วันอังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน กินบุญปีเก่า อิ่มบุญปีใหม่

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน กินบุญปีเก่า อิ่มบุญปีใหม่


ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม ก่อนจะขึ้นปีใหม่กัน

 

ช่วงคืนวันที่ 31 (ธันวาคม) ถ้าไม่มีอะไรขัดข้อง ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เราก็จะมาสวดมนต์ข้ามคืนกันอีกแบบปีที่แล้ว หลายคนยังติดใจอยู่ ว่าสวดแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกว่าปีหน้า หมายถึงปีที่ผ่านมานี่ น่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นบ้าง

 

สำหรับการสวดมนต์ข้ามคืน ก็อย่างที่บอกเมื่อปีที่แล้วว่า ถ้าเราขึ้นต้นด้วยจิตที่ดี ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ความรู้สึกย่อมดีตาม

 

หลายคนบอกว่า พอสวดมนต์ข้ามคืน ก็ให้ความรู้สึกว่า อะไรที่จะแย่ก็ไม่แย่เสียทีเดียว ที่ถามๆ มา มีหลายคนเลยที่บอกว่า จิตใสใจเบาตอนช่วงข้ามคืนขึ้นปีใหม่ ช่วยได้เยอะ เพราะว่าจิตใจที่กำลังหดหู่ จิตใจที่กำลังหมดหวัง จิตใจที่กำลังใกล้เคียงที่จะซึมเศร้า ได้ฟื้นตัว แล้วเกิดความรู้สึกว่ามีกำลังใจ อยากจะให้ทั้งปีถัดไป ได้มีกำลัง มีความแจ่มใสแบบนั้น

 

นี่คือความสำคัญของการขึ้นต้น ด้วยจิตที่เป็นกุศล หรือถ้าหากว่าเราทำให้เป็นมหากุศลได้ ยิ่งดีใหญ่เลย

 

มหากุศล คืออะไร คือมีจิตเต็ม เป็นสมาธิ มีความเป็นดวงสว่าง ไม่ใช่หลุมดำ ไม่ใช่จุดดึงดูดความสุข แต่เป็นแหล่งผลิตความสุขขึ้นมาแทน

 

อย่างคืนนี้นะครับ ก็ตามหัวข้อนะครับ บอกว่า กินบุญปีเก่า อิ่มบุญปีใหม่ หมายความว่าอย่างไร

 

หมายความว่า เราใช้บุญที่ทำมาแล้วนั่นแหละให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ไปเบิกธนาคารบุญอะไรมา ไม่ใช่แบบนั้นนะ แต่เอาของจริง ที่ยังทำให้เราเกิดความแช่มชื่นได้อยู่เมื่อระลึกถึง

 

คืนนี้ เราพูดถึงอะไร ขอให้นึกถึงการวางแผน

 

หลายคนรู้สึกว่า ตัวเองประสบความล้มเหลวกับการวางแผน ว่าปีหน้าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ จะเป็นคนอย่างนั้นอย่างนี้ คือไปตั้งเป้าเอาลอยๆ โดยไม่มีการทบทวน ไม่มีการสร้างพื้นยืน ไม่มีพื้นให้ยืนได้จริง ไม่มีสปริงบอร์ดให้ออกตัวแบบก้าวกระโดดกัน  ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จ

 

ยกตัวอย่าง อย่างบางคนบอกว่า ปีที่ผ่านมา เล่นเกมมากเกินไป รู้ตัว ปีหน้าจะไม่เล่นแม้แต่เกมเดียว เลิกหมดเลย นี่ก็เหมือนกับไปกะเกณฑ์ให้ตัวเอง ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  สู้กับตัวเองรุนแรงเกินไป ตัวเองสะสมนิสัยแบบที่ไม่ดี หรือว่า ที่ร้ายๆ มาเป็นเดือนเป็นปี แต่อยู่ๆ จะมาหักดิบเอาวันเดียว บอกว่าจะเลิกเลย ส่วนใหญ่ทำกันไม่ได้ เพราะว่าใจคนเป็นไปตามความเคยชิน ไม่ได้เป็นไปตามที่ไปกะเกณฑ์ หรือว่าจะมาบังคับ ข่มขู่ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ทำได้ทันทีทันใด แต่ต้องมีฐาน มีสปริงบอร์ด

