วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ความสุขในการเจริญสติเป็นอย่างไร?

ดังตฤณ : คำถามนี้ดี เป็นคำถามที่หลายคนคงอยากทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มต้นของการเจริญสติ


ความสุขในการเจริญสตินะครับ คืออย่างนี้ เริ่มต้นจากชีวิตจริงๆ ของเราทุกคนก่อน

 

พวกเราเวลาถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการ ก็จะมีความทุกข์ อาการทางใจจะดิ้นเร่าๆ มีความกระวนกระวาย มีความรู้สึกว่า ไม่อยากที่จะสนใจอะไรอื่น คล้ายๆ หน้ามืด มองอะไรไม่เห็น และหมกมุ่นอยู่กับความปั่นป่วนภายใน อย่างนี้เรียกว่า ความทุกข์อันเกิดจากการไม่ได้อย่างใจ

 

ส่วนความสุขที่ได้อย่างใจ ก็คือ ชื่นมื่น เหมือนกับเรานี้เป็นที่หนึ่งในโลก เหมือนเราเป็นแชมป์เปี้ยน เหมือนเราเป็นผู้ชนะ เหมือนเราเป็นคนที่ใครๆ จะต้องอิจฉา...แต่ ก็แป๊บเดียว

 

เวลาที่เราต้องเผชิญความจริง ก็คือว่า ...สุขก็คือ สุขเดี๋ยวหนึ่ง แล้วทุกข์นี่ บางที มันทุกข์ยาวๆ ...อย่างนี้เรียกว่าความสุขความทุกข์แบบโลกๆ

 

ความสุขอันเกิดจากการดีใจ จะมีอาการพลุ่งพล่าน มีอาการเหมือนจิต "ขอกอด" สิ่งที่ได้มาไว้อย่างแน่นเหนียว ไม่ยอมให้เสียไป... ถ้าทำท่าจะเสียไป ...โลกแตก... รู้สึกเหมือนกับว่าอะไรตรงหน้าจะถล่มทลายลงมา ท้องฟ้านี้มืดมนไปหมด

 

นี่ ความสุขที่เป็นแบบโลกๆ เป็นความสุขที่พร้อมจะทำให้เกิดความทุกข์ จะสวิง (Swing) กันไป สวิงกันมา 2 ข้างนี้ จะสมใจหรือไม่สมใจเท่านั้นเอง

 

ที่นี้ ความสุขจากการเจริญสติ แตกต่างจากที่เราได้อะไรมา หรือเสียอะไรไป คือ ต้องมาอยู่ที่มุมมองอีกมุมมองหนึ่งว่า ชีวิตเรานี้ ที่ได้มาจริงๆ เลย คือได้ความรู้สึกว่าเรา "มี" และที่เสียไปจริงๆ เลย ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจาก "เสียใจ"

 

"เสีย" ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ก็คือ เสียใจ นั่นแหละ ใจที่มันเสียไป ใจที่มันมืดมนไป 

 

เวลาเราเจริญสติ เรามาอยู่ที่ศูนย์กลางมุมมองตรงนี้ แล้วเราก็จะเห็นทิศทางอีกทิศทางหนึ่ง นั่นคือ เวลาที่เราได้อะไรมา ดูมาที่ใจ ว่าใจเกิดอาการยึด อยากจะครอบครอง หวงไว้ไม่อยากสูญเสียไป 

 

แต่เมื่อไหร่ที่ของชิ้นนั้น ทำความไม่พอใจให้กับเรา ยกตัวอย่างเช่น ที่เห็นได้ง่ายที่สุด ก็ แฟน..

บางคนเล่าให้ผมฟังว่า ..คนนี้ (ภรรยา) คือ นางในฝันเลย ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม เจอกัน ก็นั่งมองอยู่ข้างหลังโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว จนกระทั่งได้มาเป็นแฟนกันหลังจากที่ทำงานแล้ว คือ ต่างฝ่ายต่างมีแฟน มีการผจญภัยในชีวิตในแบบที่แตกต่างกัน แล้วสรุปได้อยู่ด้วยกัน..

