วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เก็บเงินได้แล้วเอาไปทำบุญ จะได้บุญหรือไม่? (ดังตฤณ)

ถาม : สมมุติว่าผมเดินไปเจอเงินตกอยู่กลางถนน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ (เคยได้ยินบ่อยๆทำนองคนเก็บขยะเคยเจอแหวนเพชรในซองที่ถูกทิ้งโดยไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ) ถ้าเรานำเงินมาเข้ากระเป๋าตัวเอง วิบากจะเป็นเช่นไร ถือว่าผิดศีลข้ออทินนาฯไหม? แล้วกรณีที่เราพยายามสืบหาเจ้าของอย่างเต็มที่แต่หาไม่ได้จริงๆ จะยังผิดอยู่ไหม? อีกอย่างถ้านำทรัพย์ดังกล่าวไปทำบุญ ผลบุญที่ได้จะเป็นเช่นไร? ส่วนเจ้าของเงินตัวจริงถ้าไม่ได้อนุโมทนา จะได้บุญตามเราหรือไม่อย่างไร? และถ้าเป็นคุณดังตฤณเจอเงิน คุณจะทำอย่างไรกับเงินนั้น?


ดังตฤณ: 
ต้องทำความเข้าใจเรื่องธรรมชาติของสิทธิ์ในการครอบครองกันก่อนครับ ตามกฎของธรรมชาตินั้นคล้ายคลึงกับกฎหมายทางโลก นั่นคือสิทธิ์ครอบครองสมบัติจะคงอยู่ตราบเท่าที่เจ้าของยังไม่ตาย และ/หรือ ยังไม่ยินยอมยกให้กับผู้อื่น

สิทธิ์ในการครอบครองเป็นสิ่งที่มีพลังในตัวเอง หากใครมาทำลายสิทธิ์นั้น เจตนาฉกฉวยสิทธิ์นั้นไปครอบครองโดยเจ้าของไม่ยินยอม ก็ได้ชื่อว่าทำกรรมข้อที่ว่าด้วยการลักขโมยเต็มร้อย

สิทธิ์ในการครอบครองจะเป็นพลังที่เป็นกลางกับเจ้าทรัพย์เดิม แต่จะแปรเป็นพลังลบ หรือเป็นเงาดำติดตัวหัวขโมยไปในทันทีที่เกิดการยักยอกหรือฉกชิงไป หากคุณมีโอกาสเข้าไปในบ้านหัวขโมย เห็นข้าวของเครื่องใช้ที่ขโมยคนอื่นมาตั้งอยู่เรียงราย ก็จะสัมผัสได้ชัดเลยครับว่ามีกลิ่นอายแปลกๆ ทั้งบ้านมีความทึบทึมน่าอึดอัดอย่างอธิบายยาก และตัวหัวขโมยเองก็มีกระแสประหลาดที่ไม่น่าไว้ใจ ไม่น่าเข้าใกล้ อันนั้นแหละ เงาดำอันเกิดจากการมีสมบัติอย่างไม่ชอบธรรม

คราวนี้มาถึงกรณีของทรัพย์ที่พบตามทาง คุณไม่มีเจตนาไปปล้นใครเขามา อันนั้นเป็นความจริงข้อหนึ่งที่ทำให้การหยิบฉวยไปไม่เข้าข่ายลักขโมย แต่สิทธิ์ในการครอบครองวัตถุยังไม่หายไป เพราะเจ้าของยังไม่ยินยอมยกสิทธิ์ให้ใครอื่น อันนั้นเป็นความจริงอีกข้อหนึ่งที่ทำให้คุณครอบครองสมบัติโดยไม่ชอบธรรมเต็มร้อย เพราะฉะนั้นขอกล่าวว่าคุณไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบุญหรือเป็นบาปอย่างชัดเจน แต่มีมลทิน มีกลิ่นเหม็นติดมือมาด้วย ส่วนจะเหม็นมากหรือเหม็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับความโลภที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างนะครับ ถ้าระหว่างเดินทางเข้าบ้านซึ่งไม่ค่อยมีคนสัญจร หากเห็นกระเป๋าเงินหล่น คุณรีบปรี่เข้าไปฉกทันที ด้วยเจตนาจะรีบอุ๊บอิ๊บไว้ เป็นการป้องกันเจ้าของกลับมาพบ อันนั้นไม่ขโมยก็เหมือนขโมย เพราะใจรู้สึกอยู่ว่าเจ้าของเขามีสิทธิ์รู้ตัวและย้อนกลับมาเอาคืนได้ภายในสองสามนาที ไม่สายเกินการณ์

อีกประการหนึ่ง ถ้าของที่พบเป็นกระเป๋าสตางค์ ปกติจะมีร่องรอยเจ้าของอยู่เสมอ เช่นบัตรประชาชนหรือบัตรประจำตัวพนักงาน อันนี้คุณมีสิทธิ์สองประการเกิดขึ้นทันที หนึ่งคือทำบุญด้วยการนำของไปคืนตามที่อยู่ สองคือทำบาปด้วยการไม่รู้ไม่ชี้ ริบทรัพย์ไปเลยด้วยใบหน้าเฉยๆชาๆ

มันขึ้นอยู่กับว่าใจคุณรู้อย่างไร คิดอย่างไรด้วย ถ้ารู้ตัวว่าอยู่ในมือคุณ เจ้าของมีสิทธิ์ได้คืนแน่ เพราะคุณจะแจ้งเขาตามที่อยู่ตามเอกสารในกระเป๋า อันนั้นหากตัดสินใจทิ้งไว้ที่เดิม แม้ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาปก็ถือเป็นการขาดเมตตา เพาะนิสัยดูดาย อันเป็นกรรมที่กระเดียดไปทางลบอยู่ดี

ยิ่งเป็นกรณีคนเก็บขยะพบแหวนเพชร ถ้าเขาซื่อจริงย่อมสืบได้ว่ามาจากขยะกองไหน เป็นเขตบ้านของใคร การนำไปคืนไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัย คือแจ้งตำรวจเรียกหาเจ้าของเดิมมารับพร้อมหลักฐาน

แต่มีอีกกรณีหนึ่ง หากเจอแต่เงินหรือทรัพย์ล้วนๆที่ไม่อาจสืบหาเจ้าของได้ อันนั้นถ้าทิ้งไว้กับที่จะดีที่สุด สบายใจที่สุด เพราะแม้คุณคิดว่าถ้าคุณไม่เอา คนอื่นก็เอา อย่างนั้นก็เป็นการตัดสิทธิ์เจ้าของไม่ให้กลับมาพบทรัพย์ได้อีกเลยอย่างถาวร ให้คนอื่นทำเถอะ อย่าให้เป็นคุณจะดีกว่า

