วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ต้องเจอคนเลวทุกวันเจริญสติอย่างไร?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ต้องเจอคนเลวทุกวันเจริญสติอย่างไร?


ดังตฤณ : สวัสดีทุกท่านนะครับ พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน

 

เริ่มต้นขึ้นมาด้วยคำถามที่ ช่วงนี้อาจเข้ามาเยอะนิดหนึ่ง เป็นคำถามเดียวกันว่า..

 

ถ้าต้องเจอกับคนที่นิสัยไม่ดี หรือเรียกกันภาษาชาวบ้านก็คือ คนที่มันเลวร้าย ทำเลวร้ายกับเรามากๆ ถ้าในแง่ของการปฏิบัติธรรมที่บ้าน เราจะเจริญสติอย่างไร เพื่อรับมือกับคนเหล่านี้ เพื่อให้ใจไม่แย่ลง?

 

ส่วนใหญ่เวลาถามมานี่ จะถามว่า จะให้ทำใจอย่างไร หรือว่าวางใจไว้อย่างไร จึงจะพ้นจากคนประเภทนี้ ที่ต้องเจอกันทุกเมื่อเชื่อวัน หรือเจอกันบ่อยๆ

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า เรื่องของการเจริญสติ การปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องของใจ เป็นส่วนที่อยู่ภายใน

 

แต่การรับมือกับคนไม่ดี หรือการโต้ตอบกับคนที่ชั่วร้าย เข้ามาคดโกง มาฉกชิงฉกฉวย หรือมาเอาเปรียบ บางทีถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลกันตามความจำเป็นเฉพาะหน้า อะไรแบบนี้ เป็นคนละเรื่องกัน อันนั้นเป็นเรื่องภายนอก

 

เวลาที่เราจะแก้ปัญหา จะรับมือ จะโต้ตอบกับคนที่ทำไม่ดีกับเรานั้น ไม่ใช่ว่าเราจะคิดว่า เรากำลังอยู่ในสนามแห่งการปฏิบัติธรรม อยู่ที่อาสนะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม อยู่ในลู่ คนละเรื่องกันนะครับ ไม่ได้เป็นอันเดียวกัน

 

ถ้าเราสับสนหรือตั้งโจทย์ว่า จะปฏิบัติธรรมอย่างไร กับคนประเภทนี้ บางทีอาจจะยักแย่ยักยัน เหมือนกับสองจิตสองใจ ใจหนึ่งอยากจะดูความโกรธของตัวเอง หรือพยายามแผ่เมตตา พยายามจินตนาการท่าทาง แบบพ่อพระแม่พระขึ้นมา เพื่อโต้ตอบกับคนเหล่านี้ เราก็คิดว่านั่นเป็นการปฏิบัติธรรม

 

หรือบางคน..ที่เคยชินกันที่สุดก็คือ กดอารมณ์ตัวเองไว้ เวลามีความไม่พอใจ จะพยายามทำเสียงเย็นๆ พูดดีๆ ทำหน้าทำตา เหมือนผ่องๆ ไม่มีความคล้ำ ไม่มีความหมองให้ปรากฏ อะไรแบบนั้น ซึ่งจะทำได้ครั้งสองครั้ง 

 

หรือใครที่ทำ..ยิ่งหลายครั้งเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดความอึดอัด ยิ่งเกิดความอัดอั้น ยิ่งเกิดแรงดันข้างใน พูดง่ายๆ ว่าสะสมระเบิดเวลาเอาไว้ รอวันที่จะระเบิดปุ้งออกมา แล้วก็มานึกเสียใจ เสียภาพลักษณ์ของนักปฏิบัติธรรมกันหมด

 

เอาล่ะ ขึ้นต้นมาสำหรับโจทย์สำคัญข้อนี้ เรามามองให้เข้าใจก่อนว่า...ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องภายใน เป็นเรื่องของใจ เป็นเรื่องของการเจริญสติ ขึ้นมา รู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา แล้วก็ลดละกิเลส 

 

คือ เรื่องของโทสะ เรื่องของความไม่พอใจ เรื่องของความอาฆาตแค้นต่างๆ นานา เรารู้อยู่แก่ใจว่า มันมากขึ้นหรือว่าน้อยลง ไม่เกี่ยวกับภาพลักษณ์ภายนอก ไม่เกี่ยวกับการพยายามกดอารมณ์เฉพาะหน้า เวลาที่เผชิญหน้ากับคนไม่ดี

 