 

จากนางในฝันที่เป็นฝันดี ก็กลายเป็นนางในฝันร้าย คือ สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ นึกว่าได้มาแล้ว จะมีความสุขอย่างที่สุด ตอนที่ได้มาแล้ว ใจมันยึด มีความหวงแหนและมีความรู้สึกว่า "นี่ของกู" เสียไปไม่ได้ ใครจะมาแย่งนี่ ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง อะไรแบบนี้น่ะ ..

 

แล้วในที่สุด ได้มาจริงๆ ไม่มีใครมาแย่ง.. ก็กลายเป็น ถามตัวเองอยู่ทุกวัน ว่าเมื่อไหร่จะพ้นจากภาวะแบบนี้ ..นี่ก็มี เป็นตัวอย่างในชีวิตคู่ ไม่ใช่มีแค่เรื่องเล่าแบบนี้เล่นๆ นะครับ มีเยอะเลยเห็นมาเยอะมาก ..

 

เรียกว่า ถ้าเราพิจารณาเป็นจิต เราไม่พิจารณาเป็นว่า เราได้อะไรมา หรือเสียอะไรไปภายนอก เราได้เป็นจิตแบบไหนมา จะรู้สึกเลยว่า ตอนที่ยึด อาจจะยึดผิดก็ได้ ยึดอะไรผิดๆ ไว้ นึกว่าเป็นของดี นึกว่าจะมีความสุข แต่แท้ที่จริงแล้ว มันเป็นต้นทางของทุกข์มหันต์ต่างหาก 

 

ก็จะเกิดมุมมองอีกแบบหนึ่ง เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ความสุขชั่วคราว หรือการยึดมั่นถือมั่น ที่เหนียวแน่นนั้น เป็นอาการหลงผิด

 

ประเด็นคือ พอเราพิจารณาว่า ความหลงผิดตรงนั้น เป็นแค่อาการปรุงแต่งของจิตชั่วคราว จะเกิดความรู้สึกเบาขึ้นมา จะเกิดความรู้สึกคลายจากอาการยึดขึ้นมา ความสุขแบบนั้น ไม่ใช่ความสุขจากการได้อะไรบางอย่างมา แต่เป็นอาการคลายจากความยึดมั่นอะไรบางอย่างไป 

 

แล้วถ้าหากว่าคลายได้จริง รู้หลักของการคลายความยึดมั่นได้จริง จะสามารถไปคลายความยึดมั่น กับอะไรทั้งหมดในชีวิตได้เลย ขอแค่ตัวอย่างเพียงตัวอย่างเดียว

 

ตรงนี้ พระพุทธศาสนาถึงได้สอนให้อภัย หรือสอนให้รู้จักแบ่งปัน เพราะทุกครั้งที่เราแบ่งปัน ทุกครั้งที่เราให้อภัย เป็นการฝึกคลาย เป็นการได้ลิ้มรสความสุขอีกแบบหนึ่งทางใจ เป็นการได้รู้จักกับชีวิตอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่มีความทุกข์อันเกิดจากการยึดผิดๆ

 

ทีนี้ การเจริญสติ ไปไกลเกินกว่าเรื่องของการสละทรัพย์ และไปไกลเกินกว่าเรื่องของการให้อภัย เป็นชีวิตของการที่เราตั้งหลัก อยู่ในทิศทางอีกแบบหนึ่ง เป็นทิศทางของคนที่ มีมุมมองภายในอยู่ตลอดเวลา ว่าเรายังยึดอะไรอยู่บ้าง เรายังมีสิทธิ์เป็นทุกข์จากการหวงแหนอะไรไว้อยู่บ้าง?

