วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น ทำอย่างไรในแง่สมถะและวิปัสสนา?


ดังตฤณ : ในแง่สมถะ คือแผ่เมตตา ในแง่วิปัสสนา คือเห็นความไม่เที่ยงของความเจ้าคิดเจ้าแค้น

การแผ่เมตตา คือการที่เราฝึกที่จะให้ทาน เริ่มต้นขึ้นมาเลยฝึกที่จะให้ทาน สวดมนต์แล้วมีความสุข อยากให้ความสุขนี้เป็นทานแก่สิ่งมีชีวิตทั้งปวง แล้วพิสูจน์ด้วยการที่ เราสามารถจะให้ส่วนเกิน จะเป็นทรัพย์ส่วนเกิน เงินส่วนเกินแก่ผู้มาขอ หรือว่าผู้ต้องการ หรือว่าผู้ที่สมควรได้รับ

ลักษณะของทาน ลักษณะของการให้ของส่วนเกิน เป็นการแผ่เมตตาขั้นต้น

การแผ่เมตตาที่ยากขึ้นกว่านั้นอีกนิดนึงคือ เวลาเราโกรธใคร เวลามีคนมาทำให้เราโกรธด้วยเรื่องที่มันไม่ยุติธรรมกับเรา ไม่ใช่เราโกรธเขา เพราะเขาไม่ได้อย่างใจเรานะ มีคนมาทำให้เราขัดเคือง มีคนมาคดโกง มีคนมายั่วแหย่กระเซ้า หรือว่ามาด่าว่าด้วยคำหยาบคาย ด้วยคำนินทาอันเผ็ดร้อน แล้วเราคิดว่านั่นเป็นบาปของเขา เราไม่อยากจะไปเพิ่มบาปให้เขาแล้วก็ตัวเราเอง ก็ให้คืนบาปนั้นสู่ความว่างเปล่าไป ไม่ไปเอาเรื่องเอาราวเขา นั่นเรียกว่าให้อภัยเป็นทาน นี่ก็เป็นการแผ่เมตตา นี่ก็เป็นการอยากให้ความสุขของเรา ไปเป็นความสุขของเขาด้วย ไม่ไปมัวคิดถึงเรื่องความยุติธรรม ไม่ยุติธรรม คิดแค่ว่าเราไม่เบียดเบียนเขา แค่นี้ก็คือทำให้เขามีความสุขได้พอสมควรแล้ว ไม่เบียดเบียนเขาคืน แล้วก็ไม่เบียดเบียนตนเองให้ต้องมีจิตใจคับแคบกระสับกระส่าย อันนี้เรียกว่าเป็นสมถะ

ส่วนในแง่ของวิปัสสนาคือ เรารู้อยู่ เห็นอยู่ว่า เกิดความรุ่มร้อนขึ้นอย่างไร ยอมรับตามจริง ไม่ใช่ไปพยายามที่จะสาดน้ำเย็นโครมให้ดับไฟร้อนให้มันมอดไปทันที ไม่ใช่พยายามแบบนั้น แต่ยอมรับตามจริงว่า ขณะนั้นไฟโกรธมันลุกโพลง มันลุกฮืออยู่ขนาดไหน มันรู้สึกเหมือนเร่าร้อน เหมือนกับจะมีใครมาเผาเรามาจากข้างใน

มีความรู้สึกเหมือนกล้ามเนื้อทุกมัด มันพร้อมที่จะไปทำงานประสานกัน เป็นอาการชกต่อยเตะตี เพื่อที่มาทำให้คนที่ทำเราไม่พอใจเนี่ย ได้รับความเจ็บปวดมากที่สุด รู้ไปว่าอาการทางกายเกิดขึ้นอย่างไร อาการทางใจเกิดขึ้นอย่างไร ยอมรับไปตามนั้นเพื่อให้เห็นว่า ลักษณะ ณ ขณะนั้นทางกายทางใจ มันกำลังปรากฏอยู่อย่างไร

พอยอมรับได้ พอเห็นได้ว่า ลักษณะทางกายทางใจปรากฏอยู่อย่างไร ในอึดใจต่อมาก็จะสามารถเห็นได้ว่า ลักษณะแบบนั้นๆมันเปลี่ยนแปลง มันไม่สามารถคงที่อยู่ได้ ต่อให้เรารู้สึกเหมือนกับจุกแน่น ไม่สามารถทนได้ถ้าหากว่าไม่ไปทำร้ายกลับ ไม่ทำร้ายคืน ภาวะมันจะสุดขีดที่จะกลั้นแค่ไหนก็ตามนะครับ ขอแค่เราสามารถที่จะยอมรับได้ตามจริงว่า มันกำลังมีความเป็นอย่างไรอยู่

ความเป็นอย่างนั้น มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นในเวลาไม่นาน นี่เรียกว่าวิปัสสนา

แต่คนที่จะทำแบบนั้นได้เนี่ย คนที่จะสามารถเห็นอย่างนั้นได้ ต้องมีอภัยเป็นทานมาก่อน ต้องมีทุนมาก่อน ต้องมีสุขพอสมควร ต้องมีจิตเป็นกุศลพอสมควร ไม่ใช่ว่าใครๆก็ทำได้

ถ้าเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นมากๆ แล้วไม่เคยฝึกอะไรมาเลยเนี่ย ไปทำแบบนั้นมันรู้สึกเหมือนกับจะจุกอกตาย มันเป็นไปไม่ได้นะครับ

--------------------------------------------


ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ที่มา รายการดังตฤณวิสัชณา ครั้งที่ ๓๖
วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๕
ความยาวคลิป : ๔.๒๑ นาที
รับชมทางยูทูบ : https://www.youtube.com/watch?v=kb8LXdnXv1s&list=PLmDLNhxScsWMM1allIJvz4ti1c_bMrj09&index=8&t=5s


** IG **

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ


ดังตฤณ :  ต้องใช้หูฟังนะครับ สวดมนต์ร่วมกันนะจะใช้เทคโนโลยีทางเสียงมาช่วยให้จิตสามารถโฟกัสอยู่กับบทสวดได้แบบไม่วอกแวกนะครับ โอเคถ้าพร้อมแล้วก็มาเริ่มกันเลยก็แล้วกัน

คุณดังตฤณนำสวดมนต์โดยใช้ ))เสียงสติ((ช่วยสวดมนต์

ผ่านไปนะครับ สำหรับคลิปสุดท้ายของคลื่นปัญญาล็อทแรก ว่าด้วยการฝึกรู้กายใจโดยความเป็นหนึ่งในสังสารวัฏนะครับ เป็นหนึ่งกายใจในหนึ่งสังสารวัฏเนี่ย ขอใช้เวลานิดนึงก็จะพยายามให้เร็วที่สุดนะครับ แล้วพอเสร็จแล้วก็คงจะมีการต่อยอดขยายผลอะไรต่อไปนะครับ เดี๋ยวจะค่อยๆทยอยมาให้ได้รับชมรับฟังกันนะครับ

