วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

เวลานั่งสมาธิถึงจุดที่เริ่มสงบ จะมีอาการ เหมือนตกจากที่สูง ไม่ก็ตัวเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง แก้ไขอย่างไร?

 ดังตฤณ :  อันนี้ก็พูดถึงบ่อยนะครับ มันเป็นภวังค์สมาธิ

(ทวนคำถาม) เวลาที่นั่งถึงจุดสงบจะมีอาการเหมือนตกจากที่สูง หรือไม่ก็เอนไปข้างหน้าข้างใดข้างหนึ่ง จะแก้อย่างไร?

อย่าไปพยายามแก้นะครับ ให้สังเกตอย่างนี้ ภวังค์มี ๒ แบบ ภวังค์หลับ กับ ภวังค์สมาธิ

ภวังค์หลับ คือ รู้สึกวูบแล้วหายไปเลย แล้วก็หลับไปเลย ฝันฟุ้งซ่านเพ้อเจ้ออะไรไป  แต่ถ้าเป็น ภวังค์สมาธิ มันจะเหมือนกับเราพยายามนั่ง พยายามทรงจิต พยายามดู พยายามรู้อะไรอยู่ เสร็จแล้วจิตมันวูบหายไป เหมือนวูบตกจากที่สูงแบบนี้แหละ ก็คือจิตมันเกือบจะรวมลง

เวลาที่จิตรวม มันจะเปลี่ยนจากโหมดความคิดเป็นโหมดรู้ ที่มีฐานอยู่ตรงกลาง ออกมาจากตรงกลาง ไม่ใช่อยู่ตรงหัวใจนะครับ แต่ออกมาจากตรงกลาง กลางอก

ถ้าฐานยังกระเพื่อมเวลาที่ตกลงมา ดิ่งลงมามันจะเหมือนกับวูบวาบโคลงเคลงเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มมีสติเข้มแข็งแล้ว มันจะวูบลงมา แล้วก็พลิกหงายกลับขึ้นมาใหม่ เปลี่ยนจากสภาพวูบเป็นสภาพหงายขึ้น เบิกบาน เป็นสมาธิ นี่ตรงนี้ความต่างของภวังค์หลับกับภวังค์สมาธิ

ภวังค์หลับ  คือ หายไปเลย

ภวังค์สมาธิ คือ วูบลงไปแล้วหงายตื่นขึ้นมา เข้าโหมดอีกแบบหนึ่ง เป็นโหมดรู้ เป็นโหมดตื่น เป็นโหมดสมาธิ เป็นโหมดนิ่ง เป็นโหมดสงบจากความคิด หรืออย่างน้อยที่สุดความคิดเหลือเพียงเบาบางไม่รบกวน ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เราเป็นผู้คิด ความคิดเป็นเรา

พอทำความเข้าใจอย่างนี้ คุณจะมองเห็นช่องทาง ไม่ใช่ไปพยายามให้จิตไม่ตกวูบ เพราะนั่นเป็นธรรมชาติ มันเป็นธรรมดา ตอนที่จิตจะเปลี่ยนโหมดจากคิดฟุ้งซ่าน เป็นรู้ตื่นเป็นสมาธิ มันต้องมีอาการวูบ มันต้องมีความเป็นภวังค์เป็นธรรมดา

คนที่ทำสมาธิเก่งๆ ก็อาจจะวูบนิดเดียว เหมือนตกหลุมอากาศ เสร็จแล้วก็กลับขึ้นมาบินนิ่งเป็นปกติใหม่ แต่ถ้าหากว่าเรายังไม่มีกำลังสติ ยังไม่กำลังสมาธิมากพอ มันก็เหมือนกับวูบ แล้วก็โคลงเคลงโยกเยกหายไป หรือว่ากลับพลิกหงายขึ้นมาเป็นสมาธิจริง แต่ว่าไม่เสถียร มีอาการปนๆ ระหว่างนิ่ง นิ่งแบบแช่นิ่งเป็นฟรีซ(freeze)สลับกับนิ่งแบบรู้แบบตื่นอะไรแบบนั้นนะครับ

สิ่งที่คุณจะทำได้คือ มีสติสังเกตว่า สภาพของจิตตัวเองมาถึงไหน ถ้าหากว่ามันวูบแล้วหายไปเลยก็ไม่ต้องเสียใจ อันนั้นก็คือรู้ตัวเอง รู้ว่าเป็นสภาวะมีเหตุปัจจัยหนุนให้เกิดสมาธิเพียงชั่วขณะ แล้วก็วูบหายไป กลายเป็นอาการหลับ หรือพอวูบแล้วก็หงายขึ้นมาเป็นจิตอีกแบบหนึ่ง เบิกบานเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าตอนนี้มีกำลัง มากกว่าตอนที่วูบแล้วหลับหายไปนะครับ

การที่มีสติเห็นความจริงแล้วไม่ไปมัวพะวงกังวลว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น สติตัวนั้นแหละที่มันจะพัฒนา มันจะปรับปรุงจิตให้มีคุณภาพดีขึ้นเอง ให้มีความสว่าง ให้มีความตั้งมั่น ให้มีกำลังมากขึ้นทีละนิด ทีละนิด

สติ สำคัญกว่าความนิ่ง จำไว้นะครับ นี่คือสิ่งที่เป็นคีย์ในการภาวนาจริงๆ

คนส่วนใหญ่หลงเข้าใจผิดว่า ความนิ่งความทรงคือดี คือได้คะแนน แต่แท้ที่จริงแล้ว นิ่งมันมีนิ่งหลายแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านิ่งแบบไม่มีสติ มันเหมือนกับเกิดอาการฟรีซ (freeze) ไปเฉยๆ เหมือนคอมพิวเตอร์ที่หยุดทำงาน มันค้างไปเฉยๆ แล้วมีโปรแกรมที่ทำให้นึกว่าดีให้ค้างไปนาน ๆ จริงๆ ไม่ใช่นะครับ

อาการฟรีซ (freeze) อาการแช่แข็ง อาการแช่นิ่งไป โดยที่ไม่ตื่น ไม่มีอาการรู้ ไม่มีอาการที่มันเบา ที่มันพร้อมจะเป็นสติอย่างใหญ่เนี่ยนะครับ มันไม่มีประโยชน์ มันไม่ต่างจากตอนที่คุณหลับแล้วไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลับแล้วนึกว่าไม่ฝันอะไรแบบนี้ ไม่ต่างกันเลย ไม่ใช่ภาวะวิเศษอะไรเลย

สิ่งที่พิเศษ สิ่งที่ดีก็คือ คุณมีสติ เนี่ยเริ่มฝึกตั้งแต่เห็นอย่างนี้เลย มีอาการวูบ ก็รู้ว่ามีอาการวูบ ไม่ต้องไปเสียใจ มีอาการตื่นขึ้นมาแล้วทรงตัว ก็ไม่ต้องดีใจ เห็นแค่เป็นเหตุปัจจัยทางรูปทางนามว่า เออ ตอนนี้เรามีกำลังนะ จิตมันมีกำลัง ไม่ใช่เรามีกำลัง จิตมันมีกำลังนะ เมื่อมันมีเหตุปัจจัยของการทรงอยู่ได้ มันก็ทรงอยู่ หงายขึ้นมาแล้วตื่น เบิกบาน มีความสว่าง

แต่ถ้าหากว่าไม่มีปัจจัยไม่มีกำลัง มันก็วูบ แล้วก็ดิ่ง แล้วก็หายไป กลายเป็นหลับ เนี่ยเห็นอย่างนี้ มีสติรู้อยู่อย่างนี้ โดยไม่มีความเสียใจ ไม่มีความดีใจ มีแต่ความเป็นอุเบกขา รู้แต่ว่าเห็นอย่างนั้น เห็นอย่างไร เห็นตามจริง ตามจริงเป็นอย่างไร เห็นตามไปอย่างนั้น นี่ตัวนี้แหละในที่สุดแล้วนะ พอจิตของเรามีกำลัง แล้วรวมเป็นสมาธิขึ้นมาจริงๆ มันก็จะเอาความเคยชินที่จะเห็นแบบนี้แหละติดตามเป็นเงาตามตัวไปด้วยนะครับ

ไม่ว่าจะเกิดภาวะเลิศเลอ หรือดูดีแค่ไหน ก็ไม่ติดใจ ไม่ยินดี เห็นเป็นแค่เป็นปัจจัยทางด้านกุศล แต่ถ้าหากว่า จิตมันแย่ลงเสื่อมลงก็ไม่เสียใจ เห็นเป็นเหตุปัจจัยด้านของความเสื่อม ความเสื่อมลง

บางทีเนี่ย จิตเป็นอกุศลโดยที่เราไม่ต้องคิดเลว ไม่ต้องคิดอะไรชั่วช้า แต่มันเสื่อมลงเอง นี่เราก็จะได้เห็นสภาพความเป็นกุศลธรรม มันพลิกกลับเปลี่ยนมาเป็นอกุศลธรรมได้เป็นธรรมดา สภาพเสื่อมมันเปลี่ยนไปเจริญขึ้นได้เป็นธรรมดา ดูจากจิต ดูจากใจ ดูจากสภาพภาวะที่มันปรากฏให้เห็นในขณะที่เราภาวนา หรือว่าเรานั่งสมาธินี่แหละ มันจะชัดเจนที่สุดนะครับ

-------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : เวลานั่งสมาธิถึงจุดที่เริ่มสงบ จะมีอาการ เหมือนตกจากที่สูง ไม่ก็ตัวเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง แก้ไขอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป       ๗.๓๒ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=vSA2_w_5mJ4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

การจะให้เห็นสภาพเป็นโครงกระดูกนั้น เราจะต้องคิดนำไปก่อนใช่ไหมคะ?

