วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

คอร์สอานาปานสติ เพื่อเป็นพุทธบูชา วันที่ ๕

พุทธพจน์ที่ใช้ในการบรรยาย อานาปานสติสูตร

https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/06/blog-post.html

 

เกริ่นนำ

https://www.youtube.com/watch?v=8jH2FpCq9hU

 

สวดมนต์

https://www.youtube.com/watch?v=XbYxxKYNQzY

 

 ‘เสียงสติ’ และ ปิดตาจาระไนองค์ฌาน

https://www.youtube.com/watch?v=iLly_IncKt4

 

บรรยายอานาปานสติ

https://www.youtube.com/watch?v=yDAuDgno2z8

 

รวมฟีดแบก หลังทำสมาธิร่วมกัน (ยังไม่ได้ถอดคำ)

https://www.youtube.com/watch?v=IhXd-5aEyoQ&t=650s


*******************************************

บทถอดคำรวม

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน(พิเศษ) ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา

คอร์สอานาปานสติ วันที่ ๕

วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

 

_________________________________

 

เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ

คืนนี้ คอร์สอานาปานสติคืนที่ห้า คืนสุดท้าย สำหรับการทำความเข้าใจอานาปานสติสูตรร่วมกันนะครับ

 

ก่อนอื่นใดเลย เพื่อที่จะมาทำความเข้าใจร่วมกัน ให้คืนนี้เป็นคืนสรุป ก็อยากจะคุยกันถึง อานาปานสติสูตร นี่แหละนะครับ 

 

ถึงคืนนี้คุณเข้าใจอานาปานสติสูตรแล้วหรือยัง?

 

คำถามนี้ เป็นคำถามที่สำคัญที่สุดของคอร์สนี้ เพราะคืนนี้คืนสุดท้าย ก็หวังว่าจะได้มาคุยกันว่า เราเข้าอกเข้าใจสิ่งที่สำคัญที่สุดของคอร์สแค่ไหน

รบกวนช่วยตอบด้วยโพลนะครับ 

เข้าใจอย่างชัดเจน / เข้าใจเพิ่มขึ้น  / ไม่เข้าใจเลย

 

ไม่ต้องตอบแบบเอาใจกัน เอาแบบที่เกิดขึ้นในใจคุณจริงๆ

 

ถ้าหากว่า คุณมาเพื่อทำสมาธิอย่างเดียว แล้วไม่ได้ฟังที่ผมพูดเกี่ยวกับอานาปานสติสูตร หลังการทำสมาธิ ไม่ต้องตอบก็ได้นะครับ

 

เพราะว่าส่วนสำคัญที่สุดนี้ จริงๆไม่ใช่การทำสมาธินะ การทำสมาธิเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ต่สิ่งที่สำคัญกว่าสมาธิ คือความเข้าใจ

 

ถ้าหากว่าเราทำสมาธิได้ ทำสมาธิเป็น หรือแม้กระทั่งได้สมาธิถึงปฐมฌานหรือว่าทุติยฌาน ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะกี่ชาติๆ ที่ผ่านมา คุณก็ได้สมาธิกันมาแล้วนั่นแหละ

 

แต่ความเข้าใจว่า จะเอาสมาธิไปทำอะไร จะให้เกิดการต่อยอดสมาธิ หรือฌาน ขึ้นเป็นมรรคเป็นผล

คุณต้องเกิดในชาติที่พบพระพุทธศาสนา ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 

ที่เราทำคอร์สนี้กันขึ้นมา เพื่อเป้าหมายหลักเป้าเดียวนะครับ คือทำความเข้าใจอานาปานสติสูตรร่วมกัน 

 

 ‘เสียงสติ’ หรือว่าการเข้าสมาธิ เป็นเพียงการเตรียมอุปกรณ์ คือตัวคุณเอง ให้มีความพร้อมจะเข้าใจอานาปานสตินะครับ 

 

อานาปานสติสูตร จริงๆแล้วถ้าหากว่าทำสมาธิได้ ทำสมาธิเป็น แล้วมาพิจารณาเป็นข้อๆ เป็นขั้นๆ นี่จะดูง่าย

 

แต่ถ้าหากว่าไม่มีสมาธิอยู่ก่อน แล้วไปพยายามทำความเข้าใจ อันนี้อาจจะยาก อาจมีความรู้สึกว่า .. อย่างคำว่าปีติ อย่างคำว่าสุขนี่นะ ถ้าหากว่าเราไม่เกิดประสบการณ์ตรง จะมีความรู้สึกว่าเข้าไม่ถึง

 

เป็นแค่ปิติที่เราเก็บตัวอย่างมาจาก ความดีใจได้ของขวัญ หรือว่าเกิดมาจากการที่เราได้ความรู้สึก เป็นสุขอ่อนๆ ในสมาธิอะไรแบบนี้นะครับ

 

แต่ถ้าหากว่าเราไปดูนิยามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปีติในองค์ฌาน หมายถึงความชุ่ม เย็น .. เย็นทั้งตัว เย็นเหมือนกับเอาตัวจุ่มลงไปในน้ำทั้งตัว แล้วก็มีความเย็นเสมอกัน  อันนี้จะเกิดความเข้าใจขึ้นมา ถ้าคุณได้ปีติแบบนั้น แล้วมีความสุขแบบนั้น

 

สำคัญตรงไหน สำคัญตรงที่ว่าถ้าเราทำสมาธิไป รู้ลมหายใจไป แล้วไม่เกิดความอิ่มใจอะไรขึ้นเลย มันจะไม่ทน แป๊ปเดียวดูลมหายใจ สองสามทีนี่อยากจะเลิกแล้ว 

 

แต่ถ้าหากว่า เรามีปีติ เรามีความสุข ที่เป็นไปในองค์ฌานจริงๆ ก็จะอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ จะมีความรู้สึกว่า อยากเพียรต่อและเกิดความสงบระงับกายระงับใจนะ จนกระทั่งเกิดความตั้งมั่นของจิตขึ้นมา

 

ซึ่งตรงนี้นี่ อ่านเข้าไปในอานาปานสติสูตรบรรทัดไหน ก็จะเข้าใจกระจ่างบรรทัดนั้นนะครับ นี่คือความหมายนะว่าทำไมเราถึงมีคอร์สพื้นฐานแบบนี้ เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจนะ เข้าใจตรงกันว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสในอานาปานสติสูตรนี่ ท่านหมายถึงอะไรนะครับ 

