พุทธพจน์ที่ใช้ในการบรรยาย อานาปานสติสูตร
https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/06/blog-post.html
เกริ่นนำ
https://www.youtube.com/watch?v=9nSpZ6W61fA
สวดมนต์ร่วมกัน
https://www.youtube.com/watch?v=1b2p8ddhmtU
ทำสมาธิร่วมกัน โดยใช้ ))เสียงสติ((
https://www.youtube.com/watch?v=s0i0nbqeIe4
ปิดตา จาระไนองค์ฌาน และ บรรยายอานาปานสติสูตร
https://www.youtube.com/watch?v=-mlpUV0pW40
รวมฟีดแบก หลัง ทำสมาธิร่วมกัน (ยังไม่ได้ถอดคำ)
https://www.youtube.com/watch?v=HN8oQIU3RgE
*******************************************
บทถอดคำรวม
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน(พิเศษ)
ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา
คอร์สอานาปานสติ
วันที่ ๓
วันที่ ๒๘
พฤษภาคม ๒๕๖๔
ถอดคำ : เอ้
_________________________________
เกริ่นนำ
ดังตฤณ :
สวัสดีครับทุกท่าน พบกับปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ปกติก็จะเป็นคืนวันเสาร์สามทุ่ม แต่ช่วงนี้พิเศษ คือเราจัดคอร์สอานาปานสติ ห้าคืนติดกัน
คืนนี้ก็เป็นคืนที่สามนะครับ แล้วพรุ่งนี้ กับมะรืนนี้ก็จะเป็นช่วงที่เหลือ
หลายๆ ท่านมีคำถามคล้ายๆ กัน
เรามามีประสบการณ์ในการทำสมาธิหลายๆ คืนติดกันนี่ มีประโยชน์มากเลยนะ
เพราะว่าจะได้เห็นว่า ตัวเราไม่ได้ทำอยู่คนเดียว มีเพื่อนๆ ทำอยู่ด้วย
แล้วก็เกิดประสบการณ์อะไรต่อมิอะไร ที่คล้ายคลึงกัน ไม่ใช่ว่าเราเห็นไปเองคนเดียว
หรือคิดไปเองคนเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบโพล
เป็นประโยชน์อย่างยิ่งเลยนะ สำหรับยุคโซเชียลมีเดียของเรา เพราะทำให้เห็นว่า
ตัวเราเข้าข่ายไหน อยู่ในกลุ่มไหน เป็นเปอร์เซ็นต์มากหรือน้อย ซึ่งไม่ใช่การแข่งกันแต่เป็นการเห็นร่วมกันว่า
แต่ละคืนที่ทำสมาธิ ผลไม่เหมือนกัน.. ไม่เที่ยง
ผมเห็นชัดๆ เลยนะ บางท่านบอกว่า คืนแรกนี่ดีมาก
เยี่ยมเลย ก็กระหยิ่มใจนึกว่าคืนที่สองจะดีอีก หรือว่าดีขึ้นกว่าเดิม
แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ คืนที่สองแย่ลง
หรือกระทั่งคาดหวังว่าน่าจะเกิดปีติอีก ชุ่มฉ่ำ
อิ่มหนำ กลายเป็นว่าแห้งแล้ง เพราะคาดหวังมากเกินไป
อย่างที่ผมบอก
ความคาดหวังเป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า ถ้ามากเกินไป คาดหวังมากเกินไป แทนที่จะส่งเสริม
กลับเป็นฉุดรั้ง หรือไม่ก็เป็นเครื่องขวาง
ในขณะที่อีกคนหนึ่ง บอกว่าคืนแรก ไม่เข้าท่าเลย
รู้สึกจะไปไหวไหม บุญน้อยหรือเปล่า แต่พอคืนที่สอง คนเดียวกัน บอกว่า
คืนนี้เจ๋งมาก สุดยอด อะไรๆ ดีไปหมด โลกสดใส
อันนี้มีประโยชน์ เราทำความเห็นร่วมกัน
ให้ตรงกับความเป็นจริงก็คือว่า สมาธิ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในแต่ละวัน
วันไหนถ้าหากว่าไม่พร้อม เพราะว่าร่างกายแฮ่ก
เหนื่อยเหลือเกิน หรือไม่ก็ฟุ้งจัด ฟุ้งหนักเหลือเกิน
บางคนฟุ้งหนักต่อเนื่องมาเป็นปีๆ
ไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยพักผ่อนเต็มที่ ไม่เคยหลับเต็มอิ่ม แล้วจะมาหวังว่า ฟัง ‘เสียงสติ’
ทีเดียว ไม่ถึงสิบนาที ทุกอย่างจะดีขึ้น ... ไม่ใช่
แต่บางคนก็โอเคเลยนะ
คือบอกว่าเกิดมาไม่เคยรู้สึกดีอย่างนี้เลย นั่งครั้งแรกนั่งสมาธิได้
เหตุผลที่แต่ละคน ได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี
มีความหลากหลาย ซึ่งผมแจกแจงไปเยอะนะ เป็นพันๆ เป็นหมื่นๆ ครั้ง
แต่ว่าคงให้มาตามอ่านกันได้ไม่หมดหรอก ผมบอกไปหมดแล้ว พูดไปหมดแล้ว
เหตุผลที่มาที่ไปนี่ แต่ว่าก็คงจะต้องมาเรียนรู้เพิ่มเติมกัน บางคน
รู้เหตุผลไปแล้ว แล้วก็ลืม กลับมาฟังใหม่ นึกขึ้นมาได้อีก อย่างนี้นะ
เรื่องของสมาธิ พอหลับตาไป