 ดังตฤณ :  คิดนิดเดียวนะ คิดในแง่นึกถึงความจริงที่จะนำไปสู่การมีสติรู้
ผัสสะอันเป็นปัจจุบัน

ผัสสะอันเป็นปัจจุบันคืออะไร? คืออิริยาบถนอน ร่างกายเต็มๆ ที่มีน้ำหนักวางนอนลงบนฟูกนอน นั่นแหละ ที่มันเป็นผัสสะอันเป็นปัจจุบัน ที่เป็นของจริง ของจริงปรากฏเป็นยังไงบ้าง เริ่มต้นขึ้นมาอาจจะรู้ว่ามีแผ่นหลังวางราบลง มีส่วนของศรีษะซึ่งเป็นกะโหลก มีรูปพรรณสัณฐานที่เป็นทรงเรียวขึ้นมาเหนือบ่า ต่อกับลำตัว เป็นรยางค์แขน เป็นรยางค์ขา นี่อันนี้เรียกว่าความจริง

ที่บอกว่าคิดนำ ไม่ใช่คิดจินตนาการ แต่คิดถึงผัสสะอันเป็นปัจจุบัน ที่มีแผ่นหลังวางราบอยู่กับที่นอน แล้วก็มีหัว มีแขน มีขา เนี่ยคิดถึงความจริง ตัวที่นำไปก็คือ การมีเจตนาเล็งหาความจริงทางกาย ไม่ใช่จินตนาการนึกถึงกาย

ถ้าจินตนาการเนี่ย ร่างกายมันจะปรากฏอยู่ข้างบน ร่างกายมันจะเหมือนกับเป็นจินตภาพที่ลอยอยู่ในอากาศแบบเดียวกับเรานึกฝันถึงสิ่งที่เราอยากได้ เราอยากมี เราอยากดี เราอยากเป็น ไม่แตกต่างกันเลยนะครับ อันนั้นคือการคิดแบบจินตนาการ

แต่ถ้าคิดแบบทำให้สติมันเข้ามาอยู่กับกายอยู่กับใจ มันจะรู้สึกถึงน้ำหนักตามจริง มันจะรู้สึกถึงมวลของร่างกายตามจริง มันจะรู้สึกถึงก้อนเลือดก้อนเนื้อ ที่มีโครงกระดูกเป็นแก่นเป็นพื้นฐานอยู่

ถ้าเราจินตนาการถึงโครงกระดูกอย่างเดียว มันจะได้แค่แวบๆ แต่ถ้ามีสภาพอิริยาบถปัจจุบันที่เป็นอิริยาบถนอนรองรับเป็นพื้นฐานอยู่ก่อน เวลาเราเห็นกระดูกขึ้นมา มันจะเห็นเป็นกระดูกจริงๆ เลยนะครับ มันจะเห็นแบบชัดต่อเนื่องยาวนาน แล้วก็เป็นจริงเป็นจังยิ่งกว่าที่เราเอาแก้วตาไปดูกระดูกคนอื่นอีก เพราะเวลาเอาแก้วตาไปดูกระดูกคนอื่นเนี่ยนะ โฟกัสสายตาจะเลื่อนไปเลื่อนมาใช่มั้ย มันก็จะเห็นเหมือนกับเห็นจุดโน้นจุดนี้บ้าง เห็นทั้งตัวบ้าง หรือไม่ก็ทั้งๆ ที่เล็งตาไป แต่ว่าใจไปคิดเรื่องอื่น เห็นภาพอื่นในหัว

แต่ถ้าเราเห็นกระดูกในท่านอนของตัวเองเนี่ย มันเห็นแจ่มกระจ่างด้วยจิตที่มันนิ่ง มันว่าง มันเบาคงเส้นคงวาต่อเนื่องหลายนาที หรือบางคนอาจจะได้เป็นชั่วโมงก็มีนะครับ มันต่างกันเยอะ แล้วเป็นการเห็นที่ไม่คลาดเคลื่อน

การเห็นแบบคงเส้นคงวามันมีหลายแบบ คงเส้นคงวาในระดับชั่วคราวก็อาจจะแค่สิบวินาที หรือว่าครึ่งนาที หรือว่าห้านาทีอะไรแบบนี้ เป็นขณิกสมาธิ

แต่ถ้าจิตเริ่มรวม เริ่มรวมนิ่ง แล้วก็แผ่ออกกว้างเป็นอุปจารสมาธิ แบบนี้จะเห็นใสครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงอะไรแบบนี้นะครับ คือมันมีอาการกว้างออกไปบ้าง แล้วแคบเข้ามาบ้าง

อุปจารสมาธิไม่ได้เป็นจิตที่นิ่งว่างสว่างคงเส้นคงวาตลอดนะครับ บางทีมันกว้างบ้าง มันแคบบ้าง แต่ถ้าเป็นฌานจะนิ่ง แล้วก็กว้างแบบไม่มีขอบเขตต่อเนื่องเลย ยาวเป็นชั่วโมงนะครับ

ซึ่งคุณภาพของจิต ความคงเส้นคงวาของจิตนี่แหละ ที่มันจะเป็นตัวยืนยัน เป็นตัวคอนเฟิร์ม(confirm)กับเราว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเห็นจริง ไม่ใช่แค่นิมิตหลอก ไม่ใช่แค่คิดว่าเห็น แต่มันเห็นออกมาจากความแจ่มกระจ่างของภาวะทางใจ ซึ่งแตกต่างจากภาวะคิดๆ นึกๆ หรือฟุ้งซ่านเอานะครับ

ถ้ามันไม่มีการคิดเล็งไปดูอะไรสักอย่างหนึ่งเนี่ยนะ ของสิ่งนั้นไม่มีทางปรากฏ เพราะว่าจิตจะเห็นอะไรจะรู้อะไร มันเป็นไปตามการเหนี่ยวนำของความคิด อยู่ดีๆ มันจะไปรู้อะไรเองโดยอัตโนมัติไม่ได้หรอกนะครับ

----------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : การจะให้เห็นสภาพเป็นโครงกระดูกนั้น เราจะต้องคิดนำไปก่อนใช่ไหมคะ?

ระยะเวลาคลิป       ๕.๒๕ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=UPiFtyOJyQ0&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เวลาเหนื่อยกายจากการงาน มีความรู้สึกไม่โปร่งโล่งเท่ากับเวลาปกติ ไม่ค่อยมีสติอยู่กับตัว ทำให้หดหู่ง่ายควรฝึกอย่างไร?

 ดังตฤณ :  อันดับแรกเราต้องคำนึงถึงความจริงว่า จิตที่ผูกอยู่กับกายอย่างเหนียวแน่น มันก็แปรไปตามสภาพทางกายนั่นแหละ กายเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น กายเหนื่อย จิตก็เหนื่อย กายห่อเหี่ยว จิตก็หดหู่ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราไม่คำนึงถึงความจริงข้อนี้ก่อน แล้วไปตั้งโจทย์ ตั้งความหวังอะไรที่มันผิดธรรมชาติ มันก็จะออกแนวว่า กายเหนื่อยแต่ขอให้จิตตื่น มีความสว่าง มีความสดชื่น มีความสดใส ซึ่งมันไม่ใช่ธรรมชาติ มันไม่ใช่ของปกติ มันไม่ใช่ของธรรมดา ถ้าตั้งโจทย์ผิดแล้วพยายามทำอะไรผิดๆ มันก็เกิดทิศทางความคาดหวังผิดๆ เกิดความรู้สึกว่าไม่สมใจ ไม่ถึงตรงนั้นเสียทีนะครับ

อันดับแรก สำคัญมาก ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อกายเหนื่อย จิตก็ต้องเหนื่อย เมื่อกายห่อเหี่ยว จิตก็ต้องหดหู่เป็นธรรมดา ทีนี้เราจะมีอะไรที่เพิ่มเข้ามา ที่เป็นประโยชน์ในทางเจริญสติได้บ้าง อันนี้แหละคือประการที่สองว่า เราจะสามารถเห็นความจริงได้อีกเช่นกัน ผมพูดชัดๆ เน้นๆ เลยนะว่า เราเห็นความจริง ไม่ใช่เห็นตามใจอยากนะครับ เราเห็นความจริงว่า ขณะที่กายเกิดความรู้สึกว่ามันเหนื่อย มันอ่อนล้า มันเปลี้ยเพลีย มันเหมือนจะเป็นต้นเหตุ เป็นตัวการทำให้จิตเราพลอยหดหู่ไปด้วย ณ ขณะนั้นเราสามารถเห็นความไม่เที่ยงเป็นขณะสั้นๆ ได้อย่างหนึ่งคือ ถ้าหายใจยาวขึ้นกว่าปกติ มันจะสดชื่นขึ้นกว่าธรรมดา แทนที่เราจะไปพยายามหาทางว่า ทำใจยังไงตอนที่กายเหนื่อย ใจมันถึงจะสดใส เราเอาความจริงดีกว่า ไม่เอาทำใจนะ เอาความจริงว่า ถ้าหายใจสบายๆ ขึ้นมาให้ปลอดโปร่ง เกิดความโล่ง เกิดความสดชื่นทางกายขึ้นมาได้ จิตมันจะพลอยตื่น มันจะพลอยสดชื่นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครฝึกหายใจ อย่างที่ผมยกมาให้ดูเรื่อยๆ (เปิดแอนิเมชั่นฝึกหายใจยาว) ตอนหายใจแทนที่จะหายใจฟืดฟาด แทนที่จะหายใจแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือว่าพยายามจะลากลมหายใจยาวขึ้นมาแบบไม่มีหลักอะไรทั้งสิ้นเนี่ยนะ ถ้าหากว่าเราได้ฝึกที่จะรับรู้ว่า การหายใจเข้า มันมีความสัมพันธ์ว่าท้องมันพองขึ้น มันโป่งขึ้นเหมือนลูกโป่งมีความยืดหยุ่น ไม่เกร็ง ไม่เกร็งที่หน้าท้อง เป็นจังหวะประมาณอย่างนี้ (ตามแอนิชั่นฝึกหายใจยาว) พอหายใจเข้าสุด แล้วหยุดนิดหนึ่ง แล้วผ่อนจังหวะออกมาตามธรรมชาติที่ลมหายใจเขาจะออกมาเป็นปกติเนี่ยนะครับ คุณจะเกิดความรู้ขึ้นมาตามจริงอย่างหนึ่งว่า ร่างกายจะอ่อนเพลียขนาดไหนก็ตาม หากเราได้ลมหายใจ และสภาพทางกายที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลายตามการหายใจเข้า และหายใจออกที่ถูกต้อง มันจะมีความสดชื่น มันจะมีจิตที่ตื่นกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่หมายความว่า ตื่นแล้วตื่นเลยหายเหนื่อยนะ แต่อย่างน้อยมันได้เห็นความไม่เที่ยงของสุขและทุกข์ตามเหตุปัจจัยขึ้นมา

เวลาที่กายเหนื่อย จิตห่อเหี่ยวหดหู่ อันนั้นเป็นทุกข์ แต่พอเราจับจังหวะหายใจได้ใหม่ แล้วก็เห็นร่างกายมันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มันมีความผ่อนคลาย มันมีความสบายมากขึ้น จิตก็ตื่น แล้วก็หลุดออกจากภาวะหดหู่ นี่ตัวนี้เห็นเป็นเหตุปัจจัยตามจริง ไม่ใช่ทำใจยังไงนะครับ อันนี้ต้องย้ำมากๆ เลยนะครับ

