วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2563

มีความรู้สึกเบื่อๆผุดขึ้นในใจบ่อยๆ จนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ไม่อยากทำอะไร เบื่ออยู่ตลอด ควรทำอย่างไรดีคะ?

 ดังตฤณ :  อันนี้จริงๆไม่ใช่จะมีคำตอบที่สำเร็จรูป แล้วเอาไปใช้ได้ง่ายๆกับทุกคนนะครับ เพราะว่าแต่ละคนมีจุดคลิก หรือว่าจุดที่ตื่นขึ้นมามีความกระตือรือร้นที่แตกต่างกัน สำหรับบางคนแค่ได้เจองานที่ตัวเองชอบ แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มันก็เกิดไฟ เกิดความกระตือรือร้น เกิดความรู้สึกอยากลุกขึ้นมาทุกเช้าแล้ว

แต่สำหรับบางคน งานให้ทำแบบไหนก็แล้ว หรืองานอดิเรกที่ตัวเองเคยชอบก็เปล่าประโยชน์ ไม่มีความหมายอีกแล้ว จะทำอะไรก็ไม่รู้จะจุดไฟขึ้นมากลางใจของตัวเองได้อย่างไร อันนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การที่เราหาวิธีที่จะจุดไฟขึ้นมาในตัวเอง บางทีมันไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนยุคนี้นะที่เจออะไรแรงๆ เร็วๆผ่านเข้ามา จนสมองชาไปหมด จิตด้านชาไปหมด พอเบื่อขึ้นมาแล้ว มันเบื่อแล้วเบื่อเลย มันเบื่อแล้วยิ่งทำให้จิตดิ่งจมเข้าสู่ภาวะซึมเศร้ามากขึ้น มากขึ้น แล้วก็ไม่อยากมีชีวิตพอเบื่อขนาดหนักถึงจุดหนึ่ง อันนี้ก็เลยบอกว่า บอกเป็นกลางๆ ถ้าทำได้ ใช้วิธีเจริญสติดีกว่าที่จะหาอะไรจากข้างนอกทำ

วิธีเจริญสติรู้ความเบื่อก็คือ  
อันดับแรก อย่านิยามว่า ตรงนั้นเป็นความรู้สึกเบื่อ ให้มองเป็นความทุกข์เป็นทุกขเวทนา ถ้าหากว่าเราไปนิยามว่านี่คือความทุกข์ ที่โผล่ขึ้นมาในใจ หรือว่ามันมาควบคุมอาการทางกายให้เหมือนจะเป็นง่อย ให้มีอาการเฉื่อยชา แล้วก็ไม่อยากขยับแขนขยับขา อย่างนี้เนี่ยนะ เราได้จุดสังเกตขึ้นมาว่า เวลาเกิดความทุกข์ทางกาย หรือว่าเกิดความทุกข์ทางใจในแบบเบื่อๆ มันจะมีอาการเชื่อง มันจะมีอาการหงอย มันจะมีอาการอัดอั้นตันใจ ไม่อยากอยู่ในโลกนี้ อยากจะระเบิดตัวเองออกไป ให้หายจากโลกใบนี้ไปอะไรแบบนี้ เราได้คำๆหนึ่งขึ้นมาว่า นี่เรียกว่าเป็นความทุกข์

อันดับที่สอง
ทีนี้การที่จะรู้ได้ว่าความทุกข์มันไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอด ความทุกข์มันแสดงความไม่เที่ยงได้ เราต้องมีจุดสังเกตที่สอง ต้องมีตัวกำกับนั่นก็คือ พระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านจะสอนให้หายใจให้เป็นก่อน เพราะว่าพอหายใจเป็นแล้วเนี่ย สติมันจะถูกดึงกลับเข้ามาสู่จุดศูนย์กลางภายใน แล้วก็จะสามารถรับรู้ออกมาจากข้างใน ไม่ใช่ไปสังเกตจากข้างนอก

พอเรารู้ว่าหายใจครั้งนี้มันทุกข์แบบนั้น ทุกข์แบบเบื่อๆนั่นน่ะประมาณไหน มันจะง่อยทางกายอย่างไร หรือว่ามีความฟุ้ง มีความเฟ้อทางใจประมาณไหนเนี่ย มันก็จะได้เกิดสติจับได้มั่นคั้นได้ตายว่า เนี่ย! หน้าตาความเบื่อมันก่อความทุกข์ขึ้นมา

