วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ / เวลาสวดมนต์แล้วมองพระพุทธรูป แล้วรู้สึกสมาธิแกว่ง แต่ถ้าหากหลับตาสวดมนต์ จะรู้สึกถึงสมาธิ มีสติกับการสวดมนต์มากกว่า เป็นเพราะอะไรคะ?

 ดังตฤณ :  เอาล่ะสำหรับคืนนี้ น่าจะหมดช่วงของการถามตอบที่ตรงนี้นะครับ เราจะมาสวดมนต์กัน แล้วนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมก็จะนำพระพุทธรูปปางมารวิชัย เมื่อสัปดาห์ที่แล้วใครดูอยู่ก็น่าจะทราบนะครับ ผมนำมาแนะนำ

พระพุทธรูปองค์นี้เป็นฝีมือแกะสลักของ อาจารย์วุฒิกร น้อยเงิน ซึ่งท่านกำลังควบคุมงานก่อสร้างพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาให้กับมูลนิธิบูรณพุทธอยู่

สำหรับพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ ผมขอตั้งชื่อให้เป็น พระบูรณพุทธ นะครับ พระประจำมูลนิธิของเรา เนื่องจากว่าอาจารย์วุฒิกร ก็ได้บรรจงแกะสลักให้กับมูลนิธิเราโดยเฉพาะ ไม่ได้ให้คนใดคนหนึ่งนะครับ แล้วก็ที่ท่านเห็นอยู่ในขณะนี้ เป็นไม้นะครับ คือวัสดุที่ทำ ทำมาจากไม้ ซึ่งเป็นกิ่งไม้ที่ล่วงลงมาจากต้นโพธิ์ ต้นศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาประเทศอินเดีย

การจะมาแกะสลักออกมาให้ได้ความละเอียดประณีตขนาดนี้ ต้องใช้แรงใจอย่างมากของผู้เป็นปฏิมากร ฉะนั้น จึงมีพลังของผู้สร้างอยู่ในนี้ แล้วก็ตัวไม้ก็เป็นไม้ถือว่าศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวพุทธเรานะครับ เพราะว่าเป็นต้นโพธิ์ที่อยู่ ณ จุดตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็ถือว่าเป็นเกียรติ แล้วก็เป็นวาสนาร่วมกัน ระหว่างมูลนิธิเรากับอาจารย์วุฒิกรนะครับ ที่ได้สร้างแกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นมา เอาล่ะก็อธิบายที่มาที่ไปนะครับ

เดี๋ยวเราก็มาสวดมนต์ร่วมกัน เดี๋ยวจะใช้เทคโนโลยีทางเสียงมาช่วยให้สวดมนต์ได้อย่างมีสมาธิ สำหรับคนที่มาใหม่นะ ต้องอธิบายชี้แจงกันนิดนึง เราจะใช้เทคโนโลยีเสียง เพราะฉะนั้นต้องมีหูฟังนะครับ เข้าหูซ้ายและหูขวาอย่างถูกต้องนะ อาร์ (R)เข้าขวา  - แอล (L)เข้าซ้าย แล้วลองดูก็แล้วกันว่า เมื่อเราได้สวดมนต์อย่างมีสมาธิกับองค์พระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัววัสดุที่ทำมาจากไม้ ณ จุดที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วก็ด้วยความพยายามของผู้สร้างผู้เป็นปฏิมากรที่ได้แกะสลักออกมาอย่างสวยงามละเอียดประณีตแบบนี้ มันจะเกิดความรู้สึกเบิกบานปีติได้แค่ไหน แล้วก็มีใจพร้อมที่จะเป็นสมาธิอยู่กับบทสวดเพียงใดนะครับ เอาล่ะเดี๋ยวมาเริ่มกันเลยนะครับ 

คุณดังตฤณนำสวดมนต์
โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน
และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์

พอดีมีคำถามเกี่ยวกับการสวดมนต์ดูพระพุทธรูป ก็แถมให้อีกคำถามนึงนะครับ

คำถาม : เวลาสวดมนต์แล้วมองพระพุทธรูป แล้วรู้สึกสมาธิแกว่ง แต่ถ้าหากหลับตาสวดมนต์จะรู้สึกถึงสมาธิ มีสติกำกับการสวดมนต์มากกว่า เป็นเพราะอะไรคะ?

ดังตฤณมันขึ้นอยู่กับว่า คุณใส่เหตุปัจจัยเข้าไปถูกหรือเปล่า อย่างเมื่อครู่นี้ถ้าหากว่า .. อันนี้ยกตัวอย่างของจริงเลยก็แล้วกัน

ถ้าหากว่าคุณมององค์พระ แล้วเกิดความสดชื่น เกิดความเบิกบานขึ้นมา ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละคนนะครับ บางคนไม่มีอกุศลธรรมอะไรห่อหุ้มจิตอยู่เลย ไม่มีอคติอยู่เลย มองปุ๊บไม่ว่าจะพระองค์ไหน ก็เกิดความรู้สึกเบิกบาน

ทีนี้พอเกิดความเบิกบาน ตรงนั้นก็เท่ากับได้องค์พระเป็นที่ตรึงจิต พลังขององค์พระที่สร้างขึ้นมาด้วยต้นแหล่งอย่างไรก็แล้วแต่ ก็จะพลอยเข้ามาประดิษฐานอยู่ในจิตใจของเรา

และถ้าหากว่า เราเกิดความรู้สึกเบิกบาน แล้วจำความรู้สึกเบิกบานนั้นได้นะครับ หลับตาลงก็จะเกิดความรู้สึกว่า ราวกับว่าองค์พระปรากฏอยู่ราง ๆ ยิ่งความเบิกบานนั้นมีความคงเส้นคงวาต่อเนื่องได้นานขึ้นเท่าไหร่  มันก็จะยิ่งมีความรู้สึกว่า ถ้าองค์พระที่ตอนแรกเป็นภาพราง ๆ จะปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ นะครับ อันนี้ก็เป็นกสิณชนิดหนึ่ง

แต่ถ้าใครมองแล้วก็สวดไปด้วย อิติปิโส ภะคะวา มององค์พระไปด้วยแล้วเกิดความรู้สึกว่ามีสมาธิ อันนี้ก็ดีไปอีกแบบหนึ่งสำหรับคน ๆ นั้นนะครับ มันไม่มีแบบใดผิดแบบใดถูก

สิ่งที่เราต้องการ คือ ความมีสมาธิอยู่กับการสวดมนต์ นะครับ องค์พระเป็นแค่เครื่องช่วยให้เกิดความเบิกบาน ถ้าจิตของเรามีความตั้งมั่นในการถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชานะ คือองค์พระจะปรากฏแค่ราง ๆ หรือว่าแจ่มชัดในห้วงมโนทวารก็ตาม สิ่งที่เหมือนกันก็คือ จิตเราจะมีความแช่มชื่นขึ้นเรื่อย ๆ มีความเป็นกุศลแจ่มชัดใหญ่โตมากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ อันนั้นเป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่าย สิ่งนี้แหละที่เราต้องการจริง ๆ เราไม่ได้ต้องการว่าจะต้องหลับตา หรือลืมตาเท่านั้นนะครับ ตรงนี้มันเป็นความแตกต่างตามเหตุปัจจัยของแต่ละคนที่จะได้พบเอานะครับ

เอาล่ะคืนนี้ก็คิดว่าน่าจะได้เวลาอันสมควร ขออนุโมทนากับทุกท่านนะครับ ถ้าหากว่ามีจิตเป็นกุศล ก็เปิดความสุขนั้นออกไปกว้าง ๆ จะหลับตาหรือลืมตาก็ตาม แล้วก็นึก ขอให้สิ่งที่มีแก้วหูมนุษย์มารับรู้  หรือว่าสิ่งที่ไม่มีแก้วหูแบบมนุษย์ จะรับทราบด้วยจิตด้วยความมีใจอนุโมทนา ขอให้ได้ส่วนความสุขจากเราไป ตรงนี้มันก็จะเกิดบุญเกิดกุศลทับซ้อนทวีขึ้นไปอีก เป็นการแผ่เมตตา เป็นการที่เราฝึกให้จิตเปิดกว้าง แล้วก็มีความเป็นบุญ มีความเป็นกุศลในทางที่จะไม่เบียดเบียน ซึ่งผลมันก็จะทำให้ในชีวิตประจำวันของเราอยากคิดดี อยากที่จะเผื่อแผ่ความสุขให้กับคนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามไปด้วยนะครับ

สำหรับคืนนี้ รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ขอจบเพียงเท่านี้ แล้วทุกคืนวันเสาร์ ๓ ทุ่ม ถ้าหากใครว่างพร้อมกัน สะดวกก็มาเจอกันแบบนี้อีกนะครับ สำหรับคืนนี้ราตรีสวัสดิ์ครับ


-------------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

ช่วง
     : สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ
คำถาม : เวลาสวดมนต์แล้วมองพระพุทธรูป แล้วรู้สึกสมาธิแกว่ง
แต่ถ้าหากหลับตาสวดมนต์ จะรู้สึกถึงสมาธิ มีสติกับการสวดมนต์มากกว่า
เป็นเพราะอะไรคะ
?               

ระยะเวลาคลิป
           ๑๑.๐๓ นาที
รับชมทางยูทูบ               https://www.youtube.com/watch?v=o1rm9twuI0o&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=10&t=0s

ผู้ถอดคำ 
แพร์รีส แพร์รีส

การขออโหสิกรรม จะช่วยเรื่องกรรมได้บ้างไหมครับ?

 ดังตฤณ :  ก็ช่วยได้บ้างนะครับ คือ จิตของคุณถ้าก่อนตายไม่จมปลักไปกับกรรมใดกรรมหนึ่ง บาปใดบาปหนึ่ง มันก็จะไม่ติดตามเป็นเงาตามตัวแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนะครับ ไม่ไปให้ผลเต็มเหนี่ยวนัก

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ นะครับ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้นะครับบอกว่า ถ้าคนคิดว่าท่านสอนแบบคิด ๆ เดา ๆ เอานะครับ มีสิทธิ์ไปนรกนะครับ แต่ถ้าถอนความคิดได้ ก่อนตายก็มีสิทธิ์รอดจากนรกได้ อันนี้เป็นแค่ตัวอย่างแบบคร่าว ๆ นะครับ แบบของใหญ่ มันจะได้เห็นภาพชัด

อันนี้ก็เหมือนกัน คือถ้าหากว่าเราทำผิดแล้วรู้สึกสำนึกผิดจริง ๆ แล้วก็อยากจะขออโหสิ คือมันไม่ได้ชะล้างบาปออกทั้งหมด แต่ว่ามันจะทำให้คุณได้รับความช่วยเหลือ ยกออกจากทางที่จะเป็นไปในการรับผลบาปนั้นเต็มเม็ดเต็มหน่วยเนี่ยนะครับ มันยกขึ้นไปอีกทางหนึ่ง เป็นทางที่จะได้รับผลของบาปนั้นทุเลาเบาบางลงนะครับ

เหมือนอย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสยกว่า ถ้าใครคิดไม่ดีกับท่านแรง ๆ ไปว่าท่านไปตำหนิท่านว่า ท่านเดาเอา ท่านไม่ได้รู้จริงอะไรต่าง ๆ เนี่ยนะครับ อย่างนี้ถ้าสมมติว่าตอนตายเกิดกรรมนั้นมันจะให้ผล มันก็ลากเราลงนรกได้

แต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนความคิดปรับความคิดได้
  “เออจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านรู้อะไรเยอะนะ เรื่องนี้ท่านก็พูดถูก เรื่องนี้ท่านก็พูดถูก อ้าวเรื่องนี้ท่านก็พูดถูกอีก” จนกระทั่งเกิดความเชื่อ เกิดความเลื่อมใสขึ้นมานะครับ

ถึงแม้ว่าผลบาปที่เคยไปคิดไม่ดีกับท่าน มันยังคงอยู่ มันคงให้ผลอยู่ แต่มันจะไม่ไปให้ผลในนรก จะให้ผลประมาณว่า กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ก็ถูก .. เหมือนกับตำหนิ หรือว่าติเตียนหรือว่ามาคิดไม่ดี คนประเภทที่ไม่รู้จริง แต่ว่ามาว่า อะไรแบบนี้นะครับ ก็จะออกทำนองนั้น คือไม่ต้องไปรับผลหนักหนาสาหัสนะครับ


----------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม
: การขออโหสิกรรม จะช่วยเรื่องกรรมได้บ้างไหมครับ?

