วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ ช่วงเกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ

 

สำหรับคืนนี้เป็นตอนชื่อว่า อุปจารสมาธิ เพราะเราจะมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า อุปจารสมาธิ ประสบการณ์ตรงเป็นอย่างไร

 

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ร่วมประสบการณ์เดียวกันทุกคนเป๊ะๆ แต่อย่างน้อย ผมเชื่อว่า คืนนี้ ถ้าหากว่าเราทำกันถูกทิศถูกทาง ก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า จิตแบบที่จะเจริญวิปัสสนา เจริญสติ เป็นจิตที่ควรจะมีพื้นฐาน 

หรือว่ามีลักษณะ ไปในทางแบบใด

 

ถ้าหากว่า ใครกำลังสงสัยว่าเจริญสติมา รู้สึกแห้งแล้ง รู้สึกว่าไปไม่ถึงไหน รู้สึกว่าวนกลับมาที่เดิม เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง คืนนี้อาจจะเป็นคำตอบให้กับ ชีวิตของการเจริญสติของท่าน

 

ก่อนอื่นเรามาคุยกันชัดๆว่า อุปจารสมาธิ ที่จะพูดถึงในคืนนี้ ที่จะเอาประสบการณ์ตรงของท่านเองนี่ เป็นตัวทำความเข้าใจ เป็นอุปกรณ์ศึกษา

 

ขอให้ตกลงกันที่ตรงนี้ชัดๆว่า เป็นอุปจารสมาธิ อันเกิดจากอานาปานสติ 

 

เท่าที่ผมศึกษาพุทธพจน์มาจากไตรปิฏก ชัดเจนว่าสมาธิ ไม่ว่าจะกล่าวถึงปฐมฌาณ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุฌาน .. พระพุทธเจ้าท่านตรัสมาจากพื้นฐาน การทำอานาปานสติหมดเลย 

 

หลักการฝึก หรือว่าข้อธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติ ที่ปรากฏในพระไตรปิฏกนี่นะ เป็นการแตกกิ่งก้านสาขา ต่อยอดมาจากอานาปานสติล้วนๆ 

 

ที่กล้ากล่าวอย่างนี้เพราะว่า อานาปานาสติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานาปานสติสูตร พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงตามลำดับ หนึ่ง สอง สาม ชัดเจน step by step (เป็นขั้นๆ) เลย .. ส่วนข้อธรรม หรือว่าข้อปฏิบัติอื่นๆนี่ ท่านกล่าวโดยสังเขป 

ไม่เชื่อไปดูเลยนะ ไปค้นคว้าดู พระองค์ตรัสเน้นย้ำว่า อานาปานสติเป็น ศูนย์กลางของการภาวนา เมื่อใครเจริญอานาปานสติเต็มที่ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถเจริญสติปัฎฐาน 4 ให้บริบูรณ์ได้

 

เมื่อเจริญสติปัฎฐาน 4 บริบูรณ์ได้ ก็สามารถเจริญโพชฌงค์ 7 ให้บริบูรณ์ได้เช่นกัน

 

พูดง่ายๆ นะ อานาปานสติ เป็นตัวนำให้เข้ามาสามารถรู้จักกับ กาย เวทนาจิต และ ธรรม .. พูดง่ายๆ กายใจนี้ .. อย่างแจ่มชัดว่า เป็นเพียงรูป เป็นเพียงนาม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา มีความไม่เที่ยง ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา

 

อย่างนี้เรียกว่า เป็นการนำร่องไปสู่ความเป็นสติปัฎฐาน .. ฐานที่ตั้งของสติทั้ง 4 ประการ กาย เวทนา จิต ธรรม 

 

พอรู้กายใจว่า ไม่ใช่ตัวตน ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา ความยึดความหวงก็หายไป กลายเป็นความว่างอย่างรู้และพร้อมทิ้ง

 

ตรงนี้แหละ ว่างอย่างรู้ แล้วก็พร้อมทิ้งนี่ คือโพชฌงค์ 7 อาการก็ .. ใจจะว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นสักแต่เป็นกาย เห็นสักแต่เป็นใจ 

โดยความเป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่โดยความเป็นบุคคล 

 