 

อย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ก็คือ บุคคลอันเป็นที่รัก พ่อแม่ พี่น้อง ญาติมิตร คนรัก ลูกหลาน ฯลฯ ถ้าใครมี และรักบุคคลเหล่านั้นมาก จะเป็นตัวอย่างให้เห็นเลยว่า บางทียอมตาย แต่ไม่ยอมให้บุคคลอันเป็นที่รักนั้น มีความทุกข์..ถึงขั้นนั้น

 

และพอมองเข้ามาในใจของตัวเอง เราจะพบสัจจะความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ นั่นก็คือว่า จริงๆแล้วนั้น เราไม่ได้รักใครไปมากกว่ารักตัวเองหรอก ที่ยอมตายให้กับบุคคลอันเป็นที่รักได้ ก็เพราะใจของเรายังยึดอยู่

 

ใจของเรา.. ศูนย์กลางความรู้สึกยังทุ่มเทให้เขาอยู่.. ถ้าบุคคลอันเป็นที่รัก ทำให้เราไม่สบอารมณ์ เกิดความไม่พอใจ เกิดความรู้สึกเหมือนกับถูกทอดทิ้ง เกิดความรู้สึกเหมือนกับไม่มีค่า เขาไม่เห็นหัวเรา ..บ่อยๆเข้า ความรู้สึกแบบนั้น ที่อยากทุ่มเทแม้กระทั่งชีวิตให้ ก็ย่อมหมดไป ..นี่ขึ้นกับเราจะรู้สึกอย่างไร ...เรานี่แหละที่รักตัวเองที่สุด ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

 

ทีนี้ พอเราเริ่มรู้ตัว ว่าที่ยึดมั่นที่สุด ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่บุคคลอันเป็นที่รัก ..แต่ยึดมั่นในสิ่งที่เป็นการปรุงแต่งภายในของเรา คิดว่าเรามีอะไร คิดว่าใครมีค่ากับเรา...ตัวยึดมั่น ตัวนี้แหละ ที่มีความหมายที่สุด ที่จะทำให้มีความทุกข์ได้หนักที่สุด

 

ถ้าหากว่า เราทำลายอุปทานหรือความยึดมั่นตรงนี้ทิ้งได้สำเร็จ ต้นเหตุของความทุกข์ ต้นเหตุของความกระวนกระวายใจ ก็จะหายไป .. 

 

พูดง่ายๆ ว่าการเจริญสตินั้น รสชาติความสุขนั้น เหมือนกับการที่คุณสามารถให้อภัยใครได้จริงๆ แล้วรู้สึกโล่งอก 

 

หรือเปรียบเทียบเหมือนกับ การที่คุณเคยถูกโกง ยึดว่านั่นเป็นทรัพย์สมบัติของคุณ เป็นเงินของคุณ และทำใจได้ว่า เสียไปแล้ว จะไม่กลับไปคิดถึงอีก ใจที่เลิกยึดสิ่งที่เสียไป สิ่งที่หายไป รสชาติแบบนั้น คือรสชาติที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สำหรับผู้ที่เจริญสติถูกทาง เพราะผู้ที่เจริญสติ  ไม่ได้เจริญสติเอากับสิ่งที่อยู่นอกกาย 

 

แต่เจริญสติ เพื่อให้มีสติขึ้นมาว่า ภายในขอบเขตกายใจนี้ ไม่มีสักชิ้นเดียว..ไม่มีสักส่วนเดียว ที่จะไม่เปลี่ยน ..มันจะต้องเปลี่ยนไปทั้งหมด..เราหวงมันไว้ไม่ได้ เราจะยึดมันไว้แค่ไหน ในที่สุดก็ต้องต่างไป ต้องหลุดจากมือเราไป ต้องออกจากเขตการควบคุมของเราไป 

 

