วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นั่งสมาธิที่บ้านถึงฌานได้ไหม?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นั่งสมาธิที่บ้านถึงฌานได้ไหม?

วันที่ 8 สิงหาคม 2563

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

 

สำหรับคืนนี้ จะเป็นคำถามสำหรับคนที่สนใจทำสมาธินะครับ แล้วก็มีการปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนะ มีความรู้สึกว่า ตัวเองนี่น่าจะมีสิทธิ์ ที่จะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมที่บ้านได้นะ ก็มีคำถามเข้ามาหลายครั้งเหมือนกันนะครับว่า อยากรู้ ถ้าจะทำให้ได้ถึงฌาน ต้องไปทำที่วัด หรือทำที่ถ้ำ หรือทำในสถานที่วิเวกไหม

 

เพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆ นะ การที่เราจะอยู่ในสภาวะที่เกื้อกูลกับการมีสมาธิระดับสูงๆ ต้องมีความวิเวกกาย วิเวกจิต ซึ่งหมายความว่า ต้องปลีกวิเวกออกห่างจากความชุลมุนวุ่นวายของกิเลส

แล้วก็มีบางคนรู้สึกว่า ตัวเองอยู่ที่บ้าน ก็มีความวิเวกที่บ้านของตัวเอง ไม่ได้มีเสียงเอะอะวุ่นวาย ไม่ได้หนวกหู แล้วตัวเองก็อยู่ในช่วงของการเจริญสติ ปฏิบัติสมาธินะครับ เป็นประจำสม่ำเสมอ มาหลายเดือนหลายปี แต่ก็ยังไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ยังไม่ได้เกิดสมาธิเป็นชิ้นเป็นอัน

เลยเกิดข้อสงสัยว่า อย่างนี้หมายความว่า ต้องปลีกวิเวก หรือต้องไปบวชไหม จึงจะประสบความสำเร็จ อย่างน้อยได้ฌาน

 

ก็มาว่ากันไปทีละประเด็น ก่อนอื่น ต้องมีโจทย์ให้ชัดนะ คือ

จะได้ฌานไปทำไม จะเอาไปทำไม นะ

 

คนทำสมาธินี่ ก็เหมือนกับคนเล่นกีฬา หรือว่าคนที่ทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง   อยากที่จะมีเป้าหมายให้ชัดว่า ตัวเองทำสมาธิไปแล้วจะได้ถึงขั้นไหน แล้วได้ยินว่าทำสมาธิไปถึงขั้นฌานแล้ว จะมีฤทธิ์เดช หรือว่ามีความสามารถเห็นโน่น เห็นนี่ รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะบรรลุมรรคผล อันนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

 

อันดับแรกเลย คือที่เราจะทำสมาธิจนถึงฌานนี่ ในทางพุทธนะครับ การทำสมาธิได้ถึงฌานในทางพุทธนี่ มุ่งหมายเอาจิตที่มีความสามารถ ทิ้งอุปาทานในกายใจได้ จากการเห็นสภาพทางกาย สภาพทางใจได้ชัดว่ามันไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนจริงๆด้วย

มันเป็นเหยื่อล่อ เป็นของหลอก เป็นอะไรที่ทำให้หลงยึดติดไปเปล่าๆ ทีละชาติๆ พอถึงฌานแล้วนี่ ก็จะได้เห็นให้เคลียร์ๆ เห็นให้ชัดๆ

 

เดี๋ยวให้ดูอย่างนี้ก่อน (เปิดคลิป) คืออย่างขึ้นต้นมา เวลาคนเราทำสมาธิแบบพุทธนะ แบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำอานาปานสติ เห็นลมหายใจเข้าออก อย่างพอคุณสามารถเห็นได้ว่า หายใจเข้า ท้องพองขึ้น แล้วก็หยุดนิดหนึ่ง หายใจออก ท้องยุบลงนะ แล้วเสร็จแล้ว เดี๋ยวก็กลับมาพองขึ้นใหม่ แต่ละครั้งมีความสุขมากขึ้นๆ

 

อย่างนี้นี่ เรียกว่ามีสมาธิอ่อนๆ มีสมาธิแบบที่ จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย จิตใจเป็นสุข ร่างกายเนื้อตัว ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ซึ่งเป็นสมาธิที่ใครๆ ก็ทำได้ อยู่ที่ไหนจะบ้าน หรือจะวัด ทำได้หมด ไม่มีปัญหา

 

