พุทธพจน์ที่ใช้ในการบรรยาย อานาปานสติสูตร
https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/06/blog-post.html
เกริ่นนำ
https://www.youtube.com/watch?v=rWPLxvRTIT4
สวดมนต์ร่วมกัน
https://www.youtube.com/watch?v=S63cpk8WW24
ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ ))เสียงสติ((
ปิดตา จาระไนองค์ฌาน
https://www.youtube.com/watch?v=jXmXZlSGXu0
อานาปานสติสูตร
https://www.youtube.com/watch?v=aqqLak42q-I
รวมฟีดแบก หลังทำสมาธิร่วมกัน (ยังไม่ได้ถอดคำ)
https://www.youtube.com/watch?v=sALag2jdISA
*******************************************
บทถอดคำรวม
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน(พิเศษ)
ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา
คอร์สอานาปานสติ วันที่ ๒
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔
ถอดคำ : เอ้
_________________________________
เกริ่นนำ
ดังตฤณ :
สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
เป็นคืนพิเศษอีกคืน ครั้งนี้ คอร์สอานาปานสติวันที่ ๒
สำหรับเมื่อคืนนี้ ก็ถือว่าได้น้ำได้เนื้อพอสมควร
เป้าหมายของเมื่อคืนเล็งไว้ว่าจะให้ทุกท่านได้มีประสบการณ์ร่วมกัน
ที่จะเป็นพื้นฐาน ให้ทำความเข้าใจ อานาปานสติสูตร ไปด้วยกัน
54% ก็บอกมาว่ามี วิตก วิจาร ปีติ
และสุข อันเป็นองค์ฌานสี่ข้อแรกนะครับ ซึ่งเกิดขึ้นมาบนทิศทางของอานาปานสติ
เพราะฉะนั้น หลายๆ ท่านก็จะทำความเข้าใจได้ว่า
หายใจเข้า-ออกธรรมดาๆ เวลาอยู่ในสมาธิแบบอานาปานสติ มีความรู้สึกอย่างไร
เหมือนกับเห็นหุ่นตัวหนึ่ง เป็นรูปนั่ง มีลมหายใจเข้าออกอยู่ บางทียาวเหยียด
บางทีสั้นลง หรือว่า สติ มีความคมชัด ถึงขั้นที่เกิดจิตตวิเวก แล้วก็มีปีติ
อันเกิดแต่วิเวก มีสุข อันเกิดจากปีติ ที่เยือกเย็น
ตรงนี้
เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสามารถเห็นสภาวะทางกาย โดยความเป็นรูป
และเห็นความรู้สึกเป็นสุข .. ปีติสุข .. โดยสภาวะของความเป็นนามธรรม
มีความสุข มีปีติ มีความรู้สึกว่า
ร่างกายมีพลังอะไรบางอย่าง หยัดค้ำอยู่ของมันเอง โดยที่เราไม่ต้องฝืน
เราไม่ต้องเกร็ง เราไม่ต้องไปพยายามที่จะเข้าสมาธิ มันเป็นสมาธิอยู่ของมัน
โดยที่มีกายสังขาร ที่สงบระงับ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีกายระงับ ไม่กวัดแกว่ง
คือมีความรู้สึกว่า ร่างกายสามารถอยู่ได้นิ่งๆ แบบสบาย ไม่ใช่นิ่งแบบเกร็ง ขืน
นะครับ
แล้วก็สามารถที่จะระงับความฟุ้งซ่าน หรือที่เรียกว่า
จิตตสังขาร ที่แผ้วผ่านเข้ามาในหัว มีความรู้สึกว่าเหมือนกับสายหมอกบางๆ จรมา
แล้วก็หายไป อะไรแบบนี้
ทำให้เกิดพื้นฐานที่จะมองตัวเอง มองกายใจ
โดยความเป็นรูปนาม ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขานะครับ
คำถามที่เมื่อคืนเกิดขึ้นบ่อยที่สุดก็คือ ถ้าหลับไประหว่างฟัง
เป็นอะไรไหม บางคนกลัวบาปกลัวกรรม ผมบอกไว้ตั้งแต่แรกนะครับว่า ไม่ต้องกลัว
