วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

เวลาเหนื่อยกายจากการงาน มีความรู้สึกไม่โปร่งโล่งเท่ากับเวลาปกติ ไม่ค่อยมีสติอยู่กับตัว ทำให้หดหู่ง่ายควรฝึกอย่างไร?

 ดังตฤณ :  อันดับแรกเราต้องคำนึงถึงความจริงว่า จิตที่ผูกอยู่กับกายอย่างเหนียวแน่น มันก็แปรไปตามสภาพทางกายนั่นแหละ กายเป็นอย่างไร จิตก็เป็นอย่างนั้น กายเหนื่อย จิตก็เหนื่อย กายห่อเหี่ยว จิตก็หดหู่ อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราไม่คำนึงถึงความจริงข้อนี้ก่อน แล้วไปตั้งโจทย์ ตั้งความหวังอะไรที่มันผิดธรรมชาติ มันก็จะออกแนวว่า กายเหนื่อยแต่ขอให้จิตตื่น มีความสว่าง มีความสดชื่น มีความสดใส ซึ่งมันไม่ใช่ธรรมชาติ มันไม่ใช่ของปกติ มันไม่ใช่ของธรรมดา ถ้าตั้งโจทย์ผิดแล้วพยายามทำอะไรผิดๆ มันก็เกิดทิศทางความคาดหวังผิดๆ เกิดความรู้สึกว่าไม่สมใจ ไม่ถึงตรงนั้นเสียทีนะครับ

อันดับแรก สำคัญมาก ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เมื่อกายเหนื่อย จิตก็ต้องเหนื่อย เมื่อกายห่อเหี่ยว จิตก็ต้องหดหู่เป็นธรรมดา ทีนี้เราจะมีอะไรที่เพิ่มเข้ามา ที่เป็นประโยชน์ในทางเจริญสติได้บ้าง อันนี้แหละคือประการที่สองว่า เราจะสามารถเห็นความจริงได้อีกเช่นกัน ผมพูดชัดๆ เน้นๆ เลยนะว่า เราเห็นความจริง ไม่ใช่เห็นตามใจอยากนะครับ เราเห็นความจริงว่า ขณะที่กายเกิดความรู้สึกว่ามันเหนื่อย มันอ่อนล้า มันเปลี้ยเพลีย มันเหมือนจะเป็นต้นเหตุ เป็นตัวการทำให้จิตเราพลอยหดหู่ไปด้วย ณ ขณะนั้นเราสามารถเห็นความไม่เที่ยงเป็นขณะสั้นๆ ได้อย่างหนึ่งคือ ถ้าหายใจยาวขึ้นกว่าปกติ มันจะสดชื่นขึ้นกว่าธรรมดา แทนที่เราจะไปพยายามหาทางว่า ทำใจยังไงตอนที่กายเหนื่อย ใจมันถึงจะสดใส เราเอาความจริงดีกว่า ไม่เอาทำใจนะ เอาความจริงว่า ถ้าหายใจสบายๆ ขึ้นมาให้ปลอดโปร่ง เกิดความโล่ง เกิดความสดชื่นทางกายขึ้นมาได้ จิตมันจะพลอยตื่น มันจะพลอยสดชื่นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใครฝึกหายใจ อย่างที่ผมยกมาให้ดูเรื่อยๆ (เปิดแอนิเมชั่นฝึกหายใจยาว) ตอนหายใจแทนที่จะหายใจฟืดฟาด แทนที่จะหายใจแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือว่าพยายามจะลากลมหายใจยาวขึ้นมาแบบไม่มีหลักอะไรทั้งสิ้นเนี่ยนะ ถ้าหากว่าเราได้ฝึกที่จะรับรู้ว่า การหายใจเข้า มันมีความสัมพันธ์ว่าท้องมันพองขึ้น มันโป่งขึ้นเหมือนลูกโป่งมีความยืดหยุ่น ไม่เกร็ง ไม่เกร็งที่หน้าท้อง เป็นจังหวะประมาณอย่างนี้ (ตามแอนิชั่นฝึกหายใจยาว) พอหายใจเข้าสุด แล้วหยุดนิดหนึ่ง แล้วผ่อนจังหวะออกมาตามธรรมชาติที่ลมหายใจเขาจะออกมาเป็นปกติเนี่ยนะครับ คุณจะเกิดความรู้ขึ้นมาตามจริงอย่างหนึ่งว่า ร่างกายจะอ่อนเพลียขนาดไหนก็ตาม หากเราได้ลมหายใจ และสภาพทางกายที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลายตามการหายใจเข้า และหายใจออกที่ถูกต้อง มันจะมีความสดชื่น มันจะมีจิตที่ตื่นกว่าปกติ ซึ่งไม่ใช่หมายความว่า ตื่นแล้วตื่นเลยหายเหนื่อยนะ แต่อย่างน้อยมันได้เห็นความไม่เที่ยงของสุขและทุกข์ตามเหตุปัจจัยขึ้นมา

