ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
หยุดเบื่อด้วยอุเบกขา
วันที่
22 สิงหาคม 2563
ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน
พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์สามทุ่มนะครับ
สำหรับคืนนี้ก็เป็นปัญหาของจิตใจคนยุคเรานะ
ยุคโควิด แล้วก็ยุคที่หลายๆ ท่านนะครับก็มีทั้งเรื่องรุมเร้าเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่บ้าน
ทั้งเรื่องส่วนตัวทั้งที่ทำงาน เพราะมันกระทบกันหมดนะช่วงนี้
แล้วก็แม้แต่นักเจริญสตินะครับ ผู้ที่ภาวนาอยู่กับในเมือง
ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหา แล้วก็อะไรที่ถาโถมเข้ามาหลายๆ สิ่ง หลายๆ
อย่าง ที่บ้านเมืองวุ่นวาย หรือว่ามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งอะไรกันต่างๆ
ก็เลยหลายๆ
อารมณ์นี่ประดังกันเข้ามา ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย อยากใช้ชีวิตแบบซังกะตาย
ตื่นขึ้นมาแล้วเหมือนเหนื่อยขึ้นกว่าเดิม ที่จะตื่นขึ้นมาแบบสดชื่น
หรือว่ามีความหวัง มีเป้าหมายชัดเจนว่าอะไรๆ จะรุ่งโรจน์ รุ่งเรืองมันน้อยลง
ก็เลยเป็นปัญหาตรงนี้ ที่มาว่า คนร่วมสมัยกับเรา มีความรู้สึกท้อแท้
มีความรู้สึกเหนื่อย
ซึ่งนานๆ
เข้าก็กลายเป็นความเบื่อ ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้นซึมเศร้า แต่ก็มีสัญญาณ
ประมาณว่าจิตใจห่อเหี่ยว มีความรู้สึกว่าเซ็งๆ เบื่อๆโลก
ไม่อยากจะให้ตัวเองต้องมาเห็นอะไรซ้ำๆ
หรือว่าต้องมาพยายามต่อสู้กับอะไรที่ไม่รู้จะจบเมื่อไหร่
เพราะฉะนั้น
อันนี้ ถือว่าเป็นอารมณ์ร่วมสมัย ไม่ใช่ว่า คุณไม่เก่ง หรือต่อให้นักเจริญสติ
ไม่ใช่ว่าคุณภาวนาไม่ได้ผล แต่เป็นปกติ ถ้าหากว่าทุกขเวทนามันเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
แล้วก็เป็นทุกขเวทนาที่คุณไม่ทราบจะจัดการกับมันอย่างไร ให้ต้นเหตุ ต้นตอหายขาด
หายไปจากโลก ก็เกิดความเบื่อเป็นธรรมดา เกิดความรู้สึกแหนงหน่าย
คลายความยินดีที่จะตื่นขึ้นมาแล้วใช้ชีวิตแบบเดิมๆ นะ
ทีนี้
ถ้าในมุมของนักเจริญสติ เราตัดเรื่องต้นเหตุแบบโลกๆ ออกไป เหลือแค่โจทย์ที่ว่า
ทำอย่างไร เจริญสติท่าไหน ความรู้สึกเบื่อหน่ายถึงจะหายไปจากใจเราได้
ถึงจะเลิกครอบงำชีวิตเราได้นะครับ
ถ้าเป็นความพยายามแบบโลกๆ
ก็คือ พยายามจะสดชื่น อย่างที่แนะนำกัน คุ้นปากนะครับก็คือว่า
พยายามทำใจให้มันสดชื่น หรือถ้าใครมีทางเลือกหน่อย ยังมีเงินอยู่พอสมควรก็อาจไปเที่ยวไกลๆ
ไปเที่ยวไกลๆ
นี่ ทำไมถึงได้หายเบื่อรู้ไหม เพราะชีวิตมันย้ายที่ มันย้ายจุดออกไปห่างจากของเดิม
ก็เกิดการปรุงแต่งให้ความรู้สึกนี่ เหมือนกับว่าหลุดออกมาจากชีวิตแบบเดิม
มามีชีวิตอีกแบบหนึ่ง มามีชีวิตใหม่ หลายคนก็เลยลงทุนที่จะไปซื้อที่ซื้อทาง
