วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน คิดแล้วหายทุกข์ = สติ

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน คิดแล้วหายทุกข์ = สติ

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนวันเสาร์สามทุ่ม สำหรับคืนนี้มาพูดกันเรื่องการคิด

 

คือทุกคนต้องคิด แต่คิดแล้วเกิดอะไรขึ้น นี่แหละที่เราจะมาคุยกัน

 

ถ้าจุดเริ่มต้นของหลายๆ ท่านที่บอกว่าอยากเจริญสติ อยากจะเข้าใจว่าในพุทธศาสนาเรามีแก่นสารเป็นอะไรอยู่ จุดที่จะคุยกันง่ายๆ ที่สุดก็คือ คุยกันเรื่องความคิด วิธีคิด คิดอย่างไรให้เกิดสติ คิดอย่างไร มีค่าเท่ากับมีสติ

 

คนในโลกมีอยู่สองพวก

พวกแรก คิดจนหมดความสุข พวกที่สอง คิดแล้วทุกข์หายไป

 

ถ้าหากว่าให้เลือกแบบ ก ข ค นะ ว่าคุณอยากเป็นพวกไหน ทุกคนต้องตอบว่า อยากเป็นพวกที่สอง คือคิดแล้วทุกข์หายไป ไม่ใช่คิดจนกระทั่งหมดความสุข

นี่คือถ้าให้เลือก กขค ได้ ทุกคนจะเลือกแบบนี้นะ เลือกให้หายทุกข์

 

แต่ในทางปฏิบัติ คนส่วนใหญ่ อันนี้พูดถึงส่วนใหญ่นะ ไม่นับเอาที่เป็นส่วนน้อยนะ

 

คนส่วนใหญ่ มีความคิดเป็นต้นเหตุของความทุกข์

 

คืออย่าว่าแต่จะคิดแล้วหายทุกข์เลย เอาแค่คิดแบบไม่ต้องเป็นทุกข์กับความคิดได้นี่ อันนี้ถือว่าบุญแล้วนะสำหรับคนส่วนใหญ่

 

จุดนี้ผมเองเข้าใจดี เพราะเคยผ่านมาแล้ว เรื่องที่คิดจนกระทั่งตัวเองอยู่ดีไม่ว่าดี นั่งอยู่บนที่ๆ มีความสุข กลายเป็นเหมือนกับนั่งอยู่บนกองไฟ อันนี้เข้าใจได้ เคยผ่านมาแล้ว แล้วก็เห็นรุ่นหลัง ยิ่งหนักกว่าเก่านะครับ คือ ไม่ใช่มีความคิดเป็นแค่ต้นเหตุของความทุกข์ แต่มีความคิดเป็นต้นเหตุของความอยากจะฆ่าตัวตายเลยนะ

 

ถ้าเรามามองนะครับว่า หลายๆ คนรู้ตัวแล้วว่าตัวเองนี่ มีความคิดเป็นต้นตอความทุกข์ หรือมีความคิดเป็นตัวซ้ำเติม ให้มันทุกข์หนักเข้าไปอีก หรืออยู่ดีไม่ว่าดี คิดจนกระทั่งหมดความสุข รู้ตัวแล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรพูดกันง่ายๆ ก็คือ ไม่รู้จะเอาความคิด ไปชนะความคิดได้อย่างไร มันก็ความคิดของตัวเรานี่นะ

 

เทคนิคหนึ่งที่หลายๆ คนใช้กัน โดยที่ไม่ได้รับคำแนะนำ หรือว่าคำสอนจากใคร ก็คือคุยกับตัวเอง เพราะพอคุยกับตัวเองนี่ จะเหมือนได้เปิดอก เหมือนได้มีความคิด แยกออกไปเป็นอีกคนหนึ่งนะ

 