ถ้าหากร่างกายของเรา กำลังพังๆ อยู่
หรือจิตใจของเรากำลังว้าวุ่นอยู่จากการงาน จากการเป็นคนเมือง .. เป็นธรรมดานะครับ
ถ้าหากว่าจะหลับ
ผมไม่ได้สนใจว่า จะหลับหรือตื่น ในขณะที่ฟัง ‘เสียงสติ’
ผมสนใจแค่ว่า หลังจากตื่นขึ้นมา มีความสดชื่นไหม มีกำลังวังชาไหม
แล้วก็รู้ลมได้ง่ายหรือเปล่า
ตอนที่คุณหลับไปด้วย ฤทธิ์ของ ‘เสียงสติ’
จะต่างจากหลับเอง ในขณะที่คุณพยายามนั่งทำสมาธิ ก็คือว่า ‘เสียงสติ’ จะช่วยจัดระเบียบให้สมองของคุณออกมาได้ดุลดีนะครับ
ถ้าหากว่าคุณพยายามนั่งสมาธิแบบมึนๆ
แล้วก็หลับไป จะพบว่าพอตื่นขึ้นมาบางทีจะงัวเงีย ไม่แตกต่างจากหลับธรรมดาเท่าไหร่
หรือซ้ำร้ายบางคนหลับด้วยอาการที่มีความฝืนไว้ ขืนไว้
ตื่นขึ้นมาไม่สดชื่นเกิดความรู้สึกราวกับว่า ไปสู้รบปรบมือกับใครมา อันนี้ก็คือการตีกันของสิ่งที่อยู่ในหัวของคุณนั่นเองนะครับ
ฝ่ายหนึ่งจะพยายามหลับ แต่อีกฝ่ายพยายามยื้อไว้
ก็เลยปวดหัวได้
ทีนี้ มีอีกคำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อย ก็คือ
เป็นคนที่ฟัง ‘เสียงสติ’ ไม่มีปัญหาหรอก แต่ไม่ได้ฟังมาต่อเนื่อง
แล้วก็บางทีบางช่วง งานยุ่ง ทำให้ฟัง ‘เสียงสติ’แล้ว อย่างเมื่อคืน
เกิดความรู้สึกมึนหัว
ผมอธิบายซ้ำนะ คือ สภาพมึนเกิดขึ้นได้อย่างไร
เดิมที สมองของเรา แอคทีฟที่ส่วนหน้า
คือสมองที่ใช้คิด สมองที่ผลิตความฟุ้งซ่านออกมา คือแม้แต่ความคิดที่เป็นระเบียบ
ก็อาศัยสมองส่วนหน้านี่แหละ ในการพยายามคิด
แม้คุณทำสมาธิ
แล้วพยายามที่จะข่มตัวเองให้เข้าสู่สมาธิ ดับระงับความฟุ้งซ่านลง
ก็คือใช้สมองส่วนนี้แหละ ส่วนหน้านี้
หลายๆ คนเลยรู้สึกเสียวที่หว่างคิ้วบ้าง
หรือตึงๆ ที่ขมับบ้าง ก็มาจากสมองส่วนหน้านี้ทั้งนั้นเลยนะ ที่ทำงานหนัก แบบ
ไม่สมเหตุสมผล ทำงานหนักแบบเกินตัว ทำงานหนักแบบที่มีอาการยื้อ
แม้กระทั่งคนที่พยายามทำความสงบ ที่ไม่สงบก็เพราะว่า สมองส่วนหน้า
ยังคงทำงานหนักอยู่นั่นเองนะ
ทีนี้ ตัว ‘เสียงสติ’ ถูกออกแบบมา .. ‘เสียงสติ’ เลยนะ ไม่ใช่ Binaural Beats .. ถูกออกแบบมาเหมือนกันทุกตัว แต่จะมีหน้าที่เฉพาะ จุดมุ่งหมาย
หรือเป้าหมายเฉพาะ
ตัว ‘เสียงสติ’
มีความมุ่งหมายที่จะทำให้สมองส่วนหลัง ถูกกระตุ้นให้ทำงานขึ้นมา และ ทำให้(เกิด)
คลื่นย่านช้า นับแต่ อัลฟ่าลงไปนะครับ อัลฟ่า เธต้า และเดลต้า นะ
ถ้าหากว่า ใครมีสามย่านนี้ ที่ต่ำลงมากว่าเบต้า
มาถูกผลิตขึ้นที่สมองส่วนหลังมากๆ ก็จะเกิดความรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย
หรือบางทีคุณเคยใช่ไหม ที่รู้สึกราวกับว่า ตัวถอยไปอยู่ข้างหลัง
แล้วมองมาอีกคนหนึ่ง มีตัวนั่ง มีจิตที่ตั้งอยู่ตรงนี้ จริงๆ
ก็คือการทำงานของสมองส่วนหลังนั่นแหละนะ ซึ่งยิ่งมีคลื่นช้า
เกิดขึ้นที่สมองส่วนหลังมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย
เกิดความรู้สึกสงบ เกิดความรู้สึกราวกับว่า
มีใครอีกคนหนึ่งนั่งดูอยู่จากเบื้องหลัง
แต่ถ้าหากว่า คุณยังมึน พยายามที่จะนั่งฟัง
