ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน
พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์สามทุ่ม
สำหรับคืนนี้ก็มาว่ากันเรื่องของสมาธินะครับ
ความต่างระหว่างสมาธิแบบแช่แข็งกับสมาธิแบบตื่นรู้มันต่างกันยังไง
แล้วผลและทิศทางมันจะมีความเหมือนหรือไม่เหมือนกันอย่างไร
ที่ผ่านมาหลายๆท่านได้อาศัยคลิปคลื่นปัญญา
ประกอบกับเสียงสติได้เห็นว่า การที่เรามีไกด์ไลน์
แล้วทำสมาธิไปพร้อมๆกับที่ได้รู้เห็นว่า เกิดอะไรขึ้นภายในขอบเขตกายใจนี้นะครับ
มันทำให้เวลามีสมาธิเนี่ย
เป็นสมาธิแบบที่รู้อะไรอย่างหนึ่ง แตกต่างจากตอนที่เรามานั่งงมเอาเอง
บางทีได้รับคำแนะนำว่า ให้หลับตาลงแล้วก็บริกรรมจะพุทโธ สัมมาอะระหัง
หรืออะไรก็แล้วแต่ เสร็จแล้วพอมันมีอาการดิ่ง มีอาการนิ่ง หรือมีอาการที่จิตเข้าสู่ภาวะที่มันแตกต่างจากตอนที่คิดๆนึกๆ
ก็มักจะนึกเอาว่า นี่คงได้สมาธิแล้ว
หรืออยากไปถามใครว่า
อาการแบบนี้เนี่ย มันได้ญาณหรือว่าได้ฌานขั้นไหน วันนี้เรามาแยกแยะเปรียบเทียบกัน
เพราะบางที่เนี่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่นานๆได้สมาธิทีเนี่ย
จะไม่สามารถบอกตัวเองถูกว่า ประสบการณ์แบบนั้นเนี่ย จะเอามาใช้ประโยชน์อะไรต่อได้
หรือว่าจะพัฒนาต่อยังไงได้นะครับ
ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะได้ก่อนว่า
ถ้าเป็นสมาธิในแบบแช่แข็ง เริ่มต้นขึ้นมาจะมีอาการจ้องทื่อๆ แล้วก็จิตจะเล็งคับแคบ
ยกตัวอย่างเช่น หลายคนถ้าดูลมหายใจ ก็จะดูไปที่ปลายจมูกในลักษณะที่จิตไม่รู้อะไรมากไปกว่าปลายจมูก
บางทีครูบาอาจารย์ที่สอน
ท่านสอนถูกนะครับในแบบของท่าน ในความเข้าใจของท่านคือ ท่านมีความรู้เนื้อรู้ตัว
แล้วก็ให้จิตเนี่ยรู้โฟกัสไปตรงปลายจมูก แต่คนส่วนใหญ่พอได้รับคำแนะนำว่า
สังเกตสัมผัสกระทบ ระหว่างลมกับปลายจมูก จะจี้จิตไปที่ตรงนั้นจุดเดียว แล้วก็เลยทำให้เวลารวมเนี่ย
มันรวมแบบคับแคบ เป็นก้อนแน่นๆ แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย นั่นน่ะอันนี้ที่เรียกว่า
เป็นสภาวะเบื้องต้นที่เราเรียกกันว่า “สมาธิแบบแช่แข็ง” นะครับ
ส่วนสมาธิแบบตื่นรู้
ขึ้นต้นมาถ้าทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำนะครับ เราเอาท่านั่งหลังตรงเป็นหลักตั้ง
คือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า นั่งสมาธิคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรงดำรงสติมั่น
นี่แหละตรงนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นนะครับ
ถ้าเราศึกษาพุทธพจน์แบบถือแต่ละคำเป็นทองคำหนึ่งก้อน
เราจะไม่ละเลยนะครับ และเราจะเห็นตรงนี้สำคัญมาก
แล้วพอเราได้เริ่มต้นจากการนั่งหลังตรงแบบสบายๆ แล้วมารู้ลมหายใจ
มันจะเป็นการรู้ที่มีความปลอดโปร่ง แล้วข้อที่สำคัญนะครับ
เราจะสามารถหายใจเริ่มจากท้องได้สบายๆ หายใจยาวเป็น แล้วก็สังเกตว่า
เมื่อไหร่มันสั้นลงนะครับ
ทีนี้พอจิตที่มันเริ่มด้วยการเปิดกว้าง
ไม่ใช่จี้ลงไปจำเพราะเจาะจงจุดคับแคบ พอเรามีลักษณะของการรู้กายนั่ง ท่านั่งหลังตรง
จิตมันก็เปิดกว้าง พอรวมลงเป็นสมาธิ มันก็รวมลงเป็นดวงรู้ ไม่มีโมหะหยาบๆห่อหุ้ม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ถ้าเราฝึกที่จะเริ่มต้นสังเกตลมโดยความเป็นของไม่เที่ยง บางทีก็ยาว บางทีก็สั้น
ถ้ายาวเราก็รู้อย่างยอมรับว่ามันยาว ถ้าสั้นเราก็ยอมรับว่ามันสั้น
คือไม่มีอาการยินดียินร้าย มีแต่อาการรู้ตามจริง
เนี่ยตัวนี้แหละที่พอมันรวมลงเป็นสมาธิในที่สุดแล้ว
มันก็จะรู้อะไรอย่างนึงที่กำลังปรากฏเด่นในขอบเขตของกายใจ ไม่ใช่รู้แบบทื่อๆ
คือแบบไม่รู้อะไรเลย รวมลงเฉยๆนะครับ บอกว่าเป็นสมาธิก็นึกว่าเก่งแล้ว
แต่ถ้าหากว่า
เอาแบบที่พระพุทธเจ้าสอนนะครับ พอจิตรวมลง แล้วก็มีอาการตื่นรู้ มันจะรู้เลยว่า ณ