คือต่อให้ฟุ้งซ่านมานะ แต่ถ้าลองหายใจดูอย่างนี้นะครับ คือเริ่มจากหายใจเข้านี่พองท้องขึ้นมา ค่อยๆ พองเหมือนลูกโป่งที่มีความยืดหยุ่นนะ พอโป่งขึ้นมาจนสุด แล้วก็หยุดนิดหนึ่ง เพื่อที่จะจับจังหวะนะว่า ถึงเวลาลมอออก ถึงเวลาลมสมควรออก แล้วเสร็จแล้ว ค่อยลากเข้ามาใหม่

 

อันนี้ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ ทำที่ไหนก็ได้ มันจะยังไม่ได้เห็นสภาวะทางกายทางใจชัด คือพอมีความรับรู้และมีสติ เห็นว่าหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ยังอาจฟุ้งซ่านเรื่องไหนๆ ก็ได้ ยังอาจคิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตน ยังอาจคิดเกี่ยวกับเรื่องชู้สาว ยังอาจคิดเกี่ยวกับเรื่องความพยาบาท ที่ติดค้างคาใจมา

หรือกระทั่งอยากจะไปเบียดเบียนใครเขา เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เออนี่ เราเริ่มจะมีสมาธินะ อยากจะเสกหนังควายเข้าท้องคนที่เราเจ็บแค้นอะไรแบบนี้นี่ มันคิดได้หมด ยังเต็มไปด้วยความ ... เขาเรียกว่า ว้าวุ่นในจิตใจ หรือว่าในหัวได้อยู่นะครับ แม้ว่ามันจะเริ่มมีความสุขกับการหายใจบ้างแล้วก็ตาม

 

แต่ถ้าหากว่า เรารู้ว่าหายใจเข้าท้องพองขึ้น มีความสุขไปมากเข้าๆ สมาธิจะค่อยๆ เกิด ความสุขที่ท่วมทับ ท่วมท้นความนึกคิดอยากจะกระสับกระส่าย จะค่อยๆทำให้ความคิดของเราสงบลง แล้วลมหายใจมีความชัดเจนมากขึ้นๆ ซึ่งก็จะทำให้ภาวะทางกาย ภาวะทางใจทั้งหลาย ปรากฏเด่นมากขึ้นด้วย

 

ตรงนี้นี่อาจเป็นขณิกสมาธิแบบแก่ๆ ที่จะเห็นได้แบบนี้ หรือ จะเป็นอุปจารสมาธิที่เริ่มมีความสว่าง แล้วจิตเริ่มวิเวก เริ่มรู้สึกว่าสมาธิมีความหวานชื่น อันนี้ก็ยังพอจะคิดได้อยู่ ยังมีความคิดที่แวบเข้ามา ผ่านมาแล้วผ่านไป

 

หรือถ้าเป็นฌานเลยนี่ จิตรวมลง เป็นปึกแผ่นนะ แล้วก็แผ่ออกกว้าง แล้วก็สว่างเหมือนกับดวงอาทิตย์ ความคิดในหัวที่ผุดพรายเบาๆ บางๆ ตอนอุปจารสมาธิ จะดับหายไปเลย คือเหลือแต่ภาวะทางจิต ซึ่งภาวะแบบนั้นนี่ เป็นภาวะที่เคลียร์ (Clear)  เป็นภาวะที่ได้ข้อสรุปชัดเจน เวลาที่เห็นความไม่เที่ยงทางกายทางใจนี่ ว่า เออ มันไม่เที่ยงจริงๆ ไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อกังขาใดๆ เพราะว่า ทุกอย่างภายในขอบเขตกายใจจะโปร่งโล่งไปหมด สว่างไปหมด มันใส มันเบา มันบางไปหมด

 

ตรงนี้นี่ก็เลยเหมือนกับว่า พอเห็นแล้วว่า กำลังหายใจเข้า กำลังหายใจออก หรือกำลังหยุดหายใจอยู่ มันเคลียร์มากๆ ว่า ลมหายใจไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนจริงๆ กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก ถึงแม้ว่าภาวะทางกายจะมีความยืดหยุ่น แล้วก็สม่ำเสมอในการหายใจเข้าออก อย่างเป็นจังหวะ

 

แต่ตัวของการเข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า อันนั้นก็กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่อย่างชัด ไม่รู้จะชัดอย่างไรนะ

 

พอได้ข้อสรุปทางจิตจากตรงนี้นี่ ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนแล้ว เวลาที่ดูไปที่ส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเป็นสุขในขณะหายใจ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่า ภาวะทางใจ ภาวะของจิต เดี๋ยวก็เบ่งบาน พวกที่เพิ่งได้สมาธิใหม่ๆ จะเห็นนะ จิตนี่ มีความเบ่งบานออกไป แล้วเดี๋ยวก็ค่อยๆ เสื่อมลงมานะ มีการหดเข้า แล้วก็ขยายออกเป็นจังหวะๆ เป็นห้วงๆ จนกระทั่งพอถึงฌาน จะมีความขยายออก เด่นชัดเลยนะ มีความสม่ำเสมอ อย่างน้อยหลายนาทีขึ้นไป แล้วถ้ามีความตั้งมั่น มีความเชี่ยวชาญ มีกำลังมากๆ แล้ว ก็อยู่ได้เป็นชั่วโมงๆ หรือบางคนอยู่ได้หลายชั่วโมง โดยจิตไม่หดกลับมาเลย อันนี้ก็จะทำให้เกิดสติ