คืนนี้ขอลาแต่เพียงเท่านี้ก่อนครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ

---------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส

วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ช่วง                              สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ
ระยะเวลาคลิป           ๓.๓๘ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=hA2tC3mPxm4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=26

วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เวลาโกรธ มักร้องไห้ แก้ได้อย่างไร


เวลาโกรธ มักร้องไห้ แก้ได้อย่างไร

ดังตฤณ : การร้องไห้ แสดงให้เห็นว่าเรามีโทสะแรง แล้วโทสะกับความอ่อนแอทางจิตใจนี่ บางทีมาด้วยกัน

ถ้าเป็นโทสะในแบบที่เราไม่สามารถจะปีนข้ามความกดดัน ความรู้สึกหนักอกหนักใจ หรือว่าความรู้สึกเจ็บปวดไปได้ ก็จะพยายามหาทางทำลายกำแพงออกมาด้วยการที่ น้ำจากตานี่ ทะลักทลายออกมานะ

ต้องตั้งโจทย์อย่างนี้ คือไม่ใช่เราไปตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรจะไม่ร้องไห้ตอนโกรธ แต่เป็น ทำอย่างไร จะมีสติรู้ ไม่ว่าเราจะมีโทสะเบาระดับที่หงุดหงิดเฉยๆ หรือว่า แรงระดับที่ต้องร้องไห้ออกมา
อันนี้สำคัญกว่า เพราะว่าอยู่ๆ เราหาอุบายหรือว่าหาวิธี หรือสั่งตัวเอง จงอย่าร้องไห้ บางทีจะขัดกับของที่สะสมมาเนิ่นนาน บางทีเป็นนิสัยทางความโกรธของเรา เป็นเอกลักษณ์ เป็น signature ของเราที่โกรธ จะต้องร้องไห้ กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว สมองถูกเทรนให้เป็นแบบนั้น เป็นไปตามนั้นแล้ว

ทีนี้ถ้าเรามองใหม่ว่า ไม่ต้องไปอายอะไรหรอก เพราะว่าคนเขาเห็นกันหมดแล้วว่าเราเป็นอย่างไรตอนโกรธ เราเอาสิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นดีกว่า อย่าเอาตรงแค่ภาพ ภาพนี่จริงๆแล้วไม่ได้ช่วยให้เราดีขึ้นสักเท่าไหร่หรอก แต่สติต่างหาก
ภาพนี่ เป็นอะไรที่เอาไว้ให้คนอื่นเห็น เป็นเรื่องของสายตาคนอื่น ซึ่งเขาจะไปแอบหัวเราะเยาะต่อหรือเปล่า ต่อให้ไม่ร้องไห้ เขาจะไปหัวเราะเยาะหรือเปล่าไม่รู้
แต่ สติ ถ้าเกิดขึ้นข้างในของเรา แล้วเรามีความรู้อยู่ ตัวนี้ ที่เราได้ประโยชน์ คนอื่นจะหัวเราะ ไม่หัวเราะ ช่างมัน แต่ใจของเรามีพัฒนาการขึ้นมาก็แล้วกัน

สติ ที่จะเกิดขึ้น ณ ขณะที่เกิดความโกรธ เราถามตัวเองง่ายๆ อันดับแรกเลย เป็นความโกรธระดับหงุดหงิด หรือ ความโกรธระดับร้องไห้ สังเกตแค่ตรงนี้ สังเกตความต่างให้ออก
ถ้าเป็นความโกรธอ่อนๆ จะเหมือนไปเรื่อยๆ หงุดหงิดๆ แต่ว่าไม่มีอาการกรี๊ดออกมาอยู่ข้างใน แต่ถ้ามีความโกรธที่รุนแรง จะมีอาการกรี๊ด ปี๊ด เป็นนกหวีด นำขึ้นมา ตรงนี้เราก็รู้ตามจริงว่า อ้อ นี่อย่างนี้เรียกว่าโทสะชนิดแรง
พอเรามีจุดสังเกต จุดจับสังเกต คือไม่ใช่ไปดู ... ฟังดีๆ นะ คือไม่ใช่ไปดูเฉพาะตอนที่โทสะแรงนะ ต้องดูตอนที่โทสะอ่อนด้วย ถึงจะเกิดการเปรียบเทียบ มีสติที่รู้ว่า มันต่างกันอย่างไร

ตอนที่เกิดสติ รู้ว่าหงุดหงิดๆ แล้วบอกตัวเองว่า นี่คือโทสะอ่อนๆ ก็จะเริ่มสังเกตเข้ามาที่จิตตัวเองว่า หน้าตาเป็นอย่างนี้ เหมือนกับคุณหนูอยากกระฟัดกระเฟียด แต่ถ้าโกรธระดับร้องไห้ เหมือนจะคล้ายๆ กับคนสติแตก ที่อะไรๆ มันพัง ทำนบพัง แล้วน้ำพร้อมทะลักทลายออกมา

พอเห็นความต่างไปเรื่อยๆ ว่า โทสะเหมือนกัน แต่ต่างระดับกัน ก็จะเริ่มเห็นว่า อ๋อ จิตนี่ถูกปรุงแต่งไปได้ต่างระดับกัน ตอนที่เราเริ่มมีสติเห็นว่า อันนี้เป็นโทสะอย่างแรง คุณจะรู้สึกคล้ายกับว่า ตัวเองถอยออกมาเป็นอีกตัวหนึ่งที่ว่างๆ ที่ไม่มีโทสะ แต่เห็นตัวที่มีโทสะเป็น foreground อยู่ข้างหน้า ตัวที่ไม่มีโทสะ แยกออกไปต่างหาก เป็น background แต่อันนี้ไม่ใช่ให้จำ แล้วไปพยายามให้เกิดขึ้นนะ

วิธีทำตามลำดับคือ ต้องสังเกตให้ออกว่า โทสะที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนี่ แรงหรือว่าเบา ถ้ามันเบา แค่หงุดหงิด ถ้ามันแรง ร้องไห้ นี่สังเกตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่าโทสะนี่ ไม่เท่าเดิม ตามเหตุปัจจัย สติถึงจะเกิด

แล้วเวลาที่สติเกิดนี่ อันนี้ผมพูดถึงผลลัพท์นะ  ผลลัพท์ก็คือเหมือนกับแยกออกมาดูเป็นต่างหากนะครับ!
_________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญสติขณะมีปากเสียงได้ไหม?
วันที่ 23 พ.ค. 2563
คำถามเต็ม : เวลาโกรธ ชอบร้องไห้ ทำอย่างไรได้บ้าง ไม่อยากร้องไห้ค่ะ?
ถอดความ / เรียบเรียง : เอ้
ชมคลิปที่ : https://www.youtube.com/watch?v=bbCHyXOoroc

** IG **


ระหว่างเดินจงกรมเกิดรู้สึกเท้าเบาเหมือนเดินไปโดยอัตโนมัติ และไปรู้สึกเหมือนเสียงตุ๊บๆในตัวเองแทน คืออะไรคะ ผิดหรือถูก?