แล้วงงๆ ด้วยเหตุใดก็ตามนะครับ ด้วยความไม่แน่ใจว่า เอ๊ะ ตกลงจะให้ฟังเสียง
หรือจะให้ดูลมหายใจ
ผมบอกอย่างที่บอก .. ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้
แล้วสังเกตเฉยๆ ว่า ลมหายใจ ยาวขึ้นไหม ถ้าหากว่ายาวขึ้น ไม่ต้องไปดีใจ
ถ้าหากสั้นลง ไม่ต้องเสียใจ เอาแค่ว่า ทำความรับรู้แบบเหมือนกับ หลักๆ
ไม่รู้ไม่ชี้ แต่สังเกตอยู่แค่นิดเดียว ยาวขึ้นหรือเปล่า ถ้ายาวขึ้นก็ยาวขึ้น
อย่างนี้แหละ ที่สมองส่วนหน้าจะทำงานน้อยลง
หรือกระทั่งถูก .. บางที่ใช้คำว่า ถูก deactivate ไปเลย
คือหยุดทำงานเลย ซึ่งไม่มีขนาดนั้นหรอกนะ
แต่ถ้าหากว่าคุณมีความยื้ออยู่ สงสัยก็ตาม
รู้สึกต้านก็ตาม รู้สึกรำคาญเสียงก็ตาม อะไรก็แล้วแต่ ที่จะทำให้เกิดอาการคิดๆ
นึกๆ .. สมองส่วนหน้าจะไม่หยุด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเภทที่ระแวง
หรือกังวลอะไรต่างๆ เกี่ยวกับ ‘เสียงสติ’ อาการยื้อนั้น ก็จะทำให้คุณไปสงบผ่อนพักไม่ได้เต็มที่
การยื้อนั่นแหละที่ทำให้มึน
หรือบางคนไม่ได้ยื้อ ไม่ได้พยายามที่จะฝืนต้าน
ไม่ได้คิดมากอะไร แต่ก็มึนอยู่ดี
เพราะอะไร เพราะว่า
สมองส่วนหน้าของบางคนทำงานหนักจริงๆ ทำทั้งวันทั้งคืน ทำแบบไม่หยุดไมหย่อน แล้วคิด
.. คือบางที ไม่เข้าเป้า ไม่เป็นระเบียบ .. อย่างงานค้างคา มีความกังวลตกค้างอยู่
ก็อดที่จะรื้อขึ้นมา รื้อฝอยหาตะเข็บ เอามาครุ่นคิดระหว่างฟัง ‘เสียงสติ’ ไม่ได้ ก็เลยยังไม่หยุดดี
สมองส่วนหน้า ถ้าไม่หยุดดี ก็จะมีอาการยื้อ
ไม่ต่างจากคนคิดมาก หรือสงสัย ‘เสียงสติ’ นั่นเอง
ทีนี้ถ้าหากว่า เราทำไปคืนต่อคืน แล้วดีขึ้น
นั่นแสดงว่า สมองถูกเทรน เทรนใหม่ แทนที่จะแช่ หรือว่าปักหลักอยู่กับอาการคิดมาก
คิดไม่หยุด
สมองจะถูกเทรนให้ .. เออ ไม่ต้องคิดอะไรก็ได้
แล้วก็ปล่อยๆ ไป พอมีอาการไม่ต้องคิดอะไรมากๆ ปล่อยๆ ไปนี่แหละ ตัวนี้
ที่สมองส่วนหลังจะเริ่มได้ช่องทำงาน โดยไม่มีอาการมึน โดยไม่มีอาการฝืนนะครับ
พูดง่ายๆ ถ้าคุณชินกับ ‘เสียงสติ’ ที่ผมเอามาเปิดให้ฟังนี้
ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง ด้วยตัวของมันเอง เพราะ ‘เสียงสติ’ ช่วยจัดการให้แล้วนะ
หลายคนยังงงกับคำว่า องค์ฌาน คือ วิตก วิจาร
ปีติ และ สุขนะครับ
คืนนี้ เราได้ประสบการณ์อย่างไร
แล้วเรามาแจกแจงซ้ำกันอีกครั้ง ตอนนี้ผมอธิบายสั้นๆ คร่าวๆ นะ
วิตก คือตั้งใจนึกถึงลมหายใจ
ถ้าคุณรู้สึกว่า
ใจเล็งไปที่ลมหายใจนั่นคือวิตกแล้ว
วิตกมีทั้งแบบไม่มีคุณภาพ และ แบบคุณภาพสูง
ถ้าหากว่าเป็นวิตกที่มีคุณภาพสูง
คุณจะรู้สึกรับรู้เกี่ยวกับลมหายใจเป็นเป้าที่ชัดเจน
แต่ถ้าหากว่า เป็นวิตกแบบที่ยังไม่ค่อยมีคุณภาพมาก
เป็นวิตกแบบที่ความสามารถทางใจยังเคลือบแฝงอยู่ ก็จะนึกเรื่องอื่นไปด้วย
เป็นวิตกที่เกิดๆ ดับๆ
วิตักกะ ไม่ใช่วิตกกังวล .. วิตกในที่นี้
หมายความว่า เราโฟกัสให้จิตเล็งอยู่กับอะไร
ส่วน วิจาร
เกิดขึ้นตอนที่คุณรู้สึกเหมือนกับว่า หลับตาอยู่ เห็นสายลมหายใจชัดเจน ราวกับว่าหัวหายไป
เหลือแต่ลมหายใจปรากฏเด่นอยู่ จิตกับลมหายใจเป็นอันเดียวกัน