ถ้าทำใจยังไง อย่างเช่นบอกว่า ปลอบตัวเองว่า กายเหนื่อยแต่จิตสดชื่น แล้วก็พยายามที่จะเกร็งกำลังภายใน อาศัยกำลังใจอย่างเดียวให้ตัวเองสดชื่น มันกลายเป็นหลอกตัวเองไป มันกลายเป็นยังเหนื่อยอยู่ แต่แกล้งทำเป็นไม่เหนื่อย

แต่ถ้าเราเห็นความจริงที่มันสัมพันธ์กันกับลมหายใจ อย่างนี้ไม่ได้หลอกตัวเอง อย่างนี้เห็นตามจริง แล้วก็จะทำให้เห็นความไม่เที่ยงได้ด้วยนะครับ เห็นความไม่เที่ยงตามเหตุปัจจัยว่า เราสร้างเหตุปัจจัยที่มันช่วยให้สภาพทางกายดีขึ้นได้ชั่วขณะ หรือว่าบางคนถ้าทำได้จนเกิดสมาธิจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ความสุขแค่สั้นๆ มันอาจจะยาวจนกระทั่งเราเห็นได้ชัดว่า เออเนี่ย พอเหตุปัจจัยที่เป็นอนัตตาทางกาย หรือว่าอนัตตาทางใจ เราใส่ปัจจัยดีๆ เพิ่มเข้าไปมากเกินปัจจัยเสียๆ หรือว่าปัจจัยที่มันเป็นลบ มันเปลี่ยนเป็นคนละคนให้ดู ลักษณะของการเปลี่ยนเป็นคนละคนให้ดูเนี่ย บางทีถ้ามองออกมาจากสายตาภายนอก บางทีเห็นหน้ากำลังหมองคล้ำ กำลังเห็นได้ชัดว่า กำลังเหน็ดเหนื่อยอยู่นะครับ พอมีสติตื่นเต็มขึ้นมา หายใจยาวสดชื่นขึ้นมา มันสว่างผ่องออกมาราวกับว่า ฉายไฟออกมาจากข้างในเลยนะครับ อันนี้มันจะเป็นประสบการณ์ที่จะได้ทราบเอง ได้รู้เองเห็นเอง ถ้าหากว่าทำได้เกี่ยวกับเรื่องของการปรับลมหายใจให้ถูกต้องนะครับ

-------------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : เวลาเหนื่อยกายจากการงาน มีความรู้สึกไม่โปร่งโล่งเท่ากับเวลาปกติ ไม่ค่อยมีสติอยู่กับตัว ทำให้หดหู่ง่ายควรฝึกอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป       ๗.๑๐ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=w9YXjanRD7w&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=8

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส



เวลาดูจิต หรือเดินจงกรมก่อนนอน รู้สึกตื่นข้างในตลอดเลย จนเกิดความกังวล อยากจะหลับแต่หลับไม่สนิท เหมือนนอนไม่อิ่ม ขอคำแนะนำ

ดังตฤณ :  ต้องย้อนกลับไปบอกอีกทีว่า การเป็นฆราวาสไม่ใช่การที่เราจะมีเวลาฟูลไทม์(full time)ที่จะทำสติให้เจริญขึ้นเรื่อยๆ นะครับ อย่างพระ หน้าที่ของท่านโดยจริงๆ ดั้งเดิมเลยก็คือ ตั้งแต่ตื่นนอนมา ก็ต้องเจริญสติ มีสติรู้เนื้อรู้ตัวรู้กายรู้ใจ รู้โดยความเป็นรูปเป็นนาม ยิ่งมีความรู้มีความตื่นมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี ยิ่งเป็นที่สรรเสริญ พระพุทธเจ้าท่านสรรเสริญ คือจะไม่หลับไม่นอนเลย ยิ่งได้รางวัลจากธรรมชาติคือ ยิ่งเข้าถึงได้เร็วขึ้นเท่านั้น ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งนอนหลับไม่มีช่วงไหนเลย ที่ไม่ควรจะเจริญสตินะครับ ควรจะเจริญสติตลอด ควรจะทำสมาธิตลอด แม้กระทั่งว่าท่านจะทำสมาธิ หรือว่าเดินจงกรมก่อนนอน แล้วตาแข็งค้างมีอาการแบบนี้ขึ้นมาท่านก็ไม่ห่วง เพราะว่าไม่ต้องตื่นขึ้นมา ไม่ต้องรีบตื่นขึ้นมาทำงาน หรือว่าไม่ต้องกลัวว่าเดี๋ยวจะง่วงตอนกลางวัน คือถ้าเป็นพระในสมัยพุทธกาล ท่านง่วงท่านงีบนะ ถ้าง่วงจริงๆ แต่นอกเหนือจากนั้น ตอนที่ท่านไม่ง่วง ท่านก็ไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น เพราะฉะนั้นท่านจะปฏิบัติเต็มที่อย่างไร หรือว่าจะมีความอ่อนเพลีย มีอาการตาแข็งตาค้างอย่างไร ก็จะไม่เกิดความกังวล จะไม่เกิดความห่วง อันนี้พูดถึงในแง่การปฏิบัติแบบฟูลไทม์

แต่การปฏิบัติแบบพาร์ทไทม์ (part-time)ของเรา บางทีมันอดกังวลไม่ได้ว่า ถ้าตื่นเช้ามาแล้วยังง่วงหงาวหาวนอนเพราะช่วงกลางคืนมัวแต่เดินจงกรม อย่างนี้จะทำยังไง? ก็ย้ายเวลา เอาเวลาที่เดินจงกรมตอนกลางคืน สมมติว่าเดินตั้งแต่ ๒ ทุ่ม ถึง ๔ ทุ่ม แล้วปรากฏว่าหลังจาก ๔ ทุ่มนอนไม่หลับตาแข็งตาค้าง ก็เปลี่ยนจาก ๒ ทุ่มนั้นมาเป็นเวลานอน นอนหลับตั้งแต่ ๒ ทุ่ม แล้วตื่นเร็วขึ้น ๒ ชั่วโมง อย่างนี้มันจะลดความกังวลไปได้นะครับ

พูดถึงฆราวาสที่ทำงานมาทั้งวัน แล้วมาเดินจงกรมช่วงกลางคืน บางทีมันไม่กระจ่างนะ มันมีความขมุกขมัวมันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าไม่พร้อมที่สติจะเจริญเต็มที่ สู้ตื่นนอนหัวโล่งๆ ไม่ได้ เวลาเท่ากันนะ แต่ถ้าย้ายเวลา ย้ายช่วงจากกลางคืนไปเป็นเช้าตรู่ เห็นผลต่างเลยนะ คือแรกๆ อาจไม่ชินอาจจะง่วงหงาวหาวนอนบ้าง รู้สึกว่านอนไม่ตรงเวลา ตื่นผิดเวลา แต่ถ้าทำไปเรื่อยๆ จนเกิดความเคยชิน แล้วเทรนให้ร่างกาย สมอง แล้วก็จิตใจมันรับกันกับสภาพโล่งๆ ตอนเช้าได้ จะเห็นนะว่าเราเดินจงกรมได้เหมือนพระเหมือนชีเลยนะครับ เหมือนอยู่วัดเลย อันนี้ก็เป็นคำแนะนำแรกนะครับ คือย้ายช่วงเวลา

ประการที่ ๒ คือ เรื่องของการตาแข็งเวลานอน ที่ผมแนะนำวันนี้ ถ้าใครลองดูจะพบว่า ถ้าเรารู้สึกได้จริงๆ เอาแค่รู้สึกแค่รางๆ ก่อนว่า ท่อนแขนที่วางไปบนฟูกนอนมันเป็นการวางแขนไปบนฟูกนอนก็คือการที่กระดูกแขนมันวางลง เห็นการวางลงของแขนเหมือนการเห็นกระดูกแขนมันวางลง คือไม่ได้รู้สึกว่าเป็นแขนของเราที่มันวางลง แต่เห็นเหมือนโครงกระดูก เหมือนกระดูกแขนที่เป็นซี่ๆ มันวางลงได้ ใจก็จะวางตามด้วย

ลักษณะของใจที่วาง ลักษณะของใจที่ไม่ยึดจริงๆ เนี่ย เวลาสงบ เวลาตื่น มันจะเป็นความรู้สึกตื่น รู้สึกสงบอย่างนุ่มนวล ลักษณะเหมือนลักษณะแผ่เมตตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่า จิตเป็นหนึ่งได้ อย่างน้อยอุปจารสมาธิขึ้นไป มีความสว่าง มีความแผ่ มีความว่าง กว้างใหญ่ คุณจะรู้สึกถึงอารมณ์วิเวกที่มันมีความหวานชื่น ที่มันมีความรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับประสาทตา ตาไม่มีอาการแข็ง เพราะว่ามันรู้สึกเหมือนทะลุไปแล้ว ทะลุกายทะลุประสาทตาไปแล้ว เหลือแต่ดวงจิตว่างๆ โล่งๆ เนี่ยตัวนี้นี่นะมันจะไม่กังวลเลย ต่อให้ตื่นขึ้นมากลางดึกแล้วไม่สามารถหลับได้อีกเลย มันก็จะตื่นแล้วก็มาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิได้แบบสบายๆ หรือจะทำงานทำการอะไรแบบอื่นที่เราอยากทำตอนหัวโล่งๆ อยากทำตอนที่เริ่มขั้นมา ๑๐ นาทีแรกของชีวิตในวันใหม่เนี่ย อยากเอาสมองมารับใช้กิจหรือการงานแบบใด หรือถ้าติดค้างทางโลกอยู่ก็เอาเป็น ๑๐ นาทีที่ดีที่สุดของวันมาคิดมาทำให้เกิดไอเดียอะไรที่มันสว่างจ้าที่สุด หรือถ้าหากว่าเราเริ่มมาทางธรรมะมากๆ ไม่ได้ห่วงไม่ได้กังวลเรื่องการงานทางโลกแล้ว ก็อาจจะเป็น ๑๐ นาที อาจจะเป็นครึ่งชั่วโมง หรือว่าอาจจะเป็น ๒ ชั่วโมงที่มีคุณภาพ สามารถเห็นกายเห็นจิตได้โดยความเป็นรูปเป็นนามกระจ่างชัด ซึ่งถึงตรงนั้นคุณจะไม่มีการแบ่งแยกแล้วว่า เราอยู่ในยูนิฟอร์มเสื้อเชิ้ต หรือว่าเราอยู่ในยูนิฟอร์มเป็นสบงจีวร เพราะมันได้ที่แก่น มันได้ที่การเห็นว่าสภาพทางกายสภาพทางใจไม่มีนิมิตหมายของความเป็นตัวตนให้จิตแบบนั้นได้รับรู้เลย มีแต่ความเป็นอนัตตา มีแต่ความเป็นของที่ว่างเปล่า แล้วใจที่ว่างเปล่า ใจที่ตื่นรู้ รู้สึกถึงความว่างเปล่าจากบุคคล นั่นแหละที่พระพุทธเจ้านิยามว่า มีความเป็นภิกษุอย่างแท้จริงนะครับ