ระยะเวลาคลิป
           ๒.๓๕ นาที
รับชมทางยูทูบ           https://www.youtube.com/watch?v=PRODvGw7nBk&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=1

ผู้ถอดคำ 
แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ขอวิธีสังเกตตามร่างกาย เพื่อความผ่อนคลายหน่อยค่ะ

 ดังตฤณ :  วิธีสังเกตตามร่างกายเพื่อความผ่อนคลายนะครับ เอาง่าย ๆ เลย ควรจะนั่งคอตั้งหลังตรง แล้ววางเท้าราบกับพี้น คือวางเท้าราบกับพื้นไป สังเกตดู จะหลับตา หรือลืมตาก็ตาม ดูว่าฝ่าเท้ากำลังเกร็งอยู่มั้ย กล้ามเนื้อฝ่าเท้าทำงานอยู่รึเปล่า ถ้าทำงานอยู่ก็ให้ผ่อนคลาย แล้วจากนั้นไล่ขึ้นมาที่ฝ่ามือที่วางอยู่บนหน้าตัก หรือวางอยู่ตรงไหนก็ตามว่า มันกำอยู่ หรือว่ามันแบ ถ้ามือมันผ่อนคลายจะอยู่ในอาการแบ กล้ามเนื้อของฝ่ามือไม่ทำงานนะครับ

ตรงที่รู้สึกว่าฝ่าเท้ากับฝ่ามือมีความผ่อนคลายแล้ว คุณจะรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัว แล้วสติมันก็เกิดมาครึ่งนึงเช่นกัน

ทีนี้พอมาสังเกตจุดสุดท้ายนะครับ ใบหน้าหัวคิ้วขมวดมั้ย ขมับตึงมั้ย มีส่วนใดส่วนหนึ่งของใบหน้าที่กล้ามเนื้อมันทำงานอยู่รึเปล่า

ถ้าหากว่ามันผ่อนคลายทั้งหมด ฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้ามีความผ่อนคลายถ้วนทั่ว คุณจะรู้สึกสบายขึ้นมาทั้งตัว ตรงนี้แหละค่อยไปสังเกตต่อนะครับว่า ที่หายใจอยู่แต่ละครั้ง มันมีความรู้สึกอึดอัดขึ้นบ้างมั้ย ฝ่าเท้า ฝ่ามือ กลับไปเกร็งใหม่มั้ย กลับไปจิกใหม่มั้ย ใบหน้าคิ้วขมวดขึ้นมาเมื่อไหร่ ที่ลมหายใจไหน มันจะค่อย ๆ เกิดความผ่อนคลายอย่างเป็นไปเองตามธรรมชาตินะครับ


-------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา


คำถาม : ขอวิธีสังเกตตามร่างกาย เพื่อความผ่อนคลายหน่อยค่ะ

ระยะเวลาคลิป           ๑.๓๑ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=9MyBUFIxvIw&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=2

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


การที่รู้ตัวว่า ตอนนี้กำลังโกรธ บางทีอาจจะจากร่างกายที่เปลี่ยน เช่น ขมวดคิ้ว หรือเริ่มรู้ว่าจิตไม่ปกติ เริ่มหงุดหงิด แบบนี้คือการรู้ตัวเฉย ๆ หรือเป็นปัญญารู้การเกิด-ดับ คะ?

 ดังตฤณ :  อย่างเราคุยกันแบบนี้ เราคุยกันด้วยคำพูด ตอนที่คุณฟัง มันก็จะเป็นความเข้าใจ มันเกิดจากการตีความคำพูด ซึ่งเราจะสื่อตรงกันจริง ๆ หรือเปล่า มันไม่มีเครื่องวัดที่ชัดเจน

 

อย่างบางคน เข้าใจหลักการทุกอย่างนะ บอกว่า “เนี่ยต้องดูเฉย ๆ ต้องเป็นผู้สังเกต ไม่ใช่ผู้เล่น แล้วก็ต้องดูมันจนกว่ามันจะหายไป หรือว่าเปลี่ยนสภาวะไป”  เข้าใจแม่นยำทุกอย่าง ขึ้นใจนะครับ แต่พอเอาเข้าจริง เกิดภาวะโกรธ เกิดภาวะหงุดหงิดขึ้นมาปุ๊บ ลืมหมด เพราะว่าภาวะโกรธ ภาวะหงุดหงิดมันเป็นสภาพอกุศลใช่มั้ย แล้วก็มาปรุงแต่งให้จิตเกิดอกุศลธรรม มันก็เลยลืมว่า สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่เป็นสติ สิ่งที่มันเป็นตรงกันข้ามกับความโกรธ หน้าตามันเป็นยังไง หรือจะต้องทำยังไงนะครับ

 

วิธีการเจริญสติมา ๑ ๒ ๓ .. หายเกลี้ยงเลย เราก็เลยดูผิด ๆ ถูก ๆ อย่างบอกว่าขมวดคิ้ว เราถือว่าเป็นการเห็นความโกรธได้มั้ย เห็นความไม่เที่ยงได้หรือยัง อย่างบอกว่าขมวดคิ้วเนี่ย มันเป็นแค่ข้อสังเกตว่าเรากำลังโกรธ หรือบอกว่าจิตใจไม่ปกติ ผิดปกติขึ้นมาเริ่มหงุดหงิด เนี่ยอันนี้เป็นแค่ข้อสังเกตว่า เรากำลังโกรธอยู่ เสร็จแล้วสิ่งที่ตามหลังมา มันกลายเป็นความสงสัย หรือที่เรียกว่าเป็น วิจิกิจฉา เป็น นิวรณธรรม ข้อหนึ่งที่ถ่วงให้สติมันไม่เจริญขึ้น แทนที่มันจะดูต่อมันมาสงสัยแทน มันมาคิดเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรอง ไตร่ตรอง แล้วก็ตรึกนึกนะครับ

 

ทีนี้วิธีที่ถูกต้องที่จะเอาชัวร์ได้ เอาไปทำได้แบบแม่น ๆ เลย ก็ลองเปรียบเทียบดูว่า ตอนที่เรารู้ตัวว่าขมวดคิ้ว หรือว่าจิตใจไม่ปกติขึ้นมา มีอาการร้อนขึ้นมาเนี่ย จำไว้ให้ขึ้นใจว่า เรากำลังอยู่ในสภาพหายใจเข้า หรือว่าสภาพหายใจออก ถ้ามันเตือนตัวเองขึ้นมาแบบนี้ได้นะ เนี่ยตอนนี้เรามีหลักแบบที่พระพุทธเจ้าให้ใช้แล้ว เอาอานาปานสติมาเป็นเครื่องกำกับในการเจริญสติ คือ ดูกาย เวทนา จิต ธรรมทั้งปวงผ่านศูนย์กลาง คือ อานาปานสติ ไม่ใช่ไปจ้องลมหายใจนะ แต่สังเกตดูว่า ความโกรธมันเกิดขึ้นที่ลมหายใจไหน

 

พอคุณสามารถเห็นได้ว่า ความโกรธมันเกิดขึ้นที่ลมหายใจไหน จะเป็นอาการขมวดคิ้ว หรือว่าจะเป็นอาการร้อน ๆ เป็นอาการที่มีความรู้สึกกระสับกระส่ายขึ้นมาผิดปกติก็ตาม คุณมีจุดสังเกตว่ามันเริ่มต้นที่ตรงนี้ จากนั้นสบาย ๆ ปล่อยมัน พอหายใจครั้งต่อมา สังเกตอีกทีว่า เออแล้วลมหายใจนี้ล่ะมันต่างไปหรือยัง

 

ถ้าหากว่าคุณตอบถูก ลมหายใจนี้กับอีกลมหายใจนึงต่างกันอย่างไรภาวะความโกรธ ตรงนั้นคุณได้ชื่อว่า ได้แนวทางที่จะเห็นความโกรธ หรือว่าโทสะโดยความเป็นของไม่เที่ยงเข้ามาอยู่ในจิตเพียงชั่วคราวได้แล้ว

 

แต่ถ้าคุณไม่สามารถที่จะตอบตัวเองได้ถูกอย่างชัดเจน ไม่มีเครื่องวัด คุณจะสงสัยร่ำไป จนกว่าจิตจะพัฒนาขึ้น ซึ่งไม่รู้กี่ปีนะ คือถ้าจิตมันพัฒนาขึ้นถึงจุดที่มันว่าง มันโล่งอยู่ตลอด แล้วค่อยมีความโกรธ ความเกลียดแวบผ่านเข้ามาในความโล่งนั้น คุณถึงจะเกิดสติรู้เท่าทันว่า มันเกิดขึ้นตอนนี้ แล้วมันหายไปตอนนั้น

 

แต่ระหว่างนี้ ถ้าหากว่ายังไปไม่ถึงตรงนั้น ยังไปไม่ถึงจุดที่จิตมันโล่งว่างตลอดเวลานะครับ ยังมีกิเลสแบบเรา ๆ ท่าน ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ก็อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกตอย่างนี้แหละ โกรธขึ้นมาที่ลมหายใจไหน แล้วโกรธน้อยลงที่ลมหายใจไหน หรือว่าความโกรธหายไปอย่างสิ้นเชิงที่ลมหายใจใดนะครับ

 

อันนี้แหละ มันจะมีทิศทางที่ถูกต้องแน่ คือพอคุณสังเกตอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ นะครับ ในที่สุดแม้ไม่อาศัยลมหายใจ บางทีมันก็รู้ขึ้นมาเองเป็นอัตโนมัตินะครับ แต่ถ้าหากว่า ไม่ทิศทางสังเกตที่ถูกต้อง คุณจะวนเวียนอยู่ในโลกความสงสัยไม่เลิก!

