ดังตฤณ : คำตอบง่ายๆเลยคือ ประการแรก อย่าคาดหวังว่าพอดูลมหายใจแล้วมันจะหยุดเครียดหยุดกดดันได้ทันใดทันทีนะครับ
ขอให้ตั้งมุมมองไว้ว่า
การเจริญสติที่แท้จริง คือการที่เรามีความสามารถรู้ว่า ภาวะกดดัน ณ
ขณะนั้นมันกำลังมีความเข้มข้น หรือเบาบางเพียงใด แล้วจะแตกต่างไปแค่ไหน
ถ้าหากว่าคุณมีแต่ความคาดหวังว่า
จะดูลมหายใจแล้วหมดความกดดันทันที นี่ไม่ใช่การเจริญสติ แต่เป็นการเจริญความอยาก
เป็นการเจริญตัณหา เจริญตัณหายังไง เจริญตัณหาในแบบที่ว่า อยากสงบ
อยากจะยุติความกดดันทันที อยากจะยุติไอ้ความรู้สึกไม่ดี
อยากจะยุติความรู้สึกแย่ๆในฉับพลันทันใด ซึ่งอันนี้แหละมันทำให้ไปไม่ถึงไหนกัน
แต่ถ้าหากว่า
คุณตั้งมุมมองไว้ถูกนะครับ เรามองว่าเรารู้ลมหายใจไป
เพื่อที่จะอาศัยเป็นเครื่องสังเกตว่า หายใจยาว มีความกดดันน้อยลงมั้ย
หรือว่ามากขึ้นกว่าเดิม มันมีอาการเร่งก็ยอมรับไปตามจริง
แล้วก็ครั้งต่อไปหายใจสั้น เพราะว่าเมื่อกี้หายใจยาวแล้วอึดอัด
ก็ยอมรับตามจริงอีกว่า ลมหายใจสั้นมันยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกเครียด
ทำให้เกิดความรู้สึกเกร็งหนักเข้าไปอีก
แต่ถ้าเราสังเกตอย่างนี้
โดยอาการอย่างนี้แหละว่า แต่ละครั้งที่เราหายใจเข้า เราหายใจออก
มันมีความเครียดมากขึ้น หรือว่าน้อยลงในแต่ละครั้ง
แล้วเราค่อยๆพบด้วยสติที่เห็นตามจริงยอมรับตามจริงได้ว่า
ภายในสิบลมหายใจมันต่างไปเยอะเลย สองสามลมหายใจแรกเนี่ยหนักเท่าเดิม
หรือบางทีอึดอัดขึ้นกว่าเดิมอีก เพราะว่ามันมีความเคยชินที่จะเบ่งกำลังภายใน
แต่พอเริ่มคุ้น พอหายใจครั้งที่สี่ครั้งที่ห้า มันเริ่มน้อยลง มันเริ่มเบาบางลง
ใจมันเริ่มสบายขึ้น เริ่มพยายามเพื่อหยุดความกดดันน้อยลง
แต่มีสติในการเห็นตามจริงมากขึ้นว่า แต่ละครั้งที่หายใจเนี่ย
ความกดดันมันต่างไปเรื่อยๆ มันแปรระดับความเข้มข้นไปเรื่อยๆ
อันนี้แหละที่มันจะนำไปสู่ข้อสรุปว่า แต่ละลมหายใจ ความกดดันแสดงความไม่เที่ยงให้เรารู้อยู่ตลอดเวลา
แต่เราไม่เคยสังเกต พอเราสังเกต เกิดอะไรขึ้น มันเกิดความเห็นชัดว่า อ้อ!ความไม่เที่ยงของความกดดันหน้าตามันเป็นอย่างนี้เอง
แล้วเมื่อไหร่ที่จิตเห็นความไม่เที่ยงของอาการกดดัน
หรืออาการหนักทางใจหนักอกหนักใจ มันจะเลิกรู้สึกขึ้นมาว่า ความหนักอกหนักใจเป็นเรา
แต่ความหนักอกหนักใจจะกลายเป็นสภาวะถูกรู้ว่าไม่เที่ยง เมื่อไหร่ที่จิตเห็นอะไรไม่เที่ยง
จิตจะถอยออกมาจากสิ่งนั้น แล้วเลิกยึดอาการที่ถอยออกมา นั่นแหละคือการปล่อยวาง
อาการที่มันเลิกยึดนั่นแหละคืออาการที่วางจริง
แต่คนน่ะไปเจริญตัณหา
อยากจะเลิกกดดัน อยากจะเลิกอึดอัดทันที ผลคือมันยิ่งไปยึด ยึดความไม่กดดัน
ยึดความสงบ ยึดอะไรก็แล้วแต่ที่เราอยากจะได้ อยากจะพ้นนะครับ
พอยึดปุ๊บมันก็มีตัวตน มีตัวตนทำสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
นี่ตัวนี้มันก็มาทวีความเข้มข้นของเวทนาขึ้นมาขึ้นไปอีกนะครับ
ส่วนใหญ่เนี่ย ยิ่งยึดมากเท่าไหร่ มันจะแสดงให้เห็นสัจธรรมนะ ที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อาการยึดนั่นแหละ คืออาการที่มันอยากโน่นอยากนี่นั่นแหละ คือต้นเหตุของความกระสับกระส่ายทางใจ พูดง่ายๆว่า เป็นต้นเหตุของความทุกข์ ทุกข์ในระดับของใจเดี๋ยวนี้ แล้วก็ทุกข์ในระดับของการต้องเวียนว่ายตายเกิดนะครับ เพราะว่าตราบใดยังมีตัณหา ตราบนั้นยังมียางเหนียวของการยึดให้ติดอยู่กับพื้นของสังสารวัฏ ไปไหนไม่รอดนะครับ!
-----------------------------------------------
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน พลังพุทธคุณจากการสวดถวายพร
คำถาม การเจริญสติโดยการทำอานาปานสติ
เวลาที่เราอยู่ในสภาวะที่กดดัน
หรือเครียด ควรทำอย่างไรครับ?
ระยะเวลาคลิป ๕.๑๑ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=bZz7WFvCagI&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=5
** IG **
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น