วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

คอร์สอานาปานสติ เพื่อเป็นพุทธบูชา วันที่ ๔

พุทธพจน์ที่ใช้ในการบรรยาย อานาปานสติสูตร

https://dungtrinanswer.blogspot.com/2021/06/blog-post.html

 

เกริ่นนำ

https://www.youtube.com/watch?v=pNZEVHNkU4g

 

สวดมนต์ร่วมกัน

https://www.youtube.com/watch?v=Mn2OWiM8Nn0

 

ทำสมาธิร่วมกัน โดยใช้ ))เสียงสติ((

https://www.youtube.com/watch?v=rWrR8USQi4U

 

ปิดตา จาระไน องค์ฌาน

https://www.youtube.com/watch?v=Svg_Cj9dRaE

 

บรรยายอานาปานสติสูตร

https://www.youtube.com/watch?v=50YBERRfvBs

 

1:18:05 -- รวมฟีดแบก (หลังทำโพลช่วงแรก) (ยังไม่ได้ถอดคำ)

1:23:08 -- รวมฟีดแบกหลังทำสมาธิร่วมกัน (ยังไม่ได้ถอดคำ)

https://www.youtube.com/watch?v=aDcTgVmFE5g

 

1:37:05 -- ฟังเสียงสติไปกลางทาง แล้วเกิดแพนิค แน่นอึดอัด หายใจไม่ค่อยออก ควรทำอย่างไร?

https://www.youtube.com/watch?v=X9aTlUc4nyE

*******************************************

บทถอดคำรวม

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน(พิเศษ) ปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชา

คอร์สอานาปานสติ วันที่ ๔

วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔

ถอดคำ : เอ้

_________________________________

 

เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านช่วงเวลาที่พิเศษ คอร์สอานาปานสติห้าคืนนะครับ

 

เป็นห้าคืน ที่เราตั้งใจถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เป็นวันวิสาขบูชา

เรา ในฐานะชาวพุทธ ในฐานะผู้ที่พยายาม เจริญรอยตามพระบาทของพระศาสดานะครับ ก็มาปฏิบัติธรรมเจริญสติ โดยอาศัยอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ มาเป็นบทตั้ง

 

สำหรับคืนนี้ก่อนเข้าเรื่องนะครับ ก่อนที่จะสวดมนต์ ก่อนที่จะนั่งสมาธิกันผมมีโพลที่จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่า .. ทำไม พระพุทธเจ้าจึง

เน้นนักเน้นหนา ให้อาศัยอานาปานสติเป็นตัวตั้งในการเจริญสติภาวนา

 

เดี๋ยววันนี้ เราขึ้นต้นมา.. เอาตรงนี้ เอาตรงความเข้าใจที่เกิดขึ้นร่วมกัน เป็นอันดับแรกเลย จากประสบการณ์ของทุกท่านนะครับ แล้วช่วงหลัง เราจะมาสรุปด้วยพระพุทธพจน์เองนะครับว่า ทำไมอานาปานสติจึงสำคัญนักสำคัญหนา

 

สำหรับโพล ขอถามง่ายๆเลย .. เอาผลจากที่ปฏิบัติได้แล้วมาสามคืนนะครับ สามคืน สามวันช่วงที่ผ่านมานี่ คำถามง่ายๆ  

 

เมื่อรู้ลมหายใจอย่างเป็นสมาธิได้ .. ฟังคำถามดีๆนะ ..

ระหว่างวันคุณรู้สึกถึงกาย ขึ้นมาเองบ้างหรือไม่ 

ถึงท่าทาง ถึงอิริยาบถ ถึงส่วนใดส่วนหนึ่งของกายก็ตาม จะรู้สึกมาก หรือรู้สึกบ้าง หรือไม่รู้สึกเลยนะ ลืมตลอด .. เดี๋ยวเรามาดูผลกันนะครับ

 

ประสบการณ์ร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้น หลังจากได้เข้าสมาธิแบบรู้ลมหายใจ เอาลมหายใจมาเป็นตัวตั้งของสมาธิแล้ว เวลาผ่านไปสามวันสามคืน คุณเกิดความรู้สึกถึงกายขึ้นมาเองบ้างหรือเปล่า ในระหว่างวัน

 

คำถามตรงนี้ แล้วก็คำตอบของพวกคุณทุกท่าน ที่เกิดประสบการณ์มาแล้ว  จะเป็นจุดที่ทำให้ตัวคุณเองได้มองเห็น ได้เข้าใจ ได้เกิดความรู้สึกว่า อานาปานสติ มีความหมายกับการเจริญสติภาวนาอย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้าถึงได้เน้นนักเน้นหนา ให้อาศัยอานาปานาสติเป็น ศูนย์กลางการภาวนาทั้งหมด

 

คืนนี้ หลังจากนั่งสมาธิแล้ว จะมีพระพุทธพจน์สำคัญที่อยู่ในอานาปานสติสูตร แล้วหลายๆ คนอ่านข้ามไป หรือว่าอ่านแล้วไม่แน่ใจ ว่าพระองค์ท่านหมายถึงอะไร

 

เราจะมาอ่านด้วยกัน สดับธรรมจากพระพุทธเจ้าด้วยกัน โดยอาศัยกายของพวกเรา ใจของพวกเรา ที่เจริญอานาปานสตินี่แหละ มาเป็นเครื่องทำความเข้าใจ เครื่องทำความรับรู้ ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงอะไรนะ

 

โพลตามจริงที่ออกมานะครับ ไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน ไม่มีการนัดแนะอะไรทั้งสิ้นนะ

 

สำหรับท่านที่ได้รวมคอร์สอานาปานสติมาสามวัน สามคืนบอกว่า ส่วนใหญ่ มีความรู้สึกบ้าง 74%

 

ทีนี้ผมจะอธิบายอย่างนี้คือ รู้สึกบ้าง ดีกว่าไม่รู้สึกเลยนะ ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่คุณภาวนาอะไรมาก็แล้วแต่ อาจจะไม่ได้มีความรับรู้ถึงสภาพกายขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ ขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

เดิมทีคนเรา สมองจะเน้นหนัก ทำงานที่ส่วนหน้า แล้วก็คิดคิดนึกๆ อยู่ทั้งวัน อยู่ในโลกของการนึกคิด อยู่ในโลกของการทำงานแบบคนปกติทั่วไป ที่หาเช้ากินค่ำ หรือว่าเป็นมนุษย์เงินเดือน หรือว่าเป็นผู้ที่จะว่างงานแล้วก็คิดฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยนะ อย่างใดอย่างหนึ่ง คนเราถ้าไม่มีงานยุ่ง ส่วนใหญ่ก็ว่างงาน