ที่จะเป็นกรณียกเว้น คือคุณรู้ชัดๆว่าเจ้าทรัพย์ตาย หาผู้สืบทอดไม่ได้ อันนั้นโอเคไม่มีปัญหา อย่างเช่นเมื่อครั้งพุทธกาล พอคนตายญาติก็เอาศพไปทิ้งที่ป่าช้า พระก็มีสิทธิ์ชักผ้าห่อศพมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นการขโมย เพราะไหนๆเจ้าของเดิมก็ตายแล้ว ญาติก็นำมาทิ้งให้แร้งทึ้งแล้ว ไม่ใช้ประโยชน์อันใดอีกแล้ว สละสิทธิ์ครอบครองเต็มที่แล้ว ใครจะเอาไปก็ไม่ควรว่ากัน

และหากพิจารณาด้วยใจบริสุทธิ์จริงๆว่าเจ้าของไม่มีทางย้อนกลับมาสืบหาได้ เช่นธนบัตรปลิวมาจากที่ไกล เจ้าของไม่อาจตามเส้นทางลมมาถึงธนบัตร อันนี้ถือเป็นลาภลอยก็คงไม่ผิดอะไร

กรณีที่นำทรัพย์ไปทำบุญ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาจากเงื่อนไขที่ผ่านๆมาข้างต้น ถ้าทรัพย์หาเจ้าของไม่ได้จริงๆ เป็นลาภลอยของคุณจริงๆ บุญนั้นก็บริสุทธิ์ แต่ถ้าใจคุณสงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าป่านนี้เจ้าของจะกลับมายังตำแหน่งของตกหรือเปล่า เขาจะกระวนกระวายทุกข์ร้อนแค่ไหนเมื่อไม่พบ ใจคุณจะมีมลทินทันที และบุญจะไม่มีทางบริสุทธิ์ไปได้เลย

กรณีที่เจ้าของไม่อนุโมทนา แม้คุณจะอุทิศบุญไปให้เขา เขาก็ไม่ได้รับส่วนบุญหรอกครับ แต่เขาอาจได้รับกระแสความสว่างเย็นแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้วูบหนึ่ง เพราะจิตเป็นสิ่งที่สื่อกันได้ผ่านวัตถุ โดยเฉพาะถ้าวัตถุเคยอยู่ในครอบครองของเขา

สำหรับผม ถ้าเจอเหตุการณ์ดังกล่าว ก็จะพิจารณาตามที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดเหมือนกันครับ



ที่มา : หนังสือเตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว
ดังตฤณ

วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขาดความมั่นใจในตัวเอง ให้ฝึกสวดมนต์ออกเสียง

ถาม : สอบถามเรื่องปฏิบัติธรรมค่ะ ตอนกลางคืนก่อนนอนกับก่อนตื่นน่ะค่ะ จะมีการสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่ว่าจะไม่ค่อยกล้าเปล่งเสียงออกมา จะสวดอยู่ข้างในใจตลอดเวลา จนถึงนั่งสมาธิค่ะ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/kV_UnKcEjyU
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
นี่เป็นคำถามที่ผมอยากจะให้ทุกๆท่านนะ มันไม่เคยมีใครชี้ให้สังเกตนะ ขอให้สังเกตดูว่า ถ้าหากว่าเราสวดมนต์แบบงึมงำๆ สวดแบบแผ่วๆ ไม่กล้าสวดดังๆ มันมีผลให้เราเป็นคนเก็บเข้าในนะ คือมีโลกส่วนตัว นึกออกไหม เวลาเราจะไปพูดกับคนอื่น บางทีเราไม่อยากพูด..

ถาม : ไม่ค่อยกล้า จะขาดความมั่นใจ

ดังตฤณ: 
อันนี้เขาใช้คำว่าไม่กล้าพูด แต่ถ้าหากว่าเรากล้าสวดมนต์เต็มปากเต็มคำ มันจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น บางคนมาถาม บอกว่า ทำอย่างไรจะเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ผมบอกเลย ง่ายๆ หัดเปล่งเสียงสวดมนต์ เต็มปากเต็มคำสักอาทิตย์หนึ่ง มันจะเกิดความรู้สึกว่าใจเราเข้มแข็งขึ้นไปเอง ขอให้มองอย่างนี้ ของเรานี่นะ บางทีพอเรารู้สึกว่า เราอยากจะเปล่งเสียงออกมาเต็มปากเต็มคำเนี่ย เรารู้สึกว่ามันหาความพอดีไม่เจอ นึกออกไหม พอสวดดัง มันเหมือนกับแกล้งตะโกน มันเหมือนกับตะเบ็ง เหมือนกับแผดๆอย่างไรบอกไม่ถูก รู้สึกว่าอายที่จะไปทำอะไรเกินๆ หรือว่าโอเวอร์ (over) แบบนั้น

ให้มองอย่างนี้ ให้ปรับจิตปรับใจลงมาแบบนี้ว่า เวลาที่เราจะสวดเต็มปากเต็มคำ มันเป็นคนละอันกันกับที่เราจะตะโกน ตะเบ็งให้ใครได้ยิน ลองซ้อมดูตอนนี้ก็ได้ ลองพูดคำว่า “อิติปิโส ภะคะวา” แบบเต็มปากเต็มคำ ..ลองเลย

ถาม : อิติปิโส ภะคะวา

ดังตฤณ: 
เนี่ย แค่นี้ เราพูดต่อหน้าคนมากมาย และอันนี้มันไม่เวอร์ (over) มันไม่ได้ตะเบ็ง แต่ถ้าหากว่าเราอยู่คนเดียวนี่ มันจะเกิดความรู้สึกอายๆขึ้นมา แปลกไหม?

สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นกลของจิต เป็นการเล่นกลของจิต เราต้องเข้าใจ ตอนเด็กๆ บางทีเราอยากจะแสดงออกหรืออะไรแบบนี้ บางทีมันถูกกดมา หรือบางทีนะ ของเราเนี่ย ถ้าไม่ถือสามันก็เงียบๆติ๋มๆไปเลย แต่พอสติขาดขึ้นมาเนี่ย มันกลายเป็นแผดเสียง เหมือนกับผีสิงอะไรแบบนั้น ไม่ใช่ผีสิงหรอก ผีข้างในของเรานี่แหละ มันรออยู่ มันรอเวลาแสดงตัวอยู่

การสวดมนต์อย่างถูกต้องนี่ช่วยได้หมดเลย แก้ได้หมดเลย ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่นในตนเอง และในแง่ของการที่ไม่ต้องเก็บกด เราเก็บกดมากเลย เวลาที่มีเรื่องอะไรเข้ามานี่ มันเหมือนกับติ๋มๆ ไม่ค่อยอยากจะสู้รบปรบมือ แต่ใจจริงๆของเราอยากจะสวนนะ แต่มันขี้เกียจมีเรื่อง ขี้เกียจมานานจนกระทั่งเหมือนกับไม่กล้า ทีนี้ถ้าเราจะเริ่มต้น เราเริ่มต้นอย่างไร?