 

เวลาที่เราเกิดสติแบบพุทธนี่ ต้องนำมาด้วยความเข้าใจขั้นพื้นฐานว่า เรากำลังเห็นอะไรไปเพื่ออะไร เรากำลังเห็นว่า ลมหายใจก็ไม่เที่ยง แม้แต่ความรู้สึกนึกคิด หรือกระทั่งดวงจิต ก็แสดงความไม่เที่ยงอยู่ เวลาที่เราเห็นในสมาธินี่นะ จะไม่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ประกอบ มีแต่ความเห็นที่บริสุทธิ์ มีแต่ความเห็นที่ได้ข้อสรุปเคลียร์ กระจ่าง

 

ตรงนี้แหละ ที่ทางพุทธถึงได้สนับสนุนให้ทำสมาธิจนกระทั่งให้ได้ถึงฌานนะ

แต่ไม่ได้มีแค่ประเด็นตรงนี้ พอถึงฌานนี่ จะเงียบจากความคิด เงียบจากความกระสับกระส่าย

 

ทีนี้ถามว่า ฌานนี่ จำเป็นแค่ไหนในการบรรลุมรรคผล

บอกแล้วว่าการเจริญสตินี่ ทุกคนมีความคาดหวัง แล้วก็ควรคาดหวังด้วยนะ ว่าเราจะบรรลุมรรคผลอย่างถูกต้องด้วยการเจริญสติที่ถูกต้อง

 

คือไม่ใช่คาดหวังในแบบที่อยากได้เหลือเกิน อยากได้เดี๋ยวนี้ แต่หมายความว่า ที่เราปฏิบัติไป เราต้องมีคำตอบให้ตัวเอง เราต้องมีโจทย์ที่ถูกต้องให้ตัวเองว่า เราจะเอาอะไรจากการปฏิบัติที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้น จะไม่มีเส้นเวลาในการสำรวจตรวจสอบว่า เราปฏิบัติมาถึงไหนแล้ว ใกล้เคียงแล้วหรือยังนะ

 

ตอนอยากได้ฌาน อยากได้สมาธิขั้นสูงๆ เราก็จึงควรที่จะตั้งโจทย์ให้ชัดว่า ฌาน นี่จำเป็นแค่ไหนกับการบรรลุมรรคผลนะ เราต้องทำความเข้าใจว่า ทุกมรรคผล ทุกระดับชั้นของมรรคผลนี่ เป็นฌานหมด จิตต้องเป็นฌาน แต่จิตที่เป็นทางไปสู่โสดาปัตติผลนี่ไม่จำเป็นต้องเป็นฌาน อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสนะ

 

การบรรลุโสดาปัตติผล ขอให้ศีลบริบูรณ์ มีสมาธิพอประมาณ คือยังไม่ต้องทรงฌานก็ได้ แล้วก็มีปัญญาพอประมาณ คือมีความเข้าใจแล้วว่า จะดูกายดูใจอย่างไร ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง ดูโดยความเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่ามีปัญญาพอประมาณ

 

แล้วก็ถ้าอย่างเอาแค่สมาธิแบบนี้ ที่เริ่มเห็นบ้างแล้วว่า ความสุขจากการหายใจ ในแต่ละครั้งไม่เท่าเดิม บางครั้งก็สุขมาก เวลาพองท้องออกได้แบบขยายสุดนี่ โอ้โหมีความรู้สึกราวกับว่า ยื่นหน้าไปหาท้องฟ้า แต่พอร่างกายเริ่มเกร็งขึ้นมา รู้ตัวว่าเท้าเริ่มจิกแล้วนะ มือเริ่มกำแล้วนะ เริ่มมีอาการขมวด เริ่มมีอาการตึง อย่างนี้ก็เห็นว่าทุกขเวทนาทางกายเริ่มเกิด

เรียกว่าสามารถเห็นความไม่เที่ยงทางกายทางใจได้ อันนี้ก็เรียกว่า เป็นผู้มีสมาธิพอประมาณแล้ว คือพอประมาณที่จะเห็นความไม่เที่ยงได้บ้าง แล้วก็มีปัญญา ที่ชัดเจนว่า เราจะเห็นกายใจในแง่ไหน เพื่ออะไร

 