อย่างเช่น ถ้าเราหายใจเข้า-หายใจออก ...นี่ก็ลมหายใจของเรา...เป็นลมหายใจของเราอยู่ชัดๆ แต่เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณาไป...เข้า-ออกครั้งนี้สั้นลง….เข้า-ออกครั้งนี้ยาวขึ้น ... ต่างไปเรื่อยๆ

 

จะเริ่มเห็นว่า สิ่งที่เข้า-ออกอยู่ตลอดเวลานี้ ไม่ใช่ของของเรา มันเปลี่ยนภาวะไปเรื่อยๆ และภาวะที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็ไม่เคยซ้ำกันเลย เป็นลมที่พัดเข้าพัดออก มาในสิ่งที่เราทึกทักว่า เป็นร่างกายของเรา เรายึดอยู่ชั่วคราวว่า นี่คือลมหายใจของเรา ใครอย่ามาแย่งลมหายใจของเรา

 

แต่พอคืนออกไปแล้ว ปล่อยออกไปจากร่างกายของเราแล้วนี่ จะไปไหนก็ช่าง ...ไม่ยึดแล้ว ว่าเป็นลมหายใจของเรา ...ตอนจะจมน้ำ จะเห็นได้ชัดเลย ว่าเรายึดมั่นถือมั่นในลมหายใจขนาดไหน

 

ถ้าเห็นอยู่แล้วว่าลมหายใจ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นแค่ธาตุลม ก็ได้ตัวอย่างแล้วว่า จะเริ่มปล่อยวางความยึดมั่น ภายในขอบเขตกายใจนี้กันตรงไหน..

 

เริ่มต้นจากที่ลมหายใจ จากนั้น ถ้าเราสามารถที่จะเฝ้าตามรู้ ..เฝ้าตามรู้สึก..ว่าลมหายใจนี่ ไม่เที่ยง เป็นแค่ธาตุลม ไปได้นานๆ ก็จะกลายเป็นความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบหนึ่งว่า สิ่งที่น่ายึดกว่าลมหายใจมีอยู่ ..คือ ความสุข อันเกิดจากการได้นิ่ง.. รู้ภาวะของลมหายใจที่ไม่เที่ยง 

 

คนที่รู้สึกอยู่ว่า ลมหายใจไม่เที่ยง จะมีความปล่อย จะมีความวาง จะมีความรู้สึกว่า ธาตุลมสักแต่เข้ามาแล้วออกไป รู้อยู่อย่างนั้นนิ่งๆ จะมีความสุขมาก มีความวิเวกมาก ยิ่งกว่าเราขึ้นไปลอยอยู่บนฟ้า ในท้องฟ้าที่กว้างไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่างเปล่า ...มันสุขยิ่งกว่านั้น….

 

แต่ความสุขที่เกิดขึ้น ก็ทำให้เราเห็นเป็นเครื่องพิจารณาได้เหมือนกัน ว่ามันอยู่แป๊บหนึ่ง บางคนทำได้ 1 นาที บางคนทำได้ 1 ชั่วโมง แต่แป๊บหนึ่ง ก็จะต้องเปลี่ยน มาเป็นความคิดปรุงแต่งแบบธรรมดา มีความอึดอัดจากสภาพของจิตที่กระสับกระส่าย อยากโน่นอยากนี่ หรือแม้กระทั่ง อยากจะกลับเข้าไปมีสมาธิใหม่ อยากเข้าไปเสพสุขอันเกิดแต่รสวิเวก อันเกิดแต่การเห็นความไม่เที่ยง ..ความอยากแบบนั้น ก็เป็นความกระวนกระวาย..เป็นลักษณะทุกข์แบบหนึ่งของจิต ที่เราสามารถพิจารณาได้ว่า ความทุกข์ตรงนี้เป็นหลักฐานยืนยันว่าความสุขไม่เที่ยง

 

ส่วนความสุขอย่างเหลือเกิน อันเกิดจากสมาธิ อันเกิดจากการเจริญสติ ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าความทุกข์ไม่เที่ยงเช่นกัน