 

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในภาวะของคนทำงาน หรือคนว่างงานก็ตาม จะมีความเคยชิน ที่จะใช้ความคิด

 

ถ้าไม่คิดเป็นเส้นตรงเป็นระเบียบ แบบมีสมาธิ ก็คิดแบบวนเวียน พายเรือในอ่าง ซึ่งเหล่านี้ ไม่ว่าจะคิดตรงหรือว่าคิดเบี้ยว หรือว่าคิดเป็นวงกลม ก็อาศัยการทำงานของสมองส่วนหน้าทั้งนั้น

 

พอสมองส่วนหน้าทำงานหนัก สิ่งที่คุณจะรู้สึกเป็นธรรมดาก็คือ

ตัวคุณ คือ ความคิด

ความคิด คือ ตัวคุณ

แล้วมันเน้นหนักอยู่ในหัว

เหมือนกับมีเสียงคุยกับตัวเองอยู่ในหัวตลอดเวลา

เหมือนมีเสียงทะเลาะกับตัวเองเวลาที่ขัดแย้ง

หรือว่าจะต้องตัดสินใจอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

มีเสียงของตัวเองปลอบตัวเอง

หรือว่ามีเสียงของตัวเอง ด่าทอสาปแช่งคนอื่น

มีเสียงของตัวเอง ตัดสินใครต่อใครว่า

คนนี้หล่อดี คนนี้สวยนะ คนนี้หน้าตาไม่ได้เรื่อง แต่งตัวไม่ได้ความ

เสียงเหล่านี้ อึงอลอยู่ในหัวของคุณ

และความมีความรู้สึกว่า คุณนั่นแหละที่กำลังคิด

คุณนั่นแหละ ที่กำลังพูดกับตัวเอง คุยกับตัวเองอยู่

 

ลักษณะของ การทำงานของสมองส่วนหน้าอย่างหนักแบบนี้ จะไม่เอื้อให้เกิดความสามารถ รู้สึกถึงลมหายใจ ไม่เอื้อให้รู้สึกถึงเนื้อถึงตัว ที่กำลังปรากฏอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง

 

เพราะอะไร .. เพราะว่าพื้นที่ของใจ อันนี้เราพูดถึงเรื่องใจแล้วนะ ไม่พูดถึงสมอง .. พื้นที่ของใจ ถูกความคิดแย่งไปหมด มีแต่ตัวตน มีแต่ความคิดที่ประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกในตัวตน อึงอลอยู่ในหัวนะ

 

ฉะนั้น ความมีสติของคนเมือง หรือว่ามีสติของคนธรรมดา ฆราวาสทั่วไปที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเจริญสติ ก็เลยเน้นหนักไปที่หัว บางทีรู้สึกหนักๆ หัว มีความรู้สึกไม่บาลานซ์ ตัวเหมือนไม่ค่อยมีแรง หัวนี่ก็หนักๆ ถึงขั้นนั้น

 

หรืออย่างดี ก็ประเภทที่เล่นกีฬาบ้างอะไรบ้าง มีเหงื่อออกบ้าง มีความกระชุ่มกระชวยบ้างนี่ ก็จะมีความคิดที่จดจ่อเป็นสมาธิ อยู่กับการเคลื่อนไหว อยู่กับการโต้ตอบกับออบเจ็กต์ วัตถุที่เป็นเครื่องเล่นกีฬา ซึ่งเปลี่ยนโหมดของการคิดมาก คิดสุ่ม คิดส่งเดช ให้กลายมาเป็นคิดที่จะควบคุมร่างกาย ก็เลยมามีความรับรู้เกี่ยวกับกายมากขึ้น

 

สมองจะทำงานรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวมากขึ้น ที่จะคิดฟุ้งซ่าน ที่คิดวนอะไรต่างๆก็เลย จะน้อยลง

 

แต่อย่างไรก็ตาม เวลาเล่นกีฬา หรือเล่นดนตรี หรือ ทำกิจกรรมอื่นใดในชีวิตประจำวันนี่ ก็อาศัยความคิดเป็นฐาน ฉะนั้นถ้าจะรู้กายบ้าง ก็รู้แบบใช้เฉพาะที่จะต้องทำกิจกรรมนั้นๆ

 

เช่น ต้องเคลื่อนไหวไปรับลูกแบด หรือว่าจะต้องล้างจาน วางจาน หยิบจานให้ถูก ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจานแตก

 

ลักษณะการกะการเก็งตำแหน่ง หรือว่าจุดที่จะเอาไปวาง จุดที่จะเคลื่อนย้ายต่างๆ เกี่ยวข้อง สำคัญกับร่างกายที่เคลื่อนไหว ณ ขณะหนึ่งๆชั่วคราวชั่วขณะ แม้สมองจะโฟกัสแค่ตรงนั้นแล้ว ก็ไม่มีเหตุจูงใจให้สนใจความเคลื่อนไหวในขั้นต่อไป

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเรามาเข้าสมาธิ แล้วเข้าได้นะ ไม่ใช่มาแค่จดๆ จ้องๆ ลมหายใจแล้วไม่เกิดสมาธิ อันนี้ไม่นับนะ

 

คือนับเริ่มตั้งแต่ตรงที่ เรารู้สึกถึงลมหายใจแล้วมีความเป็นสมาธิ มีความรู้สึกว่า ใจ ไม่ไปไหน เห็นสายลมหายใจเข้า สายลมหายใจออกเป็นสายยาว ตรงนี้นี่ เลิกคิด สมองส่วนหน้าเลิกทำงาน หรือทำงานน้อยลง เหลือการทำงานสมองส่วนหน้าน้อยมาก มาเป็นการทำงานของสมองส่วนหลังแทน

 

ซึ่งถ้าหากว่าสมองส่วนหลังทำงานมากๆ มีคลื่นย่านช้า นับแต่ อัลฟ่า ลงไปถึง เธต้า ลงไปถึง เดลต้า .. เดลต้านี่แทบไม่ขยับเลยนะ แบบว่าคือช้ามาก

 

จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า พอไม่คิดแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ให้รู้ ก็คือสภาพทางกายที่กำลังปรากฏเป็นตัวเป็นตนอยู่ .. เพราะจิต อย่างไรก็ต้องยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง เป็นตัวเป็นตนของมัน

 

ทีนี้ พอไม่คิด พอน้ำหนักส่วนหัวเบาลง หรือกระทั่งโปร่งโล่ งราวกับว่าหัวไม่มี หัวหายไป ที่เหลือก็คือตัว .. ตัวที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่

 