 

(ผลโพล) ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าเข้าใจมากขึ้น

 

คือ เราเข้าคอร์สอานาปานสติกันห้าคืนนี้ จริงๆ ถ้าว่ากันแบบที่เป็นในทางปฏิบัตินี่นะครับ ก็ยังไม่เพียงพอนะ เพราะว่าคนที่เข้าใจอานาอานาปานสติสูตรได้นี่ ต้อง .. จะพูดว่าอย่างไรดี มีทุน มีทุนเรียกว่าหนาแน่นมากๆเลยนะ

 

เพราะอานาปานสติสูตร จริงๆแล้วโอกาสที่จะได้ยินได้ฟัง โอกาสที่จะได้ฝึก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ หรือโอกาสที่จะได้เข้าเป้า ถึงสมาธิ ถึงฌานนี้ ต่ำมากๆ โอกาสเป็นไปได้น้อยมากๆ โอกาสเป็นไปได้ยากมากๆ

 

ถ้าหากว่าเรามีโอกาสนี้แล้ว ก็ถือว่ามีบุญร่วมกัน แล้วก็มีโอกาสที่จะทำความเข้าใจ เเละพัฒนาให้เกิดการต่อยอดยิ่งๆ ขึ้นไปร่วมกันนะครับ 

 

ห้าคืนนี้ เป็นห้าคืนของ .. เรียกว่าถ้าฝรั่งพูด ก็เป็นอินเทนซีฟคอร์ส (intensive course) นะ คือจะมีการรวบรัดนิดหนึ่ง แล้วก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ

 

ในเวลายาวๆ ระยะต่อไปยังมีโอกาสอื่นอีก ถ้าเรายังได้เจอกันนะครับ 

 

สำหรับคืนนี้ ก็อย่างเคยนะ เริ่มต้นกันด้วยการสวดมนต์ เพื่อที่จะทำให้ใจ เรานี่มีความนุ่มนวล มีความเปิด มีความสบาย มีความพร้อม

 

ความพร้อมที่จะเข้าสมาธิ ความพร้อมที่จะเจริญสตินี่ เริ่มต้นที่จิต ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน อะไรอะไรไหลมาแต่ใจ ถ้าหากว่าใจของเรา มีความไม่ดิ้นรน มีความไม่อยากเอาอะไร มีความพร้อมที่จะตั้งสติอยู่เฉพาะหน้า นั่นแหละ ตัวนั้นแหละ เกิดจิตตวิเวกขึ้น

 

คำว่า จิตตวิเวก นี่ผมหวังว่าห้าคืนที่ผ่านมารวมคืนนี้ จะช่วยให้หลายๆท่านเกิดความเข้าใจจากประสบการณ์ตรง ถึงลักษณะของจิต ที่พระพุทธเจ้าประธานไว้นะครับ

 

จริงๆ แล้วก็บางทีเกินคาด ส่วนใหญ่จะคาดหมายว่า ต้องเป็นจิตที่หรูหราอลังการ มีความวิลิศมาหรา มีปรากฏการณ์ที่พิสดารอะไรมากมาย

 

แต่จริงๆ แล้วนี่คือ จิตที่ไม่เอาอะไรเลย คือจิตที่ว่างเปล่าจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากดี อยากเป็น หรือว่าว่างจากความคาดหวัง แม้กระทั่งนั่งสมาธิแล้วเกิดความคาดหวัง เกิดความรู้สึกว่า ฉันอยากเอาให้ได้ดี ฉันอยากเอาให้ได้มาก ฉันอยากเลื่อนขั้น ฉันอยากทำให้ได้แบบคนนั้นคนนี้

 

จิตแบบนี้ ไม่ใช่จิตตวิเวก แต่เป็นจิตที่ชุ่มไปด้วย ภวตัณหา หรือว่าความอยากได้อยากดีนะ

 

การที่เราขึ้นต้นด้วยความอยากได้อยากดี ขึ้นต้นด้วยจิตที่ยื่นออกไป ทะยานออกไป ไม่อยู่ตรงหน้า ไม่อยู่เฉพาะหน้า ไม่อยู่กับปัจจุบัน 

ยากจะตั้งเป็นสมาธิ เพราะว่าคอยแต่จะคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือยังไม่เกิดขึ้น แทนที่จะคิดเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ชัดๆ

 

ถ้าหากว่าเราไม่นึกถึงเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ชัดๆนี่ สติไม่เกิดนะ

 

คำว่าสติ แปลว่าระลึกได้นึกออก เข้าใจได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าที่เป็นปัจจุบันนี่ คืออะไรนะครับ 

 

** สวดมนต์ร่วมกัน **

 

(ตั้งนะโม สามจบ สวดบทอิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

** ฟังเสียงสติ และนั่งสมาธิร่วมกัน **

 

)) เสียงสติ ((

 

** ปิดตา จาระไนองค์ฌาน **

 

อย่าเพิ่งลืมตา เรามาดูกันถึงภาวะที่กำลังเกิดขึ้น 

 

ดูที่ใจก่อนเลย ถ้าหากว่าใจมีความโปร่ง มีความโล่ง มีความรู้สึกว่าสะอาดจากความฟุ้งซ่าน ไม่ถูกห่อหุ้มด้วยความฟุ้งซ่านยุ่งเหยิง

 

อันนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น เป็นนิมิตหมายของสมาธิที่ดี

 

แล้วถ้าหากว่า ถึงเวลาหายใจเข้า ถึงเวลาหายใจออก ใจรู้อยู่เพราะมีโฟกัสที่ไม่คลาดเคลื่อนไปจากลมหายใจ อย่างนี้เรียกว่าเกิดองค์ คือวิตก

 

แต่หากว่ามีความชัด มีความต่อเนื่อง ราวกับเห็นเป็นสายยาว แล้วก็ราวกับว่า ใจของเรานี่เป็นมือไปสัมผัสลมได้ อันนี้ก็เรียกว่าเกิด วิจาร

คือจิตแนบเข้าไป นิมิตมีความตั้งมั่น ประกอบพร้อมว่าลมหายใจนี้อยู่ในท่านั่ง คอตั้งหลังตรงอยู่ 

 