ขณะนั้นกำลังเห็นอะไรปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง หรือของไม่ใช่ตัวตนอยู่
ถึงแม้ว่าเริ่มต้นขึ้นมา
เบื้องต้นอาจจะไม่ได้รู้ชัดว่า นี่ไม่ใช่ของๆเรา ไอ้นี้ไม่ใช่ตัวตน
แต่อย่างน้อยที่สุด มันจะมีอาการเปรียบเทียบได้โดยการยอมรับตามจริง อันนี้สำคัญ
อันนี้คือคีย์ คือการมีสติ หมายถึง การสามารถยอมรับตามจริงได้ว่า
กำลังปรากฏอะไรอยู่ต่อหน้าต่อตา แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏนั้น
มันแสดงความไม่เหมือนเดิมไปได้เมื่อไหร่
ในขณะที่ตอนที่จิตมันแช่แข็ง
มันจะไม่รู้อะไรเลย ไม่ยอมรับอะไรทั้งสิ้นนะครับ แล้วก็พอออกจากสมาธิแบบนั้นมา
ก็จะพยายามบังคับ พยายามยื้อๆไว้จะเอาของดีๆนั้นไว้เป็นของตัวเอง
เป็นสมบัติของตัวเอง นี่ตรงนี้ที่มันเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญกับสมาธิแบบพุทธ
สมาธิแบบพุทธจะไม่หวงนะครับ
พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยนะครับว่า แม้กระทั่งจิตเคลื่อนออกจากสมาธิก็ให้มีสติรู้ว่า
ตอนนี้เคลื่อนออกจากสมาธิแล้ว จะได้ไม่มีอาการเสียดาย มีแต่ปัญญารู้ว่า
สภาวะของสมาธิจิตเนี่ย ก็เป็นแค่ภาวะชั่วคราวอย่างนึง ในที่สุดก็ต้องเคลื่อน
แล้วพอทำสมาธิ
ถ้าเป็นสมาธิแบบแช่แข็งแบบไม่รู้อะไรเลย กับสมาธิแบบรู้ตื่น
ผลเนี่ยมันชัดเจนนะครับพอลืมตาตื่นขึ้นมา ยิ่งได้สมาธิบ่อยมากขึ้นเท่าไหร่
จะยิ่งเห็นเลย ถ้าเป็นสมาธิแบบแช่แข็ง มันจะยิ่งมีความหลงตัวมากขึ้น
คือมีความรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเนี่ย ตัวใหญ่ขึ้น มีอัตตาที่พองขึ้น เพราะจิตมันใหญ่ขึ้นได้จริงๆ
ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตแบบแช่แข็งนะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาธิแบบที่มันฟรีซ (Freeze) มันเอาไปใช้การอะไรไม่ได้ แต่สภาวะจิตแบบนั้น มันก็สร้างความรู้สึกแตกต่างได้
ทำให้รู้สึกว่าเหนือกว่าคนอื่นได้ อันนี้มันก็เลยกลายเป็น สมาธิแบบเสริมส่งให้เกิดความหลงตัวขึ้นมา
หรือมีอัตตาตัวตนที่โตขึ้น
ในขณะที่สมาธิแบบตื่นรู้
มันจะอยากทิ้งตัวทิ้งตน มันจะเบาลงจากกิเลส เพราะรู้สึกว่าที่นึกว่ามันเป็นตัวเรา
ที่นึกว่ามันเป็นตัวตนที่น่าภูมิอกภูมิใจ จริงๆแล้วมันเป็นแค่ภาวะชั่วคราว
ปรากฏเดี๋ยวนึงแล้วมันก็ค่อยๆคลี่คลายกลายเป็นอื่นนะครับ
สมาธิที่เข้าไปรู้ความจริงตรงนี้เรื่อยๆบ่อยๆ
มันจะมองไม่เห็นนะครับว่า จะเอาภูมิใจไปให้ใคร จะเอาไอ้ตัวตนใหญ่ๆเบิ้มๆ
ถึงแม้ว่าจิตจะใหญ่นะครับ แต่ก็ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเราใหญ่
มีแต่ภาวะที่มันใหญ่ขึ้นแป๊บนึง ขยายขึ้นแป๊บนึง ไม่ต่างจากฟองสบู่ที่มันขยายไป มันไม่เห็นจะน่าดีใจอะไร
เดี๋ยวมันก็ยุบตัวหรือแตกไป
ทั้งสมาธิแบบแช่แข็ง
แล้วก็สมาธิแบบตื่นรู้นะครับ สามารถที่จะเสื่อมลงตกกลับลงมาเป็นภาวะจิตนึกคิดธรรมดา
ฟุ้งซ่านมีกิเลสเหมือนๆกัน แต่คนที่ผ่านสมาธิแบบตื่นรู้มา
มันจะมีกิเลสที่เบาบางกว่า มีอาการยั้งๆมากกว่า เวลาที่จะทำอะไรผิด
หรือว่าเกิดอารมณ์เกิดของขึ้นๆมานะครับ เพราะว่า จิตที่มันเคยตื่นรู้แล้วเนี่ยนะครับ
รู้แล้วว่า .. เริ่มระแคะระคายว่า กายใจนี้มันไม่ใช่ตัวตน
มันจะไม่ยอมให้กิเลสเกาะกุมแน่นเหนียวเหมือนแต่ก่อน
-------------------------------------
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์ ๙
พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน (เกริ่นนำ)
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สมาธิแช่แข็ง VS สมาธิตื่นรู้
ระยะเวลาคลิป ๑๐.๓๙ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=hJVgJnB4bo0&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=25
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น