ส่วนศีลที่ว่าต้องบริบูรณ์ก็คือว่า ต้องมีความสะอาดทางจิตมากพอ ที่จิตจะไม่สกปรก จิตจะมีความเคลียร์ มีความใส ในการเห็นแบบตรงไปตรงมา ตรงตามจริงว่า กายนี้ใจนี้กำลังแสดงความไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนอยู่ตลอดเวลา เราจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้นเองขึ้นอยู่กับสภาวะจิต

 

ตัวกาย ตัวใจ ตัวสภาวะ มันเป็นอนัตตาอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปปั้นให้มันเป็นอนัตตาขึ้นมา แต่จิตจะมีมุมมองที่ชัดเจน มีความกระจ่าง มีความเคลียร์แค่ไหน อันนี้ขึ้นอยู่กับกำลังสมาธิ แล้วก็ขึ้นอยู่กับทิศทางของปัญญา ตรงนี้แหละที่จะเป็นความเห็นที่เริ่มถูก เริ่มตรงแล้ว

 

ก่อนที่จะถามว่า เราเป็นผู้สมควรได้ฌานที่บ้านไหม

สมาธิแบบพุทธนี่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ต้องมีวิถีทางแห่งความสามารถ แห่งศักยภาพ ที่จะได้บรรลุธรรม 8 ประการ คือหมายความว่า ต้องมีคุณสมบัติ ต้องมีองค์ประกอบ 8 ประการนี้เป็นทาง

 

แล้วทางคืออะไร

ทางคือจิต ที่ประกอบพร้อม ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้แหละ

 

วันนี้เราจะพูดกันในแง่ของสมาธิฌาน เพราะฉะนั้นนี่จะรวบรัดตัดความนะ เอาแค่สามข้อมาพูด

 

หนึ่งคือ สัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ คืออะไร คือการมีมุมมองเกี่ยวกับกายใจอย่างถูกต้อง  ไม่ใช่ว่าพอได้สมาธิไปแล้ว มีมุมมองขึ้นมาว่า ฉันกำลังจะเป็นผู้วิเศษ ฉันกำลังจะได้เห็นนรก ฉันกำลังจะได้เห็นสวรรค์ แล้วก็เอาจิตที่เป็นสมาธินั้น ไปใช้เพื่อที่จะเล่นฤทธิ์เล่นเดช หรือไปรู้ไปเห็นอะไรอย่างอื่น ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตกายใจออกไป

 

อันนี้ถ้าไม่ได้ตั้งมุมมองไว้ก่อน ไม่ได้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่ก่อน ได้สมาธิขึ้นมา เกิดสมาธิขึ้นมา มักจะไพล่ไปเป็นมิจฉาทิฏฐิก็เพราะอย่างนี้ เพราะความอยาก เพราะความหลงว่าเรากำลังจะเป็นผู้วิเศษ เรากำลังจะพูดทำอะไรได้เลิศลอยกว่ามนุษย์ หรือออกจากสมาธิปุ๊บ เกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า ฉันไม่ใช่มนุษย์แล้ว ฉันเป็นพรหมแล้ว ฉันเป็นเทวดาแล้ว ตรงนี้คืออันตรายของสมาธิ

 

แต่ถ้าหากว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีการตั้งมุมมองไว้อย่างถูกต้อง เป็นประกันไม่ให้ตกไปสู่อันตราย ได้สมาธิขึ้นมาก็จะได้ดี อันนี้แหละ ความสำคัญที่เป็นประมุข ที่เป็นประธานของมรรคอันมีองค์แปด ก็คือการมีสัมมาทิฏฐิ

 

ทีนี้ข้อสอง ตรงนี้แหละที่เราพูดกันในคืนนี้

เวลาเราตั้งโจทย์ เวลาเราตั้งคำถามว่า อยู่บ้านแล้วถึงฌานได้ไหม คุณถามอย่างนี้ก่อนเลย อยู่บ้านแล้ว คุณมีความดำริออกจากกามได้ไหม เต็มใจไหม ยินดีไหมที่จะออกจากกาม อย่างน้อยที่สุดก็ช่วงที่บอกว่า ฉันอยากปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้มรรคผล องค์ประกอบที่สำคัญของจิตอันเป็นวิถี อันเป็นทางที่จะได้มรรคผลก็คือ มีดำริออกจากกาม

แล้วดำริออกจากกามนั้นมาจากไหน ไม่ใช่อยู่ๆ ไปกลั้นลมหายใจ ให้มันจุกอก เพื่อจะได้ไม่ต้องมีความอยากในราคะ ไม่ใช่แบบนั้นนะ ต้องมีความสุขในสมาธิบ้าง ต้องมีการปฏิบัติจนเกิดความรู้สึกว่า กายวิเวก จิตวิเวก ชดเชยหรือทดแทนความอยากทางราคะ