 

ถ้าใครได้สปริงบอร์ด จะรู้เลยว่า มันสำคัญขนาดไหน กับการออกตัวแบบก้าวกระโดด

 

ถ้าออกตัวแบบก้าวกระโดดได้ ไม่ว่าจะทำอะไรทั้งสิ้น จะเป็นเรื่องของการเรียน การกีฬา การดนตรี หรือว่าการบุญการกุศล ถ้าคุณได้สปริงบอร์ด ถ้าคุณออกตัวได้แบบก้าวกระโดด คุณจะมีกำลังใจ คุณจะมีความรู้สึกสนุกคึกคัก มีฉันทะ มีความอยากจะทำให้มันยิ่งๆ ขึ้น มีความก้าวหน้า มีความคืบหน้า

 

แต่ถ้าออกตัวแบบแห้งแล้ง ไม่มีกำลังใจ ไม่มีความชุ่มชื่น ไม่มีสปริงบอร์ด ไม่มีอะไรช่วยทั้งสิ้น ออกตัวก้าวเดียวจอด นี่ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาของจิตใจมนุษย์ โดยเฉพาะจิตใจของมนุษย์ยุคเรา เป็นจิตชนิดอ่อนแอ เรามาพูดกันแบบตรงไปตรงมา ยอมรับความจริง ว่าเราสบายกันจนกระทั่งไม่มีความเข้มแข็งมากพอ ที่จะทำอะไรตามความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยวได้

 

ฉะนั้น คืนนี้นะครับ เรามาดูกันว่า ปีที่ผ่านมา .. วันนี้ เรายังไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเลย .. ไปดูปีที่ผ่านมานี่ จะเอามาเป็นสปริงบอร์ดได้ไหม

 

หลักการก็คือว่า เราจะมาทบทวนบุญกัน เอาชนิดที่นึกได้ทันที ชนิดที่คิดออกว่าบาปบางอย่าง พอหักใจได้แล้วก็เกิดความภูมิใจ เกิดความสุขขึ้นทันที เรามาลิสต์เป็นข้อๆ เพื่อให้เกิดภาพรวมของบาปบุญอย่างชัดเจน

 

คือถ้าอยู่ๆ คุณไปนึก เอ๊ะ ปีที่ผ่านมา ทำบุญอะไรมาบ้าง หรือว่าเราละบาปอะไรได้บ้าง อาจขึ้นใจแค่ไม่กี่ภาพ ไม่กี่ครั้ง เอาที่แบบมีความสุขจริงๆ ที่ประทับลงไปอยู่ในหัวใจ บางทีจะนึกออกลำบาก

 

แต่ถ้าหากว่า เรามาทบทวนกันแบบเขียนเป็นข้อๆ ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ให้ละบาป เพิ่มบุญ แล้วก็ยังจิตให้ผ่องใส อันนี้นี่ จะทำให้นึกออก บอกถูกนะ แล้วก็สามารถที่จะมาสำรวจกันได้อย่างชัดเจนเป็นข้อๆ

 

ผมเขียนให้ดูเป็นโครงสร้าง แบบที่เห็นแล้วนึกออกทันทีเลยว่า การมีจิตใจแบบพุทธ แบบชาวพุทธที่เราเน้นกันเรื่อง ละบาป เพิ่มบุญ แล้วก็ยังจิตให้ผ่องใสนี่นะ หน้าตาโครงสร้างเป็นแบบนี้


คือเรามี เรื่องของทาน เรื่องของศีล แล้วก็เรื่องของการเจริญสติภาวนา นะครับ

.

.