สรุปคำตอบง่ายๆ นะครับ ถ้าหากว่าเราทำสมาธิแล้วตาแข็งค้าง มันอาจเป็นสมาธิแบบยึดอยู่ ไม่ได้เป็นสมาธิที่มันผ่องแผ้วนิ่มนวล แล้วก็ปล่อยวาง เดี๋ยวลองทดลองดูอย่างที่บอกไปในต้นรายการ วิธีที่เราจะแก้โรคนอนไม่หลับ ลองดูง่ายๆ ดูแบบสบายๆ น่าจะถูกใจคนเมือง ไม่ต้องมาทำพิธีตั้งท่ามีพิธีรีตองอะไรมาก นอนไปแบบคนปกติ เพียงแต่ว่าปรับมุมมอง เปลี่ยนการเห็นจากภายใน เปลี่ยนจากเรานอนเป็นกระดูกวางนอน แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะดีขึ้นมั้ย ตาจะยังแข็งอยู่หรือเปล่านะครับ 

-----------------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : เวลาดูจิต หรือเดินจงกรมก่อนนอน รู้สึกตื่นข้างในตลอดเลย จนเกิดความกังวล อยากจะหลับแต่หลับไม่สนิท เหมือนนอนไม่อิ่ม ขอคำแนะนำ

ระยะเวลาคลิป       ๘.๔๙ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=N_wV0Qdcq6w&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=10

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

รู้สึกว่าอารมณ์ตนเองจะทรงๆ ได้สัก ๑ สัปดาห์ ใจเบาๆ สะอาดๆ สว่าง สวดมนต์ภาวนาได้ดี พอเหนื่อยจากงานและมีเรื่องคิดให้กังวล อารมณ์ก็จะถอยกลับมาสัก ๓-๔ วัน ถึงจะดึงความรู้สึกอยากจะภาวนาได้อีก วนอย่างนี้มาระยะหนึ่ง อยากแก้ไขให้อารมณ์ทรงได้ตลอดและพัฒนาขึ้นไปค่ะ

 ดังตฤณ :  ประการแรกเราต้องระลึกว่า อะไรที่มันเที่ยง อะไรที่มันได้อย่างใจ อันนั้นคืออัตตา แต่เพราะไม่เที่ยง ไม่ได้อย่างใจ เป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนั้นแหละคืออนัตตา และนี่คือสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ ทั้งด้วยการทำความเข้าใจ แล้วก็ด้วยการเห็นความจริงไปเรื่อยๆ

แม้กระทั่งการเจริญสติ หรือการทำสมาธิภาวนา ถึงแม้ว่าเราจะทำได้ดีแค่ไหนก็ตาม นั่นเป็นรอบของน้ำขึ้น แต่ในที่สุดน้ำจะต้องลงให้เห็น

การที่เราเดือดเนื้อร้อนใจไปกับมัน จะเอาให้มีแต่ดีกับดี จะให้มันมีแต่ทรงไว้กับอารมณ์ดีๆ อย่างเดียว มันเป็นเรื่องที่เราพลาดไป เราพลาดการเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับความไม่เที่ยงไปนะครับ

ถ้าเราสามารถที่จะทำอะไรให้จิตทรงอยู่กับที่ หรือเที่ยงอยู่กับภาวะที่น่าพอใจได้ อันนั้นเราจะไม่นึกถึงนิพพาน เราจะนึกถึงอัตตาที่มันคงอยู่คู่กัปคู่กัลป์ พูดง่ายว่าทิศทางแบบนั้นไปเป็นพรหม ไม่ใช่ไปนิพพาน ไม่ใช่จะดับทุกข์ ดับความไม่แน่นอนของสังสารวัฏได้ อันนี้ข้อแรกที่ต้องทำความเข้าใจ

ข้อสองคือ เราต้องระลึกถึงความจริงที่เราเป็นฆราวาสด้วย คำว่า ฆราวาส ก็คือต้องหาอยู่หากิน ต้องทำอาชีพ ไม่ใช่มีภารกิจฟูลไทม์ (full time)เป็นการทำมรรคผลนิพพานให้แจ้ง ไม่ใช่จะสามารถที่เจริญสติทำสมาธิ ตั้งหน้าตั้งตาที่จะเอาขึ้น เอาขึ้น อย่างเดียว ตอนนี้ได้ขณิกสมาธิ วันนี้เดี๋ยวจะเอาอุปจารสมาธิ พรุ่งนี้อุปจารสมาธิได้ เดี๋ยวจะเอาปฐมฌาน เดี๋ยวเอาทุติยฌาน ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ แบบนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของฆราวาส

ธรรมชาติของฆราวาสเป็นธรรมดาที่ต้องกังวลเรื่องงาน เป็นธรรมดาบางทีต้องหนักใจ อันนี้พูดบ่อยมาก แล้วก็จริงๆ เราอาจจะผ่านหูผ่านตาทำความเข้าใจกันมาเยอะแล้ว เพียงแต่ว่ามันทำใจไม่ได้ เวลาที่ภาวนาได้ดีเป็นช่วงๆ เกิดความรู้สึกว่าจิตใจของเราผ่องแผ้ว สว่างใส สง่างาม มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเกิดความรู้สึกติดใจว่าตอนจิตสว่างใสมันเหมือนชีวิตเป็นไปอีกแบบหนึ่งเลย เป็นอีกชีวิตหนึ่งออกมาจากข้างในที่เราไม่เห็นหน้าใครอยู่ในนั้น เห็นแต่ว่ามันมีความตื่น มันมีความพร้อมรู้ มันมีความสงบสุขในแบบที่ไม่ต้องการแลกกับอะไรภายนอก ขอแลกอย่างเดียวแค่การที่เรามีความเพียรอย่างต่อเนื่อง แล้วก็มีสติทรงอยู่กับความเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ว่าจะภายนอกหรือภายใน

ฆราวาสที่เจริญสติได้ดีที่สุดจริงๆ คือฆราวาสที่สามารถบรรลุมรรคผลได้ มีสิทธิ์นะครับ อันนี้พูดแบบมีหลักฐาน ในสมัยพุทธกาลท่านก็บันทึกไว้ให้เห็นกับรุ่นหลังๆ ว่า ในยุคพุทธกาลมีฆราวาสจำนวนไม่น้อยเลย ที่สามารถจะบรรลุมรรคผล ณ ขณะที่ยังอยู่ในยูนิฟอร์มเสื้อเชิ้ต หรือว่ากางเกงยีนส์ หรือกระโปรง

แต่แม้พระอริยบุคคลขั้นต้นอย่างนางวิสาขา ก็ยังมีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ได้ นี่ก็บันทึกไว้ ยังพะวงเรื่องดูแลบ้านดูแลช่อง ดูแลสามี หรือว่าบางทีพอหลานอันเป็นที่รักตายไป ก็ร้องห่มร้องไห้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จนพระพุทธเจ้าต้องมีอุบายสอนนะครับ รักร้อย ทุกข์ร้อย หรือว่า รักพัน ทุกข์พัน มีหลานอันเป็นที่รักแบบนี้สัก ๑๐๐ คน แล้วตายทุกวัน ทุกวัน ไม่ทุกข์แย่หรือ นางวิสาขาถึงได้สติกลับมา

อันนี้ทั้งๆ ที่นางก็ได้เห็นนิพพานแล้ว คือรู้แล้วว่าสภาพกายสภาพใจแบบนี้เป็นของหลอก แต่ท่านก็ยังกลับมามีกิเลสตามสภาพแบบที่ปุถุชนเป็นกันได้ เพียงแต่ว่าอริยบุคคลก็จะไม่หลงไปทำผิด แล้วก็ไม่หลงไปคิดหลง ไม่หลงไปยึดอีก แบบปุถุชนอีกต่อไปว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน เห็นเปรียบเทียบแล้วมันจะรู้สึกว่า กายนี้ใจนี้มันแค่หุ่นที่เขาปั้นขึ้นมาหลอกชั่วคราว หุ่นยนต์ที่มันผูกขึ้นมา

ถ้าเปรียบกับยุคเราจะเปรียบเป็น โฮโลแกรม (Holograms) ก็ได้นะครับ ที่มันเป็นโฮโลแกรมสามมิติ แต่เป็นโฮโลแกรมที่มันมีความรู้สึกนึกคิด มีจิตวิญญาณ แล้วก็หลงนึก หลงเข้าใจไปว่า สภาพนี้ที่มันเป็นของหลอกแบบนี้ มันมีตัวตนเป็นจริงเป็นจัง ทีนี้ถ้าหากว่าได้ทะลุไปแล้วว่า สภาพกายสภาพใจนี้เป็นของหลอก ก็ไปเห็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่มันนิ่ง แล้วก็มีความเสถียร ไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย ไม่มีการมา ไม่มีการไป มีแต่สภาพความเป็นบรมสุขอยู่เช่นนั้น สว่างโพลงอยู่เช่นนั้น อันนี้พุทธพจน์นะครับ สว่างทั่วตลอด ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความมืด ไม่มีลักษณะนิมิตหมายของการดิ้นรนใดๆ อันนี้ฆราวาสสามารถที่จะรู้ได้ สามารถที่จะเห็นได้ สามารถที่จะเข้าถึงได้ ความสงบจากรูป ความสงบจากนาม แต่ไม่ใช่ว่าฆราวาสจะเรียกร้องเอาภาวะที่มันดีกับดี

สภาวะของจิตที่มันจะมีแต่คุณภาพที่ประณีต มีความนิ่งที่มั่นคง เราคาดหมายอย่างนี้ดีกว่าว่า เป็นฆราวาสก็มีโอกาสที่จะเห็นความไม่เที่ยงแบบฆราวาส คือภาวนาไป มันก็มีโอกาสจะดีขั้นได้ มีโอกาสที่จะเป็นขาขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว เราก็ต้องสังเกตเห็นนิมิตหมายของความไม่เที่ยง ของความเจริญนั้นด้วย มีรอบของความเจริญ ก็มีรอบของความเสื่อมเช่นกันนะครับ