สังเกตระดับเสียงของตัวเอง
คือบอกตัวเองไว้ว่า
เรายังไม่มีระดับเสียงในการสวดมนต์ที่มันพอดี
เพราะฉะนั้นมันจะมีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่แผ่วไป ก็แรงไป

นี่คือการยอมรับความจริงขั้นแรกเลย ขั้นพื้นฐานเลย สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่เวอร์ (over) ไปก็น้อยไป ถามว่ามันจะมาอยู่ตรงกลางได้อย่างไร มันไม่มีใครหรอกที่อยู่ๆนี่จะสามารถรู้ได้ขึ้นมาแต่แรกเลยนะว่า ตรงกลางมันต้องประมาณอย่างนี้ แต่มันจะสามารถรู้ได้ว่า ตรงกลางอยู่ตรงไหน ก็เมื่อเวลาที่เรารู้ตัวว่านี่มันเว่อร์ (over) ไปแล้ว มันแผดเสียงอยู่ “อิติปิโส ภะคะวา” เอ๊ะ มันอายๆ รู้สึกเหมือนกับแผดๆออกมาเกินๆ เราก็แค่ยอมรับตามจริง คือไม่ใช่ไปหยุดมัน แต่ว่าลองยอมรับตามจริงว่า นี่แผดเกินไปนะ จิตเขาจะเข้าใจเองว่าจะลดระดับลงมาให้ไม่เวอร์ (over) ได้อย่างไร จะรู้ขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับหรือว่าไม่ต้องไปกะเกณฑ์

เพราะอะไร เพราะว่าถ้ามันยังเวอร์ (over) อยู่ สติของเราก็จะรู้อีก ว่านี่ก็ยังเวอร์ (over) อยู่ดี หรือพอแผ่วลงเกินไป มันก็รู้แล้ว นี่ยังไม่ถึง เนี่ย ปรับไปปรับมา ไม่กี่ครั้งนะ มันจะมาอยู่ตรงที่พอดี ที่เราเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่แหละที่เราชอบ นี่แหละที่ทำให้เราเกิดความสุข นี่แหละที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าสวดมนต์เนี่ยเราได้ถวายแก้วเสียงของเราเป็นพุทธบูชา

เอาคีย์เวิร์ด (keyword) นี้ไปนะ รู้ ว่าเวอร์ (over) ไปหรือว่าแผ่วไป แล้วจากนั้นพอรู้สึกพอดีขึ้นมา เราตั้งใจ ณ จุดนั้นเลย ณ จุดที่เกิดความรู้สึกพอดี ว่าเราจะเอาแก้วเสียงที่พอดีนี้ ที่ไพเราะนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา ใจมันจะเกิดการปรุงแต่งเป็นมหากุศลขึ้นมา แล้วใจที่เป็นมหากุศลนั่นแหละ มันจะรู้เอง มันจะมีสัญชาตญาณทราบว่าจะสวดให้เพราะได้อย่างไร เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร

แต่ก่อนผมก็สวดไม่เต็มปากเต็มคำ จนกระทั่ง คือเคยบวช แล้วก็ต้องไปสวดกับกลุ่มพระ ถึงได้เข้าใจ อ๋อ...เวลาสวดนี่มันต้องสวดให้เต็มปากเต็มคำนะ ลองไปสวดกับพระที่วัดก็ได้ แล้วจะรู้สึกว่าถ้าเสียงของเรากลมกลืนกับพระที่วัด แสดงว่าตรงนั้นพอดีแล้ว ต้องวัดดีๆนิดหนึ่งนะ ไม่ใช่วัดเร่งไปนอน

ถาม : ทีนี้ถ้าเกิดทำตรงนี้เสร็จแล้ว ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะการทำงานคือก็จะเป็นปกติใช่ไหมคะ

ดังตฤณ: 
เหมือนกันคือจะรู้สึกว่า การปรุงแต่งทางใจของเราแตกต่างออกมาจากข้างใน มันจะมีความเข้มแข็งขึ้น มันจะมีความเปิดมากขึ้น มันจะมีความสามารถในการคอนเน็ค (connect) มากขึ้น สังเกตไหมใจของเราตอนนี้มันคล้ายๆขาดความสามารถในการคอนเน็ค(connect) คือมันจะกลัวคน กลัวที่จะต้องแสดงความเห็น กลัวที่จะโดนใครตัดสินว่าผิดหรือถูก ทั้งๆที่จริงๆในหัวเรา บางทีมีความคิดล้ำหน้ากว่าคนฟังไปเยอะเลย แต่รู้สึกว่าถ้าเขาไม่เข้าใจเดี๋ยวเขาจะว่าเรา

เนี่ย กลัวการต่อว่า แต่ถ้าเมื่อไรที่จิตของเราเป็นมหากุศล และสามารถสวดได้เต็มปากเต็มคำ มันจะมีความกล้าแข็งขึ้นมา ไม่ใช่แข็งกร้าวนะ มันจะมีความเข้มแข็งขึ้นมาแบบหนึ่ง ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราสามารถพูดได้ จะฟังอย่างไรแล้วรู้สึกอย่างไรก็ช่างปะไร เดี๋ยวถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ เราไปแก้ไขให้เข้าใจได้ หรือถ้าหากว่าเขาอยากจะไม่เข้าใจจริงๆ เราจะพูดหรือไม่พูด เขาก็จะไม่เข้าใจอยู่ดี มันไม่เห็นต้องไปแคร์ (care) ไม่เห็นต้องเอามาเป็นตัวบีบให้จิตของเราลีบลงหรือว่าดังแบบเวอร์ๆ (over)

ภาวนาแล้วกลัวผี

ถาม : จะรบกวนถามว่า ช่วงปฏิบ้ติแรกๆก็รู้สึกว่าสงบดี ทีนี้พอช่วงหลังค่ะ ย้ายบ้านมาอยู่ต่างหากแล้วเราก็ทำห้องพระให้เรียบร้อย จะมีความรู้สึกว่ากลัวสิ่งที่มองไม่เห็น หรือนั่งๆไปก็รู้สึกว่ากลัวผีน่ะค่ะ มีวิธีกำจัดความกลัว บางครั้งความกลัวมันก็เกิดขึ้นมาเอง เราพยายามจะระงับ มันก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากขึ้นน่ะค่ะ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/9cOSpJb5RNw
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
ในเรื่องของความกลัวผีเนี่ย อย่าอายเลยที่จะถาม  เพราะเรามีเพื่อนร่วมโลกที่กลัวแบบเดียวกันอีก ๙๙% นะครับ คือเกินกว่า ๙๙% เนี่ย ไม่บอกไม่พูดไม่ยอมรับก็จริง แต่ว่ามันกลัวอยู่นะ แอบกลัวอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องอายไม่ต้องเขินนะครับเวลาถาม

ตอนที่เราระงับความกลัวเนี่ย ขอให้สังเกตว่า เราไปพยายามที่จะบีบบังคับใจตัวเองให้เลิกกลัวให้หายกลัว ที่แท้แล้วมันเป็นการเพิ่มความกลัวต่างหาก เพราะอะไร เราดูอาการของจิตนะ ที่มันกลัวมันมีอาการหดตัว มันมีอะไรเหมือนกับมืดๆมาบล็อค ให้จิตของเราเนี่ยมองไม่เห็น เต็มไปด้วยความไม่รู้ เต็มไปด้วยความสับสน เต็มไปด้วยความทุรนทุราย ความมืดแบบนั้นมันถูกเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราไปพยายามต่อสู้กับมัน เพราะอะไร?