เวลาที่กายเหนื่อย จิตห่อเหี่ยวหดหู่ อันนั้นเป็นทุกข์ แต่พอเราจับจังหวะหายใจได้ใหม่ แล้วก็เห็นร่างกายมันมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มันมีความผ่อนคลาย มันมีความสบายมากขึ้น จิตก็ตื่น แล้วก็หลุดออกจากภาวะหดหู่ นี่ตัวนี้เห็นเป็นเหตุปัจจัยตามจริง ไม่ใช่ทำใจยังไงนะครับ อันนี้ต้องย้ำมากๆ เลยนะครับ

ถ้าทำใจยังไง อย่างเช่นบอกว่า ปลอบตัวเองว่า กายเหนื่อยแต่จิตสดชื่น แล้วก็พยายามที่จะเกร็งกำลังภายใน อาศัยกำลังใจอย่างเดียวให้ตัวเองสดชื่น มันกลายเป็นหลอกตัวเองไป มันกลายเป็นยังเหนื่อยอยู่ แต่แกล้งทำเป็นไม่เหนื่อย

แต่ถ้าเราเห็นความจริงที่มันสัมพันธ์กันกับลมหายใจ อย่างนี้ไม่ได้หลอกตัวเอง อย่างนี้เห็นตามจริง แล้วก็จะทำให้เห็นความไม่เที่ยงได้ด้วยนะครับ เห็นความไม่เที่ยงตามเหตุปัจจัยว่า เราสร้างเหตุปัจจัยที่มันช่วยให้สภาพทางกายดีขึ้นได้ชั่วขณะ หรือว่าบางคนถ้าทำได้จนเกิดสมาธิจริงๆ มันอาจจะไม่ใช่แค่ความสุขแค่สั้นๆ มันอาจจะยาวจนกระทั่งเราเห็นได้ชัดว่า เออเนี่ย พอเหตุปัจจัยที่เป็นอนัตตาทางกาย หรือว่าอนัตตาทางใจ เราใส่ปัจจัยดีๆ เพิ่มเข้าไปมากเกินปัจจัยเสียๆ หรือว่าปัจจัยที่มันเป็นลบ มันเปลี่ยนเป็นคนละคนให้ดู ลักษณะของการเปลี่ยนเป็นคนละคนให้ดูเนี่ย บางทีถ้ามองออกมาจากสายตาภายนอก บางทีเห็นหน้ากำลังหมองคล้ำ กำลังเห็นได้ชัดว่า กำลังเหน็ดเหนื่อยอยู่นะครับ พอมีสติตื่นเต็มขึ้นมา หายใจยาวสดชื่นขึ้นมา มันสว่างผ่องออกมาราวกับว่า ฉายไฟออกมาจากข้างในเลยนะครับ อันนี้มันจะเป็นประสบการณ์ที่จะได้ทราบเอง ได้รู้เองเห็นเอง ถ้าหากว่าทำได้เกี่ยวกับเรื่องของการปรับลมหายใจให้ถูกต้องนะครับ

-------------------------------------------

๒๖ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน แก้โรคนอนไม่หลับด้วยกระดูกข้อมือ?

คำถาม : เวลาเหนื่อยกายจากการงาน มีความรู้สึกไม่โปร่งโล่งเท่ากับเวลาปกติ ไม่ค่อยมีสติอยู่กับตัว ทำให้หดหู่ง่ายควรฝึกอย่างไร?

ระยะเวลาคลิป       ๗.๑๐ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=w9YXjanRD7w&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=8

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น