วันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เดินจงกรมแล้วมีความคิดผุดขึ้น ทำให้การสังเกตฝ่าเท้าไม่ต่อเนื่อง ควรสังเกตความไม่เที่ยงของความคิด หรือไม่ต้องสนใจความคิดนั้น แล้วกลับมาทำความรู้สึกที่ฝ่าเท้าเลยทันที?


ดังตฤณ :  มีสองแบบ ขอให้ท่องไว้แม่นๆว่า ที่เรานั่งสมาธิ ทำอานาปานสติ หรือว่าเดินจงกรมก็แล้วแต่ เราต้องการให้จิตมันเห็นความไม่เที่ยง หรือเห็นความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์สมาธิ

ทีนี้เราก็ต้องพิจารณาว่า ณ ขณะนั้นเนี่ย จิตมีความพร้อมที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏโดยความเป็นอะไร ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่มันกำลังจะพร่าเลือนมองไม่ชัดจิตยังไม่โฟกัส

ถ้าหากว่าจิตยังไม่โฟกัสดีนะครับ ตอนนั้นแสดงว่า ความฟุ้งซ่านมีกลุ่มก้อนหนาแน่น เราต้องเอาชนะความฟุ้งซ่านก่อน

ยกตัวอย่างในคำถามนี้ ถ้าเราเดินจงกรมแล้วเกิดความคิดขึ้นมา เราจะดูอะไรระหว่างฝ่าเท้ากระทบกับดูความคิดโดยความเป็นของไม่เที่ยง คำตอบคือ ถ้าความฟุ้งซ่านมันยังเกาะกลุ่มหนาแน่นนะครับ ให้กลับมาดูที่ฝ่าเท้ากระทบ เพื่อที่จะแย่งพื้นที่ความฟุ้งซ่านให้ได้ก่อน จิตมันยังไม่พร้อมที่จะเห็นความไม่เที่ยงหรอก จิตยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะแยกออกไปเป็นผู้รู้ว่า ความฟุ้งซ่านมันเป็นแค่ภาวะความไม่เที่ยงอย่างนึงนะ

เราต้องเอาความสงบให้ได้ก่อน พูดง่ายๆเอาสมถะให้แข็งแรงก่อน อย่างเดินๆๆๆไปรู้สึกถึงเท้ากระทบ แปะๆๆๆไปเนี่ย แล้วมีความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นมาหนาแน่นเลยนะครับ แล้วก็เราดูความฟุ้งซ่านนั้นไม่ออก เราก็กลับมาซอยเท้าเร็วขึ้น เดินเร็วขึ้น เพื่อให้ผัสสะกระทบมันมาแย่งพื้นที่

แล้วถ้าหากว่า เรารู้แบบไม่เร่ง รู้เท้ากระทบแบบไม่เร่งไม่เหมือนกับรีบร้อนนะครับ เราก็จะรู้สึกว่าเท้ากระทบที่มันกระทบไปแปะๆๆนั้นเนี่ย มันกลับมาชัดขึ้น

แต่ถ้าเราเร่งร้อนนะ อาการเร่งร้อนมันจะชัดแทนเท้า ลองสังเกตตรงนี้ดีๆนะครับ ถ้าเราใจร้อนแล้วก็อยากรู้เท้ากระทบ แทนที่ทำให้ความฟุ้งซ่านมันหายไปทันที มันจะกลายเป็นความรู้สึกว่ามันมีอาการแข็งๆทื่อๆแปลกๆ นั่นแหละตัวนี้แหละที่เกิดขึ้นจากการที่เราเผลอไปเร่งร้อนใจร้อนที่จะรู้เท้ากระทบ

ทีนี้ถ้าเรารู้เท้ากระทบได้พอดี มันจะมีความรู้สึกว่าใจเนี่ย มันเร่งๆขึ้นมาแป๊บนึง แล้วสงบลงได้ กายเนี่ยมันอาจจะแข็งๆเกร็งๆขึ้นมา แล้วก็อ่อนผ่อนคลายลง กล้ามเนื้อผ่อนคลายลง นี่คือจุดสังเกต

พอเรารู้สึกถึงเท้ากระทบได้นานพอ มันจะมีความรู้สึกทรงๆตัว นิ่ง แล้วก็เห็นออกมาจากข้างใน คือมันเริ่มเกิดนิมิตขึ้นมาจากใจที่นิ่ง เห็นเป็นกายเนี่ย ที่กำลังก้าวเดินกระทบๆๆอยู่ เห็นจากข้างใน ไม่ใช่เห็นจากสายตาภายนอก

พอเราเริ่มรู้สึกว่า ใจมันว่างกว่าเดิม ความฟุ้งซ่านมันเบาบางลงกว่าเดิม อันนี้แหละที่เริ่มพร้อมที่จะเห็นความฟุ้งซ่านในขณะเดินจงกรมนะครับ