แล้วตัวที่ขยับเคลื่อนไหวอยู่นี่ ถ้าหากว่า มีความรู้สึกว่า เบา โปร่ง โล่งออกมาจากใจ.. กายก็พลอยมีความโปร่งใส ราวกับเป็นแก้วไปด้วย

 

แล้วพอเห็นไปเรื่อยๆ จะเกิดความพอใจขึ้นมา เกิดความสุข เกิดความรู้สึกว่า แค่รู้ความเคลื่อนไหวในอิริยาบถอันเป็นปัจจุบัน รู้ว่าอิริยาบถหลัก กำลังปรากฏอยู่ในท่าไหน ระหว่างยืนเดินนั่งนอน

 

ถ้าฝึกสมาธิแล้ว คอตั้งหลังตรง ก็จะพลอยเอาความรู้สึกในคอตั้งหลังตรงนี้ ติดตัวไปด้วยในชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมาเป็นแวบๆ อยู่เรื่อยๆ เอง เป็นอัตโนมัติ โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยไม่ได้ไปพยายามเพ่ง รู้สึกขึ้นมาว่า ที่คอตั้งหลังตรงนี้ อยู่ในอิริยาบถนั่ง ยืน เดิน นอน อย่างใดอย่างหนึ่ง

 

ประเด็นอยู่ตรงนี้ เมื่อคุณรู้ขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้ฝืน ไม่ได้บังคับ ไม่ได้มีอาการจดจ่อออกแรงให้เหนื่อย .. ตัวอิริยาบถที่เบา ที่โปร่ง จะพลอยทำให้ .. จะพลอยหล่อเลี้ยง ให้การทำงานของสมองส่วนหลังคุณ ดำเนินต่อไปเหมือนกับว่าคุณยังไม่ออกจากสมาธิ หรือแม้จะออกจากสมาธิแล้ว แต่ก็พร้อมจะกลับเข้าสู่สมาธิได้เรื่อยๆ

 

บางคน พอทำอานาปานสติได้ เข้าสมาธิได้หลายคน เฉพาะแค่ 3 - 4 คืนที่ผ่านมา ถึงอุปจารสมาธินะ ผมอ่านดูคอมเมนท์ รู้เลยนะว่าบางคนตอนที่จิตสว่างโพลงขึ้นมา ตอนที่มีความรู้สึกเหมือนกว้าง จิตเปิดสุดลูกหูลูกตา มีปีติ มีสุขหลามล้น แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา นอกจากจะอยากยิ้ม อยากยิ้มไปเรื่อยๆ .. ในลักษณะแบบนี้คือ อุปจารสมาธิ

 

แล้วถ้ามีความเพียร มีความพอใจติดตัวออกมาอยู่ในระหว่างวัน ไม่วอกแวกกับสิ่งกระทบภายนอกมาก คืออาจจะแวบไปบ้าง อาจจะไปเสพความบันเทิงตามถนัดนั่นแหละ แต่ว่ากลับมามีความรู้สึกถึงสภาวะอันเป็นอิริยาบถปัจจุบันอยู่เรื่อยๆ เนืองๆ

 

มีความพอใจที่จะเห็นว่า อิริยาบถนั้น มีความเคลื่อนไหวอะไรอย่างไร เหมือนคุณกลายเป็นจิตวิญญาณ ที่เข้ามาสิงอยู่ในร่างหุ่นแก้ว ที่มีความโปร่งเหมือนกรงไม้ เหมือนโพรงว่างอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เพลิน ที่จะดูว่ามันขยับเคลื่อนไหวไป โดยที่ไม่มีความรู้สึกในตัวตน หรือความรู้สึกในตัวตนนี่ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือ บางคนลดลงหนึ่งในสี่ก็ยังดี

 

แต่ประเด็นคืออย่างนี้ ถ้าหากว่าเกิดภาวะแบบนี้ที่เป็นอัตโนมัตินี้ จะส่อถึงทิศทาง ที่สติของคุณเริ่มเข้ามาอยู่กับกาย เริ่มอยู่กับใจเองเป็นอัตโนมัติ แล้วพร้อมจะยกระดับขึ้น จะไปถึงไหนก็ได้ ถ้าหากว่ามาถึงตรงจุดนี้ ที่รู้สึกเข้ามาในกายอยู่เนืองๆ อยู่เรื่อยๆ ในระหว่างวัน

 

นี่ก็จะตอบคำถามได้หลายข้อนะ ถ้าเกิดประสบการณ์นี้ขึ้นมากับตัวเอง อย่างเช่น เหตุใดพระพุทธเจ้า ท่านถึงให้อานาปานสติเป็นหัวหน้า เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน แล้วก็หลายคนคงไม่สงสัยนะ อย่างพอเข้าสมาธิไปแล้ว เกิดปีติ เกิดสุขอย่างล้นหลาม อันนั้นแหละเฉียดที่จะถึงฌาน

 

แล้วเราก็จะเห็นเลยว่า อานาปานสตินี่ง่าย ที่จะได้ฌาน แล้วเดี๋ยวคุณจะรู้ต่อๆไปนะ ผมจะยกมาให้ดูนะว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุฌานบ้าง ท่านอิงอาศัยอานาปานสติทั้งนั้นเลย

 

ประเภทที่ไปทำอย่างอื่นมา เช่นเพ่งกสิณ หรือว่าทำอะไรก็ตามนะ จะดูเป็นวงกลม เป็นลูกแก้ว จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ท่านไม่ได้ตรัสถึงฌานแบบนั้นเลยนะ

 

ท่านตรัสถึงฌาน องค์ฌานทั้งห้าที่ท่านตรัสถึงนี่นะครับ ยืนอิงอาศัยอานาปานสติทั้งนั้น

 

ผมจะค่อยๆ ทยอยนำข้อมูลจากพุทธพจน์มาให้ดูนะครับ แต่คืนนี้ เราเอากันที่จุดเริ่มต้นตรงนี้ก่อนว่า พระพุทธเจ้าตรัสถึงอานาปานสติ ไม่ได้ตรัสแค่เล่นๆ แต่ตรัสจริงจังมาก จริงจังขนาดที่ว่า ถ้าคุณไปรวบรวมสถิติ ไปเสิร์ชหาดูในพระไตรปิฎกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ .. อานาปานสติจะปรากฏบ่อยที่สุด

 

ข้อธรรมอื่น ไหลตามมาจากอานาปานสติทั้งสิ้น .. อย่างคืนนี้ผมก็จะให้ดูหลังจากที่เรานั่งสมาธิกันแล้ว

 

คุณดูคำถาม (โพล) ดีๆ นะ คือเข้าสมาธิได้โดยอาศัยลมหายใจเป็นตัวตั้งแล้ว ในระหว่างวัน จะมีความรู้สึกเกี่ยวกับกายขึ้นมาเองบ้างหรือเปล่า