-----------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : รู้สึกว่าอารมณ์ตนเองจะทรงๆ ได้สัก ๑ สัปดาห์ ใจเบาๆ สะอาดๆ สว่าง สวดมนต์ภาวนาได้ดี พอเหนื่อยจากงานและมีเรื่องคิดให้กังวล อารมณ์ก็จะถอยกลับมาสัก ๓-๔ วัน ถึงจะดึงความรู้สึกอยากจะภาวนาได้อีก วนอย่างนี้มาระยะหนึ่ง อยากแก้ไขให้อารมณ์ทรงได้ตลอดและพัฒนาขึ้นไปค่ะ

ระยะเวลาคลิป       ๘.๔๐ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=yPcEHFfOiuY&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=11

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ

วันที่ 26 กันยายน 2563

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

สำหรับคืนนี้ก็มาต่อยอดจากเมื่อตอนก่อน หัวข้อว่า ทำสมาธิในท่านอนจะได้ไหม

 

วันนี้จะเรียกว่ากลเม็ดทางการเจริญสติแบบ กายานุปัสสนา หรือ กายคตาสติ ซึ่งถ้าใครทำ กายคตาสติ ได้ ก็จะค้นพบอะไรแบบนี้ หรือยิ่งกว่านี้ใด้ไม่รู้จบนะครับ ไม่ใช่ว่า เราจะเห็นอะไร หรือว่าจำเพาะเจาะจงว่าต้องเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ แค่นั้นแค่นี้ ตามตำราว่านะ


คือถ้าหากว่าสามารถทำแบบที่พระพุทธเจ้าให้ทำได้ คือเจริญสติเข้ามาในกายจนกระทั่งเห็นทะลุปรุโปร่งนะครับ จิตมีความผ่องใส จิตมีความสว่างมากพอ ที่จะรู้จักความเป็นกายได้อย่างแจ่มแจ้ง ก็จะเกิดมุมมองออกมาจากภายในอีกแบบหนึ่งเลย ซึ่งเอามาเล่า หรือจาระไนให้ฟัง ไม่หมดนะ

เว้นแต่ว่าเราทำได้เอง แล้วก็จะค่อยๆ เห็นไป ทีละวัน ทีละขณะ ทีละช่วงตอนของแต่ละวันนะครับ ว่าสามารถมีอะไรให้เห็นได้บ้าง

 

อย่างอันนี้ เริ่มขึ้นมา เราพูดถึงท่านอนแบบหงายนะครับ ในท่าที่ปล่อยแล้ว วางแล้ว เหมือนอย่างนี้นะ


แล้วก็เริ่มจากการสำรวจ ฝ่าเท้า ว่าเกร็งอยู่ไหม ฝ่ามือ มีอาการกำอยู่ไหม หรือว่าทั่วใบหน้า มีอาการตึง มีอาการขมวดหรือเปล่า

 

ถ้าหากว่า เราเริ่มลงนอน ด้วยอาการปกติ แบบคนขาดสติ หรือคนที่ปล่อยให้ตัวเอง ไม่มีทิศทางในการนอนหลับอย่างมีสตินี่นะ ก็จะไม่รู้เลยว่า ตัวเองกำลังเกร็งอยู่หรือเปล่า เกร็งอยู่ที่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ความฟุ้งซ่านนี่ก็หายห่วงเลย อยู่ในหัวก็จะยุ่งเหยิง แล้วก็มีความรู้สึกว่า เราไม่สามารถจะข่มตานอนได้ ถ้าหากมันมีขยะทางอารมณ์นะ ระหว่างวันที่สะสมความเครียด ที่สะสมปัญหา ที่สะสมการรู้สึกว่า เราหาทางออกให้กับปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อะไรแบบนี้นี่ ก็สะสมแล้วกลายเป็นโรคนอนไม่หลับขึ้นมาได้นะครับ

 

ทีนี้ถ้าหากว่าเราเริ่มจากการนอนแบบผ่อนคลายให้เป็น แล้วก็ให้มีความเคยชินที่จะสะสมความรับรู้ว่าในกายนี้ มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่ยังกำอยู่ไหม ที่ยังเกร็งอยู่ไหม แล้วก็รู้จักที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายทีละส่วน ไล่มาว่า ฝ่าเท้าผ่อนคลาย ฝ่ามือผ่อนคลาย ใบหน้าผ่อนคลาย ก็จะสบายขึ้นมาทั้งตัว

 

แต่ทีนี้ เรื่องของเรื่องนี่นะ เวลาที่เราสบายขึ้นมาทั้งตัวแล้ว ถ้าหากว่าไม่มีสติอยู่กับเนื้อกับตัวเป็นปกติ ก็จะกลับฟุ้งซ่านขึ้นมา ก็จะลืมท่านอน ลืมสภาพความเป็นกายในอิริยาบถนอน กลับไปฟุ้งซ่านใหม่ แล้วก็เครียดได้ใหม่

 

ทีนี้ถ้าเรา เหมือนกับมี สติ อยู่กับกายได้ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นลมหายใจเข้าออก หรือความเป็นกายในท่านอนนี้ จนกระทั่งรู้สึกได้ถึง ความวางนอน ทั่วทั้งสรรพางค์กาย แล้วก็นึกถึง กระดูกข้อมือ

คือจริงๆ จะกระดูกชิ้นไหนก็ได้ แต่กระดูกข้อมือ มาอยู่ใกล้กับฝ่ามือ แล้วฝ่ามือ ถ้าหากว่าอยู่ในสภาพปล่อยวาง อยู่ในสภาพกาง ไม่กำ เราจะถือได้ว่า มีสัญญาณ มีความเป็นเครื่องหมายบอก ความปล่อยวางทางใจได้

 

มือที่คลาย คือมือที่ปล่อย แต่มือที่กำ มือที่เกร็ง คือตัวสะท้อนสภาพใจที่ยึด

 

อย่างพอเรามีสติแล้ว อยู่ในท่านอนที่สบาย ฝ่าเท้า ฝ่ามือทั่วใบหน้าไม่เกร็งแล้ว แล้วนึกถึงกระดูกข้อมือขึ้นมา


จะเหมือนกับใจเรา โฟกัส ไปที่ ... คือต้องพูดให้เคลียร์นะ คือยังมีสติอยู่กับท่านอนทั้งตัวอยู่ เพียงแต่ว่าจะเด่นชัดขึ้นมาที่กระดูกข้อมือ แล้วถ้าหากว่า มีความรับรู้ได้แบบสบายๆ ไม่ไปจดจ้อง เพ่ง หรือว่าไม่ไปเคร่งเครียด กับการจะเห็นให้ได้ แต่เหมือนกับ เราทำความรู้สึกน่ะ ตอนที่ฝ่ามือหรือว่าข้อมือ วางสัมผัสฟูกนอน แล้วก็เกิดความรับรู้อย่างเป็นไปเองว่า ตอนฝ่ามือผ่อนคลาย กระดูกข้อมือที่เรารู้สึกถึงความเป็นข้อมือนี่ ก็จะมีความเป็นไปเองนะ ...วาง รู้สึกถึงอาการวางของมันอย่างเป็นไปเองตามไปด้วยนะครับ

 

ฝ่ามือสบายอย่างไร ข้อมือก็สบายอย่างนั้น แล้วข้อมือ ถ้าหากว่าสบาย เรารับรู้อย่างสบายๆ ไปพักหนึ่ง จะเห็นขึ้นมารางๆ เหมือนกับสภาพของกระดูกที่ปรากฏ เวลามืดๆ เรานึกถึงร่างกายของตัวเอง เราเห็นอะไรล่ะ ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแต่ก้อนความรู้สึก เป็นตัวเป็นตน คือไม่ได้เห็นเป็นสภาพรูปพรรณสัณฐานทางกายอะไรหรอก แต่รู้สึกแค่ว่า มันมีก้อนเนื้อ มีน้ำหนัก มีมวลของความเป็นร่างกายตัวเรา เป็นสัญลักษณ์ แทนอัตตา หรือว่าตัวตนของเรา

 

ทีนี้ถ้าเราเจาะจง เล็งเข้าไปที่ความจริง อย่างเอาข้อมือเป็นตัวตั้งนะครับ เราก็จะรู้สึกได้ถึงกระดูกข้อมือที่อยู่ตรงนั้นแหละ มันไม่ได้เห็นชัดเป็นรูปพรรณสัณฐานเป็นซี่ๆ แบบนี้เสียตั้งแต่เริ่มแรกนะ ตรงกันข้าม ถ้าหากว่า จิตมืด เราก็อาจเกิดจินตภาพ จินตนาการ เห็นกายเป็นก้อนดำๆ หรือจินตนาการเป็นกระดูกที่น่ากลัว


นึกออกใช่ไหม เวลาถ้าเราอยู่ในความมืด แล้วใครมาบอกว่า ร่างกายที่แท้จริงของเรา โดยพื้นฐานเป็นกระดูกนะ แล้วเรานึกถึงโครงกระดูก เราก็มักจะนึกถึงสิ่งที่ติดอยู่ในความทรงจำ อย่างเช่นหนังผี หรือว่าอย่างกระดูกที่เรานึกกลัว บางคนนี่ เห็นกระดูกในป่าช้า หรือว่า ดำน้ำลงไปเจอกระดูกใต้ก้นทะเล ถึงขั้นช็อคก็มีนะ เคยมีนักประดาน้ำ ลงไปถึงก้นทะเลแล้วเจอกระดูกมนุษย์ ก็ทะลึ่งพรวดขึ้นมา ลืมว่า ต้องค่อยๆ ขึ้นมาทีละช้าๆ ถึงขั้นช็อค ถึงขั้นอะไรไป

 

แสดงให้เห็นว่าจินตภาพ หรือว่าจินตนาการของมนุษย์เรามีที่มีเกี่ยวกับกระดูก มันโยงเข้ากับเรื่องของผี เรื่องของสิ่งที่น่ากลัวนะครับ

 

แต่ถ้าหากจิตสว่างใสขึ้นมาจริงๆ จะไปเห็นเป็นกระดูกที่ น่าวาง แล้วไม่เกิดความรู้สึกว่าน่ากลัวอะไรทั้งสิ้น จะมีสภาพความเป็นเช่นนั้นเองของกระดูก ที่เรามานอนอยู่กับใคร เรามานอนอยู่กับอะไร อีกอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่ตัวตน


พูดง่ายๆ นะ สรุปง่ายๆ เลยก็คือว่า ถ้าจิตยังมืดอยู่ จะนึกถึงความจริงทางกายที่รับไม่ได้ คือรู้แหละว่าเป็นกระดูก แต่รับไม่ได้ที่ตัวเองเป็นอย่างนี้ เป็นโครงเป็นซี่ๆ แบบนี้

 