เพราะว่าเวลาที่เราพยายามต่อสู้กับมัน มันมีความอยาก มีความอยากที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นมา นี่คือคีย์เวิร์ดนะ มีความอยากที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นในจิต

เมื่อมีความอยากจิตมีอาการอย่างไรครับ มันมีอาการทุรนทุราย มันมีอาการดิ้น หรือบางทีมันมีอาการโมโหตัวเอง หรือบางที มีอาการหด มีอาการแน่น มีอาการเกร็งขึ้นไปอีกนะ

ตัวโทสะนี่ มันคือมูลเหตุของความกลัวอยู่แล้ว
พอเรามีความอยากแล้วไม่ได้อย่างใจ
มันยิ่งเกิดโทสะแรงขึ้นอีก

ความกลัวนั้นสรุปแล้วไม่ได้ไปไหนนะ เมื่อได้เพื่อนเมื่อได้รากฐาน คือตัวโทสะมาเพิ่ม เหมือนกับเติมฟืนเข้าไปสู่กองไฟเนี่ย มันก็ยิ่งลุกโพลงขึ้นอีก ความกลัวมันยิ่งหนักขึ้น ความมืดมันยิ่งมืดขึ้น

สิ่งที่เราสามารถจะจัดการได้ในขณะที่กลัว
ก็คือ อันนี้มันต้องใช้ความใจถึงนะ
เวลาที่กลัวนี่ ต้องเห็นความกลัว

พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้นะ
เวลาที่เรากลัวจริงๆ ท่านสอนไว้ว่า
ให้อยู่ในที่ที่กลัวจนกว่าจะหายกลัว
โดยคำสั่งของพระองค์ก็คือว่า
ให้เห็นความกลัวนั่นเอง
คือถ้าไม่เห็นความกลัว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
ความกลัวมันหายไปตอนไหน

คือท่านให้ตั้งธงไว้ก่อนเลย
อยู่ในที่ที่มันเกิดความกลัวจนกว่าจะหายกลัว
ตั้งธงไว้ก่อนว่า
ในที่สุดเราจะเห็นความกลัวหายไป

ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องดูว่าพระพุทธองค์สอนอะไรโดยมาก ท่านสอนอานาปานสติ ถ้าหากว่าเราทำอานาปานสติแล้วระลึกถึงลมหายใจเข้าออกอยู่ มนสิการถึงลมหายใจเข้าออกอยู่ ว่าขณะนี้มันมีความกลัวขึ้นมาหนาแน่นมาก มันมีความมืด มันมีความทึบ มันมีความหนักในจิต แล้วยอมรับตามจริงว่า นาทีนี้ วินาทีนี้ ลมหายใจนี้ มันเกิดความกลัวขึ้นมาเป็นอันมาก มันจะมีโอกาส เป็นโอกาสของสติ ที่จะได้เห็นในขั้นต่อไปว่า ลมหายใจต่อๆมา สำรวจสังเกตเปรียบเทียบกันแล้วเนี่ย มันยังมีความกลัวอยู่เท่าเดิมไหม ถ้าหากว่าลมหายใจต่อมามันกลัวเท่าเดิม ก็รู้ไปว่ามันกลัวเท่าเดิม ถ้าหากว่ามันกลัวหนักขึ้น ก็ให้รู้ว่ามันกลัวหนักขึ้น

สาระสำคัญคือ
เราได้เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
เราได้สังเกตถึงความไม่เที่ยงของลม
พร้อมๆไปกับความไม่เที่ยงของความกลัวนะครับ

คือในแต่ละลมหายใจที่ผ่านไป ความกลัวมันจะมีระดับไม่เท่าเดิม บางทีมันอาจจะมากขึ้น บางทีมันอาจจะเท่าเดิมและบางทีมันอาจจะลดระดับลง การลดระดับลงโดยไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ฝืน ไม่ได้ไปบังคับให้มันลดระดับลงนี่แหละ ที่จะทำให้จิตฉลาดขึ้น คือมันเห็นไงว่า ความกลัวหน้าตาเป็นอย่างไรชัดๆ และความกลัวนั้น มันเกิดการลดระดับลงได้หรือเพิ่มระดับขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสติเห็นตามจริง สติเห็นตามจริงในแบบของพุทธมีอย่างเดียวคือเห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สติแค่รู้ว่ากลัวๆๆ ที่นึกว่าตัวเองมีสติแล้วกลัวๆๆนี่ ยิ่งไปเร่งความกลัวขึ้นมาหนักขึ้นนะ แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตว่าแต่ละลมหายใจ ความกลัวมันไม่เท่าเดิม นี่แหละจะเกิดสติเห็นความไม่เที่ยงขึ้นมาแน่นอนนะ




ไม่ฆ่าสัตว์แต่กินเนื้อสัตว์ได้ อธิบายอย่างไร?

ถาม : ต้องทำงานกับชาวต่างชาติเยอะ จะมีปัญหาเรื่องการอธิบายว่าทำไมเราถือศีล ๕ ไม่ฆ่าสัตว์แต่เราทานเนื้อสัตว์ได้ เขาจะคิดว่ามันไม่เมคเซนส์ (make sense) จะมีวิธีอธิบายอย่างไรง่ายๆให้เขาเข้าใจไหมคะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/DW9cTFWNm1I
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
อันนี้ถ้าอยู่ๆเนี่ย ไปพูดแบบเป็นเหตุเป็นผล เหมือนกับบอกว่าไม่ฆ่าสัตว์ แต่ว่ากินเนื้อสัตว์นี่ ฟังทั้งโลกน่ะ แม้แต่ตัวเราเอง บางทีเราก็ต้องสงสัยนะว่า เอ๊ะ! มันไม่ขัดแย้งกันหรือ? ไม่ขัดแย้งกันครับ คือว่าดูที่กำลังใจ เวลาที่เรากินเนื้อเนี่ย เราไม่ได้อาศัยกำลังใจที่จะไปฆ่าฟัน หรือว่ากระทั่งไปไหว้วานให้ใครเขาทำเนื้อมาให้เรา

ดูที่กำลังใจ ถามตัวเองว่า เราเจตนาฆ่าสัตว์สักตัวไหม? เราอยากให้สัตว์สักตัวได้ตายไหม? เราอยากจะเอาเนื้อสัตว์ที่เราเห็นว่าถูกฆ่าตายมากินไหม? มันไม่มีสักอย่าง 

การปรุงแต่งจิตเนี่ย
มันไม่ได้เกิดขึ้นในแบบที่จะเอาเลือดเอาเนื้อใคร
แต่มันเห็นอยู่แล้วว่ามีศพสัตว์
เห็นอยู่แล้วว่ามีเนื้ออยู่ในจาน
แล้วก็เอามากิน 
คือกำลังใจของเราเนี่ย
แค่เอาเนื้อที่อยู่ในจานมากิน