ดังตฤณ :  อันนี้เรียกว่าสติเป็นอัตโนมัตินะครับ แล้วก็เริ่มเกิดปีติกายเบาจิตเบา “ตุ๊บๆ” นี่คุณอาจจะพูดถึงเสียงหัวใจก็ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ เวลาที่จิตมันเริ่มเงียบลงมักจะได้ยินเสียงหัวใจของตัวเอง

หรือ “ตุ๊บๆ” นี่ไม่รู้หมายถึง เท้ากระทบหรือเปล่านะ ไม่แน่ใจ แต่เอาเป็นว่า ถ้ามันมีความเบาเกิดขึ้น แล้วมีความตื่นเต้น มันก็มักจะได้ยินเสียงหัวใจตุ๊บๆแบบนี้แหละ

แต่ถ้าหากว่า มีความเบาแล้วใจเงียบ ใจมีแต่ความนุ่มนวล มีแต่ความสว่าง มีแต่ความใส อย่างนี้ให้ดูว่าใจของเรา ณ ขณะนั้นกำลังเป็นสมาธิอยู่ระดับนึง เป็นสมาธิในแบบที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดความเบา เบาทั้งกาย เบาทั้งใจ คือเริ่มจากเบาที่ใจก่อน แล้วมาปรุงแต่งให้ร่างกายพลอยเบาตามไปด้วย ให้ดูไปว่าความเบานั้น อยู่ได้นานแค่ไหน อยู่ได้นานกี่รอบกว่าที่มันจะเริ่มไม่เบา นั่นจะเป็นการเห็นความไม่เที่ยงของความเบาแบบหยาบๆแล้วนะครับ

ทีนี้ถ้าหากว่า เราเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วเกิดสัญชาตญาณรู้ขึ้นมาเองว่า อ้อความเบาเนี่ยมันมีหลายระดับ เบาแบบที่ไม่รู้สึกถึงเท้า ทุกอย่างเดินไปอัตโนมัติ ราวกับว่ามีหุ่นยนต์เดินให้ดู แล้วเราเป็นจิตวิญญาณที่เข้ามาอาศัยในโพรงว่างของร่างกายนี้ โดยไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้มีความเป็นรูปร่าง ไม่ได้มีความหุ่นยนต์ตัวนี้ตามไปด้วย เป็นแค่ผู้รู้ ผู้ดู ผู้เข้ามาอยู่อาศัยเฉยๆชั่วคราว เนี่ยถ้าเห็นได้อย่างนี้เรียกว่า เออเนี่ยเราเข้ามาถึงจิตผู้รู้แล้ว

แล้วก็ดูว่าจิตผู้รู้นั้นเนี่ย มันจะรู้อะไรต่อ พอจิตผู้รู้เกิดขึ้น มีแต่ความว่างจากความรู้สึกในตัวตนนะครับ เวลามันรู้มันเห็นอะไรขึ้นมา มันจะรู้ว่าสิ่งนั้นมาปรากฏให้ดูแป๊บนึงแล้วก็หายไป ถึงแม้ว่าสิ่งที่บอกว่าแป๊บนึงนั้นจะอยู่เป็นชั่วโมงๆ สามชั่วโมง สี่ชั่วโมง ก็ถือว่ารู้ความเป็นสภาวะชั่วคราวเหมือนๆกันได้ เพราะอะไร เพราะจิตมันจะไม่ยอมโง่เหมือนเมื่อก่อน

แต่ก่อนตอนที่มีโมหะห่อหุ้มหนาแน่นเนี่ย มันจะมีความรู้สึกว่า เนี่ยของเราแน่ๆ ของเราชัดๆ ทั้งๆที่ได้มาแค่แป๊บเดียว มาอยู่กับเราแป๊บเดียว อย่างเช่นความทุกข์เนี่ยเราไม่มีทางพ้นออกจากความทุกข์นี่ได้ ทั้งๆที่มันมีความอึดอัดอยู่แค่นาทีสองนาที

หรือมีความสุขล้นเหลือ ก็อยากจะยื้อไว้ให้ความสุขนี้มันอยู่กับเราตลอดชีวิต อันนี้เป็นความโง่ความหลงของจิต

แต่ถ้าหากว่า จิตเริ่มมีปัญญา เริ่มฉลาดเนี่ย เริ่มนับจากมีความเบา นับเริ่มจากการตัวผู้รู้เริ่มชัดเจนขึ้นมานะครับ เห็นว่าต่อให้เดินจงกรมแล้วมีสุขล้นหลาม สุขไปเลยนะครับ ปล่อยให้มันสุขไปเลยสามชั่วโมง สี่ชั่วโมง แล้วดูตอนที่มันเคลื่อนจากความสุขแบบเดิมๆ จะเคลื่อนในแบบที่ปีติมากขึ้น หรือว่าปีติน้อยลงก็ตามเนี่ย ให้เห็นตอนนั้นน่ะว่า สติของเราสามารถเท่าทันได้มั้ย ตอนที่มันเคลื่อนจากความเป็นภาวะเดิมให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง

ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นขาขึ้นขาลงของภาวะที่กำลังปรากฏอยู่ได้ นั่นเรียกว่า จิตผู้รู้มีกำลังเต็มที่แล้ว

ก็ดูพูดง่ายๆว่า เห็นโดยความเป็น .. พอมันเริ่มเดินเป็นอัตโนมัตินะครับ แล้วก็เท้าหายไป หรือมีความเย็น ความใส ความนุ่มนวลอะไรก็แล้วแต่ปรากฏขึ้นมา ให้มองว่าจิตผู้รู้ของเราเนี่ย รู้ไปแบบเป็นธรรมชาติตามปกติ หรือว่ารู้แบบมีอาการเร่ง มีอาการอยากครอบครอง มีอาการที่อยากได้มรรคผลอะไรต่างๆนะครับ รู้ไป นี่ตัวนี้แหละมันก็กลายเป็น .. ในที่สุดแล้วเนี่ย มันจะพัฒนาขึ้นเป็นผู้รู้ที่เข้มแข็ง แล้วก็เห็นอะไรๆที่ผ่านมาแล้วผ่านไปโดยความเป็นของชั่วคราว ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมดนะครับ

---------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         ระหว่างเดินจงกรมเกิดรู้สึกเท้าเบาเหมือนเดินไปโดยอัตโนมัติ 
                              และไปรู้สึกเหมือนเสียงตุ๊บๆในตัวเองแทน คืออะไรคะ ผิดหรือถูก?
ระยะเวลาคลิป           ๕.๒๓ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=Q6eKuj42wWU&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=1

ถ้าหวังมรรคผลนิพพาน ต้องเจริญสติระหว่างวันเยอะประมาณไหนคะ?