 

ตรงนี้ เราจะตอบคำถามได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าได้สติรู้กายขึ้นมาเอง จะสามารถสืบย้อนว่า ร่างกายนี้ อิริยาบถนี้ เป็นที่ตั้งของลมหายใจ

 

ลมหายใจ ถ้าเรารู้ได้อย่างเป็นสมาธิ ก็พลอยรู้ที่ตั้งของลมหายใจตามไปด้วย

 

แล้วถ้าหากว่า เราเข้าถึงสมาธิได้เหมือนกับ สมองส่วนหลังถูกปลุกขึ้นมาให้แอคทีฟมาก ก็เป็นธรรมดาที่ระหว่างวัน การรับรู้ รู้เองโดยไม่ได้คิด โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยไม่ฝืน โดยไม่เพ่งเล็งอะไรทั้งนั้น จะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติ

 

เดี๋ยวเรามาเข้าสู่ช่วงของการสวดมนต์กันนะครับ เราก็จะน้อมนำ จิตตวิเวก อุปธิวิเวก .. คือจริงๆนี่ วิเวกของพระพุทธเจ้า วิเวกระดับอุปธิแล้ว แต่ว่าพอเราระลึกถึงความตื่นรู้ ความสงบ ความไม่เอาอะไรของพระองค์ เราก็จะพลอยได้เศษ จะพลอยได้ส่วน ของจิตตวิเวกมาประดิษฐานในจิตของเราเองนะครับ

 

 

** สวดมนต์ร่วมกัน **

 

(ตั้งนะโม สามจบ สวดบท อิติปิโสฯ ร่วมกัน)

 

** ฟัง ‘เสียงสติ’ และนั่งสมาธิร่วมกัน **

 

))  ‘เสียงสติ’ ((

 

** ปิดตา จาระไนองค์ฌาน **

 

รู้สึกว่าคืนนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเริ่มเข้าที่เข้าทาง จิตมีความแห้ง จิตมีความสะอาดจากกิเลส มีความตั้งอยู่ สว่างอยู่ แล้วก็รู้ลมหายใจไปเรื่อยๆ

 

ขอให้ดูว่า เวลาที่ใจของเราไม่เอาอะไร ใจของเราเลิกดิ้นรน เลิกกระสับกระส่าย ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ พอจะยาวเราก็รู้ว่ามันยาว ถ้ามันจะสั้นลง เราก็รู้ว่ามันสั้นลง โดยไม่มีความดีใจ ไม่มีความเสียใจ ไม่มีอาการเพ่งเล็ง อยากให้ลมหายใจเป็นอย่างไรทั้งนั้น

 

พอรู้ไปเรื่อยๆ ว่า ลมหายใจคือ สาย(ลม)เข้าสาย(ลม)ออก สักแต่เป็นธาตุๆ หนึ่ง ที่มีอาการพัดเข้า มีอาการพัดออก ไม่ได้มีความเป็นใครอยู่ก่อน  แล้วพอเข้ามา ก็ไม่ได้มีความเป็นของเราอยู่ด้วย อยู่เดี๋ยวหนึ่ง ก็อาจต้องพัด ต้องคืนกลับสู่ความว่างภายนอก

 

พอเห็นไปเรื่อยๆ ซ้ำๆ แบบนี้ จิตก็สว่างขึ้น พอจิตสว่างสว่างขึ้น ก็จะรู้สึกว่า สายลมหายใจนี่ ราวกับว่ามีความสว่าง ราวกับลมหายใจนี่ อาบความสว่างนวลเหมือนจะติดแสงนีออน เหมือนกับติดแสงที่มีความเป็นทิพย์

 

ตรงที่เห็นภาพชัด ตรงนั้นคือ วิตก และ วิจาร เกิดครบ

 

วิตก คือเรามีอาการของใจ ระลึกนึกถึง โฟกัสเข้าไปอยู่กับลมหายใจ

 

ส่วนวิจาร ก็คือตัวที่ภาพปรากฏชัดราวกับว่า จิตของเราแนบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจ ประกอบล้อมด้วยเครื่องตั้งของลมหายใจ คือกายอันอยู่ในท่านั่งนี้

 

พอเห็นอย่างนั้นไปเรื่อยๆ จิตไม่เอาอะไรเต็มที่ ก็เกิดความวิเวก เกิดความรู้สึกหวานชื่นอยู่ จากการรู้ การเห็นว่า ใจของเราสงบ ใจของเราไม่เอาอะไร .. นั่นแหละ ปีติอันเกิดแต่วิเวกจึงปรากฏชัด

 

แล้วพอปีติเกิด ความสุขก็ตามมา เป็นของคู่กัน ไม่ได้แยกต่างหากจากกัน จะไปแยกกันอีกที ตอนที่ปีติดับ แต่นั่นเป็นสมาธิขั้นสูงขึ้นไปแล้ว ในสมาธิก่อนถึงฌาน สมาธิเฉียดฌาน ปีติกับสุขจะมาด้วยกัน

 

พอเรารู้สึกถึง ลมหายใจ อันนี้เรียกว่า รู้ในส่วนของกาย

พอเรารู้ถึง ปีติและสุข

แล้วก็รู้ว่า ความคิดจรมาแล้วหายไปได้ง่ายๆ มีความสุขเด่นอยู่

อันนี้เรียกว่ารู้เวทนา

 

เวทนา แปลว่าความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง

 

ลมหายใจเด่นก่อน ก็ถือว่า กายกำลังปรากฏเด่น

ถ้าปีติสุขปรากฏเด่น อันนั้นถือว่า เวทนาปรากฏเด่นเช่นกัน

 

แต่ถ้าหากว่า ทั้งกาย ทั้งเวทนา

คือลมหายใจ และตัวความมีปีติสุข ปรากฏควบคู่กัน

พร้อมกันไม่แยกต่างหากจากกัน

ก็เรียกว่า เราเริ่มรู้ทั่วพร้อมมากขึ้น

 

คือรู้ทั้งส่วนของรูป อันเป็นที่ตั้งของเวทนา

แล้วก็รู้ส่วนของเวทนา ซึ่งอาศัยกายเป็นที่ตั้งนี้

 

เห็นทั้งรูป เห็นทั้งนามควบคู่กัน อันนี้คือเบสิค

 

เบสิคคือเราเห็นกาย เบสิคคือเราเห็นเวทนา

พอเราเห็นว่าหายใจเข้า-ออก อย่างมีปีติสุขไปเรื่อยๆ ในที่สุดปีติสุขนี้ จะนำไปสู่การพบความตั้งมั่นชนิดหนึ่งผุดขึ้น

 