--------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม
: การที่รู้ตัวว่า ตอนนี้กำลังโกรธ บางทีอาจจะจากร่างกายที่เปลี่ยน
เช่น ขมวดคิ้ว หรือเริ่มรู้ว่าจิตไม่ปกติ เริ่มหงุดหงิด แบบนี้คือการรู้ตัวเฉย ๆ
หรือเป็นปัญญารู้การเกิด-ดับ คะ
?

ระยะเวลาคลิป
           ๕.๓๔ นาที
รับชมทางยูทูบ          https://www.youtube.com/watch?v=Dr4Y7u_XdHc&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=3

ผู้ถอดคำ 
แพร์รีส แพร์รีส

** IG **

พอเรารู้สึกเบื่อ ก็มักจะหาสิ่งเร้า และทำตามใจกิเลสบ่อย ๆ จะแก้ได้อย่างไรบ้างครับ?

 ดังตฤณ :  อันนี้เป็นความเคยชินนะครับ ก็ตามหัวข้อของวันนี้นะครับ พูดถึงเรื่องของความเบื่อ บอกว่า “พอเรารู้สึกเบื่อ ก็มักจะหาสิ่งเร้า แล้วก็ทำตามใจตามกิเลสบ่อย ๆ อันนี้จะแก้ความเคยชินแบบนี้ได้ยังไง”

คือมันแก้ไม่ได้ด้วยการที่บอกว่า “อย่าไปตามใจกิเลส อย่าไปเอาตามนี้ จนกระทั่งถอนตัวไม่ขึ้น” อะไรแบบนี้ มันแก้ไม่ได้แบบนั้นนะครับ 

ด้วยความตั้งใจ ด้วยความคิด หรือว่าแม้ด้วยอาการแบบว่าฝืน จะมีขันติ ไม่เอาตามนั้น มันทำไม่ได้ เพราะว่า คนเราเวลากำลังเบื่อ  มันต้องการสิ่งชดเชยที่มีความชุ่มฉ่ำ

ถ้าหากว่าเราเบื่อแล้วไม่เอาอะไรมาแก้เบื่อเลย มันก็จะกลายเป็นความรู้สึกอึดอัด เป็นทุกข์แห้งแล้งหนักเข้าไปอีก บอกว่า “โอ้ยเนี่ย ไปทำตามกิเลสมันไม่ดี” เสร็จแล้วก็เลยไม่ทำอะไรสักอย่าง ปล่อยให้เบื่อจุกอก หน้าตาหมองคล้ำอยู่อย่างนั้นเนี่ยนะครับ อันนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า กิเลสของเราจะลดลงด้วย มันเป็นแค่การลงโทษตัวเอง เป็นแค่การฝืนอัดอั้นเฉย ๆ

วิธีที่เราไม่ต้องไปหาสิ่งเร้าก็คือ เราจะต้องหาความชุ่มชื่นในแบบที่ไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้า มาเป็นตัวชดเชย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังสวดมนต์ในแบบที่สวดแล้วเกิดความชุ่มชื่นไม่เป็น ก็หัด ใครสวดแบบนกแก้วนกขุนทอง อ่ะลองดู สวดด้วยความตั้งใจจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชานะครับ อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา เนี่ยตั้งใจว่าเราจะถวายแก้วเสียงนี้เป็นพุทธบูชานะ  อาการทั้งหมดที่พนมมือไหว้ ตัวที่คอตั้งหลังตรง มันแสดงความเคารพ แสดงความเป็นดอกบัวบูชา

ตรงที่เราเกิดความรู้สึกว่า ด้วยเหตุปัจจัยอันเป็นกุศลอันใดที่เราฝึกแล้ว ๆ ก็สามารถที่จะมาแทนที่ความเบื่อได้ ขจัดความเบื่อทิ้งได้ เราก็จะเห็นเป็นช้อยส์ (choice) บางวันเราอาจจะเลือกความบันเทิงตามความเคยชิน แต่บางวันเราจะรู้สึกว่า ความบันเทิงเนี่ย มันน้ำหยดน้อย มันยังกินไม่อิ่มเลย สองชั่วโมงดูหนังจบ ไม่เห็นเกิดความรู้สึกว่ามันอิ่มหนำตรงไหน

ลองไปเอาแบบที่สวดมนต์ถวายแก้วเสียงดูซิ เออปรากฏว่า ถ้าเราฝึกมาอย่างดีนะครับ แค่ตั้งจิตว่า เราจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา ๕ วินาทีแรกเท่านั้นความชุ่มชื่นมันเกิดขึ้น ผุดโพลงขึ้นนะ ราวกับน้ำพุแห่งความเบิกบาน ที่มันดันขึ้นมาจากกลางอก ความเบื่อหาย นี่เราเกิดความเปรียบเทียบแล้ว ได้ข้อเปรียบเทียบแล้วว่า ไอ้ความบันเทิงมันกำจัดความเบื่อไม่ได้จริง

เพราะบางทีช่วงไหนคุณดูหนังมาก ๆ ดูแบบโหด ๆ เลย ดูซีรี่ย์แบบตาเขียวถึงโต้รุ่ง มันก็กลายเป็นความเบื่ออีกแบบ เบื่อที่จะดูซีรี่ย์ เบื่อที่จะดูหนัง เบื่อที่จะดูละคร

อะไรก็แล้วแต่ ที่มันอัดเข้าไป แล้วไม่เกิดความชุ่มชื่น มันเบื่อ มันเกิดความรู้สึกว่าจุกอก บางทีเหมือนจะอ้วก

คงเคยนะหลาย ๆ คนเนี่ย ดูจนเหมือนจะอ้วก แต่ว่า มันก็ยังติดอยู่นั่นน่ะ หัวใจมันผูกอยู่กับเรื่องราว ตอนเด็ก ๆ ผมจำได้เลย บางทีดูหนังกำลังภายในอยู่สามวันสามคืน คือคนที่เขาทำซีรี่ย์เนี่ย จะประสบความสำเร็จได้ เขาต้องเรียนรู้สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ ก่อนจะจบแต่ละตอน ต้องมีเหยื่อล่อให้ติดเบ็ด อยากรู้ตอนต่อไป ซึ่งไอ้นี่ตัวนี้แหละที่มันจะเป็นสะพานนำไปสู่การดูไปเรื่อย ๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวขาดสติ แล้วทั้ง ๆ ที่มันเบื่อจนจะอ้วกอยู่แล้ว ก็ยังอดไม่ได้ มันรู้สึกอยากรู้ ไอ้ความอยากรู้บางทีมันชนะความเบื่อ แต่เสร็จแล้วพอดูจบ จบซีรี่ย์ปุ๊บ ฮืมเบื่ออีกแล้ว ต้องดูซีรี่ย์ใหม่

ที่แท้แล้วการดูหนัง การเสพความบันเทิง มันไม่ได้กำจัดความเบื่ออะไรเลย มันไม่ได้มาแทนที่ความเบื่อแต่อย่างใดเลยนะครับ มันมาเพิ่มความเบื่อในอีกแบบหนึ่ง เบื่อที่จะอยู่โดยไม่มีซีรี่ย์ อยู่โดยไม่มีหนังดู อยู่โดยไม่มีเพลง เนี่ยความเบื่อมันแปรรูป ถูกแปรรูปมาเป็นอารมณ์ไม่อยากอยู่เปล่า ๆ ไม่อยากอยู่ว่าง ๆ โดยปราศจากสิ่งบันเทิง

แต่ถ้าคุณมีเครื่องชดเชย เครื่องทดแทน ที่เห็นแล้วเปรียบเทียบแล้วว่ามันดีกว่า มันเป็นน้ำที่กินอิ่มกว่า อย่างเช่น ถ้าทำสมาธิได้ เจริญสติได้ แล้วเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า เกิดความปีติรู้สึกว่าใจวิเวกหวานชื่น แล้วก็อิ่มหนำสำราญอยู่ในปีติสุขแบบนั้นได้เป็นชั่วโมง ๆ โดยไม่รู้เบื่อรู้หน่าย แล้วร่างกายมันก็ยิ่งมีความแข็งแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่พระสารีบุตรบอก อย่างกามคุณ ๕ ยิ่งเสพมากขึ้น ร่างกายมันยิ่งอ่อนเพลียยิ่งอ่อนแอ

ในขณะที่การสงัดจากกามคุณ แล้วก็ปลีกวิเวก ทำสมาธิ ทำให้ปีติสุขมันเกิดขึ้นเนี่ยนะครับ มันอิ่มหนำสำราญ แล้วก็ยาวนานกว่าเยอะ อันนี้แหละที่จะทำให้คุณเลิกเห็นความบันเทิงเป็นคำตอบเดียว


------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม
: พอเรารู้สึกเบื่อ ก็มักจะหาสิ่งเร้า และทำตามใจกิเลสบ่อย ๆ
จะแก้ได้อย่างไรบ้างครับ
?

ระยะเวลาคลิป
           ๖.๓๗ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=6SwTjyha7F4&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4


ผู้ถอดคำ 
แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

คำถาม : การที่เราใส่บาตรพระ 1 รูป ถ้าเราต้องการจะอุทิศให้ใคร เช่น เทวดา พ่อ แม่ เจ้ากรรมนายเวรจะจำกัดไหมว่า ของ ๑ ชิ้น อุทิศให้หลาย ๆ คน บุญนั้นจะถูกแบ่งสัดส่วน ให้เขาได้รับน้อยลงมั้ย คะ ช่วยแนะนำวิธีวิธีที่ควรปฏิบัติขณะทำบุญสักอย่าง หรือใส่บาตรอุทิศด้วยค่ะ?

 ดังตฤณ :  คิดเปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน สมมติว่าคุณมีเปลวเทียน ไฟบนเทียนของคุณเนี่ยนะครับ ถืออยู่เล่มเดียว แล้วเดินเข้าไปในหมู่คน ๑,๑๐๐ คน ที่มีเทียนเช่นกัน แต่ยังไม่มีไฟ คุณเอาไฟไปต่อให้พวกเขา คุณต่อได้กี่คน?