ดังตฤณ :  เอาอย่างนี้ก่อนจุดเริ่มต้นเนี่ย ให้ดูว่าเราเจริญสติมาถูกทางหรือเปล่า เพราะว่าถ้าเจริญสติมาถูกทางนะ ในสมัยพุทธกาลมียืนยันมากมายว่า บรรลุธรรมกันโครมครามเลย ทั้งๆที่ยังไม่ได้เพียรกันมากอะไรเท่าไหร่

อย่างโสดาปัตติผลเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ตรัสนะครับว่า เอาแค่มีศีลบริบูรณ์ แต่สมาธิกับปัญญาแค่พอประมาณ ก็ได้โสดาบันแล้วนะครับ

เพราะฉะนั้นเรื่องมุมมอง เรื่องตั้งสัมมาทิฏฐิที่จะดูกายใจนี่แหละพไรออริทิ (Priority) เลยความสำคัญอันดับหนึ่งเลยนะครับ ไม่ใช่เวลา ไม่ใช่จำนวนของเวลาที่เราจะใช้พากเพียรนะครับ

ขอให้สัมมาทิฏฐิมันเกิดขึ้น จิตมีความเข้าใจจริงๆว่า จะรู้จะเห็นอะไรยังไงเท่านั้นแหละ อันนี้แหละมันประกันได้จริงนะครับ

------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         ถ้าหวังมรรคผลนิพพาน ต้องเจริญสติระหว่างวันเยอะประมาณไหนคะ?
ระยะเวลาคลิป           ๑.๐๔ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=esZJRd0oZ5c&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4

** IG **

นั่งสมาธิแล้วคิ้วขมวดเอง ควรทำอย่างไรดี ดูกาย หรือ ดูลมหายใจ หรือ ดูคิ้ว?


ดังตฤณ :  เวลาที่ขมวดคิ้วนะครับ ถ้าเรามากังวลว่า จะดูที่ตรงไหนดี มันยิ่งขมวดหนักเข้าไปอีก เพราะว่ามีความปรุงแต่งทางจิตเป็นความกังวลขึ้นมาสะท้อนเข้าไป

เพราะฉะนั้นเวลาที่เกิดอาการขมวดคิ้วขึ้นมานะครับ ไม่ต้องไปดูอะไร คือก่อนอื่นเนี่ยไม่ต้องไปตั้งใจให้เกิดอะไรขึ้นมาแทนนะครับ

แต่ให้มองเห็นว่า ที่เรากำลังรู้สึกตัวว่ากำลังขมวดคิ้วอยู่เนี่ย เรากำลังหายใจอยู่สบายๆมั้ย หรือว่าหายใจแบบสั้นๆเครียดๆ

ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่า ณ จุดที่เรากำลังเห็นคิ้วขมวด เราหายใจสั้นก็ให้รู้ว่าหายใจสั้นแล้วคิ้วมันขมวด ทีนี้ถ้าหายใจด้วยท้องให้มันยาวๆ สบายๆ แล้วดูว่าอาการของคิ้วเนี่ยมันคลายลงมั้ย ถ้าคลายลงได้เราก็จำไว้ เออเนี่ยหายใจยาวแล้วคิ้วมันคลายลง

เนี่ยมีเหตุมีปัจจัยที่สมกันกับอาการคิ้วขมวด แล้วเราเห็นได้ อันนั้นแหละคือสตินะครับ แล้วสติที่มันเห็นคิ้วคลายออกไปได้บ้าง หรือว่ากลับมาขมวดใหม่ได้บ้าง โดยไม่มีความกังวลว่าจะต้องให้คิ้วมันคลายเสมอไป ตัวนี้แหละจะเป็นสติ ที่ทำให้ในที่สุดแล้วเนี่ย จิตมันคลี่คลายกลายเป็นสบาย แล้วก็ผ่อนคลายไปได้เองทั้งกายทั้งจิตนะครับ

---------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         นั่งสมาธิแล้วคิ้วขมวดเอง ควรทำอย่างไรดี ดูกาย? ดูลมหายใจ
                              ดูคิ้วหรืออย่างไรดีคะ?
ระยะเวลาคลิป            ๑.๔๕ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=zIVuC0n5O5c&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ถ้าทำบาปมาเยอะจนไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้จนไม่เหลือกำลังใจใดๆมายึดเหนี่ยวได้แล้ว ในหัวคิดวนแต่อยากตาย ทำบาปต่อบุพการีนี่บาปหนักจริงๆ หนูรู้ตัวเองทำชั่วไว้เยอะ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี มันมืดไปหมดควรทำอย่างไรดีคะ แม้จะพยายามต่อสู้กับความคิดแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนหนีไม่พ้นเลยค่ะ?


ดังตฤณ :  เอาเป็นว่านะครับ ขอให้พิจารณาว่า บาปเนี่ยอันดับแรกจดไว้เลยนะครับ

(๑) ข้อแรก บาปที่ทำไปแล้วมันย้อนเวลากลับไปแก้ไม่ได้ อันนี้ทำไว้ในใจเป็นอันดับแรก ถ้าทำไว้ในใจอันดับแรกข้อนี้ แล้วเกิดความว้าวุ่น เกิดความรู้สึกทุกข์ทรมานใจว่า มันแย่มันย้อนกลับไปไม่ได้ เนี่ยไอ้นี่แหละที่เสียใจที่สุด

