วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำสมาธิในท่านอนได้ไหม

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำสมาธิในท่านอนได้ไหม?

วันที่ 5 กันยายน 2563

 

ดังตฤณ : สำหรับคืนนี้นะครับ หัวข้อก็เป็นคำถามที่เหมาะสมยิ่งกับการปฏิบัติของคนเมืองนะ คือทำสมาธินี่ ขอท่านอนได้ไหม


ถ้าหากว่า พูดกันตามอัตภาพ คนเมืองเราก็หมายถึงคนที่เป็นฆราวาส ฆราวาสที่ทำงาน หาอยู่หากิน แล้วก็ต้องมีภาระหน้าที่ แม้แต่ในบ้านนี่ก็อาจต้องทำกับข้าวเอง ถูบ้านเอง ทำอะไรต่อมิอะไรสารพัด จนกระทั่งมีความรู้สึกว่า เหนื่อย เหนื่อยเกินกว่าที่จะมามีแรงนั่งหยัดหลังตรง เพื่อที่จะทำสมาธิตามรูปแบบที่ควรจะทำกัน

 

ก็เลยมีหลายท่านพยายามจะทำสมาธิในแบบที่เรียกว่า นอนทำนะครับ เพราะว่า ท่านอนนี่เป็นท่ามาตรฐาน เป็นท่าไม้ตายของคนเมือง ที่อย่างไรต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ท่านั่งนี่ จะมาให้นั่งนานๆ แล้วก็จดจ่ออยู่กับลมหายใจหรือคำบริกรรมอะไรต่างๆ บางทีไม่มีจังหวะ ไม่มีโอกาสนะ แต่ว่าจังหวะที่จะนอน มีแน่ๆ แล้วก็เหมือนกับเป็นเวลาที่ทิ้งไปเปล่าๆ หรือว่าไม่ได้ใช้อยู่แล้ว

 

หลายคนตอนนี้นี่ นอนไปพร้อมกับความเคยชินที่จะดูหนัง ฟังเพลง หรือว่าเล่นเกมนะ แต่ถ้าเปลี่ยนความเคยชินที่จะเอาอารมณ์เล่นๆ แบบนั้น มาเป็นอารมณ์สมาธินี่ คำถามคือเป็นไปได้ไหม เพราะว่าหลายคนนะครับ ลองทำด้วยตัวเอง พยายามที่จะทำให้เกิดสมาธิ แล้วทำไม่ได้ หรือ บางคนทำได้แต่ว่าตาค้าง ตาแข็ง กลายเป็นนอนไม่หลับไป

 

คืนนี้ เราก็จะมาสำรวจกันในความเป็นไปได้ทั้งหมดนะครับ รวมทั้งอุปสรรคที่เกิดขึ้น หรือว่าปัญหาที่อาจเป็นผลข้างเคียงอันเกิดจากการทำสมาธิในขณะนอนนะครับ

 

เพื่อที่จะพูดถึงการทำสมาธิในท่านอน อย่างมีความเป็นพุทธ เราต้องมาพูดในขอบเขตของการเจริญสติตามคอนเซ็ปต์นะ คอนเซ็ปต์แบบพุทธที่มีคำว่า สัมมาทิฏฐิ เป็นตัวตั้ง

 

ถ้าหากว่าจะมีสมาธิแบบพุทธนะครับ อันนี้เป็นสิ่งแรกที่จะต้องคำนึงถึงนะ เรามีสมาธิที่มาจากการเจริญสติแบบพุทธหรือเปล่า หรือว่าเราทำสมาธิแบบไม่มีคอนเซ็ปต์ ทำสมาธิแบบนึกว่าเป็นการจดจ่อ นึกว่าเป็นการทำสมาธิแล้ว อันนี้สำคัญมาก จุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดเลย เพราะว่ายิ่งเราทำอะไรผิดพลาดไป เหมือนกับคำที่ตอนนี้ ที่เราพูดกันเยอะที่สุดเลยนะ ตามพระองค์ท่านนะครับที่บอกว่า กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ไม่มีทางกลัดกระดุมเม็ดอื่นถูกนะ

 