 

โดยมาก ถ้าประสบความสำเร็จทางสมาธิ ราคะจะค่อยๆ เบาบางลงอยู่แล้ว แต่บางคนถ้าทำสมาธิผิด ไม่ได้มีมุมมองเกี่ยวกับกายใจที่ถูกต้อง พอทำสมาธิได้ มันกลายเป็น ราคะนี่กำเริบขึ้นมาก็มี

 

อย่างเมืองนอกเขามีหลักสูตรเลยด้วยซ้ำ เกี่ยวกับการเอาโยคะ เอากามสูตรอะไรมา บอกทำสมาธิแบบหนึ่ง ที่เข้าไปสะกดจุดของกายบางจุดอะไรนี่ มันเพิ่มกำลังราคะขึ้นมา อย่างนี้ก็มี สมาธินี่ เพราะฉะนั้น มันเป็นกลางนะ สภาวะของจิต ที่มีความตั้งมั่น มันเอาไปใช้ได้หลายอย่าง ไม่ได้ใช้ได้แค่เรื่องของการบรรลุมรรคผลอย่างเดียว มันเอาไปรับใช้กิเลสได้ไม่จำกัดด้วย

 

ทีนี้ถ้าเรามี สัมมาสังกัปปะ คือ องค์ประกอบของมรรคแปดข้อที่สองนี่ ถ้ามีดำริออกจากกาม คือมีความเห็นอย่างถูกต้องว่า เราทำสมาธิไปเพื่อวิเวกกาย วิเวกจิต อย่างนี้คุณบอกตัวเองได้ว่า ไปถึงจุดที่เรานึกอยากจะปลีกตัวออกจากกามในช่วงนั้นนี่ เอาเฉพาะช่วงนั้นที่คิดปลีกตัวออกจากกามจริงๆ เริ่มมีสิทธิ์ที่จะอยู่บนทางที่จะได้มรรคได้ผล

 

แล้วถ้าหากว่าความโกรธแค้น ความทรงจำเก่าๆ เกี่ยวกับเรื่องที่ผูกใจเจ็บอยู่กับชาวบ้านเขา มันแวบเข้ามาในหัวแล้วคุณบอก อันนี้ก็ไม่เอา มีความรู้สึกว่าจิตควรจะสะอาดอยู่ ควรจะตั้งมั่นเป็นสมาธิอยู่ ควรจะเบาอยู่ ควรจะโปร่ง ควรจะสว่างอยู่ ไม่เอาความพยาบาท ไม่เอาความคิดที่จะไปตรึกนึกถึงศัตรูคู่แค้น อย่างนี้ก็เป็นทาง อย่างนี้ก็เป็นจิตที่เป็นทาง

 

รวมทั้งไม่อยากไปเบียดเบียนใคร พูดง่ายๆ ว่าถือศีลห้าได้ครบนั่นแหละ ข้อของความเบียดเบียน สัมมาสังกัปปะนี่นะ

มีคนถามมาว่า ศีลห้าอยู่ตรงไหนในมรรคมีองค์แปด อยู่ตรงนี้แหละ ไม่อยากเบียดเบียนใครเขา คือไม่อยาก ออกมาจากในมุ้งเลยนะ จิตนี่ มันไม่เอาเลย มันผละออก มันยูเทิร์น พอเรื่องที่คิดจะไปทำร้ายใคร แม้ด้วยการประทุษร้ายด้วยใจ บอกไม่เอา มันมีความรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ร้ายแรง เป็นฟ้าผ่าเปรี้ยงปร้าง เป็นอะไรที่จิตมันทนไม่ไหว รับไม่ไหว จิตอยากอยู่สงบ ปลอดโปร่ง แล้วก็มีความสุขจากการไม่เบียดเบียน อันนี้จิตเริ่มมีความพร้อมที่จะแผ่ออกเป็นเมตตาแล้ว

 

แค่มีสัมมาสังกัปปะนะ สัมมาสังกัปปะอย่างถูกต้อง จิตเป็นเมตตาแล้ว ทีนี้คนไม่ค่อยคุยกันเรื่องสัมมาสังกัปปะ ส่วนใหญ่กระโดดไปเรื่องสมาธิ เรื่องการเจริญสติในแบบแอดวานซ์ (Advance)  โดยที่ละเลยหรือไม่เห็นความสำคัญ ของเบสิค (Basic)ของจิตที่จะนำไปสู่ความวิเวก

 

ทีนี้กล่าวรวบรัด คือพอมีตัวมุมมองที่ถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้วก็มีความดำริที่ถูกต้อง เป็นสัมมาสังกัปปะ ก็จะมีวาจา จะมีอาการทางกาย มีการเลี้ยงชีพ มีการเพียรพยายามที่จะนำไปสู่การเจริญสติที่ถูกต้อง