 

มันก็ต่อได้ครบ ๑๐๐ ครบ ๑,๐๐๐ คน จนกว่าแท่งเทียนของคุณจะละลายหมดนั่นแหละ ตราบใดที่ใจของคุณยังมีสว่างจากการทำบุญ มีความรู้สึกว่า เออเนี่ยทำบุญสำเร็จ ช่วยคนได้ ทำให้เขามีความสุขขึ้นได้ ชีวิตสบายขึ้น หลุดพ้นจากความลำบากได้ หรือพระสงฆ์องค์เจ้าได้รับสิ่งของ ที่จะไปทำให้พวกท่านมาสืบศาสนาต่อได้ด้วยการปฏิบัติธรรมเจริญสติ

 

พอใจมันมีความชุ่มชื่นจากการเห็นผลนั้นแล้ว ใจที่ชุ่มชื่นนั้นมันยังอยู่อีกนานแค่ไหน ก็นั่นแหละ ตรงนั้นแหละที่คุณสามารถอุทิศไป หรือเผื่อแผ่ไปเป็นวงกว้างได้ไม่จำกัด

 

จริง ๆ แล้วถ้าหลักการอุทิศ เริ่มต้นต้นมาควรจะให้เหมือนกับการแผ่เมตตา คือ มีการแผ่ออกไปแบบไม่มีประมาณ

 

คำว่า ไม่มีประมาณ ง่ายกว่าที่จะจำเพาะเจาะอีก เพราะคุณไม่ต้องนึกถึงหน้าใครเลย ถ้ากำลังมีความสุขอยู่กับการทำบุญชนิดไหนก็ตาม แล้วความสุขชนิดนั้นมันทำให้ใจของคุณเหมือนแผ่ผายออกไปแบบไม่จำกัด แบบไม่มีประมาณ ตรงนั้นแหละที่คุณสามารถอุทิศแบบไม่มีประมาณได้เช่นกันนะครับ

 

คือพอเรานึกไปว่า ขอให้ใครก็ตามที่รับรู้อยู่ จะด้วยแก้วหูแบบมนุษย์ หรือว่าแก้วหูอันเป็นทิพย์ก็ตาม ขอให้ได้โปรดมีใจร่วมยินดีอนุโมทนาในความสุขความสดชื่นในบุญของเราเท่าเทียมกันด้วยเถิด เท่านี้ก็จะเหมือนกับคุณเอาเทียนเล่มเดียวนะครับ เทียนที่มีไฟเนี่ย เหมือนกับชูไว้ แล้วก็บอก ใครอยากมาได้ไฟ มาเอาเลย เขาก็จะเอาเทียนของเขา ส่วนตัวของเขาจิ้มเข้ามา แล้วก็ได้ไฟกลับไป

 

จิต จริง ๆ เปรียบเป็นเทียนไม่ได้นะ เพราะว่ามันมีความส่องสว่าง มันเป็นฟอง เป็นฟองธรรมชาติที่มีความสุขสว่างอยู่ แล้วถ้าหากว่าจิตดวงอื่น ๆ ได้มารับรู้ถึงความสว่างตรงนั้น เหมือนกับมารับแสงสว่างตรงนั้น มันก็เหมือนกับเปิดรับ เปิดรับความสว่างเข้าไป มันก็จะได้กำลัง ก็จะได้บุญตามเราไปด้วย

 

ส่วนที่ว่าจะได้บุญเหมือนกับเรารึเปล่า เท่ากับเรารึเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับว่า กำลังใจในการอนุโมทนา หรือว่าพลอยยินดีไปกับเรามันจะเต็มที่แค่ไหน ถ้าเต็มที่เต็มร้อยจริง ๆ เนี่ยเอาเป็นว่า ถ้าสมมติว่ามองเป็นมนุษย์เนี่ยนะ เขาต้องมีความเต็มใจที่จะมาทำแบบเดียวกับเราทีเดียว เกิดกำลังใจ เกิดแรงบันดาลใจจะมาทำแบบเดียวกับเราบ้าง อย่างนั้นเรียกว่า รับบุญเต็มขั้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่นอกนั้นก็จะลดส่วน ทอนกำลังลงมา อย่างเช่น บอกว่า เอออนุโมทนานะ แล้วมีใจมีความสุขขึ้นมาด้วยวูบหนึ่ง อย่างนี้เรียกว่า ได้บุญมาส่วนหนึ่งเล็ก ๆ

 

แต่คนเนี่ย ประเภทที่บอกว่า โอเคอนุโมทนา แต่ใจไม่ได้รู้สึกอะไรด้วยเลย ไม่มองเห็นภาพเลยว่าเราทำบุญอะไรไป นี่ก็ไม่ได้อะไรเลยนะ ได้แต่พูดให้รักษาความรู้สึกกันเฉย ๆ นะครับ

 

คือบางคน นอกจากไม่ได้อนุโมทนาแล้วยังคิดอีกว่า “เอ๊ะไอ้นี่ทำไมงมงาย ทำไมโง่อย่างนี้นะ ไปเชื่ออะไรเรื่องบุญเรื่องบาปเรื่องอะไรมันไม่มี”  มันกลายเป็นว่าได้รับส่วนบาปมาอีก

 

เพราะฉะนั้น คนที่จะอุทิศส่วนกุศล หรือว่าจะเผื่อแผ่บุญ เผื่อแผ่ความสว่างออกจากใจของเรา ควรจะมีความฉลาดด้วยนะ ฝึกจากการที่เราคุยกับมนุษย์ด้วยกันนี่แหละ

 

อย่าแค่ว่า “วันนี้ไปทำบุญมานะจ๊ะ ขอให้อนุโมทนาด้วย” แบบนี้นอกจากเขาจะรู้สึกว่าไม่ได้สดชื่นตาม เขายังรู้สึกเกิดความฝืด เกิดความฝืน แล้วก็เกิดอคติ เกิดความคิดไม่ดี ด่าขึ้นมานะว่า “บ้ารึเปล่า”

 

ของมันมองไม่เห็นน่ะว่ามันมาเผื่อแผ่กันได้ตรงไหน แม้แต่ความรู้สึก ก็ยังรู้สึกตามไม่ได้ มันก็มองไม่ออกจริง ๆ อ่านเกมไม่ออกนะว่า การที่เราจะมาอุทิศบุญอุทิศกุศลเนี่ย มันจะเกิดขึ้นจริงได้ยังไงนะครับ

 

แต่ถ้าอย่างน้อยเราเล่า แล้วก็ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำไปมันได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างนะ อย่างไปทำบุญที่วัด พระรูปนั้นรูปนี้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอย่างไร สอนการเจริญสติ สอนธรรมะยังไงแบบไหนมา พอคนฟังเขาเกิดความรู้สึก เออพระรูปนี้ดีแฮะ แค่นี้มันเป็นทุนแล้ว มันเป็นฐานแล้ว

 

พอเราบอกว่าวันนี้เราไปทำบุญมา เอาอุปกรณ์เอาปัจจัยสี่ไปให้ เอาหยูกยาไปถวายท่าน มันจะเกิดความรู้สึกสดชื่นตามขึ้นมาด้วย ราวกับว่าเขาตามเราไปทำนะครับ เนี่ยเป็นเพราะว่าจิตมันไปจูง มันจูงเข้าลู่เข้าทางบุญกุศลกันได้ ด้วยการทำให้เห็นภาพ ทำให้รู้เรื่อง ทำให้นึกภาพออก

 

ทีนี้อย่างเวลาเราอุทิศบุญอุทิศกุศล จะตามความเชื่อ เจ้ากรรมนายเวร หรือว่าผู้ล่วงลับไปแล้วอะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากว่าเรามีโฟกัสจริง ๆ มีความรู้สึกสดชื่นเบิกบานจริง ๆ จิตของผู้ที่เขาจะรอรับแสงสว่างอยู่ เขาจะรู้สึกได้

 

แต่ถ้าหากว่าจิตของเราแห้งแล้ง เหมือนกับพูดอุทิศไปอย่างนั้นแหละ พูด ๆ ไปขอให้มารับบุญมารับกุศล แต่ตัวเองยังนึกไม่ออกเลยว่า หน้าตาบุญหน้าตากุศลให้ความรู้สึกอย่างไร แบบนี้มันได้แบบกะปริบกะปรอย

 

หรือว่าคนเนี่ย เนื่องจากไปทำบุญกับพระสงฆ์องค์เจ้า ก็ที่ตั้งของบุญมันก็ใหญ่จริงนะ แต่ว่าตัวของผู้อุทิศ ผู้กล่าวอุทิศ มันไม่มีกำลังใจแรงพอที่จะเหมือนกับกระตุ้นให้จิตวิญญาณที่อยู่รอบ ๆ เขาเกิดความรู้สึกพลอยชื่นใจ พลอยยินดีตามไปได้ด้วยนะครับ

 

จริง ๆ แล้วถ้าอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกวิญญาณ หรือว่าภาวะยินดี หรือว่าไม่ยินดีในโลกหลังความตายเนี่ยนะครับ เอาง่าย ๆ เลย เราสามารถบอกบุญให้คนเขาเกิดความชุ่มชื่นตามได้มั้ย หรือว่าใจของเราเองมันมีความชุ่มชื่นอันเกิดจากการได้แค่รู้สึกว่า วันนี้ไปทำบุญมา หรือว่ามีความชุ่มชื่นจากการได้รู้ ได้เห็นจริง ๆ รู้แจ้งเห็นจริงว่า วันนี้เราไปทำประโยชน์อะไรให้ใครมา เขาได้รับประโยชน์อะไรจากเราไปนะครับ

 

การมีความสามารถจำแนกความต่างของสิ่งที่ละเอียดอ่อนทางใจแบบนี้ได้อย่างชัดเจน จะทำให้คุณพลอยมีความเข้าอกเข้าใจเรื่องโลกวิญญาณหลังความตายตามไปด้วยนะครับ แล้วก็จะเห็นด้วยนะว่า มันไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเลย ภาวะทางใจภาวะทางจิตเนี่ย มันมีความซับซ้อนพิสดารแค่ไหนก็ตาม แต่มันสามารถที่จะมีสติรู้ได้ระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่นี่เอง

----------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม     
: การที่เราใส่บาตรพระ 1 รูป ถ้าเราต้องการจะอุทิศให้ใคร เช่น เทวดา พ่อ แม่ เจ้ากรรมนายเวรจะจำกัดไหมว่า ของ ๑ ชิ้น อุทิศให้หลาย ๆ คน บุญนั้นจะถูกแบ่งสัดส่วน ให้เขาได้รับน้อยลงมั้ย คะ ช่วยแนะนำวิธีวิธีที่ควรปฏิบัติขณะทำบุญสักอย่าง หรือใส่บาตรอุทิศด้วยค่ะ?

ระยะเวลาคลิป
           ๙.๒๙ นาที
รับชมทางยูทูบ           https://www.youtube.com/watch?v=ufP5W5fuVaU&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5

ผู้ถอดคำ 
แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

อุเบกขากับการปล่อยวาง เหมือนกันหรือไม่?

