ดังตฤณ : คำถามบอกว่า “เดินจงกรมอยู่เป็นระยะ มีบางเช้าที่ตื่นเช้ามา พอขาแตะพื้นจะรู้สึกเหมือนตัวเรากับสิ่งของในห้องเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน”
อันนี้คือลักษณะของสติที่เข้าถึงความเป็นธาตุดินนะครับ เห็นว่าจะเป็นสภาพทางกายกระดูกกระเดี้ยว หรือว่าเนื้อหนังมังสา หรือว่าที่มันปรากฏรวมอยู่เป็นอิริยาบถปัจจุบันนั้น ไม่ได้มีความเป็นบุคคล แต่มีความเสมอกันกับของแข็งอื่นๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นพื้น ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเพดาน จิตสัมผัสไปทางไหน มันรู้สึกว่ากลมกลืนเป็นอันเดียวกันหมด ซึ่งนี่เป็นลักษณะของการรู้ธาตุดินที่ถูกต้องแบบพุทธนะครับ
การรู้ธาตุดินที่ถูกต้องแบบพุทธคืออะไร?
คือการรู้สึกว่ากายนี้ส่วนที่เป็นธาตุดิน
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหนังมังสา กระดูกที่สัมผัสไปกับพื้นต่างๆ
เกิดกระทบแล้วรู้สึกถึงความแข็งของของต่างๆ มันมีความเสมอกันกับธาตุดินอื่นๆ ในโลก
ตรงนี้เป็นจุดที่ถูกต้องนะครับ
คนส่วนใหญ่พอเข้าใจ พยายามศึกษาเกี่ยวกับธาตุดิน จะมองแยกเป็นส่วน อย่างเช่น ต้องเพ่งกสิณดิน ซึ่งจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าสอนให้ทำกสิณดินเพื่อที่จะน้อมเข้ารู้ว่ากายนี้เป็นธาตุดิน
แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไปเข้าใจว่าทำกรรมฐาน เพื่อที่จะให้เห็นว่ากายนี้มีแต่ธาตุดิน คือไม่ได้มองโดยความสัมพันธ์ ไม่ได้มองโดยความเห็นว่าอะไรๆ สักแต่เป็นธาตุดินเสมอกัน ตรงนี้สำคัญนะครับ ถ้าไม่มีมุมมองที่ถูกต้อง เราจะไม่มีสติที่เจริญไปในการเห็นธาตุดินโดยความเป็นของเสมอกันระหว่างกายภายในกับข้าวของภายนอก
แต่อันนี้ถ้ารู้ได้แสดงว่า โดยตัวสติเองเริ่มมาถูกทาง ทีนี้เราก็ประกอบกับสัมมาทิฏฐิเข้าไปว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนแค่เรื่องธาตุดิน ไม่ว่าเราจะรู้เข้ามาในสภาพทางกายแบบไหน จะเป็นธาตุน้ำ เช่น น้ำลาย จะเป็นธาตุลม เช่น ลมหายใจเข้า-ออก หรือจะเป็นธาตุไฟ คือไออุ่นที่มันอยู่กลางอก ที่มันอยู่ตามเนื้อตัว เวลาสัมผัสเข้ากับความเป็น น้ำ ลม หรือ ไฟ ในตัวเองแบบไหน ก็ขอให้ดูว่ามีความเสมอกันกับสิ่งที่มากระทบเรา ณ ขณะนั้นๆ อย่างเช่น อากาศร้อน เราก็บอกว่า เอออากาศร้อนแบบนี้ก็มีความเสมอกันกับธาตุไฟในตัวเรา มันมีไออุ่นเหมือนกัน หรือว่าธาตุลม เวลามีลมพัดมา แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า มีภาวะบางอย่างที่มีการพัด มีการไหลของความไม่มีรูปนะไอ้สภาพความเป็นลมเนี่ย ก็เสมอกันกับลมหายใจของเรา อย่างนี้มันจะทำให้เห็นสักแต่ว่ากายนี้เป็นธาตุที่เสมอกันกับธาตุอื่นๆ ในโลก ไม่ใช่เป็นธาตุยูเรเนี่ยม ไม่ใช่เป็นธาตุทองแดงอะไรแบบนั้น แต่เป็นธาตุดิน
คำว่า ธาตุดิน คือมีความแข็ง มีสภาพมีลักษณะของความแข็ง
ธาตุน้ำ มีลักษณะของความไหล ความซึมซาบ เอิบอาบ
ธาตุลม
มีลักษณะของความพัดไหวไปมา ขึ้นลง ซ้ายขวา
ธาตุไฟ มีลักษณะของความอุ่น มีลักษณะของความร้อน
อะไรแบบนี้
การที่เห็นกายสักแต่เป็นธาตุได้เสมอกันกับธาตุอื่นๆ ในโลกภายนอก จะทำให้เกิดความรู้สึกในอนัตตาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว รู้สึกว่าไม่มีบุคคลอยู่ตรงนี้ ไม่มีบุคคลอยู่ที่ตรงไหน มีแต่ความเป็นธาตุเสมอกันแผ่ไปทั่วจักรวาลนะครับ