(๒) ก็ให้พิจารณาว่า ใจของเรา ณ ขณะนี้มันเป็นคนละพวกกับในอดีตที่ทำไปแล้ว ไม่ต้องย้อนเวลากลับไป เอาตอนนี้เลย ไอ้ที่เสียใจเนี่ย มันแปลว่าเป็นคนละพวกกันแล้ว มันเป็นตรงกันข้ามกันแล้ว พิจารณาอย่างนี้ก่อน คือถ้ามันยังเป็นข้างเดียวกันอยู่ ยังเป็นพวกเดียวกันอยู่ มันต้องไม่รู้สึกเสียใจ ต้องไม่รู้สึกอะไรเลยนะครับ ยังรู้สึกว่าฉันเก่ง ฉันทะนงได้ ฉันเจ๋ง ฉันไม่กลัวเหมือนเดิม ฉันไม่กลัวบาป ไม่กลัวกรรม ไม่เชื่อหรอกว่ามีผลอะไรต่อมิอะไรต่างๆที่มันรออยู่ แต่ตอนนี้เราเป็นคนละพวกกัน วัดได้จากความรู้สึกเสียใจ ความละอายต่อบาป เมื่อตระหนักว่า จิตมันเป็นคนละพวกกันแล้ว เราก็มาพิจารณาเริ่มเขยิบขึ้นมา

(๓) ข้อสามนะครับ นี่บอกสอนให้เป็นขั้นๆเลยนะครับ พอเรารู้สึกว่า ตัวตนเนี่ยเป็นคนละพวกกันแล้วกับเมื่ออดีต ก็ให้พิจารณาต่อข้อสามว่า ตัวของเราที่มันเป็นคนละพวกคืออะไรนะครับ ตัวที่เป็นตัวจริงๆเนี่ยก็คือจิต เมื่อก่อนตอนที่ยังทำบาปอยู่เนี่ย จิตมันเป็นอกุศล จิตมันดำมืด จิตที่มันดำมืดเนี่ยมันดับไปแล้ว เป็นคนละดวงกันแล้วกับจิตตอนนี้ จิตตอนนี้เนี่ยมันสว่างขึ้น มันรู้ดีรู้ชั่วมากขึ้น

จำไว้ว่าถ้ามีความละอายต่อบาป จำไว้ว่าถ้ามีความรู้สึกผิด จำไว้ว่าถ้าหากว่าเราเสียใจกับสิ่งที่ทำไป นั่นแหละตรงนั้นแหละ เป็นมโนสำนึกแบบมนุษย์ที่มีความสว่าง เมื่อพิจารณาว่าจิตขณะนี้สว่างขึ้น มีความเป็นกุศลมากขึ้น แต่ยังหม่นหมองอยู่ด้วยความปรุงแต่งเสียใจว่าฉันทำลงไปได้ยังไง ไอ้ตัวนี้แหละส่วนเกินของกุศล ให้พิจารณาว่า ความรู้สึกละอายต่อบาป ความรู้สึกเสียใจที่เคยทำอะไรผิดลงไป เป็นสัญญาณบอกว่า ความดี ความเป็นมนุษย์กลับมาสู่จิตวิญญาณของเราแล้ว ให้ดูแค่ตรงนั้น

ไอ้ความเสียใจที่เราเคยไปทำอะไรต่างๆผิดพลาดไปพลั้งไป แล้วไปด่าทอตัวเองต่างๆเนี่ย ไอ้นั่นคือส่วนเกิน พอเราพิจารณาอย่างนี้ได้ เราก็จะเห็นว่าไอ้ส่วนเกินนั้นน่ะ มันหายไปจากใจเราง่ายๆเลย หายไปเดี๋ยวนี้เลย เหลือแต่ความรู้สึกว่า เออไอ้ความเป็นมนุษย์ที่มันมีความละอายต่อบาปเนี่ย มันเป็นความสว่างอยู่ดีๆแล้ว เราไม่ต้องไปเพิ่มความหม่นหมองให้กับมันด้วยความรู้สึกผิดที่ตอกย้ำซ้ำเติมแบบไม่รู้จบ

(๔) ข้อสี่ ข้อสุดท้ายให้พิจารณาว่า จิตที่มันมีความสว่างแบบมนุษย์ จิตที่มีมโนสำนึกแบบมนุษย์เนี่ยนะครับ เราสามารถที่จะเอาไปต่อยอด เอาไปพัฒนาเป็นการเจริญสติ ซึ่งเป็นบุญขั้นสูงสุด เป็นศักยภาพที่แท้จริง อันเป็นที่สุดของมนุษย์

เราสามารถมองเห็นได้ว่า ความสว่างอันเกิดจากการละอายต่อบาป ณ ขณะนี้เนี่ย แป๊บนึงเดี๋ยวมันก็มีความหดหู่เศร้าหมองเคลื่อนกลับมาเกาะกุมอีก

เพราะว่าคนที่เศร้ามานานๆเนี่ยนะครับ เรื่องที่เศร้านั้นน่ะ มันจะคอยเคลื่อนกลับมาครอบงำ แล้วก็เกาะกุมหัวใจของเราอยู่ไม่ขาด อันนี้ให้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สังเกต พอเรานึกได้ ระลึกได้ขึ้นมาที มีสติขึ้นมาทีเห็นว่า เออเนี่ยมันจิตคนละดวงกันแล้ว ตอนนี้กับเมื่อก่อนเนี่ยไม่ใช่ตัวเดียวกัน มันเป็นคนละดวง ตอนนี้กำลังสว่างอยู่ดีๆ เราก็ดูเนี่ยเออตอนสว่างใจมันว่างๆจากบาป ใจมันว่างๆจากอกุศล ใจมันใสๆ สบายๆ

เสร็จแล้วแป๊บนึง อยู่ๆโดยไม่เชื้อเชิญ ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับเรื่องเดิมๆย้อนกลับมาอีก ดูอยู่อย่างนี้เนี่ย เรียกว่าเป็นการเจริญสติแล้ว เรียกว่าเป็นการกำลังทำบุญขั้นสูงสุดแล้ว โดยอาศัยบาปนั่นเองมาเป็นตัวตั้ง มาเป็นเครื่องมือในการเจริญสติ มาเป็นเครื่องมือในการทำบุญขั้นสูงสุด

ทำไมถึงเรียกว่าเป็นการทำบุญขั้นสูงสุด ก็เพราะว่าบุญแบบนี้เนี่ย พาเราออกจากสังสารวัฏได้ พ้นทุกข์อย่างถาวรได้ แล้วก็เป็นจุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าท่านสถาปนาพุทธศาสนาขึ้นมา ก็เพื่อสิ่งนี้เลย เพื่อที่จะมอบสิ่งนี้ให้ ท่านบอกเลยนะ นี่คือบุญขั้นสูงสุด