พอเริ่มรู้สึกว่า สักแต่เป็นรูป สักแต่เป็นนาม ที่ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา จิตจะเริ่มฉลาด อย่างที่เรียกว่าเกิดปัญญาแบบพุทธ คือพร้อมทิ้งความยึดความหลงว่านี่เป็นตัวเป็นตน 

 

อันนี้คือ โพชฌงค์ 7 ซึ่งเคยแจกแจงรายละเอียดไปแล้ว ว่ามีอะไรบ้าง

 

พอ โพชฌงค์ 7 เจริญขึ้นเต็มที่บริบูรณ์ ถึงมรรคถึงผล อันนี้คือความเป็นที่สุดว่า ทำไมพระพุทธเจ้า ถึงแจกแจงอานาปานสติ ไว้ละเอียดชัดเจนเหลือเกิน ในขณะที่ข้อธรรมเพื่อการปฏิบัติอื่นๆ ท่านตรัสไว้เพียงสังเขป

 

อานาปานสตินี่ชัดมาก เริ่มต้นตั้งแต่ หายใจออก ก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า ใครที่ไหนก็ทำได้

 

แต่พอ รู้ว่าหายใจเข้า รู้ว่าหายใจออกแล้วนี่ .. รู้แบบพุทธ คือ รู้ว่ายาวบ้าง สั้นบ้าง ไม่เที่ยง 

 

ตรงนี้แหละ ที่เราจะมาคุยกันว่า การรู้ในแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ที่เป็นอานาปานสติจริงๆ เมื่อมาพิจารณาว่า อานาปานสติ เป็นการถางทางให้จิตนี้ เข้าสู่ภาวะที่เป็นฌาน

 

เป็นฌานอย่างไร?

 

อันนี้ ก็ต้องแจกแจงในเรื่องของ องค์ประกอบของฌาน นะครับ หรือที่เรียกกันว่า องค์ฌาน ซึ่งก็มีทั้ง วิตก คือนึกถึงลมหายใจ มี วิจาร คืออาการที่จิต แนบเข้าไปกับลมหายใจเป็นหนึ่ง ความรู้สึกคือ เหมือนกับใจกับลมหายใจ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลมกลืนกัน ไม่เป็นต่างหากจากกัน ไม่เป็นอื่นจากกัน มีความรับรู้ถึงลมหายใจ ด้วยความเป็นศูนย์กลางของสติ แจ่มชัดมาก และคงค้างภาพลมหายใจ อยู่โดยความเป็นอัตโนมัติ รู้อยู่เองคือ จิตมีความตั้งมั่นมากพอ

 

ซึ่งจิตนะ ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่น ไม่มีความซัดส่าย ไม่มีอาการดิ้นรน ไม่มีความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น จะมีลักษณะของ จิตที่วิเวก 

แล้วก็ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น

 

จิตที่มีความวิเวก ในที่สุดแล้วเกิดปีติ อันเกิดแต่วิเวกของจิตขึ้นมา 

ซึ่งพอมีปีติ มีความชุ่มเย็น หรืออย่างน้อย มีความรู้สึกอิ่มใจ เอ่อขึ้นมา อย่างนี้ความสุขอันเยือกเย็น ก็ตามมาด้วย เป็นแพ็คเกจคู่

 

ปีติ ในแบบที่อยู่ในองค์ฌานนี่

ไม่ใช่ ปีติแบบน้ำตาไหล

ไม่ใช่ ปีติแบบโลดโผน รู้สึกขนลุกขนชัน วูบๆ วาบๆ

ไม่ใช่ ปีติ แบบที่ตัวพองออก ตัวขยายออก..  ตัวขยายออกนั่นคือ จิตใหญ่ขึ้นนั่นเองไหน แต่ใหญ่แบบยังไม่เสถียร 

 

ทีนี้ พอเราทำความเข้าใจกันชัดๆว่า ลักษณะของปีติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงในอานาปานสติ ท่านตรัสโดยความเป็นของชุ่มเย็น เหมือนกับเอาตัวทั้งตัว จุ่มลงไปในน้ำเย็น แม้บางคนเย็นมาก บางคนเย็นน้อย บางคนแค่รู้สึกว่าอยากยิ้มธรรมดา อันนี้มีความชุ่มฉ่ำแล้ว ถือว่าเป็น ปีติ อ่อนๆ แล้ว