ซึ่งก็แบ่งแยกย่อยออกไปได้ อย่างเช่น ทาน คุณนึกดู พอเขียนเป็นอย่างนี้จะชัดเจนนะ ทรัพยทาน อภัยทาน วิทยาทาน ธรรมทาน

เมื่อนึกถึง ทรัพยทาน พูดง่ายๆ ให้สตางค์ หรือให้สิ่งของเสื้อผ้าอะไรแบบนี้ ครั้งไหนในปีที่ผ่านมา คุณรู้สึกว่าประทับใจตัวเองที่สุด คือพอให้ไปแล้วปลื้ม ให้ไปแล้วไม่ติดข้อง ไม่มีอาการคิดเล็กคิดน้อย ไม่มีอาการย้อนกลับมาเสียดาย ภาพไหนที่ขึ้นใจก่อน พิมพ์ลงไปเลย หรือเขียนลงใส่กระดาษไปเลย เพื่อที่จะบันทึกกรรมของตัวเอง ให้เกิดความแจ่มชัดในหัวเดี๋ยวนี้นะครับ ว่าสิ่งที่เราทำมาที่เรียกว่าเป็นบุญ หน้าตาเป็นแบบนั้น มีความรู้สึกแบบนั้น แล้วก็ย้อนกลับมานึกถึงแล้วมีความสุขประมาณนี้

หรืออย่าง อภัยทาน คือเอาง่ายๆ ถ้าปกติเป็นคนที่จะคิดอะไรแรงๆ ในหัว สาปแช่งชาวบ้านไปทั่ว หรือใครทำให้เราเจ็บใจน้อยใจ เสียใจ แล้วจะต้องมีคำด่าที่วนเวียนอยู่ในหัว หรือพร้อมจะพรั่งพรูออกมาทางปาก เสร็จแล้วสามารถห้ามใจได้ สามารถเกิดอารมณ์ประมาณว่า อย่าไปเอาเรื่องดีกว่า อย่าไปถือสาเขาเลย ปล่อยๆ ไปเสียบ้าง แล้วเกิดความรู้สึกสบายใจ โล่งอก ว่าเราทำได้ เราสามารถให้อภัยได้ เขียนลงไปเลย พิมพ์ลงไปเลย ว่าเราทำได้อย่างนี้ คิดได้อย่างนี้ แล้วก็หักห้ามใจได้อย่างนั้น

 

ถ้าหากว่านึกถึง ย้อนนึกว่าเราทำได้ จะเกิดความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาว่า เคยทำได้ เดี๋ยวก็ต้องทำได้อีก เคยทำได้มาแล้ว จะทำไม่ได้อีกได้อย่างไร อย่างไรก็ต้องทำได้อีก

.

แล้วอย่าง วิทยาทาน ความรู้ความเข้าใจ ใครถามอะไรเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นแบบโลกๆ หรือแม้กระทั่งทฤษฎีทางธรรมะอะไรอย่างนี้ แล้วเราเกิดกุศลจิต อยากจะช่วยให้คำตอบเขาโดยไม่คิดอะไร ไม่มีการแลกเปลี่ยน

 

คือถ้าสอนตามหน้าที่ แลกเงินด้วยใจแห้งๆ อย่างนี้ไม่เอานะ ไม่นับ เพราะอย่างนั้นไม่ใช่การให้ทาน อย่างนั้นคือการที่เราออกแรง แลกเงิน

 

แต่ถ้าใจของเรามีความรู้สึกว่า ให้ความรู้เขาแล้วเกิดความสุข เกิดความรู้สึกมีปีติที่ได้ช่วยให้เขารู้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนเขาจากไม่เข้าใจ เป็นเข้าใจ เปลี่ยนเขาจากไม่รู้ เป็นรู้ เปลี่ยนเขาจากที่ไม่สามารถที่จะเลี้ยงตัวให้รอดได้ กลายเป็นเลี้ยงตัวให้รอดได้ อะไรแบบนี้ เหมาเป็นวิทยาทานนะ