จะเหมือนพร้อมจะหลงเข้าป่ารก
การที่เราต้องมาคอยตีกรอบให้เหตุผล
หรือว่าทำการเรียนรู้ร่วมกัน จะได้ประโยชน์ตรงที่ เราสามารถเกิดความเข้าใจมากขึ้นๆ
จนจริงๆ แล้วเรื่องของสมาธิ เรื่องของการเจริญสติ จะไปถึงจุดอิ่มตัว เมื่อเราเกิดอาการคลิก
เพราะว่าสภาวะของเราตั้งมั่นแล้ว เป็นปกติแล้ว
ถ้าภาวะดี
มีความคงเส้นคงวาขึ้นมาถึงจุดหนึ่งแล้วลงยาก ตัวนี้แหละ ถึงจะจับทางได้แม่นยำ
แล้วเข้าใจเหตุเข้าใจผล ที่มาที่ไป ทางมาทางไปของสมาธิได้
คืนนี้ ก่อนที่เราจะเข้าเรื่อง
ก่อนที่เราจะนั่งสมาธิ ขอทำโพลก่อน
โพลนี้ ผลออกมา จะเป็นการเรียนรู้
เป็นการจดจำไปตลอดชีวิตของคุณที่เหลือเลยนะ
ที่ผ่านมา นั่งสมาธิกันก่อนแล้วทำโพล แต่คืนนี้
เป็นจังหวะดี มาถึงครึ่งทางของห้าคืน ที่เราทำคอร์สอานาปานสติ
เพื่อถวายเป็นพุทธบูชากันมา
ถ้าหากว่า คุณได้รับคำถามที่ตรงประเด็น ตรงจุด
แล้วทำให้เกิดสติ นึกขึ้นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตในช่วงนี้ จะเป็นการจดจำ และเป็นการจดจำที่ก่อให้เกิดเส้นทางกรรมอย่างใหม่
สำหรับหลายๆ ท่านเลย
คือสำหรับหลายๆ ท่านเข้าใจพอยต์นี้อยู่แล้ว
แต่อีกหลายๆ ท่านอาจมาเรียนรู้จากตรงนี้ร่วมกันนะครับ ว่า สมาธิมีผลอย่างไรกับชีวิตของคุณนะ
ที่นั่งมา (บางคน) บอก หลับบ้างไม่หลับบ้าง
ไม่สนใจนะ แต่ลองมาช่วยกันตอบโพลนี้
คำถามคือ ‘เมื่อนั่งสมาธิ แล้วเกิดปีติ
รู้สึกว่า มีน้ำใจอยากช่วย อยากให้อภัย มากขึ้นไหม?’
คำตอบให้เลือก มีอยู่แค่สามข้อนะครับ คือ
มีมากขึ้น / มีอยู่เท่าเดิม / มีน้อยกว่าเดิม
เดี๋ยวเราจะมาดูผลกัน เพราะนี่จะเป็นผลโพล
ที่ได้จากประสบการณ์ตรง ของแต่ละท่าน ไม่ใช่การนั่งนึกเอา
ผมจะมาอธิบาย เพราะเรื่องนี้ถ้าเข้าใจจริงๆ
จะมีผลอย่างใหญ่หลวงเลย มีผลจริงๆ และจะติดจิตติดใจคุณไปตลอดชีวิตเลย
ปกติเราทำความเข้าใจ เรียนรู้ธรรมะ ว่า
ผู้มีธรรมะไต่ไปตามระดับ
ควรจะเป็นผู้รู้จักให้ทาน เพื่อทำลายความตระหนี่
ควรจะเป็นผู้รักษาศีล เพื่อจะรักษาใจให้สะอาด
แล้วค่อยมาทำสมาธิ แล้วก็เจริญปัญญา
จะจำแต่ขาขึ้นอย่างเดียว
แต่จริงๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกับชำระซึ่งกันและกัน
ศีล ทำให้จิตใจสะอาดปลอดโปร่งใช่ไหม
แล้วก็พร้อมจะเห็นอะไรตามจริง ตรงตามที่เกิดขึ้น ตามเหตุตามผล นั่นแหละ
ซึ่งตรงนั้นคือปัญญา
เมื่อศีลสะอาด
ก็เท่ากับทำให้ปัญญาพร้อมจะเจริญขึ้น
เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็พร้อมจะย้อนกลับมา
ทำให้มีแรงที่จะห้ามใจตัวเองไม่ให้ไปทำบาปทำกรรม
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบเทียบเหมือนกับ
มือถูมือ เท้าถูเท้า ชำระซึ่งกันและกัน เวลาจะล้าง
ซึ่งตรงนี้เรามามองว่า จิตพอมีความเป็นกุศล
ทำสมาธิได้ขนาดที่เกิดปีติ เกิดสุข ความปีติความสุขนั้น
ก็ทำให้จิตมีความเป็นกุศลยิ่งๆ ขึ้น
แล้วความเป็นกุศล เป็นเกลอกัน เป็นสหายกัน กับความใจดี
มีน้ำใจ
พร้อมที่จะช่วยคนอื่น พร้อมที่จะให้อภัย
ที่เราคุยๆ กันเรื่องกุศลนี่
เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ บางทีฟังแล้วก็ ไม่เข้าใจ สำหรับคนรุ่นใหม่นะ
กุศลอะไร บุญอะไร ฟังแล้วไม่เข้าใจ ไม่เก็ต
ถ้าอย่างนั้น ผมลองอธิบายด้วยภาพอีกภาพหนึ่ง
เป็นภาพการทำงานของสมอง อย่างที่ผมโชว์ขึ้นมาทุกคืนนี่แหละ แต่ว่าคืนนี้
จะมาพูดในอีกแง่หนึ่ง
เดิมที ทุกคนเป็นพวกช่างคิด คิดมาก หรือพูดง่ายๆ
ว่าเป็นทางมาของความเจ้าคิดเจ้าแค้น คือเป็นทางเดียวกัน คิดมาก คิดเยอะ
กับเจ้าคิดเจ้าแค้น คิดวนอะไรอย่างนี้ เป็นอันเดียวกัน
แล้วถ้าหากว่า
สะสมความเคยชินที่จะคิดแบบเอาเข้าตัว ไม่รู้จักให้ คิดแบบนี้
สมองก็จะถูกเทรนให้ล็อคติดอยู่กับความรู้สึกว่า .. เราก่อน คนอื่นทีหลัง ..
