วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำอย่างไร?

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้ เป็นประเด็นที่หลายคนไม่ทราบจะทำอย่างไรนะ รู้ทั้งรู้ ว่าถูกหลอก ก็ยังเต็มใจให้หลอกอยู่ เพราะว่าอันนี้ ตัวเองเป็นคนหลอกนะ

 

หัวข้อคือ เลิกหลอกตัวเองทำอย่างไรนะครับ

 

เป็นเรื่องที่ดูเหมือนตลก แต่ว่าเกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็ไม่ว่าอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ก็เหมือนกับจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหานี้กันไม่ใช่น้อยเลย เอาเป็นว่าเท่าที่รู้จักคนมานี่นะ มีคนที่หลอกตัวเองตีเสียว่าอย่างน้อยๆ เกือบครึ่งหนึ่งที่ผมรู้จักนะ คือจะต้องมีบางอารมณ์ที่อดไม่ได้ จะสร้างภาพลวงตา ขึ้นมาลวงใจตัวเอง

 

หรือ บางคนหนักกว่านั้นคือ เชื่ออย่างนั้นจริงๆ แล้วก็ลึกๆ ส่วนลึกนี่ รู้ว่าหลอก หลอกตัวเองอยู่ กำลังมีภาพลวงตาอะไรบางอย่างที่เต็มใจสร้างขึ้นมา แต่ว่าก็เข้าขั้นแบบว่าหลงเชื่อ หลงเชื่ออย่างสนิทใจ แล้วก็ไม่อยากยอมรับ เป็นความจริงที่ลึกๆ นี่ รู้อยู่ รู้อยู่จริงๆนะ แต่ว่าอีกส่วนหนึ่งก็เชื่อจริงๆ ไปด้วยว่า อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นความจริง

 

ยกตัวอย่างเช่น คนเขาไม่รัก ก็แอบสังเกตทุกนิมิตหมายเลย เขาเดินมาเหนื่อยๆ นี่ แต่พอใกล้เข้ามาเห็นเขาหายใจแรง ก็นึกว่าเขาประหม่า ตื่นเต้นที่จะได้เข้ามาใกล้ตัวเอง หรือว่า อยากจะสมัครงานในที่ๆ ตัวเองอยากทำมากๆ เขาไม่รับ ก็เฝ้าคาดหวังว่าเดี๋ยววันหนึ่งเขาก็จะโทรมา แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไป สองปีสามปีแล้วก็ตามนี่นะ

หรืออย่างบางคน คือไม่มีเงิน พูดง่ายๆนะ แต่ก็จะสำคัญว่าตัวเองนี่ มี แล้วก็ใช้แบบสุรุ่ยสุร่าย ใช้แบบที่ไม่คิดน่ะว่า ตัวเองมีอยู่เท่าไหร่จริงๆ อะไรแบบนี้ ทั้งๆที่ เห็นอยู่ว่ารายได้แต่ละเดือนมีเท่าไหร่ แต่ก็ยังใช้แบบหลอกตัวเองว่า ตัวเองมี ตัวเองสามารถให้คนโน้น คนนี้ได้ ตัวเองสามารถที่จะจับจ่ายใช้สอย

 

คือ ยุคเรา มีเครดิตการ์ด แล้วเครดิตการ์ดนี่ ถ้าไม่ยับยั้งชั่งใจดีๆ ถ้าไม่ตั้งสติดีๆ นี่ จะหลอกตัวเองได้ง่ายๆ ว่า มีไม่จำกัด มีแบบว่าในช่วงที่กำลังหลงอย่างหนักนี่นะ ช่วง สองเดือนสามเดือนที่ยังไม่ต้องไปใช้หนี้ตามกำหนดอะไรนี่ จะเหมือนกับว่า บอกตัวเองว่ามี ร่ำรวยล้นฟ้าเลย จับจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ ทั้งๆที่ลึกๆ รู้อยู่ว่า กำลังจะเกิดอะไรขึ้นในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า จะไม่มีจ่าย แต่ตอนนี้วันนี้ไม่รับรู้ รู้แต่ว่า เราสามารถที่จะจ่ายได้