ที่ไกลๆ ที่อยู่ชายเขาหรือริมทะเล เพื่อที่จะไปเปิดสมอง
แล้วก็ให้ชีวิตอีกแบบหนึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ
บางคนซื้อไว้ไม่รู้กี่สิบล้าน ไม่ได้ไปสักครั้ง เพราะว่าซื้อไว้ตั้งใจจะไป แต่ไม่มีเวลาจะไป เพราะว่า ... ความขัดแย้งมันตรงนี้ พอมีเงินเยอะ แล้วไปซื้อทื่ซื้อทาง ไปซื้อบ้าน ไปซื้อรีสอร์ตส่วนตัวได้ มีเงินขนาดนั้น ก็ไม่มีเวลา เพราะว่าเวลาต้องเอาไปหาเงินหมด แต่ถ้าคุณมีพร้อมพอทั้งเงิน แล้วก็เวลาที่จะไป อันนี้ก็โชคดี
คือหลายคนก็แก้เบื่อด้วยวิธีแบบโลกๆ ได้ ดูหนังฟังเพลง แต่ดูหนังฟังเพลง พูดกันจริงๆ ไม่เหมือนกับไปตากอากาศไกลๆ นะ แตกต่างกันเยอะ เพราะว่าดูหนังฟังเพลงก็แค่นั้นน่ะ คือถ้าสมมติหนังไม่สนุกขึ้นมา มันเร้าใจ เร้าอารมณ์ของคุณไม่ได้ หรือว่าเปลี่ยนอารมณ์ จากเดิมที่ซังกะตายเบื่อหน่าย ให้ขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือขยับเคลื่อนไหวได้ ชั่วขณะที่ดูหนังฟังเพลง แต่ก็เหมือนหนังจบ อารมณ์เก่าก็กลับมาใหม่ ที่เหมือนจะตกตะกอนไปแล้ว ก็กลับขึ้นมา เคลื่อนกลับมาครอบงำจิตใจและร่างกายใหม่
ก็เลยกลายเป็นว่ายิ่งพยายามอย่างโลกๆ
ยิ่งทำใจให้สดชื่น บางทีไม่ได้ผลเสมอไป บางทีกลายเป็นยิ่งฝืด ต้องฝืนที่จะเอนเตอร์เทนตัวเอง
ทำความบันเทิงให้ตัวเอง อะไรก็แล้วแต่ที่มันฝืน ที่รู้สึกฝืดอยู่ข้างใน
ในที่สุดก็เกิดความทุกข์ ความทุกข์ที่เหมือนกับเราเบื่ออยู่ใช่ไหม
แล้วพยายามแล้วที่จะสดชื่น แต่ไม่สำเร็จ ก็ยิ่งกลายเป็นทับถมความทุกข์ทวีตัวขึ้นไป
กลายเป็นเบื่อซ้อนเบื่อ หลายคนก็เลยรู้สึกเซ็งโลก
จะมีช่วงจังหวะที่แต่ละคน
มาถึงจุดหนึ่งที่บอก โอ้โห โลกนี้ไม่น่าอยู่เลย ชีวิตนี่มีไป ไม่ว่าคุณจะล้มเหลว
หรือว่าประสบความสำเร็จอะไรไป ในที่สุดไปถึงจุดหนึ่งเหมือนๆ กันหมดคือความเบื่อ
เกิดความรู้สึกว่าอะไรๆ มันช่วยให้จิตใจคุณรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
หรือว่าตื่นตัวไม่ได้จริงๆ นะ
ทีนี้ถ้าในแง่ของคนที่อาจเริ่มรู้จักธรรมะ
ถ้าคำแนะนำแบบธรรมะนี่ ก็มีบางแนวทางที่ใกล้เคียงนะ เข้าจุด จะบอกว่า เออ
ถ้าเบื่อหน่ายนี่ หาทางทำให้มันตื่น ทำให้มันเบิกบานสิ เข้าสมาธิ
หรือว่าถ้าทำสมาธิไม่เป็น เดินจงกรมไม่ได้ ก็ให้วางใจเป็นอุเบกขากับความเบื่อ
ซึ่งบางคนนี่
ถ้าบังเอิญมีปัจจัยบางอย่างที่พร้อม พอจะให้มีสติ รู้ความเบื่อได้ ก็โอเค
ก็เริ่มเห็นว่าความเบื่อเป็นสภาวะครอบงำชั่วคราว แล้วก็หายไป แต่คนส่วนใหญ่เอาเป็นว่านะ
ผมว่าเกิน 80%
หรือมากกว่านั้น อาจ 90% เลยก็ได้
พอไปพยายามที่จะมีสติรู้ความเบื่อ นอกจากไม่หายเบื่อ
แล้วยังเกิดความอึดอัดซ้อนเข้าไปอีก เพราะว่ามันพยายาม
คนเรานี่
พอบอกให้วางเฉยนี่นะ จะมีความพยายามนำหน้ามาเสมอ พยายามที่จะวางเฉย ตัวพยายามนั่นแหละ