ความตั้งมั่นนี้แหละที่เรียกว่า จิต .. เป็นจิตตั้งมั่น เป็นสมาธิจิต

 

จิตมีหลายดวง จิตมีหลายแบบ จิตฟุ้งซ่านก็มี แต่จิตที่มีความตั้งมั่นผุดขึ้นนี่ เป็นสมาธิจิต

 

เมื่อมีสมาธิจิต มีความตั้งมั่นของจิตอยู่ เราจะเห็นเลยว่ากิเลสใดเกิดขึ้น จะอยากฟุ้งซ่าน หรือว่าจะอยากคิดถึงบุคคลอันเป็นที่รัก หรือว่าบุคคลอันเป็นที่ตั้งของความเกลียดชัง จะเป็นแค่ภาพที่เข้ามาแผ่วๆ ผ่านไป โดยที่ไม่มีความอาลัยใยดี

 

จิตที่ตั้งมั่นนี้ จะสามารถระงับ จะสามารถดับ จะสามารถคายคืนกิเลสได้ง่ายๆเลย

 

นี่คือส่วนของการเห็น ภาคของธรรมะ

 

พอเห็นจิตตั้งมั่น ส่วนของจิตจะบอกเลย จะรายงานอยู่ด้วยตัวเองเลยว่า มันไม่เอา มันไม่อยากเป็นที่ตั้งให้กิเลส

 

การเห็นกิเลส เห็นความไม่เที่ยงทั้งหลาย ที่ปรากฏในกายใจนี่แหละ อันนี้คือการเห็นส่วนของธรรม

 

และเมื่อมีสติ มีจิตที่ตั้งมั่นอยู่อย่างนี้ เวลาที่เราพิจารณาธรรมอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับกาย เกี่ยวข้องกับเวทนาเกี่ยวข้องกับจิต หรือว่าธรรมะแห่งความไม่เที่ยง ที่กำลังปรากฏอยู่ตามจริง จะดูง่ายไปหมด

 

จะมีความรู้สึกเหมือนขนม เราสามารถที่จะพิจารณาธรรม โดยความเป็นของไม่น่ายึดมั่นถือมั่นได้ง่าย

 

และเมื่อเกิดความรู้สึกว่า การพิจารณาธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นของง่าย เป็นเหมือนขนม เราก็จะเกิดความเพียร มีความต่อเนื่อง มีอาการที่ไม่อยากหลุดจากโฟกัสของการพิจารณาธรรม

 

เมื่อมีความพากเพียร จนกระทั่งจิตไม่ไปไหน จิตก็จะเกิดปีติขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง เป็นความอิ่มใจ เป็นความพอใจ เป็นความยินดีที่จะเห็นอยู่แค่นี้แหละในขอบเขตกายใจนี้ ไม่มีอะไรสักอย่างที่น่าเอา

 

พิจารณาอย่างนี้อยู่ต่อเนื่อง จนกระทั่งปีตินั้น ความอิ่มใจนั้น พาไปสู่ความระงับ ซึ่งการปรุงแต่งของกาย ของใจ

 

กาย สักแต่เป็นหุ่นนิ่งๆ อยู่ รู้สึกว่า .. เออ ดีแล้ว เป็นหุ่นอยู่นิ่งๆ แค่นี้แหละ ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องเคลื่อนไหว หรือถ้าจะต้องเคลื่อนไหวในอิริยาบถอื่น ก็เคลื่อนไหวพอประมาณ ไม่ใช่เคลื่อนไหวแบบกระโดดโลดเต้น เคลื่อนไหวในแบบที่จะเป็นหุ่นให้ดู หุ่นให้รู้ ว่านี่มันปรากฏให้ดูอยู่เฉยๆนะ ไม่ใช่ตัวเรานะ เราอย่าไปเอามันนะ

 

หรือเมื่อเกิด จิตตสังขาร เกิดความคิดฟุ้งซ่านใดๆ ขึ้นมา ก็เกิดความรู้สึกว่า ลักษณะที่มันเคลื่อน กระเพื่อมจากความสงบนั้น เป็นแค่ส่วนเกิน เป็นแค่ของปลอม แค่รู้ตัว เเล้วก็ไหวทัน ก็กลับลงมาสู่ความสงบระงับ

 

อันนี้เรียกว่า ปัสสัทธิ คือ มีความสงบระงับ ทั้งทางกายและทางใจ

 

ทั้งกายและใจ สงบระงับไม่กวัดแกว่ง

 

เมื่อเกิดปัสสัทธิมากเข้า เกิดความสงบระงับทั้งกายทั้งใจมากเข้า ก็กลายเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง มีความตั้งมั่นขึ้นมาอีกแบบหนึ่งเป็นปกติ เห็นว่า ทั้งกายทั้งใจนี้ ไม่มีภาวะไหนเลยที่ควรเอา ไม่มีภาวะไหนเลย ที่คู่ควรกับการได้ชื่อว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา มีแต่ผ่านมาแล้วผ่านไป อย่างไรก็ต้องหายไปวันยังค่ำ ไม่รู้จะไปยึดมันทำไม

 

ตรงนี้แหละ พอมีจิตที่ตั้งมั่น เห็นอย่างนี้ เห็นโดยความเป็นอย่างนี้ ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกวางเฉย เป็น อุเบกขา ขึ้นมา

 

 

นี่ ตัวนี้แหละ คือสุดทางที่เราจะสามารถทำได้ กับอานาปานสติ

 

ที่เหลือนี่ ธรรมชาติของจิตจะทำของเขาเอง คือจะปล่อยแค่ไหน วางแค่ไหน หรือกระทั่งสามารถทิ้งได้จริงๆ ทิ้งความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน หรือว่ามีอุปาทาน ว่าเป็นตัวเป็นตนได้แค่ไหน อันนี้เป็นความสามารถของจิตเขา


** บรรยายธรรม อานาปานสติสูตร **

ตั้งแต่เมื่อวาน รวมทั้งวันนี้ เราก็ได้มาเห็นนะว่า อานาปานสติ จูงเราไปเห็นภาวะทางกายทางใจ หรือที่เราเรียกกันแบบจำแนกธรรมนะว่า ส่วนของกาย ส่วนของเวทนา ส่วนของจิต ส่วนของธรรม

 

กาย ก็เช่นลมหายใจ

เวทนา ก็ตอนที่เกิดปีติสุข แล้วก็ไม่มีความคิด

ไม่มีความฟุ้งซ่านแผ่วผ่านเข้ามา เห็นแต่ปีติสุขล้วนๆ

อันนั้น ที่พระพุทธเจ้าจำแนกไว้ว่าเป็นเวทนา ในอานาปานสติสูตรนะ

 