มองเข้ามา คุยเข้ามา ตอบตัวเองเข้ามา ว่าทำไมถึงคิดแล้วหาทางออกไม่ได้ ทำไมคิดแล้วเหมือนกับวนเวียนอยู่กับที่ พอแยกไปเป็นอีกคนหนึ่ง คือแทนที่จะไปบ่นให้ใครฟัง ก็เอาตัวเองนี่แหละ มาบ่นให้ตัวเองฟัง หลายๆ คนบ่นพึมพำกับลมแล้ง หรือบางคนมองตัวเองในกระจก มองตาตัวเองในกระจกเลยนะ แล้วก็พูดคุย บางคนนี่ถึงขั้นเวลาส่งคำถามนี่ มีสีหน้าสีตาแบบหนึ่ง แต่พอให้คำตอบนี่ ก็จะวางท่าอีกแบบหนึ่งนะ วางมาดแบบว่า ทรงภูมิเป็นผู้รู้

 

คล้ายๆ มีสองบุคลิกอะไรอย่างนี้

 

คนจะไม่มาเล่าให้ใครฟังนะ ว่าตัวเองคุยกับตัวเอง เพราะกลัวโดนคนอื่นหาว่าบ้า แต่จริงๆ ทำกันเยอะนะ ไม่ใช่น้อยๆ แล้วก็จริงๆ แล้วเราก็จะเห็นอยู่ทั่วไปนะครับ ที่มาบ่นพึมพำกับตัวเอง หรืออย่างในหนังในละคร คุยกับตัวเองให้ดูเลยว่า ถามตอบ ว่าทำไมถึงทำอย่างนี้ ถ้าไม่ทำก็ตายสิ อะไรแบบนี้ เป็นเรื่องปกติ ที่คนจะมีความคิดแบบเหมือนกับ แบ่งภาคออกมาโต้ตอบกับตัวเอง

 

ถ้าดูปกติหน่อยก็เป็นพวกที่ ไม่พูดออกมาเป็นการเปล่งเสียงเปล่งวาจา แต่จะใช้วิธีเขียน เขียนเหมือนกับตัวละครสองตัว โต้ตอบกันอะไรแบบนี้นะครับ ก็ทำกันเยอะ

 

จะว่าไป ก็ดีเหมือนกัน ที่เราแตกความคิดออกมา เป็นบุคคล มีไดอะล็อค มีข้อสนทนาโต้ตอบกัน ดีกว่าที่เราจะคิดแล้วคิดไม่ออกนะ บอกว่า ตัวคนเดียวของเรานี่ ที่เป็นก้อนตัวก้อนตนหนึ่ง คิดแล้วคิดวน พอแยกไปเป็นสองคน แล้วเกิดความรู้สึกว่าเหมือนมีทางออก เหมือนมีคนช่วยคิด แล้วก็เป็นคนที่รู้ใจเราด้วย เป็นคนที่อยู่ในตัวเรานี่แหละ เพียงแต่แยกภาคออกมา

 

บางคนนี่คือ พอคุยกับตัวเองแล้วก็กังวล ว่าจะเหมือนคนเป็นโรคจิต เหมือนคนบ้าไหม ที่จริงแล้ว ถ้าเรามองว่าปัญหาของคนทั่วไป ตัวปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่เรามาคุยกับตัวเอง

 

ปัญหาของคนส่วนใหญ่อยู่ตรงที่ว่า ไม่ได้มีสองภาค แบ่งข้างกันอย่างชัดเจน

 

คือไม่มีความเป็นสองคนมากพอ ที่จะคุยกับตัวเอง เลยเหมือนกับตกลงกับตัวเองไม่ได้ พอมองเข้าไป พยายามจะตกลงกับตัวเอง จะพบความคิดตันๆ ก้อนหนึ่งในหัว หรือในอก ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่ตีบตัน ตีบจากการที่เรามองทางเดียว แล้วก็แยกความคิดออกเป็นเสี่ยงๆ ไม่ได้

 