คำถามยังไม่จบ บอกว่า “พอขยับตัวไปทำงาน ความรู้สึกเหมือนเราไม่ได้ไปทำงาน มันเหมือนตัวเราเป็นวัตถุเคลื่อนที่ไปเฉยๆ ไม่กี่ขณะ พอตั้งหลักได้สภาวะนั้นก็หายไป อันนี้คือผลจากการฝึกหรือเปล่า แล้วถ้าสภาวะนี้มากขึ้นจะไม่อยากทำงานมั้ย มันเฉยๆ แปลกๆ”
อันนี้ขอให้ทราบนะครับว่า จิตที่รู้กายโดยความเป็นธาตุเสมอกันกับธาตุอื่นๆ ในโลกภายนอก จะเป็นจิตที่เข้าถึงความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นของจริง เป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จิตเพิ่งไปเข้าถึง แล้วพอจับจุดได้ว่า เออเนี่ยเราจะเห็นสิ่งที่เรียกว่า อนัตตา ได้ด้วยการทราบอย่างไร? มีความรู้แบบไหน? เราก็จะมีพัฒนาการไปในทางนั้นๆ ต่อ โดยที่อย่าไปคาดหวังว่า มันจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ หรือว่าเกิดขึ้นเสมออย่างคงเส้นคงวาไม่หายไป เราต้องมองว่าสติเองก็แสดงความไม่เที่ยงเช่นกัน แล้วไม่ต้องกลัวว่าจะไม่อยากทำงาน
อย่างที่คุณบอก บอกว่าเหมือนมันเคลื่อนไปเฉยๆ คล้ายหุ่นยนต์ คล้ายเป็นวัตถุที่สักแต่มีอาการเป็นไปตามสภาพของมัน นั่นน่ะเป็นตัวบอกอยู่แล้วว่า คุณยังทำงานได้ แต่ทำงานออกมาจากมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง คือ มุมมองของคนที่พร้อมจะตื่นรู้ ไม่ใช่คนที่ทำงานไปแบบถามตัวเองว่า เอ๊ะ! ที่ทำงานอยู่เนี่ย เราทำงานไปเพื่ออะไร? หาเงิน หาอาหารมาเลี้ยงชีพ หรือว่าจะทำงานเพื่อความร่ำรวย เพื่อตัวตน เพื่อฐานะตำแหน่ง คนทั่วไปจะอยู่กับข้อสงสัยพวกนี้
แต่คนที่เจริญสติจนถึงขั้นนี้นะครับ .. ยิ่งถ้าต่อไปคุณมีความรู้สึกถึงความเป็นธาตุทางกายเปรียบเทียบกับธาตุอื่นๆ ในโลกภายนอกได้เป็นปกติเมื่อไหร่นะ คุณจะเข้าใจว่าที่ทำงานไปก็เพื่อให้มันเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญสติ ของการรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ สักแต่เป็นกิริยาทำงาน ธาตุมันกำลังมีท่าทางทำงานอยู่ ไม่มีตัวคุณทำงาน ไม่มีบุคคลทำงาน ไม่ต้องไปกลัวว่าเราจะขาดตกบกพร่องเรื่องความรับผิดชอบทางหน้าที่การงาน ถ้าหากว่าเกิดมุมมอง เกิดสติที่ถูกต้องแบบพุทธแล้วนะครับ
ทีนี้มาพูดเรื่องว่าทำยังไงให้มันเจริญขึ้น อันนี้บอกก่อนว่ามาถูกทางแล้วนะครับ แล้วส่วนใหญ่พวกที่เกิดภาวะแบบนี้ขึ้นมาเองเนี่ย ถ้าเราพูดกันแบบพุทธนะ ก็คือว่ามีทุนเก่า มีของเก่า มีของเดิมที่เคยทำมาถูกทางอยู่แล้ว ทีนี้เรามาทำต่อให้มันถึงที่สุด
วิธีทำต่อไม่ใช่ไปพยายามจี้จะเอาความรับรู้ หรือมีสติแบบนั้นเท่านั้น คุณทำไปเรื่อยๆ เถอะ ถ้าฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตกำลังฟุ้งซ่าน การรู้ว่าจิตกำลังฟุ้งซ่านก็คือรู้ธาตุอีกธาตุหนึ่งคือ เป็น วิญญาณธาตุ
ในความเป็นชีวิตนี้ ในความเป็นชาตินี้ไม่ได้มีแค่ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อย่างเดียว มันมีวิญญาณธาตุด้วย แล้ววิญญาณธาตุเนี่ยมันแปรปรวนอยู่ตลอดเวลาตามอาการปรุงแต่งว่าให้ฟุ้งซ่านเรื่องต่างๆ หรือว่าให้มีความสงบเป็นสมาธิ