อันนี้เหมือนกันจริงๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ หรือการทำสมาธิแบบพุทธนะครับ ถ้าไม่ได้มีตัวตั้งเป็นมุมมองแบบพุทธแล้ว ยิ่งทำไป จะยิ่งผิดพลาด ยิ่งมีผลข้างเคียงอะไรที่ไม่เป็นความโปร่ง ไม่เป็นความสบาย ไม่เป็นการปล่อยวาง ไม่เป็นการที่เราถอดถอนจากความทุกข์ ต้นเหตุของความทุกข์อะไรต่างๆ ยังอยู่ครบ แล้วก็ยังทำให้เรานี่บางทีสงสัยด้วยซ้ำ ว่า ที่ชื่อว่าปฏิบัติธรรม ที่ชื่อว่าเจริญสตินี่ ทำไมทำไปแล้ว ไม่ได้ผลเป็นบวก แต่กลับกลายเป็นลบ อย่างนี้ก็มี

 

บางคนเปลี่ยนศาสนาไปเลย คนดังเปลี่ยนศาสนาก็มีมาแล้ว เคยเข้าวัดปฏิบัติธรรม แต่บอกว่าไม่ได้อะไรเลย ได้แต่ความทุกข์ ได้แต่ความอึดอัดไป อะไรแบบนี้ ก็ไปโพนทะนาป่าวร้องเสียแบบนั้น เพราะว่าอย่างนี้แหละ จุดนี้แหละ จุดเริ่มต้นมันไม่ถูกนะ

 

ทีนี้คอนเซ็ปต์แบบพุทธนี่เป็นอย่างไร คอนเซ็ปต์แบบพุทธคือ การเจริญสติที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงจริงๆ นี่นะ เริ่มต้นขึ้นมาท่านให้เอาฐาน คือกาย เป็นที่ตั้งก่อน โดยคอนเซปต์ก็คือว่า ถ้าหายใจเป็นแล้ว หายใจได้อย่างถูกต้อง เราจะรู้สึกถึงอิริยาบถได้อย่างเป็นไปเอง อย่างเป็นไปตามธรรมชาติ

 

อิริยาบถมีหลักๆ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน อันนี้สำคัญมากนะ แค่นี้ก็สำคัญแล้วนะ หลายคนมองข้าม มองผ่านตรงนี้ไป ทั้งๆ ที่มันเป็นเหมือนกับกระดูกสันหลังของการเจริญสติเลยนะ

 

การเจริญสตินี่ ถ้าหากว่า คุณเข้าใจว่าคือการที่ไปทำท่าทำทาง หรือว่าไปเคลื่อนไหวช้าๆ เพื่อให้จับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งได้ อันนี้ไม่ใช่การเจริญสติ เพื่อรู้อิริยาบถอันเป็นหลักนะ อิริยาบถหลักต้องมีอย่างน้อย สติมากพอที่จะรู้ตัวว่า ขณะนี้เรากำลังอยู่ในท่าไหน เป็นจิตที่โปร่งๆ สบายๆ แล้วก็มีความพร้อมรู้ คลุมไปทั้งตัวนะ ไม่ใช่แค่จุดใดจุดหนึ่ง อันนี้สำคัญมาก เพราะอะไร เพราะว่าเวลาที่สติเจริญ รู้อิริยาบถปัจจุบันได้นี่ จิตจะเต็ม คุณลองสังเกตสิ ถ้าคุณเพ่งไปที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย เช่น เอ้า ดูที่นิ้ว ความรู้สึกจะแคบลงไป เพ่งเข้าไปที่ขอบเขตจำกัด พื้นที่จำกัดของนิ้ว

 

แต่ถ้าหากว่าคุณรู้สึกถึงลมหายใจในขณะนี้ กำลังหายใจสั้นและหายใจยาว และในลมหายใจนี้มีอิริยาบถอย่างไร เป็นที่ตั้งของลมหายใจ เป็นที่สูบเข้า เป็นที่พ่นออก ลักษณะของร่างกายที่ปรากฏต่อจิตแบบสบายๆ ได้ทั้งตัว มีคอตั้งหลังตรง มีหัว มีแขน มีขานี่ อันนี้จิตจะรู้สึกว่า มีความเปิดกว้างขึ้น สบายขึ้น มีความใหญ่ขึ้น

 