ความรู้สึกว่าได้ให้ เป็นการให้เปล่า เป็นการให้สมองของเขาโตขึ้น หรือว่าเต็มขึ้น อันนี้แหละ วิทยาทาน

ส่วนธรรมทาน คือไม่ใช่จะต้องไปสอนทฤษฎีธรรมะ หรือมาลิสต์หัวข้อว่าข้อธรรมมีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เป็นความรู้ความเข้าใจ ในทางที่จะทำให้จิตใจของคนๆ หนึ่ง สามารถบรรเทาความทุกข์ลง มีความทุกข์ที่เบาบางลง หรือกระทั่งเข้าใจแนวทาง ว่าการเจริญสติ ต้องทำอย่างไร อาจพูดด้วยตัวเอง ด้วยความรู้ความเข้าใจของตัวเอง ด้วยวิธีคิดของตัวเอง หรือหยิบยกคำพูดครูบาอาจารย์มา หรือว่าส่งลิงก์ แชร์อะไรที่เรารู้สึกว่า เราเคยได้ประโยชน์มาจากตรงนี้ แล้วก็อยากให้เขาได้ประโยชน์ตามแบบนั้น อันนี้คือธรรมทาน

 

พูดง่ายๆ เปลี่ยนคนที่หลงผิดให้กลายเป็นคิดชอบ เปลี่ยนคนที่ยังไม่เข้าใจธรรมะ ให้กลายเป็นเข้าใจธรรมะ .. เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นเรื่องของจิตใจ เน้นเข้ามาที่ความรู้สึกภายใน ซึ่งต่างจากความรู้ที่เป็นแบบโลกๆ เป็นวิทยาทานอะไรแบบนั้น

 

คือพอเรานึกออกว่า ปีที่ผ่านมาเราเคยให้ธรรมะ ให้คนได้คลายทุกข์คลายโศก หรือว่าคลายจากความหลงผิด มาเป็นความเห็นชอบได้ แล้วเกิดความปลื้มใจ เกิดความภูมิใจขึ้นมา นั่นแหละตรงนั้น เขียนลงไปพิมพ์ลงไป

.

จากนั้น เรื่องศีล อันนี้คงตรวจดูกันได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ชัดเจนอยู่แล้วนะ แต่จะมีข้อหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยเข้าใจกันก็คือ ข้อมุสาวาท คือเหมารวมหมดเลยนะ ไม่ว่าจะเป็นการโกหก โกหกแบบปั้นน้ำเป็นตัว หลอกลวงให้เขาเข้าใจไขว้เขว นี่คนบางคนบอกตัวเองถือศีล แต่ตั้งต้นขึ้นมาไปใส่ข้อมูล ใส่อะไรต่อมิอะไรให้คนฟังเกิดความไขว้เขว เพื่อที่จะเบี่ยงเบน ให้เกิดความเข้าใจผิดตามที่ตัวเองต้องการ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นมุสาชนิดหนึ่งนะ

หรืออย่างพูดจาหยาบคาย คำหยาบๆ คายๆ ร้ายกาจๆ หรือไม่รู้จริงแต่ก็ไปนินทาว่าร้ายคนอื่นเขา ให้เขาเสียหาย

.

หรือว่าพูดจาไม่บันยะบันยัง เพ้อเจ้อไปเรื่อย คือพูดเรื่อยเปื่อย วนไปวนมาเป็นชั่วโมงๆ แบบนั้นคือเพ้อเจ้อนะ คือถ้าจิตใจซัดส่าย ฟุ้งซ่านไร้เป้าหมาย พูดไปเรื่อยๆ ขอให้ได้พูด อันนั้นคือเป็นมุสาวาทชนิดหนึ่ง ทำให้จิตพล่านไป ทำให้จิตเบลอ ทำให้จิตมีความเป็นอกุศล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พูดเพ้อไปเรื่อยๆ ในทางที่เป็นไปในแบบที่เป็นบาป คือพูดอะไรที่ดาร์กๆ พูดอะไรที่เหมือนกับ เอาเรื่องชาวบ้านมา ตั้งข้อสังเกตแล้วใส่ความเห็นตัวเองลงไป ในแบบที่ลงเรื่องเพศบ้าง เรื่องอะไรที่ต่ำๆ คือเห็นหน้าเขาแล้วสันนิษฐานไปต่างๆนานา นี่ก็เรียกว่าเพ้อเจ้อเหมือนกัน