ถามว่าแบบนี้เป็นการเล่นลิ้นหรือเปล่า? เหมือนกับจะแก้ตัวไปน้ำขุ่นๆหรือเปล่า? มันไม่ใช่การแก้ตัวนะ ก่อนที่เราเกิดมา มันก็มีสัตว์ตายอยู่แล้ว มันมีวงจรของมันอยู่ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของเหตุผล คือว่าการที่จะต้องมีคนฆ่าสัตว์ แล้วมีสัตว์ต้องตายเพราะถูกฆ่าเนี่ย มันเป็นกงกำกงเกวียน คือเคยทำเขาไว้มา ในที่สุดก็ต้องมาชดใช้ หรืออย่างพระบางท่านบอกว่า ถ้าหากว่าบวชแล้วไม่เจริญสติให้คุ้มค่าชาวบ้าน บางทีไปเกิดเป็นวัวก็มี อะไรแบบนี้ เพื่อที่จะชดใช้ เอาเลือดเนื้อตัวเองชดใช้

ในแง่ของกรรมวิบากมันมีคำอธิบายอยู่ว่า ทำไมถึงต้องไปเกิดเป็นสัตว์ที่ถูกคนไปเอามาฆ่า เอามากิน แล้วถ้าหากว่าเราอยู่อย่างนี้ แล้วเราไม่กินเนื้อสัตว์เลย ถามว่าสัตว์ยังจะต้องตกตายอยู่ไหม มันก็ยังมีอยู่ดี เพราะคนทั้งโลกเขากินกัน หรือบางทีไม่ได้ฆ่าเพื่อกิน บางทีฆ่าเพื่อสนุกก็มี บางทีฆ่าเพื่อที่จะเอาเนื้อหนังก็มี มาทำอย่างอื่น มาเป็นเครื่องประดับ มาอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆว่าชีวิตของเราไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกขึ้นมาได้แน่นอน

แต่ถ้าหากว่า ใครอยากจะกินมังสวิรัติหรือว่ากินเจ ด้วยเจตนาว่าจะได้ไม่ต้องมีสัตว์ที่ตกตาย ที่ถูกนำมาฆ่าด้วยความต้องการของเรา หรือเราเป็นส่วนหนึ่งในดีมานด์ (Demand) ในกระแสการฆ่าฟันแบบนี้นี่ มันก็ได้บุญ คือได้ความรู้สึกเมตตา ไม่อยากที่จะให้สัตว์ต้องมาตายเพราะว่ามีเราเกิดมา

แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าการที่เราเป็นมังสวิรัติหรือว่าการที่เรากินเจนี่ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาในระดับของสังสารวัฏ เพราะสังสารวัฏคือวงจรกรรมวิบาก เมื่อฆ่าในที่สุดก็ต้องถูกฆ่า เมื่อเอาเลือดเอาเนื้อเขามา ในที่สุดก็ต้องเอาเลือดเอาเนื้อไปชดใช้เขา

แต่สำหรับคนกินเฉยๆ มันไม่ได้อาศัยกำลังใจในการฆ่า มันไม่รู้อยู่ก่อนว่าสัตว์ตัวไหนจะมาตายเพื่อเรา อันนี้ก็ไม่ใช่ถือว่าเป็นการทำปาณาติบาต

เหมือนอย่างที่พระเทวทัตทูลขอพระพุทธเจ้าว่า ขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติพระวินัยไม่ให้พระภิกษุสงฆ์ฉันเนื้อสัตว์  พระพุทธเจ้าไม่ยอมเพราะว่า เหตุผลของท่านก็คือว่าชาวบ้านเขาอยู่กันอย่างนี้ เขากินกัน แล้วเราจะมาเรื่องมากทั้งๆที่เราไปเป็นฝ่ายขอเขาเนี่ย จะขอแต่ผัก จะขอแต่สิ่งที่มันไม่ใช่เนื้อสัตว์เนี่ย มันผิดวิสัยของผู้ขอ




อยากตั้งใจภาวนา แต่ใจมันไม่เอาด้วย

ถาม : เวลาปฏิบัติน่ะครับ ปกติจะมีวิหารธรรม คือ จะท่องสัมมาอรหังในใจ แต่ช่วงหลังๆนี่เหมือนเห็นความคิดได้ไม่ชัดเหมือนเดิม บางทีท่องอยู่ก็จะเหมือนมีความคิดซ้อนขึ้นมา แล้วไปเห็นว่าคิดอยู่ อย่างนี้ครับ แล้วก็มีอีกคำถามหนึ่งคือเรื่องการนั่งสมาธิ คือปกติถ้านั่งแล้วรู้ลมหายใจจะรู้สึกว่าเบลอ แล้วลมบางช่วงก็หลุดไปเลยอย่างนี้ครับ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/GCUfZkGpC-0

ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
เพราะว่า ช่วงที่ผ่านมานะ บางทีเนี่ย ขอให้สังเกตอย่างนี้ก็แล้วกัน ช่วงต้น ๆ ที่เรามีแพชชั่น (Passion)
หรือว่ามีความอยากจะภาวนาเนี่ยนะ มันจะตั้งอกตั้งใจแล้วไม่ค่อยปล่อยใจเท่าไร นึกออกไหม? แต่พอรู้สึกว่าตัวเองทำได้ มันจะเกิดความชะล่าขึ้นมา ทุกคนนะ ไม่ยกเว้นเลย ถ้ารู้สึกว่าตัวเองทำได้ขึ้นมา เออ! เราเก่งแล้ว

ความเก่งเนี่ย มันจะทำให้เราปล่อยจิตปล่อยใจโดยไม่รู้ตัว

คือบางทีเนี่ย สังเกตไหม อยู่ในระหว่างวัน บางทีเราก็จะมาภาวนา สัมมาอะระหัง บางทีเราก็เหมือนกับเหม่อๆไป เหมือนกับปล่อยใจเล่นๆน่ะ ปล่อยใจเล่นๆนี่แหละ พอมันมาขัดแย้งกันกับความตั้งใจจะภาวนานี่นะ มันเกิดเป็นจิตแบบอิหลักอิเหลื่อ จะว่ามีความตั้งใจก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีความตั้งใจเลยก็ไม่เชิง มันครึ่งๆกลางๆ  ครึ่งๆกลางๆนี่แหละทำให้เกิดภาวะที่น้องว่าขึ้นมา คือมันเหมือนกับว่า เรายังอยากที่จะภาวนาอยู่ แต่ใจมันไม่เอาด้วย เข้าใจใช่ไหม

ขอให้จำไว้ว่า
จิตของคนเรานะ
มันติดกับอารมณ์ที่มันเคยคุ้น
ที่เร้าใจมันได้ ที่ยั่วให้มันเกิดกิเลสได้
ไม่ใช่สิ่งธรรมดา ไม่ใช่สิ่งธรรมชาติของจิต
ที่มันจะไปอยู่กับอะไรที่มันไม่ชอบ

ถึงแม้ว่าสัมมาอะระหัง พุทโธ
หรือว่าลมหายใจ
จะมีความสุขให้กับเราได้ก็จริง
แต่มันไม่ใช่สิ่งที่จิตชอบ
จิตชอบอะไรที่เป็นกิเลส!