แต่ถ้าสว่าง แล้วเห็นตามจริงนะครับ เห็นความจริงทางกายที่ไม่มีใคร ความจริงทางใจที่ไม่เที่ยง จะเกิดสภาพทางใจที่ปล่อยวางขึ้นมา แล้วสภาพทางใจที่ปล่อยวาง นอนไปกับกระดูกนั่นแหละ ที่ มันจะหลับสบาย มันจะสว่าง มันจะหายเครียด มันจะเลิกกังวล คือ ไม่รู้ว่าจะต้องฟุ้งซ่านให้โครงกระดูก ที่วางรอวันแตกกระจายโครงนี้ไปทำไม

 

จะมีแต่ใจที่เห็นความจริง เห็นตามจริงว่า กระดูกที่ไม่มีใครอยู่นี้ วางของมันอย่างนั้น แล้วทำไมใจไม่วางตามมันบ้าง

 

อย่างถ้า หากเอาตามหลักการของคนที่เขาคิดวิธีที่จะนอนหลับง่ายๆ สบายๆ อะไรแบบนี้นะ จริงๆ แล้วเขาบอกด้วยซ้ำว่า ไม่ใช่ให้นึกถึงแต่ความสบายแล้วก็วางนอนแบบนิ่งๆ แน่นิ่งอะไรแบบนั้น จริงๆ เขามีกลเม็ด หรือว่ามีอุบายกันว่าให้ออกแรงนิดหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเหนื่อย ทีนี้เราก็อาจมาประยุกต์ได้

 

ถ้าคุณสามารถรู้สึกถึงความสว่างทางใจ แล้วก็เห็นได้ถึงความจริงทางกายนะครับ ที่มันมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นรูปกระดูก เป็นรูปพรรณสัณฐานกระดูก คุณอาจลองเล่นดูก็ได้

 

คือยกมือขึ้นมา ปกติ ถ้าจิตสว่างใสแล้ว จะเห็นเหมือนกับ ข้างหน้าเป็นอากาศว่างใสๆ ที่ว่างเกินจริง ว่างเกินความมืดที่กำลังปรากฏอยู่ ถ้าหากว่าเรายกเอากระดูกข้อมือที่เรารู้สึกว่ามันวางได้แล้ว เห็นเป็นกระดูกแล้ว มาวาดผ่านไป จะรู้สึกเลย คือเหมือนกับมีอะไรผ่านตานี่นะ ตอนแรกเหมือนจะมีเงาผ่านตา ถ้าใจของเรา สามารถจับ รู้สึกถึงความเป็นแท่งกระดูกได้ จะค่อยๆเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ นะ เหมือนมีซี่กระดูกแขน วาดผ่าน แล้วพอเราเอาวางลงไป ก็เหมือนหายไปจากห้วงมโนทวารของเรานะ

 

ความรู้สึกว่า การเห็นที่มันแสดงต่อใจ ที่ว่าง ที่สว่างอยู่นั้น เป็นนิมิตบอกความไม่เที่ยงได้อีกชนิดหนึ่งนะ อย่างพอเวลาวาดผ่านนี่ก็เหมือนเห็น พอเวลาวางลงเหมือนหายไป การรับรู้ทางคลองจักษุ หรือว่าทางสายตา ไม่ปรากฏ แต่มันปรากฏเป็นการรับรู้ผ่านห้วงมโนทวาร

 

ซึ่งยิ่งเรามีความคุ้นเคย มีความชินกับการเห็นอะไรแบบนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีจิตที่ผ่อนพัก ผ่อนคลาย แล้วก็วางจริงทุกคืนมากขึ้นเท่านั้นนะครับ เหมือนกับเราได้พัก ได้ชาร์จแบต ได้ทำให้ร่างกายและสภาพจิตใจนี่ อยู่ในโหมดพักผ่อนที่สมบูรณ์ ก่อนที่จะนอน จะรู้สึกเลยว่า จิตใจมันทิ้งหมด ไม่ว่าภาระ พันธะ หรือว่า ความกังวลนานาประการทั้งปวงนี่นะ เหมือนกับมันหายไป

 

แล้วเราก็ชินกับการเห็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเห็นในขณะนอนนิ่งๆ ที่ข้อมือวางอยู่บนฟูก แล้วเห็นเป็นกระดูก หรือว่าจะรู้สึกเหมือนกับว่า เราเอาฝ่ามือหรือว่าท่อนแขนมาวาดผ่านหน้า แล้วเห็นเป็นโครงกระดูก มันสักแต่เป็นวัตถุที่แสดงความไม่ใช่เรา แสดงความไม่เที่ยง ด้วยอาการต่างๆ ที่บางทีไม่เที่ยงในแบบที่เราเห็นว่าโครงกระดูกมันผ่านตาไป ผ่านหน้าไป แล้วก็หายไป แต่บางทีนี่ มันก็มาในรูปของการอยู่ในท่านอนนิ่งๆ นะ แล้วแสดงให้เห็นนะครับว่า บางทีมันก็ปรากฏเป็นก้อนเนื้อมืดๆ ดำๆ หรือว่า เป็นโครงกระดูกขาวๆ ที่มันแจ่มชัดกระจ่าง

 

ซึ่งอันนั้นแหละ เหล่านั้นแหละ คือสภาพทางจิตที่มันกำลังปรากฏอยู่ตามจริง ถ้าเราเห็นสภาพทางกายอย่างไร มันสะท้อนเข้าไปให้เราเรียนรู้นะครับว่า สภาพทางจิต ก็เป็นเช่นนั้น เห็นก้อนกายมืดๆ นั่นก็คือจิตของเรายังมืดอยู่

แต่ถ้าเห็นสว่างกระจ่างใส เป็นโครงกระดูกชัดๆ นั่นแสดงว่าจิตมีความสว่าง มีความผ่องใสนะ

 

ก็ลองทำดูนะครับ คือพอเริ่มต้นนี่ เราเริ่มจากการเห็นเป็นโครงกระดูกแค่ท่อนแขนนะ แต่พอเราทำจนชำนาญแล้วนี่ จิตมันเต็มแล้วนี่ ก็จะเห็นเป็นกระดูกเต็มๆ ทั้งอย่างนี้เลยนะ มันจะเป็นไปเองโดยไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายามนะครับ

 

ถ้าหากว่าพยายาม จำไว้นะ หลักการ ถ้าเราจะแก้โรคนอนไม่หลับ อย่าพยายามฝืนทำอะไรที่มันเกินตัว หรือว่าเกินกำลังของจิต แต่ให้เป็นไปเอง เป็นไปแบบที่เราไม่ต้องมีอาการต้องออกแรงน่ะ อย่าออกแรง แต่ให้ทุกอย่าง ปรากฏขึ้นมาเองตามที่มันจะปรากฏนะครับ

 

มีอะไรให้รู้ ก็รู้ เท่าที่มันจะมีให้รู้นั่นแหละ อันนี้คือในที่สุดแล้วจิตใจ จะผ่อนพัก ผ่อนคลาย เพราะเห็นความจริงเกี่ยวกับสภาพกาย แล้วก็ทำให้จิตใจ ไม่ยึดความจริงว่า จะต้องเอาจริงเอาจังนะ

 

การเห็นความจริงที่แท้นั่นแหละ คือการที่ใจเริ่มฉลาดที่จะไม่เอาจริงเอาจังกับมันนะ!

___________

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=WpEbJJf5Eow&t=328s


วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

 ดังตฤณ :  เดี๋ยวคืนนี้เราเข้าสู่ช่วงสุดท้ายนะครับ มาสวดมนต์กัน ต้องใช้หูฟังนะครับ เป็นเทคโนโลยีทางเสียง จะมาสวดอิติปิโสกัน แล้วก็เสียงนี้จะช่วยให้คุณเกิดสมาธิในการสวดมนต์ เดี๋ยวถ้าใครยังไม่ได้เอาหูฟังมา ก็เสียบหูฟังมานะครับ แล้วเรามาสวดมนต์ด้วยกัน มาเริ่มกันเลยนะครับ

คุณดังตฤณนำสวดมนต์

โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน

                                      และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์




ผ่านไปนะครับสำหรับค่ำคืนนี้ รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน หัวข้อที่ว่า ทำอย่างไรถึงจะเลิกหลอกตัวเองได้

บอกอีกครั้งนะครับว่า ก็ดีใจที่ยังมีคนจำได้ แล้วก็ถามถึงนะครับ สำหรับคลื่นปัญญาคลิปสุดท้ายนะครับ ของลอทนี้ของปีนี้ที่จะว่ากันด้วยเรื่องของ ฝึกรู้กายใจหนึ่งในสังสารวัฏ คือเอากายใจนี้เป็นเครื่องระลึกรู้นะว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่เหยื่อล่อหนึ่ง ในอนันตชาติที่ผ่านมา เรามีหน้าตา เรามีความรู้สึกนึกคิดอะไรที่แตกต่างไปอย่างนี้ แต่สิ่งเหล่านั้นเนี่ย ล่วงลับดับหายไปหมดแล้ว แล้วเราก็จำไม่ได้ มาจำได้ มารู้ได้เฉพาะที่มันเป็นกายนี้ใจนี้

เดี๋ยวจะทำให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ ก็ดีใจที่ไม่ได้บอกไว้ก่อน อันนี้ดีใจเองนะ คือดีใจที่ไม่ได้บอกไว้ก่อนว่ามันจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะคาดหมายไม่ได้จริงๆ นะครับ ก็ขออภัยสำหรับท่านที่รอดูนะครับ

ผมรับประกันว่าจะไม่ผิดหวังที่รอนะครับ แต่ไม่รับประกันว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ แต่จะให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้นะครับ

สำหรับคืนนี้ก็ขอล่ำลากันที่ตรงนี้ครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ

----------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

ช่วง     : สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

ระยะเวลาคลิป       ๕.๐๕ นาที
รับชมทางยูทูบ       https://www.youtube.com/watch?v=5M2Noqy0xnE&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=12&t=0s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

คลื่นปัญญาคลื่นสุดท้าย ฝึกรู้กายใจในสังสารวัฏ ยังไม่อัพโหลดขึ้นแอพใช่ไหมครับ?