ตรงนี้สำคัญ เพราะพอจิตเราตั้งอยู่ในการรับรู้อิริยาบถกว้างๆ ครอบคลุมไปทั้งตัวแบบนี้เรื่อยๆ ในที่สุด จะมีความโน้มเอียงนะ จิตที่ใหญ่แบบนี้ จิตที่เต็มแบบนี้นี่ คล้อยลงสู่ความเป็นสมาธิได้ไม่ยาก

 

ถ้าหากยังไม่รู้ตรงนี้ ถ้าหากยังไม่เข้าใจตรงนี้นะ แล้วไปพยายามทำสมาธิ ตามแบบที่เราคิดว่ามันเป็นการทำสมาธิ โอกาสเป็นไปได้สูงที่จิตของคุณจะเพ่งคับแคบลงไป บางคนผลข้างเคียงคือรู้สึกว่า เสียวที่หว่างคิ้ว บางคนรู้สึกตึงขมับ บางคนรู้สึกเกร็งตามเนื้อตามตัว

 

แต่ถ้าหากว่าตั้งต้นที่ตรงนี้จริงๆ มีสติรู้เป็นประจำนะครับ มีสติรู้เป็นปกติอยู่เรื่อยๆ ว่า อิริยาบถของเรากำลังปรากฏในท่าทางไหน ระหว่างยืน เดิน นั่ง นอน อันนี้จะเป็นหลัก เป็นที่ตั้งของสติ เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องของสติได้

 

เพราะฉะนั้นเวลาเราเคลื่อนไหวหรือมีอิริยาบถแยกย่อย เป็นยืดแขน ยืดขา หมุนซ้ายหมุนขวา ก็จะรู้สึกออกมาจากอิริยาบถหลัก จิตยังใหญ่อยู่ จิตยังเต็มอยู่ ไม่ได้เพ่งคับแคบไป

 

เช่นกัน เวลาหันมาทำสมาธิ กลับมารู้ลมหายใจให้ได้เรื่อยๆ มันก็จะมีองคาพยพนะครับ คือสภาพทางกายเต็มๆ ทั้งหมดนี่ เป็นฐาน เป็นที่ตั้งของการรู้ลมหายใจ คือจิตจะเปิดกว้าง ไม่ใช่เพ่งคับแคบ ไม่ใช่ขึ้นต้นมานี่พยายามจะจี้เข้าไปในพื้นที่เล็กๆ จุดอะไรที่มันแคบๆ คับๆ นะครับ มันจะเปิดกว้าง มันจะมีความปลอดโปร่ง

 

พอเราเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ ซึ่งผ่านหูผ่านตามาเป็นร้อย เป็นพันครั้ง แต่เข้าใจขึ้นมาจริงๆว่า เอาล่ะพระพุทธเจ้าให้เริ่มต้นอย่างนี้ เริ่มต้นด้วยจิตที่มีความเต็ม มีความกว้างมากพอจะรู้ถึงอิริยาบถปัจจุบัน คลุมๆ นะ บอกได้ถูกว่า หัวอยู่ตรงไหน คออยู่ตรงไหน หลังอยู่ตรงไหน แขนขาอยู่ตรงไหน เอาแบบคร่าวๆ นะ ไม่ต้องบอกว่าเห็นละเอียดยิบว่า มันมีความชัดเจนรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไรอะไรต่างๆ นี่ อันนั้นเป็นเรื่องของจิตที่มีความคม มีความใหญ่ จริงๆ แล้วมีสมาธิ ระดับอุปจาระขึ้นไป ถึงจะเห็นละเอียดนะครับ

 

แต่ถ้าหากเป็นจิตแบบธรรมดาๆ ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนมาจากสภาพฟุ้งซ่านคิดนึกธรรมดาของชาวบ้านนะครับ เอาแค่คร่าวๆ ให้รู้ว่า ลักษณะทางกาย กำลังปรากฏ อยู่ในท่าใหญ่ เป็นยืน เดิน หรือนั่ง หรือนอน อันนี้พูดย้ำเลยนะ เพราะว่า ฟังเหมือนง่ายแต่จริงๆนี่ เอาให้ถึงสติตรงนั้นจริงๆนี่ ไม่ใช่ง่ายนะ จากประสบการณ์ที่ผ่านมานะ คือจากทั้งของตัวเองด้วย และจากเห็นคนอื่นพยายามกันมาเองด้วย