ถ้าหากว่าจิตเกิดความพอใจอยู่แค่นี้ ดูว่า เดี๋ยวลมก็ผ่านเข้า เดี๋ยวลมก็ผ่านออก ในที่สุดก็เกิดความวิเวก .. วิเวกทางใจ ใจไม่เอาอะไร ใจแค่พอใจที่จะรู้ลม รู้ว่าผ่านเข้า รู้ว่าผ่านออก 

ใจที่ไม่เอาอะไร ใจที่สงบ ในที่สุดก็เกิด จิตตวิเวก 

 

จิตตวิเวก มีความหวานชื่นก็ตรงที่เกิดปิตินี่แหละ

ปีติ เย็นซ่าน ปีติ ในแบบที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่เอาอะไรเลยก็ได้

โลกทั้งใบ จักรวาลทั้งห้วงจักรวาล ไม่มีอะไรน่าเอา นอกจากความรู้สึกแบบนี้ แบบที่จิตแยกตัวไปสันโดษ ล้วก็อยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจอาศัยกายที่เหมือนโพรงว่างนี้ เป็นเครื่องระลึกว่า มีลมหายใจ ผ่านเข้าผ่านออก 

 

ด้วยความมีปีติอันเกิดแต่วิเวก ก็มาเป็นแพคคู่กัน กับความสุข 

 

ความสุขนี้ มาด้วยความรู้สึกว่า สงัดกายสงัดใจ 

กายไม่ต้องขยับก็ได้ ใจไม่ต้องคิดไม่ต้องเคลื่อนไหว

ไม่ต้องกระโดดไปหาอะไรก็ได้

ด้วยกาย ด้วยใจที่ประสานกัน อยู่ในความสงัดสงบแบบนี้แหละ 

ที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ไม่ต้องคิดอะไรก็ได้

 

พอความคิดแวบผ่านมา เดี๋ยวมันก็หายไป ผ่านไป

แค่เราไม่คว้าไว้ ไม่กระโดดขึ้นขบวนความคิด 

ปล่อยให้ความคิดแล่นผ่านไปเฉยๆ เหมือนรถไฟที่ผ่านหน้าไป 

ตรงนี้ เรียกว่า เรารู้ทั้งกาย แล้วก็รู้ทั้งเวทนา

 

เวทนา คือความรู้สึกเป็นสุขหรือเป็นทุกข์

 

ในขณะนี้มีความพอใจ มีความสงบอยู่ ก็จัดว่าเป็นความสุข

เป็นความสุข โดยไม่ต้องอาศัยเหยื่อล่อภายนอก

แต่อาศัยความตั้งมั่นภายใน 

 

พอมีปีติ มีความสุขเกิดขึ้นเพียงครู่เดียว คุณจะรู้สึกถึงอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ผุดขึ้นมา เด่นขึ้นมา เป็นความนิ่ง .. เป็นความนิ่งแบบคงเส้นคงวา

 

อันนั้นแหละ อาการของจิตที่มีความตั้งมั่น

 

เมื่อจิตมีความตั้งมั่น 

เราก็ได้ชื่อว่า เราเห็นจิตอยู่ 

เป็นจิตหนึ่งดวง ในจิตหลายๆดวง

เป็นดวงจิตชนิดหนึ่ง ในดวงจิตหลายๆ ชนิด

ที่เรากำลังเห็นว่า ปรากฏอยู่ในสมาธิของเรา ณ บัดนี้ 

 

เมื่อจิตมีความตั้งมั่นได้

จิตนี่แหละ ที่มีความสามารถเห็นว่า

อะไรๆ ภายในขอบเขตกายใจนี่ไม่เที่ยง 

นับเริ่มตั้งแต่ลมหายใจ เดี๋ยวเข้า เดี๋ยวออก เดี๋ยวยาว เดี๋ยวสั้น 

หรือปีตินี้ บางทีก็ฉีดแรง บางทีก็เย็นชุ่มไปทั้งตัว

บางทีก็เย็นแค่บางส่วน มีอวัยวะบางส่วนที่เย็นขึ้นมา 

 

นี่เราสามารถเห็นความไม่เที่ยงได้ จากจิตที่ตั้งมั่นนี่แหละ

 

แต่ถ้าหากว่าจิตมีความฟุ้งซ่าน เหลาะแหละ โลเล

จิตมีแต่ความรู้สึกว่าเป๋ง่าย กระโดดไปทางโน้นที ทางนี้ที อย่างนี้

จิตแบบนั้น ไม่มีทางที่จะเห็นความไม่เที่ยง

ต้องอาศัยจิตที่ตั้งมั่นเท่านั้น ที่จะเห็นความไม่เที่ยงได้ 

จิตที่เห็นความไม่เที่ยงได้นี่แหละ ที่จะเป็นจิตที่เริ่มฉลาด

เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งดับไป สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเราแน่นอน

 

ถ้าดับได้ ไม่ใช่ตัวตนแน่ๆ 

ถ้าอะไรล่วงลับไปแล้ว จะมีความรู้สึกว่า

สิ่งที่ล่วงลับไปนั้น ไม่มีค่าไม่มีความหมายอะไรแล้ว 

 

ตอนที่มันตั้งอยู่ ดูเหมือนมีค่า ดูเหมือนมีความหมาย

แต่ตอนที่ล่วงลับดับหายไป ไม่รู้จะไปเอาค่าอะไรที่ไหนจากมัน

 

จิตที่ตั้งมั่นของเราในสมาธิแบบนี้ สามารถเห็นได้ และเห็นได้ทุกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็น ความคิดที่จรเข้ามา

ไม่ว่าจะเป็น กิเลสที่จรเข้ามา

ไม่ว่าจะเป็น ลมหายใจที่ผ่านเข้าผ่านออก แต่ละครั้ง

ไม่ใช่ตัวเดิมเลย ไม่ใช่ชุดเดิม เป็นสายลมหายใจคนละสายชัดๆ 

เมื่อเรารู้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้นี่แหละ ตัวนี่แหละ ที่จะทำให้เราเกิดความพร้อมทิ้ง 

ใจที่มีสติอยู่ เห็นอยู่ แล้วก็พิจารณาอยู่อย่างนี้ ในที่สุดเกิดความเพียรมากเข้าๆ เกิดปีติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เป็นความอิ่มใจ เป็นความพอใจที่จะได้เห็นความไม่เที่ยง เป็นความพอใจที่จะได้เห็นว่า กิเลสเกาะจิตไม่ติด 