 

เมื่อเราเห็นอยู่ว่า ทั้งทุกข์ทั้งสุข ไม่เที่ยง ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่ง เป็นขณะๆ ก็จะปล่อยวาง แม้กระทั่งตัวความสุขความทุกข์ ...และจากนั้น จะเห็นทุกอย่าง ต่างไปหมดเลย คือจะไม่ได้มองออกไปที่โลกภายนอก แล้วยึดโน่นยึดนี่ แต่จะมองเข้ามาที่ข้างในว่า ยังมีอะไรที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ อันเกิดจากการยึดอยู่อีกบ้าง

 

ถ้าลมหายใจ กับความสุขความทุกข์แบบธรรมดาๆ ทำอะไรเราไม่ได้แล้วความคิดล่ะ?...คิดพะวงถึงคนโน้นคนนี้ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ ยังเป็นเหตุให้จิตกระสับกระส่ายได้อยู่ไหม?

 

ก็พิจารณาเข้าไปถึงการปรุงแต่งของจิต แล้วเห็นว่า อาการของจิต ความปรุงแต่งทางจิต ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน

 

เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ เป็นเดือนเป็นปี เป็น 10 ปี... พอเวลาความฟุ้งซ่าน พอเวลาความคิด อยากโน่นอยากนี่ เกิดขึ้นมา จะเห็นเหมือนหมอกควัน จะเห็นเหมือนเงาๆ ที่เป็นเหมือนเงามืดๆ หรือเมฆหมอก ที่เข้ามาบดบังความโปร่งใสของจิตชั่วคราว แล้วรู้สึกว่าความคิดแบบนี้ไม่ใช่เรา… 

 

จะเกิดการตัดสินขึ้นมาจากปัญญา หลังจากการเห็นมาเป็นปีๆ หรือเห็นมาเป็น 10 ปี ว่าความคิดผ่านเข้ามาเท่าไหน ก็ผ่านออกไปเท่านั้นหมด

 

นี่ ความสุขที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น ..ไม่ใช่ว่าเรากลายเป็นคนเอ๋อ พูดอะไรไม่รู้เรื่อง คิดอะไรไม่เป็น แต่คิดเป็น คิดดีด้วย พูดได้ดีด้วย แต่มีความรู้สึก มีศูนย์กลางสติอยู่ตัวหนึ่ง ที่เป็นผู้รู้ ผู้ดูอยู่ว่า ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น...

 

ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบนะครับ ยังรับผิดชอบการงานทุกอย่าง ทำชีวิตให้ดีทุกอย่าง แต่ไม่รู้สึกว่านั่นมันเป็นตัวเป็นตน ที่น่ายึดน่าหวง

 

พอเราไปถึงจุดที่มีสมาธิ คือ จิตเป็นปกติอยู่กับความรู้สึกแบบนี้จริงๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น สัมมาสมาธิ รสชาติความสุขตรงนั้น บอกไม่ได้ อธิบายไม่ได้ ..จะไม่ใช่ความสุขแบบเบา ไม่ใช่ความสุขแบบชื่นมื่น หรือมีปิติอะไรแบบนั้น ...เพราะแม้แต่ปิติ แม้แต่ความเบา ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกพิจารณา ถูกรู้ ว่าเป็นความปรุงแต่งจิตชั่วคราว มีความไม่เที่ยงเหมือนๆ กัน 

 

สติ จะพัฒนาขึ้นไปถึงอีกระดับหนึ่ง ที่รู้สึกถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน รู้สึกเหมือนกายนี้เป็นโครง เป็นอะไรที่มีความโปร่งใสเหมือนแก้ว หรือจิตนี่ สักแต่ว่ามีความเป็นธรรมชาติที่รู้บ้าง ไม่รู้บ้าง มันสว่างบ้าง มืดบ้าง

 