พอคุณมีความพอใจที่จะรู้ว่า เออเนี่ยวิญญาณธาตุมันแกว่งไปแกว่งมา มันซัดส่ายไปมาอยู่ในธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม นี้ ในที่สุดคุณจะเห็นครบ คือถึงแม้ว่าจะไม่ได้เห็นว่า กายเป็นดิน ธาตุดินเสมอกันกับธาตุดินอื่นๆ อย่างที่คุณรู้สึกว่า ฮึ้ยเออมันเจ๋ง มันน่าติดใจ แต่คุณกำลังฟุ้งซ่าน แล้วคุณรู้ความฟุ้งซ่านนั้นว่า เป็นส่วนหนึ่งเป็นการปรุงแต่งแบบหนึ่งทางจิตวิญญาณนะครับ
เมื่อความฟุ้งซ่านนั้นสงบระงับดับหายชั่วคราว สิ่งที่มันจะเหลืออยู่ก็คือ ความปรากฏของจิตที่มันสว่างเป็นสมาธิ หรือว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล การที่คุณเห็นว่า นี่สักแต่เป็นจิต นี่สักแต่เป็นวิญญาณธาตุ ในที่สุดมันก็จะพาไปสู่การรับรู้ เวลาที่ไปเจอคนอื่น คุยกันไปคุยกันมา คุณก็เห็น อ้าวนี่ไอ้ที่ส่วนของเรานะในการรับรู้ว่า ฟุ้งซ่านบ้าง สงบบ้าง ในที่สุดมันพาไปหาความรู้ว่า เออสักแต่มีวิญญาณธาตุ มีแต่สภาพธรรมชาติแห่งการรู้ ในตัวคุณไม่ได้ปรากฏอยู่แค่คนเดียว คนอื่นก็ปรากฏอยู่อย่างนั้น
เวลาคุณพูดคุยกับเขาไป เห็นว่าเออมันฟุ้งซ่านมากในช่วงนี้นาทีนี้ เดี๋ยวพอพูดเรื่องอื่นที่มันดีๆ หน่อยมันฟุ้งซ่านน้อยลง มันมีความสงบ มันมีความเย็นลง เห็นไปเห็นมาเนี่ย ไปเห็นด้วยว่าสิ่งที่มันเป็นฐานที่ตั้งของความสงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้างนั้นคือจิต คือวิญญาณ คือการรับรู้ คุณสามารถทราบได้ว่าเขารู้ชัดหรือว่ารู้แบบเบลอๆ เนี่ยมันเห็นเสมอกันว่าสักแต่เป็นวิญญาณ
แต่ถ้าคุณมัวแต่ติดใจว่าจะเอาแต่ธาตุดิน
รู้แต่ธาตุดินธาตุเดียว เสร็จแล้วพอทำไม่ได้ คุณจะไม่ได้เจริญสติแบบอื่นเลย
เนี่ยตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงตรัสนะครับว่า ในสติปัฏฐานสูตรท่านสอนไว้นะครับบอกว่า
รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องรู้อย่างอื่นด้วย ให้รู้อย่างนี้ด้วย รู้ว่ามีกาย
รู้ว่ามีเวทนา รู้ว่ามีจิต รู้ว่ามีธรรม ส่วนของกายเนี่ย
รู้โดยความเป็นธาตุด้วยนะว่าประกอบด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วส่วนอื่นก็รู้ไปด้วยว่า
เออธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมนี้ ที่มีกรรมอยู่นี้เนี่ย มันมีสุขมีทุกข์ในแต่ละขณะ
ในแต่ละลมหายใจ ในแต่ละช่วง ไม่ใช่ว่ามีแต่สภาพทางกายปรากฏอยู่อย่างเดียวนะครับ
ตรงนี้ที่จะเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วพาคุณไปสู่ความเจริญ ไปสู่ความตั้งมั่น
แล้วก็ไปสู่ประตูนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน ในอัตภาพปัจจุบันนะครับ
-----------------------------------------------
๕
กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ทำสมาธิไม่เห็นนิมิตได้ไหม?
คำถาม : เดินจงกรมอยู่เป็นระยะ มีบางครั้งที่ตื่นเช้า พอขาแตะพื้น รู้สึกเหมือนตัวเรากับสิ่งของในห้องเป็นวัตถุอย่างเดียวกัน พอขยับตัวไปทำงาน ความรู้สึกเหมือนเราไม่ได้ไปทำงาน มันเหมือนตัวเราเป็นวัตถุเคลื่อนที่ไปเฉยๆ ไม่กี่ขณะพอตั้งหลักได้สภาวะนั้นก็หายไป อันนี้คือผลจากการฝึกรึเปล่า? แล้วถ้าภาวะนี้มากขึ้นจะไม่อยากทำงานไหม? เหมือนมันเฉยแปลกๆ
ระยะเวลาคลิป ๑๑.๔๙ นาที
รับชมทางยูทูบ
https://www.youtube.com/watch?v=5FDYKVJJmU4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=3
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น