กล่าวคือ เมื่อใจเรานิ่งอยู่กับเท้ากระทบเป็นหลัก แปะๆๆๆไป ใจไม่เคลื่อนไปไหน อยู่ไปได้ตั้งสองรอบ สามรอบ หรือเป็นสิบรอบ ยี่สิบรอบ ใจเนี่ยไม่เคลื่อนเลย มีแต่ความเบา มีแต่ความนิ่ง มีแต่ความสงบนะครับ รู้สึกถึงเท้ากระทบที่อ่อนสลวย ไม่มีความแข็ง ไม่มีความเกร็งกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง ใจแบบนั้นแหละ ที่เริ่มมีความพร้อมมากพอ ที่จะไปรู้ความฟุ้งซ่านโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้

กล่าวคือ พอมีสักรอบหนึ่งใจเรามันเริ่มเคลื่อน มันจะรู้สึกไงว่าเคลื่อนจากโฟกัสที่มันนิ่มๆนวลๆสบายๆรู้สึกถึงเท้ากระทบอย่างอ่อนสลวยไปเนี่ยนะครับ ใจมันเงียบๆ แล้วเสร็จแล้วมีอยู่รอบนึงที่มันเริ่มมีอะไรผุดขึ้นมา เป็นความฟุ้ง เป็นความกระจาย เป็นความรู้สึกว่า อยากจะแล่นออกไปข้างนอก อยากจะออกไปหาอาหารอันโอชะของจิต นั่นคือเรื่องราวที่เกี่ยวกับกามคุณ ๕ หรือว่าความบันเทิงที่เราติดใจตรึงใจ

พอเรารู้สึกแวบขึ้นมา ณ ขณะที่ใจกำลังว่าง ใจกำลังใหญ่ ใจกำลังมีกำลัง ความฟุ้งซ่านตรงนั้นจะเป็นเหมือนกับเศษผงที่ปลิวเข้ามาให้รู้นะว่า เนี่ยมันเกิดขึ้น ณ ขณะก้าวกระทบก้าวไหน ก้าวกระทบก้าวนั้น มันจะเลือนๆพร่าๆไป กลายเป็นความฟุ้งซ่านในหัวขึ้นมาแทน เหมือนกับตอนแรกเนี่ย เราอยู่ในหุ่น อยู่ในโพรงอะไรว่างๆใสๆ เสร็จแล้วมีภาวะขุ่นๆอะไรผุดขึ้นมาแทน พอรู้ได้อย่างที่มีสมาธิ มีจิตที่อ่อนโยนเป็นพื้นฐานเนี่ย ไอ้ฝุ่นฟุ้งที่มันผุดพรายขึ้นมา มันจะกลายเป็นแค่ของชั่วคราว ที่ผุดขึ้นมาแล้วไม่ติดจิต ไม่ย้อมจิต ไม่ครอบงำจิต มันจะอยู่แป๊บนึงแล้วหายไปให้ดู เสร็จเท้ากระทบที่มันยังเป็นศูนย์กลางสติอยู่มันก็ไม่หายไปไหน แต่มันจะกลับชัดขึ้น นี่คือสิ่งที่มันจะเป็นไปแบบเป็นขั้นเป็นตอน

เพราะฉะนั้น คำตอบนะครับ ถามตัวเองว่า ณ ขณะนั้นความฟุ้งซ่านหนาแน่นจนกระทั่งเราไม่สามารถรับรู้เท้ากระทบได้ง่ายๆรึเปล่า ถ้าหากว่าความฟุ้งซ่านหนาแน่น เราต้องเอามันลงให้ได้ก่อนนะครับ แล้ววิธีเอามันลง ไม่ใช่ไปเร่งรัดให้ได้ภายในนาทีเดียว อาจจะหมายถึงการที่เราค่อยๆรู้ไปเรื่อยๆ รู้เท้ากระทบไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เร่งร้อนนะครับ จนกระทั่งเห็นว่า การกระทบที่มันเกิดขึ้นถี่ๆ มันมาแย่งพื้นที่ความฟุ้งซ่านได้เอง ความฟุ้งซ่านเบาบางลงแล้ว เราถึงมาพิจารณาความไม่เที่ยงของความฟุ้งซ่านนะครับ

---------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         เดินจงกรมแล้วมีความคิดผุดขึ้น ทำให้การสังเกตฝ่าเท้าไม่ต่อเนื่อง 
                              ควรสังเกตความไม่เที่ยงของความคิด หรือไม่ต้องสนใจความคิดนั้น 
                              แล้วกลับมาทำความรู้สึกที่ฝ่าเท้าเลยทันที?
ระยะเวลาคลิป           ๗.๕๔ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=h0fPxxCSfIo&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=24

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น