 

พูดง่ายๆ ว่าอะไรก็ตาม พูดอะไรแล้วทำให้จิตของเราเป็นอกุศล ทำให้จิตของคนอื่นเป็นอกุศล มองโลกในแบบที่เป็นไปในแง่ร้ายทั้งๆ ที่ไม่มีข้อเท็จจริง ไม่ได้รู้จริง ไม่ได้มีหลักฐาน พูดไปแล้วไม่เป็นประโยชน์ อย่างนี้เพ้อเจ้อหมดเลย

 

แต่ประเภทที่เหมือนกับพูดเพื่อให้ระวัง พูดข้อเสียของคนอื่นเพื่อให้เกิดความระมัดระวัง จะได้มีสติ ไม่ไปคบค้าสมาคมหรือว่าไม่ไปยุ่งเกี่ยว ไม่ไปหลงคำลวงของเขา อย่างนี้ไม่ถือว่าเพ้อเจ้อ ไม่ถือว่าส่อเสียดนินทานะครับ

 

ทีนี้ถ้าสำรวจไปแล้ว ศีลข้อ วจีทุจริต ถ้าหากว่าปีที่ผ่านมา เรานึกได้ว่า เออนี่เคยชินที่จะพูดอย่างนี้ เป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไปกระตุ้นให้คนอื่น มีจิตมืดจิตบาปตามเราไปด้วย  แล้วหักห้ามใจได้ ถอนอาการแบบนั้นได้ นี่ แบบนั้นใส่เข้าไป เพราะทันทีที่เราละบาปได้ จะเกิดบุญแทนที่ขึ้นทันที

 

จะเห็นได้จากใจนะ เวลาที่ .. อย่างบางคน รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่าไม่อยากพูดคำหยาบตามชาวบ้านเขา แต่ก็พูดไปตามท้องเรื่อง เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เสร็จแล้วก็ไม่สบายใจอยู่ลึกๆ ว่า ทำไมเราต้องพูดหยาบคาย พูดคำร้ายๆ อะไรที่ชาวโลกพูดกัน ใจเราไม่ได้สนุก ใจเราไม่ได้สะใจตามเขา แต่ก็พูดไปอย่างนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราก็เป็นพวกเดียวกับเขา

 

ตรงนี้ ถ้าวันหนึ่งคุณนึกมาได้เองว่า ไม่พูดดีกว่า แล้วก็เกิดความรู้สึกโล่งขึ้น สบายใจขึ้น ตรงนี้ใส่เข้าไป ถือว่าเป็นการละบาป แล้วเกิดบุญขึ้นแทนที่ทันทีนะ

.

หรืออย่างข้อของการเจริญสติ ถ้าสำรวจไปแล้ว นึกดูว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีการสวดมนต์ช่วงไหนหรือคืนไหน แบบเฉพาะเจาะจงเลย สวดแล้วรู้สึกราวกับว่าเข้าเฝ้าต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า มีความสุขมาก มีความปลื้มมาก ราวกับว่า จิตใจของเรา จิตวิญญาณของเรา กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเอง ก็ให้นึกไปว่า ปีที่ผ่านมา ทำได้ประมาณกี่ครั้ง สิบครั้ง ยี่สิบครั้ง หรือทำได้ทุกคืนเลย

 