 

แต่อุปจารสมาธิ ที่เรากำลังจะเรียนรู้ร่วมกันในคืนนี้ กล่าวถึง ปีติและสุข โดยความเป็นของชุ่มเย็นในองค์ฌาน คือมีความชุ่มเย็นทั้งตัว เหมือนเปิดก๊อกนะ ให้สารดีๆ หลั่งออกมา ชุ่มเย็นไปทั้งตัวนะครับ 

 

ซึ่งไม่ได้คาดคั้นว่า ทุกคนจะต้องมีปีติชุ่มเย็นแบบนั้น ถึงจะรู้เรื่องกัน

 

อันนี้ พอพูดเกี่ยวกับรายละเอียดของปีติสุข ในความเป็นองค์ฌานแล้วนี่  หลายคนก็บอก ไม่ถึงขนาดนั้น แค่รู้สึกเหมือนกับ รู้สึกดี รู้สึกชื่นใจ รู้สึกสบายใจ รู้สึกว่าไม่อยากถอนจากสมาธิไปไหน .. แค่นั้นใช้ได้ไหม

 

อันนี้ เราต้องมาตกลงกันให้ชัดนะ

 

ปีติ มีทั้ง ปีติอ่อนๆ แล้วก็ ปีติแบบ เข้าขั้นเฉียดฌานจริงๆ

คือมีความชุ่มเย็นไปทั้งตัวจริงๆ ซึ่งไม่ต้องไปคาดคั้น

 

การคาดคั้น การพยายามไปเร่ง ไปบีบให้ปีติออกมา บางทีเหมือนกับการพยายาม คั้นน้ำหวานออกจากชานอ้อยที่ยังแห้งๆ อยู่ ไม่มีประโยชน์ พอถึงเวลานี้ ก็จะหลั่ง ปีติ เหมือนกับมีน้ำพุฉีดพุ่งพล่านขึ้นมาเองนะครับ ซึ่งตรงนี้ ไปเร่งรัดไม่ได้ ไปกะเกณฑ์ไม่ได้

 

ที่ผมพูด พูดโดยความเป็นทิศทาง เพราะหลายคนสงสัยกันมาก ว่า ฌานเป็นอย่างไร อุปจารสมาธิได้แล้วไหม

 

ส่วนใหญ่เลย ผมบอกเลยนะ ที่บอกว่าได้ฌานกันนี่.. ยังไม่ได้นะ

ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิด้วยซ้ำ

 

ถ้าไม่มาพูดเน้นย้ำกันตรงจุดนี้ เรื่องขององค์ฌานให้เข้าใจกระจ่างนี่ ก็จะเข้าใจผิดกันต่อไป

 

ทีนี้พอเข้าใจผิด เราก็จะไม่ได้รู้นะว่า อุปจารสมาธิ ในแบบที่ครูบาอาจารย์ท่านกล่าวถึง เอามาใช้เจริญสติเจริญวิปัสสนาแบบเต็มขั้นนี่ หน้าตาเป็นอย่างไรนะ

 

จะหลงนึกว่าตัวเองได้ฌาน แล้วก็ติดอยู่ในฌานนั้น หรือไม่ก็

สำคัญว่า ตัวเองน่าจะได้สมาธิเพียงพอ ที่จะมีกำลังเจริญสติ เจริญวิปัสสนาแล้ว ทั้งๆที่ จริงๆยัง .. ยังไม่ถึง

 

พอยังไม่ถึงนี่ มีผลเสีย

 

คือพอทำไปแบบผิดๆถูกๆ เกิดการเพ่ง เกิดการเครียด เกิดการเห็นนิมิตอะไรที่ไม่ใช่นะ .. ไม่ใช่ภาวะกายใจ ที่จะแสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็หลงเข้ารกเข้าพงได้ หรือมาเกิดความรำพึงรำพันในภายหลังว่า อุตส่าห์ได้ตั้งฌานแล้ว แต่ไม่เห็นจะคืบหน้าในการปฏิบัติไปถึงไหน ไม่เห็นจะได้มรรคผลสักที

 