 

ปีติแบบนั้น ก็เกิดความสงบกายสงบใจ ระงับอาการที่มีความเร่าร้อน ไม่ว่าจะเร่าร้อนด้วยราคะ หรือว่าเร่าร้อนด้วยพยาบาท 

 

ลงไปถึงระดับของกระบวนการทางร่างกายเลยนะ กระบวนการทางเคมี กระบวนการทางชีวะที่จะผลิตอะไรเป็นความเร่าร้อนออกมา ในทางราคะ หรือในทางโทสะ จะเย็นสนิทลงไปราวกับว่า กายนี้ทั้งกาย เป็นโพรงว่าง เป็นแก้วอะไรดวงหนึ่ง เป็นแก้วรูปร่างรูปพรรณสัณฐานแบบหนึ่ง มีคอตั้งหลังตรง มีขาห้อย มีมือวางอยู่ 

 

หรือใครนั่งขัดสมาธิก็มีขาที่ไขว้กัน ลักษณะทางกาย รูปพรรณสัณฐานทางกายนี่ จะปรากฏเป็นอะไรนิ่งๆ แสดงให้ดูใกล้ คล้ายๆ กับหุ่นที่มาวางอยู่ตรงหน้าให้เราดู

 

เรา ในที่นี้คืออะไร .. คือจิต

จิต ที่มีความสงบระงับในที่สุด มันรู้ตัวเองว่า แม้แต่จิต บางทีก็เป็นสมาธิจิตบางทีก็เป็นจิตที่ฟุ้งซ่าน หาจิตดวงเดิมไม่ได้ 

 

ด้วยการพิจารณาแบบนี้ ด้วยความพากเพียรไม่ย่อหย่อน เกิดปีติ เกิดปัสสัทธิขึ้นมา ในที่สุด เกิดจิตตั้งมั่นในอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่ตั้งแค่ดูอยู่เฉยๆ แต่ตั้งมั่นอย่างรู้ และพร้อมทิ้ง ตั้งมั่นอย่างรู้ มีอุเบกขา มีความเป็นกลาง

 

นี่ .. ตัวที่ไปถึงความพร้อมทิ้ง ความพร้อมที่จะไม่เอา ความพร้อมที่จะไม่เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ว่ากายนี้ใจนี้คือเรา นี่แหละตรงนี้แหละ คือสุดยอดของอานาปานสติ 

 

** บรรยายอานาปานสติสูตร **


ที่เราต้องการกันจริงๆ คือ ความเข้าใจ อันเกิดจากฐานคือสมาธิ แบบนี้นะครับ .. เราไม่ได้ต้องการแค่สมาธิ


สมาธินี่ กี่ชาติๆ เรามีโอกาสฝึกกันหมด แต่โอกาสที่จะได้พบกับอานาปานสติสูตร คือวิธีดู เอาลมหายใจ เอาสมาธิลมหายใจ มาใช้พิจารณากายใจให้เกิดความเห็นตามจริง กลายเป็นจิตอีกแบบหนึ่ง


จิตที่ตั้งมั่นในแบบที่พร้อมทิ้ง เป็นดวงจิตที่

เกิดขึ้นได้ยากที่สุดในจักรวาล

เกิดขึ้นได้ยากที่สุดในอนันตชาติ ที่ผ่านมาของพวกเรา

เกิดขึ้นได้ยากที่สุด


ในบรรดา คน เจ็ด หรือ แปดพันล้านคน

มีแค่หยิบมือเดียว นิดเดียว

เปรียบเทียบนะ เหมือนเมล็ดทรายทั้งกระบะ

มีแค่เมล็ด หรือ สองเมล็ดเท่านั้น ที่ถูกเจียรไนให้กลายเป็นเพชรขึ้นมาได้


จิตนี่แหละ ที่ผมเปรียบเทียบ เดิมก็เหมือนกับทรายที่เท่าๆ กัน จะดูภายนอก มีรูปร่างหน้าตาต่างกัน เพศพันธ์ต่างกัน ฐานะต่างกัน ความรู้ต่างกันแค่ไหนก็ตาม ในที่สุดก็ตกอยู่ในวังวนแห่งความไม่รู้เหมือนๆ กันหมด ต้องเวียนว่ายตายเกิดแบบที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ว่าเกิดมาได้อย่างไร มาเป็นแบบนี้ได้อย่างไร


อย่างจะให้เชื่อว่า เพราะกรรมเก่าจากชาติก่อนบันดาลมา ก็หัวเราะเพราะมันไม่น่าเชื่อ


กว่าที่จะมาได้ข้อสรุปว่า ถ้าชาติก่อนมีจริง ชาติหน้ามีจริง แล้วเราควรจะทำอย่างไร ข้อสรุปตรงนี้ก็ไม่ใช่ว่าเกิดมาแต่ละชาติไหน จะได้พบคำตอบทุกชาตินะ


ต้องรอให้มหาบุรุษแบบพระพุทธเจ้า อุบัติขึ้นมาเสียก่อน เราถึงจะได้ข้อสรุปว่า สังสารวัฎ การเวียนว่ายตายเกิดนี่ .. ไม่ดี ควรออกไปเสีย

วิธีออก ประตูทางออกก็คือ อานาปานสติ

ต่อขึ้นไปด้วย สติปัฎฐาน

แล้วต่อขึ้นไปด้วยโพชฌงค์ ให้เกิดการหลุดออกจากวังวนแห่งความไม่รู้

ต้องเวียนว่ายตายเกิด แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่นี้ไป


ที่เราได้ศึกษากันมา ได้ทำสมาธิกันมา เพื่อสิ่งนี้นะ


ขึ้นต้นขึ้นมาของ อานาปานสติสูตร ก่อนอื่นต้องเข้าที่วิเวก

ไม่ว่าจะเป็น วิเวกทางกาย หรือ วิเวกทางใจ

 

แต่ว่าอยู่ในเมืองไม่ค่อยวิเวก เราก็อาศัย ‘เสียงสติ’ มาช่วยเป็นเครื่องทุ่นแรงเสีย เป็นเทคโนโลยีทางเสียงนะ