ความสุขที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น เป็นความสุขอีกแบบหนึ่ง แบบที่ไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการได้มา แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการทิ้งอะไรได้ทุกอย่าง ออกจากใจไปหมด

 

เอาล่ะ ผมตอบยาวนิดหนึ่ง...เพราะเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า จะเจริญสติไปเอาอะไร เจริญสติให้ได้อะไร พูดคำว่าเจริญสติๆทุกคนก็มีสติอยู่แล้ว จะไปเจริญอีกทำไม

 

ที่จริงแล้ว ถ้ามองจากมุมมองของการเจริญสติแบบทางพุทธจริงๆ นะครับ ทุกคนไม่ได้มีสตินะครับ ทุกคนมีแค่สติทางโลก ที่จะทำงานให้เสร็จ ที่จะพูดให้รู้เรื่อง ที่จะสื่อสารกับผู้คน 

 

แต่สติ แบบที่เรียกว่า สัมมาสติ ซึ่งตรงกันข้ามกับมิจฉาสติ .. ตัวสัมมาสตินี้ เป็นสติอีกแบบหนึ่ง คือ เราอยู่ในชีวิตประจำวันปกติอย่างนี้ แต่ใจเราไม่เปื้อนทุกข์

 

ผมยังไปถึงตรงนั้นไม่ได้ แต่เล่าให้ฟังได้ ว่าเคยเจอบุคคลที่ทำได้ ผมเองก็รู้วิธี แล้วก็พยายามทำอยู่ เอามาคุย เอามาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ระดับเดียวกัน ระดับใกล้เคียงกันได้เข้าใจ ว่าสติแบบนั้น ความสุขแบบนั้น มีอยู่จริง และพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ไม่มีอะไรผิดหรอก ยกเว้นแต่จะเป็นพุทธพจน์ปลอม 

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเจริญสติเป็นทางเดียว ที่จะมีความสุขได้ถึงที่สุด และความสุขที่ถึงที่สุดนั้น ก็คือการพ้นทุกข์นั่นเอง 

 

ถ้าพ้นทุกข์ได้ หมายความว่า ใจเป็นอิสระ ไม่โดนทุบ ไม่ถูกกระทบโดยความทุกข์ เป็นอิสระอยู่ มีความสมบูรณ์อยู่ การไม่มีทุกข์นั่นแหละ คือ ความสุขอันยิ่งใหญ่ที่สุด


...มีคำถามต่อเนื่อง...

ถาม : สติระลึกรู้ทันในทุกช่วงขณะจิต จึงเป็นที่มาของปัญญา จึงมีปีติและสุขในใจ อันนั้น คือสุขที่แท้ใช่ไหม?

 

ขอนิยามตรงนี้ก่อนว่า สุขที่แท้ในทางพุทธ คือเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ สุขที่แท้ หรือที่พุทธเจ้าบัญญัติเรียกว่า เป็นบรมสุข นั้น คือ สุขของพระอรหันต์ ที่ท่านอยู่เฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะเจริญสติ ไม่ได้ตั้งใจทำสมาธิ จิตของท่านก็เป็นอิสระ ออกมาจากโซนของความทุกข์ ออกมาจากเขตที่ความทุกข์จะมากระทบได้ 

 

อันนี้ คือนิยาม...พูดง่ายๆ ว่า จิตของพระอรหันต์นั้น เป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่น เป็นอิสระจากอุปทานทั้งปวง เป็นจิตที่ไม่มีความกระสับกระส่ายได้อีกเลย เป็นจิตที่ว่างเปล่าจากความขมขื่นทั้งหลาย ความห่อเหี่ยว ความหมดกำลังใจทั้งหลาย จิตพระอรหันต์ไม่มีแล้ว ท่านมีจิตแบบนั้นของท่าน โดยท่านไม่ต้องทำอะไร ...นี่คือสุขที่แท้ในทางพระพุทธศาสนานะครับ