หรือมีความรู้สึกว่า จะให้ไปทำไม
หรือคิดประมาณว่า ถ้าฉกฉวยได้ ขอก่อน ขอกอบโกยก่อน เรื่องที่จะไปคิดให้ คิดอะไร จะไม่ค่อยเป็นไปด้วยกันกับอาการคิดเยอะ
คิดมาก
ทีนี้ ถ้าอย่างที่เราอธิบายกันมาทุกคืน
หากว่าสมองเริ่มเข้าโหมดพักผ่อน เข้าโหมดรู้ มีปีติฉีดซ่าน .. คือหลั่งสารดีๆ
ออกมานั่นเอง .. สมองส่วนหลังทำงานแทน ถูกแอคติเวทขึ้นมามากขึ้น
แล้วก็คลื่นย่านช้า ระดมถูกสร้างขึ้นมาหนาแน่นอยู่ที่สมองส่วนหลังนี่
ก็จะเกิดความสบายใจ เกิดอาการขี้เกียจคิด
แล้ว อาการขี้เกียจคิดเยอะ นั่นแหละ
เป็นอาการเดียวกันกับ การขี้เกียจเอาเรื่อง เลยให้อภัยง่าย
แล้วก็เป็นอาการเดียวกันกับความรู้สึกอยากเผื่อแผ่ อยากที่จะ ..
เออเรามีความสุข เราเห็นเหตุผลของความสุขที่แท้จริงว่า คือใจสบายๆ
ใจสบายๆ ของคุณก็คือว่า สมองส่วนหลังทำงานเยอะ
ด้วยการที่มีคลื่น อัลฟ่า หรือ เธต้า หรือเดลต้า พวกย่านช้าทั้งหลาย
ถูกระดมสร้างขึ้นมา
พอคนที่สมองส่วนหลังทำงานเยอะๆ นี่นะ เวลามองไป
เรื่องเกี่ยวกับความสุข จะไม่มองจากอาการคิดเยอะ ว่า แกจะได้มากกว่าฉันหรือเปล่า
ฉันจะเสียเปรียบแค่ไหน หรือ ให้อภัยไปแล้ว เดี๋ยวจะมาทำซ้ำอีก
หรือหนักข้อขึ้นหรือเปล่า จะขี้เกียจคิดเยอะ
แต่ ไม่ใช่ประเภท ใจดีแล้วใจอ่อนนะ
ถ้าหากว่าเราเห็นว่าเขามาทำซ้ำอะไร เราก็ป้องกันตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย
คนใจดี ไม่ใช่คนที่ปล่อยเลยตามเลย
อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะชั่วแค่ไหน ฉันก็ไม่แคร์ ไม่ใช่อย่างนั้น
ใจดี คือ พร้อมที่จะอภัย ถ้าหากว่าเขามีความพร้อมที่จะปรับปรุงตัวดีขึ้น
หรือว่าเห็นค่าของการอภัยของเรา
แต่ถ้าทำหนักๆ
ถึงแม้ว่าใจของเราจะยังไม่อยากเอาเรื่องเอาราว ก็ต้องมีการป้องกันตัวนะ
ประเด็นคือใจจริงๆ ของเราไม่อยากเอาเรื่อง พอไปอยู่สมองส่วนหลัง
จะขี้เกียจกลับมาสมองส่วนหน้า เพราะว่าอาการที่สมองส่วนหน้าทำงานคิดเยอะ
คลื่นเบต้าจะยุ่งเหยิง อีรุงตุงนัง
คลื่นเบต้า ไม่ใช่ไม่ดี .. ไม่ใช่คลื่นไม่ดีนะ
.. เวลาคุณคิดอะไรเป็นระเบียบ คลื่นเบต้าก็หนาแน่นเหมือนกัน
เพียงแต่ว่าจะเป็นระเบียบ มีความคงเส้นคงวา แต่ถ้าฟุ้งซ่านจัด คิดเยอะ
เจ้าคิดเจ้าแค้น คลื่นเบต้าจะไม่อยู่กับร่องกับรอย คุณจะรู้สึกว่า
บางทีก็หายแค้นแล้ว บางทีก็กลับแค้นขึ้นมาอีก คิดหนักขึ้นมาอีก
นี่เป็นคลื่นเบต้าที่มีความไม่สม่ำเสมอ และไประดมเกิดขึ้นหนาแน่น ยิงขึ้นมา
หรือว่าผุดขึ้นมา ถูกผลิตขึ้นมา ที่สมองส่วนหน้า หนัก
ก็เลยมีความรู้สึกว่าอภัยไม่ได้ อภัยยาก หรือทำใจยาก
พอคุณมามีความรู้
มีความเข้าใจเกี่ยวกับคลื่นสมอง หรือว่าการทำงานของสมองนี่
ก็ช่วยให้คุณเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า ที่บ่นๆ กันว่า บางคนปฏิบัติธรรมมาเป็นสิบๆ
ปี ทำไมยังใจร้าย แล้วก็ปากร้าย หรือทำไมทำสมาธิ เราพยายามทำแล้วยังเป็นทุกข์อยู่
ทำไมยังทำใจยากอยู่ หรือทำไมทำสมาธิแล้วยังยึดมั่นถือมั่นสูงอยู่
อาการพวกนี้ก็เพราะว่า เวลาทำสมาธิ มีหลายแบบ
มีหลายรูปแบบ มีหลายผลลัพธ์
ถ้าหากว่ารูปแบบที่คุณทำ ถูกต้อง
แล้ววิธีที่คุณทำ ใช่ทาง ที่จะทำให้สมองเลิกทำงานเยอะที่ส่วนหน้า
แล้วไปทำงานเยอะที่ส่วนหลังแทน
.. ใจคุณจะดีเห็นๆ ใจคุณดีขึ้นชัดๆ ..