เอาแค่รู้ให้ได้ว่า อิริยาบถปัจจุบันเป็นอย่างไร ด้วยความรู้สึกสบายๆ ถ้ารู้ได้ มันคือประตูเลยนะ ที่จะเข้าสู่การรู้สภาพทางกาย สภาพทางใจโดยความเป็นรูปนาม

 

แต่ไม่อย่างนั้น ก็จะมีแต่ความรู้สึกว่า นี่กายเรา เรากำลังเป็นผู้ปฏิบัติธรรม กำลังเป็นผู้พยายามมีสติ เพ่งอยู่ว่า จุดใดจุดหนึ่งของร่างกายนี่ มีสภาพอย่างไร อย่างที่สอนกันบ่อยๆ ก็อย่างเช่น ยื่นมือไปหยิบแก้วน้ำ พอเราโฟกัสเฉพาะอาการยื่นไปหยิบนะ ตรงนั้นน่ะจิตเล็กแล้ว จิตคับแคบลงแล้ว

 

แต่ถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงอิริยาบถนั่งก่อน รู้พอที่จะเห็นได้ว่า มันกำลังหายใจเข้าออกสบายๆ อยู่ท่าไหนนะ แล้วยื่นมือออกไปหยิบแก้วน้ำมาดื่ม โดยไม่ลืมท่านั่ง ไม่ลืมว่าเราสามารถหายใจได้สบายๆ ไหม หรือว่า กำลังมีความอึดอัด กำลังมีความรู้สึกไม่ดีอย่างไร นี่ พอจะยื่นไป ก็จะทำให้สติที่รู้อิริยาบถ ยังสืบเนื่องนะครับ มีความต่อเนื่อง แล้วพอมีสติ รู้สึกถึงความเป็นอิริยาบถได้ต่อเนื่องแล้วนี่ ในที่สุดจิตคมขึ้นมาเอง มีสติที่ใหญ่ขึ้นมาเอง

 

พอเรารู้อิริยาบถ เนื้อแท้ แก่นแท้แล้ว เรารู้อะไร

 

รู้สึกถึงความเป็นกาย กายโดยความเป็นองคาพยพแบบนี้ มีคออยู่ส่วนบนสุดนะ มีหลังอยู่ส่วนกลาง มีขาอยู่ส่วนล่าง แล้วก็แขนขยับไปขยับมา ทำอะไร หยิบอะไร จับอะไรในชีวิตประจำวัน การรู้สึกถึงความเป็นกายนี่ จะเป็นตัวตั้งที่จะให้เราพิจารณาว่า ทั้งหมดทั้งปวงที่ปรากฏโดยความเป็นชาตินี้ ชีวิตนี้ ในความเป็นอย่างนี้นี่ กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวินาทีไหนเลย ที่มันเป็นตัวเป็นตน

 

แต่ถ้าเราจับไม่มั่น คั้นไม่ตายนะ ว่ากายอยู่ตรงไหน กำลังอยู่ในอิริยาบถอะไร สติจะเลื่อนไปลอยมา ต่อให้เราพิจารณาธรรมข้อไหนก็ตาม จะเป็นการพิจารณาด้วยความคิดไปหมด ด้วยมโนภาพไปหมด

แต่ถ้าหากว่าเริ่มต้นขึ้นมา จับลมหายใจถูก จับอิริยาบถปัจจุบันถูก มันมีเครื่องตั้ง มันมีนิมิตหมายปรากฏในห้วงมโนทวารชัดๆ ว่า สภาพทางกายแบบนี้ ที่กำลังรู้สึกอยู่อย่างนี้ในท่านี้ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละลมหายใจ มันเคลื่อนไป มันผันผวน มันปรวนแปรไป ด้วยความที่เรามีสติจดจ่ออยู่อย่างนี้เรื่อยๆ ทำให้เกิดความเห็นชัด แล้วก็เกิดสติ เกิดปัญญาแบบพุทธขึ้นมาว่า ที่นึกว่าเป็นกายของเราจริงๆ เป็นสภาพทางใจของเราจริงๆ มันแค่เหยื่อล่อเท่านั้นแหละ เหยื่อล่อให้ยึด เหยื่อล่อให้หลงไปนะ

