วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อุเบกขากับการปล่อยวาง เหมือนกันหรือไม่?

 ดังตฤณ :  พูดอย่างนี้ก่อน ความปล่อยวางแบบที่คุย ๆ กัน แบบที่พูด ๆ กันเนี่ยนะ จริง ๆ แล้วเป็นของสูงนะครับ แต่ว่าเรามักจะไปแนะนำกันดื้อ ๆ “ให้ปล่อยว่างสิ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น”  มันเป็นไปไม่ได้นะ คือต้องเข้าใจนะ คำว่า ปล่อยวาง เป็นของสูงนะครับ

 

จิตที่ปล่อยวางได้จริงแบบที่ไม่ยึดไม่คืนไม่เอากลับคืน คือจิตของพระอรหันต์เท่านั้นนะครับ แม้แต่จิตของพระอนาคามีก็ยังไม่ปล่อยวาง นี่ต้องทำความเข้าใจแบบระดับสูงสุดเลย เอาสุดขั้วเลยมันจะได้เข้าใจว่าการปล่อยวาง คำว่า ปล่อยวาง เป็นของสูงยังไง

 

พอพระอรหันต์ท่านบรรลุอรหัตตผล จิตของท่านปล่อยวางแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องตั้งใจปล่อยวาง แต่จิตไม่ยึดเอง อยู่ในอาการที่เป็นธรรมชาติของการไม่ยึด ไม่หลงไปสำคัญผิดอีกแล้วว่า กายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน แต่เห็นอยู่ตลอดเวลาว่า กายนี้ใจนี้เป็นแค่เหยื่อล่อ เป็นแค่ภาวะรับอารมณ์กระทบให้เกิดความฟุ้งขึ้นมา มีสภาวะปรุงแต่งจิตขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง ๆ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ต่างไปเรื่อย ๆ มันไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในนี้ อันนี้พระอรหันต์ จิตของท่านปล่อยวางได้แบบนี้จริง ๆ

 

แต่ปล่อยวางในความหมายของคนธรรมดาทั่วไป คือแกล้งปล่อยด้วยความคิดว่า เราจะไม่สนแล้ว แต่ใจเนี่ย ยังแอบสนอยู่ อย่างเช่น พยาบาทใครเขาแล้วบอกปล่อยวาง อย่าไปยึดมั่นบุคคลที่ทำให้เราเกิดความพยาบาท มันแกล้งปล่อย แกล้งวางความพยาบาทได้แป๊บนึง เดี๋ยวมันก็วกกลับเข้ามาใหม่ ทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคือง อาฆาตแค้น อยากจะทำร้ายคืน อยากจะให้เขารู้สำนึกเสียบ้าง วนไปเวียนมาอยู่แบบนี้ มันไม่ปล่อยวางจริง มันปล่อยวางชั่วคราว ณ ขณะที่คิดจงใจปล่อยวาง นี่เรียกว่าปล่อยวางแบบปุถุชน ปล่อยวางแบบหลอก ๆ

 

ทีนี้ถ้าเจริญสติขึ้นมาจนกระทั่งเริ่มระแคะระคาย เริ่มเห็นได้บ้างแล้ว มีสติเห็นขึ้นมาเป็นวูบ ๆ แล้วว่า กายนี้ใจนี้สักแต่เป็นของหลอกให้หลงยึดไปว่า นี่เรา นี่ของเรา นั่นเขา นั่นของเขา

 

พอเริ่มระแคะระคายได้แบบนี้ มันจะปล่อยอีกแบบหนึ่ง มันไม่ใช่ตั้งใจปล่อย ไม่ใช่คิดจะปล่อย แต่เป็นรู้สึกว่า ไม่เห็นน่ายึดเลย อะไร ๆ ที่มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ลมหายใจเนี่ยนะครับ ถ้าหากว่าดูครั้งแรก เข้า-ออก ดูแค่นี้ แต่พอดูซ้ำไปซ้ำมา เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก จนกระทั่งเกิดสมาธิจิตขึ้นมา เห็นว่าอาการเข้า อาการออก มันเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสาย ไม่เห็นมีลมหายใจสายไหนที่มันจะอยู่ยั้งกับตัวเรานะครับ

 

ตรงนี้มันเริ่มเกิดความระแคะระคายแล้วว่า ลมหายใจเนี่ย มันสักแต่เป็นธาตุลม ไม่ใช่เราเป็นผู้หายใจด้วย แต่ร่างกายมันเป็นผู้ที่สูบลมเข้า แล้วก็พ่นลมออกตามธรรมชาติธรรมดาของกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์ ซึ่งยังมีความรู้สึกว่า จิตใจของเราเป็นตัวเราอยู่เนี่ยนะครับ มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกระบวนการหายใจที่มันเกิดขึ้นตามธรรมชาตินั้นเลย

 

ตัวนี้มันจะเริ่มปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในลมหายใจ เสร็จแล้วพอเห็นขยับขึ้นไปอีกนะว่า แม้แต่ความสดชื่น แม้แต่ความรู้สึกเฉย ๆ ที่มากับแต่ละลมหายใจ มันก็ต่างไปเรื่อย ๆ เป็นภาวะที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร นี่ตัวนี้มันก็จะปล่อยวางไปอีกขั้นหนึ่ง