 

ทีนี้ อย่างตอนที่เรารู้ทันขึ้นมา สมมติว่า นึกถึงศัตรูแล้วเกิดความรู้สึกไม่ดี เกิดความรู้สึกแย่ เกิดความรู้สึกว่า ทำไมโลกนี้ถึงต้องมีคนๆ นี้อยู่ด้วย เรามีอยู่คนเดียวไม่พอเหรอ ทำไมโลกถึงต้องส่งคนๆ นี้มาเกิดอีก

 

พอมีความปรุงแต่งทางจิตแบบนี้ขึ้นมานี่ เราเกิดความทุกข์ใช่ไหม เกิดความรู้สึกแย่ รู้สึกกดดัน รู้สึกว่าโลกใบนี้ มืดเหลือเกินที่มีคนๆ นี้อยู่ 

 

ทีนี้ ถ้าสติเจริญขึ้นมา ณ ขณะนั้น ..เอาเฉพาะ ณ ขณะนั้นนะครับ ไม่ใช่ทุกช่วงอย่างที่คุณถาม.. เอาเฉพาะ ณ ขณะที่เราเกิดความทุกข์หนักๆ ขึ้นมาอันเกิดจากการคิดแค้น จากความรู้สึกคิดไม่ดีกับใครสักคนหนึ่ง แล้วเราเห็นว่าความทุกข์ตรงนี้ เกิดขึ้น คือยอมรับตามจริงว่ามันเกิด  ไม่ใช่ไปปฏิเสธมัน แต่รู้ว่ามันเกิดขึ้น 

 

แล้วพอรู้ว่ามันเกิด จะเกิดอะไรขึ้น เกิดความรู้สึกว่าเกร็งเนื้อเกร็งตัว เกิดความรู้สึกว่าเท้านี้จิกกับพื้น เกิดความรู้สึกว่าหน้าดำคร่ำเครียด เกิดความรู้สึกว่าตึงๆ ขมับ เกิดความรู้สึกเหมือนกับจะหายใจไม่ทั่วท้อง เกิดความรู้สึกว่าอยากจะก้มหน้าก้มตางอหลัง หลังงอไม่อยากเดินไปไหน ไม่อยากคุยกับใคร 

 

อย่างนี้เรียกว่ากำลังมีความทุกข์ เป็นความทุกข์แบบไม่รู้ตัว และปล่อยให้ทุกข์อยู่อย่างนั้น ปล่อยให้เกร็งอยู่อย่างนั้น ปล่อยให้มันหลังค่อมอยู่อย่างนั้น นี่คือ ไม่มีสติ 

 

แต่พอเรานึกได้ถึงหลักการเจริญสติ ท่านให้ดู ท่านให้ยอมรับ ว่ากำลังปรากฏอะไรกับร่างกายของเรา เท้ากำลังจิกกดอยู่กับพื้น เรายอมรับไปตามจริง แล้วมันก็คลายออก ..พอเท้าคลายออก ความทุกข์ ที่เมื่อครู่นี้ มันกำลังทุกข์มหันต์เหลือเกิน จะเบาลงทันที 25% หรืออาจจะถึง 50% 

 

นี่แค่คลายเท้านะครับ มีสติรู้ว่าเท้าจิกอยู่ เกร็งอยู่.. แล้วมีสติ พอเท้ามันคลายออกได้ จะมีความรู้สึกสบายขึ้น

 

นี่แค่เอาเท้าอย่างเดียว ความทุกข์ลดลงแล้ว มันเป็นภาวะทางกายทางใจใช่ไหม เป็นอุปกรณ์ในการเจริญสติใช่ไหม

 