 ดังตฤณ :  พูดอย่างนี้ก่อน ความปล่อยวางแบบที่คุย ๆ กัน แบบที่พูด ๆ กันเนี่ยนะ จริง ๆ แล้วเป็นของสูงนะครับ แต่ว่าเรามักจะไปแนะนำกันดื้อ ๆ “ให้ปล่อยว่างสิ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”  มันเป็นไปไม่ได้นะ คือต้องเข้าใจนะ คำว่า ปล่อยวาง เป็นของสูงนะครับ

 

จิตที่ปล่อยวางได้จริงแบบที่ไม่ยึดไม่คืนไม่เอากลับคืน คือจิตของพระอรหันต์เท่านั้นนะครับ แม้แต่จิตของพระอนาคามีก็ยังไม่ปล่อยวาง นี่ต้องทำความเข้าใจแบบระดับสูงสุดเลย เอาสุดขั้วเลยมันจะได้เข้าใจว่าการปล่อยวาง คำว่า ปล่อยวาง เป็นของสูงยังไง

 

พอพระอรหันต์ท่านบรรลุอรหัตตผล จิตของท่านปล่อยวางแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องตั้งใจปล่อยวาง แต่จิตไม่ยึดเอง อยู่ในอาการที่เป็นธรรมชาติของการไม่ยึด ไม่หลงไปสำคัญผิดอีกแล้วว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน แต่เห็นอยู่ตลอดเวลาว่า กายนี้ใจนี้เป็นแค่เหยื่อล่อ เป็นแค่ภาวะรับอารมณ์กระทบให้เกิดความฟุ้งขึ้นมา มีสภาวะปรุงแต่งจิตขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ๆ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต่างไปเรื่อย ๆ มันไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในนี้ อันนี้พระอรหันต์ จิตของท่านปล่อยวางได้แบบนี้จริง ๆ

 

แต่ปล่อยวางในความหมายของคนธรรมดาทั่วไป คือแกล้งปล่อยด้วยความคิดว่า เราจะไม่สนแล้ว แต่ใจเนี่ย ยังแอบสนอยู่ อย่างเช่น พยาบาทใครเขาแล้วบอกปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นบุคคลที่ทำให้เราเกิดความพยาบาท มันแกล้งปล่อย แกล้งวางความพยาบาทได้แป๊บนึง เดี๋ยวมันก็วกกลับเข้ามาใหม่ ทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคือง อาฆาตแค้น อยากจะทำร้ายคืน อยากจะให้เขารู้สำนึกเสียบ้าง วนไปเวียนมาอยู่แบบนี้ มันไม่ปล่อยวางจริง มันปล่อยวางชั่วคราว ณ ขณะที่คิดจงใจปล่อยวาง นี่เรียกว่าปล่อยวางแบบปุถุชน ปล่อยวางแบบหลอก ๆ

 

ทีนี้ถ้าเจริญสติขึ้นมาจนกระทั่งเริ่มระแคะระคาย เริ่มเห็นได้บ้างแล้ว มีสติเห็นขึ้นมาเป็นวูบ ๆ แล้วว่า กายนี้ใจนี้สักแต่เป็นของหลอกให้หลงยึดไปว่า นี่เรา นี่ของเรา นั่นเขา นั่นของเขา

 

พอเริ่มระแคะระคายได้แบบนี้ มันจะปล่อยอีกแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ตั้งใจปล่อย ไม่ใช่คิดจะปล่อย แต่เป็นรู้สึกว่า ไม่เห็นน่ายึดเลย อะไร ๆ ที่มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ลมหายใจเนี่ยนะครับ ถ้าหากว่าดูครั้งแรก เข้า-ออก ดูแค่นี้ แต่พอดูซ้ำไปซ้ำมา เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก จนกระทั่งเกิดสมาธิจิตขึ้นมา เห็นว่าอาการเข้า อาการออก มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสาย ไม่เห็นมีลมหายใจสายไหนที่มันจะอยู่ยั้งกับตัวเรานะครับ

 

ตรงนี้มันเริ่มเกิดความระแคะระคายแล้วว่า ลมหายใจเนี่ย มันสักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่เราเป็นผู้หายใจด้วย แต่ร่างกายมันเป็นผู้ที่สูบลมเข้า แล้วก็พ่นลมออกตามธรรมชาติธรรมดาของกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ ซึ่งยังมีความรู้สึกว่า จิตใจของเราเป็นตัวเราอยู่เนี่ยนะครับ มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกระบวนการหายใจที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเลย

 

ตัวนี้มันจะเริ่มปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในลมหายใจ เสร็จแล้วพอเห็นขยับขึ้นไปอีกนะว่า แม้แต่ความสดชื่น แม้แต่ความรู้สึกเฉย ๆ ที่มากับแต่ละลมหายใจ มันก็ต่างไปเรื่อย ๆ เป็นภาวะที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร นี่ตัวนี้มันก็จะปล่อยวางไปอีกขั้นหนึ่ง

 

ทีนี้พอเริ่มเห็นทั่วพร้อม เริ่มเห็นแม้กระทั่งจิตผู้รู้ ผู้ที่กำลังเฝ้าสังเกตการณ์ความไม่เที่ยงของลมหายใจ และความสุขความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นในแต่ละขณะเนี่ยนะ ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง บางทีก็ประกอบด้วยสติ บางทีก็ขาดสติ บางทีก็มีความฟุ้งซ่าน ฟุ้ง ๆ วุ่น ๆ ขึ้นมา บางทีความฟุ้งซ่านก็สงบเงียบไป นี่ภาวะทางจิต ภาวะรู้ภาวะดูเอง มันก็กำลังแสดงความไม่เที่ยงเช่นกัน ไม่แตกต่างจากลมหายใจเลย

 

ตัวนี้เวลาที่มันเกิดอุเบกขาขึ้นมา มันจะเริ่มจากการที่จิตนิ่งว่างเป็นผู้ดูว่า เออเนี่ยมีสมาธิในการดู ดูแบบเงียบ ๆ ว่าไม่มีอะไรสักอย่างที่มันเป็นภาวะในตัวในตน เวลาที่มันปล่อยวาง มันจะเริ่มปล่อยด้วยความรู้สึกว่า มีความเข้าใจในภาวะที่กำลังแสดงตัวว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ

 

ตัวนี้แหละที่เป็นอุเบกขาในอีกระดับหนึ่ง ถ้ายังข้ามจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคลไม่ได้ ก็ไปอยู่ที่สิ่งที่เรียก สังขารุเปกขาญาณ หรือว่า ความมีอุเบกขาในกายในใจนี้ แล้วอาการที่จิตมันปล่อยวาง มันจะไม่รู้ไม่ชี้กับสภาวะความเป็นไปภายในขอบเขตกายใจนี้ มันจะเห็นเหมือนกับเป็นโพรงไม้ว่าง ที่มีจิตวิญญาณที่ไร้รูปไร้ตัวตนเข้ามาอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว

 

อุเบกขาในระดับนี้ มันจะปล่อยวางในระดับที่ใกล้เคียงกับอริยบุคคล แต่อริยบุคคลต่อให้เป็นโสดาบันแล้ว หรือเป็นสกทาคามีแล้ว หรือกระทั่งเป็นพระอนาคามีแล้ว จิตของพวกท่านก็ปล่อยวางได้แค่ชั่วขณะ คือมันยังปล่อยวางหมดจดแบบพระอรหันต์ไม่ได้ในความรู้สึกในตัวตน

 

เพราะฉะนั้น เข้าใจนะครับ อุเบกขา กับ ปล่อยวาง เราต้องทำความเข้าใจว่า เรากำลังพูดถึงอะไร ถ้าอุเบกขามันมีหลายแบบเหลือเกิน .. อุเบกขา “เออ! เนี่ยพวกนี้เขาตีกัน” เราอุเบกขาเพราะว่าห้ามไม่อยู่ นั่นก็เรียกว่า อุเบกขา

 

หรือ อุเบกขาแบบที่ว่า “เนี่ยเราพยายามแก้ปัญหาแล้ว พยายามทำให้เขาเห็นความจริง เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิดแล้ว แต่เขาสมัครใจ เขาปักใจที่จะเห็นผิดอยู่อย่างนั้น”  นี่เราก็บอกอุเบกขา  นี่ก็คืออุเบกขาเหมือนกัน แต่บางทีมันไม่ได้ปล่อยวางนะ อุเบกขาว่า เออพยายามเต็มที่แล้ว แต่มันไม่สำเร็จ ก็เลยต้องอุเบกขา ก็เลยวางใจว่าจะเฉย แต่จริง ๆ ใจมันไม่ได้ปล่อยวางหรอก

 

ทีนี้ถ้ามาพิจารณากายใจ ถ้าเห็นว่ากายไม่เที่ยง ใจไม่เที่ยงได้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เออเนี่ยไม่น่ายึด อันนี้เรียกว่าเป็นการปล่อยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งภาวะนั้นจะนำไปสู่อุเบกขาแบบที่จะพัฒนาขึ้นเป็นการตรัสรู้ธรรมหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่า กำลังสมาธิของเราจะพยุงประคองภาวะอุเบกขานั้นไว้ได้นานแค่ไหน ยิ่งภาวะอุเบกขานั้นเกิดขึ้นนานเพียงใด นั่นแหละตัวนี้มันก็จะยิ่งมีความเข้าใกล้การตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อย่างที่พระพุทธเจ้าให้สำรวจตัวเองด้วยโพชฌงค์นะครับ หนึ่งในองค์ของโพชฌงค์ หรือเครื่องตรัสรู้ก็คือ อุเบกขา นะครับ

------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม : อุเบกขากับการปล่อยวาง เหมือนกันหรือไม่?

ระยะเวลาคลิป
           ๘.๔๖ นาที
รับชมทางยูทูบ          https://www.youtube.com/watch?v=1UUvoq7zHcM&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6
 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

** IG **

ตามรู้ตามดูสภาวะไปเรื่อย ๆ ถูกต้องมั้ยคะ?

 ดังตฤณ :  คำถามบอกว่า   “ตามรู้ตามดูสภาวะไปเรื่อย ๆ”   รู้อะไรครับ?

อันนี้ต้องถามด้วยว่า ถ้ารู้ไปเรื่อย ๆ แต่คุณไปรู้ผิดจุด แล้วก็รู้แบบไม่แน่ไม่นอน มันแวบไปแวบมา บางทีเราก็รู้สึกเหมือนไม่ได้อะไรเลย

 

แต่ถ้าหากว่าคุณแยกแยะถูก เอาทฤษฎีสักนิดหนึ่ง รู้ลมหายใจ รู้สุขทุกข์ที่มากับแต่ละลมหายใจ รู้ว่ากำลังฟุ้งซ่าน หรือว่ากำลังสงบ จิตกำลังเป็นกุศล หรือว่าอกุศลอยู่เนี่ยนะครับ แค่นี้เรียกว่ารู้ไปเรื่อย ๆ ถูกแล้ว

 

แต่การรู้ไปเรื่อย ๆ ด้วยภาวะของจิตที่มันฟุ้งซ่าน ด้วยภาวะของใจที่มันซัดส่าย จะเป็นการรู้ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางทีมันก็มีกำลังที่จะรู้ มีความพร้อมที่จะรู้ขึ้นมา พอไปทำงานมีสมาธิ หรือว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ที่ผ่องแผ้ว

 

แต่ถ้าหากว่ากำลังเบื่อหน่าย หรือว่ากำลังอยู่ในอารมณ์ที่ฟุ้งซ่าน ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย จิตใจโยกเยกไปมา แบบนี้มันไม่สามารถรู้อะไรเลยนะครับ เพราะว่าความฟุ้งซ่านมันเอาไปกินหมด

 

เพราะฉะนั้นนอกจากจะรู้ไปเรื่อย ๆ ต้องถามตัวเองด้วยว่า เรามีฐานที่ตั้งของสติที่แน่นอนแล้วหรือยัง หรืออย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่าเป็น วิหารธรรม นะครับ

 

วิหารธรรม ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ชัด ๆ แล้วก็คะยั้นคะยอให้สาวกทุกคนทำ คุณสามารถไปดูหลักฐานได้ในพระไตรปิฎกว่า พระพุทธเจ้าตรัสย้ำแล้วย้ำอีกนะ อานาปานสติสำคัญที่สุดนะครับ เป็นเครื่องพยุง เป็นเครื่องทำให้สติของเราไม่พลาดไปเข้าช่องมารนะครับ

 

มาร ก็มีหลายแบบนะครับ มารภายนอก มารภายใน ส่วนใหญ่ก็คือมารภายในที่มารบกวนให้สติไขว้เขวออกนอกทาง ไม่สามารถที่จะเห็นอะไรแสดงความไม่เที่ยงได้นานนักนะครับ

------------------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม : ตามรู้ตามดูสภาวะไปเรื่อย ๆ ถูกต้องมั้ยคะ?