ส่วนภาวะของจิต ปรากฏให้เห็นชัดๆ ก็ตอนที่มีความตั้งมั่นผุดขึ้น

พอเห็นปีติสุขไปนานๆ เข้า แล้วใจไม่ไปไหน

จิตก็เกิดความตั้งมั่นขึ้นมาเอง

 

ส่วนภาวะธรรม ก็คือภาวะที่ต้องไปบวกกับ ความเป็นสัมมาทิฏฐินะ

คือเราพิจารณาว่า ที่กำลังปรากฏอยู่นี่ ปรากฏแล้ว เดี๋ยวก็หายไป 

หายไปแล้ว เดี๋ยวก็มาปรากฏใหม่ อย่างใดอย่างหนึ่ง 

 

จะเป็นความฟุ้งซ่านก็ดี จะเป็นลักษณะของลมหายใจ ที่ต้องเข้าแล้วออกไป เป็นคนละสายกัน หรือว่าเพราะหยุดไปแป๊บหนึ่ง เดี๋ยวก็ต้องเข้ามาใหม่ อะไรๆ ที่กำลังแสดงอยู่ในอานาปานสตินี่ สมาธิอานาปานสตินี่ ล้วนแล้วแต่ เป็นไปเพื่อที่จะให้เห็นว่า ทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ควรที่จะเอากิเลส ไปยึด ไปแปะ ไปคาดหมายว่าสภาวะทางกายทางใจ ควรจะเป็นของเรา ควรจะเป็นตัวเรา หรือว่าเป็นตัวเขา 

  

ถ้าหากว่ามาถึงตรงนี้ เราก็จะสามารถที่จะ พิจารณาธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแสดงไว้ 

  

เริ่มต้นขึ้นมา เราเข้าที่วิเวก

อย่างนี่ก็คือ มานั่ง คอตั้งหลังตรง แล้วก็ฟัง ‘เสียงสติ’ ก็ทำให้เกิดจิตตวิเวก แทนที่จะไปเข้าถ้ำ หรือไปอยู่ชายทะเล หรือว่าบนเขาอะไรแบบนั้น

 

พูดง่ายๆ ว่า ‘เสียงสติ’ ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า ทำให้จิตของเราเข้าที่วิเวกเท่านั้น

 

ส่วนที่เราจะต้องทำต่อ ก็มีนะครับ คือมีสติ รู้ลมหายใจเข้าออก แล้วก็พอรู้ไปเรื่อยๆ เห็นว่าจิตเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง แล้วก็ทำให้กายสังขารระงับ คือพูดง่ายๆว่า กายนิ่ง ไม่อยากกวัดแกว่ง ไม่อยากกระสับกระส่าย ไม่อยากลุกไปไหน พอทำได้แบบนี้ก็เรียกว่า มีสมถะ ระดับหนึ่ง 

 

เสร็จแล้วเราก็จะรู้ว่า การหายใจเข้าออกอย่างมีสติ ทำให้เกิดปีติ .. เพราะอะไร เพราะว่าจิตตวิเวกมันเกิด 

  

ปีติ อันเกิดแต่วิเวกนั่นแหละ ที่เราจะรู้ได้ว่าเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ให้เกิดความนิ่ง ให้เกิดความสงบ จากนั้น เราก็จะเกิดภาวะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นธรรมดา

 

พอเห็นปีติสุขไปเรื่อยๆ ในที่สุด มีภาวะหนึ่งปรากฏขึ้นมา เป็นความตั้งมั่น อันนั้นแหละ ให้กำหนดรู้นะว่านั่นคือจิต .. แล้วก็จิตที่ตั้งมั่น จิตที่สามารถปลดเปลื้องตัวเองออกจาก พันธะทั้งหลายได้นี่ คือ จิต ที่เราจะเอา ในอานาปานสติ

 

จากนั้น ในหมวดธรรม เราพิจารณาความไม่เที่ยง เราเห็นว่า จิตคลายความยินดี สามารถที่จะคายคืนกิเลสได้

 

เห็นอย่างนี้แล้ว คราวนี้จะไปถึงจุดหนึ่ง ที่มีความว่าง.. ว่างอย่างรู้ และพร้อมทิ้ง 

  

ตรงนี้สำคัญมาก ถ้าหากว่าเราเจริญอานาปานสติมา จนกระทั่งถึงความรู้สึกว่า จิตมีความว่างอย่างรู้ .. ว่างอย่างรู้ ไม่ใช่ว่างเฉยๆ นะ .. มีความว่างอย่างรู้ แล้วก็พร้อมทิ้ง

 

ตรงนี้ให้บอกตัวเองว่า เรามีความเหมาะควร ที่จะพิจารณาธรรมในขั้นสุดยอดของอานาปานสติสูตรนะครับ

 

นั่นก็คือ เราจะอาศัยอานาปานสติเป็นญาณ เป็นเครื่องพาไปสู่การบรรลุธรรมได้

 

การบรรลุธรรมไม่ใช่การได้อะไรมา แต่คือการทิ้งอะไรที่ถืออยู่ทั้งหมด แบกอยู่ทั้งหมด คืนให้กับความว่างเปล่าในธรรมชาติไป 

  

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อานาปานสติ ที่นำมาสู่การรู้การเห็น กาย เวทนา จิต ธรรมได้ นี่ ชื่อว่าเรากำลังบำเพ็ญ สติปัฏฐาน ให้บริบูรณ์ขึ้น ให้เกิดขึ้น 

 

เมื่อสติปัฎฐาน 4 นั้น คือ การรู้ การเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม ปรากฏชัดแล้ว เราจะสามารถอาศัยความบริบูรณ์ ความปรากฏชัด ของสติปัฎฐาน 4 นั้น ไปเจริญโพชฌงค์ 7 

 

โพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ก็คือ องค์ประกอบอันเป็นเครื่องตรัสรู้นั้นเอง

  

ใครอยากรู้ว่า ตัวเองมาเข้าใกล้การบรรลุมรรคผลแล้วหรือยัง

ถามตัวเองง่ายๆว่า เรามาถึงความใกล้ที่จะทิ้งอุปาทานว่า

กายนี้ใจนี้ เป็นตัวเป็นตนแล้วหรือยัง 

  

การว่างอย่างรู้และพร้อมทิ้งนี่ ถ้าพูดกันแบบอาศัยประสบการณ์ทางใจ ดูเหมือนง่ายๆ ดูเหมือนกับไม่มีอะไรซับซ้อน

 

แต่ถ้าเราพูดแค่นี้ จะไม่เป็นที่เข้าใจ แล้วก็ไม่สามารถสืบศาสนามาเป็นพันๆปีได้

 