นี่คือสิ่งที่ติดตัวเรามาชั่วกัปชั่วกัลป์นะ เมื่อเราทำความเข้าใจแบบนี้ เราได้อะไร มันได้มุมมองขึ้นมาว่า เมื่อไรก็ตามที่จิตของเราถูกตามใจ มันก็เป็นธรรมดา ที่มันจะออกอาการเหม่อๆขึ้นมา ซ้อนกันกับความตั้งใจภาวนานะ

ตรงนี้อย่ามองว่า
เราจะทำอย่างไร ถึงจะเอาคืนเข้าที่ได้
แต่ให้มองเห็นเป็น เหตุปัจจัย
เพื่อจะได้เข้าใจธรรมชาติของจิต
ขั้นเบสิก (basic) ให้ได้ก่อน

เมื่อไรที่เราตามใจตัวเอง ขาดแพชชั่น (passion) ในการภาวนา มันจะเหม่อๆบ้าง แล้วก็อยากกลับมาภาวนาบ้าง ครึ่งๆกลางๆ ดิบๆสุกๆแบบนี้นะ

พอเราสังเกตอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
นานเดือน นานปีเข้า
ในที่สุดจิตมันจะฉลาด มันจะฉลาดขึ้น
มันจะรู้สึกว่า
เออ! การมีวินัย หรือว่าการตั้งใจที่จะภาวนานี่
มันแค่เตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆให้กลับมา
แล้วไม่เร่งร้อน ไม่ใจร้อน
ถ้าหากว่าเกิดความเหม่อขึ้นมา
เราก็เข้าใจถึง
สาเหตุที่มาที่ไปว่าทำไมมันเหม่อไป
มันปล่อยใจไง

แล้วจะได้เห็นว่าอาการปล่อยใจนี่
มันช่วยไม่ได้นะ


คือพอปล่อยใจแล้วเนี่ย มันก็ต้องเหม่อเป็นธรรมดา แต่นี่พอเราปฏิบัติมาเนี่ย พอรู้สึกว่าตัวเองเก่งเนี่ย มันจะมีความคิดขึ้นมาทุกคนเลยว่า จะกลับลงไปไม่ได้ ขึ้นมาแล้วจมไม่ลง มันจะรู้สึกว่าอยากรักษาระดับของตัวเอง หรือว่าก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่พอมีความเข้าใจนี้ปุ๊บ มันจะเกิดการปัดความอยาก หรือว่าความคิดผิดๆ ออกไปทันที ความรู้สึกว่า มันจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป ไม่กลับ ไม่กลาย ไม่เปลี่ยนนี่ มันหายไปกลายเป็นความเข้าใจเหตุปัจจัยขึ้นมาแทน 

อยากภาวนาที่บ้าน ให้ได้เหมือนตอนเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม

ถาม : หนูเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมปีละ๒-๓ ครั้งนะคะ แต่ว่ามีปัญหาว่า พอกลับมาที่บ้าน ปฏิบัติได้ไม่สม่ำเสมอค่ะ ตอนเช้าก็ขี้เกียจ ตอนเย็นก็เหนื่อย พยายามที่จะรู้ลมในชีวิตประจำวันค่ะ แต่ว่าไม่แน่ใจว่า วิธีที่ทำมานี่ถูกหรือเปล่า แล้วก็จะมีวิธีแก้ไขให้ปฏิบัติได้สม่ำเสมอได้อย่างไรค่ะ

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/_oyit0V-ETI
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
ของน้องนะ คือน้องสังเกตตัวเองนะ ตอนที่เข้าคอร์สปฏิบัติ กับตอนที่ออกมาอยู่ในชีวิตประจำวัน ความคิดไม่เหมือนเดิม ความคิดในชีวิตประจำวันของเรา บางทีอาจจะขี้หงุดหงิด เราก็จะปล่อยใจ ตามใจตัวเองให้หงุดหงิดง่าย แต่ว่าตอนเข้าคอร์สปฏิบัตินี่ บางทีมันมีสิ่งแวดล้อมมาบีบเราอยู่ว่าอย่าหงุดหงิดง่าย อย่าแสดงออกง่ายๆ มันก็เลยเหมือนกับว่า การปรุงแต่งทางจิตมันไม่เหมือนกัน เราจะไปคาดหวังว่าอยู่ที่บ้าน บ้านจะสามารถบีบให้เรามีวินัยได้เท่ากับที่ปฏิบัตินี่ เป็นไปไม่ได้

เราต้องเข้าใจเหตุปัจจัยพวกนี้ แยกออกมาเป็นองค์ประกอบง่ายๆที่จะทำความเข้าใจได้ชัดเจน อยู่ในที่ปฏิบัติธรรม มันมีกรอบที่ปรุงแต่งจิตของเรา ให้เกิดความขยัน อยากจะปฏิบัติ แม้กระทั่งเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เกิดอาการคิดมากขึ้นมา เกิดอาการเหมือนกับว่าจะคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็จะปัดมันทิ้ง เพราะว่าจิตถูกปรุงแต่งไปนี่ ว่าขณะนี้เราอยู่ในสถานที่ปฏิบัติ

แต่พอเรากลับมาบ้าน มันไม่มีกรอบแบบนั้น มันไม่มีใครว่า ถึงแม้เราจะมีความอยากจะให้มันเหมือนกับที่ปฏิบัติตลอดไป มันก็ไม่ได้ เพราะว่าแค่ตัววินัย ที่เราจะรับรู้เข้ามาภายในกายใจนี้ มันก็ไม่เหมือนกันแล้ว ในที่ปฏิบัติ เราไปที่ไหนก็มีแต่คนเตือน มีแต่ป้ายบอก หรือมีแต่ผู้ควบคุมว่า จงมีสติอยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าอยู่ที่บ้าน เราต้องเตือนตัวเอง ถ้าไม่เตือนตัวเองมันไม่มีใครเตือน นี่แค่นี้การปรุงแต่งจิตเห็นๆเลย ว่ามันต่างกันขนาดไหน เอาล่ะ เอาเป็นว่า ถ้าหากเราเข้าไปในที่ปฏิบัติแล้วออกมาอยู่ที่บ้านอย่าคาดหวัง ความปีติในที่ปฏิบัติ ความรู้สึกว่าเราปฏิบัติได้ดีในที่ปฏิบัติ ให้วางทิ้งไว้ในที่ปฏิบัติ ไม่ต้องไปอยากที่จะลากมันกลับมาอยู่ที่บ้านเราด้วย

ให้ตั้งความคาดหวังว่า
เราจะอาศัยความสุขหรือปีติ
ในช่วงของการเข้าคอร์สปฏิบัติ
เป็นจุดตั้งต้นให้สังเกตใจตัวเองว่า
เมื่อมีเหตุปรุงแต่งจิตอย่างนี้
มันก็จะทำให้ใจเบา
มันจะทำให้กายมีการตอบสนอง
พร้อมที่จะเจริญสติ

แต่เมื่อกลับมาที่บ้าน
เรามาเห็นทีวี เรามาเห็นมือถือ
เรามาเห็นเพื่อนบ้าน เรามาเห็นแฟน
เรามาเห็นอะไรต่อมิอะไร
ที่เป็นความคุ้นเคยแบบเก่าๆที่จะเร้ากิเลสของเรา
กิเลสมันก็กลับมา

พอเราเห็นเป็นเหตุเป็นปัจจัยแบบนี้ เราจะไม่ตั้งโจทย์ผิดๆ ไม่ตั้งความคาดหวังไว้ผิดๆ ไม่คิดว่าไปอยู่ที่ปฏิบัติธรรมมาแล้ว จะต้องทำให้ดีเท่านั้นตลอดไปนะครับ

พูดสรุปก็คือว่า
เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจของเราเอง
ตอนที่เราตามใจตัวเองกับตอนที่เรามีวินัยนะครับ 


ใช้ความสุขจากการทำบุญใหญ่ไปเจริญสติได้ไหม?