 

พอคุณได้ภาพแบบนี้ขึ้นมาในใจชัดๆ มันจะเปลี่ยนความรู้สึกนะ จากทื่อๆ ที่ว่ามีก้อนตัวก้อนตน เป็นอัตตา กลายเป็นความรู้สึกว่า สักแต่มีกายให้รู้ ซึ่งเป็นการมีชีวิตอีกแบบหนึ่งเลย ฉะนั้น ตัวนี้ ถ้าพอมีมุมมองชีวิตในแบบที่รู้สึกว่ากายสักแต่เป็นเครื่องรู้ เป็นที่ตั้งให้เกิดสติรู้ว่า อยู่ในท่าไหน จิตจะค่อยๆ เป็นสมาธิ แล้วจิตที่เป็นสมาธิของแต่ละคน สภาวะทางสมาธิของแต่ละคน ไม่เหมือนกันในแต่ละอิริยาบถ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของจิตว่า แต่ละคนมีโครงสร้างมาแน่นหนาแค่ไหน

 

อย่างถ้าหากว่าเป็นคนทำงานทางโลกนะ ที่เป็นพวกที่คิดแบบมีเป้าหมาย แล้วก็เดิน มีกระบวนการ มีจังหวะที่จะเข้าถึงเป้าหมายปลายทางนี่ อย่างเป็นขั้นเป็นตอน พวกนี้จะมีฐานของจิตที่พร้อมเป็นสมาธิ

เพราะอะไร เพราะว่าจิตไม่ค่อยวอกแวก มันจะวางอยู่ตรงไหน ตั้งใจจะให้มันอยู่ทางทิศไหน มันก็จะอยู่ตรงนั้น ไม่ค่อยเคลื่อนง่ายๆ

 

แต่ถ้าเป็นคนทำงานประเภทที่ เป็นพวกทำงานแบบเส้นก๋วยเตี๋ยวคือ ใส่เส้นเข้าไป แบบให้มันพันๆ กัน มั่วๆ นี่ แบบขอให้มันลงไปในชามนี่ แล้วมันจะไปพันกันท่าไหนอะไรอย่างไร ไม่สนใจ อย่างนี้นี่ เป็นพวกที่มีฐานของจิต ค่อนข้างจะเลื่อนลอย สับสนง่าย พันกันง่าย ความคิดมันพันกันง่าย

 

งานโน้น งานนี้ งานราษฎร์ งานหลวง เอามาปนกันอยู่ในหัว ขณะเดียวกัน นาทีเดียวกันได้ แบบนี้พอไปพยายามมาทำสมาธิ ก็จะจับฉ่าย ออกอาการจับฉ่าย

 

เพราะฉะนั้น คือคุณต้องเข้าใจตัวเอง หลังจากที่เรามีคอนเซ็ปต์ในการเจริญสติแบบพุทธอย่างถูกต้องแล้วว่า เขาดูอิริยาบถหลักให้เป็นกันก่อน แล้วจากนั้น สมาธิจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป

เราก็จะสามารถดูตัวเองได้ว่า จิตของเรา ฐานเดิมนี่นะ พร้อมจะเป็นสมาธิหรือเปล่า ถ้าไม่พร้อมจะเป็นสมาธิ มันฟ้องออกมาเลยว่า อยู่ในอิริยาบถไหน ก็จะไม่พอใจในอิริยาบถนั้น ไม่พอใจที่จะรู้ว่า ความเป็นอิริยาบถนั้นกำลังปรากฎอยู่อย่างไร ลมหายใจเข้าออก ดูไปครั้งสองครั้ง เบื่อแล้ว เลิกแล้ว

 

นี่ลักษณะของคนที่โครงสร้างของจิต ไม่ค่อยเข้าร่องเข้ารอย ไม่ค่อยมีพื้นฐานที่หนักแน่นว่าจะเอาเป้าหมายแบบไหน แล้วจะไม่ค่อยก้าวไปตามลำดับอย่างใจเย็นนะครับ มีแต่กระโดดไป บอกว่าฉันอยากเป็นสมาธิเดี๋ยวนี้เลย แล้วก็มักจะเกร็งกำลังภายในกัน นึกว่าการเกร็งกำลังภายใน บังคับตัวเองให้มีความนิ่ง มีความตั้งมั่นนี่ ทำกันได้ อย่างนี้ก็ไม่ใช่สมาธิแบบพุทธ