ต้องแบบที่พระพุทธเจ้าท่านทำไว้เป็นแนวทางนะ คือ ท่านตรัสแจกแจงเลยว่า ว่างอย่างรู้ แล้วก็พร้อมทิ้ง หน้าตาเป็นอย่างไร

 

อันดับแรกเลยคือ ต้องมีสติ 

 

จะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม ต่อให้คุณตอนนี้ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้หลับตาแล้ว หรือว่าจะลุกขึ้นเดินจงกรม หรือว่าจะนอน หรือว่าจะนั่ง หรือว่าจะยืนอย่างไรก็ตาม .. ถ้าหากว่ามีสติ เห็นกายอยู่ เห็นกายในกาย หรือเห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม อันนั้นถือว่า มีสติ

 

อย่างเช่นเมื่อกี้นี้ ที่คุณรู้สึกได้ว่า ลมหายใจปรากฏชัด แล้วมีความรู้สึกถึงปีติสุข รู้สึกถึงจิตที่ตั้งมั่น นั่นแหละ เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่ง ที่เราจะอาศัยเป็นเครื่องระลึก เป็นเครื่องตั้งของสติได้ ถ้าหากว่าเกิดสติเป็นอัตโนมัติ แล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่น 

  

อันนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านนับว่า สติสัมโพชฌงค์ เกิดขึ้นแล้ว .. อันนี้เป็นศัพท์ที่หลายๆ คนอาจบอกเป็นอะไรที่ต้องจดจำใหม่หรือเปล่า

 

จริงๆ แล้ว ถ้าหากว่าเรามีสภาวะ มีประสบการณ์ตรง ศัพท์พวกนี้ง่ายมากนะจะเป็นเครื่องหมาย จะเป็นศัพท์ที่เรานึกถึงคำคำเดียว แล้วรู้เลยว่าเป็นประสบการณ์ตรงแบบไหน 

  

จากการมีสติ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด ไม่ว่าจะลืมตาหรือหลับตา ถ้าหากว่า ส่วนของกาย เวทนา หรือจิต หรือธรรม ปรากฏต่อจิต แล้วเราไม่เผลอไม่หลง มีการพิจารณาว่า มันไม่น่าเอา มันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่ใช่ตัวเขา มันไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ใครนี่

 

อย่างนี้ เรียกว่ามีองค์ธรรมในการพิจารณาธรรม ที่เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

  

คือ ถ้ารู้อยู่เฉยๆ รู้อยู่นิ่งๆ อันนั้นเป็นแค่สมาธิเปล่าๆ ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการบรรลุธรรมใดๆ ขึ้นมา 

  

เราต้องรอพระพุทธเจ้านานมากนะ กว่าที่พระองค์จะมาแนะแนวทางประทานแนวทาง ที่จะให้รู้ ที่จะให้ดูเข้าไปในกายใจนี้ ว่าเป็นของหลอกๆเป็นหุ่นลวง เป็นเหยื่อล่อ เป็นของแปลกปลอม เป็นของอื่น ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตนของใครเลย 

  

เพื่อที่จะเห็นอย่างนั้นได้ ต้องมีเบสิคอย่างดี คือเห็นกายชัด เห็นเวทนาชัดเห็นจิตชัด เห็นธรรมชัด จนกระทั่งสามารถน้อมมาพิจารณาได้ ได้แบบง่ายๆ ได้แบบชิวๆ ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่นว่า นี่ก็ไม่ใช่ นั่นก็ไม่ใช่ มันผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่เห็นมีอะไรเป็นตัวเราสักอย่าง 

  

นี่ตัวนี้แหละที่องค์ธรรมคือ การพิจารณาธรรมปรากฏขึ้น

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

 

เห็นไหมเมื่อมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้ ก็จะเกิดความเพลิน .. เพลินที่จะดู เหมือนกับตอนที่คุณเพลิน ที่จะดูลมหายใจเข้าออก โดยไม่สนใจสิ่งอื่น 

  

การมีความเพียร การมีความต่อเนื่อง หรือที่บางทีนี่ ท่านแปลไว้ในพระไตรปิฎกว่า คือการประคองไว้ ประคับประคองไว้ให้มีความต่อเนื่อง อันนี้ก็คือความเพียร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าได้ชื่อว่าเป็น วิริยสัมโพชฌงค์

 

เห็นไหม มันต่อเนื่องกันมานะ ไม่ใช่อยู่ๆ เราจะไปบอกว่า มีความเพียรแล้วเราก็จะอยู่ในโพชฌงค์ .. ไม่ใช่นะ

 

ต้องมีสติ ต้องมีการพิจารณาธรรมนำหน้ามาก่อน ที่จะเกิดความเพียร ที่จะเกิดความเพลิน ที่จะทำให้ต่อเนื่อง

 

เมื่อทำให้ต่อเนื่องด้วยความเพลิน สิ่งที่เกิดขึ้น ณ จิตที่ไม่เอาอะไร ย่อมเกิดปีติ แต่เป็นปีติอีกแบบหนึ่ง 

 

ไม่ใช่ปีติในสมาธิ ที่เห็นลมหายใจเฉยๆ

แต่เป็นปีติ อันเกิดจากการเห็นว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยง สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่เราเป็นธรรมดา

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ล่วงลับไปแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่อัตตา แต่เป็นอนัตตา

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่ต้องประกอบประชุมกัน ด้วยเหตุปัจจัย

แล้วพอเหตุปัจจัยดับไป ผลลัพธ์ก็ดับหายตามไปด้วย

 

ตัวนี้ พอมีความรู้สึกอิ่มใจ มีความรู้สึกว่าพอใจ มีความรู้สึกว่าดีจังเลย ที่เราเห็นอย่างนี้ เห็นว่าไม่มีเรา .. จิตแบบนี้แหละที่จะเกิดปีติขึ้นมา เป็นความปีติ ในแบบที่เข้าใกล้กับสิ่งที่เรียกว่า อุปธิวิเวก คือเข้าใกล้กับการที่เราจะเลิกยึด เลิกถือ ให้หนัก

 

ตอนยึดตอนถือ ปีติไม่เกิด แต่ตอนปล่อยตอนวาง ปีติเกิด

อันนี้แหละที่เรียกว่าเป็น ปีติสัมโพชฌงค์ หรือที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า เป็นปีติอันปราศจากอามิส คือไม่มีเหยื่อล่อ แต่มีแต่การทิ้งไป

 

คนเข้าใจกันว่า การบรรลุมรรคผล คือการได้อะไรมา

คือการเอาอะไรมาให้ตัวตน แต่จริงๆไม่ใช่

คือการทิ้งตัวทิ้งตนออกไปต่างหาก

 