บางคนบอกว่า โอ้โห ปีทองจริงๆ ปี 63 ที่ผ่านมานี่ ใครๆ ว่าเป็นปีมืด แต่เราสวดมนต์พบกับจิตที่สว่างโร่ เป็นปีแรกที่สวดได้ทุกคืนเลย เงินทองอะไรไม่ค่อยได้มา ซึ่งก็เหมือนกับชาวบ้านเขา แต่ทรัพย์ภายใน หรือความสว่าง ความสุขสว่างรุ่งเรือง เป็นปีทองของจิตวิญญาณจริงๆ ก็อาจใส่เข้าไปว่า ทั้งปีที่ผ่านมาสวดมนต์ แล้วเกิดความสุข เกิดปีติ เกิดความรู้สึกว่าเราได้อยู่ใกล้กับพระพุทธเจ้านิดเดียว แค่เอื้อม ราวกับว่า ได้ย้อนกลับไปอยู่ต่อเบื้องพระพักตร์ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีพระชนม์ ก็ให้ใส่เข้าไปว่า บุญที่ผ่านมา ปีนี้ปี 63 ที่กำลังจะผ่านไป เป็นปีทองเป็นปีที่คุ้ม ปีเดียวนี่คุ้มชีวิตแล้วของเราทั้งชีวิตอะไรแบบนี้ ด้วยการสวดมนต์แล้วเวิร์ค (work) ทุกคืนนะ

 

แต่ถ้าบอกว่าปีที่ผ่านมาสวดได้แค่ครั้งสองครั้ง มีความสุขแค่หนสองหน ก็ใส่ไปตามจริง อย่างน้อยก็ไปกระตุ้นให้นึกออกว่า ปีที่ผ่านมาไม่ได้สูญเปล่า เป็นปีที่สว่างกระปริบกระปรอย หรือมีความสว่างเป็นตัวชนวน ให้เกิดประกายความสว่างขั้นต่อๆ ไป ปีต่อๆ ไปได้

หรืออย่างนั่งสมาธิ ลิสต์ไปเลย ปีนี้เรามาเริ่มทำอานาปานสติ มามีความรู้ มีความเข้าใจว่า การทำอานาปานสติ ไม่ใช่จ้องลมหายใจอย่างเดียว จ้องลมหายใจอย่างเดียวไม่เรียกอานาปานสติ ไม่เรียกการเจริญสติด้วยซ้ำ เรียกการเจริญสตึ

 

ถ้าเราเกิดความรู้ว่า ดูลมหายใจเพื่อที่จะเห็นว่า หายใจครั้งนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ภายในขอบเขตกายใจนี้ แล้วพูดง่ายๆว่า หายใจอย่างรู้ว่ากำลังอยู่ในอิริยาบถไหน หายใจอย่างรู้ว่า กำลังมีความเกร็งเนื้อเกร็งตัว อึดอัดเป็นทุกข์ หรือว่าผ่อนคลายสบายตัวสบายใจ จนกระทั่งสามารถเห็นความไม่เที่ยงของสภาพทางกาย สภาพทางใจได้ นี่ให้ลิสต์ไปเลยนะ พิมพ์ลงไปเลย ใส่เข้าไปเลยว่า นี่ก็คือ บุญ ที่เกิดขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมา

 

หรือเดินจงกรม ที่ผ่านมาปีก่อนๆ ไม่เคยที่จะประสบความสำเร็จ หรือเกิดความเชื่อมั่นได้เลยว่า ตัวเองเดินจงกรมเป็นกับเขา แต่ปีที่ผ่านมาเริ่มจับจุดถูก แทนที่จะเดินมั่วๆ ก็อย่างน้อยรู้เท้ากระทบ ให้เกิดศูนย์กลางของสติ ว่ามีกระทบแป๊ะๆ ไป แล้วเกิดความรู้ขึ้นมาว่าตัวกำลังเดินอยู่ แล้วตัวที่เดินนี่ไม่ใช่ตัวเรา เกิดความรู้ว่า ที่เดินอยู่ไม่ใช่กายเดิน แต่เป็นจิตเดิน แล้วจิตนี่แต่ละรอบ มีความผ่องใส มีความขุ่นมัวไม่เท่ากัน ไม่เสมอกัน