แล้วคนเราก็จะหวงตัวตนด้วย พูดง่ายๆ ว่า หวงวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งอย่างเหนียวแน่น ปักใจเชื่อว่าคิดอย่างนี้ดีแล้ว ทะนงตัว หรือบางทีต่อให้รู้อยู่เต็มอก ว่าคิดอย่างนี้ไม่ดี ก็ยังยึดประมาณว่า ใครจะทำไม จะคิดแบบนี้เสียอย่าง ประมาณนี้ สำหรับคนทั่วไปนะที่มีความอัดอั้น แล้วก็ไม่สามารถคุยกับตัวเอง ไม่สามารถตกลงกับตัวเองได้นี่ จะออกอาการแบบนี้

 

ทีนี้ถ้าเรามามองในแง่ของการเจริญสติ เริ่มต้นขึ้นมา คุณยังไม่ต้องทำความเข้าใจเรื่องการเจริญสติชั้นสูงอะไร ยังไม่ต้องมองเข้ามาในกายใจ แต่เอาแค่ว่า พอติดปัญหา พอเกิดปัญหาตกลงกับตัวเองไม่ได้ ว้าวุ่นอยู่ในหัว เหมือนมีคนหลายคนตีกัน แต่ไม่สามารถแยกคนเหล่านั้น ออกมาคุยกันได้

 

เคยไหม หลายคนเคยมีประสบการณ์นี้นะ เหมือนกับมีคนหลายคน ตีกันอยู่ในหัว ทะเลาะกัน ทะเลาะเบาะแว้ง แล้วก็ไม่มีใครยอมใคร ตกลงกันไม่ได้  แต่ครั้นจะเอามานั่งล้อมวงคุยกัน หรือว่ามาจับเข่าคุยนี่ ให้รู้เรื่อง ก็แยกไม่ออก ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน เพราะความคิดแต่ละตัวมันแค่สั้นๆ แล้วก็เต็มไปด้วยอารมณ์ เต็มไปด้วยความรู้สึกว่า ไม่มีทางออก ไม่มีตัวเลือกไหนที่ดี ไม่มีตัวเลือกของใครที่ตบตีกันอยู่ในหัวของเรานี่ ที่โอเค ที่ใช่นะ

 

ก็เลยเถียงกันอยู่นั่นแหละ เถียงกันแบบไม่มีข้อยุตินะ เพราะจับมาแยก นั่งคุยกันเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้

 

ทีนี้ ถ้าเราจะเริ่มเจริญสติ เอาตรงนี้แหละ คือ พอเรา ตอนที่คนเราอยากจะตกลงกับตัวเอง อยากจะคุยกับตัวเองนี่นะ จะเริ่มต้นจากความกระสับกระส่ายทางใจ คือมีความว้าวุ่น แบบควบคุมตัวเองไม่ได้ ตื่นนอนมารู้สึกมีอะไรยุ่งๆ พันตูอยู่ในหัว เหมือนกับความฝัน เป็นความฝันที่วุ่นวาย สับสน ไม่รู้เรื่อง เสร็จแล้วพอตื่นขึ้นมาก็งง เพราะมีอะไรที่คล้ายๆ กับพายุ ซัดอยู่ในหัว จนกระทั่งรำคาญตัวเอง

 

มีความฟุ้งจนกระทั่งจับไม่ติด แล้วบางทีนี่เหมือนกับความคิด เบาหวิว คล้ายๆ กับคนที่คิดแบบเพ้อเจ้อ หรืออีกทีหนึ่งเป็นตรงกันข้าม จะหนักเสียจนกระทั่งเกิดอาการกระจุกอยู่ที่ในตัว เกิดความรู้สึกหนักๆ ขึ้นมา พูดง่ายๆ ว่าคิดจนเครียด

 

มีอยู่สองอย่างนะ คิดจนกระทั่งเหม่อไป แล้วเราก็อยากจะหาน้ำหนัก หาอะไรมาคว้าไว้

กับอีกแบบหนึ่งคือ คิดหนักจนกระทั่งกระจุก แล้วเราก็อยากจะแยกให้กระจุกความคิดที่เป็นก้อนตันๆ แตกออกเป็นเสี่ยงๆ