เดี๋ยวเราขึ้นต้นด้วยการสวดอิติปิโสฯ กัน
เพื่อจะอัญเชิญพระหฤทัยของพระพุทธเจ้าที่ท่าน ไม่เอาอะไรแล้ว ไม่ดิ้นรน
ไม่ได้อยากที่จะได้โน่นได้นี่แล้ว ไม่อยากแม้กระทั่งได้สมาธิ
ไม่อยากแม้กระทั่งได้ฌาน .. คือ ท่านได้อยู่แล้วนะ
เอาความคงเส้นคงวาแบบของพระอรหันต์ ที่ท่านไม่ได้มีอะไรมารบกวนจิตใจ
ให้เขวจากสมาธิอยู่แล้ว ฉะนั้นท่านจะไม่อยากได้อะไรอีกนะ มีอิ่ม
มีเต็มอยู่แล้วทุกอย่างนะครับ
ถ้าได้ข้อสรุปเป็นความอิ่มความเต็มที่จิต
จักรวาลทั้งจักรวาล
ไม่มีอะไรที่เราจะอยากเอาอะไรมาเติม
ให้เต็มขึ้นไปกว่านั้นอีก
** สวดมนต์ร่วมกัน **
(ตั้งนะโม สามจบ สวดอิติปิโสฯ ร่วมกัน)
ก็ดูนะ ว่าด้วยจิตที่เรานอบน้อม ถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา
ทำให้เรานึกถึงพระองค์ท่าน พระศาสดาของเรา ที่ท่านหมดความอยากแล้ว
ไม่อยากได้อะไรแล้ว และจิตเลิกดิ้นรนแล้ว
จิตที่เลิกดิ้นรนแบบพระอรหันต์ของท่านนั้น
ถ้าเพียงเรานอบน้อมสักการะ ก็เหมือนกับอัญเชิญจิตแบบนั้น มาเป็นส่วนหนึ่ง
มาประดิษฐานในจิตของเราเอง
คุณสมบัติอันวิเศษ
หรือว่าลักษณะของความไม่ดิ้นรนของจิต ที่เราระลึก แล้วก็น้อมกราบไหว้
ถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา .. แก้วเสียงของเราเองก็จะมาปรุงแต่ง
มาสร้างให้ภาวะแบบนั้น เกิดขึ้นกับจิตของเราเองไปด้วย
ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงจิตที่แห้ง สะอาด สบาย
ไม่มีความหมกมุ่น ไม่มีอาการที่อยากจะไขว่คว้า ไม่อยากจะได้อะไรทั้งสิ้น
แม้กระทั่งพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตรงนั้นคือพรอันศักดิ์สิทธิ์ที่วิเศษที่สุด ที่เราให้กับตัวเองแล้ว
จากการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาร่วมกันนะครับ
จิตเริ่มต้น ถ้าหากว่าตั้งไว้ดี
มีความรู้สึกว่าไม่อยากที่จะเอาอะไร จะพร้อมที่จะรู้ ที่จะพอใจ อยู่กับสิ่งที่กำลังปรากฎ
กำลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า
อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ ว่า
เริ่มต้นขึ้นมา ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รู้สิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า ตัวนี้
จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า จิตตวิเวก
มีความรู้สึกออกมาตั้งแต่เรายังไม่เข้าสมาธิเลยว่า จิตไม่เอาอะไร
ไม่ได้อยากได้อะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งความสำเร็จในสมาธิ แม้กระทั่งปีติ สุข
ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ที่เคยได้แล้ว เราก็ไม่คาดหวัง
เราคาดหวังอย่างเดียว
ภาวะอย่างนี้เป็นอย่างไรอยู่ เราก็พร้อมจะรู้ตามจริง
เริ่มต้นจากการนั่งคอตั้งหลังตรง แล้วฟัง ‘เสียงสติ’
ไปด้วยกัน
การฟัง หลายคนสงสัยยังไม่เลิกว่า จะให้ดูตรงไหน
ระหว่างฟังเสียงกับดูลมหายใจ
ให้ลมหายใจ เป็นโฟร์กราวด์ (foreground) อยู่ข้างหน้า
เน้นไฮไลท์ที่ลมหายใจ
เสียง เราฟังเป็นแบคกราวด์ (background)
เสียงทำหน้าที่ของมันอยู่แล้ว
ช่วยเราปัดเป่าความฟุ้งซ่านให้อยู่แล้ว เราไม่ต้องไปช่วยเพิ่ม แต่ถ้าหากเสียงจะเด่นขึ้นมา
จะดังขึ้นมา เราก็แค่ดูไป ว่าตอนนี้เสียงปรากฏเด่นกว่าลมหายใจ
เสร็จแล้วพอเสียงเริ่มเฉยๆ ชินๆ ไป
รู้สึกถึงลมหายใจที่เด่นชัดขึ้นมาแทน เพราะ ‘เสียงสติ’ เวอร์ชันนี้จะค่อยๆ
ปรับปรุงให้ลมหายใจของเรา มีความยาว มีความเด่นชัดขึ้นมาเองโดยที่ไม่ต้องพยายามนะครับ
เอาเป็นว่า ภาวะไหนกำลังเด่น ดูภาวะนั้นก่อน
แต่ตั้งต้นขึ้นมา ขอแค่ ‘คอตั้งหลังตรง
รู้อิริยาบถนั่งตามจริง’ นะครับ ..