 

ถ้าได้เห็นอะไรแบบนี้ แล้วเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า คำว่าจงกรม คือ การเดินให้รู้เข้ามาถึงกาย รู้เข้ามาถึงใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนได้ นี่ใส่เข้าไปเลย ต่อให้เดินได้แค่ครั้งเดียวที่มีอาการรู้แบบนี้ ก็ถือว่าคุ้มชีวิตแล้ว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ มีชีวิตแค่วันเดียวรู้ว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง เป็นแค่ขันธ์ห้า ดีกว่ามีชีวิตตั้งร้อยปี โดยที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องของกายใจ

 

หรืออย่างใครไม่ได้เดินจงกรม ไม่ได้นั่งสมาธิ ไม่ได้สวดมนต์เลย แต่ว่าอยู่ระหว่างวันแล้ว สามารถเห็นขึ้นมาแวบๆ อย่างเขาว่า ว่าหายใจแล้วเดี๋ยวก็มีหายใจยาว เดี๋ยวก็มีหายใจสั้น หายใจอย่างรู้ว่ากำลังนั่งอยู่ นั่งหายใจ หายใจอย่างรู้ว่ากำลังเดินอยู่ เดินไปนี่ หายใจเป็นอย่างไร แล้วเกิดความเหมือนกับ ทราบขึ้นมาว่า เวลาที่เขาบอก เจริญสติ ก็คือดูเข้ามาในกายใจ ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหน อิริยาบถใด ไม่จำเป็นต้องหลับตานั่งสมาธิ ไม่จำเป็นต้องเข้าทางจงกรม อยู่ระหว่างวันก็ทำได้ ก็ลิสต์ไป ถ้าเกิดขึ้น แม้แต่ว่าครั้งเดียว หรือสองครั้ง ก็ถือว่าอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส วันเดียว คุ้มชีวิตแล้ว

.

พูดกันง่ายๆ เลยนะ ปีที่แล้ว ถ้าทบทวนได้ เกี่ยวกับเส้นทางของการเจริญทาน เจริญศีล แล้วก็เจริญปัญญา มาได้เป็นข้อๆ อย่างไรนะครับ แล้วเกิดความรู้สึกดีขึ้นมาว่า ปีที่ผ่านมา ไม่สูญเปล่า

 

จะมีกำลังใจขึ้นมาทันทีเช่นกันว่า ปีหน้านี่ เราจะตั้งใจละบาปอะไรต่อบ้าง แล้วก็คือทำความเข้าใจจากตัวอย่างของปีที่ผ่านมาเลยนะ ว่า ละบาปได้เมื่อไหร่ เพิ่มบุญได้เมื่อนั้น

 

บุญมาแทนที่ทันทีที่ละบาปได้ ละบาปนี่ไม่ใช่ไปขอศีลจากพระที่วัดนะ แต่ต้องมีเรื่องยั่วยุ พิสูจน์ใจว่าจะเอาอย่างไร ถ้ามีเรื่องแบบนี้ขึ้นมา มีเรื่องเพศตรงข้ามขึ้นมา แล้วใจบอก ไม่อยากปวดหัวแล้ว ไม่อยากก่อเวรก่อกรรม ไม่อยากจะมีภัยมีเวร ด้วยจิตที่มืดดำแล้ว แล้วสามารถตัดใจได้ ละได้ ตัวเบา จิตเบา อันนี้นี่คือตัวอย่างของปีที่ผ่านมาเลยว่า กายเบา จิตเบาจากการละบาปหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วก็จะเกิดกำลังใจว่า ปีหน้าเราจะละให้ได้หมดจดยิ่งกว่านี้ มากข้อยิ่งกว่านี้นะ

 

