วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เคยภาวนาแล้วรุ้สึกร่างกาย ความคิด มันแยกมาเป็นกองๆ มีความเบา แต่พอออกจากการภาวนาเหมือนต้องโกยเอา ๓ กองมารวมกัน รู้สึกหนัก แบบนี้คืออะไรครับ?

 ดังตฤณ :  ไม่ได้คิดไปเองนะครับ ตอนที่เราเจริญสติถูกทางคือ เอากายเอาใจนี้เป็นที่ตั้ง แล้วมีความเป็นสมาธิ มีความเบา มีความอ่อนควร มีความว่างจากมโนภาพตัวตนขึ้นมา มันก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความรู้ด้วยจิตเต็มๆดวง ด้วยสติเต็มๆจิตว่า กำลังอยู่ในอิริยาบถใด สภาพกายมันแสดงเหมือนกันหมดทุกคนแหละว่า ยกตั้งด้วยกระดูกสันหลัง ฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ อันนี้สำนวนพุทธพจน์ แล้วก็มีใจนี้ครองอยู่ด้วยอารมณ์แบบไหน ด้วยความเป็นกุศล หรือด้วยความเป็นอกุศล

อย่างตอนนั้น ณ เวลานั้นที่มีความเบา ความสว่าง ความว่าง ความใส อันนั้นคือลักษณะของมหากุศลจิตที่เกิดขึ้นประกอบกับการเห็นว่า กายนี้ตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งเป็นชั้นหนึ่ง ความคิดแล่นอยู่ในหัวเป็นอีกส่วนหนึ่งเป็นอีกชั้นหนึ่ง

แล้วก็ตัวที่รู้อยู่ อยู่ตรงกลางจริงๆยังมีสติ อันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เป็นวิญญาณขันธ์ เป็นวิญญาณธาตุ เป็นส่วนของการรับรู้ เป็นธรรมชาติเดียวในจักรวาลที่ไปรับรู้สิ่งอื่น ธาตุอื่น ธาตุกาย หรือว่าธาตุคิด มันเป็นแค่สิ่งถูกรู้ ตัวที่รู้จริงๆคือจิต

ถามว่าที่เห็นเนี่ย ถ้าเทียบเคียงกับการภาวนาเขาเรียกว่าอะไร เขาเรียกว่า เห็นขันธ์ เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์

ทีนี้เห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ คือมี รูป เวทนา สัญญา สังขาร แล้วก็วิญญาณเนี่ย เห็นไปทำไม

พระพุทธเจ้าท่านให้เห็นเป็นปกติ เพื่อที่จะรู้ว่า แต่ละส่วน แต่ละชั้น แต่ละกอง มันกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ชัดๆเลยโจ่งแจ้งเลย แต่เราไม่เห็นเอง เพราะจิตมันไม่มีความเป็นสมาธิมากพอ ไม่ตื่นมากพอ ไม่เต็มมากพอ ไม่มีสติที่จะเข้ามารู้เข้ามาดูตรงนี้มากพอ มันก็เลยหลงยึดอยู่นั่นแหละ หลงทุกข์อยู่นั่นแหละ

แต่พอเมื่อไหร่ที่เจริญสติจนกระทั่งจิตมีความเบา มีความเต็มดวง มันมีความเป็นอุเบกขามากพอ แล้วสามารถเห็นได้ เออ นี่สามารถตั้งอยู่ในอิริยาบถนี้ หายใจเข้าออกแล้วก็มีความคิดอะไรแล่นอยู่ ส่วนจิตนี่ก็รู้ไปดูไป เห็นเป็นชั้นๆแบบนี้เนี่ย ทางที่ถูกคือ ไม่ใช่แค่รอให้มันฟลุคเห็นแบบนั้นขึ้นมา แต่ควรจะมีท่าทีที่ชัดเจนว่า ทำยังไงถึงจะเห็นแบบนั้นได้เรื่อยๆ เพื่อที่จะให้เกิดอนิจจสัญญา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะว่า เห็นขันธ์ ๕ ให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อที่จะเกิดอนิจจสัญญา เราก็สังเกตดู หายใจท่าไหน หายใจอย่างรู้ว่าอยู่ในอิริยาบถใด แล้วเกิดเป็นสติขึ้นมาว่า นี่เรารู้ลมหายใจอยู่ว่ากำลังปรากฏอยู่ในอิริยาบถใด เมื่อหายใจแล้วรู้ว่าอยู่ในอิริยาบถนี้ ก็ดูต่อไปว่าที่กำลังอยู่ในอิริยาบถนี้เนี่ย สบายหรือว่าอึดอัด เกร็งหรือว่าผ่อนคลาย รู้แบบนี้มันก็จะได้รู้ชัดว่าที่กำลังเห็นอยู่มันชั่วคราวหรือว่าถาวร

มันจะปรากฏชัดเลยนะถ้าหากว่ามีความว่าง มีความเบา ร่างกายผ่อนคลายสบาย มันก็คือสุขเวทนา แต่พอหายใจไปสักพักหนึ่ง เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา ลมหายใจติดขัด หรือว่าลมหายใจสั้นลง เกิดความรู้สึกขัดกาย เกิดความอึดอัดตามเนื้อตัว เกิดความอยากขยับเขยื้อน อย่างนั้นก็คือทุกขเวทนาเกิด ดูแบบนี้ฝึกแบบนี้มันจะนับ หนึ่ง สอง สาม ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ภาวะเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้องเค้น ไม่ต้องพยายามใดๆทั้งสิ้น เป็นอัตโนมัติ