เรากำลังนั่งคอตั้งหลังตรงอยู่ นิมิตกายรูปนั่งก็เกิดกับใจ
คำว่านิมิต ก็คือภาพทางใจที่ปรากฏ .. ปรากฏอย่างไร
มีคอตั้งหลังตรง ซี่โครงพร้อมจะบานออก
พร้อมจะยุบเข้า
หน้าท้องพร้อมจะพองขึ้น พร้อมจะยุบลง
มีอยู่แค่นี้ ภาพทางกาย
ส่วนลมหายใจก็ปรากฏของมันอยู่แล้ว
ถ้าหากว่าเราหายใจเข้าสบายๆ หายใจออกสบายๆ นะ คอตั้งหลังตรงนี่ สำคัญนะครับ
คอตั้งหลังตรงคือ เรารู้อิริยาบถก่อนจะรู้ลมหายใจ
** ฟัง ‘เสียงสติ’
และนั่งสมาธิร่วมกัน **
)) เสียงสติ ((
** ปิดตา จาระไนองค์ฌาน **
ขอให้ดูจากภาวะที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา ดูว่า
ลมหายใจยังชัดอยู่ได้
การที่เราเอาจิตไปโฟกัสอยู่กับลมหายใจนั้น ก็คือเรียกว่ามี
‘วิตก’
วิตักกะ .. เป็นองค์ฌานข้อแรก
แต่หากว่าใจคงค้างอยู่กับ ภาพลมหายใจเข้า-ออก เข้า-ออก
มีนิมิตคงค้าง ของลมหายใจ พร้อมเครื่องประกอบคือกายนั่งนี่
นี่เรียกว่ามี วิจาร เกิดขึ้น มีองค์ฌานข้อที่
สอง เกิดขึ้น
ถ้าหากว่าจิตไม่เอาอะไร ไม่ดิ้นรนไม่ซัดส่าย เรียกว่าเกิด
‘จิตตวิเวก’ และเมื่อจิตตวิเวกเกิดขึ้นนานเข้า ก็จะมีปีติ
.. ปีติ อันเกิดแต่วิเวก
รสของความที่จิตมีวิเวก ก็จะทำให้เกิดความสุข
เป็นสุขแบบเย็น ไม่ใช่สุขแบบกระโดดไปกระโดดมา เหมือนตอนที่ไม่มีสมาธิ
พอเราเห็นอย่างนี้ได้ว่า มีปีติมีสุข นั่นเรียกว่า
อยู่ในขอบเขตของการเห็น
‘เวทนาในเวทนา’ คือความรู้สึก ที่ไม่เป็นทุกข์
ความรู้สึกที่เป็นตรงกันข้ามกับทุกข์ คือมีความสุข
สุข ไหลมาแต่ปีติ ปีติ ไหลมาจากความวิเวกของจิต
ตรงนี้เราจะเริ่มเห็นว่า ถ้ามีความสุขนานไป จะมีสิ่งหนึ่ง
ที่ตั้งมั่นขึ้นมา
สิ่งที่ตั้งมั่นนั่นแหละ ที่เราเห็นนั่นแหละ คือจิต
เหมือนกับที่เมื่อคืนเราดูจากที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ พอเรา สามารถรู้เวทนาในเวทนาได้แล้ว
ก็ให้มาดูจิต
จิตคืออะไร จิตคือส่วนที่มีความตั้งมั่นอยู่
เมื่อจิตมีความตั้งมั่นอยู่ จะเห็นเลยว่า พอความฟุ้งซ่านจรเข้ามา
แผ้วผ่านเข้ามา ก็หายไปได้ง่ายๆเลย
หรือถ้าหากว่า ความคิดฟุ้งซ่านชนิดใดชนิดหนึ่ง
ที่ไปยุให้เกิดความพยาบาท หรือยุให้เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจ พอเกิดขึ้น เราสามารถที่จะเห็นว่า
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นนั้น มันสักแต่รู้สักแต่ดูได้
ปกติมันจะสักแต่รู้ไม่ได้ สักแต่ดูไม่ได้ จะต้องกระโจนเข้าไป
จะต้องผสมโรงเข้าไปกับความพยาบาท หรือว่าโทสะที่ผุดขึ้นมาในขณะนั่งสมาธิ
ถ้ามีความฟุ้งซ่าน อยากจะเอาโน่นเอานี่ อยากจะลืมตาไปทำโน่นทำนี่
จิตเขาก็จะเอาด้วยกับความฟุ้งซ่านชนิดนั้น .. แต่ถ้ามีจิตตั้งมั่นแล้ว
มีสมาธิตั้งมั่นแล้ว เราสามารถเห็นได้ว่า จิตที่ตั้งมั่นนั้นมันไม่เอาด้วย
แม้กระทั่งจะอยากได้อะไรมากเกินไปกว่าความตั้งมั่น
รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าลมหายใจเข้าลมหายใจออก มีปีติ
มีสุขอยู่ แค่นี้ก็พอใจแล้ว ไม่อยากได้อะไรมากไปกว่านี้
ตัวนี้ เราก็จะเห็นว่า จิตที่มีความตั้งมั่นอย่างนี้แหละ
เป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างของจิต ที่สามารถปลดเปลื้องพันธะจากกิเลสทั้งปวงได้ เวลาจะมีกิเลสอะไรแผ้วผ่านเข้ามาในรูปของความคิด
หรือรูปของอารมณ์กระทบใจ ใจที่ตั้งมั่นนั้น ก็รู้สึกว่าตัวเองมีกำลังพอจะสลัดทิ้งได้
แบบไม่มีเยื่อใย ไม่มีความอาลัยใยดี
ตัวนี้แหละ คือความหมายของการที่เราเข้าสมาธิ แล้วเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรม
จรมาจรไปอยู่ในหัว จรมาจรไปอยู่ในอก
ถ้าเราเห็นจนชำนาญแล้ว เห็นจนชินแล้วนี่ ถึงลืมตาขึ้นมาไม่ได้นั่งสมาธิไม่ได้เข้าสมาธิอยู่
ก็มีภาวะเหมือนเดิม คือรู้สึกถึงความตั้งมั่นของจิต เป็นหลัก เป็นที่ตั้ง ราวกับเป็นภูเขา
หรือหินผาที่มีความหนักแน่น
ความหนักแน่นของหินผาหรือว่าภูเขา
ที่เราเรียกกันว่า ‘จิต’ นี้ นี่แหละ ที่เป็นมรรค นี่แหละที่เป็นวิถี
ที่เราจะอาศัยเดินออกจากสังสารวัฎ เดินออกจากความทุกข์ เดินออกจากต้นเหตุ