 

นี่ตัวอย่าง ของคนที่เหมือนกับพอมีคนเอาเหยื่อมาล่อก็ฮุบ แล้วพอฮุบนี่ ก็เหมือนหลอกตัวเองด้วยความเชื่อ อย่างสนิทใจว่าตัวเองสามารถใช้จ่ายได้อะไรแบบนี้นะ

 

บางคนถามว่า เลิกหลอกตัวเองไปทำไม

เอ้า ... ก็จะได้ไม่ต้องถูกตัวเองหลอกอย่างไรล่ะ ชอบหรือ ว่าถูกหลอก?

 

จริงๆ แล้ว โดยสถานการณ์ทางจิตวิญญาณเลยนี่นะ คนที่ชอบหลอกตัวเอง จนกระทั่งเชื่อสนิทอย่างที่ตัวเองหลอก มีผลนะ คือเป็นประตูบานหนึ่งของโรคอารมณ์สองขั้ว เพราะว่าถ้าหลอกตัวเองสำเร็จ ว่าตัวเองมี ตัวเองดี ตัวเองเด่น ตัวเองเป็นที่รักของใครบางคน ก็จะมีความสุข คือหลอกตัวเองจนกระทั่งสร้างวิมานในอากาศ ให้จิตวิญญาณเข้าไปอยู่ เข้าไปอาศัย เลิศลอย ช่วงที่หลอกตัวเองสำเร็จ ก็มีความสุขล้นฟ้า

 

แต่เช้าหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วหลอกตัวเองไม่ทัน สมองยังไม่ทำงาน ตื่นขึ้นมาแล้วก็สะดุ้งว่า ที่คิดๆ ในวันที่ผ่านมา หรือว่าช่วงที่ผ่านไปนี่ เหลวไหลทั้งเพ ตื่นขึ้นมาพบกับความจริงว่า ไม่ได้มีอะไรอย่างที่ตัวเองทึกทักเอาสักอย่างเดียว ก็กลายเป็นสวิง (swing) กลับขั้ว จากสุขที่สุดที่หลอกตัวเองสำเร็จ ตื่นขึ้นมาพบความจริงมันกลายเป็นทุกข์ ในปริมาณที่เท่ากันกับความสุข ถูกเหวี่ยงมาอีกขั้วหนึ่ง

 

เขาถึงบอกว่า พวกอารมณ์เหวี่ยง คือไม่ใช่ทุกเคส ไม่ใช่ทุกกรณีนะ แต่มีกรณีนี้อยู่จริงๆ ที่เริ่มต้นขึ้นมาจากการหลอกตัวเอง ไม่พอใจชีวิตตัวเอง เลยต้องหลอก หลอกเอาซึ่งๆ หน้า แล้วก็หลอกสำเร็จ

 

ทีนี้ คืนนี้เราจะมาคุยกันสำหรับเฉพาะคนที่ อยากเลิกหลอกตัวเองเสียที

วิธีที่จะเลิกหลอกตัวเองได้ ต้องมีเหตุผลกับตัวเองนะครับ ไม่ใช่อยู่ๆ สั่งเอาดื้อๆ หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะแบบนั้น จะเอาชนะกำแพงอารมณ์ของตัวเองไม่ได้หรอก

 

แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจที่มาที่ไปนะ คือเข้าใจที่มาที่ไปว่า มันมีบาดแผลอยู่ ไม่อย่างนั้นคนเราจะไม่หลอกตัวเองนะ คนเราจะซื่อสัตย์กับตัวเองถ้าทุกอย่างสมใจ ทุกอย่างสมหวัง ทุกอย่างได้ดังปรารถนา จะไม่หลอกตัวเองเลย

 

แต่ที่หลอกตัวเองเก่งๆ หลอกตัวเองชนิดที่ว่า ถ้าหลอกสำเร็จสักเรื่องหนึ่ง เรื่องใหญ่ๆ สักเรื่องได้ จะหลอกตัวเองในเรื่องอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนเลย ซึ่งเรื่องใหญ่ๆ ที่ว่านี่ ต้องเป็นปม ต้องเป็นแผลอะไรบางอย่างนะครับ ซึ่งถ้าหากว่าเราไปยอมรับความจริง ก็เท่ากับไปเปิดแผลตัวเองนั่นเอง คนถึงไม่อยากที่จะกล้ายอมรับความจริง