 

ตัวนี้ ที่เราเริ่มอยากคุยกับตัวเอง อยากตกลงกับตัวเองให้ได้ แต่มันพูดไม่ออกบอกไม่ถูก แปลออกมาเป็นคำพูด อธิบายตัวเองไม่ได้

 

ถ้าเราสามารถเห็น สามารถที่จะทำความเข้าใจเริ่มจากจุดนี้นะ อยากตกลงกับตัวเองเสียที ตัวนี้ ที่เราจะตั้งต้นให้ตัวเองเจริญสติได้ มีสติได้ คุณจะเห็นว่า ลักษณะความคิดที่ฟุ้งเฟ้อเพ้อเจ้อไป หรือที่กระจุกแน่นๆ อยู่ในอก แน่นๆ เข้ามาเป็นก้อนๆ ตันๆ นี่ ลักษณะนั้น คือความคิดที่พาให้เป็นทุกข์

 

คือบอกตัวเองว่า วิธีคิดจนกระทั่งมาถึงจุดนั้นนั่นแหละ มันเบาโหวงจนกระทั่งเหมือนกับเพ้อเจ้อนะ ซ่านซัดส่ายไป หรือไม่ก็กระจุกเข้ามาอัดแน่นจนกระทั่งหนัก

 

ความคิดทั้งสองแบบ เบาเกินไปกับหนักเกินไป ... ผิด

แล้วจะพาให้คุณเป็นทุกข์เสมอ

 

คือไม่ว่าจะคิด พยายามคิดหาทางออกอย่างไรก็ตาม หรือว่ารู้สึกว่านี่ มีวิธีการวางแผนอะไรแล้วก็ตามนะครับ จะไปถึงจุดสรุปเดิมว่า คิดแล้วเป็นทุกข์ คิดแล้วหนักเกิน หรือคิดแล้วเบาเกิน

 

ทีนี้ ถ้าเรามาทำความเข้าใจแบบนักเจริญสตินะ เราจะมองว่า อย่างไรถึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของการคิด ให้เกิดความสุขขึ้นมาได้นะ

 

เราก็ดูจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี่ แล้วมองว่าอะไรที่เป็นตรงกันข้ามกัน

 

คือถ้า คิดแบบตกทุกข์ ก็คือปล่อยใจให้ลอยหายไปกับความคิด หรือปักใจให้จมดิ่งไปกับความคิดจนกระทั่งรู้สึกหนัก รู้สึกอึดอัด

ทีนี้ถ้าในทางตรงกันข้าม คิดให้แก้ทุกข์ ก็ต้องเริ่มดึงใจกลับมา มีสติอยู่กับตัวเอง

 

นับเริ่มจาก ถามตัวเองว่า กำลังนั่งหลังตรงหรือหลังงอ ถามตัวเองว่า กำลังเกร็งเนื้อตัวส่วนไหนอยู่ คือเราเอาตัวเอง ออกมาจากความคิดให้ได้ก่อน เอาสภาวะทางกาย เป็นเครื่องตั้งสติ ดูว่าตอนที่คุณคิดหนักเกินไป หรือคิดเบาเกินไป ร่างกายมักจะไม่อยู่เป็นที่เป็นทาง หรือไม่ก็อยู่ในลักษณะที่ผิดๆ เพี้ยนๆ อะไรบางอย่าง เช่นเกร็งเกินไป หรือมีอาการเหมือนกับไม่อยู่เป็นท่าเป็นทาง

 

ฉะนั้นพอเรากู้สติ ด้วยการนั่งคอตั้งหลังตรงขึ้นมา แล้วก็สำรวจตัวเองว่ากำลังเกร็งเท้า เกร็งมือ หรือเกร็งใบหน้าอยู่ ก็กลายเป็นการที่เอาตัวเองออกมาจากวังวนของความคิด แล้วก็มามีสติ อยู่กับเนื้อกับตัวที่เป็นปัจจุบัน