ฉะนั้น เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังเกิดความเศร้าโศกเสียใจ เหมือนกับเมฆหมอกดำๆเนี่ย มันเคลื่อนกลับมาห่อหุ้มหัวใจใหม่ แล้วเรารู้ได้ว่านี่มันกลับมาแล้ว เสร็จแล้วเราก็พิจารณาว่า มันกลับมาห่อหุ้มได้แป๊บนึง ถ้าเราพิจารณาว่า ตอนนี้จิตของเราเนี่ย เป็นผู้ละอายต่อบาปแล้ว ก็ไม่ต้องไป .. ไม่เห็นจะต้องไปเศร้าโศกเสียใจกับจิตคนละดวงที่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อในอดีต

อย่างนี้มันก็จะเป็นการมีสติเตือนตัวเอง ให้เกิดความสว่างขึ้นมาได้ทุกครั้ง แล้วก็เกิดสติเห็นได้ทุกครั้งเช่นกันว่า ความเศร้าโศกเสียใจที่เข้ามาครอบงำจิตใจของเราเนี่ย มันมาได้ครู่เดียวเท่าที่เรายังไม่มีสติ แต่เมื่อไหร่ที่เราเกิดสติขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นความมืดมันก็สลายตัวไป เนี่ยดูอย่างนี่ เรียกว่าเป็นการเจริญสติ เรียกว่าเป็นการทำบุญขั้นสูงสุด

ตกลงก็คือว่า บาปในอดีตที่ผ่านมา มันกลายเป็นบุญขั้นสูงสุดในปัจจุบันแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียใจอีก แล้วในทางปฏิบัติแบบโลกๆ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ อันนี้ไม่ทราบนะว่ายังอยู่รึเปล่า ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ ก็ไปพยายามทำให้พวกท่านมีความสุข

เหมือนกับเมื่อก่อนเนี่ย เราจะทำบาปอะไรเข้าไปก็แล้วแต่ ให้นึกว่าเป็นก้อนเกลือซักก้อนนึง เสร็จแล้วเราตั้งใจว่า จะทำให้พ่อแม่มีความสุข เหมือนกับเราเติมน้ำลงไป เติมลงไปได้แก้วนึง ความเค็มของเกลือมันก็ลดลงนิดนึง ยังเค็มปี๋อยู่

แต่ถ้าเติมลงไปได้หนึ่งถัง มันก็เริ่มเจือจางลง แล้วถ้าเติมลงไปได้หนึ่งโอ่ง ความสุขของพ่อแม่ที่เปรียบเหมือนมีปริมาณน้ำหนึ่งโอ่ง ที่ชนะความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจในครั้งอดีตที่เราเคยทำไม่ดีกับพวกท่าน เคยทำชั่วๆไว้เนี่ย มันกลายเป็นเกลือก้อนเล็กๆก้อนเดียว ทำให้ได้มากขนาดนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่สิ้นชีวิตนะครับ ตราบนั้นเรามีโอกาสที่จะละลายเกลือก้อนเดียวด้วยน้ำหนึ่งโอ่งเสมอนะครับ

----------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         ถ้าทำบาปมาเยอะจนไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้จนไม่เหลือ
                              กำลังใจใดๆมายึดเหนี่ยวได้แล้ว ในหัวคิดวนแต่อยากตาย 
                              ทำบาปต่อบุพการีนี่บาปหนักจริงๆ หนูรู้ตัวเองทำชั่วไว้เยอะ 
                              แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี  มันมืดไปหมดควรทำอย่างไรดีคะ 
                              แม้จะพยายามต่อสู้กับความคิดแล้ว แต่ก็ยังวนเวียนหนีไม่พ้นเลยค่ะ?
ระยะเวลาคลิป           ๙.๐๙  นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=kVl_7t1eojo&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6


** IG **

ตัวรู้ ๑ สติ ๑ สัมปชัญญะ ๑ อยากรู้ว่าทั้ง ๓ นี้ เหมือนและแตกต่างกัน อย่างไร?


ดังตฤณ :  ถ้าเราศึกษาจากมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนนะครับว่า

สัมปชัญญะ หมายถึง เริ่มต้นรู้ว่ากำลังขยับกระดิกจากอิริยาบถใหญ่เป็นอิริยาบถย่อยท่าไหน ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังนั่งอยู่ แล้วก็หยิบแก้วน้ำมา ถ้าเรายังรู้สึกถึงอิริยาบถนั่งอันเป็นหลักได้ แล้วก็รู้สึกถึงอาการยืดไปของระยางคือแขนนี้ แล้วก็ดึงเข้ามาดื่มน้ำได้ อันนี้เรียกว่าสัมปชัญญะแล้วโดยพุทธนิยามนะครับ

คือแล้วไม่ใช่จำเพาะเจาะจงมีแค่เรื่องการยืดแขนไปคว้าแก้วน้ำมาดื่มเฉยๆ ทุกอย่างที่เราสามารถรู้ได้ว่า อิริยาบถหลักมันแปรไปเป็นอิริยาบถย่อยอย่างไร โดยสติไม่ลืมไม่คลาดเคลื่อนไปจากอิริยาบถหลักด้วยนะครับ รู้ทั่วพร้อมอย่างนี้ ท่านนิยามว่า เริ่มมีสัมปชัญญะแล้วนะครับ อันนี้ตัวสัมปชัญญะ

ทีนี้มันแล้วแต่เราจะศึกษามาทางไหนด้วย อย่างบอกว่า เห็นกายใจโดยความเป็นโทษอย่างเนี้ย อาทีนวญาณ ผม(จำ)ไม่แน่ใจ .. อาทีนวญาณ หรือว่า อาทีวญาณเฉยๆนะ

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดๆก็คือว่า ท่านใช้คำๆนี้เนี่ยนะ เห็นกายใจโดยความเป็นโทษเนี่ย เริ่มต้นตั้งแต่เห็นอสุภกรรมฐานนะครับ เห็นในอสุภกรรมฐาน รู้สึกว่ากายนี้อัดแน่นไปด้วยของโสโครก อันนี้ท่านก็ให้พิจารณาว่า เราเริ่มเห็นโทษของความเป็นกายแล้วอะไรแบบนี้นะครับ มันขึ้นอยู่กับเราศึกษามาจากในพระไตรปิฎกโดยตรงด้วยรึเปล่านะครับ

ส่วนบอกว่าตัวสติ “สติ” คืออะไร “สติ” ก็คือความสามารถที่เราระลึกรู้ได้ตามจริงว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นเฉพาะหน้า