 

ตัวสัมมาสติ ก็คือการเข้ามามอง เข้ามารู้ภาวะทางกายทางใจอย่างเป็นปัจจุบันทันด่วนนั่นแหละ

 

พอมีสติได้เป็นปกติ ในที่สุดก็จุดประกาย ก็จุดชนวนให้สมาธิจิตแบบที่เป็นฌานเกิดขึ้นได้ ตรงนี้คือพอทำความเข้าใจอย่างนี้นะ ก็จะได้ไม่สงสัย

คืออย่างการปฏิบัติ ตัวจิตที่จะไปถึงโสดาบันนี่ ระหว่างความพยายามที่จะเจริญสติ ไปถึงตัวมรรคผลนี่ ตอนนั้นยังไม่ต้องเป็นฌานก็ได้ นี่ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีสมาธิพอประมาณก็ได้

แต่เวลาที่เราเจริญสติไปเห็นภาวะทางกายนี่ ลมหายใจนี่ก็ไม่เที่ยง การขยับ การเคลื่อนไหว ก็ดูเหมือนกับหุ่นที่ผูกไว้หลอกๆ แล้วก็ขยับไปขยับมา ไม่เห็นมีบุคคล ไม่เห็นมีตัวเราอยู่ที่ตรงไหน เห็นๆๆ ไป แม้กระทั่งสภาวะจิต เดี๋ยวมันก็เบ่งบานเดี๋ยวมันก็หุบเข้ามา หดหู่ลงมา เห็นความไม่เที่ยงอยู่จนกระทั่งมันเกิดกำลังของสติ

 

ถึงจุดหนึ่งขึ้นมา ตัวนี้นี่ที่จะข้ามจากภาวะของสมาธิแบบปกติ รวมลงเป็นฌานอีกแบบหนึ่ง คือ ไม่ใช่ฌานในแบบที่อยู่เฉยๆ แต่เป็นฌานที่ล้างกิเลส ล้างความเห็นผิด ตัดตัวอุปาทานว่า กายนี้ใจนี้คือตัวคือตนออกไป ตัวนี้แหละที่เป็นโสดาปัตติผล

 

พูดง่ายๆ ว่า ก่อนที่จะมาถึงโสดาปัตติผลตรงนั้น ยังไม่จำเป็นต้องบรรลุฌานเลยก็ได้ แต่เพิ่งไปถึงฌานเอาตอนได้มรรรคผลนั่นแหละ ทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดมา จนถึงจุดที่ก่อนจะได้โสดาปัตติผล ไม่เคยได้ฌานเลย แต่ไปได้ฌานเอาตอนที่เป็นมรรคจิต

 

มรรคจิตต้องเป็นฌานนะ ผลจิต ก็เป็นฌานเหมือนกัน

 

บางคนอาจบอก เอ๊ะ อย่างนี้หมายความว่า ก็ไม่(จำเป็น)ต้องทำฌานได้สิ ... ถ้าได้ฌานน่ะ ดี คือ เป็นฌานแบบโลกๆ ที่เราเห็นลมหายใจเข้าออก เป็นสายยืดยาวอย่างนี้ แล้วก็จิตรวมลง แต่ว่ามันไม่ได้รวมลงแบบประหารกิเลส มันรวมลงแบบเป็นสุข รวมลงเพราะจิตมีความวิเวก รู้สึกถึงความหวานชื่นของสมาธิอยู่ จนกระทั่งว่าไม่ไปไหน ไม่วอกแวก แล้วก็รวมลงกลายเป็นฌานขึ้นมา แบบนี้ดี เพราะว่าความคิดจะเงียบลงทีละน้อยๆ แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ไม่อยากเอาอะไรในโลก

 

อันนี้คือข้อดีของ ฌาน แล้วทำให้เวลาเข้าถึงจุดพีค (Peak) จุดที่มันเป็นยอดของสมาธิแบบพุทธนี่นะ คือได้มรรคได้ผลนี่ จะง่ายกว่า คนธรรมดาทั่วไป อันนี้คือข้อดีของการได้ฌาน

 

แต่ไม่จำเป็นว่า จะต้องได้ฌานก่อนที่จะถึงโสดาบัน อันนี้ต้องเคลียร์นิดหนึ่งนะ ไม่อย่างนั้นคุณทำสมาธิไป คุณจะเฝ้าแต่มีโลภะ มีความคาดหวังว่าเมื่อไหร่ฉันจะได้ฌาน เข้าใจว่าจะต้องได้ฌานเสียก่อน ถึงจะมีสิทธิ์ได้มรรคผล