เดี๋ยวคืนนี้เรามาเคลียร์กัน จากประสบการณ์ร่วมกันนะครับ โดยอาศัยเสียงสติช่วย 

 

คืนนี้ เรากล่าวถึงสมาธิจิต ซึ่งจะเป็นบาทฐาน ให้เจริญสติเจริญวิปัสสนาเป็นของสูงนะ

 

เพราะฉะนั้น อาจจะมีการทำอะไรที่เป็นขั้นเป็นตอน ยกระดับให้จิตนี่มีความสูงขึ้น พร้อมจะเข้าสมาธิกันสักหน่อย

อาจจะดูมีขั้นมีตอนอะไร สอง สามขั้นเท่านั้นแหละ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ไม่ได้ต้องเตรียมเป็นพิธีรีตองแบบอะไรที่ซับซ้อน

 

จะทำง่ายๆ แต่คุณจะได้เห็นนะครับว่า การจะยกจิต ขึ้นสู่ความเป็นสมาธิ ไม่ใช่อยู่ๆ เราเอาจิตหยาบๆ ธรรมดาๆ ที่หมกมุ่นเรื่องความบันเทิง หมกมุ่นเรื่องที่เร้าใจ เร้าสมองให้ตื่นเต้น แล้วอยู่ๆ จะมาเข้าสมาธินิ่งเงียบ สว่างเป็นดวงขยายใหญ่ขึ้นมา นี่ไม่ได้ จะไม่สมกัน จะก้าวกระโดดเกินไป

ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆยกระดับขึ้นมา

 

ที่ผ่านมานี่ หลายคนบอกว่าฟังเสียงสติแล้ว บางวันก็รู้สึกว่า จิตสว่างดี นิ่งเงียบ เป็นสมาธิเลย แล้วก็ฝากความหวังทั้งหมด ไว้กับเสียงสติ นึกว่าวันอื่นฟัง ก็จะต้องเหมือนเดิม

 

จริงๆ แล้วมีองค์ประกอบมากมายนะครับ

 

คือระหว่างวันนี้ เราผิดศีลผิดธรรมไหม เราปล่อยใจเตลิด เพ้อเจ้อ คุยจับกลุ่มนินทา หรือว่าหาเรื่องหาราวที่กิเลสรกๆ เข้าสู่ใจไหม หรือว่า 

ปล่อยจิตปล่อยใจ ให้ขาดเป้าหมาย ไม่ทำงานทำการ เอาแต่เล่นแบบ พายเรือวนอยู่ในอ่างทั้งวัน

 

แบบนั้น เสียงสติช่วยไม่ได้นะ

 

คือพอไปฝากความหวังไว้ แล้วบอกว่า ทำไมไม่เวิร์คแล้วล่ะ

 

เสียงสตินี่ คุณคิดเสียว่าเป็นชายทะเล เป็นยอดเขา เป็นสถานที่พักผ่อน เป็นท้องฟ้ากว้างๆ ที่คุณทอดตาไปแล้ว จะรู้สึกใจสบายขึ้น ใจเปิดขึ้น .. แต่ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

 

ท้องฟ้า .. ไม่ได้ช่วยให้คุณมีสมาธินะ

ยอดเขา .. ไม่ได้ช่วยให้คุณมีสัมมาทิฏฐิ

ไม่ได้ทำให้คุณมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

หรือ ชายทะเลกว้างๆ .. ไม่ได้มีส่วนทำให้คุณ

อยากจะมา เอาตัวเข้าสู่ความเป็นวิเวก

 

บางคนนี่ไปอยู่ชายทะเล แล้วยังกดมือถือเล่น กดๆ รูดๆ แบบนี้ ก็เหมือนกับอยู่บ้าน ไม่มีความแตกต่างเลย สมองนี่เต้นพล่าน แล้วก็มีความฟุ้งซ่านไม่หยุด อันนี้ก็เหมือนกันนะครับ

 

