วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

ช่วยอธิบายเรื่องฐานกาย?

ดังตฤณ :  คำถามบอกว่า “ช่วยอธิบายเรื่องฐานกาย”

ฐานกาย ก็คือว่าเราจะเอาสติไปอยู่ตรงไหนของกาย เริ่มต้นขึ้นมาพระพุทธเจ้าให้อยู่กับลมหายใจให้เป็นนะครับ แต่อยู่กับลมหายใจไม่ใช่ลืมว่าอยู่อิริยาบถไหนด้วยนะครับ ถ้าหากว่าเราทำถูก เราทำแล้วมันใช่ เราจะรู้สึกว่ากำลังอยู่ในท่านั่ง หรือท่านอน หรือท่ายืน หรือท่าเดินใดก็ตามเนี่ย สามารถอาศัยเป็นเครื่องรู้ได้หมดเลยว่า กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก หายใจสบาย หรือหายใจอึดอัด

จากนั้นภาวะทางกาย ภาวะทางใจทั้งหมดมันก็จะปรากฏชัดตามไปด้วย อันนี้มันค่อยๆ เขยิบขึ้นไปนะ จากกายเข้าไปสู่ความรู้สึก จากความรู้สึกเลื่อนระดับขึ้นไปสู่ภาวะของจิต นี่ตรงนี้นะครับเรียกว่าเอากายเป็นฐานให้เกิดความรับรู้ว่าเวทนาเป็นยังไง หรือว่าจิตเป็นยังไง 

บางคนนึกว่าแยกส่วนกัน จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าสอนในอานาปานสติอย่างชัดเจนว่า ส่วนของกายดูที่ลมหายใจอย่างเดียว ส่วนของเวทนาคือดูว่า ในแต่ละลมหายใจมันลากพาเอาความสุข เอาความปีติ เอาความปราโมทย์ เอาความมีจิตปรุงแต่งที่สงบ หรือว่าฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมา ถ้าเราเห็นว่าแต่ละลมหายใจมีสุขมีทุกข์ต่างกัน นั่นเรียกว่าเห็นเวทนาต่างกัน

ถ้าเห็นว่าปรุงแต่งจิตเป็นฟุ้งซ่านบ้าง หรือว่าสงบบ้างในแต่ละลมหายใจไม่เท่าเดิม อันนี้เรียกว่าเป็นการรู้ความปรุงแต่งทางจิต รู้จิต

ส่วนสภาพการรู้ธรรมก็คือ เราสามารถทราบได้นะครับว่า ในแต่ละลมหายใจเป็นลมหายใจแห่งความยึดมั่นถือมั่นว่านี่ของเรา หรือว่าเป็นลมหายใจแห่งการรู้ หรือการตื่นว่า แต่ละลมหายใจสักแต่เป็นธาตุลมเข้าและออก ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเราเขานะครับ รวมทั้งสภาพทางกายนี้ด้วย รวมทั้งสภาพปรุงแต่งทางจิต ทางเวทนาที่มันเกิดขึ้นเป็นขณะๆ ในแต่ละลมหายใจด้วย อันนี้เรียกว่าเป็นการรู้ลมหายใจเพื่อที่จะเข้าถึงธรรม ฐานที่ตั้งคือ กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นอันครบถ้วนในอานาปานสติที่สมบูรณ์แบบ ที่มีความเข้าใจถูกประกอบอยู่ด้วยนั่นแหละ

แต่ถ้าหากว่า เรามีความเจริญแล้วในการเจริญอานาปานสติ แล้วลืมตาขึ้นมา มันก็สามารถเห็นได้ว่า ฐานของสติมันก็ยังอยู่ตรงนี้แหละ อยู่ตรงที่ๆ มันเป็นอิริยาบถปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้นึกถึงลมหายใจ แต่รู้สึกถึงเท้ากระทบ รู้สึกถึงการเดินไป นี่ก็เรียกว่าเป็นการทำสมาธิ เป็นการเอากายเป็นฐานที่ตั้งของสมาธิและสติต่อนะครับ จากนั้นเนี่ยพอถึงเราจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางการเดินจงกรมหรือว่าที่นั่งสมาธิ เราอยู่ในชีวิตประจำวัน เกิดเรื่องกระทบอะไรขึ้นมา เรารู้ทันนะครับ เพราะว่าสติมันดีแล้ว สมาธิมันตั้งมั่นแล้วว่า ณ ขณะหนึ่งๆ ที่จิตถูกกระทบมีปฏิกิริยาอย่างไรนะครับ มีความรุนแรงออกมาโป้งป้าง หรือว่ามีความรู้สึกสงบๆ แผ่วเบา สบาย ตรงนี้มันก็จะเป็นการรับช่วงต่อว่าฐานของสติมันไปอยู่กับจุดที่สภาวะในปัจจุบันกำลังปรากฏเด่นอยู่นะครับ อย่างเช่น ถ้าเรากำลังคิดวุ่นวาย เรายังต้องมีความจดจ่อเคร่งเครียดกับปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนี้นะ ฐานที่ถูกต้องของสติ ณ ขณะนั้นไม่ใช่กาย แต่เป็นสภาวะทางใจ ซึ่งถ้าคุณยังรู้เป็นแบคกราวน์ (background)ได้แผ่วๆ ว่านี่กำลังหายใจอยู่ หรือกำลังลมหายใจขาดห้วง หรือว่ากำลังนั่งหลังตรงหรือหลังงอ รู้แบบนี้เป็นแบคกราวน์เนี่ย มันก็จะมีส่วนช่วยให้สติรับรู้ว่านี่เครียดมากเกินไปแล้ว นี่ขี่ช้างจับตั๊กแตนแล้ว นี่เกิดความฟุ้งซ่านเกินกว่าหน้าที่การงานไปแล้วอะไรแบบนี้เนี่ย มันก็จะชัดเจนอยู่ตลอดเวลานะครับ

พูดง่ายๆ ถ้ามีฐานกายชัดเนี่ย เรามีแบคกราวน์ให้กับฐานอื่น จะเป็นเวทนาหรือจิตก็ตาม หรือว่าจะเป็นความปรุงแต่งที่เป็นกุศล หรืออกุศลก็ตามในระหว่างวันนะครับ

ฐานกายไม่ใช่แค่ดูกาย แต่ฐานกายเป็นบันไดให้ดูเวทนา และจิต และธรรมในโอกาสต่อไปด้วย 

--------------------------------------------

๕ กันยายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำสมาธิไม่เห็นนิมิตได้ไหม?

คำถาม : ช่วยอธิบายเรื่องฐานกาย?

ระยะเวลาคลิป       ๕.๑๐ นาที
รับชมทางยูทูบ       https://www.youtube.com/watch?v=yvQP-p2qREI&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น