ระยะเวลาคลิป           ๒.๑๑ นาที
รับชมทางยูทูบ           https://www.youtube.com/watch?v=mcUBGjh9T_U&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=7

 
ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

จิตมีลักษณะเป็นคลื่นหรือไม่ หลายครั้งที่ผมเหมือนสัมผัสคลื่นความคิดคนอื่นได้ เช่น อยู่ใกล้คน ที่อารมณ์หงุดหงิด ต่อให้ไม่รู้ว่าเขาหงุดหงิดหรือไม่ ก็รู้สึกร้อนเหมือนเหนี่ยวนำให้เราหงุดหงิด ไปด้วย?

 

ดังตฤณ :  อันนี้เป็นสิ่งที่จริง ๆ แล้วพระพุทธเจ้าท่านสอนเลยนะ ท่านสอนให้สัมผัสจิตคน ถ้าอ่านสติปัฏฐานแบบตลอดสายจริง ๆ ท่านสอนให้อ่านวาระจิตคนได้ด้วย ไม่เชื่อลองไปอ่านดูนะ

 

คือขึ้นต้นมา ท่านให้รู้ลมหายใจตัวเองก่อน พอรู้ลมหายใจตัวเองแล้ว ก็ให้ไปดูว่าคนอื่นเขาหายใจยังไง มันมีเข้ามีออกเหมือนกัน มันมียาวมีสั้นเหมือนกัน แล้วเราจะพบว่า ความต่างมันอยู่ตรงที่ว่า ของเราเนี่ย มันยิ่งเจริญสติไปมาก มันยิ่งยาวขึ้น ยาวขึ้น  ของคนอื่นส่วนใหญ่จะสั้นลง สั้นลง นะครับ

 

พอได้รู้ว่า แต่ละลมหายใจมันมีสั้นมียาวไม่เท่ากัน เราก็จะเริ่มสัมผัสว่า แต่ละลมหายใจ มันนำพาเอาความสุข หรือว่าความทุกข์มา ถ้าเราสัมผัสได้ว่า ของตัวเองเนี่ยมีสติรู้ แล้วก็สัมผัสได้จริง ๆ ว่า ลมหายใจแต่ละระลอก มันพาความสุขและความทุกข์มาไม่เท่ากัน ไม่เท่าเดิม มันก็จะเริ่มจำได้ เริ่มเกิดความรู้ว่า ภาวะของสุข ภาวะของทุกข์ที่มากับแต่ละลมหายใจ ในคนอื่นก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เห็นเลยนั่ง ๆ ดูอยู่เนี่ยว่า เขากำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่ด้วยความรู้สึกเป็นทุกข์ หรือเป็นสุข อยู่ ๆ บางทีมันไปรู้เองเลยนะว่า เขากำลังคิดอะไร คิดถึงอะไร คิดเป็นอกุศล หรือว่าเป็นกุศล ไปรู้ภาวะของจิตเขาว่า มืดหรือสว่าง

 

ตัวภาวะของจิต ตัวภาวะของอารมณ์ มันก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลว่ามันเป็นคลื่น  แม้แต่กระทั่งร่างกายของเรา จริง ๆ แล้วก็เป็นคลื่น ถ้าในทางควอนตัมฟิสิกส์ มันเป็นคลื่นความสะเทือนของอะตอมที่มันมีพันธะต่อกัน

 

คือเราไม่ต้องเห็นเข้าไปถึงระดับอะตอม เห็นเอาแค่นี้ว่าลมหายใจกำลังเข้า ลมหายใจกำลังออกอยู่ เราก็ทราบถึงภาวะความเป็นคลื่นแล้วนะครับ

 

คลื่นที่มันเข้ามาเป็นคลื่นลม เป็นธาตุลม มีอาการพัดเข้า มีอาการพัดออก แล้วก็คลื่นโดยความเป็นคลื่นสดชื่น หรือว่าคลื่นแห่งความห่อเหี่ยว ถ้าสามารถรู้ได้ถึงภาวะความเป็นคลื่นเป็นระลอก ๆ นี้ได้อยู่ตลอด แล้วก็สามารถสังเกตเห็นว่า คลื่นของเราเป็นอย่างไร คลื่นของคนอื่นมันก็มีธาตุแท้ หรือความเป็นมูลฐานเหมือนกัน ไม่ต่างกันเลย มีความเป็นธาตุพัดเข้า พัดออก ที่เรียกว่าธาตุลม หรือมีความเป็นธาตุที่นำความสดชื่น หรือว่านำความเหี่ยวแห้งเข้ามาสู่ร่างกาย

 

คนหายใจสั้น คือ ผู้ที่เอาความเหี่ยวแห้งเข้าสู่ร่างกาย

คนหายใจยาว คือ ผู้ที่เอาความสดชื่นเข้าสู่ร่างกาย เนี่ยมันเป็นคลื่นเหมือนกัน แล้วการที่เราสัมผัสคลื่นของตัวเองได้ ก็ทำให้สัมผัสคลื่นของคนอื่นได้เป็นปกติด้วยเช่นกันนะครับ

 

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจหลักการ แล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจว่า จะอาศัยจุดสังเกตอย่างไรมาพัฒนาความสามารถตรงนี้ ก็จะงงนะว่า เอ๊ะ! เมื่อกี้ที่สัมผัสได้เนี่ย มันหลอกตัวเองหรือเปล่า อุปาทานไปหรือเปล่า แต่ทำไมพอไปคุยกับเขาว่า “เออเป็นอะไรรึเปล่า คิดมากรึเปล่า”  เออมันกำลังคิดมากอยู่จริง ๆ  แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไมเราถึงรู้นะครับ

 

ทีนี้ถ้ามาดูที่พระพุทธเจ้าสอน ก็จะทราบเป็นขั้นเป็นตอนเลยนะครับว่า ท่านสอนให้รู้วาระจิตคนอื่นได้ยังไงนะครับ แต่จริง ๆ ทางพุทธสอนให้รู้วาระจิตคนอื่น ไม่ใช่เพื่อที่จะไปจับไต๋เขานะครับ แต่ว่าเพื่อที่จะให้เห็นว่า ไม่ต่างกันเลยกับภาวะของเรา ชีวิตของเรา นะครับ ของเราเป็นอย่างไร ของเขาเป็นอย่างนั้น ของเราเป็นยังไง มันมีความไม่เที่ยง มีความไม่ใช่ตัวเดิม มีความไม่ใช่ตัวตนอยู่ตลอดเวลา ของคนอื่นก็อย่างนั้น ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเดิม เพราะไม่ใช่ตัวตน!


-------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม :  จิตมีลักษณะเป็นคลื่นหรือไม่ หลายครั้งที่ผมเหมือนสัมผัสคลื่นความคิดคนอื่นได้ เช่น อยู่ใกล้คนที่อารมณ์หงุดหงิด ต่อให้ไม่รู้ว่าเขาหงุดหงิดหรือไม่ ก็รู้สึกร้อนเหมือนเหนี่ยวนำให้เราหงุดหงิดไปด้วย?

ะยะเวลาคลิป           ๕.๐๘ นาที
รับชมทางยูทูบ           https://www.youtube.com/watch?v=dz9phwYnj9I&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=8

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

 ** IG **

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

วันที่ 22 สิงหาคม 2563


ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์สามทุ่มนะครับ

 

สำหรับคืนนี้ก็เป็นปัญหาของจิตใจคนยุคเรานะ ยุคโควิด แล้วก็ยุคที่หลายๆ ท่านนะครับก็มีทั้งเรื่องรุมเร้าเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่บ้าน ทั้งเรื่องส่วนตัวทั้งที่ทำงาน เพราะมันกระทบกันหมดนะช่วงนี้ แล้วก็แม้แต่นักเจริญสตินะครับ ผู้ที่ภาวนาอยู่กับในเมือง ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหา แล้วก็อะไรที่ถาโถมเข้ามาหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง ที่บ้านเมืองวุ่นวาย หรือว่ามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันต่างๆ

 

ก็เลยหลายๆ อารมณ์นี่ประดังกันเข้ามา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย อยากใช้ชีวิตแบบซังกะตาย ตื่นขึ้นมาแล้วเหมือนเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม ที่จะตื่นขึ้นมาแบบสดชื่น หรือว่ามีความหวัง มีเป้าหมายชัดเจนว่าอะไรๆ จะรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองมันน้อยลง ก็เลยเป็นปัญหาตรงนี้ ที่มาว่า คนร่วมสมัยกับเรา มีความรู้สึกท้อแท้ มีความรู้สึกเหนื่อย

 

ซึ่งนานๆ เข้าก็กลายเป็นความเบื่อ ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้า แต่ก็มีสัญญาณ ประมาณว่าจิตใจห่อเหี่ยว มีความรู้สึกว่าเซ็งๆ เบื่อๆโลก ไม่อยากจะให้ตัวเองต้องมาเห็นอะไรซ้ำๆ หรือว่าต้องมาพยายามต่อสู้กับอะไรที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่

 

เพราะฉะนั้น อันนี้ ถือว่าเป็นอารมณ์ร่วมสมัย ไม่ใช่ว่า คุณไม่เก่ง หรือต่อให้นักเจริญสติ ไม่ใช่ว่าคุณภาวนาไม่ได้ผล แต่เป็นปกติ ถ้าหากว่าทุกขเวทนามันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แล้วก็เป็นทุกขเวทนาที่คุณไม่ทราบจะจัดการกับมันอย่างไร ให้ต้นเหตุ ต้นตอหายขาด หายไปจากโลก ก็เกิดความเบื่อเป็นธรรมดา เกิดความรู้สึกแหนงหน่าย คลายความยินดีที่จะตื่นขึ้นมาแล้วใช้ชีวิตแบบเดิมๆ นะ

 

ทีนี้ ถ้าในมุมของนักเจริญสติ เราตัดเรื่องต้นเหตุแบบโลกๆ ออกไป เหลือแค่โจทย์ที่ว่า ทำอย่างไร เจริญสติท่าไหน ความรู้สึกเบื่อหน่ายถึงจะหายไปจากใจเราได้ ถึงจะเลิกครอบงำชีวิตเราได้นะครับ

 

ถ้าเป็นความพยายามแบบโลกๆ ก็คือ พยายามจะสดชื่น อย่างที่แนะนำกัน คุ้นปากนะครับก็คือว่า พยายามทำใจให้มันสดชื่น หรือถ้าใครมีทางเลือกหน่อย ยังมีเงินอยู่พอสมควรก็อาจไปเที่ยวไกลๆ