ส่วนวิธีแก้ปัญหา วิธีโต้ตอบ ไม่ใช่ว่าเราทำเป็นนิ่ง เป็นทองไม่รู้ร้อน เป็นพระอิฐพระปูน อะไรแบบนั้น 

 

ขอให้ดู แม้แต่พระศาสดาของเรา เป็นพระอรหันต์แล้วนะครับ เวลาที่ท่านต้องรับมือกับภิกษุที่ทุศีลหรือคนไม่ดี พระองค์ก็มีวิธีต่างๆ นานา นับตั้งแต่ตักเตือน ไปจนกระทั่ง ถ้าทำผิดแค่ครั้งเดียวจะอ้างว่าไม่รู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ท่านขับไล่ออกจากวงการสงฆ์เลย ชนิดที่ไม่ต้องกลับมาอีก หรือที่เรียกว่าต้องโทษปาราชิก 

 

เพราะฉะนั้น นั่นคือไม่ใช่ว่าการรับมือกับคนเลวหรือคนไม่ดีนั้น จะต้องมีท่าทีแบบนักปฏิบัติธรรม ที่ไม่โต้ตอบอะไรเลย...มันไม่ใช่ 

 

พอเราแยกแยะออกได้อย่างนี้ ว่า

ปฏิบัติธรรม "อยู่ข้างใน" รับมือกับคนเลว "อยู่ข้างนอก

 

ขั้นต่อมา เราจะได้มีมาตรวัดที่ชัดเจน ไม่ใช่ว่า เราไม่เอาเรื่องเอาราว จะถือว่าปฏิบัติธรรม..นี่ไม่ใช่

 

แต่เราเอาเรื่องเอาราว ด้วยความคิดว่าจะให้ปัญหามันยุติ แล้วก็ดูจิตดูใจตัวเอง ว่าที่ทำไปนั้น มันมีความขุ่นเคือง อาฆาต หรืออยากจะโต้ตอบให้เผ็ดแสบแค่ไหน 

 

ถ้าหากว่า ดูเข้ามาแล้วเห็นใจของตัวเองว่า ในเวลาที่โดนกระทบแรงๆ แล้วยังโกรธอยู่ แล้วยอมรับตามจริงว่ายังโกรธ เสร็จแล้วเห็นว่า ความโกรธ ความไม่พอใจอย่างรุนแรง หรือความเจ็บปวด ความเจ็บช้ำน้ำใจนี้ อยู่ได้นานแค่ไหน 

 

สำหรับการเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้ เบื้องต้น ท่านให้นับอายุของพวกมัน ... อารมณ์เหล่านั้น ... ตามอายุของลมหายใจ ว่าอยู่ได้กี่ลมหายใจ 

 

แต่ละลมหายใจ บอกเราว่าอารมณ์ขุ่นข้องเหล่านั้น โทสะเหล่านั้นมากหรือน้อย ยังอยู่ในจิตของเรา หรือลมหายใจไหน ที่มันหายไปจากจิตของเราแล้ว นี่คือหลักการแบบคร่าวๆ 

 

หากว่าแค่เข้าใจหลักการคร่าวๆ แม้เพียงเท่านี้ ก็ปฏิบัติได้ครอบจักรวาลเลย จะสามารถเผชิญหน้ากับคนเลว ด้วยวิธี ด้วยเทคนิคโต้ตอบแบบชาวโลก ที่จะจัดการอย่างไรก็แล้วแต่ ด้วยใจที่พร้อม มากกว่าตอนที่เอาแต่โกรธเอาแต่หุนหัน 

 

คือ เทคนิคการแก้ปัญหา หรือการโต้ตอบกับคนไม่ดีนี่ จะมีคุณภาพมากเพียงใด บางทีขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลอุบาย หรือเทคนิควิธีโต้ตอบด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียว 

 

แต่มาจากพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ ใจของเรานั่นเอง ว่าคอนโทรลตัวเองได้หรือเปล่า 

 

หากคอนโทรลตัวเองได้ ถ้าหากว่าสามารถมีสติอยู่ตลอดเวลา เห็นว่าแต่ละขณะที่โต้ตอบกับเขาอยู่ อยู่ในลมหายใจแห่งโทสะ หรือว่าอยู่ในลมหายใจของการปราศจากโทสะ ที่เร่าร้อน 

 

การที่เรามีสติอยู่เรื่อยๆ และเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ถึงความจริง ว่าโทสะนี้หนักหรือเบา ในแต่ละลมหายใจที่ไม่เท่ากัน จะทำให้เรามีสติ ที่จะไม่ใช้อารมณ์นำหน้าด้วยในตัว

