วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พุทธพจน์ ประกอบคำบรรยายอานาปานสติสูตร

เข้าที่วิเวก

ตั้งกายตรง

ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

 

(หมวดกาย)

หายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว

หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น

หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น

 

สำเหนียกว่า

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก

ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า

 

สำเหนียกว่า

เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก

เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า

 

เมื่อใดทำได้อย่างนี้เธอได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เรากล่าวลมหายใจออก ลมหายใจเข้านี้ ว่าเป็นกายชนิดหนึ่งในพวกกาย

เพราะฉะนั้นแล ในบัดนี้ เธอจึงได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกาย

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

 

(หมวดเวทนา)

สำเหนียกว่า

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า

สำเหนียกอยู่ว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจเข้า

 

สำเหนียกว่า

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจออก

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ จิตตสังขาร หายใจเข้า

สำเหนียกอยู่ว่า เราจัระงับจิตตสังขาร หายใจออก

เราจักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า

 

เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้

เธอได้ชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เรากล่าวการใส่ใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเป็นอย่างดีนี้ว่า

เป็นเวทนาชนิดหนึ่งในพวกเวทนา

เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

 

(หมวดจิต)

สำเหนียกว่า

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจออก

เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิต หายใจเข้า

 

เราจักทำจิตให้ร่าเริงหายใจออก

เราจักทำจิตให้ร่าเริง หายใจเข้า

 

เราจักตั้งจิตมั่น หายใจออก

เราจักตั้งจิตมั่น หายใจเข้า

 

เราจักเปลื้องจิต หายใจออก

เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

 

เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้

เธอได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เราไม่กล่าวอานาปานสติ แก่ภิกษุผู้เผลอสติ ไม่รู้สึกตัวอยู่

เพราะฉะนั้นเธอจึงได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิต

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

 

(หมวดธรรม)

สำเหนียกว่า

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจออก

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความไม่เที่ยง หายใจเข้า

 

สำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนด หายใจออก

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความคลายกำหนัด หายใจเข้า

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจออก

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความดับกิเลส หายใจเข้า

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจออก

เราจักเป็นผู้ตามพิจารณาความสละคืนกิเลส หายใจเข้า

 

เมื่อใดที่เห็นได้อย่างนี้

เธอได้ชื่อว่า พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

เธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสด้วยปัญญาแล้ว

ย่อมเป็นผู้วางเฉยได้ดี

 

(อาศัยอานาปานสติ บรรลุธรรม)

เมื่อเจริญอานาปานสติแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้

เธอได้ชื่อว่าบำเพ็ญสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์ได้

 

ก็เธอเจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร ทำให้มากอย่างไร

จึงบำเพ็ญโพชฌงค์ ๗ (องค์ประกอบอันเป็นเครื่องตรัสรู้) ให้บริบูรณ์ได้

 

(ว่างอย่างรู้และพร้อมทิ้ง)

(สติ จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ลืมตาหรือหลับตาก็ตาม)

เมื่อใดเธอพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม

มีความเพียร รู้สึกตัว มีสติ ไม่เผลอ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้อยู่

(เกิดสติเป็นอัตโนมัติ มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว)

เมื่อนั้น นับว่าเธอมีสติสัมโพชฌงค์เจริญขึ้นแล้ว

 

(การพิจารณาธรรม)

เมื่อใดเธอมีสติ รู้กายในกายอยู่เช่นนั้น

แล้วค้นคว้า ไตร่ตรอง พิจารณาธรรมที่ปรากฏอยู่ด้วยปัญญา

เมื่อนั้น นับว่าเธอมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์เจริญขึ้นแล้ว

 

(ความเพียร)

เมื่อใดเธอพิจารณาธรรมหนึ่งๆ ด้วยปัญญา

ตั้งใจทำความเพียรไม่ย่อหย่อน

เมื่อนั้น นับว่าเธอมี วิริยสัมโพชฌงค์เจริญขึ้นแล้ว

 

(ปีติ)

เมื่อใดเธอมีความเพียรพิจารณาธรรมบริบูรณ์ขึ้น

เมื่อนั้น เธอย่อมมีปีติสัมโพชฌงค์ (ปีติอันปราศจากอามิส) เจริญขึ้น

 

(สงัดกาย สงัดใจ)

เมื่อใดปีติอันปราศจากอามิสบริบูรณ์ขึ้น

เธอผู้มีใจปีติ ย่อมมีทั้งกาย ทั้งจิตระงับได้

(ระงับกายสังขาร ระงับจิตตสังขาร)

เมื่อนั้น เธอย่อมมีปัสสัทธิสัมโพชฌงค์เจริญขึ้น

 

(สมาธิ)

เมื่อใดเธอเป็นผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุขแล้ว จิตย่อมตั้งมั่น

เมื่อนั้น เธอย่อมมีสมาธิสัมโพชฌงค์เจริญขึ้น

 

(อุเบกขา)

เมื่อใด เธอเป็นผูมีจิตตั้งมั่นวางเฉยแล้ว

เมื่อนั้น เธอย่อมมี อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เจริญขึ้น

 

เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗

อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ

อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย

อย่างนี้แหละ ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

____________________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน(พิเศษ) ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา

วันที่ ๒๖ - ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น