ที่จะทำให้เรากลับมาเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ เวียนว่ายตายเกิดแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่
การที่มีจิตตั้งมั่นเป็นไปเพื่อการนี้ สามารถที่จะเห็น
ว่ากิเลสจรเข้ามาเมื่อไหร่ แล้วก็ สามารถปลดเปลื้องกิเลสแบบนั้นๆทิ้งได้ ไม่ว่าจะเป็นความฟุ้งซ่าน
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกอาฆาตพยาบาทที่ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ที่ค้างคาอยู่หมักหมมอยู่
เราสามารถอาศัยจิตที่ตั้งมั่นนี้ สลัดทิ้งได้ กิเลสทั้งปวงไม่มีที่ยืน
เกาะจิตแบบนั้นไม่ติด
** บรรยายอานาปานสติสูตร **
เรามาทำโพลกันอีกครั้งหนึ่ง เหมือนกับทุกคืน
เรามาสำรวจดูกันว่า ทำสมาธิกันมานี่ ตอนนี้เกิด วิตก
วิจาร ปีติแล้วก็สุขขึ้นมาหรือเปล่า
มีแค่คำตอบสองอย่าง .. เกิด หรือ ไม่เกิดนะครับ
เอาพร้อมกันเลยนะ ทั้งวิตกวิจารปีติแล้วก็สุข ..
จะเกิดอ่อนๆ หรือว่าเกิดแบบเข้มข้นก็ตาม บอกว่าเกิด
แต่ถ้าไม่เกิด ก็บอกว่าไม่เกิดไปตามจริง
เรามาทำความเข้าใจอานาปานสติสูตรร่วมกันอีก
ผมอ่านซ้ำๆ นะครับ มาทุกคืน .. อย่างสองคืนที่ผ่านมา
เอาเรื่อง ‘หมวดกาย’ ‘หมวดเวทนา’ แล้วก็ ‘หมวดจิต’
คืนนี้จะเพิ่ม ‘หมวดธรรม’ เข้าไป
ในอานาปานสติสูตร ถ้าเราพิจารณาซ้ำ .. คุณไปสามารถพิจารณาด้วยตัวเองได้เลย
อานาปานสติสูตร หาอ่านได้จากอินเตอร์เน็ตง่ายๆ แค่ปลายนิ้วเลยนะ คุณคีย์หาคำว่า ‘อานาปานสติสูตร’ .. มาอ่านทบทวน จะก่อนสมาธิหรือหลังสมาธิก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังสมาธินี่ เราสามารถที่จะเห็นได้ว่า
ภาวะที่เกิดขึ้นในเราเองมีความตรงกัน กับแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านปูทางไว้ให้หรือเปล่า
ท่านบำเพ็ญบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ก็เพื่อที่จะมาสอนอานาปานสติ สอนสติปัฏฐาน
ก็อันเดียวกันนั่นแหละอานาปานสติ กับสติปัฏฐานนะ
โพลออกมาแล้ว .. คืนนี้
ต้องบอกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ 65% บอกว่าเกิดองค์ฌานนะครับ ..
วิตก วิจาร ปีติ และสุข
ก็มากกว่าทุกคืนที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่ายินดี
ลงโหวตมากันประมาณ 800 คน 459 คนบอกว่า เกิดวิตก วิจาร ปีติ สุข
ซึ่งถือว่ามากกว่าคืนที่ผ่านๆ มามหาศาล
คืนที่ผ่านมาเกินครึ่งมานิดเดียว
คืนนี้เขยิบขึ้นมาเป็น 62% แล้ว เดี๋ยวดูกันว่า สองคืนสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต่อ
นี่ก็เป็นการที่เราได้มาเห็นร่วมกันนะว่าเกิดอะไรขึ้น
เมื่อฝึกอานาปานสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน
(พูด) ซ้ำกันอีกที แต่ซ้ำนี่ คุณจะเห็นว่ามีความกระจ่างขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เหมือนเดิมนะ เพราะรายละเอียดจากประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นนี่ มีความ สามารถที่จะมายืนยันได้ชัดเจนขึ้นนั่นเอง
อานาปานสติสูตร เริ่มขึ้นที่การเข้าที่วิเวก
เราอาจจะยังไม่อยู่ในถ้ำ ไม่ได้อยู่ที่ยอดเขา ไม่ได้อยู่ที่ชายทะเล
แต่ก็เอา ‘เสียงสติ’ มาช่วยทำให้เกิด จิตตวิเวก
ขึ้นมา แล้วตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า คือรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาวะทางกายภาวะทางใจนั่นเอง
หมวดกาย มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เข้ายาวก็รู้ เข้าสั้นก็รู้
ออกยาวก็รู้ ออกสั้นก็รู้
ตรงนี้เราก็จะมีความเคยชิน หรือหลายๆ คนก็เริ่มมีความชำนาญขึ้นมา
แล้วพอถึงจุดหนึ่ง ที่เหมือนจิตกับกายนี่อยู่คนละที่กัน
.. จิตเป็นผู้ดู กายเป็นผู้แสดง .. ก็สามารถที่จะเห็นได้ว่า จิต เป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง
รู้ ณ ขณะที่กำลังหายใจออก รู้ ณ ขณะที่หายใจเข้าเลยทีเดียว
ไม่ใช่ว่าแยกรู้ไปทีละประเด็น
ไม่ใช่ว่าเห็นลมหายใจอยู่อีกทางหนึ่ง
แล้วเรามีความเข้าใจอีกทางหนึ่ง .. ไม่ใช่
แต่อยู่ด้วยกันเลย ความรู้ความเข้าใจ กับสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่จริงๆนะ
สายลมหายใจ ..