แล้วประกอบพร้อมไปด้วยเครื่องแวดล้อมของลมหายใจ ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถนั่ง อันเป็นที่ตั้งของลมหายใจ
หรือบางคน เห็นเลย ท้องพองขึ้น แล้วก็ยุบลง
หรือบางคนเห็นชายโครงขยายออกแล้วหุบเข้า
อย่างนี้ ถ้าเป็นภาพคงค้างในใจว่า
ลมหายใจเข้าออก ประกอบด้วยภาพแบบนี้แจ่มชัด
รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ จิตเป็นหนึ่งเดียวกันกับลมหายใจ อย่างนี้ก็คือวิจาร
บางคนรู้สึกราวกับว่าสัมผัสลมหายใจได้
ราวกับเอามือไปสัมผัสทีเดียว ตัวแนบเข้าไป ตัวติดเข้าไป ที่จิตนี่ติดเข้าไป
แนบเข้าไปกับลมหายใจแบบนี้ เรียกว่าวิจาร
ส่วนปีติ ความเย็น
ของบางคนเกิดขึ้นบางส่วนของร่างกาย บางอวัยวะ บางคนเกิดขึ้น (แบบ) ฝนตกทั่วฟ้า
เหมือนเอาตัวจุ่มลงไปในน้ำเย็นทั้งตัว อย่างนี้คือเป็นปีติในองค์ฌานนะครับ
ปีติในองค์ฌาน ท่านให้นับเอาความรู้สึกว่า
มันเย็นทั้งตัว เย็นแบบไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเลยที่ไม่เย็นนะครับ
แต่บางคนก็ถาม .. คือสงสัย
เพราะว่ารู้สึกจิตนิ่ง แต่ไม่ได้เย็น หรือไม่แน่ใจว่าแบบนี้เรียกเย็นหรือเปล่า
ที่รู้สึกเหมือนกับ ว่าง สบาย
แบบนี้เรียกปีตินะครับ เป็นปีติชนิดหนึ่ง
ถึงแม้จะไม่เย็นชุ่มฉ่ำก็ตาม ยังไม่มีสารดีๆ ฉีดออกมาทั่วร่างก็ตาม
ก็ถือว่าเป็นปีติได้
ความว่าง ความเบา ความโปร่ง
แม้แต่กระทั่งความรู้สึกตัวอุ่น อุ่นขึ้นเหมือนมีก้อนพลังก่อตัวขึ้นมา
ถ้าให้ความรู้สึกสบายแล้วก็เป็นปีติอ่อนๆ เหมือนกันนะครับ ที่จะเย็นสนิท
จะเข้าสู่ภาวะการปรับทางกาย พูดง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องเคมีทางกายนั่นแหละ
ที่ทำให้เกิดความรู้สึกเย็นทั่วตัวขึ้นมา
ซึ่ง ‘เสียงสติ’ ถ้าใครคุ้นกับมันแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซีรีส์นี้ ก็จะเย็นง่าย และเย็นกระจายทั่ว
โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม หรือว่า ไม่ใช่มาตรวัดที่เป็นเรื่องโก้เก๋ หรือว่าใครเจ๋ง
ใครไม่เจ๋งอะไรอย่างไรนะ
เอาเป็นว่า ตัวของปีติ พูดง่ายๆ นะครับ
ถ้าหากว่าเรามีจิตที่อยู่กับ ‘เสียงสติ’ และการระลึกถึงว่า ลมหายใจ
มีความต่างไปอย่างไรในแต่ละขณะ สั้นขึ้น หรือยาวลง แบบนี้
จะช่วยให้เกิดปีติที่เราพูดถึงว่า เป็นปีติอันเกิดแต่วิเวก
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ฌานได้เอง
ไม่ต้องใช้ความพยายาม อย่าพยายามนะครับ
ยิ่งพยายามน้อยเท่าไหร่ สมองส่วนหลังยิ่งถูกแอคติเวท (Activate)
ขึ้นมามากเท่านั้น
ความสุข ที่เยือกเย็นก็จะมาควบคู่กัน
พร้อมกันเป็นแพคเกจเดียวกัน กับปีตินั่นเองนะ
ที่ท่านกำกับให้บอกว่า ปีติเป็นองค์ฌานหนึ่ง
แล้วมีความสุขเป็นองค์ฌานหนึ่ง สาเหตุก็เพื่อให้รู้ว่า ปีตินั้น ไม่ใช่ปีติแบบกระโดดโลดโผน
ไม่ใช่แบบปุ้งปั้ง แต่เป็นปีติแบบที่จะทำให้เกิดความเยือกเย็น และที่สำคัญ
ถ้าหากว่า ขยับชั้นเลื่อนคุณภาพของฌานขึ้นไป ตัวปีติหายไปได้ เหลือแต่ สุข ..