ถาม : จากที่ทำบุญวันนี้นะคะ ก็เกิดความปลื้มปีติน่ะค่ะ แล้วจะนำอารมณ์นี้ไปเจริญกรรมฐาน อยากจะนำอารมณ์ที่เราปลื้มปิติไปต่อยอดน่ะค่ะ ไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรคะ?

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/2164bjkexuc
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้ที่ผมพูดไปเรื่องการต่อยอดความสุขอันเกิดจากบุญใหญ่นี่นะ จริงๆแล้วนี่ มันเป็นความสุข ณ จุดเกิดเหตุ การที่เรามีความสุขด้วยกันวันนี้นี่ มันเป็นของปรุงแต่งทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เหตุการณ์พิเศษ เป็นผัสสะกระทบชนิดหนึ่ง ผัสสะกระทบที่ว่านี้ คืองานทั้งงานนี้ ไม่ใช่แค่รูปกระทบตา ไม่ใช่แค่เสียงกระทบหูอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นงานทั้งงานนี้ ถือว่าเป็นผัสสะกระทบแล้วจิตเกิดความชื่นบาน เกิดความสุข เกิดความปลอดโปร่งขึ้นมา

คำถามของผู้ถามเมื่อครู่นี้ก็คือว่า ทำอย่างไรจะเอาจิตแบบนี้ไปใช้ได้ตลอดไป คือความคาดหวังมันประมาณนี้ เวลาที่เราคาดหวังว่าเกิดความสุข แล้วอยากรักษาความสุข เกิดความปลื้มปีติ แล้วอยากให้ความปลื้มปีตินี้มันเกิดขึ้นตลอดไป เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดแล้วตั้งแต่แรก

เริ่มต้นขึ้นมา ถ้าหากว่าเรามีความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้นะ เราจะเข้าใจว่า อะไรๆนี่มันไม่เที่ยง รวมทั้งความสุข ความก้าวหน้าทางจิต หรือว่าความชื่นบาน ความมีความพร้อมที่จะเจริญเป็นสติขั้นสูง แต่ละวันมันไม่เท่ากัน เพราะว่าผัสสะกระทบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเอาติดกลับไปได้ก็คือ ความจำ ว่าอะไรๆนี่มันไม่เที่ยง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ยิ่งใหญ่พอ มันก็มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่เมื่อใดไม่ได้มีเหตุปัจจัยที่ยิ่งใหญ่พอ มันก็มีความสุขแบบธรรมดา หรือว่าความสุขแบบอ่อนๆ หรือไม่มีความสุขเลย นี่แหละสิ่งที่เราจะเอาไปใช้ได้จริง

แต่ถ้าหากว่า เมื่อไรเราเกิดความรู้สึกท้อ หรือว่าเกิดอยากได้กำลังใจขึ้นมา อาจจะระลึกถึงองค์พระปฏิมาที่เราร่วมกันทำนี้ก็ได้ ถ้านึกอยู่ในใจแล้วเกิดความรู้สึกปลื้ม เกิดความรู้สึกอิ่มเอมขึ้นมา นั่นแหละมันเป็นจุดเริ่มต้น มันจุดชนวนให้จิตมีความพร้อมจะเกิดกำลังขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่อย่าคาดหวังว่าจะมีความปลื้มปีติ หรือระดับความสุขแบบนี้เท่านี้ตลอดไป แล้วจะได้เอาไปใช้ได้เรื่อยๆนะ

ความสุข ในวันนี้ ขอให้มันเป็น ความไม่เที่ยงในวันนี้ ที่ให้เราเห็นได้ในวันพรุ่งนี้ ถ้าหากว่าเราจะเอาความสุขในวันนี้ ไปใช้รักษาใจให้เท่าเดิมคงที่เป๊ะตลอดไป นั่นคือความเข้าใจผิด และนั่นคือการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้นเลย


ภาวนาแล้วรู้สึกอึดอัด ท้อแท้

ถาม : ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน บางครั้งมันก็เห็น แต่บางครั้งก็เหมือนจะอึดอัดอยู่ที่กลางอกนะคะ อันนี้ประเด็นหนึ่ง แล้วก็กลางคืนจะสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่เหมือนกับมันท้อ แล้วก็มีเหมือนอะไรครอบหัว แล้วก็ปวดหัว  

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/SPsbGbllLJA
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
มีสองประเด็นนะ ประเด็นแรกคือว่า ทำไปแล้วรู้สึกมันอึดอัดแน่นอก แล้วก็อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของความท้อ 

เรื่องของความอึดอัดแน่นอก บางทีเราหายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นการเจริญสติ อย่างเวลาเราจะต้องพูดในห้องประชุม โดนเพ่งเล็งปุ๊บ รู้สึกเครียดที่ท้องทันที เหมือนกรดไหลย้อนทันที มีสายตาหลายๆคู่จ้องจับผิดมา ว่าเราจะพูดอย่างไร ตัวนี้แหละ มันเกิดความกดดันขึ้นมา แล้วก็เกิดความรู้สึกเกร็ง เกิดความรู้สึกแน่น เกิดความรู้สึกเครียด แม้จะหายใจก็หายใจไม่ถนัด เหมือนกับต้องฝืนต้องบังคับ แล้วก็เกิดความอึดอัดแน่นอกขึ้นมา

อันนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากเรามีความเครียด หรือว่าตั้งใจมากเกินไป หรือว่ามีอาการไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในการขยับเขยื้อน ในการอยู่ในชีวิตประจำวันปกตินี่ ก็สามารถที่จะเครียด สามารถที่จะเกิดอาการแน่นขึ้นมาได้

อย่างเวลาที่เรามาเจริญสติ หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่พยายามจะทำความสงบ ด้วยการระลึกรู้ถึงลมหายใจ หรือว่าจะภาวนาพุทโธก็ตาม มันมีอาการโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าจะพยายามทำมาหลายปีแล้วก็ตาม เหมือนกับ.. พอมันไม่สงบแล้วมีอาการอัตโนมัติแบบหนึ่งขึ้นมา คือตั้งใจเกินเหตุ คือมีความรู้สึกว่า เราต้องพยายามเอาชนะความฟุ้งซ่าน หรือตัวความกวัดแกว่งให้ได้ มันก็เลยมีอัตโนมัติขึ้นมา หลายๆจังหวะที่เราไม่รู้ตัวว่าเราตั้งใจเกินเหตุ หรือว่าเกิดอาการต่อต้านความฟุ้งซ่านมากเกินไป ทำนองเดียวกับตอนที่เราจะพูดในห้องประชุม หรือว่าพูดในที่ชุมชน แล้วเกิดความเครียดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว บอกว่าไม่ได้เครียด แต่ท้องมันเกร็งอยู่ ไม่ได้ประหม่าเลย แต่สั่นพั่บๆๆๆ เราไม่รู้ตัว 