หรือพูดง่ายๆว่า เวลาหายใจเข้า กำหนดรู้ได้ว่ากำลังทุกข์อยู่ประมาณนี้ทั้งทางกายแล้วก็ทางใจ พอเราสามารถกำหนดรู้ เนี่ยอย่างตอนนี้เลยว่า หายใจเข้า หายใจออกมันมีความทุกข์อยู่ประมาณนี้ แล้วคุณมีแก่ใจดูต่อว่า ในการหายใจครั้งต่อไป หายใจเองนะไม่ใช่รีบหายใจ ในการหายใจครั้งต่อไป ความทุกข์หน้าตาแบบนั้นๆเนี่ย มันยังอยู่ที่เดิมหรือเปล่า มันยังหน้าตาแบบเดิมหรือเปล่า หรือว่ามันเริ่มมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อสามารถที่จะเห็นว่า หน้าตาของความทุกข์มันไม่ได้เท่าเดิม มันไม่ได้เหมือนเดิม มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆในแต่ละลมหายใจ สิ่งที่เกิดขึ้นนะครับ เมื่อคุณฝึกหายใจจนกระทั่งมีความเคยชิน ที่จะรู้ทุกข์แบบนี้ มันจะถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่า นี่ไม่ใช่ความเบื่อ แต่มันเป็นความทุกข์ทางใจ มีอาการแบบนี้ประมาณนึง หรือเป็นความทุกข์ทางกาย มีอาการแบบนี้ประมาณนี้ ในแต่ละลมหายใจเนี่ยมันไม่เท่าเดิม คุณจะเริ่มลืมคำว่าเบื่อไป เหลือแต่ทุกข์ที่ไม่เที่ยง เป็นความทุกข์ที่แปรปรวนไปเรื่อยๆ

ถ้าถึงจุดนั้นเมื่อไหร่นะ จิตของคุณจะรู้สึกว่า เป็นอิสระจากความทุกข์แบบนั้นได้ อิสระยังไง?

มันเหมือนกับพอความทุกข์เคลื่อนเข้ามาจะเกาะจะกุม มันจะเหมือนกับมีความว่าง เป็นความว่างอย่างมีสติ อย่างมีความรู้ตื่นออกมาจากใจกลาง รู้สึกว่าไม่เอา ไม่ยอมให้เกาะ คือไม่ใช่ว่าแข็งขืน หรือว่าใช้กำลังภายในนะ แต่มันมีภาวะของมันอย่างนั้นเอง คือมีความว่างแล้วไม่สามารถที่จะเป็นที่ยืนให้กับความทุกข์ได้ ความทุกข์มันเข้ามาไม่ถึง อันนี้คือสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในปลายทางนะครับ

พูดง่ายๆ ให้เจริญสตินะครับ กำหนดดูว่า ในแต่ละลมหายใจที่เข้าที่ออกอยู่ มันทุกข์อยู่ด้วยความเบื่อ ด้วยอาการเบื่อนั้นประมาณไหน ทางกายอย่างหนึ่ง ทางใจอย่างหนึ่ง รู้ไป รู้ไปเฉยๆ แล้วเทียบนะว่า ลมหายใจต่อมามันเท่าเดิมหรือเปล่า ถ้าเท่าเดิมนี่แปลว่า ความเบื่อนั้นเป็นอัตตาแล้ว แต่ถ้าหากว่า ความเบื่อนั้นก่อทุกข์ทางใจ ก่อทุกข์ทางกายให้ได้ไม่เท่ากัน อันนั้นแสดงว่า ความเบื่อนั้นเป็นอนัตตา แล้วคุณจะเห็นความเป็นอนัตตานั้น มันเกิดขึ้นให้ดูได้ทุกลมหายใจ ไม่ใช่เฉพาะลมหายใจใดลมหายใจหนึ่ง

คนส่วนใหญ่นะ จะมีกำลังใจแค่ดูไปแค่สองสามลมแล้วก็เลิก แต่คนที่จะหลุดออกจากการเกาะกุมของความเบื่อได้อย่างแท้จริง คือคนที่สามารถดูอยู่ได้เรื่อยๆทั้งวัน นึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ก็ดูเมื่อนั้น คือไม่ใช่ดูทุกลมหายใจแบบ ๒๔ ชั่วโมงนะครับ แต่ดูอยู่เรื่อยๆ ตามแต่จะนึกได้ เมื่อเกิดความรู้สึกเบื่อจุกอกขึ้นมาก็ระลึกไปว่า ขณะนี้ลมหายใจนี้ มันมีความทุกข์ประมาณนี้ และลมหายใจต่อๆมา มันมีความทุกข์ประมาณไหน เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ทั้งวันเท่าที่จะนึกได้ อย่างนี้แหละ มันจะไปถึงจุดที่ผมบอก มันจะมีความว่างภายในเกิดขึ้นมา เป็นความว่างอันเกิดจากปัญญา เป็นความว่างอันเกิดจากจิตที่มีความตื่นที่มีความรู้ว่า ความทุกข์มันเข้ามาเกาะกุมจิตใจของเรา แล้วเราไปยึดมันไว้ เราไปหวงมันไว้ ไม่ให้มันหายไปไหน นี่จิตก็จะฉลาดขึ้น แล้วก็เลยสลัดออกได้ง่ายๆ ไม่ยอมให้ความทุกข์เข้ามาเกาะกุมเราเหมือนอย่างเคยนะครับ

--------------------------------------------

๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สมาธิคือบันไดขึ้นที่สูง

คำถาม : มีความรู้สึกเบื่อๆผุดขึ้นในใจบ่อยๆ จนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต ไม่อยากทำอะไร เบื่ออยู่ตลอด ควรทำอย่างไรดีคะ?

ระยะเวลาคลิป    ๘.๔๘  นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=30flsOhrfhA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=3&t=8s

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น