จากนั้น ตั้งกายตรงดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

กายตรง คอตั้งหลังตรงสำคัญมาก เพราะว่าเป็นทางเดินให้ลมหายใจสะดวกนะครับ เสร็จแล้วก็มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ยาวก็รู้ สั้นก็รู้

 

ถ้าหากว่ารู้ไป จนกระทั่งเกิดวิตก และวิจารครบ เห็นลมหายใจเป็นสายยาวเรียกว่าเป็นลมหายใจที่พาไปถึงจิต จิตสามารถสำเหนียกรู้ว่ากองลมทั้งปวงกำลังเป็นอย่างไรอยู่ กำลังเข้าหรือกำลังออก กำลังยาวหรือกำลังสั้น


นี่แหละที่ จิตแยกออกไปเป็นผู้รู้ผู้ดู เริ่มเป็นสมาธิขึ้นมาก็ตรงนี้


คนส่วนใหญ่นี่ ก็ได้สมาธิกันมาแค่ตรงนี้


พอดูลมหายใจไป แล้วฟลุค จิตเป็นสมาธิขึ้นมา ก็เห็นอยู่ว่าตัวเองตั้งนิ่งเป็นผู้ดูลมหายใจอยู่ แต่เสร็จแล้วก็ต่อยอดไปมากกว่านี้ไม่ได้


ทีนี้ ถ้าหากว่าตรงอานาปานสติ พระพุทธเจ้าให้เป็นลำดับขั้นมาเลย บอก


ถ้าสามารถรู้สึกได้ว่า จิตเป็นผู้รู้ จิตเป็นผู้ดูลมหายใจอยู่

ก็แค่สำเหนียกว่า กายของเรามีความสงบไหม

มีความระงับจากอาการกวัดแกว่ง อยากขยับ อยากลุกไปโน่นไปนี่ไหม

ถ้าหากว่าเราสังเกตอยู่อย่างนี้

ก็จะได้ความรู้สึกสงบขึ้นมา โดยมีกายเป็นฐานของความสงบ

กายนี้ กลายเป็นฐานของความรู้สึก ว่า ไม่ต้องขยับก็ได้ ไม่ต้องกระดุกกระดิก ไม่ต้องไปลุกขึ้นไปไหนก็ได้

อย่างนี้ก็เรียกว่าเห็นกายในกายอยู่นะครับ


เสร็จแล้วพอมีความสงบ มีความสงัดทางกายทางใจมากเข้า

เกิดจิตตวิเวก ก็จะเกิดปีติตามมาเป็นธรรมดา

เราแค่รู้ ในแต่ละลมหายใจเข้าออก

ณ ขณะที่กำลังหายใจเข้า ณ ขณะที่กำลังหายใจออกเลย

ว่ามีปีติอันเกิดแต่ วิเวก


แล้วก็ปีติ จะมาเป็นแพคคู่กันกับความสุข


แค่เรารู้ว่า หายใจเข้าหายใจออกอยู่ด้วยปีติสุขนี่

ก็จะเกิดความรู้สึกว่า แม้ความฟุ้งซ่านจะแผ้วผ่านมา

เราก็สามารถที่จะระงับได้ มันดับไปให้เห็นได้ง่ายๆ เลย

แค่เราตามรู้ตามดูว่า ในขณะที่หายใจอย่างมีปีติ หายใจอย่างมีความสุข

ความฟุ้งซ่าน พอจะปรากฏตัวขึ้นมา

จะเหมือนกับแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ

มันผ่านไปได้ง่ายๆ มันถูกเผาให้มอดไหม้เป็นจุลไปได้ง่ายๆ


ตัวนี้แหละที่ถือว่าเราเห็น เวทนาในเวทนา

นี่คือหมวดเวทนา ในอานาปานสติสูตรอยู่นะครับ


จากนั้น พอเหลือแต่ปีติ เหลือแต่สุข ที่โดดเด่นอยู่

พักเดียวจะมีสภาพหนึ่ง ตั้งมั่นขึ้นมา มีสภาพนิ่งๆ ค้างคา

คงเส้นคงวาของมันเองอยู่


ตัวนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าให้ดูว่า เราหายใจเข้า หายใจออกอยู่นี่

เราจะเป็น ผู้รู้จิต

จิต มีความร่าเริง หมายความว่าอย่างไร

หมายความว่ามีกำลัง หมายความว่ามีความสนุก มีความกระหยิ่ม

มีความรู้สึกว่า อยู่ในสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ได้ สนุกดี

มีความสุขดี ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องลุกไปไหน


การที่เราจะมีจิตที่ร่าเริง หายใจเข้าหายใจออกอยู่ มีความสัมพันธ์กัน

ถ้าหากว่าลมหายใจยาว ก็มีความร่าเริงมาก

ถ้าหากลมหายใจสั้นลง ก็มีความร่าเริงน้อยลง

 

เราจะสามารถเห็นได้เลยนะ ยิ่งร่าเริงมากขึ้นเท่าไหร่ จิตยิ่งมีความตั้งมั่นมากขึ้นเท่านั้น


แล้วตอนที่จิตตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ เราจะเข้าไปอยู่ในอีกมิติหนึ่งในตัวของเรา ที่เราสามารถรับรู้ได้ว่า ถ้าหากว่าจิตหมดพันธะ จะมีความเด่นดวงขึ้นมา จะรู้สึกอยู่นะ เปลื้องพันธนาการทั้งหลายออก ไม่ว่าจะเป็นการยึดติดอยู่กับลมหายใจ หรือว่ายึดติดอยู่กับความคิด หรือว่ายึดติดแม้กระทั่งปีติ แม้กระทั่งสุข .. เราเปลื้อง


คำว่า เปลื้อง ในที่นี้ ก็คือเหมือนกับ ตัดความเชื่อมโยงทางความรู้สึกว่าจะต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นตัวเดียวกัน เป็นคนเดียวกันกับสิ่งเหล่านั้น


จิต ที่เปลื้องตัวเองออกมาจากสิ่งห่อหุ้มทั้งปวงได้ จะปรากฏเด่นดวง มีความสว่าง มีความสุขใส มีความรู้สึกว่าเกลี้ยงเกลา ไม่มีอะไรเกาะติดได้