และ อย่างมือ..เห็นศัตรูขึ้นมา หลายคนจะเป็น ..คือ จะชื้นเหงื่อขึ้นมาทันทีเหมือนมีน้ำเปียกๆ ขึ้นมาทันที เหมือนแขนมีอาการเกร็งขึ้นมาทันที ..ฟัน รู้สึกเหมือนกัดกรอดๆ ขึ้นมาทันใด โดยไม่รู้ตัว 

 

แต่ถ้าเรารู้ตัวและเลิกกัดฟัน.. คลายมือออก วางสบายๆ จะเกิดความรู้สึกมีความสุขขึ้นมาชั่ววูบ นี่เห็นไหม ความสุขอันเกิดจากการเจริญสติ บางทีไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ  จะเกิดขึ้นตอนถึงเวลาที่ต้องใช้สติ

 

มันจะมี highlight ทางอารมณ์ เกิดขึ้นเป็นวูบๆ เกิดขึ้นเป็นพักๆ หรือมีอาการเหม่อลอย มีอาการฟุ้งซ่าน อะไรก็ตามที่เป็นภาวะแย่ๆ ที่เป็นไฮไลท์ แล้วเราสามารถรู้ได้..ตัวนี้คือจุดเริ่มต้นเป็นแบบฝึกหัดที่ดี .. ที่จะฝึกเจริญสติ 

 

พอยต์ของการเจริญสติ คือ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น แล้วเห็นว่ามันต่างไปเป็นขณะๆ 

 

ถามว่า จะเห็นมันต่างไปอย่างไร? เอาลมหายใจเป็นเครื่องเทียบ คือ ไม่ใช่ไปจ้องดูลมหายใจนะครับ แต่ให้ระลึกว่า ณ ขณะนี้ ตอนเราคิดถึงคนที่เราไม่ชอบหน้า มีความทุกข์เหลือเกิน เท้านี้เกร็ง มือนี้เกร็ง หน้านี้ตึงไปหมด ณ ลมหายใจนี้ เกร็งไปทั้งตัว มืดไปทั้งใจ 

 

เราเห็นด้วยอาการยอมรับตามจริงแค่นี้ ลมหายใจต่อมา จะเกิดการเทียบเคียงกันเอง ว่าร่างกายยังเกร็ง จิตใจยังมืดอยู่ ยังบอดอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า เหมือนเมื่อลมหายใจที่แล้วหรือเปล่า

 

ถ้าเกิดความรู้สึกว่า นี่คลายไป คลายลง นี่เรียกว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบอ่อนๆ แล้ว 

 

แล้วถ้าเราย้ำที่จะเห็นอย่างนี้อีกเรื่อยๆ จะเกิดความสุข ที่มาแทนที่ความทุกข์ ความสุขอันเกิดจากการมีสติ ได้เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ทุกข์ตัวนี้แหละ ที่จะเป็นความสุขระหว่างเจริญสติ

 

คือ ยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงแบบพระอรหันต์ แต่เป็นความสุขในแบบที่เรารู้สึกว่า แค่นี้ คุ้มแล้วที่ได้เจริญสติ ยังไม่ต้องได้บรรลุมรรคผล ยังไม่ต้องเป็นพระอรหันต์ เราเห็นว่ามีการออกดอกออกผล งอกเงยขึ้นมาบ้างแล้ว  

 

เพราะฉะนั้น ถ้าใครฝึกเจริญสติ แล้วเกิดความรู้สึกปล่อยวาง เกิดความรู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากขึ้น ตรงนั่นแหละ คือความสุขระหว่างทาง ก่อนที่จะไปเจอความสุขที่แท้จริง แบบที่เรียกว่าเป็นบรมสุขของพระอรหันต์ท่าน!

___________

 

คำถามเต็ม : ความสุขในการเจริญสติเป็นอย่างไรครับ ผมรู้สึกแต่ทุกข์น้อยลง

รายการดังตฤณวิสัชนา Live#19

วันที่ 8 ม.ค. 2560

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป :  https://www.youtube.com/watch?v=2DEvyYg9w0s&t=2s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น