ไม่เฉยแล้ว ไม่วางแล้ว กลไกทางจิตตรงนี้ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ แล้วก็ถ้าไม่เข้าใจ
พอไปพยายามผิดๆ ก็เกิดความรู้สึกอึดอัด ระอา เกิดความรู้สึกไม่ได้ผล
ธรรมะใช้ไม่ได้ ธรรมะกำจัดความเบื่อให้ฉันไม่ได้
ทีนี้ เรามามองแบบให้แฟร์ๆ (Fair) กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะ ท่านสอน เจริญสติ
ถ้าหากว่า เจริญสติมาถูกทาง หายใจเป็น มีสติรู้ลมหายใจถูกต้อง
จนกระทั่งสามารถรู้อิริยาบถปัจจุบันได้นี่นะ สิ่งแรกที่มันจะปรากฏเป็นประสบการณ์ทางจิตของคุณทันทีก็คือ
คุณจะเกิดความรู้สึกตื่นตัวขึ้น
นี่นะ ง่ายๆ แค่ตอนนี้ ถ้าใครก็ตามที่กำลังดู แล้วยังมีความเบื่อ มีความรู้สึกเซ็งๆ หน่ายๆ เหนื่อยๆ อยู่นี่นะ หายใจให้สดชื่นแค่ครั้งหนึ่ง ยาวๆ แล้วหายใจแบบที่คุณจะรู้ เข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบัน ไม่ใช่หายใจด้วยอาการเพ่ง เคร่งเครียด หรือว่าจงใจที่จะจับให้มั่น คั้นให้ตายว่าลมหายใจนี่เข้า ลมหายใจนี้ออก จงสงบ จงมีความผ่อนคลาย
แบบที่มันมีความฝืนน่ะ มันไม่สำเร็จหรอก ไม่ได้เป็นสติ
เป็นการที่เรารู้สึกว่ามันบังคับตัวเอง มีอะไรที่ไม่เป็นธรรมชาติเกิดขึ้นในใจ
เกิดขึ้นในกายของเรา
แต่ถ้าหากว่าเรารู้อย่างถูกต้อง
หายใจยาวๆ ทีหนึ่ง สบายๆ เนื้อตัวผ่อนคลาย ในแบบที่ทำให้รู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบัน
เมื่อกี้ลมหายใจเข้ามาที่ไหน
มันเข้ามาที่อิริยาบถปัจจุบันนี้ คุณจะเกิดความรู้สึกตื่นตัวขึ้น พอตื่นตัวขึ้น
คราวนี้เริ่มมีกำลัง จะเริ่มเห็นอะไรอีกแบบหนึ่ง
ความเบื่อนี่
จากเดิมที่มันเกาะกุมจิตใจเต็มดวงเลย แน่นหนาเลย เหมือนกับมีเมฆหมอกมาเกาะ
มาทำให้เกิดฝ้าบนกระจก มองไม่เห็นอะไรเลย มันกลายเป็นเริ่มเห็นฝ้า
เริ่มเห็นว่าที่เป็นฝ้านั้น คือหมอก คือควัน คือจากเดิมนี่มองไม่เห็นนะ ว่าเป็นหมอกควัน
เพราะมาเกาะกระจก มาเกาะจิต มากุมไว้หมด คราวนี้จิตมันถอยห่างออกมา
เหมือนกับเริ่มเห็นว่าภาวะความเบื่อเป็นก้อนทุกข์ก้อนหนึ่ง
คนนะ
ถ้าไปถึงจุดที่เริ่มมีสติ เห็นว่าความเบื่อเป็นก้อนภาวะก้อนหนึ่ง คราวนี้จะเริ่มเท่าทัน
อย่างตอนที่มันหายไป จะรู้สึกเหมือนกับยกภูเขาออกจากอก หรือว่าฝ่าสายหมอกหนาๆ
ออกไปสู่ที่โล่งแจ้งได้ คุณก็จะเกิดความรู้สึกว่า หูตาตื่น
หรือเหมือนกับทะลึ่งพรวดขึ้นมาเหนือน้ำ จากเดิมที่จมน้ำ แล้วก็รู้สึกหายใจไม่ออกอยู่
กลายเป็น เออ ขึ้นมาอยู่กับอากาศว่าง สบาย หายใจได้คล่อง นี่คล้ายๆ แบบนั้น
ความรู้สึกทางจิตมันจะแบบนั้น
สรุปคือถ้าอันดับแรกนะ
ขั้นแรกนะ ถ้าคุณหายใจเป็น หายใจในแบบที่จะรู้สึกเข้ามาในอิริยาบถปัจจุบันได้
คุณจะสามารถเห็นความเบื่อโดยความเป็นก้อนทุกข์ได้ ก่อนหน้านั้นมองไม่เห็นนะ
ทีนี้
พอเริ่มเห็นความเบื่อโดยความเป็นก้อนทุกข์ได้ เกิดอะไรขึ้น