นี่คือลักษณะของการเปลื้องจิต


พอจิตความนิ่ง ตั้งมั่นแล้ว เราก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงทั้งปวงได้นับตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก เห็นอยู่ชัดๆเลยว่า มันเข้ามันออกนี่คนละสายกันเลย คนละชุดกันเลย


พอเข้ามาแล้ว จะผสมกับอะไรบางอย่างในร่างกาย ก่อนที่จะคลายคืนกลับสู่ความว่างภายนอก เป็นลมหายใจคนละสายกันแล้ว เป็นลมหายใจคนละตัวกันแล้ว


แล้วถ้าหากว่า เราเฝ้ารู้เฝ้าดูอยู่ ก็เห็นว่า ทั้งปีติทั้งสุขก็ไม่เที่ยง ก็ไม่เสมอ ระดับถ้าไม่ขึ้นก็ลง ตัวสภาวะของจิตเอง ใหม่ๆนี่ก็มีความกว้างมาก หรือว่าอาจจะแคบลง หรือว่าอาจจะมีความตั้งมั่นมาก หรือว่าอาจจะโคลงเคลงบ้าง


อะไรๆ ในสภาวะทั้งกายทั้งใจ ไม่มีสักอย่างเดียวที่จะคงอยู่กับที่ หรือว่ามีสภาพ มีปริมาณเท่าเดิม มีคุณภาพเท่าเดิม ไม่มีอะไรสักอย่าง


ตอนที่จิตมีความตั้งมั่น แล้วรู้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเราเป็นผู้พิจารณาความไม่เที่ยง ทั้งในขณะหายใจออกและขณะหายใจเข้า มีความรู้อยู่ว่ากำลังหายใจออก กำลังหายใจเข้า ก็สามารถเห็นความไม่เที่ยงทั้งปวงที่เกิดขึ้นได้


ในสูตรอื่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสเลยนะครับว่า เราสามารถรู้ได้ถึงความไม่เที่ยงของกายของใจนี้ ในขณะอยู่ในฌานได้นะ


คือยังเห็นสายลมหายใจอยู่นี่แหละ แล้วสายลมหายใจคล้ายๆ กับจะเป็นแบ็คกราวน์ เป็นเครื่องช่วยสนับสนุน ให้เกิดการเห็น เกิดสติ รู้ว่าทั้งกายทั้งใจนี้ ไม่มีอะไรเลยที่เป็นตัวเป็นตน


อันนี้แหละ ก็จะสามารถรู้ได้เอง ณ เวลานั้นว่า มันสามารถคาย สามารถคืนกิเลสได้จริงๆ ด้วยความสามารถของจิตที่เปลื้องตัวเองแล้ว ปลดพันธะตัวเองออกมาจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวงได้


จะรู้นะว่าถึงตรงนั้น สามารถคืนกิเลสได้อย่างไร


คืนหมายความว่า พอกิเลสเข้ามากระทบใจ หรือว่าห่อหุ้มใจ เรารู้สึกเหมือนว่า จิตสามารถสำรอก หรือว่าถ่มเสลดออกจากปาก


พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้นะ

เกิดตัณหานี้ต้องเกิดเป็นธรรมดา เกิดแล้วนี่ เราสำรอกตัณหาออกมาได้

ออกมาจากไหน .. ก็ออกมาจากจิตนี่แหละ


พอเห็นได้แบบนี้ คุณจะเริ่มเข้าสู่ภาวะที่ มีความว่างอย่างรู้ แล้วก็พร้อมทิ้ง


ว่างอย่างรู้และพร้อมทิ้ง มีองค์ประกอบเป็นอะไรบ้าง


คือมีสติ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือพร้อมกันทั้งหมด นั่นแหละเรียกว่า มีสติในความพร้อมจะทิ้ง


แล้วถ้าหากว่าจิตเป็นอัตโนมัติ พิจารณาอยู่ว่า อะไรๆ นี่ไม่น่ายึด ไม่น่าเอา ด้วยอุบายใดอุบายหนึ่ง ด้วยการเห็นเป็นอนิจจังบ้าง ด้วยการเห็นเป็นอนัตตาบ้าง


หรือว่าเห็นกายด้วยความเป็นธาตุขันธ์ เห็นกายด้วยความเป็น .. สักแต่เป็นสิ่งสกปรก แออัดยัดทะนานอยู่


หรือว่าเห็นกายสักแต่เป็นของว่าง ต้องเน่าเปื่อยผุพังเป็นธรรมดา ปรากฏเป็นนิมิตชัดๆ เลยนะ คือไม่ใช่นึกเอา คะเนเอา แต่ว่าเห็นธรรมชาติของกาย เน่าเปื่อยผุพังให้ดูเลย


อย่างนี้ก็เรียกว่า มีองค์คือพิจารณาธรรม หรือว่าธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เจริญขึ้น


พอมีความเพียรไม่ย่อหย่อน ก็เกิดปีติ พอมีปีติขึ้นมาก็เกิดความสงัดกายสงัดใจนะครับ ความสงัดกายสงัดใจนั่นแหละ นำไปสู่สมาธิอีกแบบหนึ่ง เป็นสมาธิที่จะก่อให้เกิดอุเบกขา หรือที่เรียกว่าสังขารุเปกขาญาณ เป็นอุเบกขา


คือคำว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์ กับ สังขารุเปกขาญาณ นี่อันเดียวกันนะครับ เป็นเครื่องนำไปสู่การพร้อมทิ้งได้จริงๆ ถ้าหากว่ามีความอยากจะทิ้ง


การรู้สึกอิดหนาระอาใจ เอือมระอากับความเป็นกายนี้ ที่ต้องเกิดแก่เจ็บตาย อย่างนี้ยังไม่ใช่อุเบกขานะ ตราบใดมีความอยากตราบนั้นไม่มีอุเบกขา


ต่อเมื่อเราเห็นความอยากจะทิ้ง เห็นความอยากแม้จะทิ้งกาย ความอยากแม้จะทิ้งใจว่า เป็นส่วนหนึ่งของกิเลส เรียกว่าเป็นวิภวตัณหา เป็นส่วนเกิน  เป็นส่วนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการทิ้งจริง


เห็นอย่างนี้ได้นี่แล้วก็รู้สึกว่า นั่นเป็นแค่ส่วนเกินไม่ต้องมีก็ได้ ก็เข้าสู่ภาวะที่ตั้งมั่น มีอุเบกขาจริง