การที่เรามีปีติในการทิ้งตัวทิ้งตน ทิ้งอุปาทานว่าเป็นเรานี่แหละ ที่จะนำไปสู่การเฉียดใกล้การบรรลุมรรคผล 

  

เห็นไหม นี่เรากำลังพูดถึงโพชฌงค์ เรากำลังพูดถึงองค์ในการตรัสรู้นะครับในการพร้อมตรัสรู้ 

  

เมื่อมีปีตินานเข้า ก็เกิดการสงัดกายสงัดใจ คือไม่ใช่นั่งนิ่งเป็นก้อนหินอยู่ทั้งวัน ไม่ใช่อย่างนั้นนะ ถึงแม้ว่าเราจะเดิน เราก็เดินด้วยความรู้สึกสงัดทางกาย คือไม่มีอาการที่โลดเต้นเกินไปกว่าความรู้สึกว่า เป็นการเคลื่อนไหวด้วยความสงบ

 

การเคลื่อนไหวด้วยความสงบ มีการเคลื่อนไหวจริง แต่ว่าไม่เป็นไปเพื่อกระโดด ไม่เป็นไปเพื่อที่จะให้จิตกวัดแกว่ง ตรงนี้ก็ยังถือว่าเป็นความไม่กวัดแกว่งทางกาย ถึงแม้ว่าจะอยู่ในท่าเดินก็ตาม 

  

เมื่อปีติ ที่ปราศจากอามิสบริบูรณ์ขึ้น ก็เป็นธรรมดา ที่กายใจจะสงบระงับลง  ที่เรียกว่ากายสังขารสงบระงับไม่กวัดแกว่ง

 

ตอนที่เราทำกันได้ในอานาปานสติก็คือตรงนี้แหละ .. ไม่อยากที่จะให้กายไปรับใช้กิเลส ไม่อยากให้เป็นไปในทางเร่าร้อนทางกาม หรือทางพยาบาท มีแต่ความรู้สึกว่า อยากให้มันเป็นหุ่นให้ดูว่า นี่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแค่โพรงว่างเป็นแค่ที่อาศัยให้ระลึกรู้

  

ตัวนี้แหละ ความสงัดกายความสงัดใจนี่แหละ ที่เรียกว่าปัสสัทธิ นะที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ 

  

เมื่อความสงัดกายความสงัดใจปรากฏเต็ม จิตตั้งมั่นอีกแบบหนึ่ง ก็เกิดขึ้นคือไม่ใช่ตั้งมั่นแบบที่ เป็นสมาธิในฌานแบบอานาปานสติธรรมดา ไม่ใช่รู้เห็นลมหายใจธรรมดา

 

แต่เป็นสมาธิในแบบที่เรารู้สึกเป็นปกติว่า สภาพทางกายทั้งหมดเลย หรือสภาพทางใจนี้ทั้งหมดเลยนี่ ไม่ใช่เรา แค่ปรากฏแสดงให้เรารู้ เป็นเครื่องระลึก ชีวิตเราจะเป็นอีกแบบหนึ่งเลย จะเข้าไปอยู่ในโหมดรู้เฉยๆ ว่ามันไม่ใช่เรา

  

ตัวที่รู้เป็นปกติ มีจิตตั้งมั่นรู้โดยไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องฝืนนี่แหละที่เป็น สมาธิสัมโพชฌงค์

  

สมาธิกับอุเบกขานี้ มาด้วยกันนะ .. สมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นที่ยืน เป็นที่ตั้งของอุเบกขาอีกแบบหนึ่ง 

 

ไม่ใช่อุเบกขาเเบบเฉยเมย แต่เป็นอุเบกขาอันเกิดจากการว่างอย่างรู้ .. รู้ชัดว่ากายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

บางทีก็ไปอยู่ในชื่อเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ บ้าง หรือเป็นอุเบกขาแบบที่จะบอกว่า เป็นความวางเฉยในแบบที่พร้อมข้าม

 

สังขารุเปกขาญาณ เฉียดใกล้นิดเดียวกับ ญาณข้ามโคตรนะ .. คือเกือบจะรู้อยู่แล้วว่า จะเอาจิต ออกจากการยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร ยึดมั่นถือมั่นว่ากายใจเป็นตัวเป็นตนนี่ มันเฉียดอยู่นิดเดียว 

  

ทีนี้ พอองค์ทั้ง 7 ของโพชฌงค์นี้เจริญขึ้น ด้วยความมีวิเวก ด้วยความไม่มีราคะ แล้วก็อาศัยนิโรธ คือความดับ คือนิพพานอันมีอยู่ เป็นธรรมชาติมีอยู่จริง 

  

พอจิตโน้มน้อมไป ก็เกิดความรู้สึกขึ้นมา รู้สึกขึ้นมาเอง .. ด้วยจิตมีความตั้งมั่นในแบบของโพชฌงค์นะ .. ไม่ใช่รู้สึกขึ้นมาแบบคิดๆ นึกๆ .. แต่จะรู้สึกขึ้นมาว่า สภาพแบบนี้ สภาพในโพชฌงค์นี่ องค์ตรัสรู้นี่ เป็นไปเพื่อการทิ้ง การพร้อมทิ้ง ไม่ใช่พร้อมเอา ไม่ใช่พร้อมยึด

 

ประเภทที่บอก เมื่อไหร่ฉันจะได้มรรคผลซะที แบบนั้นไม่ใกล้เลยนะ .. ห่างไม่รู้กี่โยชน์เลย ห่างไม่รู้กี่ขุมเลย

 

แต่ถ้าหากว่าเรามีโพชฌงค์ที่เจริญขึ้นเต็มที่ แล้วรู้สึกว่าพร้อมทิ้ง อันนี้แหละที่เริ่มเข้าใกล้แล้ว เริ่มเข้าใกล้ความจริงนะ 

  

ประเภทที่ยังมีตัวตน มีหน้ามีตา เดี๋ยวฉันจะได้เป็นอริยบุคคล .. ประเภทนั้นยังห่าง

แต่ประเภทที่รู้สึกว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ใครเลย กายนี้ใจนี้เป็นเครื่องระลึกให้รู้ว่าน่าทิ้ง ไม่ใช่หน้าเอา

ตัวนี้ที่เริ่มใกล้เคียง ตัวนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อโพชฌงค์ทั้ง เจริญขึ้นบริบูรณ์ ก็ถือได้ว่า ได้ชื่อว่า เป็นผู้บำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้

 

นั่นก็คือบรรลุมรรคผลนะตั้งแต่โสดาปัตติผลขึ้นไป จนถึงอรหัตผลขั้นสุดท้ายเลยทีเดียว

** ** ** ** 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น