เสียงสตินี่ นอกจากคุณจะต้องมีระดับจิตที่คลิกกัน ใกล้เคียงกัน หรือว่าจูนกันติดได้ง่ายๆ ยังมีข้อแม้อีกข้อหนึ่ง ซึ่งหลายคนอาจจะทำใจรับไม่ได้นะ ก็คือว่า ระหว่างฟังนี่ คุณต้องนั่งคอตั้งหลังตรง สบายๆ นั่งเก้าอี้ก็ได้ ไม่ต้องนั่งขัดสมาธินะ ผมก็นั่งเก้าอี้อยู่ ไม่ได้นั่งขัดสมาธิแต่อย่างใดนะครับแต่ขอให้คอตั้งหลังตรง

 

คือ ถ้าใครนั่งขัดสมาธิแข็งแล้ว โอเคอันนั้นก็ดี จะตรงตามหลักเลยนะครับ แล้วก็จะต้องรู้สึกถึงลมหายใจด้วย เพราะพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่านะว่า 

เสียงสติ ออกแบบขึ้นมาจาก จิตที่เจริญอานาปานสติเท่านั้น

 

คือ พูดง่ายๆว่า ถ้ารู้ลมหายใจไปด้วย ในขณะอยู่ในท่านั่งหลังตรงนี่ จะคลิกกันกับเสียงสติ 

 

ถ้าใครรู้สึกว่า ฟังแล้วจิตใจปั่นป่วนเหลือเกิน ว้าวุ่นเหลือเกิน คุณลองสำรวจดูดีๆ ว่า ตอนนั้นได้ยินแต่เสียงอย่างเดียวหรือเปล่า คุณมีอาการทนฟังอย่างเดียวหรือเปล่า ถ้าทนฟังอย่างเดียว มีความรู้สึกเหมือนกับถูกเสียงสติทำร้ายจิตใจ บีบคั้นให้ทรมานนี่ อันนั้นจะไม่เกิดอะไรขึ้นเลยนะครับ

 

อันนี้พูดมาจากการรวบรวม ฟังฟีดแบคมา หลายๆ พัน 

จนกระทั่งได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วนะ

 

ฟังเสียง ตั้งใจฟังอย่างเดียวไม่ได้ แล้วก็ถ้าตั้งใจฟังด้วยอาการฝืนทน ก็ เสร็จเลยนะ อาจจะปวดหัวได้นะครับ

 

แต่ถ้าหากว่า นั่งคอตั้งหลังตรงสบายๆ ไม่คาดหวังอะไรเลย 

ตรงนั้น เสียงสติจะจัดการแต่สมองของคุณได้เต็มที่ ในแง่ที่ว่า สมองนี่เดิมที จะอยู่กับการทำงานของสมองส่วนหน้าเสียมาก โดยเฉพาะคนคิดเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีอารมณ์ลบมากๆ สมองส่วนหน้าทำงานไม่ดีนะครับ 

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าสมองส่วนหน้า มีการทำงานลดระดับลง จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม คุณจะฟังเพลงก็ตาม หรือว่าคุณจะอยู่ที่ทะเลก็ตาม แล้วมาเน้นหนักที่การทำงานของสมองส่วนหลังแทน 

อันนั้น คุณจะรู้สึกรีแลกซ์ รู้สึกผ่อนคลาย รู้สึกว่า มีความสามารถที่จะรับรู้อะไร โดยไม่มีอาการดิ้นพล่าน รับรู้แบบผ่อนคลาย .. รับรู้ตามจริงแบบผ่อนคลาย เป็นเรื่องของสมองส่วนหลัง

 

ถ้าหากว่าคุณรู้สึกผ่อนพัก รู้สึกรีแลกซ์ ถึงแม้จะเหมือนกับตัวนี่มาข้างหลัง เอนมาข้างหลัง .. นั่นแหละ การทำงานของสมองส่วนหลังเกิดขึ้น

 

ทีนี้ ระหว่างฟังเสียงสติ ถ้าหากว่า เสียงสติ จะพยายามลากจากการทำงานของสมองส่วนหน้า มาที่ส่วนหลัง แล้วคุณยังมีความคิดฟุ้งซ่าน มีความลังเลสงสัย มีความแม้กระทั่งอยากได้ อยากสงบ หรือว่ามาคิด อคติ คิดไม่ดีอะไรก็ตาม กับ เสียงสติ

 

ในที่สุดจะเกิดการยื้อกัน สู้กัน แล้วก็กลายเป็นความปวดหัวได้ กลายเป็นความรู้สึกตึง กลายเป็นความหนัก กลายเป็นความเสียวหน้าผาก