จะยาวก็ตาม จะสั้นก็ตาม จะเข้าก็ตาม จะออกก็ตาม
จิตมีความสามารถที่จะรู้ได้อยู่แบบสม่ำเสมอ
ซึ่งเมื่อรู้ไปพักหนึ่ง ก็เกิดความสงบระงับทางกาย
กายสังขาร ก็คือ อาการทางกาย ที่จะปรุงแต่งให้มีอาการกระดุกกระดิกกระสับกระส่ายทั้งหลาย
ถ้าเราเห็นมีความสงบระงับ ไม่กวัดแกว่ง ในขณะที่
หายใจออกก็ตาม ในขณะที่ หายใจเข้าก็ตาม พร้อมๆกันไป อันนี้ก็มาถึงจุดที่เราจะรู้สึกถึงความสงบของกาย
พอทำได้อย่างนี้ ก็เรียกว่ามีสมถะแล้ว
พอมีความสงบระงับทางกาย มีความวิเวกทางกาย มีความวิเวกทางจิต
ก็เกิดปีติขึ้นเป็นธรรมดา มีปีติหายใจออก มีปีติหายใจเข้า มีความสามารถที่จะรู้ว่า
ปีติแบบนั้น ทำให้เกิดความสุข
ตรงนี้แหละ ที่ถือว่าอยู่ในหมวดเวทนานะครับ
เวทนานี่เหมารวมเอาตรงที่ว่า เราสามารถที่จะเห็นว่าความคิดนี้
เหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟนะ บินเข้ามาปุ๊บดับเลย
หรือมีกระทั่งความสามารถ มีกำลัง ..กำลังของจิต ก็มาจากกำลังของปีติ
กำลังของความสุขนั่นแหละ ถ้าหากว่ามีกำลังตรงนี้ พอความฟุ้งซ่านเริ่มจะก่อหวอดขึ้นมา
เราเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันที อาศัยกำลังปีติ อาศัยความสุขนี่ ไประงับความฟุ้งซ่าน
หรือจิตตสังขาร - ความปรุงแต่งทางจิต ได้ ณ ขณะที่กำลังหายใจเข้า ณ ขณะที่กำลังรู้ลมหายใจออกเลย
ไม่ใช่ว่าลมหายใจไปอยู่อีกทาง แล้วเรามารู้อีกทาง
แต่รู้ไปพร้อมกันเลยนะครับ รู้ไปพร้อมกันว่า เรามีความสามารถที่จะระงับความฟุ้งซ่านได้เหมือนกับอย่างที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์เมื่อครู่ที่ผ่านมา
อันนี้ทั้งหมดนี้ แม้แต่ความสามารถที่จะระงับความฟุ้งซ่าน
อยู่ในหมวดการเห็นเวทนานะ .. เห็นเวทนาในเวทนา .. ก็คือส่วนหนึ่งของเวทนาที่ปรากฏอยู่นะครับ
เป็นปีติบ้าง เป็นความสุขบ้าง เป็นความสามารถระงับความคิดฟุ้งซ่าน
ที่จะเกิดขึ้นได้ นี่อยู่ในส่วนของเวทนาทั้งสิ้น
ในส่วนของจิต อย่างที่เมื่อคืนเราเริ่มเรียนรู้ไปนะครับที่ว่า
รู้จิต รู้ตรงไหน
รู้ตรงที่มีความร่าเริงอยู่ มีความตั้งมั่นอยู่ ลักษณะที่เรามีความสุขไปจนกระทั่งเกิดความเห็นว่า
มีสิ่งหนึ่งที่ตั้งมั่นอยู่ นั่นแหละการเห็นนั่นแหละคือการเห็นจิต .. จิตที่ตั้งมั่นอยู่นั่นเอง
แล้วเราก็ สามารถที่จะเปลื้องจิตออกจากพันธนาการได้
รู้สึกว่าจิตเป็นคนละส่วน เป็นเอกเทศ เป็นต่างหากออกมาจากลมหายใจทั้งปวง จากปีติสุข
หรือว่าจากสภาพทางกายที่ กำลังปรากฏในท่านั่งนี้อยู่
เมื่อเปลื้องจิตได้ เราก็รู้สึกว่าจิตเกลี้ยงเกลา
จิตมีความเป็นไท จิตมีความเป็นอิสระ เรียกว่า ‘เห็นจิตในจิต’ อยู่
คราวนี้มาถึงส่วนที่สำคัญมากๆ ประณีตมากๆ ละเอียดอ่อนมากๆ
คือหมวดธรรม
อย่างเมื่อครู่นี้ หลายท่านก็คงจะเริ่มแยกแยะได้ว่า
พอเห็นจิตของตัวเองมีความตั้งมั่นขึ้นมา จะสามารถเห็นได้ว่า จะเกิดกิเลสอะไรจรเข้ามาก็ตาม
จะเป็นความอยากขยับ จะเป็นความอยากเคลื่อนไหวของจิต ไปฟุ้งซ่านโน่นนี่นั่น เราก็สามารถเห็นได้ว่า
อะไรๆ ที่เกิดขึ้นในขอบเขต ทั้งกายทั้งใจนี้ กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่
จะเป็นความฟุ้งซ่าน ก็มาเพื่อแสดงความไม่เหมือนเดิมให้เห็น
ผ่านมาแผ้วผ่านมาแวบหนึ่งก็หายไป
หรือลมหายใจ ถ้าหากว่ากลับมาปรากฏชัด กลับมาปรากฏเด่นนะ