ตั้งมั่นมีอุเบกขาจริงหน้าตาเป็นอย่างไร

ก็คือเห็นส่วนใดส่วนหนึ่ง

จะเป็นกายก็ดีที่อยู่ในอิริยาบถนี้ ตั้งขึ้นด้วยอิริยาบถนี้

จะเป็นปีติ จะเป็นสุขก็ดี

จะเป็นภาวะตั้งมั่นของจิตก็ดี

หรือว่าเป็นภาวะที่แสดงความไม่เที่ยงก็ดีนะ


เห็นอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งมันไม่อยากเอาอะไรเลย นอกจากสักแต่ว่า รู้ไปว่านั่นไม่ใช่เรา ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของ กาย เวทนา จิต ธรรม เลยที่เป็นเรา

 

ความรู้แบบนี้ ถ้าเกิดขึ้นในอานาปานสติ มีสมาธิเป็นอานาปานสติ แบบนี้พอลืมตาขึ้น มาจะลุกเดินไปไหน จะยืน จะนอนก็ดี ทุกอิริยาบถเป็นที่ตั้งของความระลึกรู้แบบเดียวกันได้หมดเลยว่า นี่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา มีไว้ให้ดูเฉยๆ ว่าไม่ใช่เรา

 

แล้วในที่สุด พอมีกำลังของตัวที่เรียกว่า วิเวก หรือว่า วิราคะ มากขึ้นๆ

ก็เสมอกันกับ นิโรธ คือความดับ

ดับจากความอยาก ดับจากความยึด

ดับจากอาการ ที่หลงเกิดอุปาทานว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา

 

ตัวนี่แหละ ที่จะน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ที่พระพุทธเจ้าท่านสรุปไว้อย่างนี้ ในอานาปานสติสูตรนี้ ก็เพื่อที่จะตรัสบอกนะครับว่า

 

อานาปานสติสูตร สุดท้ายแล้วก็คือ ได้จิตที่ว่างอย่างรู้แล้วก็พร้อมทิ้ง

 

คำว่าปลดปล่อยในที่นี้ ก็คือจะทิ้งนั่นเอง

ทิ้งขันธ์ ทิ้งแบบไม่เอา ทิ้งแบบไม่ยึดไว้ ทิ้งแบบเลิกหวงสักที

 

ที่คนเราฆ่าตัวตายกัน อยากจะจบชีวิตกัน นั่นก็เพราะรู้สึกว่าชีวิตไม่ดี

แต่ทิ้งแบบนั้น หรือว่าตัดชีวิตแบบนั้น

เป็นตัดแบบตัดไม่จริง ยังเหลือเชื้อ ที่จะหลงไปในกาม หลงไปในพยาบาทหลงไปในความยินดีว่า ถ้ามีชีวิตดีๆ เราถึงจะเอา

แต่ถ้ามีชีวิตไม่ดี เราไม่เอา จะหนี จะดับ นึกว่าตายแล้วสูญ

 

พอฆ่าตัวตายไปด้วยความเข้าใจผิดแบบนี้ เชื้อของกิเลส เชื้อของความที่จะต้องเกิดใหม่ก็ตามตัวไปเป็นเงา แล้วกรรม ก็ทำงาน

 

คือกองบุญกองบาปที่สะสมมา ก็จะประชุมกัน งัดข้อกันว่า กองบุญ หรือ กองบาปจะได้ตัวเราไป

 

ถ้ากองบุญได้ตัวเราไป ก็ไปสู่สุคติ มีโลกมนุษย์ กลับมาในโลกมนุษย์ หรือไม่ ก็ไปสู่เทวโลก

 

แต่ถ้าหากว่ากองบาปได้ตัวเราก่อน อันนี้ซวยเลยนะ จะไปสู่ทุคติ มีนรกภูมิเป็นที่สุด หรือ มีเดรัจฉานภูมิ ดีขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็ยังมีเปรตภูมิ ภูมิเปรตในที่ใกล้กับโลกมนุษย์นี้หน่อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมอะไรมาไว้โดยมากนะ

 

จิต เวลาที่อยู่ในอานาปานสติ สมาธิ มีสมาธิแบบอานาปานสติ เห็นกายเห็นใจอย่างชัดเจน จะรู้สึกเลย รู้สึกขึ้นมารางๆ ว่า สภาวะทางกาย สภาวะทางใจนี่จริงๆ แล้วเป็นแค่ร่างหนึ่ง

 

ที่หลงรู้สึกมาตลอดชีวิตว่า มีตัวเราอยู่ในกายนี้ใจนี้ หรือว่ามีกายอย่างอื่น มีใจอย่างอื่นที่เป็นตัวเรา ที่แท้จริงนี่อุปาทานทั้งนั้นเลย

 

คุณจะเห็นนะ เวลาที่มีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในอานาปานสติ ว่านี่สักแต่เป็นร่าง ร่างหนึ่ง รูปร่างหน้าตานี่ไม่มีความหมายเลยนะ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นตราประทับว่าเป็นตัวคุณอย่างแท้จริง เพราะจะเห็นอยู่ในนิมิตเลย ว่ารูปร่างหน้าตาแบบนี้ แป๊บหนึ่งคลี่คลาย

 

ทุกคนเห็น ทุกคนรู้นะว่าเคยเป็นเบบี๋ (Baby - เด็กทารก) มาก่อน ยังไม่มีรูปร่างหน้าตาชัดๆ และค่อยๆ โตขึ้นมา ขึ้นรูปชัด สามเดือน ห้าเดือนเริ่มขึ้นรูปหน้าชัดขึ้นมา แล้วก็โตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว แก่หง่อมลง และในที่สุดก็ต้องตายจากโลกนี้ไป

 

ทุกคนเห็น แต่ทุกคนก็ยังอุตส่าห์ยึดอยู่ ว่าหน้าตาแบบนี้ นี่คือเรา

แล้วก็รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่า คนอื่นมีหน้าที่ตาย เราไม่ได้มีหน้าที่ตาย

เราจะไม่ได้ตายในวันหนึ่ง

รู้สึกอยู่ลึกๆ มีอุปาทานอยู่ ว่าเราเป็นข้อยกเว้นพิเศษอะไรขึ้นมา

ตัวนี้แหละที่เรียกว่า ความหลงสำคัญผิด นึกว่าเป็น นิจจัง

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า โดยเดิม จิตจะมีอุปาทานอยู่