คุณจะมีความสามารถเท่าทัน ว่าที่ลมหายใจไหน หรือว่าที่อิริยาบถใด กำลังเดิน
กำลังยืน กำลังนอน หรือว่ากำลังนั่งอยู่อย่างนี้ ที่ความเบื่อนี่
มันเริ่มเคลื่อนตัวเข้ามา พยายามจะครอบงำจิตใจคุณ
คือตอนแรกๆ
นี่ พอคุณยังไม่คุ้นกับการเจริญสติ เห็นความเบื่อนะ คุณจะรู้สึกว่าความเบื่อมันมาตอนไหน
มันเหมือนกับอึนๆ อยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อมองเห็นว่าความเบื่อเป็นก้อนทุกข์ก้อนหนึ่งได้ ตอนนั้น คุณจะเริ่มมีสติ
แยกแยะออกว่า จิตใจที่ปลอดโปร่ง ว่างสบาย สดใส เป็นแบบหนึ่ง
แต่พอเริ่มมีความเบื่อเคลื่อนตัวเข้ามาเกาะกุมเท่านั้นแหละ ความสดใสนั้น
กลายเป็นความมัวหมอง กลายเป็นความรู้สึกเหมือนกับมีอะไรมาบังๆ มีอะไรมากุมๆ
มีอะไรมาบีบ ให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตไม่ดี ชีวิตนี่แย่ ชีวิตนี่ไม่น่าเอา
ไม่น่าตื่นนอนขึ้นมาทำอะไรให้มันเลย
พอคุณสังเกตออกว่า
ความเบื่อ เป็นสภาวะหนึ่งที่เคลื่อนเข้ามาครอบงำจิตได้
คุณจะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของมันได้ด้วย และยิ่งไปกว่านั้น
คุณจะสามารถต่อยอดสติ เข้ามารู้ว่าภาวะความเป็นกาย ณ ขณะกำลังเบื่อ
หน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะเกร็งๆ หรือไม่ก็มีอาการหย่อนยาน
คือไม่อยู่ในสภาพงอมืองอเท้า ก็มีความรู้สึกเกร็งๆ ฝืนๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ความเบื่อ ถ้าเบื่อจริงๆ คุณไม่มีทางสบายเนื้อสบายตัว เพราะอะไร
เพราะว่าจิตใจที่มีความเบื่อ มันจะทำให้ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ไม่รู้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถไหน สบายอยู่ หรือว่าอึดอัดอยู่
แต่พอมีสติ
รู้เท่านั้นแหละ มันสามารถที่จะสำรวจกายได้ด้วยว่า ณ ขณะที่กำลังเบื่อ
มันเกร็งอยู่ตรงไหน ส่วนไหน คอกำลังก้มอยู่ หรือหลังกำลังงออยู่ หรือว่ามือกำลังกำ
คิ้วกำลังขมวด แล้วก็มีอาการกดคอ คล้ายๆ มีน้ำหนักอะไรบางอย่างที่ไม่มีตัวตนมากดคอ
ให้ตาดิ่งลงพื้น
ลักษณะที่ปรากฏทางกาย
เวลาที่เบื่อนี่นะ ยิ่งคุณสามารถที่จะรู้ได้ทั่วพร้อมมากขึ้นเท่าไหร่ คือรู้สึก
ทำความรู้สึกตั้งแต่หัวจรดเท้าว่า หน้าตาเป็นแบบนี้
คุณจะยิ่งเข้าใจภาพรวมของภาวะเบื่อได้แจ่มชัดมากขึ้นเท่านั้น
จำไว้นะ
ถ้าคุณเห็นกายทั่วพร้อมแบบสบายๆ ได้ ตอนนั้นจิตของคุณมีความตื่น มีความเต็ม
พอประมาณ เพียงพอที่จะได้เห็นว่าสภาวะทางกาย สภาวะทางใจ ณ ขณะเบื่อ
มันเป็นของชั่วคราว ที่ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวคุณ ตัวความเบื่อนี่ ไม่ใช่ตัวคุณ
สรุปนะ
คือเริ่มต้นขึ้นมา อย่าไปจ้องความเบื่อทันทีนะ ให้รู้กายก่อน รู้ลมหายใจ
รู้อิริยาบถ แล้วค่อยไปรู้ความเบื่อ โดยความเป็นภาวะครอบงำ รู้ว่าความเบื่อเป็นทุกข์