ก็เห็นว่าเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เป็นคนละชุดกันชัดๆ นี่ตัวนี้ที่เริ่มเข้าหมวดธรรม
คือเราเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งที่เป็นเบสิค คือส่วนของกาย ส่วนของเวทนา ส่วนของจิต
ไม่ว่าจะส่วนใดส่วนหนึ่ง แสดงความไม่เที่ยง ไม่เหมือนเดิมให้เราเห็น
ตัวนี้แหละ ขยับเข้าหาหมวดธรรมแล้ว
พอเราเห็นอยู่ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงนี่ ก็จะง่ายมาก
ที่เราจะคลายความยินดีในสิ่งเหล่านั้น
คำว่าคลายความกำหนัด ในที่นี้ก็คือ คลายความยินดีในสิ่งนั้นๆ
ไม่ว่าจะเป็นความอยากในกาม ไม่ว่าจะเป็นความอยากที่จะยึดไว้หวงไว้นะ กับสภาพทางกาย
หรือว่าสภาพทางใจ แม้แต่ปีติสุขนี้ จะมีความรู้สึกว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงอยู่แล้ว ไม่รู้จะไปหวงทำไม
ตัวนี้แหละที่คลายความยินดี มีความแหนงหน่ายคลายความยินดี
แล้วที่รู้สึกอยู่ว่าอะไรๆ ไม่น่ายินดี คลายออกไปซะ
สำรอกทิ้งออกไปซะ บ้วนทิ้งไปซะ เหมือนถ่มเสลดทิ้ง ตัวนี้แหละ ที่เราจะ
รู้สึกถึงความสามารถในการดับกิเลส หรือว่าสละคืนกิเลสได้
คำว่ากิเลสในที่นี้ ไม่ใช่จะต้องเป็นดับกิเลสแบบพระอรหันต์
แต่เอาแค่เรา สามารถที่จะระงับกิเลสที่จรเข้ามา ในขณะที่เรายังมีกิเลสหนาแน่นอยู่ แน่นอนแม้นั่งสมาธิได้
บางทีก็แวบผ่านเข้ามาในใจ เกิดภาพ เกิดนิมิต เกิดอะไรขึ้นมาก็ตาม ที่ทำให้รู้สึกอยากหลงตาม
อยากเอาตามกิเลสที่มาล่อ ที่มาฉุด ที่มาดึง
ตรงที่จิตตั้งมั่นนี่ เราจะ สามารถรู้สึกถึงกำลังที่จะดับได้
ที่จะสละคืนกิเลสเหล่านั้นได้
ตรงนี้ก็จะเป็นหนังตัวอย่างของการที่จิต สลัดสำรอกกิเลสทิ้ง
สำรอกกิเลสตัณหาทิ้งนะครับ เมื่อเห็นได้อย่างนี้ ก็ได้ชื่อว่าเรากำลังพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
คือธรรมส่วนใด
ส่วน ธรรมะ ภาวะใดภาวะหนึ่ง ที่เราเห็นว่ามันไม่เที่ยง
แล้วเราสามารถสละคืนความยึดติดถือมั่น ว่าเป็นตัวของเราเป็นของเราได้
อันนี้แหละเรียกว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
ธรรมมีอยู่เยอะนะ แล้วอันนี้เราเห็นแค่ส่วนเดียว
นี่ก็เรียกว่าเป็นการเห็นธรรมในธรรมนะครับ
เราสามารถเป็นผู้วางเฉยได้
การเป็นผู้วางเฉยได้ก็คือการมีอุเบกขา แล้วถ้าอุเบกขาของเรามีความตั้งมั่นนั่นแหละ
เริ่มจะเห็นแล้วว่ากายนี้ใจนี้นี่ สักแต่เป็นรูป สักแต่เป็นนามไม่มีความเป็นใคร ไม่มีความเป็นบุคคลเราเขาอยู่ในร่างนี้
หรือว่าสภาวะจิตใจแบบนี้เลย
เห็นไหม คือพอเรา ทำสมาธิได้ทำสมาธิเป็น แล้วกลับมาพิจารณาที่พระพุทธเจ้าท่านสอนอานาปานสติสูตรอยู่นี่
จะกระจ่าง จะรู้สึกว่าเข้าใจได้ง่ายๆ
แต่ถ้าทำสมาธิไม่ได้ อ่านให้ตายอย่างไรก็ไม่เข้าใจนะครับ
ถ้าใครเข้าใจแล้วเห็นค่าของอานาปานสติแล้วนี่ ก็จะมีขั้นตอนต่อไป คืนพรุ่งนี้ กับคืนวันอาทิตย์นี่
มีขั้นแอดวานซ์ขึ้นไป
คือยังไม่ต้องทำได้แบบเป๊ะๆ อย่างนั้น แต่ว่า ประสบการณ์อันเป็นที่ตั้งของความสามารถรับรู้นี้
จะทำให้คุณเข้าใจได้ว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนอานาปานสติ ท่านสอนถึงขั้นที่สามารถบรรลุมรรคผลได้เลยนะ
สามารถพิจารณาองค์ธรรมที่เป็นเครื่องพร้อมตรัสรู้ที่เรียกว่าโพฌชงค์ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น