ว่าอะไรๆ ในกายใจ ในชีวิตนี้เป็นนิจจัง

 

อย่างเคยรู้สึกไหม ถ้ามีความทุกข์อยู่หลายปี จะเชื่อว่าความทุกข์นี้ไม่มีทางหายไปจากชีวิตเรา

 

หรือถ้ามีความสุขต่อเนื่องยาวนานเป็น สิบๆปี ก็เกิดความรู้สึกปักใจว่าความสุข ไม่มีทางหายไปจากชีวิตเรา

 

ความรู้สึกแบบนี้แหละ ที่เรียกว่าเป็นอุปาทานนะ

ทั้งๆที่อะไรๆ เคลื่อนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แปรปรวนไปเรื่อยๆ

 

พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้เห็นนะว่า ถ้าเราไม่มาเข้าสมาธิ ไม่อาศัยอานาปานสติ จะเชื่อความจริงได้ยาก เคยชินที่จะถูกหลอกและเต็มใจให้หลอก ว่านี่ตัวเราแน่ๆ ของเราแน่ๆ อยู่กับเราตลอดไปแน่ๆ

 

บางที เราก็หลงเข้าใจว่า หากว่าทำบุญดีๆ เดี๋ยวชาติหน้าก็ได้ดีแบบนี้อีก หรือว่า ดียิ่งกว่านี้อีก เห็นอยู่แค่นี้ เห็นอยู่แค่ที่เราอยากจะเชื่อ

 

แต่ถ้าเรามีอานาปานสติสมาธิ แล้วเห็นกายเป็นร่างหนึ่ง เห็นสภาวะทางใจเป็นจิตวิญญาณดวงหนึ่ง ในชาติหนึ่ง ที่มันคงรูปหรือคงสภาพอย่างนี้อยู่ไม่ได้นาน

 

ในที่สุด จิตจะดิ่งลงไปถึงความรู้ๆ หนึ่ง คือว่า ร่างนี้เป็น หนึ่ง ในไม่รู้กี่ล้านร่าง ที่ผ่านมา และมีร่าง มีอัตภาพเป็นล้านๆ อัตภาพนี่ ก็เพราะ กรรมกำหนด ทั้งนั้นเลย เป็นไปตามกรรม


แต่ละอัตภาพ ไม่มีฟลุคแม้แต่ครั้งเดียว


คุณเกิดตายไม่รู้กี่ล้านชาติ.. ไม่รู้กี่แสนล้านชาติ

ไม่มีแม้แต่ชาติเดียว ที่บังเอิญไปมีรูปร่างหน้าตาแบบนั้น

หรือมามีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ .. ไม่มีสักชาติเดียวที่บังเอิญ

มีแต่ความพอดีกับกรรม สมตามกรรมที่ได้สะสมไว้

ก่อนหน้าที่จะมาเกิดในชาติหนึ่งๆ  


พอมีอานาปานสติสมาธิ เห็นแจ้งอย่างนี้ หรือไม่ต้องถึงขนาดนี้ก็ได้

เอาแค่เห็นร่างนี้

เห็นแค่ลมหายใจในร่างนี้ แสดงความไม่เที่ยงอยู่

เห็นแค่ปีติสุข ที่เกิดขึ้นในสมาธิ ก็ไม่เที่ยง

แล้วย้อนกลับมาอยู่ในชีวิตประจำวัน

เห็นว่าความทุกข์ ที่เกิดจากการกระทบทั้งปวงในชีวิตนี่ ก็เหมือนกัน

คงตัวอยู่ไม่ได้ แป๊บเดียว ในที่สุดก็ต้องหายไป แปรปรวนไป

 

ในที่สุดนี่ เกิดความรับรู้แบบคงเส้นคงวาขึ้นมาว่า

ร่างนี้ หรือว่า สภาพจิตสำนึก นึกคิด

มีความสุขบ้าง มีความทุกข์บ้างแบบนี้  

ถ้าตัดความหลงผิด ยึดติด ได้สักชาติเดียว 

 

เอาร่างนี้เป็นฐาน .. ไม่ต้องระลึกชาติก็ได้

เอาแค่ชาตินี้ชาติเดียว ตัดได้ขาด

ก็จะเหมือนกับปล้องของโซ่ .. ห่วงโซ่

ห่วงโซ่สายยาวเหยียด ที่มีข้อโซ่เป็นล้านๆ ข้อ

 

ขอแค่ตัดได้แค่ข้อเดียว โซ่ข้อเดียว

โซ่ทั้งหมดที่ยาวเหยียด ก็ตัดขาดออกจากกันหมด

แล้วไม่เกิดขึ้นอีก

 

ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ไปเรื่อยๆ ของมัน

จะจบอยู่แค่ตรงที่ เราตัดข้อโซ่ได้ข้อเดียว

อย่างเช่นร่างนี้ อัตภาพนี้

 

เราอาศัยอานาปานสติสมาธิ ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างดี

ปูทางไว้เป็นขั้นเป็นตอนอย่างดี

ถ้าพิจารณาตามนี้ เราเห็นเลยว่าเราทำได้นะ

ไม่ต้องรอชาติหน้า

 

แต่ถ้าไม่เข้าใจอานาปานสติสูตร

ก็ควานหาอยู่นั่นแหละ ว่าทำอย่างไร

เสร็จแล้วก็รู้สึกว่า ยากเกิน

 

ที่ยากเกิน เพราะไม่รู้วิธี

หรือ รู้วิธี แต่ไม่ลองทำ

หรือ ลองทำ แต่ไม่ทำให้ต่อเนื่อง

หรือ ทำให้ต่อเนื่อง แต่ทำแบบเข้าใจครึ่งๆ กลางๆ

ไม่ถึงที่สุด พอไปถึงจุดที่มีปีติ มีสุข มีความวิเวก

ก็คิดว่าได้เป้าแล้ว

 

หลายๆ คน ขอให้ดูจากคอร์สนี้ก็ได้

ถ้าหากว่า คุณรู้สึกแค่พอใจ หรือไม่พอใจที่จะได้สมาธิ

แล้วไม่ศึกษาต่อ ว่าอานาปานาสติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นอย่างไร

นั่นแหละ เขาเรียกว่า เสียโอกาส

** ** ** **

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น