 

ทีนี้พอเราเริ่มเข้าใจว่าสมาธิของเรานี่ เริ่มก่อรูปก่อร่างขึ้นมา แบบไหน แบบสับสน หรือว่าแบบมีเป้าหมาย เดินเป็นเส้นตรง เดินจิตเป็นเส้นตรง หรือว่าเดินจิตวกวนนะครับ

เราก็จะเป็นคนที่เริ่มสังเกตออกว่า ณ ขณะที่เรานั่งดูลมหายใจเข้าออก จิตมีความอยู่กับจุดที่ใช่หรือเปล่า ถ้าไม่สามารถที่จะจับจุดตัวเองได้นะว่า จุดที่ใช่อยู่ตรงไหน จิตของคุณจะกระเด็นกระดอนไปทางโน้นที ทางนี้ที จับไม่มั่น คั้นไม่ตายสักอย่าง เดี๋ยวจะเอาคำบริกรรม เดี๋ยวจะเอาลมหายใจ เดี๋ยวคิดเรื่องงาน เดี๋ยวคิดเรื่องแฟน เดี๋ยวคิดเรื่องเพื่อน เดี๋ยวคิดเรื่องพรุ่งนี้ เดี๋ยวย้อนกลับไปเมื่อวานอะไรแบบนี้นะ

 

อย่างนี้ จะเป็นข้อสังเกตให้คุณทราบได้ด้วยตัวเองว่า สมาธิของคุณตอนนี้เอาจริงๆนี่ เป็นแบบไหน แล้วพอทำสมาธิในขณะนั่งในชีวิตประจำวัน รู้ลมหายใจเข้าออกเป็น ก็จะรู้แล้วว่า ตอนคุณไปพยายามนอนทำสมาธิ สมาธิของคุณมีแนวโน้มจะเป็นเช่นไรด้วย

 

ถ้าหากว่าคุณพบตัวเองในการนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ นั่งสวดมนต์ในขณะตื่นนี่ มีความโน้มเอียงที่จะผ่อนคลาย กล้ามเนื้อผ่อนคลาย สบายไปทั้งตัวนะ เท้า มือ ใบหน้า ผ่อนคลายหมด ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกร็ง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งตึง

มีโอกาส มีแนวโน้มสูงที่ เวลานอนคุณก็จะจับจุดสังเกตตรงนี้ถูกเช่นกัน คือรู้สึกถึงลมหายใจ หรือรู้สึกถึงอิริยาบถนอน อย่างเป็นไปเองและมีความสบายผ่อนคลาย

 

แต่ถ้าหากว่าในระหว่างวัน เวลาทำงานก็จับฉ่าย เวลามาสวดมนต์ก็จับฉ่าย เวลาพยายามนั่งสมาธิ ดูลมหายใจก็จับฉ่าย โอกาสที่คุณนอนลงแล้วจะเกิดอาการจับฉ่าย ก็สูงมาก

 

แล้วทีนี้เป็นอย่างไร คือคนที่พยายามทำสมาธิในตอนนอนนี่นะ จับจุดตัวเองไม่ถูก แล้วพยายามที่จะกดดันตัวเอง ให้รู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก โดยไม่สนอะไรทั้งสิ้นนะว่า มันจะผิดไปแค่ไหนแล้ว พลาด หรือคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายเดิมไปถึงไหนแล้วนี่ ก็จะหายใจฟืดฟาดๆ อย่างนั้นไปจนกระทั่งเกิดความรู้สึกรำคาญตัวเอง ที่ไม่เห็นจะเป็นสมาธิสักที แล้วไม่รู้จะทำสมาธิในขณะนอนไปเพื่ออะไร

 

ในขณะนอนก่อนหลับ ถ้าจะเอาตามแนวของพุทธนี่ สิ่งที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสถึงการนอนก็คือ ให้มีสติก่อนนอน ก่อนที่จะหลับ ตรงนี้เป็นอีกคอนเซ็ปต์หนึ่งที่สำคัญมากนะ คอนเซ็ปต์แบบพุทธนะ มีสติขณะก้าวล่วงลงสู่ความหลับ