สุขเย็นนะครับ
ทีนี้ ก็ต้องผ่านไปเป็นขั้นๆ ด้วยนะ
คือที่จะเป็นองค์ฌาน
ต้องขึ้นต้นด้วยการนึกถึงลมหายใจก่อน ในอานาปานสตินะ ถ้าอยู่ๆ บอกว่า
มีแต่ปีติเฉยๆ อันนั้น เป็นสิ่งที่ว่า ‘เสียงสติ’
จัดการช่วยปรับสมดุลของคลื่นสมองของคุณนะครับ โดยที่คุณยังไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรนะ
ยังไม่ได้ลงมือจัดการอะไรกับสมาธิของตัวเองนะครับ ขอให้ทำความเข้าใจด้วย
ไม่ใช่ว่า ‘เสียงสติ’ อย่างเดียว
ทำให้คุณเข้าถึงองค์ฌานได้ครบหมดนะ ต้องมีอาการเล็งด้วยตัวเองด้วย
การสวด อิติปิโสฯ ..
ไม่ได้แค่สวดแบบนกแก้วนกขุนทองกันอีกต่อไป
แต่เป็นการสวดเพื่ออัญเชิญพระจิตของพระพุทธเจ้า ลักษณะของจิตพระองค์เป็นอย่างไร
เราอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในใจของเราเอง
** สวดมนต์ร่วมกัน **
(ตั้ง นะโมสามจบ สวดบท อิติปิโสฯ ร่วมกัน)
และนี่ก็คือจิต ที่ไม่เอาอะไรแล้ว
อยู่ในท่านั่งแบบนี้ ทำความรู้สึกอยู่ เป็นปัจจุบันอยู่แบบนี้นี่แหละ
ที่เราจะสามารถรู้สึกได้ ถึงภาวะแบบที่ไม่เอาอะไรเลย ในจิตของพระองค์นะครับ ..
จิตที่ท่านสำเร็จธรรม ตรัสรู้ เพื่อที่จะได้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
คือจิตที่ไม่เอาอะไรแล้ว
คือจิตที่ไม่มีความดิ้นรนแล้ว
คือจิตที่ไม่มีความกระสับกระส่ายแล้ว
คือจิตที่มีความตื่นรู้ พร้อมรู้ตามจริง
ไม่ใช่รู้ตามอยาก แต่เป็นรู้ตามจริง
ตัวนี้แหละ
ที่ถ้าหากว่าเราสามารถรู้สึกถึงจิตของพระองค์ หรือพระหฤทัยของพระองค์ได้
จิตของเราก็เหมือนกับอัญเชิญพระพุทธคุณมาประดิษฐานในตัวเรา ณ บัดนี้ ด้วยเช่นกัน
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้ จิตที่นุ่มนวล
จิตที่เป็นกุศล จิตที่มีความสว่างหลังสวด อิติปิโสฯ สามารถใช้เป็นบาทฐาน
เป็นเครื่องตั้งสมาธิชั้นสูงได้ สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ง่าย
สามารถที่จะสงบได้เร็ว
** ฟัง ‘เสียงสติ’ และนั่งสมาธิร่วมกัน **
)) เสียงสติ ((
** ปิดตา จาระไนองค์ฌาน **
เราจะมาดูกันว่า
ภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ ทางกายทางใจ เอามาใช้สำรวจองค์ฌานได้อย่างไร
ถ้าหากว่า สภาวะทางกายนี้ กำลังเล็งอยู่
ประสานอยู่ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจเข้าออก ไม่มีทิศทางที่เป๋ไปจากนี้
นี่เรียกว่า เกิดองค์ฌานคือ วิตก แน่ๆ แล้ว
ถ้าหากว่า ภาพลมหายใจที่มีความยาวเหยียด
มีความแจ่มชัด แล้วก็มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ราวกับว่า กายใจ
ประสานเป็นอันหนึ่งเดียว ไม่เป็นต่างหากจากกัน ไม่เป็นอื่นจากกัน
อันนี้เรียกว่า องค์ คือ วิจาร เกิดขึ้น
และถ้าหากว่า จิตของคุณ มีความวิเวก ไม่ดิ้นรน
ไม่ซัดส่าย ไม่มีความกระสับกระส่าย ไม่มีความฟุ้งซ่านมาห่อหุ้มได้
นี่เรียกว่า มีปีติ อันเป็นองค์ฌานข้อที่สาม
เป็นปีติ อันเกิดแต่วิเวก ไม่ใช่ปีติ อันเกิดจากความดีใจที่ได้ของ
เป็นปีติ อันเกิดจากการที่จิตมีความรู้สึกว่า
ไม่ต้องเอาอะไรอีกก็ได้ ขอแค่รู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ ก็พอ อย่างนี้