 

ในหลายๆ คน ในหลายๆ สถานการณ์ ในหลายๆ ช่วงเวลานะครับ บอกว่า ความจริงอยู่ตรงหน้า ทำไมไม่ยอมรับ ทำไมไม่รู้ ก็เพราะว่า ถ้ายอมรับขึ้นมาแล้ว มันเกิดแผลสด แล้วตัวเอง ไม่อยากดูว่าแผลนั้นมันเน่าขนาดไหน มันแสบร้อนขนาดไหน หรือว่ามันน่าอเนจอนาถสังเวช

 

คือบางทีคนอื่นไม่ได้มารู้สึกสมเพช หรือว่าคิดไม่ดี รู้สึกไม่ดีอะไรกับเรานะ แต่เราเองนี่ ไปทึกทักเอาว่า นี่แหละ เป็นเรื่องน่าสมเพชมาก น่าอเนจอนาถมาก น่าที่จะปิดบังไว้ น่าที่จะกลบเกลื่อนไว้ น่าที่จะหาอะไรมาซุก มาปิดซ่อน แล้วเอาแผลนี้ซุกไว้นะครับ

 

ทีนี้ คือ ถ้าวันไหนที่เรามาเจริญสติ อันนี้ต้องใช้วิชาของพระพุทธเจ้านิดหนึ่ง คือ พระพุทธเจ้าสอนให้ดูทุกขเวทนา สอนให้ดูความทุกข์ ทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เมื่อเราฝึกที่จะเหมือนกับเอาแบบที่ยอมรับได้ง่ายๆ ก่อน เช่นว่า หายใจครั้งนี้ รู้สึกอึดอัด รู้สึกเป็นทุกข์ เพราะลมหายใจไม่น่าเกลียดไง ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องไปอับอายขายหน้าใครเขา เวลาที่หายใจแล้วอึดอัด

 

แค่ยอมรับเริ่มต้นว่า การหายใจอึดอัดนี่ ความอึดอัดหน้าตาเป็นแบบนี้ อยู่ได้กี่ลมหายใจ ตัวนี้นี่ เริ่มที่จะฝึก แล้วก็สามารถรับรู้ว่า อาการที่เรียกว่า ความทุกข์นี่ ตัวเดียวกันน่ะ

 

แต่พอสาเหตุต่างกัน ก็ทำให้ใจเรานี่ไม่อยากยอมรับแล้ว มีการจำแนก มีอคติ มีลำเอียง บอกว่า ทุกข์ประเภทนี้ ความทุกข์ประเภทนี้ รับได้ เช่น ทุกข์อันเกิดจากความอึดอัดที่หายใจไม่สะดวก อย่างนี้รับได้ แต่ทุกข์อันเกิดจากความรู้สึกในตัวตนนะ ที่ด้อยค่า หรือว่าไม่มีใครเอา ไม่มีใครเขาเหลียวแล ไม่มีใครเขาให้ค่า แบบนี้รับไม่ได้ เพราะความรู้สึกในตัวตน เป็นเหมือนกับ โคตรเหง้าทางความรู้สึกน่ะ เป็นโคตรเหง้าของความทุกข์ ถ้าหากจะทุกข์จริงๆ มันทุกข์ออกมาจากแก่น จากใจกลาง แล้วความรู้สึกใจกลาง ตัวตนที่เหมือนกับเรารับไม่ได้นี่ ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดในชีวิต

 

ทีนี้พอถึงจุดหนึ่ง เราบอกว่าเราจะเจริญสติ เราจะเลิกหลอกตัวเอง แล้วเราเริ่มจากการเห็นก่อนว่า ลมหายใจนี้ มันอึดอัด มันเป็นทุกข์อย่างไร แล้วค่อยขยับไป เปรียบเทียบว่า ทุกข์ทางใจ ความทุกข์ทางใจอันเกิดจากการเปิดแผล อันเกิดจากการยอมรับความจริงว่าเรากำลังเป็นอย่างไรอยู่ ไม่ต่างกัน มันจะง่ายขึ้น