เมื่อมีสติสามารถเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ ได้แล้ว เกิดความว่างได้เป็นปกติ ความว่างนั้นจะทำให้สติมันเจริญขึ้น เจริญขึ้นเพื่อที่จะรู้สึกว่า ไม่อยากเอาเปลือกที่มันเป็นของห่อหุ้ม ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่มันจู่โจมเข้ามา พยายามที่จะครอบงำจิตแบบเดิมๆ ใจมันจะไม่เอา ใจที่ว่างใจที่มีสติเป็นอัตโนมัติมันจะไม่เอา เนี่ย! ตัวนี้มันก็จะเริ่มเข้าไปรู้ เริ่มเข้าดูว่าเวลาที่เรารู้สึกว่างๆเนี่ย จริงๆแล้วเป็นภาวะที่สงบจากกิเลสชั่วคราว

เมื่อใดก็ตามลืมตาขึ้นมาเห็นรูป เห็นเพศตรงข้าม หรือว่าเห็นทรัพย์สินเงินทอง หรือว่าสมบัติที่เราอยากได้แล้วยังไม่ได้มา เกิดอาการของจิตที่กระโจนไปจะยึดอยู่มั้ย ถ้าหากว่ายังมีอาการทะยานแล่นไป อย่างที่เรียกว่ามีภวตัณหาเข้าไปยึด เข้าไปโยงเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเข้าตัว นี่เรียกว่าเห็นความเป็นสังโยชน์ หรือความเป็นเครื่องผูกที่ใจมันจะยึดเอามาเป็นตัวเป็นตน หรือว่าเอาเข้าข้างตน นี่เรียกว่าปฏิบัติในแบบที่อยู่ในส่วนของการเห็นอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในประจวบกัน แล้วเกิดความผูก ความยึด หรือที่เรียกว่าสังโยชน์ขึ้นมา

พอเราเห็นว่าใจของเรามันยังมีความผูกความยึดอยู่ได้แน่นเหนียวแค่ไหน หรือว่าเบาบางเพียงใด เห็นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเนี่ย ตาประจวบกับรูปใดๆ หูได้ยินเสียงใดๆ แล้วไม่เกิดความยึดความโยง ไม่เกิดสังโยชน์ขึ้นมาเลย จิตมันจะไปถึงความว่างความเบาที่แท้จริง คือมีความรู้สึกว่ามันไม่มีตัวตน มันมีแต่อาการที่ประจวบกันระหว่างภายในตรงนี้ กับภายนอกตรงโน้นข้างหน้า แล้วเกิดเป็นความยึดให้เป็นทุกข์ เกิดความกระสับกระส่าย เกิดความระส่ำระสายของจิตที่จะเอาโน่นเอานี่ขึ้นมา

พอมันเห็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดสติ เกิดความเป็นอัตโนมัติว่า เออ สิ่งที่มันกระทบแล้วเป็นปฏิกิริยาทางใจมันเกิดขึ้นหลอกๆชั่วคราว มันไม่ได้มีตัวตน มันไม่ได้มีตัวเราอยู่แท้จริง เนี่ยตัวนี้ก็จะพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ กลายเป็นการทิ้งอุปาทาน การเลิกที่จะยึด เหลือแต่จิตที่เป็นอิสระ  จิตตัวนี้แหละที่มันจะได้ทิ้งของจริง

การทิ้งได้จริงๆก็คือ การบรรลุมรรคผลนั่นเอง เวลาที่จิตมันรวมเป็นฌานแล้วทิ้ง ตรงนั้นแหละคือวาระที่จิตจะไปเห็นอะไรอย่างหนึ่ง คือพอทิ้งกายทิ้งใจไป จิตมันจะทะลุออกไปเห็นสิ่งที่มันไม่มีการปรุงแต่งอยู่ด้วยกายด้วยใจ คือนิพพาน ตรงนั้นคือวาระที่จะได้บรรลุอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่โสดาปัตติผล ก็สกทาคามิผล หรือไม่ก็อนาคามิผล หรือไม่ก็อรหัตตผลอย่างใดอย่างหนึ่งนะครับ

-------------------------------------------

๕ ธันวาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นับถือศาสนาอื่นเจริญสติได้ไหม?

คำถาม : เคยภาวนาแล้วเจอสภาวะเหมือนร่างกายความรู้สึกทางร่างกาย ความคิด มันเหมือนแยกมาเป็นกองๆ จังหวะนั้นรู้สึกมีความเบามากๆ แต่พอต้องออกจากการภาวนา เหมือนต้องโกยเอา 3 กองนั้นมารวมกัน ในใจรู้สึกหนักขึ้นทันที แบบนี้คืออะไรครับ เป็นการคิดไปเองหรือไม่?

ระยะเวลาคลิป    ๘.๕๒  นาที

รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=fN3u74mTkog&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น