 ดังตฤณ :  ดีที่มีคนถามขึ้นมา (คุณดังตฤณยิ้ม) ผมกำลังทำอยู่นะครับ อันนี้ทำมาครึ่งปีแล้ว หวังว่ามันจะเสร็จเร็วๆ นี้นะครับ

เอาอย่างนี้เล่าให้ฟังว่า เขียนบทอย่างเดียวเนี่ย เหมือนเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเลยนะ ใช้เวลาเกือบ ๔ เดือน แล้วก็บันทึกเสียงแก้ไปแก้มาเกือบ ๒ เดือน แล้วตอนนี้กำลังทำแอนิเมชั่นอยู่ ก็แก้อีก คือมันยากมาก แล้วความยาวเนี่ยเกือบ ๕๐ นาที คือผมหวังไว้สูงมากกับคลิปสุดท้ายคลิปนี้นะครับ คลิปอื่นผมใช้เวลาอาทิตย์เดียว ทั้งเขียนสคริปต์ ทั้งบันทึกเสียง แล้วก็ทำแอนิเมชั่น

แต่ว่าคลิปสุดท้ายนี่เหมือนภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเลยนะครับ เหมือนภาพยนตร์สารคดีเรื่องหนึ่งเลย แล้วก็ตั้งใจจะให้เป็นคลิปที่ตอบคำถามได้ทุกคำถามในศาสนาเกี่ยวกับศาสนาพุทธนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวิบากกรรม หรือว่าเรื่องของการเจริญสติ เรื่องของนิพพานว่านิพพาน คืออะไร เป็นยังไง โดยอาศัยการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยหลายชั้น หลายแง่หลายมุม แล้วก็จะเรียกว่าอยากให้ดูแค่คลิปเดียวเนี่ยคุณรู้สึกเลย

สมมติว่ายังไม่เคยเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนามาก่อน สามารถเข้าใจได้เลย แล้วก็เป็นหนึ่งชั่วโมงในชีวิต ไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงในชีวิตที่อยากให้มันพลิก อยากให้มันเปลี่ยนคนๆ หนึ่ง จากที่ไม่รู้จักพุทธศาสนา เป็นรู้จัก ซาบซึ้ง แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสได้นะครับ

-------------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : คลื่นปัญญาคลื่นสุดท้าย ฝึกรู้กายใจในสังสารวัฏ ยังไม่อัพโหลดขึ้นแอพใช่ไหมครับ?

ระยะเวลาคลิป    ๑.๕๘   นาที
รับชมทางยูทูบ     https://www.youtube.com/watch?v=Jbl4xIaMBgo&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=1

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

โตขึ้นหนูไม่อยากแต่งงาน จะฝึกจิตอย่างไรให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว และกล้าหาญพร้อมตายแบบโดดเดี่ยว โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานญาติพี่น้องคะ?

 ดังตฤณ :  เวลาที่เราทำบุญแล้วมีความสุขนะครับ อธิษฐานเลยว่า ขอให้มีจิตเข้มแข็ง อยู่กับอารมณ์เด็ดเดี่ยว และอยู่ตามลำพังไม่โดดเดี่ยว แต่รู้สึกว่าตัวคนเดียวเนี่ยดีแล้ว สันโดษ นะครับ

อธิษฐานไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทำบุญประเภทไหนสำเร็จมีความสุขอะไรก็แล้วแต่นะครับ อธิษฐานไปเรื่อยๆ สำทับซ้ำไปเรื่อยๆ ว่า ขอให้มีความเข้มแข็งกับการอยู่คนเดียว แล้วในที่สุดคุณจะพบว่าจิตชอบความวิเวก จิตชอบความสันโดษ จิตชอบความไม่ข้องเกี่ยว ไม่อยากมีพันธะ ไม่อยากจะไปเสียเวลากับความผูกพันอะไรทำนองนี้ ก็จะทำให้ถึงจุดหนึ่ง มีกำลังมากพอที่จะปลีกวิเวกแบบเด็ดขาดได้นะครับ

แล้วก็จะรู้ตัวเองนะ คือสามารถปลีกได้จริงๆ ไม่ใช่แบบชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็เดี๋ยวก็เวียนกลับมาอะไรแบบนี้นะครับ

---------------------------------------
๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : โตขึ้นหนูไม่อยากแต่งงาน จะฝึกจิตอย่างไรให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว และกล้าหาญพร้อมตายแบบโดดเดี่ยว โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลานญาติพี่น้องคะ?

ระยะเวลาคลิป    ๑.๑๖   นาที
รับชมทางยูทูบ     https://www.youtube.com/watch?v=8g4QvjmC_Cw&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ทำอย่างไรให้ตัดใจลุกจากที่นอนในเวลาเช้าได้ครับ?

 ดังตฤณ :  บอกตัวเองเสมอๆ นะครับ ในทุกเช้าเลย ท่องไว้เป็นคาถาว่า “ ขี้เกียจลุกขึ้นจากที่นอน คือขี้เกียจลุกขึ้นมาพบกับความสำเร็จในชีวิต! ” นะครับ


-----------------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : ทำอย่างไรให้ตัดใจลุกจากที่นอนในเวลาเช้าได้ครับ?

ระยะเวลาคลิป    ๐.๑๖  นาที
รับชมทางยูทูบ       https://www.youtube.com/watch?v=eIBxLkBjF-c&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

เราจะจัดการกับตัวเองอย่างไรดีคะ ที่คิดหลอกตัวเองให้ความช่วยเหลือเขา ในขณะที่เราก็ไม่ได้มีมากมาย ไม่รู้ว่าหลงหรือหลอกตัวเอง?

 ดังตฤณ :  อันนี้ไม่ใช่หลอกตัวเองนะครับ อันนี้คือเราใจอ่อนนะ แก้ความใจอ่อนด้วยการฝึกเข้มแข็งขึ้นทีละนิดนะครับ แต่ละครั้งที่เราปฏิเสธได้ ไม่ช่วย แล้วก็หาทางช่วยวิธีอื่น คือให้คำแนะนำ แทนที่จะเอาตัวเข้าไปช่วยตรงๆ ทุ่มตัวเองเข้าไปทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังหลังค่อมอยู่ แล้วก็จะไปแบกให้เขาขึ้นมาอยู่บนตัวเราหนักๆ ทั้งๆ ที่คนหนึ่งตัวเตี้ย คนหนึ่งตัวค่อม มันก็ล้มไปด้วยกัน

เราค่อยๆ บอกตัวเองนะ แต่ละครั้งที่จะใจอ่อน รู้ตัวว่าอาการใจอ่อนเป็นยังไง ยอม ยอมเขาไปนะ แล้วพอเตือนตัวเองล่วงหน้านะ บอกว่าถ้าจะเกิดอาการแบบนี้อีกนะ ใจอ่อน เกิดอาการแบบว่าจะยอมๆ ไปเนี่ยนะครับ ให้บอกตัวเองว่า เมื่อเกิดสภาพแบบนั้นขึ้นมาในจิต เราจะสั่งตัวเองว่า ครั้งหน้าจะเข้มแข็ง ไม่เอาแล้ว ไม่เอาตัวเข้าไปช่วยเขาแบบที่ช่วยตะพึดตะพือนะครับ แต่ช่วยในแบบที่จะทำให้เขาสามารถช่วยตัวเองได้ ช่วยให้คำแนะนำ ช่วยชี้ช่อง หรือว่าช่วยที่จะให้เขาคิดได้ จากที่คิดไม่ได้ ให้เขาคิดได้ เหมือนกับที่เราคิดได้ คิดได้ว่าเราไม่ควรช่วยเขาอีกต่อไป ช่วยแบบทุ่มสุดตัวน่ะ แต่ควรช่วยเขา ให้เขาช่วยตัวเองได้ อันนี้เรียกว่า เราคิดได้ แล้วจะทำให้เขาคิดได้ต่อนะครับ

------------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : เราจะจัดการกับตัวเองอย่างไรดีคะ ที่คิดหลอกตัวเองให้ความช่วยเหลือเขา ในขณะที่เราก็ไม่ได้มีมากมาย ไม่รู้ว่าหลงหรือหลอกตัวเอง?

ระยะเวลาคลิป    ๑.๕๖   นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=2VJSumvd7d0&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

การที่เราจะได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราต้องมีกรรมสัมพันธ์กับที่นั้นๆ ไหมครับ ยกตัวอย่าง เราอยากไปดำรงชีวิตอยู่อเมริกา เราต้องเคยมีกรรมสัมพันธ์กับที่นั่นใช่ไหมครับ?

 ดังตฤณ :  อันนี้ไม่ใช่นะครับ ถ้าพูดถึงกรรมสัมพันธ์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า เราเป็นทายาทของกรรมของเรา มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้นเราจะไปอยู่ที่ไหน หรือถูกซัดไปอยู่กับใคร มันขึ้นอยู่กับกรรมเก่า อันนี้กรรมเก่าส่งมา

แล้วก็ขึ้นกับกรรมใหม่ว่า เราจะเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า อย่างนี้พอพูดถึงเรื่องประเทศเนี่ย อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่างได้ดีเลยนะ

แต่ละประเทศที่เราไปอยู่ มันจะให้ความสุขความทุกข์แตกต่างกัน มันจะให้หน้าให้ตาเราไม่เหมือนกัน อย่างบางคนคิดเก่งระดับอัจฉริยะเลย บอกว่าอยู่เมืองไทย บางคนนะเป็นอัจฉริยะอยู่เมืองไทยแล้วดัง แล้วรวยด้วย แต่พอพยายามตะเกียกตะกายไปอยู่ที่อื่น อยากจะไปรวยกว่านี้อีก กลับดับ ไปสู้คนอื่นเขาไม่ได้ กับอีกคนหนึ่ง อัจฉริยะเหมือนกัน คิดเก่งเหมือนกัน อยู่เมืองไทยแป้กอยู่กับที่ ไม่ไปถึงไหน ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ แต่ไปอยู่เมืองนอก แหมมันถูกจริตกับฝรั่ง ฝรั่งเขาเห็นค่า กลายเป็นคนร่ำรวยขึ้นมา อย่างนี้ก็มี มันขึ้นอยู่กับเราเนี่ย .. สถานที่ๆ มันจะเกื้อกูลกับความเก่งชนิดของเรา มันเป็นที่ไหน

บางคนจับพลัดจับผลูเพื่อนกระชากลากถูไป ไปกับเขา แล้วปรากฏว่าไปดังจริงๆ ไปร่ำรวยขึ้นมาจริงๆ ต้องเปลี่ยนที่เสียก่อน อันนั้นเรียกว่ากรรมจัดสรรนะครับ โดยส่งเพื่อนของเรามากระชากลากถูไป