 

นี่ ตัวนี้นะ คือพอเราเปิดแผลออกมาดู ยอมรับขึ้นมาสักจุดหนึ่งว่า ตอนนี้กำลังทุกข์อยู่เรื่องอะไรจริงๆ เราจะพบว่า ความจริงที่เราไม่รู้มาตั้งนานก็คือ แผลตรงนั้น แผลทางใจนั้น จริงๆ เป็นสิ่งที่มองดูได้

 

เดิมทีเรานึกว่าดูไม่ได้ไง เพราะว่าอย่างที่บอก โคตรเหง้าความรู้สึกในตัวตนนี่นะ ถ้ามันจะด้อยค่า ถ้ามันจะมืดบอด ถ้ามันจะอะไรไป เกิดแผลเกิดอะไรขึ้นมา จะรู้สึกว่าทนไม่ได้ คล้ายแผลแสบร้อนที่ไม่อยากเข้าไปแตะ

 

แต่เมื่อไหร่ที่เราเปิดออกมา เจออากาศว่างๆ สบายๆ ก็แสบแป๊บหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่า เออ ดูได้ ไม่ใช่ดูไม่ได้ ไม่ใช่จะต้องทน ไม่ใช่จะต้องผะอืดผะอมอะไรมากมาก ทีนี้ประเด็นคือว่า เมื่อไหร่ที่เรามองดูมันได้ ก็จะเห็นมันเปลี่ยนได้เช่นกัน

 

คือ อย่างที่บอก ถ้าเราฝึกเจริญสติมาแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนี่นะ ท่านสอนให้ดูเวทนา เป็นลมหายใจทีละลมหายใจ ลมหายใจหนึ่งมีความสุข ลมหายใจหนึ่งปีติ อีกลมหายใจหนึ่งอาจอึดอัดก็ได้ แล้วก็เกิดการปรุงแต่งจิตในแต่ละลมหายใจไม่เท่ากัน

 

ความรู้สึกปวดแสบปวดร้อนอันเกิดจากการเปิดแผลของตัวเอง ณ ลมหายใจหนึ่ง รู้สึกว่า โอ้โห แทบจะมอดไหม้ แต่ลมหายใจต่อมาก็รู้สึกว่า ที่จะมอดไหม้ ค่อยๆ เปลี่ยนไป ทุเลาลง หัดดู แล้วจะเห็นว่ายิ่งเราดูซ้ำ มากขึ้นเท่าไหร่ มากรอบขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งเกิดความจำได้ขึ้นมาว่า เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ความรู้สึกนี่ที่เหมือนกับปวดแสบปวดร้อนนี่ จะปวดแสบปวดร้อนแค่ไหนก็แล้วแต่นะ เดี๋ยวมันผ่านไป ในลมหายใจต่อๆ มา

 

ตัวนี้แหละที่จะนำไปสู่จุดสรุปว่า ความปวดแสบปวดร้อนที่ว่านี่นะ เป็นของนอกจิต เดิมทีเรานึกว่าอยู่ใจกลางจิต เป็นโคตรเหง้าของความรู้สึก เป็นอะไรที่ถอดออกจากจิตไม่ได้ จริงๆ ไม่ใช่ เป็นของรอบนอก เป็นของที่อยู่ผิวนอกนะ แล้วก็ พอหลุดร่อนออกไป แสดงความไม่เที่ยงให้เราเห็นได้บ่อยๆ จะได้จุดสรุป จะได้ข้อสรุปสุดท้ายขึ้นมาว่า มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่อันเดียวกับจิต ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องไปแคร์อย่างที่นึกว่าจะต้องแคร์ นึกว่าที่ผ่านมานี่ นึกว่าต้องแคร์ด้วยชีวิตทั้งชีวิต แต่จริง ๆ ไม่ใช่นะ เหมือนกับว่า เป็นสิ่งลวงตา เป็นของลวงโลกที่เราหลงกลมันมาตลอดต่างหาก

 