 

จากนั้นพอเราจะได้ข้อสังเกตว่า เมื่อไรก็ตามที่เราเกิดสติ จะมีปฏิกิริยาตอบสนองทางกาย คอตั้งหลังตรง หรือไม่ก็ผ่อนคลายเนื้อตัว จากเดิมที่เกร็งไม่รู้ตัว กลายเป็นผ่อนคลายลงไปบ้าง อันนั้นแหละ ที่จิตจะเริ่มไม่กระจุก แล้วก็ไม่กระจาย

 

พอไปถึงตรงนั้น เราก็จะได้ข้อสังเกตอีกว่า ลมหายใจที่เข้าออกอยู่ในเนื้อตัวที่สบาย จะพร้อมเป็นลมหายใจที่ยาว สบาย แล้วก็รักษาอาการผ่อนคลายไว้

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ สติเริ่มหาย ก็จะหายใจกระชากๆ หรือว่าหายใจสั้นอีก ทำให้เกิดอาการเกร็งเนื้อเกร็งตัว ไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัวอีก

 

สังเกตได้อย่างนี้ จนกระทั่งเกิดความเคยชินขึ้นมาแบบหนึ่ง ที่รู้สึกสบายตัว รู้สึกสบายเนื้อสบายตัว แล้วก็นั่งตรงๆ ทรงสติอยู่ได้โดยไม่ฝืน ไม่ลำบาก จะพบว่า ตรงจุดนั้นแหละ ที่จะเริ่มมีฐานของจิตที่เป็นกุศล

 

แล้วฐานที่จิตเป็นกุศลนั้น จะสามารถเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนจากความคิดผิดๆ ให้กลายเป็นความคิดที่ถูกต้องขึ้นมา หรือเปลี่ยนหนักให้เป็นเบา

 

พอเปลี่ยนอกุศลให้เป็นกุศลได้ ทุกอย่าง จะพร้อมเข้าที่เข้าทาง

 

สรุปนะครับว่า ทำเนื้อตัวให้ผ่อนคลาย แล้วก็มีสติอย่างเป็นสุข แล้วคุณจะได้ที่ตั้งของความคิดแบบคิดแล้วหายทุกข์นะ จะกลายเป็นบุคคลประเภทฉลาดคิดให้เป็นสุขขึ้นมา ย้ายตัวเองจากพวกที่ คิดให้เป็นทุกข์ คิดจนกระทั่งเป็นทุกข์ ให้กลายเป็นบุคคลประเภทที่ สามารถคิดจนหายทุกข์ได้นะ

 

อันนี้ก็เป็นเหมือนกับ แม่บทคร่าวๆ ว่า เราจะเริ่มเจริญสติแบบไหน ที่จะแก้ความทุกข์ได้แบบฉับพลันทันที ภายในวันเดียว ก็เอากันที่ความคิดนี่แหละ เล่นกันที่ความคิดนี่

 

เพราะสังเกตนะ พอเราคิดเพื่อที่จะทำให้ตัวเองมีความทุกข์มากขึ้นนี่ จะเริ่มต้นจากเนื้อตัวที่ไม่สบาย เริ่มจากหายใจสั้นๆ แล้วก็จะเป็นฐานที่ตั้งของจิตที่เป็นอกุศลนะครับ

 

ส่วนร่างกายที่สบายผ่อนคลาย รู้จักหายใจยาว นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้น เป็นชนวนให้กุศลจิตเกิดขึ้นได้โดยง่าย

 

แล้วพอกุศลจิตเกิดขึ้น ความคิดดีๆ ก็ไหลมาเทมาเองนะครับ

__________


รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน คิดแล้วหายทุกข์ = สติ

วันที่ 12 ธันวาคม 2563

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=2IyniOPSwQI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น