 

ถ้าไม่มีสติก้าวล่วงลงสู่ความหลับ มันไม่มีอะไรประกันเลยว่าจะฝันร้ายหรือฝันดี ไม่มีอะไรประกันเลยว่าจิตของเรานี่ จะตระเวณไปสู่ความเป็นอกุศล  ท่องเที่ยวไปในขอบเขตของความเป็นอกุศลธรรม หรือว่าจะถูกดึงขึ้นสูงไปหาความเป็นกุศลธรรมนะ อันนี้ไม่มีหลักประกัน

 

แต่ถ้ามีสติแล้ว มีหลักประกันว่าคุณจะมีจิต มีสภาพทางกายที่เป็นกุศล ซึ่งถ้าหากว่าเราเอาสภาพความเป็นกุศล เป็นมิเตอร์ (Meter-เครื่องวัด) เป็นเครื่องวัดแล้วนี่นะ คุณก็จะสามารถทราบได้เช่นกันว่า ขณะนอน แล้วคุณบอกว่าคุณตั้งใจทำสมาธิท่านอน มันเป็นสมาธิที่ชวนให้ เหนี่ยวนำให้เกิดกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมกันแน่

 

ตอนที่คุณรู้สึกอึดอัด นอนไม่หลับ ตาแข็ง อย่างนั้น เป็นสภาพหนึ่งของอกุศลธรรมนะครับทางกาย มีความเกร็ง มีความรู้สึกเหมือนกับไม่สบาย มีความอึดอัดเป็นทุกข์ อะไรที่อึดอัดเป็นทุกข์ อะไรที่ทำให้จิตแข็งกระด้าง ตาค้างแบบนั้นนี่ เป็นสภาพที่ไม่เอื้อกับความเป็นสมาธิ

 

เพราะฉะนั้นนี่ เราถือเป็นตรงกันข้ามกับสภาพที่เป็นกุศลธรรม เพราะสิ่งที่เราตั้งใจจะเอานี่ คือความอ่อนโยน นุ่มนวล สว่าง สบาย หลับอย่างมีสติ ซึ่งอันนั้นเราถือว่าอยู่ข้างกุศล แต่ถ้าเป็นข้างตรงกันข้าม เรานับเป็นอกุศลไว้ก่อน

 

อกุศลไม่ได้แปลว่าบาปนะ ไม่ได้แปลว่าไม่ดี ไม่ได้แปลว่าน่าเกลียดชังหรือมืดมนเสมอไป แต่อกุศลในที่นี้ เราพูดกันในเชิงสัมพัทธ์ สัมพันธ์นะ ว่า สิ่งที่เป็นกุศลที่เราต้องการจริงๆ คือจิตแบบไหน คือจิตที่ใหญ่ ที่สว่าง ที่มีความนุ่มนวล ที่มีความสบาย ที่ไม่หลงเข้าไปหมกมุ่น อยู่กับอารมณ์ฟุ้งซ่าน หรือฝันร้ายได้ง่ายๆ นะครับ

 

ก็ขอให้เข้าใจนะ คำว่า กุศล กับ อกุศล ที่ผมกำลังพูดถึง มีความสัมพันธ์กันนะ อย่างพอตาแข็ง พอรู้สึกว่า นอนแข็งค้างทื่อๆ เป็นผีดิบ โอกาสที่เราจะคิดเรื่องไม่ดีก็สูง โอกาสที่จะสงสัยในการปฏิบัติ โอกาสที่จะสงสัยหลักการโน่นนี่นั่น จะผุดพรายขึ้นมาไม่หยุด แล้วเราก็กลายเป็นคนที่นอนหลับแบบไม่มีความสุขไป ทั้งๆที่ตั้งใจจะทำสมาธิ

 

เสร็จแล้วคนนะ พอเหมือนกับรู้สึกว่าตัวเองทำดีแล้ว ตัวเองกำลังพยายามทำอะไรดีๆ อยู่ ก็จะมีความดื้อรั้น ทำต่อ ดันทุรังนะครับ บอกว่าเดี๋ยวในที่สุดเราก็จะประสบความสำเร็จ ซึ่งจริงๆ ถ้ามาผิดทาง ยิ่งทำยิ่งผิด ยิ่งทำยิ่งเพี้ยน ยิ่งทำยิ่งเครียด ยิ่งทำยิ่งไม่ได้ผลนะ ไม่ได้ผลดี กลายเป็นได้ผลร้ายอะไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ

บางคนนี่ ทำสมาธิตอนนอน ตื่นมาเหนื่อย เหนื่อยอ่อนไปหมด บอกว่านอนมาทั้งคืนเหมือนไม่ได้นอนเลย เหมือนกับกลายเป็นว่าเราลุกขึ้นมาตอนเช้า แทนที่จะมีกำลังวังชา แบบคนที่นอนหลับมาทั้งคืน กลายเป็นว่าอยากจะนอนต่อ ไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากไปเรียนนะ นี่คือผลเสียนะครับ ถ้าหากว่าเราทำไม่ถูกทาง

 

จุดตัดสิน จุดสำคัญที่วัดว่าคุณมีสติอยู่หรือเปล่า คือ ต้องไม่หลงกังวลนะครับ ไม่หลงฟุ้งซ่าน อันนี้ชัวร์ๆ ชัดๆ เลยนะ ถ้าหลงกังวล หลงฟุ้งซ่าน คุณไม่ได้ทำสมาธิในท่านอนนะ คุณกำลังทรมานตัวเองในท่านอนต่างหาก

 

สรุปนะครับ สำหรับ topic นี้ ทำสมาธิในท่านอนได้ไหม

บอกว่าต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า คอนเซ็ปต์ในการเจริญสติ และทำสมาธิแบบพุทธเป็นอย่างไร แล้วก็ควรจะฝึกให้ได้เรื่อยๆ รู้ให้ได้เรื่อยๆ ว่าจิตของคุณในระหว่างวัน ปกติแล้วพร้อมที่จะเป็นสมาธิ หรือว่าพร้อมที่จะก่อร่างสร้างความฟุ้งซ๋านขึ้นมา

 

จากนั้นเมื่อสังเกตตัวเองถูก ทั้งภาวะทางกาย ทั้งภาวะทางใจ ที่มีความสบาย มีความพร้อม มีความสามารถรู้ทั้งตัวได้ก่อน เป็นที่ตั้ง เป็นฐานนะ ค่อยเอาไปใช้ในท่านอน ใช้กับท่านอน

ถ้าพอนอนลงไป คุณมีความรู้สึก เออ ยังผ่อนคลายอยู่ ยังสบายอยู่ทั้งตัว แล้วค่อยหายใจ แบบนี้ มีโอกาสที่จะเป็นสมาธิแบบเหมือนคล้ายๆ แผ่เมตตาอยู่ตลอด มีความสุขรินๆ ออกมา แล้วก็เป็นความสุขแบบไม่หลงยึดด้วย เป็นความสุขที่รู้ว่า สักแต่เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นในท่านอน ที่มีสติ แล้วเดี๋ยวมันปรวนแปรไป เปลี่ยนไปเราก็ไม่เสียดาย แล้วก็รู้ว่าจะนับหนึ่งใหม่อย่างไร

 

แต่ถ้าหากว่า คุณยังทำสมาธิแบบไม่มีคอนเซ็ปต์ ไม่มีความชัดเจนว่า จะทำสมาธิแบบพุทธอย่างไร โอกาสที่จะมีสติระหว่างนอนนี่ แทบเป็นศูนย์เลยนะ คุณจะไปเริ่มต้นเอาจากการพยายามเพ่งแบบผิดๆ นะ พยายามเพ่งลมคับแคบ ที่จุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย หรือบริกรรมแบบกระโดดๆ จะท่องพุทโธในหัว ก็เป็นพุทโธแบบไม่สม่ำเสมอ เป็นพุทโธแบบขรุขระ เป็นพุทโธแบบใหญ่บ้างเล็กบ้าง ดังบ้าง หรือว่าเบาบ้างอยู่ในหัว ซึ่งแบบนั้นไม่ได้ต่างอะไรจากความฟุ้งซ่าน ไม่ได้เป็นเหตุให้เหนี่ยวนำให้เกิดสมาธินะครับ

_________

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=ck_NN0sSqbw&t=1047s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น