ถ้าหากว่า มีความรู้สึกว่า ปลอดโปร่ง สบายใจ
อยู่กับความวิเวกของจิตแบบนี้ ในที่สุดมีความชุ่มเย็นเกิดขึ้น
ราวกับว่าเอาทั้งตัวมาจุ่มลงในน้ำเย็น ไม่มีแม้แต่ตารางนิ้วเดียวของร่างกาย
ที่ไม่ถูกความเย็นแตะต้อง
อันนี้คือเป็นองค์ฌาน .. ปีติ
ในองค์ฌานที่เกิดขึ้น เต็มตัว
แต่ถ้าหากว่า แค่รู้สึกปลอดโปร่ง
แค่รู้สึกสบายใจ อิ่มอกอิ่มใจ อย่างนี้ก็เป็นปีติในองค์ฌานได้เหมือนกัน
เพียงแต่ว่าเป็นปีติไม่เต็มขั้น เป็นปีติอ่อนๆ ที่พร้อมจะเข้าสู่กระแสความเยือกเย็นในลำดับต่อไป
และที่มาควบคู่กันกับปีติอันเกิดแต่วิเวก ก็คือความรู้สึก
สุข เย็นกายเย็นใจ ความสุขนี้เองที่จะทำให้ สภาพทางกาย สงบระงับ
ไม่อยากกระสับกระส่าย ไม่อยากกระดุกกระดิก ไม่อยากที่จะลุกขึ้นไปไหน
และความสุขนี้เอง ที่ทำให้จิตใจมีความสงบจากอาการฟุ้งซ่าน
ไม่มีอาการอยากจะกระโดดไปกระโดดมา มีแต่ความอยากอยู่นิ่งๆ เพื่อที่จะรู้ว่า
ลมหายใจกำลังเข้าอยู่ หรือว่าออกอยู่ ลมหายใจ ยาว หรือ สั้น
องค์ฌานทั้งสี่ที่ปรากฏอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้
เราจะมาดูต่อกัน
ถ้าหากว่าเกิดขึ้นต่อเนื่อง
คุณจะรู้สึกถึงกำลังชนิดหนึ่ง ที่ผนึกกระแสจิตให้มารวมอยู่
และรวมนี่ไม่ใช่รวมเป็นก้อนเล็กๆ นะ แต่รวมนิ่ง แผ่ออกเป็นรัศมีกว้างใหญ่
ใจกลางมีความว่าง และขอบเขตรัศมีบางทีจับต้องได้ราวกับว่าแผ่ไปสักสองเมตร 360 องศา
มีรัศมีแผ่ออกไป
หรือบางที กระแสใจราวกับว่า
แผ่ออกไปได้กว้างกว่านั้น ราวกับเราเห็นขอบฟ้าทะเล หรือว่าท้องฟ้ากว้างใหญ่อยู่
ยิ่งจิตเรามีความสดใส ร่าเริงมากขึ้นเท่าไหร่
ราวกับว่า ยิ้มของเรากว้าง แผ่ออกไปทั่วฟ้าทั่วดิน
เราก็จะยิ่งเกิดความรู้สึกตั้งมั่น มีกำลังมากขึ้นเท่านั้น
ลักษณะของจิตที่แผ่กว้างออกไป
แล้วมีกำลังที่จะตั้งมั่นอยู่ สามารถนิ่งได้อยู่ ตัวนี้แหละ ที่ในที่สุดแล้ว
จะรวมลงเป็นสมาธิอย่างใหญ่ เกิดความรู้สึกราวกับว่า จิตทั้งดวง .. จิตเต็มๆ
ทั้งดวง มีความเกลี้ยงเกลา ปลดเปลื้องออกจากภาระทั้งปวง
ถึงแม้ว่า จะยังรู้ลมหายใจเข้าออกอยู่
ถึงแม้ว่า จะยังมีปีติสุขห่อหุ้มอยู่ก็ตาม
อยู่รอบนอก
ตัวของจิตเองก็ราวกับ ปลดเปลื้องออกจากพันธนาการทั้งปวงได้
ไม่เกาะติดอยู่กับอะไร
ทำหน้าที่รู้สิ่งอื่นอยู่อย่างเดียว
ลมหายใจ ดูหยาบไปเลย แม้จะมีความเป็นสายยาว
ละเอียด มีความปราณีตแค่ไหน เราก็รู้สึกราวกับว่า มันเป็นของหยาบ เป็นของอื่น
เป็นของนอก เป็นเปลือก ที่อยู่คนละชั้น
คนละเลเยอร์กันกับสภาวะของจิตที่มีความตั้งมั่น
และปลดเปลื้องตัวเองออกจากทุกพันธนาการ
แม้ปีติสุข จะมีอยู่ ก็เป็นแค่เครื่องหล่อเลี้ยง
หรือว่าพยุง ประคองจิตที่มีความตั้งมั่นนั้น จิตที่มีความไม่เกี่ยวกับอะไรนั้น
จิตที่มีความเกลี้ยงเกลา ไม่เป็นที่ยืน ไม่เป็นที่เกาะติดของกิเลสชนิดใดๆ
ตัวที่เราสามารถเห็นจิตนี้ได้
ก็คือลักษณะของอานาปานสติ ที่มีฐานยืน เป็นจิตที่ว่าง ตั้งมั่น
แล้วก็มีความเบิกบาน มีความร่าเริง
** บรรยายอานาปานสติสูตร **
คืนนี้เราจะมาเขยิบความรู้ความเข้าใจ
เกี่ยวกับอานาปานสติสูตรกันอีกขั้นหนึ่ง
เมื่อคืนนี้เราพูดถึงเบสิค เบสิคจริงๆ เลย