แล้วก็ความหมายของ “ตัวรู้” ก็คือการที่จิตเป็นสมาธิแบบหนึ่ง เป็นสมาธิแบบที่รู้แล้วว่า รูปกับนามเนี่ยแยกกัน รูปอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราเห็น ไม่ว่าจะนับตั้งแต่ลมหายใจ โครงกระดูก ความเป็นดิน น้ำ ไฟ ลมนี้ หรือตัวเป็นนามธรรม เรารู้สึกได้ เราจำได้ เราคิดได้ แบบนี้ก็เรียกเป็นต่างหากออกมาจากรูป ถ้าหากว่าเราแยกออกมาได้ว่า นี่รูปนี่นาม ตัวนี้โดยนิยามของพระป่าครูบาอาจารย์บ้านเราจะเรียกว่า เป็น “ตัวรู้” หรือ “ผู้รู้” นะครับ

“ผู้รู้” มีลักษณะเด่นคือ จะมีอุเบกขา รู้สึกอยู่เฉยๆ รู้แจ้ง รู้เห็น แล้วก็รู้จริงอยู่ โดยไม่เกิดความรู้สึกว่า มีตัวมีตนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เนี่ยตัวนี้แหละที่ท่านคัดแยกออกมา นิยามเป็นต่างหากว่า เป็น”จิตผู้รู้” หรือ “ตัวรู้” นะครับ

-------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         ตัวรู้ ๑ สติ ๑ สัมปชัญญะ ๑ อยากรู้ว่าทั้ง ๓ นี้ เหมือนและ
                              แตกต่างกัน อย่างไร?
ระยะเวลาคลิป            ๓.๔๘ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=a98x1EF8-ws&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=8

วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เคยฝึกแบบเวทนานุปัสสนา เห็นเวทนาเกิดขึ้นบนร่างกายเมื่อเกิดความคิด เมื่อจิตละเอียดขึ้นๆ มีความเห็นว่า ทุกอย่างคือแรงสั่นสะเทือน อันนี้เห็นถูกต้องไหมคะ?


ดังตฤณ :  คำนี้ถ้าใครฝึกของสำนักนี้มา จะทราบนะครับว่า พูดถึงแรงสะเทือน พูดถึงไฝบเรทชั่น(vibration)ของเวทนานะครับ

คืออย่ามาเอาถูกเอาผิดกันตรงนี้ ผมอยากพูดเป็นกลางๆว่า การเห็นเวทนาพระพุทธเจ้าท่านให้ดูว่า ขณะนี้กำลังมีความสุขเกิดขึ้น หรือมีความทุกข์เกิดขึ้น

อย่าไปจำว่า ความสุขคือการทุกข์น้อยลงอะไรแบบนี้ คือแบบนี้จำเป็นปรัชญาได้ แต่ว่าถ้าจะเอาแนวการปฏิบัติจริงๆเนี่ย เราต้องมีแยกขาวแยกดำชัดเจน มีสุขมีทุกข์นะครับ

ถ้าเกิดความรู้สึกว่าสบาย มีความโน้มเอียงที่จะกระตุ้นให้เกิดความปรุงแต่งทางจิตเป็นชอบใจ อย่างนี้เนี่ยเรียกว่าเป็นสุข

แต่ถ้ามันอึดอัด มันมีความระคาย มันมีความรู้สึกว่า แสบๆร้อนๆอะไรขึ้นมา แล้วก็กระตุ้นให้จิตมีความปรุงแต่งไปในทางที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจอันนี้เรียกว่าความทุกข์

ทีนี้อะไรๆเป็นแรงสั่นสะเทือนไปหมดเนี่ยนะ จิตละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้นเนี่ยนะครับ บอกว่าถูกหรือผิดเนี่ย มันไม่ใช่ไปตัดสินที่ตรงนั้น

ขอให้ดูคำตอบข้อก่อนที่ผมเพิ่งตอบไปนะครับ มันไม่ใช่อยู่ที่สภาวะที่มันปรากฏแจ่มชัด หรือมีความพิศดาร หรือมีความละเอียดประณีตแค่ไหน มันอยู่ที่ปฏิกิริยาทางใจที่มันโต้ตอบกับสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นน่ะอย่างไร

ถ้าโต้ตอบออกไปด้วยความรู้สึกว่า เรากำลังเห็น อย่างนี้เนี่ยไม่ใช่นะครับ คือแต่ถึงไม่ใช่มันก็ไม่ได้หมายความว่าผิดเสมอไป แต่ยังไม่ได้เห็นเป็นสภาวะธรรมด้วยสติที่บริสุทธิ์จริงๆเท่านั้นเอง

ถ้าเห็นด้วยสติที่บริสุทธิ์นะครับ จำไว้เลยนะครับปฏิกิริยาทางใจจะว่างจากความรู้สึกในตัวตน มีแต่ภาวะอะไรอย่างหนึ่งแสดงตัวปรากฏขึ้นมา แล้วภาวะนั้นก็หายไป ไม่เกี่ยวข้องกับตัวตน ไม่มีตัวตนอยู่ในนั้น สิ่งที่ล่วงไปแล้วไม่มีความเป็นเราอยู่ ไม่มีความเป็นบุคคล ไม่มีความเป็นเขา ไม่มีความเป็นชาย ไม่มีความเป็นหญิง มีแต่ความเป็นสภาวะอะไรอย่างหนึ่งที่ปรากฏตามจริง ตามลักษณะที่มันกระทบเรา แล้วรู้สึกขึ้นมาว่า ภาวะนั้นๆเป็นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีแรงสะเทือน อันนี้ใช้ศัพท์ตามที่คุณถามนะครับ ถ้ามีแรงสั่นสะเทือนทางจิตเป็นความพอใจ อันนี้เรียกว่า ความพอใจนั้นเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่งที่ตามหลังมาจากสุขเวทนานะครับ

เราเห็นทั้งตัวสังขารขันธ์ แล้วก็ตัวสุขเวทนานั้น โดยความเป็นภาวะที่ไม่มีตัวตน ของผู้มีความสุข หรือตัวตนของผู้มีความพอใจอยู่รึเปล่า ถ้าหากว่ามันไม่มีตัวตน มันมีแต่สภาวะสุข มันมีแต่สภาวะพอใจผ่านมาแล้วผ่านไปตามเหตุตามปัจจัย นี่ตัวนี้แหละที่เป็นการเห็นอย่างถูกต้อง

ไม่ว่าคุณจะไปทำตามวิธีการ หรือสำนักไหนก็ตามนะครับ อุบายไหนก็ตาม ถ้าหากว่าใจของเราเห็นสักแต่เป็นภาวะ ไม่มีตัวเราเป็นเจ้าของภาวะ ตรงนี้ถูกเสมอนะครับ

-----------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         เคยฝึกแบบเวทนานุปัสสนา เห็นเวทนาเกิดขึ้นบนร่างกาย
                             เมื่อเกิดความคิด เมื่อจิตละเอียดขึ้นๆ มีความเห็นว่า 
                             ทุกอย่างคือแรงสั่นสะเทือน อันนี้เห็นถูกต้องไหมคะ?
ระยะเวลาคลิป            ๔.๔๑ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=dCAeF0hia5Q&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=11

เวลานั่งสมาธิเมื่อจิตนิ่งอยู่ แล้วมีเสียงดังเกิดขึ้น จะเห็นร่างกายสะเทือนแรง แต่จิตจะรู้เฉยๆ ไม่ได้ตกใจเลย แบบนี้เรียกว่าเห็นสภาวะใช่ไหมคะ การปฏิบัติถูกต้องไหมคะ และต้องทำอย่างไรต่อไปคะ?