 

ได้ฌานน่ะดี แต่ถึงไม่ได้ฌานเลย ก็มีสิทธิ์ได้มรรคผลอยู่ถ้าปฏิบัติมาตรงทาง

 

ทีนี้มาขมวด มาสรุปนะว่า ถ้าคุณตั้งโจทย์ เคยตั้งโจทย์มาว่า ทำสมาธิไป จะถึงฌานที่บ้านได้ไหม ให้ถามตัวเองว่า ถ้าอยู่บ้านแล้วจะยินดีให้กายวิเวก จิตวิเวกไหม พูดง่ายๆ ว่า สละความอยากทางกาม สละความอยากพยาบาท ผูกใจเจ็บ แล้วก็ สละความอยากจะเบียดเบียนใครเขา ถ้าสละได้สามอย่างนี้ มีสิทธิ์ แล้วก็ทำสมาธิอย่างถูกทางด้วยนะ

 

ทีนี้ก็จะมีโจทย์อีกโจทย์หนึ่ง สำหรับการปฏิบัติธรรมที่บ้าน มีหลายข้อนะ คือเราต้องถามตัวเองว่า นอกจากเรายินดีที่จะมีจิตวิเวก มีกายวิเวกแล้ว เรามีฐานะที่พร้อมหรือเปล่า

เพราะบางทีต้องยอมรับตามจริงนะ เราอยู่บ้านนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ครองเรือน หมายความว่าต้องอยู่กับคู่ผัวตัวเมีย ซึ่งบางทีเขาไม่ได้เอากับเราด้วย เขาไม่ได้อยากเล่นมาทางนี้ เขายังไม่ได้มีความพร้อมจะมาปลีกวิเวกกับเรา ปลีกวิเวกทางกายทางใจที่บ้านกับเรา

 

อันนี้ก็คือต้องมีส่วนมาคำนึงถึงด้วย เพราะว่าการเป็นฆราวาสนี่ มีหน้าที่นะ มีหน้าที่ทั้งเรื่องการหาอยู่หากิน แล้วก็หน้าที่ของผู้ครองเรือนที่สมควร ไม่อย่างนั้นก็มีปัญหา เกิดขึ้นในชีวิตครอบครัวได้ แล้วปัญหาชีวิตครอบครัว ก็จะมารบกวนจิตใจ ทำให้เสียความวิเวกไปได้อีกแบบหนึ่งเหมือนกันนะ มีปัญหากับคู่ครองบ่อยๆ

แล้วอย่างเอาง่ายๆ สมมติว่า คู่ครองเกิดอยากประชด บอก ไม่มีอะไรกับฉันใช่ไหม ฉันไปมีนอกบ้านล่ะ ถือว่าฉันมีสิทธิ์ล่ะ ถ้าคุณตกลงยินยอมพร้อมใจก็โอเค เธอจะทำอย่างนั้นก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำไปนี่ มันเหมือนกับตัวคุณไม่มีปัญหานะ แต่คู่ครองนี่จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาทางใจอะไรแบบนี้

 

ก็นำมาสู่คำถาม มาสู่โจทย์ใหม่อีกว่า คุณมีความพร้อมแค่ไหน ที่จะเกิดเรื่องยุ่งยากใจแบบนี้ในฝั่งเรา ในฝั่งเขานะ

หรือถึงเวลาที่คุณจะเอาจริงหรือเปล่าว่า ไม่ใช้ชีวิตแบบโลก คืออยู่บ้านนี่แหละแต่ก็ไม่ได้มีคู่มีอะไร คือถ้าคนยังโสดอยู่มันก็ง่าย แต่ถ้าแต่งงานแต่งการ มีเรือนไปแล้ว ครองเรือนไปแล้ว เราเอาแต่ใจอย่างเดียวไมได้ มันมีเรื่องของความเห็นใจอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เขาจะต้องมาคิดอะไรเป็นบาป หรือพูดอะไรที่เป็นบาป เป็นมลทินกับตัวเขาเองหรือเปล่า เพราะว่าผู้เจริญสติ ถ้าใครมาพูดไม่ดีคิดไม่ดีด้วยอยู่บ่อยๆ มันเป็นบาปเป็นกรรมกับเขานะ

 

อันนี้ก็ต้องดูความสมควรด้วย เพราะคนที่ปฏิบัติสมาธิจนถึงฌาน พูดง่ายๆ จิตจะวิเวกมากๆ แล้วจิตจะไม่เอานะ ไม่เอากับเรื่องรสชาติเนื้อหนัง จะไม่เอากับเรื่องที่เป็นความบันเทิง เป็นอะไรที่มันหยาบๆ จิตมันไม่อยากตกลงไปสู่ความหยาบ อันนี้พูดง่ายๆนะ เราไม่ใช่ตั้งโจทย์ จะตั้งหน้าตั้งตาจะเอาฌานอย่างเดียว ดูฐานะอันสมควรของตัวเองด้วยนะครับ