ผมจะยังไม่ได้เข้าเรื่องของตัว กาย เวทนา จิต ธรรม ได้แค่บอกว่าชี้ให้เห็นว่า
การหายใจอย่างมีสติรู้ชัด จะนำมาซึ่งปีติอันเกิดแต่วิเวก และสุขเย็นนะ
ที่มีความเยือกเย็น
วันนี้
เรามาศึกษาอานาปานสติสูตรร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ลงลึกเข้าไปในเรื่องที่เรายังไม่ได้พูดถึงนะ
ย้ำนิดหนึ่ง ที่เราทำกันมา ‘เสียงสติ’ ก็ทำให้จิต และกายเข้าที่วิเวก
กายตั้งตรง ดำรงสติมั่น
ไม่อยากกระสับกระส่าย
ไม่อยากเอาอะไรที่จะพ้นตัวไป
เอาจิตเข้ามา เอาสติเข้ามา
อยู่กับสภาพความเป็นกายเป็นใจนี้ อย่างเดียว
ในหมวดกาย
อย่างที่เมื่อวานเราก็ได้ศึกษาร่วมกันมาแล้วนะ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส
ให้มีสติ หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้ายาว รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
หรือว่าถ้ามันสั้นลงก็ไม่ต้องเสียใจ
มีสติรู้ตามจริงนะครับ
แล้วก็เราก็จะมีสภาพจิตแบบหนึ่ง
ที่สามารถรู้ลมทั้งปวงได้ราวกับว่า แยกออกมาเป็นต่างหากจากลมหายใจ
เป็นใครอีกคนหนึ่ง ที่ดูคนอื่นนั่งหายใจ ยาวๆ สั้นๆ อยู่
ถึงตรงนี้นะครับ เราก็จะรู้สึกว่า
สภาวะทางกายไม่ต้องขยับก็ได้ อยู่นิ่งๆ เฉยๆ ก็สบายดี ตัวนี้แหละที่เราสามารถรู้ ณ
ขณะที่กำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า ว่าสภาวะทางกายอยู่นิ่งๆ
สงบระงับไม่กวัดแกว่งก็ได้ .. นี่ ตัวกายสังขารตรงนี้
กายสังขาร แปลได้สองอย่าง คือลมหายใจก็ได้
กายสังขารคือความปรุงแต่งทางกายก็ได้
ในที่นี้ชัดเจนนะครับ ยังมีหายใจออก
ยังมีหายใจเข้า เพราะฉะนั้นที่จะตีความว่ากายสังขารนี่คืออะไร ก็คือสภาพทางกายที่สงบระงับนั่นเอง
ถ้าทำได้ถึงตรงนี้ เริ่มมีสมถะเต็มขั้นแล้ว คือ
มีสติ แล้วก็ไม่มีกิเลสแบบหยาบๆ เข้ามา เรียกว่าเป็นการเห็น ‘กายในกาย’
เรามาเริ่มเข้าสู่ ‘หมวดเวทนา’ หรือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์
โดยเริ่มนับจากการที่รู้สึกถึงปีติ เวลาหายใจออก
หรือหายใจเข้า แล้วเกิดปีติ ตัวนี้ เริ่มต้นหมวดเวทนา
จริงๆ แล้วปีติ ถ้าพูดเรื่องขันธ์ห้า
ก็อาจจัดเข้าหมวดสังขารขันธ์ แต่ว่า ณ
ที่นี้เอาความรู้สึกแบบตรงไปตรงมาในทางปฏิบัตินะครับ
พระพุทธเจ้าท่านให้เล็งว่า เมื่อเกิดปีติ
เมื่อเกิดความรู้สึกว่า เย็นซ่านขึ้นมา ตัวนี้ก็คือปีติ นะครับ
แล้วถ้าหากว่าปีตินี้ เกิดขึ้นต่อเนื่องนานพอ
ก็จะเกิดสุขเย็น ทั้งสภาวะทางกาย สภาวะทางใจ
เมื่อเกิดสุขเย็นนานเข้า เราก็จะรู้สึกว่า
ภาวะความคิดเวลาจรเข้ามา เป็นแค่สายหมอกแผ่วๆ ไม่มีความหมาย ไม่มีค่า
ไม่มีอะไรที่ไปควรยึด รู้สึกเลยว่าที่แผ่วมา แผ่วไป มันสงบระงับลงก็ได้
ไม่ต้องมีก็ได้ ไม่เห็นต้องให้ความสำคัญ ไม่เห็นต้องให้ค่าอะไรกับมัน
เหมือนกับที่คุณรู้สึกว่า นั่งไปแล้ว.. ความสุข
ความเย็นที่เด่นขึ้นมานั่นแหละ เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด
เมื่อเห็นอย่างนี้ เราก็ได้ขื่อว่า ‘เห็นเวทนาในเวทนา’ คือเป็นส่วนหนึ่งของปีติ เป็นส่วนหนึ่งของความสุข ที่เกิดขึ้น
ปีติกับสุข มีอยู่หลายระดับ มีอยู่หลายประเภท