 

ไปเที่ยวไกลๆ นี่ ทำไมถึงได้หายเบื่อรู้ไหม เพราะชีวิตมันย้ายที่ มันย้ายจุดออกไปห่างจากของเดิม ก็เกิดการปรุงแต่งให้ความรู้สึกนี่ เหมือนกับว่าหลุดออกมาจากชีวิตแบบเดิม มามีชีวิตอีกแบบหนึ่ง มามีชีวิตใหม่ หลายคนก็เลยลงทุนที่จะไปซื้อที่ซื้อทาง ที่ไกลๆ ที่อยู่ชายเขาหรือริมทะเล เพื่อที่จะไปเปิดสมอง แล้วก็ให้ชีวิตอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ

 

บางคนซื้อไว้ไม่รู้กี่สิบล้าน ไม่ได้ไปสักครั้ง เพราะว่าซื้อไว้ตั้งใจจะไป แต่ไม่มีเวลาจะไป เพราะว่า ... ความขัดแย้งมันตรงนี้ พอมีเงินเยอะ แล้วไปซื้อทื่ซื้อทาง ไปซื้อบ้าน ไปซื้อรีสอร์ตส่วนตัวได้ มีเงินขนาดนั้น ก็ไม่มีเวลา เพราะว่าเวลาต้องเอาไปหาเงินหมด แต่ถ้าคุณมีพร้อมพอทั้งเงิน แล้วก็เวลาที่จะไป อันนี้ก็โชคดี 


คือหลายคนก็แก้เบื่อด้วยวิธีแบบโลกๆ ได้ ดูหนังฟังเพลง แต่ดูหนังฟังเพลง พูดกันจริงๆ ไม่เหมือนกับไปตากอากาศไกลๆ นะ แตกต่างกันเยอะ เพราะว่าดูหนังฟังเพลงก็แค่นั้นน่ะ คือถ้าสมมติหนังไม่สนุกขึ้นมา มันเร้าใจ เร้าอารมณ์ของคุณไม่ได้ หรือว่าเปลี่ยนอารมณ์ จากเดิมที่ซังกะตายเบื่อหน่าย ให้ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือขยับเคลื่อนไหวได้ ชั่วขณะที่ดูหนังฟังเพลง แต่ก็เหมือนหนังจบ อารมณ์เก่าก็กลับมาใหม่ ที่เหมือนจะตกตะกอนไปแล้ว ก็กลับขึ้นมา เคลื่อนกลับมาครอบงำจิตใจและร่างกายใหม่

 

ก็เลยกลายเป็นว่ายิ่งพยายามอย่างโลกๆ ยิ่งทำใจให้สดชื่น บางทีไม่ได้ผลเสมอไป บางทีกลายเป็นยิ่งฝืด ต้องฝืนที่จะเอนเตอร์เทนตัวเอง ทำความบันเทิงให้ตัวเอง อะไรก็แล้วแต่ที่มันฝืน ที่รู้สึกฝืดอยู่ข้างใน ในที่สุดก็เกิดความทุกข์ ความทุกข์ที่เหมือนกับเราเบื่ออยู่ใช่ไหม แล้วพยายามแล้วที่จะสดชื่น แต่ไม่สำเร็จ ก็ยิ่งกลายเป็นทับถมความทุกข์ทวีตัวขึ้นไป กลายเป็นเบื่อซ้อนเบื่อ หลายคนก็เลยรู้สึกเซ็งโลก

 

จะมีช่วงจังหวะที่แต่ละคน มาถึงจุดหนึ่งที่บอก โอ้โห โลกนี้ไม่น่าอยู่เลย ชีวิตนี่มีไป ไม่ว่าคุณจะล้มเหลว หรือว่าประสบความสำเร็จอะไรไป ในที่สุดไปถึงจุดหนึ่งเหมือนๆ กันหมดคือความเบื่อ เกิดความรู้สึกว่าอะไรๆ มันช่วยให้จิตใจคุณรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า หรือว่าตื่นตัวไม่ได้จริงๆ นะ

 

ทีนี้ถ้าในแง่ของคนที่อาจเริ่มรู้จักธรรมะ ถ้าคำแนะนำแบบธรรมะนี่ ก็มีบางแนวทางที่ใกล้เคียงนะ เข้าจุด จะบอกว่า เออ ถ้าเบื่อหน่ายนี่ หาทางทำให้มันตื่น ทำให้มันเบิกบานสิ เข้าสมาธิ หรือว่าถ้าทำสมาธิไม่เป็น เดินจงกรมไม่ได้ ก็ให้วางใจเป็นอุเบกขากับความเบื่อ

ซึ่งบางคนนี่ ถ้าบังเอิญมีปัจจัยบางอย่างที่พร้อม พอจะให้มีสติ รู้ความเบื่อได้ ก็โอเค ก็เริ่มเห็นว่าความเบื่อเป็นสภาวะครอบงำชั่วคราว แล้วก็หายไป แต่คนส่วนใหญ่เอาเป็นว่านะ ผมว่าเกิน 80% หรือมากกว่านั้น อาจ 90% เลยก็ได้ พอไปพยายามที่จะมีสติรู้ความเบื่อ นอกจากไม่หายเบื่อ แล้วยังเกิดความอึดอัดซ้อนเข้าไปอีก เพราะว่ามันพยายาม

 

คนเรานี่ พอบอกให้วางเฉยนี่นะ จะมีความพยายามนำหน้ามาเสมอ พยายามที่จะวางเฉย ตัวพยายามนั่นแหละ ไม่เฉยแล้ว ไม่วางแล้ว กลไกทางจิตตรงนี้ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ แล้วก็ถ้าไม่เข้าใจ พอไปพยายามผิดๆ ก็เกิดความรู้สึกอึดอัด ระอา เกิดความรู้สึกไม่ได้ผล ธรรมะใช้ไม่ได้ ธรรมะกำจัดความเบื่อให้ฉันไม่ได้

 

ทีนี้ เรามามองแบบให้แฟร์ๆ (Fair) กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะ ท่านสอน เจริญสติ 


ถ้าหากว่า เจริญสติมาถูกทาง หายใจเป็น มีสติรู้ลมหายใจถูกต้อง จนกระทั่งสามารถรู้อิริยาบถปัจจุบันได้นี่นะ สิ่งแรกที่มันจะปรากฏเป็นประสบการณ์ทางจิตของคุณทันทีก็คือ คุณจะเกิดความรู้สึกตื่นตัวขึ้น

 

นี่นะ ง่ายๆ แค่ตอนนี้ ถ้าใครก็ตามที่กำลังดู แล้วยังมีความเบื่อ มีความรู้สึกเซ็งๆ หน่ายๆ เหนื่อยๆ อยู่นี่นะ หายใจให้สดชื่นแค่ครั้งหนึ่ง ยาวๆ แล้วหายใจแบบที่คุณจะรู้ เข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบัน ไม่ใช่หายใจด้วยอาการเพ่ง เคร่งเครียด หรือว่าจงใจที่จะจับให้มั่น คั้นให้ตายว่าลมหายใจนี่เข้า ลมหายใจนี้ออก จงสงบ จงมีความผ่อนคลาย 


แบบที่มันมีความฝืนน่ะ มันไม่สำเร็จหรอก ไม่ได้เป็นสติ เป็นการที่เรารู้สึกว่ามันบังคับตัวเอง มีอะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นในใจ เกิดขึ้นในกายของเรา

 

แต่ถ้าหากว่าเรารู้อย่างถูกต้อง หายใจยาวๆ ทีหนึ่ง สบายๆ เนื้อตัวผ่อนคลาย ในแบบที่ทำให้รู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบัน

เมื่อกี้ลมหายใจเข้ามาที่ไหน มันเข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบันนี้ คุณจะเกิดความรู้สึกตื่นตัวขึ้น พอตื่นตัวขึ้น คราวนี้เริ่มมีกำลัง จะเริ่มเห็นอะไรอีกแบบหนึ่ง

 

ความเบื่อนี่ จากเดิมที่มันเกาะกุมจิตใจเต็มดวงเลย แน่นหนาเลย เหมือนกับมีเมฆหมอกมาเกาะ มาทำให้เกิดฝ้าบนกระจก มองไม่เห็นอะไรเลย มันกลายเป็นเริ่มเห็นฝ้า เริ่มเห็นว่าที่เป็นฝ้านั้น คือหมอก คือควัน คือจากเดิมนี่มองไม่เห็นนะ ว่าเป็นหมอกควัน เพราะมาเกาะกระจก มาเกาะจิต มากุมไว้หมด คราวนี้จิตมันถอยห่างออกมา เหมือนกับเริ่มเห็นว่าภาวะความเบื่อเป็นก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง

 

คนนะ ถ้าไปถึงจุดที่เริ่มมีสติ เห็นว่าความเบื่อเป็นก้อนภาวะก้อนหนึ่ง คราวนี้จะเริ่มเท่าทัน อย่างตอนที่มันหายไป จะรู้สึกเหมือนกับยกภูเขาออกจากอก หรือว่าฝ่าสายหมอกหนาๆ ออกไปสู่ที่โล่งแจ้งได้ คุณก็จะเกิดความรู้สึกว่า หูตาตื่น หรือเหมือนกับทะลึ่งพรวดขึ้นมาเหนือน้ำ จากเดิมที่จมน้ำ แล้วก็รู้สึกหายใจไม่ออกอยู่ กลายเป็น เออ ขึ้นมาอยู่กับอากาศว่าง สบาย หายใจได้คล่อง นี่คล้ายๆ แบบนั้น ความรู้สึกทางจิตมันจะแบบนั้น

 

สรุปคือถ้าอันดับแรกนะ ขั้นแรกนะ ถ้าคุณหายใจเป็น หายใจในแบบที่จะรู้สึกเข้ามาในอิริยาบถปัจจุบันได้ คุณจะสามารถเห็นความเบื่อโดยความเป็นก้อนทุกข์ได้ ก่อนหน้านั้นมองไม่เห็นนะ

 

ทีนี้ พอเริ่มเห็นความเบื่อโดยความเป็นก้อนทุกข์ได้ เกิดอะไรขึ้น คุณจะมีความสามารถเท่าทัน ว่าที่ลมหายใจไหน หรือว่าที่อิริยาบถใด กำลังเดิน กำลังยืน กำลังนอน หรือว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ที่ความเบื่อนี่ มันเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามา พยายามจะครอบงำจิตใจคุณ

 

คือตอนแรกๆ นี่ พอคุณยังไม่คุ้นกับการเจริญสติ เห็นความเบื่อนะ คุณจะรู้สึกว่าความเบื่อมันมาตอนไหน มันเหมือนกับอึนๆ อยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อมองเห็นว่าความเบื่อเป็นก้อนทุกข์ก้อนหนึ่งได้ ตอนนั้น คุณจะเริ่มมีสติ แยกแยะออกว่า จิตใจที่ปลอดโปร่ง ว่างสบาย สดใส เป็นแบบหนึ่ง แต่พอเริ่มมีความเบื่อเคลื่อนตัวเข้ามาเกาะกุมเท่านั้นแหละ ความสดใสนั้น กลายเป็นความมัวหมอง กลายเป็นความรู้สึกเหมือนกับมีอะไรมาบังๆ มีอะไรมากุมๆ มีอะไรมาบีบ ให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตไม่ดี ชีวิตนี่แย่ ชีวิตนี่ไม่น่าเอา ไม่น่าตื่นนอนขึ้นมาทำอะไรให้มันเลย