 

ถ้าคู่ครองมีความพร้อม รักการปฏิบัติ รักการเจริญสติมาเหมือนกับเรานี่ อันนี้เยี่ยมยอดเลย คือจะไม่มีปัญหาอะไร จะไม่ติดขัดอุปสรรคอะไรทั้งสิ้น ส่วนใหญ่ก็จะแยกห้องนอนกัน แล้วก็ไม่ได้มีความเป็นอยู่แบบที่เขาอยู่กันทั่วๆ ไปในโลก อันนั้นก็เป็นฐานะอีกแบบหนึ่งที่กลายเป็นความพร้อม ต่างฝ่ายต่างอยู่ด้วยกัน เพื่อส่งเสริมกันให้ปฏิบัติ ให้อยู่กับความวิเวก

 

จริงๆ แล้วนี่ ความวิเวกกายวิเวกจิตนี่นะ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่ว่าชีวิตใครพร้อมแค่ไหน อย่างถ้าคุณไปอยู่ที่วัด บางวัดนอกจากจิตไม่วิเวก กายไม่วิเวกแล้ว ยังยิ่งวุ่นวายยุ่งเหยิงเข้าไปใหญ่นะ มีหมดเลยทั้งความคาดหวังทางกาม ความคาดหวังทางพยาบาท แบ่งก๊กแบ่งเหล่า ความอยากเบียดเบียนกัน บางวัดเจ้าอาวาสขายยาบ้าก็เคยเป็นข่าวอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่ที่ไหน

 

เราอยู่กับวัดป่า ครูบาอาจารย์ที่มีความใคร่ทางธรรมจริงๆ มีกายวิเวก จิตวิเวกจริงๆ อันนี้อนุโมทนา อันนี้ยินดีด้วย ก็คือว่าจะได้ใช้เวลาที่เหลือในชีวิตมาปฏิบัติธรรม เพื่อให้มรรคบริบูรณ์ได้เต็มที่นะครับ

 

แต่ถ้าบอกว่า จะทำสมาธิให้ได้ฌานต้องไปอยู่ที่วัด ต้องไปอยู่ที่ถ้ำ ไม่แน่เสมอไปนะ ขึ้นกับว่าวัดไหนถ้ำไหนด้วย แล้วคนที่ตั้งโจทย์ว่าอยากทำสมาธิได้ถึงฌาน เท่าที่เคยพบมานะ ส่วนใหญ่จะพยายามแบบแป๊บๆ แล้วก็จะหาอุบาย นึกว่ามีอุบาย นึกว่ามีทางลัด นึกว่ามีวิธีอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เหมือนกับว่าได้ทำสมาธิไปแล้วจะได้ฌาน มันไม่ง่ายแบบนั้นนะ

 

แล้วฌานที่คนส่วนใหญ่ นึกว่าตัวเองได้ฌาน มันเป็นจิตที่ ฟรีซ (Freeze)  เป็นจิตแช่แข็ง ไม่ได้รู้อะไรเลย นั่นไม่ใช่ฌาน นั่นเป็นภวังค์ชนิดหนึ่ง แต่อาจเป็นภวังค์ขาว คือยังมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ แต่มันแข็งทื่อ แล้วเอาไปใช้งานไม่ได้ ดูง่ายๆ เลย พอลืมตาขึ้นมาจากสมาธิแล้ว มันไม่รู้อะไรเลยนะ มีแต่อัตตาตัวเป้งๆ โผล่ออกมาแทน แบบนี้ไม่ใช่ฌานแบบพุทธนะ เป็นจิตที่แช่แข็งเท่านั้นเอง

 

เหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ยังเห็นว่า แสดงผลทางหน้าจออยู่ แต่ว่าตัวโปรเซสเซอร์หยุดทำงานแล้ว ฟรีซแล้ว แบบนี้

 

ก็สรุปคือ ต้องแม่นนะ ประโยชน์ของฌานคือ เราจะพรากจิตออกจากกามได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นะครับ จะอยู่บ้านก็ดีจะอยู่วัดก็ตาม แล้วการได้ฌาน จะทำให้เรามีความยินดีในการยึดกายยึดใจลดลงนะ แล้วก็โน้มน้อมไปหาความพ้นจากสภาพทางกายทางใจ ตรงที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี่ การได้เข้าถึงฌาน คือการที่ทำให้จิตมีความโน้มน้อมไปสู่นิพพานนั่นเองนะครับ!

_________

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=oZrhR1WuAmA&t=600s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น