 

เหมือนอย่างคนที่พยายามทำ โดยไม่มีเสียงสติ แล้วคุณเพ่งลมหายใจก็ตาม หรือว่าเพ่งคำบริกรรมก็ตาม แล้วรู้สึกเสียวๆ หว่างคิ้ว นั่นก็เพราะว่าการทำงานของสมองส่วนงานหนักเกิน แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่เป็นสมาธิ เกิดความฟุ้งซ่านหนักเข้าไปอีก เกิดความกระวนกระวายหนักเข้าไปอีก

 

นี่คือหลักการง่ายๆ ถ้าหากว่าคุณปล่อยใจสบายๆ นะครับ เหมือนไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แค่นั่งคอตั้งหลังตรงสบายๆ ฝ่าเท้า ฝ่ามือ ไม่เกร็งไม่กำ ตรงนั้น พอปล่อยให้สมองส่วนหลังทำงานแล้ว เสียงสติก็อาจจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับจิตของคุณนะครับ คือทำให้เกิดความผ่อนพัก แล้วก็มีความรู้ มีความตื่น

 

เพื่อที่จะทำความเข้าใจ ว่า ความผ่อนคลาย ความรู้สึกผ่อนคลาย กับความสว่างที่เกิดขึ้นในสมาธิแตกต่างกันอย่างไร ผมจะให้คุณใช้วิธีนี้

 

ตอนที่ผ่านมาก็เคยให้ลองแล้ว แต่วันนี้จะให้เปรียบเทียบนะครับ ระหว่างการถูมือเฉยๆ แล้วเอามาอังที่หน้าผาก กับการที่เราสวดอิติปิโสฯ แล้วเอามาอังนี่จะแตกต่างกันนะ

 

คือ ถ้าใช้ความอุ่นอย่างเดียว จะแค่ผ่อนคลายอย่างเดียว แต่ถ้าสวดมนต์นะครับ แล้วเกิดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดพลังที่เราสวดอิติปิโสอยู่ในมือ แล้วมาอัง จะเกิดแสงสว่างขึ้นมา

 

ที่ต้องทำความเข้าใจตรงนี้ จะมีส่วนเกี่ยวเนื่องกัน กับเรื่องของอุปจารสมาธิด้วย เพราะฉะนั้นส่วนนี้สำคัญนะครับ

 

ง่ายๆ เลยคุณถูมือนะ ถูแบบไม่ต้องตั้งใจอะไร ไม่ได้ใช้สมาธิอันนี้ใช้ 

อุณหภูมิของร่างกายนะ ใช้ธาตุไฟที่มีอยู่แล้ว เป็นส่วนประกอบของร่างกายอยู่แล้วนะ แค่คุณถูมือ แล้วเอามาอังหน้าผาก คุณจะรู้สึกถึงความอุ่นระหว่างฝ่ามือ ที่กระทำต่อหน้าผาก แล้วเกิดความรู้สึกว่า มีความผ่อนคลายหน้าผากขึ้นมา 

 

นี่คือการทำให้สมองส่วนหน้า ลดการทำงานลงแบบง่ายที่สุด เร็วที่สุดนะซึ่งใครก็ทำได้ แต่ถ้าไม่รู้วิธี แล้วก็ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น คุณก็จะไม่สามารถทำตรงนี้

 

คราวนี้ พอรู้สึกถึงความผ่อนคลายที่หน้าผาก ให้ทำความเข้าใจว่านี่ อยู่ในทิศทางที่สมองส่วนหลัง จะเริ่มถูกแอคติเวทขึ้นมา ถูกเปิดใช้ขึ้นมา พอสมองส่วนหน้าคลาย ก็จะไปที่สมองส่วนหลังนะ ตัวนี้เป็นความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นก่อน

 

เดี๋ยวคุณจะเห็นนะว่าความเข้าใจตรงนี้นี่สำคัญอย่างไรในขั้นต่อไปนะครับ

___________________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน อุปจารสมาธิ – ช่วงเกริ่นนำ

วันที่ 12 มิถุนายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=DC5vQpy_1UM

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น