 

ทีนี้พอเริ่มเห็นทั่วพร้อม เริ่มเห็นแม้กระทั่งจิตผู้รู้ ผู้ที่กำลังเฝ้าสังเกตการณ์ความไม่เที่ยงของลมหายใจ และความสุขความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นในแต่ละขณะเนี่ยนะ ตัวจิตเองก็ไม่เที่ยง บางทีก็ประกอบด้วยสติ บางทีก็ขาดสติ บางทีก็มีความฟุ้งซ่าน ฟุ้ง ๆ วุ่น ๆ ขึ้นมา บางทีความฟุ้งซ่านก็สงบเงียบไป นี่ภาวะทางจิต ภาวะรู้ภาวะดูเอง มันก็กำลังแสดงความไม่เที่ยงเช่นกัน ไม่แตกต่างจากลมหายใจเลย

 

ตัวนี้เวลาที่มันเกิดอุเบกขาขึ้นมา มันจะเริ่มจากการที่จิตนิ่งว่างเป็นผู้ดูว่า เออเนี่ยมีสมาธิในการดู ดูแบบเงียบ ๆ ว่าไม่มีอะไรสักอย่างที่มันเป็นภาวะในตัวในตน เวลาที่มันปล่อยวาง มันจะเริ่มปล่อยด้วยความรู้สึกว่า มีความเข้าใจในภาวะที่กำลังแสดงตัวว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนจริง ๆ

 

ตัวนี้แหละที่เป็นอุเบกขาในอีกระดับหนึ่ง ถ้ายังข้ามจากปุถุชนไปเป็นอริยบุคคลไม่ได้ ก็ไปอยู่ที่สิ่งที่เรียก สังขารุเปกขาญาณ หรือว่า ความมีอุเบกขาในกายในใจนี้ แล้วอาการที่จิตมันปล่อยวาง มันจะไม่รู้ไม่ชี้กับสภาวะความเป็นไปภายในขอบเขตกายใจนี้ มันจะเห็นเหมือนกับเป็นโพรงไม้ว่าง ที่มีจิตวิญญาณที่ไร้รูปไร้ตัวตนเข้ามาอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว

 

อุเบกขาในระดับนี้ มันจะปล่อยวางในระดับที่ใกล้เคียงกับอริยบุคคล แต่อริยบุคคลต่อให้เป็นโสดาบันแล้ว หรือเป็นสกทาคามีแล้ว หรือกระทั่งเป็นพระอนาคามีแล้ว จิตของพวกท่านก็ปล่อยวางได้แค่ชั่วขณะ คือมันยังปล่อยวางหมดจดแบบพระอรหันต์ไม่ได้ในความรู้สึกในตัวตน

 

เพราะฉะนั้น เข้าใจนะครับ อุเบกขา กับ ปล่อยวาง เราต้องทำความเข้าใจว่า เรากำลังพูดถึงอะไร ถ้าอุเบกขามันมีหลายแบบเหลือเกิน .. อุเบกขา “เออ! เนี่ยพวกนี้เขาตีกัน” เราอุเบกขาเพราะว่าห้ามไม่อยู่ นั่นก็เรียกว่า อุเบกขา

 

หรือ อุเบกขาแบบที่ว่า “เนี่ยเราพยายามแก้ปัญหาแล้ว พยายามทำให้เขาเห็นความจริง เห็นว่าอะไรถูกอะไรผิดแล้ว แต่เขาสมัครใจ เขาปักใจที่จะเห็นผิดอยู่อย่างนั้น”  นี่เราก็บอกอุเบกขา  นี่ก็คืออุเบกขาเหมือนกัน แต่บางทีมันไม่ได้ปล่อยวางนะ อุเบกขาว่า เออพยายามเต็มที่แล้ว แต่มันไม่สำเร็จ ก็เลยต้องอุเบกขา ก็เลยวางใจว่าจะเฉย แต่จริง ๆ ใจมันไม่ได้ปล่อยวางหรอก

 

ทีนี้ถ้ามาพิจารณากายใจ ถ้าเห็นว่ากายไม่เที่ยง ใจไม่เที่ยงได้ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เออเนี่ยไม่น่ายึด อันนี้เรียกว่าเป็นการปล่อยความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งภาวะนั้นจะนำไปสู่อุเบกขาแบบที่จะพัฒนาขึ้นเป็นการตรัสรู้ธรรมหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่า กำลังสมาธิของเราจะพยุงประคองภาวะอุเบกขานั้นไว้ได้นานแค่ไหน ยิ่งภาวะอุเบกขานั้นเกิดขึ้นนานเพียงใด นั่นแหละตัวนี้มันก็จะยิ่งมีความเข้าใกล้การตรัสรู้ธรรมขึ้นมา อย่างที่พระพุทธเจ้าให้สำรวจตัวเองด้วยโพชฌงค์นะครับ หนึ่งในองค์ของโพชฌงค์ หรือเครื่องตรัสรู้ก็คือ อุเบกขา นะครับ

------------------------------------------

๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา

คำถาม : อุเบกขากับการปล่อยวาง เหมือนกันหรือไม่?

ระยะเวลาคลิป
           ๘.๔๖ นาที
รับชมทางยูทูบ          https://www.youtube.com/watch?v=1UUvoq7zHcM&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6
 

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น