หรือถ้าหากว่าเรามองเห็นแล้วว่า อ๋อ การละบาปก็คือตรงกับหัวข้ออภัยทาน ตรงกับหัวข้อรักษาศีลห้า ก็อาจวางแผนเพิ่มเติมว่า อภัยนี่ ที่ยังอภัยไม่ได้ปีหน้า จะอภัยอย่างไรต่อ จะอภัยใครได้อีก ที่เรานึกว่าชาตินี้เราจะไม่สามารถอภัยได้ ลองมีชาเลนจ์ (Challenge) ไหม เกมท้าทายจิตวิญญาณตัวเอง ว่าจะทิ้งขยะสกปรก หรือว่าอารมณ์ที่โสโครก ทิ้งไปแบบไม่เสียดาย เหมือนกับถ่มเสลดทิ้ง ทำได้ไหม

 

ถ้าหากว่าเรามีการวางแผนไว้ว่าจะทำ คุณจะรู้สึกดียิ่งกว่าวางแผนทางธุรกิจ ว่าปีหน้าจะทำอะไรให้บรรลุเป้าหมาย ประสบความสำเร็จบ้าง เพราะว่าเรื่องทางธุรกิจ หรือว่าเรื่องงาน การงานภายนอกนี่นะ บางทีก็ให้ความรู้สึกอย่างนั้นๆ แหละ เวลาที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าคุณเป็นพวกที่ประสบความสำเร็จเรื่อยๆ อยู่แล้ว ตามขั้น ตามตอนที่ชีวิตพามา แล้วคุณจัดการกับสิ่งที่เป็นเป้าหลักๆ ของชีวิตได้ คุณจะไม่รู้สึกว่าภูมิใจอะไรเพิ่มเท่าไหร่

 

ยิ่งอายุมากขึ้น แล้วคุณประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งเฉยมากขึ้นเท่านั้น จะรู้สึกอย่างนั้นๆ แหละ ไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเพิ่ม

 

แต่ถ้าหากว่า มีความสำเร็จในเรื่องการวางแผนในเรื่อง การตั้งเป้าบนเส้นทางธรรมนี่นะ ยิ่งปีผ่านไป คุณจะยิ่งเกิดความแช่มชื่น เกิดความรู้สึกสดใหม่ แปลกใหม่ เป็นอีกชีวิตหนึ่ง ยกระดับสภาวะ หรือภพภูมิทางใจให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปเรื่อยๆ จะรู้สึกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใคร เจริญสติภาวนาได้ผลนะ เห็นกายใจชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เออ ข้างในมีสภาพว่าง ที่ไม่อยากเอาเปลือกทางความคิด หรือเปลือกของกิเลสร้อนๆ ไม่ต้องออกแรงสลัด มันเข้ามาไม่ถึงใจอยู่แล้ว

 

ยิ่งเห็นไป ยิ่งเกิดความรู้สึกว่า เส้นทางของเรานี่ ตรงกับสวรรค์ และนิพพานจริงๆ ไม่ต้องให้ใครมายืนยัน ไม่ต้องไปสำรวจตรวจสอบกับใคร สามารถที่จะรู้ใจจากตัวเองได้เลย เดี๋ยวนี้เลยว่า ถึงตรงนี้เราละอะไรไปได้บ้าง แล้วก็วางแผนจะเพิ่มอะไรขึ้นได้อีก อันนี้ก็เป็นไปตามแนวทาง ละบาป เพิ่มบุญ แล้วก็ยังจิตให้ผ่องใสตามรอยพระอรหันต์ท่านนะครับ

 

ก็คิดว่าคงน่าจะเข้าใจตามหัวข้อนะ คือ กินบุญเมื่อปีก่อนที่ผ่านมา กินบุญอย่างไร คือเอาบุญมานึกถึงอีกนั่นเอง กินบุญเก่านี่ เพื่อที่จะอิ่มบุญในช่วงปีใหม่นะครับ!

___________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน กินบุญปีเก่า อิ่มบุญปีใหม่

วันที่ 26 ธันวาคม 2563

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=rLsD7TN3zBQ&t=945s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น