แต่จริงๆแล้วร่างกายกับจิตใจมันไม่หลอกตัวเองนะ เมื่อเกิดความเครียดอยู่ข้างใน มันเครียด มันก็เครียดนั่นแหละ ถ้าหากว่าเราสามารถสังเกตโดยไม่ไปรีบร้อน ไม่ไปเร่งรัด ว่าจงหายเครียด จงหายอึดอัด แต่เอาความเครียด เอาความอึดอัดที่มันเกิดขึ้นตามจริงนั่นแหละ เป็นตัวตั้งในการสังเกต พิจารณาว่า ณ ลมหายใจนี้ มันมีความเครียดอยู่ประมาณนี้ ถ้าเกิดความอึดอัดแน่นอกขึ้นมา อย่าไปว่าตัวเอง อย่าไปพยายามทำ อย่าไปพยายามที่จะอยากหายเครียดทันที 

ให้รู้ขึ้นมาว่า 
ลมหายใจนี้มันเครียดอยู่จริงๆ 
พอเกิดความรู้ขึ้นมาจริงๆว่า
ลมหายใจนี้มันเครียดๆ เกร็งๆ 
มันจะเกิดการสังเกตในลมหายใจต่อมาว่า 
ความเครียด ความเกร็ง ความฝืนนี่
มันเหมือนกับจะคลายตัวลง

อันนี้รับประกันว่า ถ้าเราไม่ไปใส่อาการเร่งรัด ไม่ใจร้อน ไม่ไปเร่งให้อาการเครียดมันหายไป มันจะแสดงในลมหายใจต่อมาว่า อาการแน่นๆ ที่หน้าอกมันผ่อนคลายลง แต่หลายๆคน มีปัญหาเรื่องการหายใจ คนกรุงเทพฯ สมัยนี้ พอหายใจเข้าไปมากๆแล้ว มันเกิดความรู้สึกว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินลมหายใจ หรือว่า เกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นนี่ เราก็ต้องอาศัยความใจเย็นนิดหนึ่ง บางทีถึงแม้ว่าเราจะเป็นภูมิแพ้ หรือว่ามีความติดขัดในเรื่องการหายใจก็ตาม ก็สามารถเอาหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

คือลมหายใจหนึ่งมีความอึดอัด อีกลมหายใจหนึ่งอาจจะผ่อนคลายลง ผ่อนสั้นผ่อนยาวให้ เหมือนเราจะกลั้นปัสสาวะอย่างนี้ มันก็มีความรู้สึกปวดจี๊ดบ้าง แล้วก็เบาลงบ้าง อะไรแบบนี้ นี่คือธรรมชาติทางกาย ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นได้ แต่ละลมหายใจนี่มีความเครียด มีความตึงไม่เท่ากัน แล้วเราใจเย็นพอที่จะเห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันจะคลายออกมา แล้วถ้ามันจะมีจังหวะที่เกิดอัตโนมัติ เครียดโดยไม่รู้ตัวขึ้นมาอีก ก็จะสามารถมีสติเท่าทันได้ง่ายขึ้น

นั่นเพราะว่าความใจเย็นที่เป็นตัวอย่าง มันเกิดขึ้น แล้วมันก็จะเห็นหน้าตาของความเครียด ความเกร็งหรืออาการอึดอัดแน่นอกนั้น จนกระทั่ง ณ จุดเกิดเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆนี่ สติก็จะทัน ทันพอที่จะเห็นว่า มันเกิดขึ้น ณ ลมหายใจนี้ แล้วลมหายใจต่อมามันคลายให้ดู เราก็จะยอมรับตามจริง โดยไม่ไปยินดียินร้าย

ปกติพอเครียดขึ้นมาเราจะยินร้าย พอผ่อนคลายขึ้นมาเราจะยินดี แต่ถ้าหากว่าเรามีสติจริง แล้วเห็นมันบ่อยๆ เป็นร้อยเป็นพันครั้งนะครับ มันจะไม่มีความยินดียินร้าย จะมีแต่ความรู้สึกว่าพอเครียดขึ้นมา เดี๋ยวก็คลาย พอคลายลงไป เดี๋ยวก็เครียดกลับมาได้ใหม่ มันจะเห็นเป็นอนิจจังอย่างนี้ ความเห็นเป็นอนิจจังนี่แหละ ที่จะบอกเราว่า ไม่ต้องไปดีใจ ไม่ต้องไปเสียใจ

ส่วนความรู้สึกท้อ ในตอนกลางคืน บางทีอาจจะหมดแรงก็ได้ ร่างกายมีส่วนนะ คือบางทีคนมีกำลังใจในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนมันหมดแรง เกิดความรู้สึกเหมือนอ่อนเปลี้ย ความรู้สึกอ่อนเปลี้ย มันก็ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกท้อได้เหมือนกัน
ถ้าหากว่าเราสะสมความเครียด หรือว่าความกังวล หรือว่าความไม่อยากทำงาน ความไม่อยากจะเผชิญกับปัญหาแบบเดิม ๆ ในที่สุดมันไปฟ้องที่ร่างกายตอนกลางคืน มีความอ่อนเปลี้ย มีความรู้สึกเหมือนจะขยับแขนขยับขาไม่ได้ มีความรู้สึกราวกับว่า พรุ่งนี้ตื่นมา เราก็คงไม่มีกำลังใจลุกจากที่นอนแล้วล่ะ แต่เอาเข้าจริง ตามธรรมชาติของร่างกายและจิตใจ พอเรานอนหลับลงไป ตื่นใหม่ มันมีความสดชื่นขึ้นมาอีก

นี่คืออนิจจัง!  นี่คือความไม่เที่ยงที่เราสังเกตเป็นช่วงใหญ่ๆ ได้ ถ้าหากว่าตอนเช้าเรามีความสดชื่น ตอนกลางคืนเรามีความรู้สึกท้อถอย ท้อแท้ แล้วตอนเช้าขึ้นมา มีความสดชื่นขึ้นมาใหม่ เราเห็นเป็นช่วงๆเลย นี่แหละ เค้าเรียกอนิจจัง คำว่าการเห็นอนิจจังหรือที่จะให้เกิด อนิจสัญญา ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเป็นขณะๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นเกิดดับๆ แบบที่พิสดารอย่างที่เขาเล่าลือกันเสมอไป แม้แต่ความรู้สึกถึงความไม่เที่ยง ของภาวะในชีวิตประจำวัน มันก็เป็นอะไรที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า นี่ไม่เที่ยง นี่ไม่ใช่ตัวเรา ได้เหมือนกัน