แล้วความทุกข์นั้น มันไม่เที่ยง ตอนที่เกิดสติ
เห็นความเบื่อเป็นทุกข์แล้วก็ไม่เที่ยงได้ จิตจะปลอดจากภาวะเบื่อชั่วขณะ
ซึ่งสภาพปลอดจากภาวะเบื่อนั้น คุณก็จะเปรียบเทียบเห็นได้ทันทีว่า นี่
หน้าตาของความรู้สึกไม่เบื่อ จิตที่ปลอดโปร่ง มันเป็นสุข
แตกต่างจากภาวะที่เป็นทุกข์ ณ ขณะเบื่อ
แล้วทั้งความรู้สึกอึนๆ
ตอนเบื่อ เป็นทุกข์ตอนเบื่อ กับตอนที่เป็นสุข ตอนที่หายเบื่อแล้ว มีความเหมือนกัน
คือมันไม่เที่ยง
สวนใหญ่นี่
คนที่ขี้เบื่อ หรือว่ามีอาการเบื่อมาเกาะกุมจิตใจบ่อยๆ นี่นะ ช่วงแรกๆ ฝึกไปนี่
จะมองเห็นแค่ว่า เบื่อได้แป๊บหนึ่ง แล้วก็กลับมาปลอดโปร่ง ปลอดจากความเบื่อ
ปลอดจากความเบื่อแป๊บหนึ่ง ก็กลับมาเบื่อใหม่ เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ด้วยทิศทางของการตั้งสติรู้ ตั้งสติดูแบบนี้ ในที่สุดแล้ว จะรู้สึกขึ้นมาเองว่า ทั้งทุกข์จากความเบื่อ
และทั้งสุขจากการปลอดความเบื่อ เสมอกันตรงที่ มันไม่เที่ยง แล้วแต่เหตุปัจจัย
ทางภาวะ กาย อารมณ์ แล้วก็จิตของคุณ
อย่างนี้
ไม่ว่าคุณจะไปเบื่อด้วยข้ออ้างใดๆ ด้วยความจริงหรือสาเหตุอันใดก็ตาม คุณสามารถที่จะรับมือกับมันได้หมด
รับมือด้วยการหายใจเข้าทีหนึ่ง ด้วยความสดชื่น
หายใจในแบบที่สดชื่นมารู้อิริยาบถปัจจุบัน ไม่ใช่แค่ว่าสดชื่น
แล้วลืมว่าตัวเองกำลังอยู่ท่าไหน
แค่หายใจสดชื่นได้
รู้ตัวได้ ก็รู้ได้ว่าความเบื่อกำลังเกาะกุมจิตใจเราอยู่หรือเปล่า
พอเห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตน นี่แหละ จุดสุดท้ายนะ ที่มาถึงหัวข้อของวันนี้ก็คือ มันจะเกิดความวางเฉย
เป็นอุเบกขาได้เอง
ไม่ว่าคุณจะเบื่อแสนเบื่อแค่ไหน
สามารถกำจัดได้ด้วยอุเบกขา ตามลำดับแบบนี้เสมอ
จำไว้ดีๆ
นะ เดี๋ยวต้องมีแน่ๆ บอกว่า พยายามวางเฉยแล้วไม่เห็นเฉยเลย คนส่วนใหญ่จะเอาอะไรง่ายๆ
แบบที่ไม่ต้องพยายาม แล้วก็ไม่ต้องทำความเข้าใจ ผมทราบดีนะ ผมเองก็เคยเป็นแบบนั้น
แต่ในโลกความจริง โลกของการเจริญสติ คุณจะพบว่าจิตใจมีกลไกที่ซับซ้อน
ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจทั้งหมด บางทีเราขาดกลไก ขาดอาวุธ ขาดอุปกรณ์
ขาดเครื่องมือที่จะไปสู้กับกิเลสที่เข้ามา ความเบื่อที่เข้ามา หรือว่านิวรณธรรมทั้งหลาย
ที่จะถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้
แต่ถ้าคุณเข้าใจจริงๆ พระพุทธเจ้าสอนเจริญสติ รู้ลมหายใจให้ได้ก่อน นำมา พอลมหายใจนำมาสู่ความรู้เนื้อรู้ตัวว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถไหน ตรงนั้นแหละที่คุณจะเริ่มพร้อมดูนะ ทั้งสุขเวทนา และทุกขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยงนะครับ!
__________
ถอดความ : เอ้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น