 

พอคุณสังเกตออกว่า ความเบื่อ เป็นสภาวะหนึ่งที่เคลื่อนเข้ามาครอบงำจิตได้ คุณจะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของมันได้ด้วย และยิ่งไปกว่านั้น คุณจะสามารถต่อยอดสติ เข้ามารู้ว่าภาวะความเป็นกาย ณ ขณะกำลังเบื่อ หน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะเกร็งๆ หรือไม่ก็มีอาการหย่อนยาน คือไม่อยู่ในสภาพงอมืองอเท้า ก็มีความรู้สึกเกร็งๆ ฝืนๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ความเบื่อ ถ้าเบื่อจริงๆ คุณไม่มีทางสบายเนื้อสบายตัว เพราะอะไร เพราะว่าจิตใจที่มีความเบื่อ มันจะทำให้ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถไหน สบายอยู่ หรือว่าอึดอัดอยู่

 

แต่พอมีสติ รู้เท่านั้นแหละ มันสามารถที่จะสำรวจกายได้ด้วยว่า ณ ขณะที่กำลังเบื่อ มันเกร็งอยู่ตรงไหน ส่วนไหน คอกำลังก้มอยู่ หรือหลังกำลังงออยู่ หรือว่ามือกำลังกำ คิ้วกำลังขมวด แล้วก็มีอาการกดคอ คล้ายๆ มีน้ำหนักอะไรบางอย่างที่ไม่มีตัวตนมากดคอ ให้ตาดิ่งลงพื้น

 

ลักษณะที่ปรากฏทางกาย เวลาที่เบื่อนี่นะ ยิ่งคุณสามารถที่จะรู้ได้ทั่วพร้อมมากขึ้นเท่าไหร่ คือรู้สึก ทำความรู้สึกตั้งแต่หัวจรดเท้าว่า หน้าตาเป็นแบบนี้ คุณจะยิ่งเข้าใจภาพรวมของภาวะเบื่อได้แจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น

 

จำไว้นะ ถ้าคุณเห็นกายทั่วพร้อมแบบสบายๆ ได้ ตอนนั้นจิตของคุณมีความตื่น มีความเต็ม พอประมาณ เพียงพอที่จะได้เห็นว่าสภาวะทางกาย สภาวะทางใจ ณ ขณะเบื่อ มันเป็นของชั่วคราว ที่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวคุณ ตัวความเบื่อนี่ ไม่ใช่ตัวคุณ

 

สรุปนะ คือเริ่มต้นขึ้นมา อย่าไปจ้องความเบื่อทันทีนะ ให้รู้กายก่อน รู้ลมหายใจ รู้อิริยาบถ แล้วค่อยไปรู้ความเบื่อ โดยความเป็นภาวะครอบงำ รู้ว่าความเบื่อเป็นทุกข์ แล้วความทุกข์นั้น มันไม่เที่ยง ตอนที่เกิดสติ เห็นความเบื่อเป็นทุกข์แล้วก็ไม่เที่ยงได้ จิตจะปลอดจากภาวะเบื่อชั่วขณะ ซึ่งสภาพปลอดจากภาวะเบื่อนั้น คุณก็จะเปรียบเทียบเห็นได้ทันทีว่า นี่ หน้าตาของความรู้สึกไม่เบื่อ จิตที่ปลอดโปร่ง มันเป็นสุข แตกต่างจากภาวะที่เป็นทุกข์ ณ ขณะเบื่อ

 

แล้วทั้งความรู้สึกอึนๆ ตอนเบื่อ เป็นทุกข์ตอนเบื่อ กับตอนที่เป็นสุข ตอนที่หายเบื่อแล้ว มีความเหมือนกัน คือมันไม่เที่ยง

 

สวนใหญ่นี่ คนที่ขี้เบื่อ หรือว่ามีอาการเบื่อมาเกาะกุมจิตใจบ่อยๆ นี่นะ ช่วงแรกๆ ฝึกไปนี่ จะมองเห็นแค่ว่า เบื่อได้แป๊บหนึ่ง แล้วก็กลับมาปลอดโปร่ง ปลอดจากความเบื่อ ปลอดจากความเบื่อแป๊บหนึ่ง ก็กลับมาเบื่อใหม่ เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยทิศทางของการตั้งสติรู้ ตั้งสติดูแบบนี้ ในที่สุดแล้ว จะรู้สึกขึ้นมาเองว่า ทั้งทุกข์จากความเบื่อ และทั้งสุขจากการปลอดความเบื่อ เสมอกันตรงที่ มันไม่เที่ยง แล้วแต่เหตุปัจจัย ทางภาวะ กาย อารมณ์ แล้วก็จิตของคุณ

 

อย่างนี้ ไม่ว่าคุณจะไปเบื่อด้วยข้ออ้างใดๆ ด้วยความจริงหรือสาเหตุอันใดก็ตาม คุณสามารถที่จะรับมือกับมันได้หมด รับมือด้วยการหายใจเข้าทีหนึ่ง ด้วยความสดชื่น หายใจในแบบที่สดชื่นมารู้อิริยาบถปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ว่าสดชื่น แล้วลืมว่าตัวเองกำลังอยู่ท่าไหน

 

แค่หายใจสดชื่นได้ รู้ตัวได้ ก็รู้ได้ว่าความเบื่อกำลังเกาะกุมจิตใจเราอยู่หรือเปล่า พอเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตน นี่แหละ จุดสุดท้ายนะ ที่มาถึงหัวข้อของวันนี้ก็คือ มันจะเกิดความวางเฉย เป็นอุเบกขาได้เอง

 

ไม่ว่าคุณจะเบื่อแสนเบื่อแค่ไหน สามารถกำจัดได้ด้วยอุเบกขา ตามลำดับแบบนี้เสมอ

 

จำไว้ดีๆ นะ เดี๋ยวต้องมีแน่ๆ บอกว่า พยายามวางเฉยแล้วไม่เห็นเฉยเลย คนส่วนใหญ่จะเอาอะไรง่ายๆ แบบที่ไม่ต้องพยายาม แล้วก็ไม่ต้องทำความเข้าใจ ผมทราบดีนะ ผมเองก็เคยเป็นแบบนั้น แต่ในโลกความจริง โลกของการเจริญสติ คุณจะพบว่าจิตใจมีกลไกที่ซับซ้อน ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจทั้งหมด บางทีเราขาดกลไก ขาดอาวุธ ขาดอุปกรณ์ ขาดเครื่องมือที่จะไปสู้กับกิเลสที่เข้ามา ความเบื่อที่เข้ามา หรือว่านิวรณธรรมทั้งหลาย ที่จะถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้

 

แต่ถ้าคุณเข้าใจจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนเจริญสติ รู้ลมหายใจให้ได้ก่อน นำมา พอลมหายใจนำมาสู่ความรู้เนื้อรู้ตัวว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถไหน ตรงนั้นแหละที่คุณจะเริ่มพร้อมดูนะ ทั้งสุขเวทนา และทุกขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยงนะครับ!

__________

ถอดความ : เอ้

 

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

 ดังตฤณ :  ทุกท่านที่ได้อยู่ร่วมกับไลฟ์รายการปฏิบัติธรรมที่บ้านมาจนถึงช่วงนี้ ก็คุ้นเคยกันดีนะครับ ทราบกันดีว่าเราจะสวดมนต์เพื่ออะไร แล้วก็อาศัยเทคโนโลยีเสียงมาช่วยยังไง 

 

สำหรับคนที่ใหม่ ซึ่งมีทุกครั้งทุกตอน ขอบอกว่า ต้องอาศัยหูฟังนะครับ อย่างเมื่อช่วงต้นรายการเราไม่ได้ใช้หูฟัง เราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเสียงมาช่วย เราใช้แค่นิมิตองค์พระให้มาประดิษฐานอยู่ในห้วงมโนทวารของเรา

 

แต่ช่วงท้ายนี้ เราเอาเสียงที่ผมตั้งชื่อว่า เสียงสติ มาช่วยให้สวดมนต์ได้อย่างมีสมาธิ อย่างมีโฟกัสแบบไม่วอกแวกมากขึ้น

 

คุณจะได้เห็นนะว่า การสวดมนต์แค่อย่างเดียวมีความพิสดารหลากหลายไปได้ต่าง ๆ นะครับ เดี๋ยวเรามาเริ่มกัน สวดอิติปิโสเหมือนเดิม แต่ว่าคราวนี้ เราจะมีเสียงสติมาช่วยด้วย เรามาเริ่มกันเลยนะครับ

 

คุณดังตฤณนำสวดมนต์โดยใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์

 

ก็จบกันไปนะครับ สำหรับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนนี้ในหัวข้อ “พลังพุทธคุณจากการสวดถวายพร” นะครับ

 

ถ้าหากว่ามีจิตที่ว่างที่เบาจากการสวด มีจิตเป็นกุศล รู้สึกสว่างนะครับ ก็อาศัยจิตที่สว่าง พอสวดเสร็จยังไม่ลืมตา มองนิ่ง ๆ ตรง ๆ ไปข้างหน้า แล้วให้น้อมว่า ความสุขความสว่างความเบาที่เกิดขึ้น จงได้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ไม่ว่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือว่าเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่าก็ตาม

 

ถ้าหากว่า ใจของเราน้อมไปทางที่จะเผื่อแผ่ความสุขแบบนี้ไปให้กับทุกคนที่มีสิทธิ์ได้รับเนี่ยนะครับ มันจะเกิดทิศทางในใจเป็นความเมตตา เป็นความรู้สึกปรารถนาดี เป็นความรู้สึกพร้อมที่จะไม่เบียดเบียนกับใคร ๆ ในโลกนะครับ ตรงนี้แหละ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสมาธิแบบพุทธ สมาธิในทางที่จะไม่เบียดเบียนกัน สมาธิในแบบที่ไม่มีทางที่วันนึงจะหลงเข้าไปอยู่ในพวกที่เล่นไสยศาสตร์มืด เสกหนังควายเข้าท้อง หรือว่าทำร้ายคนด้วยจิตที่เป็นสมาธิอะไรต่างๆ แต่จะเป็นสมาธิในแบบที่มีแต่นึกอยากให้ความสุข นึกอยากให้การไม่เบียดเบียน นึกอยากให้ตัวเองเป็นที่ตั้งของความปลอดภัยแก่ทุกคนในโลกนะครับ

 

เอาล่ะคืนนี้ก็ขอร่ำลากันที่ตรงนี้นะครับ ราตรีสวัสดิ์ครับ

--------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓
                              รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พลังพุทธคุณจากการสวดถวายพร

ช่วง                              สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ                         

ระยะเวลาคลิป           ๕.๑๗ นาที
รับชมทางยูทูบ               https://www.youtube.com/watch?v=CF0__Wx107A&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6