ปีติแบบโลกๆ ดีใจที่ได้ของก็มี
ปีติ หรือว่าสุขแบบที่มีความละเอียดปราณีต
อันเกิดจากการเข้าสมาธิได้ อย่างนี้ก็มี
อันนี้ก็เรียกว่าเป็นการเห็นเวทนาในเวทนา
ถ้าเห็นเวทนาในเวทนา ไม่ให้ค่ากับความคิดฟุ้งซ่าน
อย่างนี้เรียกว่าเป็นสมถะเต็มขั้นได้เหมือนกัน
คราวนี้เรามาดู อย่างเมื่อครู่นี้นะครับ
เมื่อเรารู้สึกถึงความเย็นกายเย็นใจ สงบระงับ เราเข้าไปถึงความรู้สึกแท้ๆ
อันเป็นแก่น อันเป็นฐาน คือสามารถรู้สึกได้ถึงความเป็นจิต
ความเป็นจิตเป็นอย่างไร
จิต มีความร่าเริง
หรือว่าจิตมีความเศร้าหมองหดหู่
ถ้าหากว่า จิตมีความร่าเริง อันเกิดจากการมีปีติ
การมีสุข นั่นก็มีทิศทางที่จิตจะเดินต่อไปข้างหน้า เดินต่อไปบนเส้นทางของสติ
เดินต่อไปบนเส้นทางของการรู้ว่า กายนี้ใจนี้ กำลังแสดงอะไรให้เราเห็นอยู่
ลักษณะความร่าเริงนั้นแหละ ที่เมื่อกี้ก็หลายๆ
คนเกิดขึ้น แล้วพอมีจิตที่ร่าเริงไปนานๆ เข้า ก็เกิดความตั้งมั่นขึ้นมา
คุณจะรู้สึกถึงความเป็นภูเขาเหล่ากา คุณจะรู้สึกถึงความหนักแน่นราวกับหินผา
คุณจะรู้สึกราวกับว่า จิตมีความตั้งอยู่ในความนิ่ง ว่าง โปร่ง เบาอยู่อย่างนั้น
ไม่เคลื่อนไปไหน
อันนี้แหละที่เรียกว่า ‘จิตตั้งมั่น’
เรายังสามารถรู้อยู่ว่า จิตนี้มีความตั้งมั่น
ทั้งๆ ที่กำลังปรากฏลมหายใจทั้งเข้าและออก ไม่ใช่ว่า ลมหายใจหายไป
แล้วเราถึงจะรู้ได้ว่า จิตกำลังมีความตั้งมั่นอยู่
แล้วสุดท้าย เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว
พระพุทธเจ้าก็ชี้ให้ดูนะครับว่า
.. เราจักเปลื้องจิต หายใจออก
เราจักเปลื้องจิตหายใจเข้า ..
ความหมายก็คืออย่างที่เมื่อสักครู่ หลายๆ
คนคงรู้สึกนะครับว่า จิตคล้ายๆ
ปลดเปลื้องพันธนาการออกจากทุกสิ่งที่มันถูกร้อยรัดไว้ .. ลมหายใจก็ตาม ปีติ สุข ก็ตาม
เหมือนกับของภายนอก เหมือนกับเปลือกที่ห่อหุ้ม ไม่ต้องเกี่ยวข้องกันก็ได้
การที่เราสามารถเปลื้องจิตออกจากความเกี่ยวพัน
หรือ พันธะอะไรทั้งปวง ทำให้รู้สึกราวกับว่า จิตเป็นอะไรเกลี้ยงๆ
มีความเกลี้ยงเกลา ไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรเลย
ไม่ต้องไปพัวพันกับอะไรเลย
ตัวลักษณะของจิตที่เปลื้องออกจากกิเลส
จากเครื่องร้อยรัดทั้งปวงเป็นแบบนี้
เมื่อเห็นได้แบบนี้ พระพุทธเจ้าก็บอกว่า
เราได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตแล้ว
‘จิตในจิต’
ก็คือ จิตมีหลายดวง
จิตที่ฟุ้งซ่านก็มี
จิตที่เป็นสมาธิก็มี
จิตที่มีความเศร้าหมองก็มี
จิตที่มีความร่าเริงชุ่มชื่นก็มี
อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นจิตดวงหนึ่ง
จิตที่มีความตั้งมั่น จิตที่มีความเป็นสมาธิ
เราเรียกว่าเห็นจิตในจิตได้
ตัวนี้ก็คือมีความสงบ
สรุปก็คือ
คืนนี้เราได้เบสิคในการเห็นความเป็นกาย เป็นใจ ลึกเข้ามาอีกขั้นหนึ่ง
เราเห็นเบสิคคือความเป็นกาย
สภาพเป็นกายที่แจ่มชัด แล้วก็สภาพความเป็นเวทนา เป็นสุข มีปีติ มีสุข
แล้วก็เห็นสภาพความเป็นจิตที่มีความตั้งมั่น
เบสิคสามข้อนี้สำคัญมาก
เดี๋ยวเราจะได้ดูกันในคืนต่อๆ ไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น