แต่บางคนคิดเอง พยายามคิดว่าตัวเองเหมาะกับที่ไหน เสร็จแล้วเปิดหูเปิดตาไปกว้างๆ รอบโลกแล้วไปเจอจริงๆ แล้วก็ได้จริงๆ แต่บางคนคิดผิดด้วยการที่สละของดีอยู่แล้ว ไปขึ้นรถขึ้นเรือลำใหม่ แล้วก็ไปเจอเรือล่ม เรือที่ไปชนหินอะไรต่างๆ เป็นอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา เนี่ยอย่างนี้มันก็มีนะครับ ขึ้นอยู่กับว่าความเหมาะสมในจังหวะหนึ่งๆ ที่ถึงจุดตัดของกรรม มันจะพาคุณไปเจอใคร หรือว่าอยู่ๆ คิดอะไรขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องของประเทศ มันไม่ใช่ว่าคุณต้องมีบุญ ทำบุญที่อเมริกามาก่อน มันถึงจะได้ไปอยู่อเมริกา ไม่ใช่นะครับ มันขึ้นอยู่กับว่า อเมริกาเป็นสถานที่ๆ เหมาะกับจุดตัดในชีวิตนั้นๆ ของคุณขณะนั้นๆ หรือเปล่านะครับ

ถ้าหากว่าอเมริกา ทีนี้ต้องถามด้วยนะรัฐไหน? มีหลายรัฐนะ หลายสิบรัฐ อเมริกาไปแล้วไปปุ๊บเจอโควิดตายเลย อย่างนี้แปลว่าคุณถึงที่นะ คืออยู่ดีไม่ว่าดี เปลี่ยนสถานที่ นึกว่าจะไปรวย กลับไปตาย

แต่ถ้าหากว่ามีจังหวะมีโอกาส จะเป็นสอบแข่งขัน หรือว่าจะมีประเภทธุรกิจที่เหมาะกับไอเดียของคุณเนี่ยนะครับ เปิดอ้าอยู่แล้วคุณเข้าไปแล้วไปเจอโควิด ก็อาจจะประสบความสำเร็จอะไรขึ้นมา เป็นเรื่องที่ได้ข้อสรุปข้อเดียวเลยว่า ณ จุดตัดที่จะมีการเลือกที่จะไปอยู่ประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น มันเป็นจุดตัดของกรรมชนิดที่หนุนส่งให้ได้ไปดี หรือได้ไปร้าย เนี่ยตรงนี้พูดในแง่ของกรรมเก่า และต้องดูด้วยว่ากรรมใหม่ของคุณ บุญใหม่ของคุณ หรือว่าความคิดที่ลงไปกับสถานที่ใหม่ของคุณนั้น มันเหมาะสมแค่ไหนด้วย ต้องพูดประกอบกันทั้งของเก่าแล้วก็ของใหม่นะครับ

เรื่องความสัมพันธ์แบบที่ว่าเราทำบุญกับที่ไหน แล้วจะได้ไปเกิดที่นั่น มันอาจจะมีนะ แต่ว่า อย่างสมมติว่า อธิษฐานขอให้ได้เกิดมารับใช้ประเทศเป็นทหารอะไรแบบนี้ ก็อาจจะมาเกิดในประเทศนั้นๆ จริงๆ แล้วก็ได้ปกป้องประเทศอะไรแบบนี้ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ที่จะมีกรรมผูกพันกับประเทศใด สถานที่ใด ไม่มีหรอก มันขึ้นอยู่กับว่ากรรมจะเหวี่ยงไปอยู่ในที่ใด ที่มันเหมาะสม ที่จะได้รับผลของกรรมนั้นๆ มากกว่านะครับ

--------------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : การที่เราจะได้ใช้ชีวิตอยู่ที่ใดที่หนึ่ง เราต้องมีกรรมสัมพันธ์กับที่นั้นๆ ไหมครับ ยกตัวอย่าง เราอยากไปดำรงชีวิตอยู่อเมริกา เราต้องเคยมีกรรมสัมพันธ์กับที่นั่นใช่ไหมครับ?

ระยะเวลาคลิป    ๕.๔๔   นาที
รับชมทางยูทูบ       https://www.youtube.com/watch?v=Etz05LDvT_U&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=2

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ผมชอบมีความคิดกวนใจที่ต้องเลือกใครสักคนแบบร้าย ๆ เช่น การที่คิดว่าจะเลือกอะไรดีระหว่าง แม่ หรือ ศาสนา จะเลือกอย่างหนึ่งก็กลัวบาป ทุกข์ใจมากครับ?

 ดังตฤณ :  สงสัยแม่คงจะทำให้รู้สึกว่า ศาสนาเป็นเรื่องไม่ดี อย่าไปเอา อย่าไปอินมากอะไรแบบนี้ อันนี้ก็เข้าใจนะ คือพ่อแม่แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แล้วบางทีพ่อแม่บางคนเขาก็มีบุญ แต่ว่าอาจจะยังไม่ถึงเวลาอะไรแบบนี้นะครับ

คือลองคิดอย่างนี้ก่อนก็แล้วกันว่า คนที่เขาขัดขวางเรา เขาอาจจะไปเจออะไรที่มันไม่ดี มันต่างจากเราที่เราไปเจออะไรดีๆมา ฉะนั้นอาจจะต้องทำให้ตัวเองมองเห็นด้วยความใจเย็นก่อนว่า เออ ยังไม่ถึงเวลา ยังไม่เหตุปัจจัยดีพอ ที่จะทำให้คนใกล้ตัวของเราได้เกิดความเข้าใจแบบที่เราเข้าใจ

พอมีทัศนคติในแบบที่ เออ เรารอได้ ไม่ใช่ว่าเขาจะต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ใจเราก็จะเหมือนกับเย็นลง แล้วหาช่อง หาจังหวะที่เหมาะสม คือหัดจากอย่างนี้แหละ หัดคิด หัดตั้งมุมมองนะว่า บางทีมันไม่ใช่อย่างที่เราตัดสินท่าน ว่าท่านเป็นมารศาสนา ท่านเป็นมารใจหัวใจเราอะไรแบบนี้ คือเทวดาในตัวท่านน่ะมี แต่ยังไม่ออกมา ยังไม่ได้ฤกษ์ที่จะผุดออกมา เพราะว่ายังไม่มีเหตุปัจจัยที่พร้อมพอ

เสร็จแล้วพอเรามองแบบนี้ไปเรื่อยๆ บางทีมันก็อาจจะเกิดความฉุกใจคิดว่า เออ เราเองนี่แหละอาจจะต้องทำหน้าที่เปลี่ยนใจท่าน ผมยกตัวอย่างนะ อย่างพระสารีบุตร อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ทางพุทธศาสนารู้มานะว่า พระสารีบุตรท่านเป็นพระอัครสาวกฝ่ายขวาทางปัญญา เลิศทางปัญญา สามารถที่จะโปรดให้ชาวพุทธ หรือว่าคนที่มีความเห็นผิดนอกศาสนาอะไรต่างๆ ได้บรรลุธรรมมากมาย

คือท่านเริ่มชราภาพแล้วพระสารีบุตรเนี่ยนะครับ ท่านก็คิดว่า เอ๊ะ! เนี่ยโปรดคนโปรดสัตว์มาตั้งเยอะตั้งแยะ แต่แม่ของตัวเองยังเป็นคนนอกศาสนาอยู่เลย แล้วก็ไม่เห็นด้วยกับที่องค์ท่านเองมาบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านก็เลยกลับไปโปรดมารดาของท่านเอง อันนี้ก็อาจจะด้วยการเล็งจากภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราๆ ท่านๆ อาจจะไม่สามารถรู้ตามท่านได้นะครับ ท่านอาจะเล็งว่า เออ มันถึงเวลาแล้วที่มารดาของท่านน่าจะพร้อมพอจะฟังธรรมะ พอไปโปรดมารดา ก็สามารถช่วยให้มารดาเป็นพระโสดาบันได้นะครับ นี่ก็เป็นตัวอย่าง

แล้วบางทีมันต้องรอเวลา อย่าเพิ่งหมดหวัง อย่างเพิ่งหมดใจ อย่าเพิ่งไปตัดสินนะว่าต้องเลือกระหว่างแม่กับศาสนา เราไม่ต้องเลือกก็ได้นะครับ เราเอาศาสนาทั้งคู่ก็ได้ แต่ว่าต้องมีวิธีคิดนิดหนึ่ง มันจะมีจังหวะ มันจะมีโอกาสไหน แล้วเรื่องของศาสนานะ เหมือนกับเรื่องของการเมือง อย่าไปพูดเอาด้วยอารมณ์ คืออย่าไปคัดค้านด้วยเสียงแข็งๆ อย่าไปพยายามดึงดันให้เขาเห็นตามเราให้ได้ ถ้าเขาไม่เห็นตามเราเดี๋ยวนี้ แปลว่าอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้อะไรแบบนี้ อันนี้ไม่ถูกนะครับ

เราต้องตั้งท่าทีเหมือนกับคนที่มีความใจเย็นว่า เออ วันหนึ่งเขาเปลี่ยนได้ ค่อยๆ เปลี่ยนด้วยการค่อยๆ พูดของเราก็ได้ คือเราอาจจะไม่ได้เก่งเท่าพระสารีบุตร ที่สามารถทำให้มารดาของท่านสำเร็จโสดาปัตติผล แต่เราอาจจะใจเย็นพอ ที่จะค่อยๆ พูดวันละคำ วันละนิด วันละหน่อยในแบบที่ทำให้คนใกล้ตัวของเราเริ่มเชื่อว่า สิ่งที่เราได้รับมามันดีจริงๆ ดีขนาดที่ทำให้เราค่อยๆ พูดได้ แตกต่างจากเดิม ที่จะต้องดึงดันเอาชนะให้ได้เดี๋ยวนี้ แค่เราแตกต่างไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเอาความแตกต่างในทางดีขึ้นไปให้เขาเห็นเนี่ยนะครับ เป็นการช่วยเขาแล้ว แล้วก็จิตของเรามันจะเริ่มเข้าที่เข้าทางเข้าร่องในทิศที่มันจะทำอะไรให้มันดีขึ้น ก็เริ่มจากความใจเย็นนี่แหละ เริ่มจากการที่เรามีความคิดได้ว่า จะไม่เอาผลเดี๋ยวนี้ เรารอได้ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปนะครับ

-----------------------------------------

๑๙ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำยังไง?

คำถาม : ผมชอบมีความคิดกวนใจที่ต้องเลือกใครสักคนแบบร้าย ๆ  เช่น การที่คิดว่าจะเลือกอะไรดีระหว่าง แม่ หรือ ศาสนา จะเลือกอย่างหนึ่งก็กลัวบาป ทุกข์ใจมากครับ?

ระยะเวลาคลิป      ๕.๕๕ นาที
รับชมทางยูทูบ       https://www.youtube.com/watch?v=Q0oAW6W329c&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=3

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

** IG **