ดังตฤณ :  อันนี้เดี๋ยวชี้เป็นตัวภาวะก่อนนะ ตอนที่เราร่างกายกระตุกนั้น มันเป็นการทำงานของแก้วหู หรือโสตประสาทนะครับ แล้วพอสมองเหมือนกับถูกกระชากด้วยโสตประสาท ด้วยการสะเทือนของโสตประสาทอย่างรุนแรง การที่ร่างกายกระตุก ก็ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกนะครับ

แต่ทีนี้บอกว่า ใจรู้สึกเฉยๆ อันนี้เป็นอาการอุเบกขาของจิตนะครับ ทีนี้ถ้าตัวอุเบกขาของจิตมันมีความแข็งแรงจนกระทั่งใหญ่เกินระบบประสาทของกายเนี่ย แม้แต่อาการสะดุ้งไหวก็ไม่เกิดขึ้น

อันนี้ระบบประสาททางกาย ยังอยู่เหนืออุเบกขาอยู่อุเบกทางจิตอยู่ มันก็เลยมีอาการกระตุกขึ้นมา อันนี้รู้ๆตรงนี้ก่อนแยกตรงนี้ก่อน

ทีนี้คำถามจริงๆตัวพอยท์บอกว่า แบบนี้เรียกว่าเห็นสภาวะใช่มั้ย คือจะให้ตัดสินว่า ตรงนี้เรียกว่าเห็นสภาวะแล้วรึยัง การปฏิบัติมาถูกต้องรึเปล่า การปฏฺบัติถูกต้องเสมอ ถ้าเรารู้ตามจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าการรู้ตามจริงแบบยอมรับว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นนั่นแหละ คือตัวภาวะของสติที่บริสุทธิ์

แต่ถ้ารู้ตามอยาก พอไม่ได้อย่างใจแล้วยื้อ พอไม่ได้อย่างใจแล้วผลักไส แบบนี้เรียกว่าไม่ใช่สติ เป็นเป็นกิเลส นี่เอาตัวนี้ก่อนนะครับเอาเป็นข้อๆ

ทีนี้มาชี้ขั้นสุดท้ายที่ถามว่า อย่างนี้เรียกว่าเห็นสภาวะรึเปล่า พูดง่ายๆว่าเป็นการเห็นสภาวะธรรมแล้วหรือยัง ตัวการเห็นสภาวะธรรมจำไว้เลยนะครับ มันอยู่ที่ปัญญาที่ประกอบจิต

ลักษณะของปัญญาแบบพุทธหรือ พุทธิปัญญาที่ประกอบจิต เมื่อเราเห็นสภาวะด้วยสติที่บริสุทธิ์จริงๆเนี่ย สภาวะนั้นจะให้ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่เกี่ยวกับเรา เป็นแค่อาการหนึ่งของกาย เป็นแค่อาการหนึ่งของจิตที่แสดงออกมา โดยไม่มีผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ไม่มีตัวตนบุคคลผู้ที่ไปรับผลเสียผลร้าย ไม่มีผู้ที่เข้าไปยินดียินร้าย เนี่ยอย่างอันนี้เนี่ยถ้าหากว่า เกิดความตกใจ จิตเป็นอุเบกขาเห็นความตกใจนั้น เห็นจริงแต่มีข้อสงสัยถามตัวเองขึ้นมาทันทีว่า เอ๊ะเมื่อกี้นี้เราเห็นสภาวะ เห็นสภาวะธรรมอยู่ใช่มั้ย เนี่ยตัวนี้มีตัวตนแล้ว

แต่ถ้าหากว่า จิตมีความเป็นอัตโนมัติ เป็นอัตโนมัติที่จะรู้สึกว่าเฉยๆ เห็นว่าเมื่อกี้มีภาวะอะไรอย่างหนึ่งทางกายปรากฏขึ้น กระตุกเฮือกอย่างนี้นะ อันเกิดจากการได้รับกระทบมาทางโสตประสาท แล้วไม่มีความยินดียินร้ายอะไรทั้งสิ้น จิตรู้อยู่เฉยๆ ไม่เกิดความรู้สึกว่ามีตัวตนผู้รู้ภาวะผัสสะกระทบด้วยซ้ำ มีแต่การรู้ว่า ภาวะอะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น แล้วภาวะนั้นก็ผ่านไป ตัวนี้แหละที่เป็นสติบริสุทธิ์ ตัวนี้แหละที่เป็นการเห็นสภาวะจริง

ย้ำอีกครั้งนะครับ ตัวตัดสินว่าเราได้เห็นสภาวะธรรมจริงๆเนี่ย ไม่ได้อยู่ที่ว่าความชัดเจน ไม่ได้อยู่ที่ว่าผัสสะนั้นให้ความรู้สึกยังไง มีปฏิกิริยาทางกายโต้ตอบไปอย่างไร แต่อยู่ที่ปฏิกิริยาทางจิตว่า มันมีตัวตนขึ้นมารึเปล่า

ถ้าหากว่าจิตมีแต่ภาวะรู้อยู่เฉยๆว่า อะไรอย่างหนึ่งเกิดขึ้น อะไรอย่างนั้นผ่านไปหายไป ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่มีเราด้วยซ้ำที่จะไปเกี่ยวกับอะไร นี่ตัวนี้แหละที่เป็นตัววัดนะครับว่า จิตได้เกิดพุทธิปัญญา รู้สภาวะธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น สภาวะนั้นดับไปแล้วจริงๆ

-----------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         เวลานั่งสมาธิเมื่อจิตนิ่งอยู่ แล้วมีเสียงดังเกิดขึ้น จะเห็นร่างกาย
                             สะเทือนแรง แต่จิตจะรู้เฉยๆ ไม่ได้ตกใจเลย แบบนี้เรียกว่า
                             เห็นสภาวะใช่ไหมคะ การปฏิบัติถูกต้องไหมคะ และต้องทำอย่างไร
                             ต่อไปคะ?
ระยะเวลาคลิป           ๕.๐๕ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=7ycvJtPYBgA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=13