 

ทุกคนรู้หมดว่า ถ้าแก้ปัญหาโดยไม่ใช้อารมณ์นำหน้า จะดีกว่าการใช้อารมณ์นำหน้าแน่ๆ 

 

แต่ที่ทุกคนไม่รู้ คือ ทำอย่างไร ถึงจะได้อุบาย หรือเทคนิคที่สามารถใช้ได้ตลอดไป 

 

เพราะบางที คนเราข่มใจครั้งหนึ่งพอได้ แต่อีกวันหนึ่งไม่สามารถทำได้ หรืออาจจะใช้อุบายเป็นคำพูดสวยๆ บอกตัวเองว่า โกรธไปก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาดีขึ้น หรืออะไรต่าง ๆ บางทีก็คิดไม่ทัน หรือใช้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ลืม หรือดื้อยา 

 

แต่ถ้าหากว่า เรายอมรับตามจริง ฝึกที่จะรับตามจริงว่า ลมหายใจนี้ โกรธอยู่แน่ๆ แน่นอกอยู่แน่ๆ อีกลมหายใจหนึ่ง คลายออก แน่นน้อยลง ...อย่างนี้จะใช้ได้ตลอดชีวิต 

 

เพราะว่าความจริงที่ปรากฏอยู่ในกายใจ ขณะที่เรากำลังรบราอยู่กับคนไม่ดีนี้ จะเป็นจริงอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อนเราเจริญสติมาก็ตาม หรือเราจะเจริญสติไปแล้วก็ตาม จะยังเหมือนเดิม ต้องมีความไม่พอใจ ต้องมีความรู้สึกเกลียดชัง ต้องมีความรู้สึกว่า ใจเรานี่มืด มืดด้วยความเกลียด มืดด้วยความรู้สึกว่า อยากจะเอาคืน เร่าร้อนด้วยความรู้สึกอยากจะทิ่มแทงฟาดฟัน 

 

ถ้าเรารู้หลักการเจริญสติว่า เราเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ นั้นมารับรู้ไป ในขณะที่กำลังโต้ตอบเลย โต้ตอบด้วยลมหายใจแห่งความโกรธ หรือโต้ตอบด้วยลมหายใจแห่งโทสะที่เบาบางลง 

 

รู้อย่างนี้ไป จะกลายเป็นความชิน กลายเป็นความชำนาญที่จะมีสติ เห็นความโกรธของตัวเอง และในที่สุดมันจะถึงจุดหนึ่ง ที่เราเหมือนกับโกรธขึ้นมา แล้วก็หายไปในทันที

 

ด้วยอำนาจของสติ ด้วยอำนาจของความเคยชิน จะค่อยๆ ช่วยให้ชีวิตของเราแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เกี่ยวกับเรื่องของคนที่ไม่ดี หรือว่าคนใกล้ตัวที่ชอบพูดจาแสลงหู หรือว่ามีอารมณ์หนักๆ ใส่เราอยู่ตลอดเวลา ประเคนใส่อยู่ตลอดเวลา ยิ่งบ่อย ยิ่งได้ซ้อม...

 

อันนี้ ไม่ใช่การมาพูดสวยหรู หรือใช้ปรัชญาอะไรทั้งสิ้น แต่เอาการใช้ความจริงล้วนๆ เข้าว่า ยิ่งฝึก ยิ่งเห็น.. ยิ่งเห็น ก็ยิ่งเกิดความรู้สึกว่า ความโกรธหรือความอึดอัด ที่เกิดขึ้นแต่ละลมหายใจนี่ ไม่เท่ากันจริงๆ 

 

ด้วยความชินอย่างนี้ ด้วยความรู้อย่างนี้ ในที่สุด เราจะไม่เอาอารมณ์ข้างในมาเป็นสาระ แต่จะเอาความรู้สึกว่า เดี๋ยวความโกรธความเกลียดนี้ ก็ต้องผ่านไป แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยวิธีที่ถูก ด้วยใจที่ว่างจากความโกรธ (ให้มาก) ที่สุด จะดีกว่า!

__________

 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ช่วงถามตอบ

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

 

คำถามเต็ม : ถ้าต้องเจอคนเลวทุกวัน ในแง่การปฏิบัติธรรมที่บ้านจะเจริญสติรับมืออย่างไรเพื่อจะได้วางใจกับคนเหล่านั้นได้ถูก?

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=uxWgiwlRTzg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น