แล้วพอพูดถึงเรื่องการเจริญสติ คนหลอกตัวเองเก่งๆ จะรู้สึกว่าเจริญสติได้ยาก เพราะอะไร ที่พูดไปทั้งหมด เห็นเลยนะ คือไม่อยากผ่านความทุกข์ตรงนั้นด้วยการยอมรับความจริง คนเราพอไม่ยอมรับความจริง ก็ไม่มีสติหรอก

 

สติ แปลว่า รู้ รู้เฉพาะหน้าว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าเรามีความทุกข์ แล้วไม่ยอมรับว่ามีความทุกข์นี่ จะไปเจริญขึ้นมาได้อย่างไร สตินี่นะ สติก็ย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลังเข้าคลอง นี่คือ พอยต์ ว่าทำไมคนหลอกตัวเองเก่งถึงเจริญสติไม่สำเร็จ

 

แล้วบางทีนี่นะ อย่างแม้กระทั่ง สมมติว่าคืนนี้เราคุยกันแล้ว แล้วตกลงปลงใจว่าโอเค ต่อไปนี้ฉันจะเลิกหลอกตัวเอง มันก็จะเข้าสู่โหมดความเคยชินเก่าๆ คล้ายๆ กับมีสองตัวแยกร่างกันในคนเดียว คนหนึ่งนี่ บอกว่า ฉันอยากจะเลิกหลอกตัวเองเสียทีแล้ว แต่อีกคน คล้ายๆ เหมือนกับมีมือที่มองไม่เห็น ค่อยโบกมือไล่ไม่ให้ดู อยากจะดู แต่อีกตัวหนึ่งนี่ กั้นไว้ บังไว้ ไม่เต็มใจให้ดู

 

ฉะนั้น นี่คือต้องขอบอก ไม่ใช่บอกว่า ทำแล้วไม่เห็นได้เลย คือ ไม่ใช่ทำกันครั้งเดียวแล้วสำเร็จนะ ไม่ใช่รู้วิธี ว่า เออ มาดูทีละลมหายใจ แล้วสำเร็จเลยภายในชั่วข้ามคืน ไม่ใช่นะครับ

 

คนบางคนหลอกตัวเองมาทั้งชีวิต แต่จะให้เปลี่ยนเป็นยอมรับตัวเองได้ในชั่วข้ามคืนนี่ เร็วไปหน่อยนะ ต้องใช้เวลา แต่จะใช้เวลานานแค่ไหน ก็คุ้มนะ เพราะไม่อย่างนั้นเราตายแล้วเกิดใหม่ก็ต้องไปหลอกตัวเองอีก

 

แต่ถ้าหากว่า ก่อนตาย เราสามารถยอมรับความจริงได้ มีสิทธิ์บรรลุธรรมนะ คนที่ยอมรับความจริงได้ เจริญสติได้ คือคนที่มีสิทธิ์บรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน

 

เป้าหมายแบบพุทธคือมีสติชั้นสูงนะครับ คือ เลิกถูกหลอก เลิกถูกอุปาทานของสังสารวัฏ ที่สังสารวัฏยัดเยียดให้เรา ทุกรูปทุกนาม ทุกตัวคนไป

 

ที่เกิดมาได้ มันถูกหลอกกันทั้งนั้นแหละ ถ้าเอาเป้าหมายแบบพุทธคือ ให้จิตเลิกถูกหลอก ก็จะเหมือนกับเปลื้องพันธนาการได้หมดจด ไม่เหลือเยื่อใยที่จะผูกติดอยู่กับเหยื่อล่อคือกายใจนี้อีกต่อไป

 

ตอนนี้เอาแค่ขั้นแบบเบสิคก่อน เลิกหลอกตัวเองแบบโลกๆ ให้ได้ก่อน เสร็จแล้วค่อยไปแอดวานซ์ ในเรื่องของการถูกกายนี้ใจนี้ หลอกล่อให้ติดกับ ให้ติดเบ็ดนะ!

 

__________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เลิกหลอกตัวเองทำอย่างไร?

วันที่ 19 กันยายน 2563

 

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Hj7Dj4zyHG8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น