริงหรือไม่จริง

 

ขอให้สังเกตว่า ณ ขณะนี้ เวลาที่ระลึกรู้นะครับ ระลึกรู้ว่ากายกำลังนั่งอยู่คอตั้งหลังตรง จะมีความรู้สึกห่างๆกัน มีความห่างเหินกัน มีความรู้สึกว่ากายนั่งให้ดู ส่วนจิตนี่เป็นผู้ดู ไม่ได้เกาะกันเป็นก้อนเดียวกัน เหมือนก่อนนั่งสมาธิ 

ตรงนี้สำคัญที่สุดนะ ถึงแม้ท่านที่อยู่ในกลุ่มที่ ฟุ้งซ่าน หรือว่านิ่งๆเฉื่อยๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าพิจารณาขณะนี้ ว่าจิตของเรามีความสามารถที่จะรู้เพิ่มขึ้น รู้ว่ากายนี้ เป็นสิ่งถูกรู้เป็นสิ่งถูกดู เป็นเพียงภาวะหยาบๆ ส่วนจิต เป็นภาวะผู้ดู เป็นภาวะผู้รู้ เป็นภาวะผู้เห็น เป็นภาวะที่แยกเป็นต่างหาก จากสภาวะหยาบๆ มีความละเอียดกว่ากัน

 

อันนี้คือถือว่าได้เป้า 

 

เพราะว่า เราจะทำสมาธิไม่ใช่เพื่อความนิ่งนะ แต่เพื่อความรู้

เพื่อการมีความสามารถรู้ว่า เราจะดูอะไร เอาสมาธิมาใช้ทำอะไร

 

ความคาดหวังของผมสำหรับคืนนี้ จริงๆ เอาแค่สงัดจากความคิด อยู่ในทิศทางที่กำลังจะคืบหน้า เข้าไปสู่อุปจารสมาธิได้ มีความชุ่มเย็นได้

 

ทำไมต้องชุ่มเย็น เพื่อที่จะให้มีเครื่องหล่อเลี้ยงตัวรู้ ให้ตั้งอยู่นานๆ

 

เพราะตัวปิติสุข จะทำให้ใจเรา ไม่คิดไปในทางบันเทิงแบบโลกๆ

ไม่คิดไปในทางหยาบๆที่ เป็นอกุศลธรรม 

 

ตรงนี้นะ พระพุทธเจ้าแจกแจงไว้นะครับ ความสำคัญของอุปจารสมาธิ หรือว่าความสำคัญขององค์ฌาน ข้อที่ว่าด้วยปีติและสุข คือมันไม่เอาความบันเทิงแบบโลกๆ แต่เอาความบันเทิงในทางธรรมแทน

 

เห็นจากประสบการณ์ตรง ที่ประจักษ์แล้วว่า มีความประณีตกว่า มีความละเอียดสุขุมกว่า มีความน่าพึงพอใจมากกว่า นะ

______________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ – ช่วงบรรยายธรรมหลังนั่งสมาธิ

วันที่ 12 มิถุนายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=E-Cr-cMMI6I

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น